ไขคำตอบจากฟิสิกส์ : ทำไม "จาบูลานี" ถึงได้ชื่อว่าเป็นลูกบอลที่เลวร้ายที่สุดของฟุตบอลโลก ?

ไขคำตอบจากฟิสิกส์ : ทำไม "จาบูลานี" ถึงได้ชื่อว่าเป็นลูกบอลที่เลวร้ายที่สุดของฟุตบอลโลก ?

ไขคำตอบจากฟิสิกส์ : ทำไม "จาบูลานี" ถึงได้ชื่อว่าเป็นลูกบอลที่เลวร้ายที่สุดของฟุตบอลโลก ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"มันห่วยมาก เลวร้ายมาก มันเหมือนกับบอลที่คุณซื้อได้ในซูเปอร์ฯ" ฮูลิโอ เซซาร์ อดีตนายทวารทีมชาติบราซิลพูดถึง จาบูลานี 

มันคือลูกฟุตบอลประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ที่เปิดตัวด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด ด้วยจุดเด่นที่เรียกว่า "Grip'n Groove" หรือเกล็ดและร่องผิวที่ทำให้การยึดเกาะดีขึ้น แถมผิวหนังชั้นนอกยังประกอบด้วยชิ้นส่วนเพียง 8 ชิ้นและเชื่อมติดกันด้วยความร้อน ที่พวกเขาเคลมว่านี่คือลูกบอลที่กลมที่สุดเท่าที่เคยมีมา 

อย่างไรก็ดี หลังส่งไปให้เหล่านักฟุตบอลใช้งานจริง มันกลับไปด้วยเสียงก่นด่าจากแข้งระดับโลก ตั้งแต่ผู้รักษาประตูยันกองหน้า จนทำให้มันถูกเรียกว่าเป็นลูกบอลที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก

 

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

เทคโนโลยีล้ำสมัย 

ฟุตบอลโลก ถือเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาหยุดโลก เพราะนอกจากจะจัดขึ้นทุก 4 ปีครั้ง ที่ทำให้ผู้คนต่างเฝ้ารอแล้ว มันยังเป็นการแข่งขันที่รวมเหล่านักเตะระดับซูเปอร์สตาร์มาฟาดแข้งในเวทีเดียวกัน  

และนอกจากการแข่งขันสุดตื่นตาแล้ว ลูกฟุตบอล ก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้คนรอชม เนื่องจาก อาดิดาส (adidas) ที่รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตลูกบอลให้ฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ปี 1970 ที่เม็กซิโก มักจะเปิดตัวลูกบอลที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดทุก 4 ปี

อย่างไรก็ดี คงจะไม่มีลูกบอลลูกไหนที่ถูกพูดถึงเท่ากับ "จาบูลานี" (Jabulani) บอลประจำฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้

 


Photo : www.fifa.com

จาบูลานี คือบอลลูกที่ 11 ในฟุตบอลโลกของอาดิดาส ที่มีลายประกอบด้วย 11 สี ซึ่งแทนผู้เล่นทั้ง 11 คนในสนาม รวมไปถึง 11 ภาษาทางการและผู้คน 11 เผ่าในแอฟริกาใต้ ในขณะที่ชื่อของมันมาจากภาษาซูลู หนึ่งในภาษาทางการที่แปลว่า "การเฉลิมฉลอง" 

นอกจากนี้ มันยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ด้วยพื้นผิวที่เรียกว่า "Grip'n Groove" ซึ่งเป็นเกล็ดและร่องผิว ที่จะช่วยให้การจับบอลมีความแม่นยำขึ้น แถมยังลดจำนวนแผ่นชิ้นส่วนของผิวชั้นนอก จาก 14 แผ่นสมัย ทีมไกส์ (Teamgeist) ลูกบอลประจำการแข่งขันปี 2006) เหลือเพียงแค่ 8 แผ่นเท่านั้น 


Photo : www.design-engineering.com

ในขณะที่ขั้นตอนการประกอบ อาดิดาสยังใช้เทคโนโลยี 3D thermal bonding ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการใช้การอัดด้วยแรงดันความร้อน 3 มิติ ที่ทำให้ลูกบอลมีความกลมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

"ตามข้อกำหนดที่เข้มงวดของฟีฟ่า เราได้สร้างบอลที่มีขนาดเล็กและหนัก ที่ทำให้มันมีความแม่นยำสูงสุด ทั้งการยึดเกาะที่สมบูรณ์แบบและความเสถียรเป็นพิเศษเมื่อลอยอยู่ในอากาศ" โทมัส วาน ชาร์ค หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของอาดิดาสกล่าวในวันเปิดตัว  

แต่ทันทีที่ถึงมือนักเตะ มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ลูกบอลตลาดนัด 

จาบูลานี เปิดตัวครั้งแรกในเดือนธันวาคมปี 2009 และถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2009 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อนจะส่งไปให้ลีกและทีมต่าง ๆ ใช้งาน 

อย่างไรก็ดี ทันทีที่ผู้เล่นได้สัมผัสจริง กลับเต็มไปด้วยข้อร้องเรียน ฮูลิโอ เซซาร์ ผู้รักษาประตูทีมชาติบราซิลในตอนนั้นบอกว่ามันเป็นเหมือนบอลตามซูเปอร์มาร์เก็ต เช่นกันกับ อิเคร์ คาซิยาส ที่ตำหนิถึงการนำบอลนี้มาใช้การในแข่งขันสำคัญอย่างฟุตบอลโลก


Photo : www.smh.com.au

"มันห่วยมาก เลวร้ายมาก มันเหมือนกับบอลที่คุณซื้อได้ในซูเปอร์มาร์เก็ต" เซซาร์กล่าว 

"มันเหมือนกับบอลชายหาด มันน่าเศร้าที่ต้องใช้บอลแบบไม่สมประกอบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ในการแข่งขันที่สำคัญอย่างฟุตบอลโลก" นายด่านชาวสเปนเสริม 

ในขณะที่ จานลุยจิ บุฟฟอน ผู้รักษาประตูทีมชาติอิตาลี ที่ไม่ค่อยเปิดปากวิจารณ์อะไร ยังอดไม่ได้ที่จะตำหนิลูกบอลเจ้าปัญหานี้ และบอกว่ามันคือความน่าละอาย

"โมเดลใหม่ (จาบูลานี) มันไม่ดีพอ ผมเชื่อว่ามันคือความน่าอับอายที่ต้องใช้บอลลูกนี้ ในการแข่งขันที่สำคัญที่เต็มไปด้วยทีมแชมป์มากมายเข้าร่วม" ตำนานยูเวนตุสกล่าว

 

จริงอยู่ที่ผู้รักษาประตู อาจจะเป็นตำแหน่งที่เสียเปรียบ เมื่อทุกครั้งที่เปิดตัวลูกบอลลูกใหม่ในฟุตบอลโลก ฟีฟ่า มีเป้าหมายที่จะให้เกิดประตูให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในรายการดังกล่าว แต่อาจจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับ จาบูลานี เมื่อผู้เล่นในตำแหน่งอื่นก็ไม่ไหวกับบอลลูกนี้ 

พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จาบูลานี เป็นบอลที่ควบคุมยาก มันมีการเคลื่อนที่ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทั้งการส่ายหรือมุดลง หรือเปลี่ยนทิศทางในวินาทีสุดท้าย 


Photo : www.sandiegouniontribune.com

"แน่นอนว่าคนที่ออกแบบลูกบอลลูกนี้ต้องไม่เคยเล่นฟุตบอลมาก่อน แต่เราจะทำอะไรได้ เพราะต้องใช้มันอยู่ดี" โรบินโญ อดีตกองหน้าทีมชาติบราซิลเปิดปากวิจารณ์

แม้กระทั่ง ชาบี เอร์นานเดซ เพลย์เมกเกอร์ชาวสเปน ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการคอนโทรลบอล ยังบอกว่าบอลมีความส่ายมากกว่าปกติ ในขณะที่ จามเปาโล ปาซซินี อดีตกองหน้าทีมชาติอิตาลี บอกว่าลูกบอลลูกนี้คือ "หายนะ"

 

"มันส่ายมากและควบคุมได้ยาก เวลากระโดดขึ้นเพื่อโหม่งลูกที่เปิดมา จะเจอกับการเปลี่ยนทิศทางอย่างฉับพลันของลูกบอล และทำให้คุณโหม่งพลาด" อดีตหัวหอกทีมชาติอิตาลีกล่าวกับ AP 


Photo : goal.com

อย่างไรก็ดี ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มขึ้น อาดิดาส ก็ออกมาโต้แย้งในเรื่องนี้ และยืนยันว่าจากการทดสอบในหลายลีก ทุกคนต่างตอบรับในแง่บวก เช่นกันกับเหล่านักเตะที่อาดิดาสเป็นสปอนเซอร์อย่าง อัลบาโร อัลเบรัว, กากา หรือ แฟรงค์ แลมพาร์ด ที่ชอบบอลรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ 

"เราเริ่มใช้มันตั้งแต่เดือนธันวาคมในหลาย ๆ ลีก และผลตอบรับล้วนเป็นแง่บวก" โทมัส วาน ชาค โฆษกของอาดิดาสกล่าวกับ AP 

"ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้แจกบอลให้กับทีมที่เข้ารอบสุดท้าย เพื่อทำความคุ้นเคย เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้" 

เมื่อความเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ ก็กลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ผู้ต่างเฝ้ารอเพื่อพิสูจน์

ลูกบอลที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก 

จาบูลานี กลายเป็นกระแสที่ผู้คนต่างพูดถึงมาตั้งแต่ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มขึ้น และยิ่งเป็นประเด็นร้อน เมื่อลูกบอลที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดลูกนี้ ได้แผลงฤทธิ์อย่างที่นักฟุตบอลหลายคนพูด ด้วยการเป็นต้นเหตุการเสียประตูแบบไม่น่าเสียหลายครั้ง 


Photo : www.independent.ie

ยกตัวอย่างเช่นในเกมรอบแรกนัดที่ 2 ของกลุ่มบี ระหว่าง กรีซ กับ ไนจีเรีย เมื่อ วินเซนท์ เอนเยียมา นายด่านของทีมจากแอฟริกา ที่เซฟอุตลุตในเกมนัดเปิดสนามกับ อาร์เจนตินา ต้องมาเสียประตูง่าย ๆ จากลูกยิงไกลที่เขารับกระฉอกแล้วโดน วาซิลิส โตโรซิดิส ตามซ้ำเข้าไป 

"มันเป็นเพราะบอล ไม่ใช่ผม มันขยับในนาทีสุดท้าย แต่มันคือลูกบอลที่เราได้รับ และต้องเล่นกับมัน" เอนเยียมา กล่าวด้วยความหัวเสียหลังเกม 

หรือในเกมรอบ 8 ทีมสุดท้ายระหว่าง กานา กับ อุรุกวัย ที่เห็นได้ชัดว่าลูกยิงไกลกว่า 35 หลาของ ซัลเลย์ มุลตารี ของกานา เปลี่ยนวิถีไปจากเดิมเล็กน้อยก่อนถึงตัว เฟอร์นันโด มุสเลรา 

เช่นกันกับลูกฟรีคิก ที่ลูกยิงข้อเท้า (Knuckle Shot) กลายเป็นเทรนด์ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น เมื่อ จาบูลานี ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ลูกยิงลักษณะนี้มีความอันตรายมากขึ้น และลูกตีเสมอของ ดีเอโก ฟอร์ลัน ในเกมพบกานา ก็คือหนึ่งในตัวอย่างชั้นดี

"ลูกบอลนี้ไม่ได้ตอบแทนความสามารถผู้เล่น" เครก จอห์นสตัน อดีตกองกลางลิเวอร์พูล และเป็นผู้ให้กำเนิดรองเท้าสตั๊ด พรีเดเตอร์ ของอาดิดาสอันลือลั่น กล่าวกับ The Independent

"แน่นอน ผู้เล่นที่ฉลาดจะหาวิธีใช้มันอย่างรวดเร็ว ดูอย่างฟอร์ลันในเกมกับกานาและฮอลแลนด์ เขาแต่ยิงบอลให้แรงที่สุดเท่าที่ทำได้ไปกลางประตู และรู้ว่าธรรมชาติของบอลที่ลอยไปแบบอาแน่เอานอนไม่ได้จะหลอกผู้รักษาประตู"  

จอห์นสตัน คือหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับลูกบอลลูกนี้ และออกมาวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน เขาถึงขั้นเขียนจดหมายเปิดผนึกไปหาฟีฟ่า เพื่อให้เลิกใช้บอลลูกนี้ ก่อนนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2010 แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล 

"ใครที่มีส่วนรับผิดชอบควรนำมันออกไปจากการแข่งขัน เพราะมันคืออาชญากรรมของฟุตบอล" จอห์นสตันกล่าวต่อ

"นี่คือบอลที่ทำให้เกิดฟุตบอลยุคก่อนประวัติศาสตร์ บอลลูกนี้มีความประสาทกิน ไม่แน่นอน และมันไม่ได้ตอบแทนการเล่นที่ฉลาด" 


Photo : www.footy-boots.com

และสถิติในการแข่งขันครั้งนั้นคือสิ่งที่ตอกย้ำความเลวร้ายของบอลลูกนี้ เมื่อจาบูลานีกลายเป็นต้นเหตุของความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างการแข่งขัน ที่ทำให้ทั้งลูกยิง ลูกครอส หรือลูกโยนบอลยาว ผิดไปจากเป้าหมายอยู่หลายครั้ง 

จากสถิติของ Opta ระบุว่า ในเกมรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2010 มีอัตราการจ่ายบอลผิดพลาดสูงที่สุด เมื่อเทียบกับฟุตบอลโลก 4 ครั้งที่ผ่านมา 

แถมตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์มีอัตราการยิงเข้ากรอบเฉลี่ยเพียงแค่ 33 เปอร์เซ็นต์ น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกนับตั้งแต่ปี 1990 (ฟุตบอลโลก 3 ครั้งหลังสุด มีอัตราการยิงเข้ากรอบอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์) และทำให้มันถูกขนานนามว่าเป็นลูกบอลที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก 

ว่าแต่อะไรที่ทำให้ จาบูลานี เป็นเช่นนี้

สมบูรณ์แบบเกินไป 

จริงอยู่ที่ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบที่ทันสมัย ทำให้ อาดิดาส สามารถออกแบบ จาบูลานี ออกมาได้ดีเยี่ยม และทำให้มันมีความกลมในระดับเกือบสมบูรณ์แบบ แต่ความสมบูรณ์แบบนี้กลายเป็นดาบสองคมที่กลับมาทิ่มแทงพวกเขา 

เพราะแม้ว่า จาบูลานี จะเป็นบอลที่มีความกลมมากที่สุดเท่าที่เคยผลิตมา แต่มัน "กลมมากเกินไป" ซึ่งไม่ใช่ข้อดีของลูกบอลที่ใช้ในการแข่งขันกีฬา เพราะทำให้ผู้เล่นควบคุมได้ยาก 


Photo : ihavenet.com

"ปัญหาของจาบูลานี อาจจะอยู่ที่รอยเย็บที่อยู่ภายใน มันทำให้บอลมีลักษณะคล้ายกับทรงกลมที่สมบูรณ์แบบ" เอริค เบอร์ตัน รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งการเคลื่อนที่ในมาร์กเซย์ ฝรั่งเศสกล่าวกับ AP 

ในกีฬาชนิดอื่นอย่างเทนนิส กอล์ฟ และเบสบอล ลูกบอลจะต้องมีความไม่เรียบอย่างสม่ำเสมอ ที่ทำให้บอลมีความเสถียร และควบคุมวิถีได้ โดยส่วนที่นูนออกมาหรือตะเข็บที่เปิดโล่งจะทำให้ลูกเทนนิสปั่นได้ หรือทำให้นักเบสบอลสามารถขว้างลูกโค้งได้ 

แต่สำหรับ จาบูลานี การใช้เทคโนโลยีผสานแผ่นพาเนล 8 แผ่นเข้าด้วยกันด้วยความร้อน ส่งผลให้ลูกบอลไม่มีรอยเย็บ ทำให้แม้ว่า จาบูลานี จะมีพื้นผิวที่เรียกว่า Grip'n Groove แต่บอลก็ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปในแบบเดียวกับลูกเบสบอลหรือลูกเทนนิส 

"เป็นเพราะรูปร่างของมัน ทำให้ช่วงเวลาที่เท้าสัมผัสบอลลดลง" เบอร์ตันอธิบายต่อ  

"ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บอลเกือบจะไม่หมุน และเคลื่อนที่ไปได้ไกลกว่าเดิมเล็กน้อย รวมถึงมีการลอยและวิถีที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกองหน้าหรือผู้รักษาประตู" 

จากการทดลองของ ศาสตราจารย์ คาสุยะ เซโอะ จากมหาวิทยาลัยยามางาตะ และ ศาสตราจารย์ทาเคชิ อาซาอิ แห่งมหาวิทยาลัยสึคุบะ ยังพบว่าความกลมที่ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบของมัน ทำให้บอลมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวและเกิดการหักเหอย่างกะทันหันขณะลอยอยู่ หรือที่เรียกว่า Knuckle effect ที่เป็นเหตุให้ผู้เล่นกะจังหวะผิดพลาด

 

นอกจากนี้ เดเรค เลนวิเบอร์ นักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอาเดเลด ระบุว่าหลังได้ทดสอบทางคอมพิวเตอร์พบว่า จาบูลานี มีความเร็วในการเคลื่อนที่เร็วกว่าลูกบอลในรุ่นก่อน และคาดเดาทิศทางไม่ได้ 

"หมายความว่าผู้รักษาประตู แทบไม่มีเวลาคาดการณ์วิถีที่บอลจะไป" เลนวิเบอร์ อธิบาย 

โดยความเร็วที่เพิ่มขึ้น ราบี เมห์ธา วิศวกรการบินและอวกาศของ NASA อธิบายว่า ก็มีสาเหตุมาจากความเรียบของพื้นผิวที่มากเกินไป และทำให้ลูกบอลมีความเร็วเพิ่มขึ้นจาก 35 ไมล์ (56 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง เป็น 55 ไมล์ (88 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง 


Photo : www.telegraph.co.uk

"ก่อนปี 2006 บอลทั่วไปจะมีแผ่นห้าเหลี่ยมจำนวน 32 แผ่นที่ยึดติดกันด้วยการเย็บภายใน ส่วนทีมไกส์ จะมีแผ่นพาเนล 14 แผ่นที่เชื่อมเข้าด้วยกัน ทำให้มันมีพื้นผิวที่เรียบมากขึ้น" เมห์ธากล่าวกับ The The Independent

"โดยความเร็วจะขึ้นอยู่กับความขรุขระของลูกบอล สำหรับลูกบอลเมื่อก่อนที่มีแผ่นพาเนล 32 แผ่น ความเร็วจะอยู่ที่ 35 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ด้วยพื้นผิวที่เรียบกว่าในบอลทีมไกส์ทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นไปถึง 45 ไมล์ต่อชั่วโมง"  

"ส่วนจาบูลานีประกอบไปด้วยแผ่นพาเนล 8 แผ่นที่เชื่อมติดกัน พร้อมมีร่องและรอยนูนตามหลักอากาศพลศาสตร์ ผมคิดว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนดีไซน์คือการลดความเร็ว แต่มันกลับทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 55 ไมล์ต่อชั่วโมง เร็วกว่าทีมไกส์เสียอีก" 

"และนี่คือเหตุผลว่าทำไมบอลลูกนี้ถึงมีการร้องเรียนจากผู้เล่นจากผู้เล่นเป็นจำนวนมาก"

ดีไซน์แรกและสุดท้าย 

แม้อาดิดาส จะออกมาโต้แย้งว่าประตูที่ไม่ควรเกิดหรือข้อผิดพลาดในฟุตบอลโลก ไม่เกี่ยวกับจาบูลานี และเป็นความผิดพลาดของตัวนักเตะเอง แต่พวกเขาก็ไม่เคยเอาดีไซน์ในลักษณะนี้ มาใช้กับบอลที่ใช้แข่งในเกมระดับสูงอีกเลย 

เหมือนกับว่าพวกเขาได้นำคำวิจารณ์ไปปรับปรุงใหม่ และทำให้ลูกบอลในฟุตบอลโลก 2 ครั้งต่อมาอย่าง บราซูกา (ฟุตบอลโลก 2014 บราซิล) และ เทลสตาร์ 18 (ฟุตบอลโลก 2018 รัสเซีย) แทบจะไม่เจอกับคำวิจารณ์ที่หนักหน่วงเท่ากับ จาบูลานี 


Photo : naijasuperfans.com

"หลังจากนั้น บอลบราซูกาที่ใช้ในฟุตบอลโลก 2014 ถูกพัฒนาใหม่ มีแผ่นพาเนล 6 แผ่น (น้อยกว่าสมัย จาบูลานี เสียอีก) แต่มีตะเข็บและรอยนูนที่มากกว่า" เมห์ธาอธิบายกับ The Independent 

"ด้วยเหตุนี้ทำให้ความเร็วของมันลดลงเหลือ 35 ไมล์ต่อชั่วโมง และไม่มีเสียงบ่นจากนักฟุตบอล หรือ เทลสตาร์ ที่ใช้ในปี 2018 ก็มีแผ่นพาเนล 6 แผ่นขนาดยาว ตะเข็บและเกล็ดก็ยาวกว่าเดิม แต่ตื้นกว่า ซึ่งประสิทธิภาพตามหลักอากาศพลศาสตร์ คล้ายกับบราซูกา จึงทำให้มันไม่มีเสียงบ่นมาจากนักเตะเช่นกัน" 

อย่างไรก็ดี ตราบใดที่อาดิดาส ยังคงเปลี่ยนดีไซน์ของลูกบอลทุกครั้งในฟุตบอลโลกทุก 4 ปี เป็นไปไม่ได้เลยว่าจะไม่มีข้อถกเถียงอีกเลยในอนาคต เพราะลูกบอลมักจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ถูกวิจารณ์อยู่แล้ว 

และไม่ว่าลูกบอลของ อาดิดาส จะดีหรือร้าย หรือมีคนชอบหรือไม่ชอบมากแค่ไหน แต่ต้องยอมรับว่ามันคือหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของการแข่งขันฟุตบอลโลก 

ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนต่างรอคอยที่จะยลโฉมเสมอมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook