ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี : เทหมดหน้าตักในวัย 35 ปีกับโอลิมปิกครั้งสุดท้าย

ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี : เทหมดหน้าตักในวัย 35 ปีกับโอลิมปิกครั้งสุดท้าย

ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี : เทหมดหน้าตักในวัย 35 ปีกับโอลิมปิกครั้งสุดท้าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ครั้งสุดท้าย" คือคำที่มีความหมายกับใครหลายคน โดยเฉพาะกับนักกีฬาที่กำลังตามล่าความฝันในช่วงปลายอาชีพ บนเวทีซึ่งไม่มีที่ว่างแก่ความผิดพลาด และโอกาสให้แก้ตัว

"ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี" คือพี่ใหญ่ของนักกีฬามวยสากลทีมชาติไทย ในโอลิมปิก เกมส์ 2020 นี่ถือเป็นครั้งที่สามที่ ฉัตร์ชัยเดชา หรือ สด จะรับใช้ชาติในฐานะตัวแทนประเทศไทย บนสังเวียนมหกรรมกีฬาอันดับหนึ่งของโลก

เขามีประสบการณ์บนผืนผ้าใบเป็นเวลา 16 ปี ประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับนานาชาติมากมาย รวมถึงผลงานเหรียญทองซีเกมส์ 4 สมัย แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปจากชีวิต คือ เหรียญรางวัลจากโอลิมปิก เกมส์

ซีรีส์ "กว่าจะได้ไปโตเกียว" ชิ้นนี้ จะบอกเล่าเรื่องราวของฉัตร์ชัยเดชา ก่อนเดินทางสู่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงแข่งขันด้วยฐานะนักชกมวยสากลสมัครเล่นเป็นครั้งสุดท้าย ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

 

จ่าสิบตรี ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2528 ภูมิลำเนาเป็นชาวอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เขาเกิดในครอบครัวเกษตรกรรม มีรายได้พอกินพอใช้ 

สุขภาพวัยเด็กของฉัตร์ชัยเดชาไม่แข็งแรงนัก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ คุณแม่ของเขาจึงแก้ปัญหา ด้วยการฝากลูกชายกับค่ายมวยไทยละแวกบ้าน เพื่อให้เขาได้ออกกำลังกาย

ฉัตร์ชัยเดชาซ้อมมวยอยู่ได้ไม่นาน เขาถูกชักชวนให้ขึ้นชกมวยเด็กตามงานวัด แม้ไฟต์แรกจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่เขาได้ค่าตอบแทนเป็นเงินค่าตัว 50 บาท

เหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้ฉัตร์ชัยเดชาตระหนักถึงโอกาสในการหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัว เขาเริ่มเดินสายชกมวยไทยเป็นอาชีพ ในชื่อ "ตาพระยา กิมเชียงก่อสร้าง" แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก

 

ฉัตร์ชัยเดชา จึงเบนเข็มสู่วงการมวยสากลสมัครเล่น ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังวิจารณ์ พลฤทธิ์ คว้าเหรียญทองจากโอลิมปิก เกมส์ เมื่อปี 2000

นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดในชีวิตของเขา เพราะหลังจากเปลี่ยนมาชกมวยสากลสมัครเล่นไม่นาน ฉัตร์ชัยเดชา ได้พบกับ พันเอก ธง ทวีคูณ หัวหน้าโค้ชมวยสากลสมัครเล่นเยาวชนชายทีมชาติไทย ที่มองเห็นพรสวรรค์ของเขา จึงชักชวนให้ฉัตร์ชัยเดชา เข้ารับราชการทหาร และชกมวยในนามทีมกองทัพบก

ฉัตร์ชัยเดชาเริ่มต้นไล่ล่าความสำเร็จ จากการคว้าเหรียญทองกีฬากรมพลศึกษา และถูกเรียกตัวติดทีมชาติไทย เพื่อลงแข่งขันรายการมวยสากลสมัครเล่นชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ เมื่อปี 2009 และคว้าเหรียญทอง พร้อมกับตำแหน่งนักชกยอดเยี่ยมมาครอง

ความสำเร็จดังกล่าวปูทางให้ฉัตร์ชัยเดชา กลายเป็นตัวหลักของขุนพลเสื้อกล้ามทีมชาติไทย และเริ่มต้นไล่ล่าความสำเร็จในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ด้วยการคว้าเหรียญทองรุ่นแบนตัมเวต ในซีเกมส์ 2009 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว

 

เกียรติยศที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เพิ่งถูกดันสู่มวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยชุดใหญ่ได้ไม่นาน ทำให้ฉัตร์ชัยเดชาถูกจับตาในการแข่งขันระดับโลกอย่าง โอลิมปิก เกมส์ แต่น่าเสียดายที่เขาไม่เคยไปไกลอย่างที่หวัง

ฉัตร์ชัยเดชาแพ้แก่โรเบย์ซี รามิเรซ นักชกชาวคิวบา 10-22 และตกรอบ 16 คนสุดท้ายในโอลิมปิก เกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ส่วนโอลิมปิก เกมส์ 2016 ที่นครที่ริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เขาพ่ายแพ้แก่วลาดิมีร์ นิกิติน นักชกชาวรัสเซีย จึงตกรอบ 16 คนสุดท้าย เหมือนกับสี่ปีก่อน

ความผิดหวังไม่อาจลบล้างฝันที่ต้องการคว้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาอันดับหนึ่งของโลก ฉัตร์ชัยเดชาฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อเตรียมพร้อมกับการล่าตั๋วโอลิมปิก เกมส์ 2020 แม้ในใจรู้ดีว่า นี่อาจเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเขา

Photo : สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย

 

ด้วยวัย 35 ปี ฉัตร์ชัยเดชาไม่ปล่อยโอกาสสุดท้ายให้หลุดมือ และคว้าตั๋วโอลิมปิกใบที่ 3 ของตัวเองได้สำเร็จ หลังเอาชนะฮัม ซัง ยอง นักชกชาวเกาหลีใต้ ในการแข่งขันโอลิมปิก 2020 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย และโอเชียเนีย ซึ่งฉัตร์ชัยเดชา โชว์ฟอร์มแจ่ม ชนะขาดลอย 5-0 เสียง

ฉัตร์ชัยเดชาคว้าตั๋วโอลิมปิก เกมส์ 2020 ตามเป้าหมาย แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งสุดท้าย ในนามนักชกทีมชาติไทยของฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี เพราะยังมีบททดสอบอีกมาก รอคอยเขาอยู่ที่กรุงโตเกียว

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี : เทหมดหน้าตักในวัย 35 ปีกับโอลิมปิกครั้งสุดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook