มวยปล้ำคนแคระ : ศึกที่ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" มีความหมายมากกว่าเข็มขัดแชมป์
Midget Wrestling อาจเป็นชื่อที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อน ต่อให้คุณเป็นแฟนมวยปล้ำพันธุ์แท้ก็ตาม เพราะนี่ไม่ใช่ชื่อของสมาคมยักษ์ใหญ่ อย่าง WWE, WCW, AEW หรือ NJPW
แต่ Midget Wrestling คือชื่อเรียกของมวยปล้ำประเภทหนึ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือ "มวยปล้ำของคนแคระ" ที่นักมวยปล้ำทุกคนในโชว์ หรือสมาคม จะเป็นคนแคระทุกคน และพวกเขาปล้ำกันอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ต่างจากค่ายมวยปล้ำปกติแม้แต่น้อย
ครั้งหนึ่ง มวยปล้ำคนแคระเคยเป็นที่นิยมอย่างมาก เป็นทางเลือกกระแสหลักของกีฬามวยปล้ำ โชว์ของพวกเขาได้รับการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
หากแต่ปัจจุบัน ภาพจำของคนแคระในวงการมวยปล้ำ คือตัวตลกที่มีไว้เรียกเสียงหัวเราะเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง พวกเขาสามารถมวยปล้ำได้ดี ไม่ต่างจากคนทั่วไป
นี่คือการต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยจบแค่ในสังเวียน และหากใครที่คิดว่ามวยปล้ำเป็นเพียงแค่การแสดง ไม่ใช่การต่อสู้จริง ๆ เหล่ามวยปล้ำคนแคระจะแสดงให้คุณเห็นว่า การต่อสู้ที่แท้จริงเป็นอย่างไร
เพราะพวกเขาต่อสู้เพื่อความเป็นมนุษย์ ให้ตนเองเทียบเท่ากับคนปกติมาตลอดทั้งชีวิต
เมื่อสังคมไม่ต้อนรับคนที่แตกต่าง
จุดกำเนิดของ Midget Wrestling ในแง่ของวันเวลา ไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ Midget Wrestling ไม่ได้เริ่มต้นในฐานะค่ายมวยปล้ำ แต่เป็นส่วนหนึ่งของงานคาร์นิวัลที่เดินทางไปจัดทั่วสหรัฐอเมริกา ในฐานะโชว์ตลก
Photo : Sport242
Midget Wrestling จึงเป็นเพียงโชว์กายกรรม ที่นำคนแคระมาสร้างสีสัน สร้างความบันเทิงให้กับผู้ซื้อตั๋วเข้าชม โดยใช้มวยปล้ำเป็นสื่อกลางในการสร้างความตลกเท่านั้น
ถึงจะดูเป็นเหยียดความเป็นมนุษย์ กับการนำคนรูปร่างที่แตกต่างจากคนทั่วไป มาเป็นตัวตลก สร้างเสียงฮาให้กับผู้คน แต่ด้วยโลกในอดีต พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนัก กับการประกอบอาชีพ ทำให้คนแคระจำนวนไม่น้อย ผันตัวมาเป็นนักกายกรรม กลายเป็นนักมวยปล้ำปลอม ๆ สร้างความสนุกให้กับผู้คน
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม โชว์มวยปล้ำกายกรรมของเหล่าคนแคระได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจให้คนซื้อตั๋วมาร่วมงานคาร์นิวัล จนกลายเป็นกระแสขึ้นมาว่า ทำไมคนเหล่านี้ไม่ปล้ำมวยจริง ๆ เสียเลย
ไม่ใช่เรื่องยาก หากเหล่าคนแคระจะฝึกมวยปล้ำ เพราะโดยปกติแล้วท่ากายกรรม ทักษะยิมนาสติกต่าง ๆ ไม่ว่าจะม้วนหน้า, ม้วนหลัง, ตีลังกา ฯลฯ ล้วนเป็นทักษะพื้นฐานของการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ ดังนั้น พวกเขาจึงสามารถเรียนรู้ และเปลี่ยนอาชีพได้อย่างรวดเร็ว
ถึงจะมีรูปร่างตัวเล็กกว่าคนปกติทั่วไป แต่มีงานวิจัยออกมาอย่างหลากหลายในยุคปัจจุบัน ว่ากลุ่มคนแคระไม่ได้มีความสามารถด้านกีฬา ด้อยไปกว่าคนปกติเลย กีฬาไหนคนธรรมดาเล่นได้ พวกเขาก็เล่นได้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่กีฬาต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็น มวยสากล หรือว่า มวยปล้ำ
Photo : Miror
ด้วยกระแสมวยปล้ำคนแคระที่เริ่มโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนแคระหันมาเป็นนักสู้บนสังเวียนกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรอบนี้คือนักมวยปล้ำจริง ๆ ไม่ใช่นักแสดงตลกแบบในอดีต
ไม่ว่าจะเป็น สกาย โลว์ โลว์ (Sky Low Low) อดีตทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, ลิตเติล บีเวอร์ (Litte Beaver) หนุ่มคนแคระที่เริ่มปล้ำตั้งแต่วัย 15 ปี, ลอร์ด ลิตเติลบรูค (Lord Littlebrook) หนุ่มนักกายกรรมจากอังกฤษ ที่เดินทางมาแสดงโชว์ที่อเมริกา แต่ดันตกงานเพราะคณะแสดงเจ๊ง, ฟุซซี คิวปิด (Fuzzy Cupid) ชายที่หมดสิทธิ์เข้าโรงเรียนเหมือคนปกติ เพราะตัวเล็กเกินไป จนหันมาฝึกมวยปล้ำ
จะเห็นได้ว่าปูมหลังของนักมวยปล้ำคนแคระชื่อดังในยุคแรกแต่ละคน ล้วนเป็นคนที่สังคมปกติไม่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา หรือด้านการทำงาน คนเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสเทียบเท่ากับคนปกติ ดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา มีไว้สำหรับคนธรรมดา ไม่ใช่คนแคระอย่างพวกเขา
โอกาสในการใช้ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ มีน้อยมากเหลือเกิน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนแคระหลายคน หันมาหลงใหลในกีฬามวยปล้ำ เพราะเวทีแห่งนี้เปิดต้อนรับพวกเขา สร้างความฝันที่จะเป็นบุคคลที่มีคนชื่นชอบ ไม่เป็นตัวแปลกประหลาดของสังคมอีกต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งสวยงามที่กีฬามวยปล้ำมอบให้กับผู้คนมาตลอด
มวยปล้ำอันดับ 1 ของโลก (เมื่อนานมาแล้ว)
วงการมวยปล้ำคนแคระเริ่มต้นยุคทองตั้งแต่ยุค 1950s ซึ่งสามารถพูดได้ว่า โด่งดังมาก่อนมวยปล้ำของคนปกติด้วยซ้ำ นักมวยปล้ำอย่าง สกาย โลว์ โลว์ และ ลิตเติล บีเวอร์ คือสตาร์ระดับแม่เหล็ก ดูดให้คนมาซื้อตั๋วจนขายเกลี้ยงเกือบทุกโชว์
Photo : Medium
จุดเด่นของมวยปล้ำคนแคระไม่มีอะไรมากไปกว่า คนชอบมาดูคนแคระสู้กันบนเวที เพราะภาพจำของคนแคระคือคนที่อ่อนแอ ไม่ได้มีร่างกายแข็งแรงแบบคนปกติ แต่บนเวทีมวยปล้ำ พวกเขาคือนักสู้ที่ดุดัน อัดหนักอัดจริง ผสมผสานกับความรวดเร็วว่องไวที่น่าตื่นตาตื่นใจ
ขณะเดียวกันในมุมมองของคนแคระเอง พวกเขาก็ต้องการการต่อสู้อย่างหนักหน่วง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเองไม่ได้แตกต่างจากนักกีฬาทั่วไป เรียกได้ว่าเป็นการซื้อใจจากผู้ชม ให้พวกเขาได้รับความยอมรับจากสังคม เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง คนแคระถูกมองข้ามจากโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโลกที่ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต มวยปล้ำคนแคระจึงถือเป็นความบันเทิงในรูปแบบหนึ่ง ที่คนในยุคนั้นชื่นชอบ
จน NWA สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลก ในเวลานั้น ต้องสร้างเข็มขัดมวยปล้ำคนแคระในชื่อ NWA World Midget's Championship เพื่อเพิ่มคุณค่า และความนิยมของมวยปล้ำคนแคระมากขึ้นไปอีก โดย ลิตเติล บีเวอร์ ดาวเด่งของวงการเคยถือเข็มขัดเส้นนี้ ยาวนานร่วม 7 ปีเลยทีเดียว
มวยปล้ำคนแคระโด่งดังชนิดที่เรียกว่า พวกเขาจัดโชว์มวยปล้ำไปทั่วโลก ได้ก่อนที่สมาคมไหนในโลกจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, คิวบา หรือแม้กระทั่งประเทศไทย พวกเขาล้วนมีประสบการณ์ต่อสู้บนแผ่นดินนั้น ๆ มาหมดแล้ว
Photo : FlashBack
นอกจากนี้ วงการมวยปล้ำคนแคระ ยังได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับวงการมวยปล้ำที่ไม่เคยมีมาก่อนในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นการปล้ำแบบ 2 ใน 3 (ชนะ 2 ยกจาก 3 ยก), การปล้ำมวยปล้ำแนวตลก มีการสวมคาแรคเตอร์อื่นบนสังเวียน
ที่สำคัญที่สุด ลอร์ด ลิตเติลบรูค คือนักมวยปล้ำคนแรกของโลก ที่ใช้ท่ากระโดดจากเชือกลงมาอัดคู่ต่อสู้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักมวยปล้ำรุ่นหลังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จิมมี สนุกกา, โกโก้ บีแวร์ หรือแม้กระทั่ง ชอว์น ไมเคิลส์
วงการ Midget Wrestling ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงยุค 70s มีโชว์ที่ถ่ายทอดโทรทัศน์ตามในแต่ละรัฐที่ไปขึ้นปล้ำ อย่างไรก็ตามพอเข้าสู่ยุค 80s ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
กลับคืนสู่การเป็นแค่ตัวตลก
ยุค 80s ถือได้ว่าเป็นยุคทองของวงการมวยปล้ำ มีสมาคมมากมายที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะสองค่ายใหญ่ อย่าง WWE (WWF ในขณะนั้น) และ NWA มีนักมวยปล้ำมากมายที่ได้รับความนิยม และเป็นตำนานของวงการมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้ง ฮองค์ โฮแกน, ริค แฟลร์, อังเดร เดอะ ไจแอนท์, ดัสตี โรดส์ เป็นต้น
ด้วยความหมายของกีฬามวยปล้ำที่เปลี่ยนไป จากกีฬากลายเป็น "สปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์" ทำให้แฟนมวยปล้ำเริ่มต้องการบางสิ่งมากกว่าการต่อสู้ที่ดุเดือดบนเวที แต่ต้องเป็นความบันเทิงที่พวกเขาจะไม่สามารถพบได้จากสื่ออื่น เป็นสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจ ไม่ต่างจากการชมภาพยนตร์ หรือการ์ตูนสักเรื่อง
Photo : FlashBack
จุดแข็งของมวยปล้ำคนแคระที่เน้นการปล้ำอย่างจริงจังบนเวที จึงกลายเป็นจุดอ่อนในทันที เพราะไม่มีใครอยากดูนักมวยปล้ำร่างเล็กมาโชว์การแลกเทคนิค จับล็อคกันไปกันมา แม้ว่านี่คือมวยปล้ำคุณภาพ และยังคงดูสนุก ต่อให้ย้อนกลับไปดูในมุมมองของคนจากปี 2021 ก็ตาม
อิทธิพลสุดท้ายของมวยปล้ำคนแคระที่เหลืออยู่ในสหรัฐอเมริกา คือการที่นักมวยปล้ำคนแคระหลายคน ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโชว์ที่ยิ่งใหญ่ อย่าง เรสเซิลมาเนีย ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นภาพจำสำคัญครั้งสุดท้าย ของวงการมวยปล้ำคนแคระ
เพราะเมื่อเข้าสู่ยุค 90s คนแคระถูกเปลี่ยนจากยอดนักมวยปล้ำบนสังเวียน กลายเป็นภาพจำของตัวตลกในวงการมวยปล้ำ เนื่องจาก WWE นิยมใช้คนแคระมารับบทเป็นตัวตลก เรียกเสียงฮาจากผู้ชม
ไม่ว่าจะเป็นคาแร็คเตอร์ ดิงค์ เดอะ คลาวน์ (Dink the Clown) ในกิมมิคตัวตลกคนแคระ จากงานคาร์นิวัล เรียกได้ว่าย้อนไปยังจุดตั้งต้นของปมด้อยของคนกลุ่มนี้เลยทีเดียว
หรือที่แย่ที่สุด คือหากคิดบทจะล้อเลียนนักมวยปล้ำสักคน ก็จะมีการให้คนแคระมาสวมบทเป็นนักมวยปล้ำคนนั้น เพื่อล้อเลียนว่านักมวยปล้ำคนนั้น "ห่วยแตก" เหมือนกับคนแคระนั่นเอง
สิ่งนี้เรียกได้ว่า ทำลายภาพที่สวยงามทุกอย่างของนักมวยปล้ำคนแคระ โดยสิ้นเชิง จากสุดยอดนักสู้บนสังเวียน กลายเป็นเพียงตัวตลกไร้คุณค่าในวงการมวยปล้ำ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับใครหลายคน โดยเฉพาะนักมวยปล้ำจากยุครุ่งเรืองของ Midget Wrestling
"ผมโคตรเกลียดสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ผมพูดจากใจจริง ผมต้องการดูคนแคระในฐานะนักมวยปล้ำ ไม่ใช่ในฐานะตัวตลก" ลอร์ด ลิตเติลบรูค นักมวยปล้ำคนแคระผู้โด่งดัง กล่าว
ความน่าเศร้าของวงการมวยปล้ำคนแคระคือ มีหลายสมาคมที่พยายามจะฟื้นฟูลีกมวยปล้ำนี้กลับมาอย่างจริงจัง แต่ว่าไม่มีแฟนมวยปล้ำคนไหนแคร์ เพราะภาพจำของคนกลุ่มนี้ กลายเป็นเพียงแค่ตัวตลกไปแล้ว
สังเวียนที่ไม่มีวันจบ
เป็นระยะเวลาร่วม 30 ปี ภาพของมวยปล้ำคนแคระถูกผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ตัวอย่างที่ดีของกรณีนี้คือ ฮอร์นสวอกเกิล (Hornswoggle) นักมวยปล้ำคนแคระที่มีบทบาทความตลกทุกรูปแบบ และบ่อยครั้งก็กลายเป็นความน่าสงสาร เช่น โดนกระทืบโดยนักมวยปล้ำปกติ, กลายเป็นลูกชายปลอม ๆ ของ วินซ์ แม็คแมน กับบทที่สร้างความน่าอับอายให้ประธานของ WWE ที่มีลูกเป็นคนแคระ
แต่ที่แย่ที่สุดคงหนีไม่พ้น การที่ WWE เลือกเขียนบทให้ ฮอร์นสวอกเกิล คว้าแชมป์รุ่นครุยเซอร์เวทของ WWE ผลที่ตามมาคือคนสาปส่งการเปลี่ยนแชมป์ในครั้งนี้ แฟนมวยปล้ำมองเข็มขัดเส้นนี้เป็นของไร้ค่า และทำการยุบเข็มขัดเส้นครุยเซอร์เวทอย่างเป็นทางการในอีก 2 เดือนถัดมา (แม้ WWE จะนำแชมป์ครุยเซอร์เวทกลับมาในปี 2016 แต่พวกเขาก็ไม่นับประวัติศาสตร์ร่วมกับแชมป์เส้นเก่าแต่อย่างใด)
Photo : FlashBack
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักมวยปล้ำคนแคระต้องพบกับความยากลำบาก จากเวทีที่เคยเป็นความหวัง พวกเขาทำได้อย่างมากเพียงแค่ปล้ำสมาคมเล็ก ๆ ที่รวมตัวกันก่อตั้งขึ้นมาเอง (เพราะสมาคมมวยปล้ำปกติ ไม่นิยมจ้างนักมวยปล้ำคนแคระ) ปล้ำให้คนดูระดับร้อยคนรับชม ไม่ต้องฝันถึงยุครุ่งเรืองที่เคยได้ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เหมือนในอดีต
ความหวังสุดท้ายของวงการมวยปล้ำคนแคระ คงเป็นที่ประเทศเม็กซิโก เพราะดินแดนแห่งนี้มวยปล้ำของคนร่างเล็ก ยังคงได้รับความนิยมอยู่ สมาคมใหญ่ของประเทศอย่าง CMLL และ AAA มีลีกของนักมวยปล้ำรุ่นนี้อย่างจริงจัง มีแชมป์ให้ชิงชัย กลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของมวยปล้ำเม็กซิโกมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ภาพจำของมวยปล้ำของคนทั่วโลกคือ WWE ต่อให้นักมวยปล้ำคนแคระโด่งดังแค่ไหนที่เม็กซิโก พวกเขาก็ไม่สามารถลบภาพการเป็นตัวตลกของวงการมวยปล้ำได้ ถึง WWE จะพยายามกู้ชื่อ ผลักดันนักมวยปล้ำร่างเล็ก ด้วยการจัดแมทช์ที่น่าจดจำระหว่าง ฮอร์นสวอกเกิล กับ เอล โตริโต ก็ตาม
ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะจดจำคนแคระในวงการมวยปล้ำ กับภาพตัวตลก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ หากเทียบกับความเป็นจริงที่ว่า ยังมีคนตัวเล็กอีกจำนวนมาก ที่หลงรักในกีฬามวยปล้ำ และพยายามผลักดันมวยปล้ำคนแคระ ให้กลับมาเป็นที่นิยมมากที่สุด เท่าที่จะทำได้
Extreme Dwarfanators Wrestling คือสมาคมมวยปล้ำคนแคระที่โด่งดังที่สุดในปัจจุบัน โดยเป็นค่ายท้องถิ่นของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดขายด้วยการดึงมวยปล้ำที่หนักหน่วงกลับมาอีกครั้ง และได้รับความนิยม จนเคยย้ายไปปล้ำที่ประเทศอังกฤษ เป็นช่วงเวลาหนึ่งมาแล้ว
ส่วนเหตุผลที่มวยปล้ำคนแคระ ต้องนำความจริงจัง ความฮาร์ดคอร์มาใส่ในมวยปล้ำ ก็เพื่อลบภาพจำความเป็นตัวตลกที่ติดตาแฟนมวยปล้ำมาอย่างยาวนาน ดึงความเป็นกีฬา กลับมาสู่มวยปล้ำคนแคระอีกครั้ง
ซึ่งปัจจุบัน สมาคม Extreme Dwarfanators Wrestling มีโปรแกรมโชว์ยาวตลอดทั้งปี ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ตาม แสดงให้เห็นว่า ยังคงมีแฟนคลับกลุ่มเล็ก ๆ ที่คอยให้กำลังใจมวยปล้ำคนแคระอยู่เสมอ เพราะสุดท้ายแล้ว มวยปล้ำในรูปแบบนี้ก็มีเสน่ห์ของตัวเองแตกต่างไม่เหมือนใคร
Photo : EDW
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพจำของคนแคระในฐานะตัวตลกมากกว่านักมวยปล้ำ โดยเฉพาะในสังคมสหรัฐอเมริกา จนถึงขั้นเคยมีการเรียกร้องให้ "แบน" มวยปล้ำคนแคระ เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมมาแล้ว
"ผมคิดว่าพวกเราควรได้รับโอกาสเทียบเท่ากับทุกคน ถ้าคนปกติปล้ำมวยปล้ำได้ เราก็ควรได้ปล้ำมวยปล้ำ ... ทุกคนที่มาดูโชว์ของเรา พวกเขากลับไปด้วยความประทับใจ ผมอยากให้ทุกคนมีโอกาสได้มาดูโชว์ของเรา " ลิตเติล ริดเดิล (Little Riddle) หนึ่งในนักมวยปล้ำของ Extreme Dwarfanators Wrestling กล่าว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มคนแคระที่รักกีฬามวยปล้ำต้องพบเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก สำหรับสมาคม Extreme Dwarfanators Wrestling พวกเขาถึงกับเขียนแถลงการณ์ว่า นี่คือสมาคมมวยปล้ำจริง ๆ และพวกเขาทำงานอย่างนักเพื่อจะเป็นนักมวยปล้ำ สร้างสรรค์โชว์ที่ยอดเยี่ยม สร้างความสุขให้กับทุคนที่ซื้อตั๋วเข้ามาดู อันเป็นสิ่งที่มวยปล้ำทำมาตลอด
"ทุกวันนี้นักมวยปล้ำคนแคระ ไม่ได้มีความสามารถน้อยไปกว่านักมวยปล้ำของ WWE พวกเขาไม่ได้ขึ้นไปบนเวทีมอบความสนุกให้ผู้ชม ด้วยการเล่นตลก ในความเป็นจริงแล้ว พวกเราฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อเป็นสุดยอดนักมวยปล้ำ"
Photo : EDW
"นักมวยปล้ำของเรา จะโชว์ให้ทุกคนเห็นว่า พวกเราไม่ได้เป็นสัตว์เลี้ยงแบบที่ใครหลายคนมอง แต่เราคือมนุษย์คนหนึ่งที่รักในกีฬามวยปล้ำ แสดงให้เห็นว่าคนแคระต่อสู้ได้อย่างไร ... พวกเราคือนักมวยปล้ำ และพวกเราคือแรงบันดาลใจให้กับสังคมของคนแคระ ในการช่วยให้เราทุกคนได้รับการยอมรับในสังคม แสดงให้เห็นว่าพวกเรามีคุณค่า เหมือนกับมนุษย์คนอื่นในสังคม" ข้อความบางส่วนจากแถลงการณ์ของ Extreme Dwarfanators Wrestling
คงเป็นเส้นทางอีกยาวไกลหลายล้านปีแสง หากมวยปล้ำคนแคระจะกลับไปได้รับความนิยมแบบในอดีต อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การต่อสู้บนสังเวียนของพวกเขามีความหมายมากกว่านั้น
ไม่ได้สู้เพราะชื่อเสียง ไม่ได้สู้เพราะเงินทอง หรือเพียงแค่ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่นี่คือการทวงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับมา ว่าคนแคระคือมนุษย์ไม่ต่างจากทุกคน และพวกเขาไม่เคยด้อยค่าไปกว่ามนุษย์คนไหนบนโลกใบนี้