รู้จัก "มิจิโนะคุ" สมาคมมวยปล้ำญี่ปุ่นจอมฉีกขนบที่ส่ง "นักมวยปล้ำ" ไปเล่นจริงถึงบ้าน
กลายเป็นข่าวดังในหลายประเทศ สำหรับไอเดียสุดแจ๋วของสมาคมมวยปล้ำขนาดเล็ก อย่าง มิจิโนะคุ โปร เรสริง ที่เปิดบริการจัดโชว์มวยปล้ำถึงบ้าน เพื่อหารายได้ในช่วง COVID-19
มิจิโนะคุ โปร เรสริง ไม่ใช่ชื่อค่ายมวยปล้ำที่คนส่วนใหญ่คุ้นหู หากไม่ใช่แฟนมวยปล้ำญี่ปุ่นพันธ์แท้ในปัจจุบัน หรือติดตามมวยปล้ำมายาวนานสัก 30 ปี คงไม่รู้จักสมาคมมวยปล้ำเล็ก ๆ ค่ายนี้
ถึงจะเป็นค่ายมวยปล้ำอิสระ แต่ มิจิโนะคุ โปร เรสริง คือค่ายที่เคยส่งนักมวยปล้ำหลายคนไปที่ WWE, มาจัดโชว์มวยปล้ำที่ประเทศไทย จนถึงการจัดมวยปล้ำในบ้านของแฟน ๆ ในปัจจุบัน
ความคิดที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร คือเคล็ดลับสำคัญของค่ายมวยปล้ำนี้ ที่ทำให้ มิจิโนะคุ โปร เรสริง กลายเป็นค่ายมวยปล้ำที่มีอายุยืนยาวเป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ค่ายมวยปล้ำจิ๋วแต่แจ๋ว
จุดเริ่มต้นของค่ายมวยปล้ำค่ายนี้ เริ่มต้นจาก เดอะ เกรท ซาซึเกะ นักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่นที่ไปโด่งดังในประเทศเม็กซิโก และตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดมาตั้งสมาคมมวยปล้ำของตัวเอง ในชื่อ มิจิโนะคุ โปร เรสริง (Michinoku Pro Wresting)
Photo : en.superluchas.com
การก่อตั้งค่ายมวยปล้ำในครั้งนี้ แตกต่างไปจากครั้งก่อนที่เคยเกิดขึ้น เพราะ มิจิโนะคุ โปร เรสริง คือค่ายมวยปล้ำค่ายแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นนอกกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เนื่องจากในอดีต เมืองหลวงของญี่ปุ่นเป็นแหละที่ตั้งของสมาคมมวยปล้ำชั้นนำมากมาย ยากที่ค่ายมวยปล้ำน้องใหม่จะสร้างฐานแฟนคลับของตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ มิจิโนะคุ โปร เรสริง จึงเกิดขึ้นที่แคว้นโตโฮกุ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 1993
บทบาทของ มิจิโนะคุ โปร เรสริง คือการเป็นค่ายมวยปล้ำท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นปล้ำในพื้นที่ของตัวเองเป็นหลัก นานครั้งถึงจะเข้ามาแข่งในโตเกียว แตกต่างจากสมาคมขนาดใหญ่ เช่น นิว เจแปน โปร เรสริง (New Japan Pro Wrestling หรือ NJPW) และ ออล เจแปน โปร เรสริง (All Japan Pro Wrestling หรือ AJPW) ที่เดินทางจัดโชว์มวยปล้ำทั่วประเทศ
ในยุค 90’s บทบาทของมวยปล้ำท้องถิ่นได้ลดถอยลงไปจาก 2 ทศวรรษก่อนหน้านั้น จากกีฬากลายเป็นสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์กลายเป็นความความบันเทิงผ่านจอโทรทัศน์ ทำให้แฟนมวยปล้ำหันมาติดตามผลผลิตของค่ายชั้นนำเท่านั้น
ขณะที่ค่ายเล็ก ๆ ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะถ่ายโชว์ออกทีวี หรือเน้นขายตั๋วให้คนท้องถิ่นเป็นหลัก เริ่มล้มหายตายจากไป
แต่ไม่ใช่กับค่ายมิจิโนะคุ เดอะ เกรท ซาซึเกะ หาวิธีวางรากฐานให้กับสมาคม ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับ NJPW ส่งนักมวยปล้ำไปร่วมโชว์ของค่ายยักษ์ใหญ่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชื่อนักมวยปล้ำในสมาคมเริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนมวยปล้ำในญี่ปุ่น โดยเฉพาะตัวของ เดอะ เกรท ซาซึเกะ ที่กลายเป็นสตาร์แถวหน้าของมวยปล้ำรุ่นเล็ก หรือ รุ่นจูเนียร์ ในแดนอาทิตย์อุทัย
Photo : best-travel.tokyo
ถึงจะเป็นค่ายขนาดเล็ก แต่มิจิโนะคุ มีจุดเด่นในการปั้นสตาร์หน้าใหม่ของตัวเองขึ้นมาเป็นที่สนใจในวงการ เนื่องจาก เดอะ เกรท ซาซึเกะ เคยปล้ำอยู่ที่ทวีปอเมริกาเหนือมาหลายปี ทำให้เขาได้รับแนวคิดการสร้างคาแรคเตอร์นักมวยปล้ำมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่ต้องเน้นเรื่องของสีสัน ผ่านกิมมิคของตัวนักมวยปล้ำ
แตกต่างจากมวยปล้ำญี่ปุ่น ที่ปกติคาแรคเตอร์ของนักมวยปล้ำจะไม่มีอะไรซับซ้อน ออกแนวเป็นนักสู้ที่พร้อมถวายชีวิตบนสังเวียนเป็นส่วนใหญ่
นักมวยปล้ำรายแรกที่ มิจิโนะคุ โปร เรสริง สร้างจนโด่งดัง คือ จินเซ ชินซากิ ที่สมาคมนี้สร้างคาแรคเตอร์ให้เขาเป็นพวกนักบวชลึกลับ ใส่ชุดสีขาวทั้งตัวให้เหมือนเป็นฝ่ายธรรมะ แต่จริง ๆ เป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม
Photo : thechairshot.com
จินเซ ชินซากิ ใช้เวลาสร้างชื่อกับคาแรคเตอร์นี้ เพียง 2 ปี ก่อนจะเข้าตาค่ายมวยปล้ำชื่อดังอย่าง WWE (WWF ในขณะนั้น) ดึงตัวเขาไปร่วมงาน เพื่อเปิดศึกกับ ดิ อันเดอร์เทคเกอร์ โดยใช้คาแรคเตอร์เดิม ไม่ต้องมีการปรับปรุงกิมมิคใหม่แต่อย่างใด
มิจิโนะคุ ต่อยอดความสำเร็จของสมาคม ด้วยการปั้นนักมวยปล้ำหน้าใหม่ขึ้นมาอีก 3 ราย นั่นคือ ทากะ มิจิโนะคุ, ดิก โตโก และ โชอิจิ ฟูนากิ ซึ่งรวมตัวกันในนามกลุ่ม "ไค เอ็น ไต" กลุ่มมวยปล้ำที่มีกิมมิคสุดจัดจ้าน นั่นคือการเป็นฝ่ายอธรรมที่รังเกียจนักมวยปล้ำต่างชาติ เกลียดวัฒนธรรมสมัยใหม่ ตามหาวิธีญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ฉบับยุคของโชกุน และซามูไร
Photo : skatan_hansen @skatan_hansen
กิมมิคมวยปล้ำที่โดดเด่นแบบนี้คือเรื่องปกติของฝั่งอเมริกัน แต่ฝั่งญี่ปุ่นเป็นอะไรที่สดใหม่อย่างมาก เพราะมวยปล้ำในญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นเรื่องจริงมาตลอด (ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงมองมวยปล้ำเป็นการต่อสู้จริง ๆ) ทำให้คาแรคเตอร์ของนักมวยปล้ำจะไม่มีกิมมิคที่เวอร์เกินความจริง และต้องเป็นเสมือนนักสู้บนสังเวียน ไม่ต่างจากกีฬาต่อสู้อื่น ๆ
แต่ มิจิโนะคุ โปร เรสริง กล้าจะทำสิ่งใหม่ ฉีกกรอบเดิม ๆ เพื่อสร้างจุดขายให้กับสมาคม ความโดดเด่นของ ไค เอ็น ไต ก็ไปเข้าตาของ ECW อีกหนึ่งค่ายมวยปล้ำชื่อดังของสหรัฐฯ ทาบทามนักมวยปล้ำทั้งกลุ่มได้ย้ายไปปล้ำที่อเมริกา ในปี 1997 ก่อนที่จะถูก WWE ดึงตัวไปอีกต่อ เมื่อปี 1998
Photo : droptoehold-blog.tumblr.com
ยุค 90’s มิจิโนะคุ โปร เรสริง เป็นเหมือนค่ายที่ส่งออกนักมวยปล้ำไปยังฝั่งอเมริกา แม้ว่าชื่อเสียงของนักมวยปล้ำจากค่ายอิสระค่ายนี้ จะเป็นรองค่ายอย่าง NJPW และ AJPW อยู่หลายเท่าในญี่ปุ่น แต่ถ้ามาถามแฟนมวยปล้ำฝั่งอเมริกา ชื่อของ ทากะ มิจิโนะคุ หรือ โชอิจิ ฟูนากิ เป็นที่รู้จักไม่แพ้ เคอิจิ มุโต หรือ มิตซึฮารุ มิซาวา อย่างแน่นอน
ไม่แตกต่างก็ไม่รอด
ยุค 90’s คือยุคทองของมวยปล้ำในญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องยากที่ค่ายมวยปล้ำจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ต่อให้เป็นสมาคมอิสระก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ทุกอย่างเปลี่ยนไปคนละด้าน วงการมวยปล้ำเสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว
แม้แต่สมาคมยักษ์ใหญ่อย่าง NJPW และ AJPW ยังแทบเอาตัวไม่รอด ไม่ต้องพูดถึง มิจิโนะคุ โปร เรสริง ที่ต้องพบกับปัญหาเรื่องรายได้ที่หดหายไป เพราะชื่อเสียงที่ตกลงของมวยปล้ำ
Photo : Michinoku Pro-wrestling
แถมยังต้องเจอกับ คู่แข่งหน้าใหม่อย่าง โทริวมอน ยิม หรือ ดรากอนเกต โปร เรสริง (Dragon Gate Pro Wrestling) ที่ก้าวขึ้นมาชิงฐานความนิยมของค่ายมิจิโนะคุไป เพราะทั้งสองค่ายมีพื้นฐานเหมือนกัน คือ นักมวยปล้ำส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเล็ก เน้นรูปแบบการปล้ำสไตล์เหินหาว คาแรคเตอร์ที่ชัดเจน เน้นเรียกเสียงฮาจากแฟนมวยปล้ำ เพียงแต่ทุกอย่างที่ว่ามา ดรากอนเกต ทำได้ดีกว่า มิจิโนะคุ โปร เรสริง
จากความตกต่ำที่เกิดขึ้น มิจิโนะคุถึงกับต้องเปลี่ยนมือผู้บริหาร จาก เดอะ เกรท ซาซึเกะ สู่ จินเซ ชินซากิ อดีตนักมวยปล้ำของ WWE ได้นำพาทิศทางใหม่มาให้สมาคมนี้อีกครั้ง
จากค่ายมวยปล้ำที่เน้นสไตล์ "ลูชาลิเบร" แบบเม็กซิโก ... มิจิโนะคุ หันมาสร้างสตาร์หน้าใหม่ที่เน้นปล้ำแบบสไตร์ค อัดหนักอัดจริงถึงใจ นั่นคือ เคนโอ และ ฟูจิตะ "จูเนียร์" ฮายาโตะ ก่อนจะวางบทให้นักมวยปล้ำ ทั้งสองให้เป็นคู่ปรับกัน ต่อสู้ชิงดีชิงเด่นแย่งความเป็นเบอร์ 1 ของสมาคมเป็นเวลาหลายปี จนกระตุ้นความนิยมของค่ายขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม มิจิโนะคุ โปร เรสริง ไม่ได้ทิ้งตัวตนของตัวเอง นั่นคือการสร้างความแปลกให้กับวงการมวยปล้ำ ยกตัวอย่าง เช่น แมตช์การปล้ำประจำปีของสมาคม "Space War" ที่นักมวยปล้ำจะต้องแต่งตัวเป็นคาแรคเตอร์ตามภาพยนตร์หรือการตูนในป็อป คัลเจอร์ ต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น โยดา จาก สตาร์ วอร์ส, ซูเปอร์แมน จาก DC, ไอออนแมน และ เดอะ ฮัลค์ จาก MARVEL ล้วนเป็นตัวละครที่ถูกหยิบมาใช้ในแมตช์การปล้ำนี้ แถมต้องรับบทให้สมกับคาแรคเตอร์ด้วย ซึ่งเรียกเสียงฮาจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ มิจิโนะคุ โปร เรสริง ยังกล้าที่จะลองแตกต่างจากค่ายอื่น นั่นคือมาจัดโชว์มวยปล้ำที่ประเทศไทย เพื่อหวังเปิดตลาดในดินแดนสยามประเทศ โดยเคยมาจัดการปล้ำที่บ้านเราถึง 2 ครั้ง ในช่วงปี 2016 และ 2017 ร่วมกับค่าย กาโตห์ มูฟ ไทยแลนด์
จุดเด่นที่เป็นจุดหนึ่งของ มิจิโนะคุ โปร เรสริง คือ การเอาใจตลาดท้องถิ่น และพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้ชมของสมาคม นักมวยปล้ำต้องใกล้ชิด เข้าถึง และจับต้องได้
โดยสมาคมมิจิโนะคุ เคยจับมือกับร้านอาหารท้องถิ่น ด้วยการให้นักมวยปล้ำของค่ายออกแบบเมนูอาหารเพื่อจำหน่ายในร้าน
Photo : cyclestyle.net
อย่างไรก็ตาม สมาคมมวยปล้ำอิสระค่ายนี้ต้องมาเจอปัญหาใหญ่ นั่นคือการระบาดของ COVID-19 จุดเด่นของการเน้นจัดโชว์ใกล้ชิดกับแฟน กลายเป็นผลเสียของสมาคม เพราะผู้ชมไม่สามารถเข้ามาชมมวยปล้ำเป็นจำนวนมากได้เหมือนในอดีต ขณะที่นักมวยปล้ำของค่ายก็ไม่สามารถทำกิจกรรมใกล้ชิดกับแฟน ๆ เพื่อเรียกคนเข้าสนามได้
ทุกปัญหาย่อมมีทางออก มิจิโนคุ โปร เรสริง เลือกที่จะยึดมั่นในแนวทางที่เน้นความใกล้ชิดกับแฟน ๆ ของตัวเองต่อไป ด้วยการออกแคมเปญหารายได้ต่าง ๆ เข้ามา
ไม่ว่าจะเป็นกับบริษัทขายข้าวกล่องในท้องถิ่น ให้นักมวยปล้ำเปลี่ยนร่างเป็นเดลิเวรี แมน ส่งอาหารถึงมือของผู้สั่ง
และล่าสุด มิจิโนคุ โปร เรสริง เกิดปิ๊งไอเดียสุดแจ่มอีกครั้ง ด้วยการเปิดบริการจัดโชว์มวยปล้ำถึงบ้านของแฟน ๆ ตามต้องการ ซึ่งการปล้ำที่เราบอกหมายถึงการปล้ำในบ้านจริง ๆ
Photo : Michinoku Pro-wrestling
อยากได้แมตช์ปล้ำ 1 ต่อ 1 หรือแท็กทีมก็มีบริการ แถมกรรมการมาให้ด้วย หรืออยากได้โฆษกผู้ประกาศมาพูดชื่อนักมวยปล้ำเพิ่มบรรยากาศให้เหมือนแมตช์มวยปล้ำจริง ๆ ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าอยากได้เวทีมวยปล้ำไปตั้ง ให้นักมวยปล้ำสู้กันเหมือนปกติทางสมาคมก็พร้อมจัดให้ (แต่ต้องมีพื้นที่ให้ตั้งเวทีด้วยนะ) ซึ่งราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 100,000 เยน (ประมาณ 28,000 บาท)
นอกจากนี้ สมาคมยังมีบริการร่วมกินข้าวกับนักมวยปล้ำ ที่เปิดโอกาสให้แฟน ๆ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักสู้ในดวงใจให้หายคิดถึง โดยมีค่าบริการเริ่มต้นที่ 10,000 เยน (2,800 บาท)
มิจิโนะคุ โปร เรสริง ผ่านช่วงเวลาที่โด่งดังมีนักมวยปล้ำหลายคนไปอยู่กับ WWE รวมถึงผ่านช่วงเวลที่ยากลำบาก ต้องต่อสู้กับสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สมาคมอยู่รอดต่อไป
แต่ไม่ว่าจะเจอวิกฤตแบบไหน สมาคมอิสระแห่งนี้ ก็พร้อมที่จะปรับตัว ไม่ยึดติดกับขนบเดิม ๆ ของสมาคม หรือมวยปล้ำญี่ปุ่น กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง หรือสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ บนเวทีมวยปล้ำอยู่เสมอ จนทำให้ มิจิโฯะคุ โปร เรสริง มีอายุยืนยาวมากว่า 30 ปี และเป็นมวยปล้ำที่มีอายุมากเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน