ต่อสู้หรือแค่สร้างภาพ? : เจาะประเด็น "วิลฟรีด ซาฮา" ไม่ยอมคุกเข่าต้านการเหยียดผิว
กลายเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนของวงการกีฬาอย่างรวดเร็ว หลังจาก วิลฟรีด ซาฮา แข้งผิวสีชาวไอวอรี โคสต์ เป็นนักเตะคนแรกของ พรีเมียร์ลีก ที่ปฏิเสธการนั่งคุกเข่า เพื่อต่อต้านการเหยียดผิว ช่วงก่อนเริ่มการแข่งขัน ในเกมระหว่าง คริสตัล พาเลซ เจอกับ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน
สำหรับการคุกเข่าก่อนเริ่มเกมการแข่งขัน เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง "Project Restart" เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ที่พรีเมียร์ลีกกลับมาแข่งอีกครั้งหลังต้องพักเบรกเพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบแรกในอังกฤษ พร้อม ๆ กับกระแสต่อต้านการเหยียดผิวที่กระจายไปทั่วโลก จากการที่ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำชาวอเมริกันเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนกลายเป็นข้อตกลงในฤดูกาล 2020-21 ระหว่างทางลีกกับผู้เล่น ที่ตั้งใจจะแสดงออกต่อต้านพฤติกรรมการเหยียดผิว
ทั้งที่เป็นคนผิวดำ แต่เหตุใด วิลฟรีด ซาฮา จึงไม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อความเท่าเทียมทางสีผิว เพื่อเพื่อนพ้องน้องพี่ของเขา
ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
คุกเข่าไป ไม่มีอะไรเปลี่ยน
การตัดสินใจของ วิลฟรีด ซาฮา ในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่เขาประกาศล่วงหน้ามาหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ในช่วงพักรักษาจากอาการบาดเจ็บ ว่าหากเขาได้กลับไปลงสนามอีกครั้ง เขาจะไม่คุกเข่าแสดงสัญลักษณ์ต้านการเหยียดผิวช่วงเริ่มเกม
Photo : www.sportsmole.co.uk
"ผมแค่รู้สึกว่าการคุกเข่า เป็นการไม่เคารพตัวเอง เพราะครอบครัวผมสอนว่า จงภูมิใจกับการเป็นคนดำ ดังนั้นเราควรยืนตรงอย่างภาคภูมิใจ ... เรากำลังลืมความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น มันกลายเป็นการทำ เพราะเราต้องทำ แค่นั้นมันไม่พอหรอก ผมจะไม่นั่งคุกเข่าอีกต่อไป" ซาฮาประกาศจุดยืนอย่างชัดเจน
เมื่อ วิลฟรีด ซาฮา ได้โอกาสกลับมาลงสนามในฐานะตัวจริง กับเกมที่ต้นสังกัด คริสตัล พาเลซ พบกับ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน เขาก็ทำอย่างที่พูดจริง ๆ ด้วยการยืนโดดเด่นเป็นสง่าอยู่คนเดียวในสนาม ขณะที่ผู้เล่นคนอื่น รวมไปถึงกรรมการนั่งคุกเข่ากันหมด
เหมือนปีกชาวไอวอรี โคสต์ รายนี้จะรู้ดีว่า สิ่งที่เขากำลังจะกระทำ จะได้รับความสนใจจากคนในสังคมอย่างแน่นอน เขาจึงปล่อยแถลงการณ์ถึงการตัดสินใจ กับการกระทำที่เกิดขึ้นออกมาทันที
"การตัดสินใจว่าจะไม่คุกเข่าเกิดขึ้นตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องนี้ไม่มีใครถูกหรือผิด ซึ่งผมเคารพการตัดสินใจของทุกคนที่เลือกจะคุกเข่า แต่โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า การคุกเข่ากลายเป็นพิธีกรรมก่อนเกมไปแล้ว และไม่ว่าเราจะคุกเข่าหรือไม่ ก็มีคนที่ถูกเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติอยู่ดี"
"ผมขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่ในโรงเรียน และสื่อสังคมออนไลน์ควรออกมาตรการลงโทษที่จริงจังมากขึ้น ต่อทุกคนที่เหยียดคนอื่น ไม่เฉพาะการเหยียดนักฟุตบอล จากนี้ผมขอโฟกัสกับฟุตบอลอย่างเต็มที่ และจะยืนก่อนเกมต่อไป" ซาฮาเปิดเผยความรู้สึกของเขาผ่านแถลงการณ์
Photo : www.independent.ie
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซาฮา เลือกจะไม่แสดงออกทางสัญลักษณ์ เพราะในช่วงเดือนก่อน นักเตะรายนี้เคยปฏิเสธที่จะใส่ปลอกแขนที่มีคำว่า "BLACK LIVES MATTER" มาแล้ว
การกระทำของดาวเตะจากพาเลซ แสดงออกชัดเจนว่า เขาเบื่อหน่ายกับพิธีกรรมที่ทำเหมือนว่า ทุกคนกำลังต่อสู้กับการเหยียดผิว ทั้งที่ในความเป็นจริง การดูถูกทางเชื้อชาติยังคงดำเนินต่อไป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
ไม่ใช่แค่ซาฮา
ไม่ใช่แค่ซาฮาคนเดียวที่เลือกจะไม่เอาด้วย กับการแสดงออกทางสัญลักษณ์ของทางลีก เพราะไม่นานมานี้ สโมสรเบรนท์ฟอร์ด ในลีก แชมเปียนชิพ ได้ประกาศที่จะไม่คุกเข่าก่อนเกมการแข่งขันอีกต่อไป ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันของผู้เล่นภายในทีม โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า
"เรารู้สึกเหมือนถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือ"
Photo : www.thesun.ie
หลังจากเบรนท์ฟอร์ดได้ประกาศเจตจำนงค์ออกมาอย่างชัดเจน ทำให้ ดาร์บี้ เคาน์ตี้, ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส, โคเวนทรี ซิตี้ และ บอร์นมัธ เพื่อนร่วมทีมในลีกรอง ตัดสินใจถอนตัวเองจากแคมเปญต่อต้านการเหยียดผิว ที่เคยร่วมมือกับลีกฟุตบอลอังกฤษเช่นกัน
ขณะเดียวกันการกระทำของซาฮา ได้รับการสนับสนุนไม่น้อยจากแฟนฟุตบอล ที่เข้าใจในเจตนาของเขา นั่นเป็นเพราะว่ามีคนจำนวนไม่น้อย ทั้งในและนอกวงการที่มองว่า การคุกเข่าก่อนเกมเริ่ม เป็นเพียงพิธีกรรมสร้างภาพลักษณ์ให้กับลีกเท่านั้น
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นักฟุตบอลผิวดำหลายคนในพรีเมียร์ลีก ถูกเหยียดเรื่องสีผิวอย่างหนักในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น อันโตนิโอ รือดิเกอร์, รีซ เจมส์ หรือ แพทริค ฟาน อานโฮล์ท แต่กลับไม่มีหน่วยงานในพยายามเข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
หรืออีกหนึ่งเหตุการณ์สุดฉาวโฉ่ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2020 กับเกมที่ มิลวอลล์ เปิดบ้านรับการมาเยือนของ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในศึก แชมเปียนชิพ ซึ่งได้มีการอนุญาตให้แฟนบอลของฝั่งเจ้าบ้าน จำนวน 2,000 คน เข้าสู่สนาม และพวกเขาก็ทำงามหน้าด้วยการโห่ ขณะที่เหล่าผู้เล่นทำการคุกเข่าแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ช่วงต้นเกม
ทั้งที่สื่อจำนวนมากออกมาโจมตีการกระทำที่เกิดขึ้นอย่างสาดเสียเทเสีย สมาคมฟุตบอลอังกฤษกลับทำได้แค่ออกแถลงการณ์ไม่สนับสนุนการเหยียดผิว ด้วยเนื้อหาที่เบาบาง และไม่มีสาระจริงจัง หรือการยกระดับวิธีการที่จะป้องกันการเหยียดผิว ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
Photo : www.thetimes.co.uk
"การคุกเข่าบรรลุเป้าหมายในหน้าที่นะ คือ การเป็นเครื่องมือโปรโมตที่ยอดเยี่ยม แต่ในมุมมองอื่น ผมว่ามันสูญเสียไปแล้วละ ตอนนี้มันไม่ต่างอะไรกับการติดแฮชแท็ก หรือติดเข็มกลัดเป็นสัญลักษณ์เท่านั้นเอง"
"การคุกเข่าเคยมีความหมายที่ทรงพลังมาก แต่ผมรู้สึกว่าอิมแพกต์ที่เคยเกิดขึ้นกำลังหายไป" เลส เฟอร์ดินานด์ ตำนานลูกหนัง ที่ปัจจุบันรับบทเป็น ผู้อำนวยการกีฬาของ ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส กล่าว
การแสดงออกของ วิลฟรีด ซาฮา กับการเลือกยืนตรง ไม่นั่งคุกเข่า คือ การตอกย้ำ ความเชื่อที่ว่า ต่อให้คุกเข่าก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน เพราะความหมายในการต่อสู้ได้ถูกลบเลือนหายไป เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้คนบางส่วนที่ได้ประโยชน์เท่านั้น
การคุกเข่าดำเนินต่อไป
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา การคุกเข่าแสดงออกทางสัญลักษณ์ต่อต้านการเหยียดผิว ได้รับการวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ทางพรีเมียร์ลีกได้ออกมายืนยันว่า กิจกรรมจะต้องดำเนินต่อไป อย่างน้อยจนจบฤดูกาลนี้ ตามที่ลีก และผู้เล่นได้ตกลงกันไว้
Photo : www.independent.co.uk
"ผมมองว่านี่เป็นครั้งแรก ที่ลีก, สโมสร และนักเตะ เห็นถึงความสำคัญในสิ่งที่เราตกลงทำร่วมกัน การต่อต้านการเหยียด คือ สิ่งที่พวกเราตั้งใจทำร่วมกัน เรามีแผนการในอนาคตที่จะยกระดับแคมเปญ 'No Room for Racism' รวมถึงการต้านการเหยียดผิวในโลกออนไลน์"
"คุณจะได้เห็นการต้านการเหยียดผิวที่จริงจังขึ้นหลังจากนี้ นักเตะจะทำการคุกเข่าจนจบฤดูกาล ... ทั้งนี้ทุกอย่างไม่ใช่การบังคับ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือก ทางลีกก็มีจุดยืนที่ชัดเจนที่จะเดินหน้าแคมเปญของเราต่อไป"
นอกจากนี้ พรีเมียร์ลีกยืนยันว่า นักฟุตบอลส่วนใหญ่ สนับสนุนแคมเปญนี้ ดังนั้นกิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิวจะดำเนินต่อไปอย่างแน่นอน
Photo : www.independent.co.uk
สุดท้ายแล้ว การนั่งคุกเข่าเพื่อแสดงออกถึงสัญลักษณ์เหยียดผิว ขึ้นอยู่กับมุมมองส่วนบุคคล นักฟุตบอลบางคนอาจจะมองว่า นี่คือการกระทำที่พวกเขาสามารถแสดงถึงการต้านพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ที่พวกเขาสามารถทำได้ในทุกสัปดาห์
ขณะที่แข้งบางคนสามารถมองได้ว่า แค่การนั่งคุกเข่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า การเหยียดผิวไม่ได้หายไปไหน
จะคุกเข่าหรือไม่คุกเข่าก็ไม่สำคัญ เท่ากับว่าเจตนาที่อยู่ใจของแต่ละคน ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคมจริงหรือไม่ เพราะหากมีความตั้งใจต่อการต้านพฤติกรรมเหยียดผิว จะแสดงออกในรูปแบบไหน ทุกอย่างล้วนมีคุณค่าไม่ต่างกัน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ