อย่าตัดสินกันด้วยตาเปล่า: เมื่อไม่รู้ว่าใครเร็วกว่า ลีกอังกฤษจึงนำนักเตะมาวิ่งแข่งกัน

อย่าตัดสินกันด้วยตาเปล่า: เมื่อไม่รู้ว่าใครเร็วกว่า ลีกอังกฤษจึงนำนักเตะมาวิ่งแข่งกัน

อย่าตัดสินกันด้วยตาเปล่า: เมื่อไม่รู้ว่าใครเร็วกว่า ลีกอังกฤษจึงนำนักเตะมาวิ่งแข่งกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เอ็มบัปเป้กับฮาลันด์ใครเร็วกว่ากัน ? โอยาเมยองกับซาเนถ้าวิ่ง 100 เมตรใครชนะ ?" คำถามประเภทนี้ ถือเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตของแฟนบอล ไม่แพ้ใครเก่งกว่าใคร

แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องตรวจจับความเร็ว ที่บันทึกสถิติออกมาเป็นตัวเลข แต่เรื่องว่าใครเร็วกว่าใครก็ยังเป็นข้อถกเถียง เนื่องจากแต่ละคนมีตัวแปรที่แตกต่างกัน ทั้งสภาพสนาม หรือความเหนื่อยล้าสะสม 

ทว่าหากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เรื่องนี้อาจจะไม่มีปัญหา เพราะพวกเขาเคยจับนักฟุตบอลมาวิ่งแข่งในสนามเดียวกันจริง ๆ ที่ให้รู้ไปเลยว่าใครเร็วกว่ากัน 

เรื่องราวเป็นอย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

โชว์เสริมช่วงไพร์ไทม์ 

ฟุตบอลอังกฤษถือเป็นลีกที่ได้รับความนิยมเป็นเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่สะท้อนได้จากมูลค่าทางการตลาดที่หลายทีมในพรีเมียร์ลีกแตะพันล้านปอนด์ หรือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่แพงระยับ 

ทว่ากว่าที่จะมาถึงจุดนี้พวกเขาก็พยายามปรับและเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้มันทันสมัยและดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรีแบรนด์เป็นพรีเมียร์ลีกในปี 1992 หรือการปรับลดทีมในลีกสูงสุดจาก 22 ทีมมาเป็น 20 ทีม ในปี 1995 


Photo : www.irishmirror.ie

อย่างไรก็ดี ยังมีอย่างหนึ่งที่ยังอยู่คู่กับฟุตบอลอังกฤษมาจนถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s นั่นก็คือ "ไซด์โชว์" หรือ โชว์พิเศษฉายทางโทรทัศน์ ที่เอาไว้เรียกน้ำย่อยก่อนการแข่งขันนัดสำคัญ ซึ่งมีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970s ... พูดถึงตรงนี้ หลายคนอาจนึกถึงฟุตบอลไทยสมัยก่อน ที่มีโชว์ตลกช่วงพักครึ่ง แต่ที่อังกฤษ จริงจังกว่านั้นเยอะ

ตัวอย่างของรายการประเภทนี้ ก็เช่นรายการ Superstars ของ BBC ที่จับนักกีฬามาแข่งมินิโอลิมปิกแบบเพี้ยน ๆ ในกีฬาที่ตัวเองไม่ถนัด ที่ครั้งหนึ่งทำให้ เควิน คีแกน ยอดแข้งลิเวอร์พูล ได้รับอุบัติเหตุจักรยานล้มในระหว่างการแข่งขันปี 1976 

ถ้าให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็เหมือนกับเอา มาร์คัส แรชฟอร์ด กองหน้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาปั่นจักรยานแข่งกับ เอลีอุด คิปโชเก นักวิ่งปอดเหล็ก หรือเอา เลบรอน เจมส์ ยอดนักบาสชาวอเมริกัน ไปพายเรือแข่งกับ โนวัค ยอโควิช นักเทนนิสมือหนึ่งของโลก เพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมทางโทรทัศน์ 

หรือรายการ Snooker ก่อนนัดชิงเอฟเอคัพ 1986 ที่จับนักฟุตบอลมาแข่งสนุกเกอร์กัน ซึ่งหนึ่งในเกมคลาสสิคคือเกมที่ แกรี่ ลินีเกอร์ ของเอฟเวอร์ตัน เอาชนะ มาร์ค ลอว์เรนสัน ของลิเวอร์พูลไปได้ 

ในขณะที่บางรายการก็ไม่แน่ใจว่าสนุกหรือเปล่า อย่างในปี 1975 ที่ ITV ส่ง เฟรดดี้ สตาร์ ดาวตลกคนดังของยุค สวมชุดนาซีเยอรมันไปตรวจสนามเวมบลีย์ ก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอคัพ ในปีดังกล่าว

และเช่นกันสำหรับปี 1992 ปีสุดท้ายก่อนจะเปลี่ยนเป็นพรีเมียร์ลีก พวกเขาก็ไม่พลาดที่จะมีโชว์พิเศษในนัดชิงชนะเลิศลีกคัพ

ศึกชิงเจ้าความเร็ว 

ปี 1992 ถือเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านของฟุตบอลอังกฤษ พวกเขาพยายามทดลองอะไรใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจแฟนบอล หนึ่งในนั้นคือโชว์พิเศษที่จับนักฟุตบอลมาวิ่งแข่งกัน 

มันเริ่มจากผู้ผลิตรายการ Saint and Greavsie รายการฟุตบอลชื่อดังของ ITV ที่ดำเนินรายการโดย เอียน เซนต์ จอห์น และ จิมมี กรีฟส์ อดีตนักเตะดังในตอนนั้น ต้องการหาว่าใครคือนักเตะที่วิ่งเร็วที่สุดของอังกฤษ

ไอเดียนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Rumbelows ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการของฟุตบอลลีกคัพในตอนนั้น จนเกิดเป็น Rumbelows Sprint Challenge ขึ้น


Photo : soccer-infos.com

"ผู้เล่นทุกคนเห็นการแข่งขันวิ่งในรายการ Saint and Greavsie และไปบอกสโมสร" เควิน บาร์ทเล็ตต์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ที่ในเวลานั้นเล่นให้ น็อตต์ส เคานตี้ ย้อนความหลัง FourFourTwo 

"ความเร็วคือจุดเด่นของผมในเกม ดังนั้นผมจึงคิดว่าผมมีโอกาสพอสมควร" 

ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมคือ ทุกทีมในลีกอาชีพอังกฤษ ซึ่งก็คือทั้ง 92 สโมสร ตั้งแต่ดิวิชั่น 1-4 ที่ทำให้พวกเขาต้องส่งนักเตะที่เร็วที่สุดมาทำการแข่งขัน โดยจะคัดเลือกตั้งแต่ระดับภูมิภาค ที่จะเอาอันดับ 1 กับอันดับ 2 ของ 8 ภูมิภาคมาแข่งในรอบรองชนะเลิศ แล้วหา 8 คนสุดท้ายไปชิงดำในสนามเวมบลีย์ ก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศลีกคัพ 

"นีล วอร์น็อค บอกเราว่า เราต้องตกลงกันเองว่าจะส่งใครไป ดังนั้นเราจึงต้องคัดเลือกกันหลังจากซ้อมเสร็จ" บาร์ทเล็ตต์กล่าวต่อ

"การแข่งเป็นไปแบบตามมีตามเกิด ผมต้องแข่งกับ เดฟ เรจิส, คริส ชอร์ท และคนอื่น ๆ ที่วิ่งเร็วในทีม ก่อนชนะอย่างง่ายดาย ทุกคนในทีมถึงกับแปลกใจว่าผมชนะได้ไง" 

"กิจกรรมนี้ยังจับมือกับบริษัทรับพนันอย่าง แลดโบรกส์ จอห์น แม็คคริลิก (กูรูวงการม้าแข่ง) เลยเข้ามาร่วมตั้งอัตราต่อรองด้วย ผู้คนในน็อตต์ส แทงผมกันหมด" 

ในขณะที่กติกาไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ออกไปวิ่งให้เร็วที่สุดในระยะ 100 หลา (91.44 เมตร) พนพื้นหญ้าในสนาม โดยต้องสวมชุดแข่งของทีมแบบเต็มยศและสวมรองเท้าสตั๊ด ส่วนตอนออกสตาร์ท จะนั่งหรือยืนก็ได้ 


Photo : www.swanseacity.com

"ผมคิดว่ามันค่อนข้างประหลาดพอควร" จอห์น วิลเลียมส์ อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ตัวแทนจาก สวอนซี ซิตี้ ให้ความเห็นกับ FourFourTwo

"ปกติแล้วนักฟุตบอลจะวิ่งได้เร็วในช่วง 10-15 หลา พวกเขาไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวิ่ง 100 หลา แต่ผมสูง 6 ฟุต 3 นิ้ว และค่อนข้างเทอะทะ ผมใช้เวลาพอสมควรในการพุ่งไป แต่พอทำได้ ผมเร็วซะอย่างนั้น" 

"แฟรงค์ เบอร์โรวส์ บอสของผม ช่วยกระตุ้นผมและบอกว่าเขาแทงผมไป เขาพูดว่า 'นายเป็นตัวแทนของสวอนซี เพราะว่านายจับนกพิราบได้' ผมคิดว่า 'โอเค' ก็ฟังดูสนุกดีนะ" 

และในเดือนเมษายน พวกเขาก็ได้ผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด

รอบสุดท้ายที่เวมบลีย์ 

แม้ว่าจะเป็นการแข่งขันเอาฮา ที่ทำให้หลายทีมส่งนักเตะดาวรุ่งมาลงชิงชัย แต่เนื่องจากจำนวนเงินรางวัลที่สูงถึง 10,000 ปอนด์ (ราว 400,000 บาท) ซึ่งถือว่าสูงมากแม้กระทั่งนักเตะในลีกสูงสุด ทำให้ทุกคนต่างเอาจริงเอาจังกับการแข่งขันมาก 


Photo : Kevin Bartlett @barts100

"มันเป็นเรื่องแปลกมากที่ต้องวิ่งแข่งกับนักฟุตบอลคนอื่น แต่บอกได้เลยว่าทุกคนจริงจังมาก" บาร์ทเล็ตต์ ย้อนความหลังกับ FFT 

"Rumbelows ให้เงินรางวัล 10,000 ปอนด์ (ราว 430,000 บาท) ดังนั้นทุกคนจึงอยากจะได้มัน และทุกคนก็ฝันที่จะได้ไปเวมบลีย์ เพื่อคว้ารางวัลราชานักเตะที่วิ่งเร็วที่สุด" 

และหนึ่งในตัวเก็งของการแข่งขันครั้งนี้ก็คือ บาร์ทเล็ตต์ เอง เขาคือคนที่ทำเวลาได้ดีที่สุดในรอบคัดเลือก ด้วยสถิติ 11.40 วินาที ที่ทำให้เขามีอัตราต่อรอง 3-1 (แทง 1 จ่าย 3 ไม่รวมทุน) 

"เขาเป็นเหมือน เบน จอห์นสัน ที่ไม่ต้องใช้ยา เขาตัวเล็กและทรงพลัง และเวลาของเขาก็สุดยอดมาก" จอห์น วิลเลียมส์ อธิบาย 

ในขณะที่ วิลเลียมส์ แม้ว่าเขาจะทำเวลาได้ไม่เลวในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาค และมีกำลังขาที่ดีจนได้รับฉายาว่า The Flying Postman จากการทำงานเป็นบุรุษไปรษณีย์ที่ Royal Mail มาก่อน แต่เมื่อเห็นผลงานของ บาร์ทเล็ตต์ เขาก็แทบหมดหวัง 

"ผมเป็นนักกีฬาที่ดีมาตลอด และจำได้ว่าเคยมีผู้จัดการทีมคนหนึ่งบอกผมว่าผมมีขาเหมือนกับม้าระดับเพ็ดดีกรี คนที่สวอนซีทุกคนบอกว่าผมมีโอกาส" วิลเลียมส์กล่าว 

"แต่หลังจากที่เห็น เควิน บาร์ทเล็ตต์ ลงแข่งรอบคัดเลือก ผมก็คิดว่าเขาสุดยอดมาก เขาชนะตั้งแต่ 15 หลาแรกด้วยซ้ำ"


Photo : 90s Football @90sfootball

เมื่อชัยชนะไม่ได้อยู่ในหัวของ วิลเลียมส์ ทำให้เขาตั้งใจว่ามาร่วมลงแข่งเพื่อความสนุกเท่านั้น และเนื่องจากสปอนเซอร์ อนุญาตให้พาเพื่อนมาได้ ทำให้มันเหมือนเป็นทริปฉลองวันเกิดให้กับ จอน ฟอร์ด เพื่อนร่วมทีมของเขา 

"พวกเขาบอกผมว่าผมสามารถพาเพื่อนไปเวมบลีย์ได้ ผมจึงพา จอน ฟอร์ดไป เพราะว่าวันที่ 12 เมษายน เป็นวันเกิดของเขา ผมคิดว่ามันเป็นวันที่ดี" 

เพราะทันทีที่รถไฟถึงลอนดอน สองหนุ่มจากสวอนซี ก็พากันไปดื่มกันจนเต็มคราบ แก้วแรกผ่านไป แก้วสองแก้วสามค่อย ๆ ผ่านไป จนไม่รู้ว่าแก้วที่เท่าไหร่ และกว่าจะรู้ตัวอีกที ภาพก็ตัดมาเป็นวันต่อไป จนทำให้รู้ว่าพวกเขาลืมอะไรไปบางอย่าง 

"เมนูคืนนั้นเป็นสเต็กกับมันฝรั่งทอด และเพราะว่าเป็นวันเกิดของจอน ผมเลยพูดว่า 'เอาเลย มาฉลองกันสักไพน์สองไพน์ (เบียร์)" วิลเลียมส์ย้อนความหลังกับ FFT 

"จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม และกลายเป็นสี่ ตามมาด้วยแชมเปญ หลังจากนั้นก็เป็นเหล้า เมาจนแทบง่อยเปลี้ย ผมคิดว่าผมกลับมาถึงห้องตอนตี 3 และอ้วกแตกอ้วกแตน รู้ตัวอีกทีผมก็ตื่นมาในอ่างอาบน้ำ"

"จอนฉีดผมด้วยน้ำเย็นที่หน้า มันเป็นเหมือนคลื่นไฟฟ้า และทำให้ผมเป็นบ้า ผมไล่ตีเขา จากนั้นจึงคิดได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาตะโกนใส่ผมว่า 'เฮ้ย ! เราสายแล้ว'"

เมาค้างแต่ชนะ

12 เมษายน 1992 คือดีเดย์ที่คนอังกฤษจะได้รู้ว่าใครคือนักฟุตบอลที่เร็วที่สุดในประเทศ โดยพวกเขาจะลงตัดสินต่อหน้าผู้ชมกว่า 75,000 คนในสนามเวมบลีย์ ก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ 

นอกจาก บาร์ทเล็ตต์ และ วิลเลียมส์ ผู้เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายในนัดชิงชนะเลิศที่เหลือได้แก่ ไมเคิล กิลส์ (เรดดิง), โทนี วิตเตอร์ (ควีนส์ปาร์ก เรนเจอร์ส), เลห์ เจนกินสัน (ฮัลล์ ซิตี้), อาเดรียน ลิตเติลจอห์น (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด), อีฟาน เอโคคู (บอร์นมัธ) และ พอล เฟลมมิง (แมนส์ฟิลด์) 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ตัวเก็งในการแข่งขันครั้งนี้คือ บาร์ทเล็ตต์ ที่ทำให้ทั้ง แม็คคริลิค ผู้บรรยาย และ พอล ออสติน ตัวแทนจาก แลดโบรกส์ พูดถึงเขาอย่างไม่ขาดสาย 

"เซนต์ กับ กรีฟซี่ (เซนต์ จอห์น กับ กรีฟส์ เจ้าของไอเดียการแข่งนั่นเอง) ให้อัตราต่อรอง 3-1 กับบาร์ทเล็ตต์" แมคคริลิค บรรยาย ก่อนที่ออสตินจะเสริมว่าว่า "ดูดีเลยกับการเป็นตัวเต็ง รอบคัดเลือกเขาแค่วิ่งชิล ๆ ด้วยซ้ำ" 

"ถ้าไม่ลงเงินกับบาร์ทเล็ตต์ก็คงโง่เต็มที" อลัน แพร์รี ผู้บรรยายอีกคนกล่าวเสริม 

Photo : www.planetfootball.com

แม้ว่าสิ่งที่เหล่าผู้บรรยายไม่รู้คือ บาร์ทเล็ตต์ เพิ่งจะหายจากอาการบาดเจ็บไม่กี่สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน แต่ตัวเขาเอง ก็ยังมั่นใจว่าตัวเองน่าจะดีพอที่จะเป็นนักฟุตบอลที่เร็วที่สุดของแดนผู้ดี  

"ในสัปดาห์ก่อนนัดชิงฯ ผมได้รับบาดเจ็บ ผมเพิ่งจะฟิตหนึ่งสัปดาห์ก่อนแข่งวิ่ง และถูกเปลี่ยนลงไปในเกมวันเสาร์ หนึ่งวันก่อนเกมนัดชิง ผมไม่ได้ฟิตเต็มร้อย แต่ผมก็มีความรู้สึกมั่นใจ" บาร์ทเล็ตต์กล่าว

ในขณะที่ วิลเลียมส์ เรียกได้ว่าแทบไม่มีหวัง เพราะไม่เพียงแต่หนึ่งวันก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งลงสนามให้ สวอนซี ครบ 90 นาทีเต็ม เขายังมีอาการเมาค้างจากการดื่มเมื่อคืน ที่พูดได้ว่าแค่พาร่างมาถึงสนามได้ทันเวลาก็เป็นบุญแค่ไหน  

"ที่จุดสตาร์ท ผมรู้สึกผ่อนคลายมาก เพราะมีหลายคนที่เป็นตัวเก็งกว่าผม ผมเป็นแค่ม้านอกสายตา ทุกอย่างก็ดูบ้าคลั่งหน่อย มีคน 75,000 คนอยู่ที่นั่น และแฟน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ก็ดูสนุกกับสิ่งนี้" วิลเลียมส์พูดถึงบรรยากาศ 

วิลเลียมส์ เลือกที่จะออกสตาร์ทด้วยการยืน เพราะกลัวว่าจะเวียนหัวตอนนั่งลงไป แถมตอนปล่อยตัว ก็ดันออกตัวช้า เพราะมัวแต่ไปสนใจดาวรุ่งของ ยูไนเต็ด ที่ชื่อว่า ไรอัน กิ๊กส์ จนไม่ได้สนใจเสียงสัญญาณ 

"ผมออกสตาร์ทด้วยการยืน เพราะว่าผมคิดว่าถ้าผมก้มลงไป ผมจะลุกไม่ขึ้น" เขากล่าวพลางกับหัวเราะ 

"ตอนที่เราตั้งแถว ผมเห็นเด็กคนหนึ่งเก็บบอลได้ดีมาก เขาไม่ได้มองสิ่งที่เขาทำด้วยซ้ำ มันสมบูรณ์แบบมาก เขามองมาที่ผม ผมคิดว่า 'เขาเก่งมาก' และผมก็นึกออกว่าเขาคือ ไรอัน กิ๊กส์ การที่ผมมัวแต่คิดเรื่องนี้ ทำให้ผมพลาดตอนออกตัว" 

แต่โชคดีที่ บาร์ทเล็ตต์ ก็ออกตัวได้ช้าเหมือนกัน เขาบอกว่า "ผมออกตัวไม่เร็วพอ หลังจากนั้นผมจึงต้องชดเชยมากไป" 

ผ่านไป 50 หลา กลายเป็น วิลเลียมส์ ที่เร่งสปีดจากการเป็นผู้ตามมาเป็นผู้นำ ก่อนจะทะยานเข้าเส้นชัยไปอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์เมื่อคืน ด้วยสถิติ 11.49 วินาที 

"ผมคิดว่าถ้าผมตามไม่ทันหลังจากผ่านไปครึ่งทาง ก็ไม่มีหวัง" วิลเลียมส์กล่าว

"แต่หลายคนเริ่มแผ่ว และผมก็เริ่มดีขึ้น ผมคิดว่าผมมีโอกาส และผมก็เริ่มเร่งเครื่อง มันเป็นความรู้สึกที่สุดยอดมาก" 


Photo : www.fourfourtwo.com

ในขณะที่ผู้บรรยายก็รับรองเขาในฐานะนักเตะที่วิ่งเร็วที่สุดในอังกฤษ และกล่าวชมเขาไม่ขาดปากในเรื่องพลังกำลัง หรือแม้กระทั่งพูดติดตลกว่าเขาน่าจะไปคัดเลือกทีมชาติไปโอลิมปิก ที่จะมีขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ในปีเดียวกัน

"วิลเลียมส์แห่งสวอนซี คุณอาจจะขอบคุณพลังที่เหนือกว่าเพื่อสิ่งนั้น" แพรรี โฆษกในวันนั้นบรรยาย

"เขายิงประตูเมื่อวานนี้ และได้เงินรางวัลหมื่นปอนด์ เขาสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักฟุตบอลที่เร็วที่สุดในลีก" 

"เขาจะไม่สร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการนักวิ่งทั่วโลก ถ้าทีมเขาผลงานไม่ดี เขาอาจจะคิดถึงการคัดเลือกไปแข่งโอลิมปิกปีนี้" สตีฟ แครม ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิ่งกล่าวแบบติดตลก 

ส่วนอันดับ 2 เป็นของบาร์ทเล็ตต์ ที่ทำให้เขาดูผิดหวังอย่างมาก แม้ว่าจะได้รับเงินรางวัลไปไม่น้อยถึง 2,000 ปอนด์ (ราว 84,000 บาท) ในที่อันดับ 3 เป็นของกิลส์ ที่ได้เงินรางวัลไป 1,000 ปอนด์ (ราว 43,000 บาท)

ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย 

ชัยชนะดังกล่าว ไม่เพียงแต่ทำให้เขาได้เงินเข้ากระเป๋าไปถึง 10,000 ปอนด์ ที่มันทำให้เขาเอาไปซื้อรถคันใหม่ แต่มันยังทำให้เขาได้รับโบนัสจาก แลดโบรกส์ เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทีมไม่กี่คนที่เลือกแทงเขาด้วยอัตราต่อรอง 16-1 

"มันเป็นประโยชน์มาก ผมไม่อยากจะเชื่อเลย" เขากล่าวกับ FFT 

"ผมเอาไปฝากไว้ที่บ้านแล้วเอาไปซื้อรถ Peugeot 205 GTI มันอาจจะเทียบไม่ได้กับ Bentley ในปัจจุบัน แต่ตอนนั้นผมเพิ่งเป็นเด็กหนุ่มที่มาจากเมืองเบอร์มิงแฮม และมีคนพอสมควรที่แทงผมในอัตรา 16-1 พวกเขาจึงแฮปปี้มาก" 


Photo : soccer-infos.com

ตรงกันข้ามกับ บาร์ทเล็ตต์ ผู้แพ้ในครั้งนี้ เขาพูดเล่นว่าเขาอาจจะถูกฆ่าตอนที่กลับไป น็อตติงแฮม แต่ถึงอย่างไร เขาก็มั่นใจว่าเขาคือผู้เล่นที่เร็วที่สุด จากสถิติ 11.40 วินาที ในรอบคัดเลือก ที่เร็วกว่า วิลเลียมส์อยู่ 0.09 วินาที 

"ผมยังคงติดต่อกับสมาชิกของทีมจำนวนมาก และแม้กระทั่งทุกวันนี้ พวกเขาบอกว่าผมทำให้พวกเขาเสียเงิน ส่วนแฟนเคาน์ตี้ก็พูดเรื่องนี้เช่นกัน" 

"เพราะว่าผมวิ่ง 11.40 ในรอบคัดเลือก ผมยังคงคิดว่าผมคือนักฟุตบอลที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา"

แต่วิลเลียมส์ ไม่เห็นด้วย และบอกว่า "รอบคัดเลือกเขาไม่นับ เขาวัดกันที่รอบชิงชนะเลิศต่างหาก" 

อย่างไรก็ดี  น่าเสียดายที่การแข่งขันสุดฮานี้ไม่มีอีกแล้ว เมื่อหลังจากนั้น Rumbelows หมดสัญญากับลีกคัพ ก่อนจะล้มละลายไม่กี่ปีต่อมา ในขณะที่รายการ Saint and Greavsie ก็ถูกถอด หลัง ITV เสียสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกและลีกคัพให้กับ Sky Sports


"เราแต่ละคนได้เงินชดเชยเป็นค่าเดินทางและทีวีจาก Rumbelows นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาล้มละลาย ผมไม่คิดว่าผมจะได้เงิน แต่ขอบคุณมากผมทำได้ มันสนุกที่ผมสามารถพูดได้ว่าผมคือผู้เล่นที่เร็วที่สุด" วิลเลียมส์อธิบาย 

"แต่การวิ่งแข่งแบบนี้ไม่มีแล้วในปัจจุบัน ผู้เล่นเป็นเหมือนดาราดังและห่างจากแฟน มันเป็นอุตสาหกรรมใหญ่แบบนั้น" 

แต่ถึงอย่างนั้นก็น่าสนใจว่าหากอังกฤษ หรือลีกอื่น รื้อฟื้นการแข่งขันนี้ขึ้นมา รอบสุดท้ายจะมีใครบ้าง และจะสนุกขนาดไหน แต่ที่แน่ ๆ แฟนบอลคงไม่ต้องมาเถียงกันว่าใครเร็วกว่าใครอีกแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook