ทำไมลูกบาสเกตบอลถึงเป็นสีส้มมาทุกยุคทุกสมัย?

ทำไมลูกบาสเกตบอลถึงเป็นสีส้มมาทุกยุคทุกสมัย?

ทำไมลูกบาสเกตบอลถึงเป็นสีส้มมาทุกยุคทุกสมัย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งสำคัญที่สุดในกีฬาบาสเกตบอลมีอยู่สองอย่าง คือ ผู้เล่น และลูกบาสเกตบอล

นักกีฬาเปลี่ยนหน้าไปตามกาลเวลา แต่ลูกบาสเกตบอลกลับมีหน้าตาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ ลูกบอลสีส้มอันเป็นเอกลักษณ์ และแตกต่างจากกีฬาอื่นทั่วโลก

Main Stand เกิดคำถามว่า ทำไมลูกบาสเกตบอลถึงเป็นสีส้มมาทุกยุคทุกสมัย ? ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะช่วงเริ่มแรก ลูกบาสเกตบอลมีสีคล้ายลูกบอลไม่มีผิดเพี้ยน แถมยังมีลูกฟุตบอลที่สวยกว่าสีส้มเสียอีก

กำเนิดลูกบาสเกตบอล

เมื่อกีฬาบาสเกตบอลถือกำเนิดในเดือนธันวาคม ปี 1891 ที่เมืองสปริงฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ลูกบอลที่ใช้ในการแข่งขันวันนั้น ไม่ใช่ลูกบาสเกตบอลแบบที่เราเห็นกันในวันนี้


Photo : transformystic.com

สาเหตุเพราะบาสเกตบอลเกมแรกเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จากความคิดของ เจมส์ ไนสมิท ครูพละศึกษาในโรงเรียนสปริงฟิลด์ คอลเลจ ที่ต้องการสร้างกีฬาชนิดไว้แข่งขันในฤดูหนาว

ไนสมิทแบ่งนักกีฬา 18 คนออกเป็นสองข้าง ฝั่งละ 9 คน สร้างกติกาหลวม ๆ ให้นักเรียนแข่งขันโยนลูกบอลลงตะกร้าเก็บลูกพีชที่ผูกติดไว้บนเสาสูง ซึ่งตั้งอยู่ปลายสุดของสองฝั่งสนาม

นักกีฬาพร้อม กติกาพร้อม แต่สิ่งที่ยังขาดคือลูกบอล ไนสมิทไม่คิดนาน เขาเลือกใช้ลูกฟุตบอลเป็นอุปกรณ์การเล่น ดังนั้น กีฬาบาสเกตบอลในช่วงแรก จึงใช้ลูกฟุตบอลในการแข่งขัน


Photo : www.britannica.com

กว่าบาสเกตบอลลูกแรกจะผลิตขึ้น ต้องรอถึงปี 1894 เมื่อบริษัท Spalding & Bros (แบรนด์ Spalding ในปัจจุบัน) พัฒนาลูกบอลแบบใหม่ที่มีขนาด 32 นิ้ว ใช้วัสดุด้านนอกเป็นแผ่นหนัง ขณะที่ด้านในมีลูกยางเป็นแกนกลางของบอล

ปี 1948 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับลูกบาสเกตบอล เมื่อมีการลดขนาดลูกเหลือ 30 นิ้ว ซึ่งถือเป็นต้นแบบของลูกบาสเกตบอลในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิม คือการใช้หนังสัตว์เป็นวัสดุภายนอกของลูกบาสเกตบอล


Photo : Explain Like I’m Five

 

ด้วยเหตุนี้ ลูกบาสเกตบอลในยุคแรกจึงไม่ได้มีสีส้ม แต่มีสีน้ำตาลเข้มตามสีของหนังสัตว์ที่เป็นวัสดุหลักในการผลิตลูกบาสเกตบอลยุคนั้น 

นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ ลูกบาสเกตบอลในช่วงแรก มีหน้าตาคล้ายคลึงกับลูกบอลเป็นอย่างมาก จนแทบแยกไม่ออกเลยว่าลูกไหนเป็นลูกไหนทีเดียว

ใช้สีส้มเพราะมองไม่เห็น

กีฬาบาสเกตบอลได้รับความนิยมพุ่งขึ้นสูงในทศวรรษ 1950s ลูกบาสเกตบอลเกิดความเปลี่ยนด้านดีไซน์หลายครั้ง จนกลายเป็นเรื่องปกติในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตาม สีของลูกบาสเกตบอลไม่ได้เปลี่ยนตามไปด้วย

สีน้ำตาลเข้มของหนังสัตว์ ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของกีฬาบาสเกตบอล แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบมัน โดยเฉพาะผู้ชมส่วนใหญ่ ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ลูกบาสเกตบอลสีน้ำตาลเข้มมองเห็นยากเกินไป


Photo : www.globalstarholidays.com.au

ไม่ใช่แค่ผู้ชมที่ประสบปัญหานี้ นักบาสเกตบอลบางคนเห็นด้วยกับปัญหาดังกล่าว แต่เนื่องจากรู้ดีว่าลูกบาสเกตบอลผลิตจากหนังสัตว์ ซึ่งมีสีน้ำตาลตั้งแต่แรก การเปลี่ยนสีลูกบาสเกตบอลจึงเกินจินตนาการของใครหลายคนไปมาก

หนึ่งคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อการเปลี่ยนแปลงสีลูกบาสเกตบอล คือ โทนี ฮิงเกิล ผู้ฝึกสอนบาสเกตบอลประจำมหาวิทยาลัยบัตเลอร์ เมืองอินเดียแนโพลิส รัฐอินเดียนา ที่ยืนยันเด็ดขาดว่า ลูกบาสเกตบอลต้องเปลี่ยนเป็นสีอื่นที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น

Advertisement

ปี 1957 ฮิงเกิลหอบหิ้วไอเดียของเขาไปพูดคุยกับบริษัท Spalding เพื่อพัฒนาลูกบาสเกตบอลรูปแบบใหม่ ที่จะเข้ามาของเดิมซึ่งมีสีน้ำตาล

กระบวนการผลิตเพื่อสร้างลูกบาสสีใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะ Spalding คือ บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตลูกบาสเกตบอล แต่ปัญหาสำคัญกลับอยู่ที่ว่า ลูกบาสเกตบอลแบบใหม่ควรมีสีอะไร ?

คำตอบสุดท้ายที่ออกมา คือ สีส้ม เหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่สิ่งน่าแปลกคือ ไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า ทำไม ฮิงเกิล และ Spalding จึงเลือกใช้สีส้ม แทนจะเป็นสีขาว, สีแดง หรือ สีเหลือง ซึ่งเป็นสีสว่างเหมือนกัน ทุกคนรู้แต่เพียงว่า ฮิงเกิลอนุมัติในการผลิตลูกบาสเกตบอลแบบใหม่ด้วยสีส้ม ทุกฝ่ายจึงต้องตามน้ำไปแบบนั้น


Photo : www.indystar.com

ทฤษฎีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด คือ การเปลี่ยนสีหนังสัตว์จากน้ำตาลเข้มเป็นส้ม มีวิธีการผลิตง่ายกว่าลูกบาสสีอื่น และยังบรรลุวัตถุประสงค์เดิม ที่ต้องการให้ลูกบาสเกตบอลมองเห็นง่ายมากขึ้น

แต่ไม่ว่าเหตุผลแท้จะเป็นอะไร ช่วงเวลาของลูกบาสเกตบอลสีน้ำตาลได้สิ้นสุดลง และถูกแทนที่โดยลูกบาสสีส้ม นับแต่นั้น

มีลูกบาสสีอื่นไหม ?

ลูกบาสเกตบอลสีส้มถูกใช้งานครั้งแรก ในเกมนัดชิงชนะเลิศบาสเกตบอลมหาวิทยาลัย NCAA Division ปี 1958 ที่สนามฟรีดอม ฮอลล์ เมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ซึ่งถือเป็นเกมสำคัญ ที่มีผู้ชมทั่วประเทศ และคนสำคัญในวงการบาสเกตบอลให้ความสนใจ

ทันทีที่ลูกบาสสีส้มปรากฎบนสนาม ทุกคนเห็นตรงกันว่า บาสเกตบอลลูกนี้มองเห็นได้ง่ายกว่าเดิมมาก NCAA จึงประกาศว่า พวกเขาจะใช้ลูกบาสเกตบอลสีส้มในการแข่งขันฤดูกาลถัดไป

NCAA ไม่ใช่ลีกเดียวที่เห็นข้อดีของลูกบาสสีส้ม แต่รวมถึงลีกอาชีพอย่าง NBA ด้วยเช่นกัน สีส้มจึงกลายเป็นสีสากลของลูกบาส และถูกใช้งานแพร่หลายทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้น ใช่ว่าทุกลีกบาสเกตบอลบนโลกใบนี้ จะใช้ลูกบาสสีส้มไปเสียหมด

American Basketball Association หรือ ABA คือ ลีกบาสเกตบอลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นคู่แข่งของ NBA เมื่อปี 1967 เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างพวกเขากับ NBA


Photo : nothinbutnets.com

ABA จึงปฏิเสธการใช้งานลูกบาสเกตบอลสีส้ม และเลือกใช้ลูกบาสที่มีสีแดง-ขาว-น้ำเงิน ซี่งเป็นสีที่ปรากฎบนธงชาติสหรัฐอเมริกา เน้นย้ำอัตลักษณ์ของ ABA ที่เป็นลีกบาสเกตบอลของชาวอเมริกันได้เป็นอย่างดี

จีน ลิตเทิลส์ อดีตผู้เล่นที่เคยลงเล่นใน NBA กล่าวว่า ลูกบาสสีแดง-ขาว-น้ำเงิน สวยงามกว่าลูกบาสสีส้มมาก และยังน่ามหัศจรรย์ยามลูกหมุนกลางอากาศ เพราะทั้งสามสีจะจะรวมกันเป็นหนึ่ง ลิตเทิลส์กล่าวว่า หัวใจของเขาเต้นแรงทุกครั้งที่ได้เห็นภาพอันงดงามนี้

โชคร้ายที่ลูกบาสสีแดง-ขาว-น้ำเงิน มีอายุไม่ยืนยาวนัก เพราะ ABA ไม่สามารถต้านทานความนิยมของ NBA ได้ และต้องปิดตัวลงไปในปี 1978 แฟนบาสเกตบอลรุ่นหลังจึงหมดสิทธ์เห็นความสวยงามของลูกบาสเกตบอลสามสี เพราะ NBA ยึดมั่นกับลูกบาสเกตบอลสีส้ม และไม่คิดจะนำสัญลักษณ์ของลีกคู่แข่งมาใช้งาน


Photo : www.tutogolradio.net

นับแต่นั้น ลูกบาสเกตบอลทั่วโลกต่างเป็นสีส้มทั้งหมด แม้จะมีการแข่งขันในบางประเทศที่มีการนำสีอื่นมาใช้บนลูกบาส เช่น สีดำ (สเปน), สีขาว (ฟิลิปปินส์ และ ตุรกี) และสีฟ้า (รัสเซีย) แต่ทั้งหมดยังยึดสีส้มเป็นหลัก ส่วนสีที่เพิ่มเข้ามา มีจุดประสงค์แค่สร้างความแตกต่างให้เป็นเอกลักษณ์ของลีก

เหตุผลที่ลูกบาสเกตบอลยังเป็นสีส้มในปัจจุบัน จึงมาจากอิทธิพลของ NBA ที่ส่งต่อไปยังทั่วโลก เพราะถ้าหากวันนั้น ABA คือผู้ชนะ และ NBA ต้องเป็นฝ่ายปิดตัวลงไป

ไม่แน่ว่า ลูกบาสเกตบอลที่ใช้งานทุกวันนี้อาจมีสีแดง-ขาว-น้ำเงิน ส่วนลูกบาสสีส้มอาจเป็นเพียงตำนานที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนยุคนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้