เรื่องจริงหรือตำนาน : ครั้งหนึ่งที่ "เปเล่" ช่วยยุติสงครามกลางเมืองไนจีเรีย
หากถามว่านักเตะคนใดยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกลูกหนัง? ชื่อของ “เปเล่” นักเตะอัจฉริยะชาวบราซิล ย่อมเป็นคำตอบของใครหลายคน
ชื่อเสียงของเปเล่ โด่งดังไปทั่วโลก แม้แต่ดินแดนที่เรียกกีฬาฟุตบอลว่า “ซอคเกอร์” อย่าง สหรัฐอเมริกา ยังอ้าแขนต้อนรับแข้งผู้ยิ่งใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนบอลในทวีปแอฟริกาจะหลงรักสุดยอดนักเตะชาวบราซิล
ในปี 1969 เปเล่ และสโมสรฟุตบอลซานโตส เดินทางสู่ประเทศไนจีเรีย เพื่อลงแข่งขันเกมฟุตบอลนัดพิเศษ ท่ามกลางความโหดร้ายของ “สงครามกลางเมืองไนจีเรีย” ที่คร่าชีวิตผู้คนด้วยความอดยาก วันละหลายพันคน
ทันทีที่เปเล่ก้าวเท้าเหยียบแผ่นดินไนจีเรีย เสียงปืนที่เคยดังกลับเงียบสงัด มีการตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้แฟนบอลทั่วประเทศ ซึมซับบรรยากาศของนักเตะที่เก่งที่สุดในโลก
นี่คือเรื่องราวครั้งหนึ่งที่เปเล่ เคยยุติสงครามกลางเมืองไนจีเรีย ซึ่งสวยงาม และน่างุนงงไปพร้อมกัน … เพราะจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า การหยุดยิงในวันนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่?
สงครามที่แบ่งประเทศเป็นสอง
สงครามกลางเมืองไนจีเรีย เกิดขึ้นระหว่างปีคริสต์ศักราช 1967 ถึง 1970 มีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, ชาติพันธุ์, วัฒนธรรม และศาสนา ที่เริ่มก่อตัวขึ้น หลังได้รับเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ ในปี 1960
เมื่อไนจีเรียแปรสภาพจากดินแดนอาณานิคมสู่รัฐอิสระ ประชาชนมากกว่า 50 ล้านคน จึงต้องการผู้นำคนใหม่ที่ไม่ใช่ชาวบริติช ท้ายที่สุด “นามดี อาซิกีเว” ถูกเลือกเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งไนจีเรีย ก่อนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ หลังไนจีเรียเปลี่ยนสถานะเป็นสาธารณรัฐ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1963
Photo : www.bbc.com
อีกหนึ่งคนที่ได้รับอำนาจล้นมือหลังการประกาศเอกราช คือ เซอร์ อาบูบาการ์ ตาฟาวา บาเลวา นักการเมืองเชื้อสายเฮาซา ผู้ทรงอิทธิพลจากตอนเหนือของประเทศ ที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ ตั้งแต่ปี 1960
เซอร์ อาบูบาการ์ แสวงหาผลประโยชน์ผ่านการคอรัปชั่น นำมาสู่ความไม่พอใจแก่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ชาวอิกโบ” กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยทางตะวันออกของประเทศ ที่มองว่าชาวเหนือกำลังกอบโกยความมั่งคั่งจากทรัพยากรน้ำมันทางตะวันออกเฉียงใต้
วันที่ 15 มกราคม ปี 1966 นายทหารเชื้อสายอิกโบจึงกระทำการรัฐประหาร และสังหารผู้นำทางการเมือง 22 ราย รวมถึง เซอร์ อาบูบาการ์ นายกรัฐมนตรีไนจีเรีย ภายในวันเดียว ส่วนประธานาธิบดีอาซิกีเว ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
โดยคณะรัฐประหารให้เหตุผลต่อการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า มีสาเหตุจากการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ และความพยายามในการยึดครองทรัพยากรทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำเชื้อสายเฮาซา ซึ่งเป็นเหตุผลที่เหมือนจะฟังดูเข้าท่า แต่การกระทำของกลับสวนทาง
เพราะทันทีที่การถอดถอนรัฐบาลเกิดขึ้น อำนาจทั้งหมดในการบริหารไนจีเรีย ถูกถ่ายโอนสู่นักการเมือง และทหารที่มีเชื้อสายอิกโบ เมื่อบวกกับการสังหารปฏิปักษ์ชาวเฮาซาทั้งหมด ยิ่งชัดเจนว่า คณะรัฐประหารต้องการกอบโกยผลประโยชน์ มากกว่าจะช่วยเหลือประชาชนดั่งคำกล่าวอ้าง
เพื่อตอบโต้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กองกำลังทหารชาวเฮาซา กระทำการรัฐประหารซ้อนในเดือนกรกฎาคม ปี 1966 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิกโบหลายคนถูกสังหาร ส่งผลให้ชาวเหนือกลับมาครองอำนาจเหนือประเทศไนจีเรียอีกครั้ง
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นควรจะจบลงแค่นี้ แต่ความแค้นที่ก่อตัวในใจยากจะลบล้าง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางศาสนา เมื่อชาวอิกโบที่เป็นคริสเตียน พยายามมีอิทธิพลเหนือศาสนาอิสลามของชาวเฮาซา
คณะรัฐประหารใหม่จึงทำการกวาดล้างชาวอิกโบที่อาศัยอยู่ในเขตไนจีเรียเหนือ และตะวันตก มีการคาดการณ์ว่า ชาวอิกโบราว 8,000 ถึง 30,000 รายถูกสังหาร ส่วนประชาชนราว 1 ถึง 2 ล้านคน ต้องละทิ้งบ้านเรือน เพื่ออพยพสู่เขตตะวันออก
Photo : www.afamnnaji.com
แม้คณะรัฐประหารจะแต่งตั้ง นายพลยาคูบู โกวอน ผู้เป็นคริสเตียน ขึ้นครองตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ แต่ความบาดหมางระหว่างชาวไนจีเรีย ถลำลึกเกินกว่าจะแก่ไข
ชาวอิกโบ ประกาศแยกตัวออกจากสาธารณรัฐไนจีเรีย และก่อตั้ง “สาธารณรัฐบิอาฟรา” ขึ้นเป็นประเทศใหม่ บนดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของไนจีเรีย ในเดือนพฤษภาคม ปี 1967
สองเดือนหลังจากการประกาศเอกราช ไนจีเรียยกกองกำลังทหารบุกดินแดนบิอาฟรา ด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศ และปืนใหญ่ นำไปสู่การสูญเสียครั้งใหญ่ในหมู่พลเรือนบิอาฟรา นับเป็นฉากแรกของสงครามกลางเมืองไนจีเรีย ที่จะยืดเยื้อออกไปอีกสามปี
พระเจ้าเยือนไนจีเรีย
ท่ามกลางสงครามกลางเมืองไนจีเรียดำเนินไปอย่างโหดร้ายทารุณ สิ่งหนึ่งที่พอจะยึดเหนี่ยวหัวใจคนในชาติได้บ้าง คือ “กีฬาฟุตบอล”
จากประวัติศาสตร์ที่เคยตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ คงไม่ต้องบอกว่าชาวไนจีเรีย จะคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลมากแค่ไหน
Photo : pele-10.com
นักเตะที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นย่อมหนีไม่พ้น เปเล่ ยอดดาวยิงแห่งยุค ผู้พาทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัย ในปี 1958, 1962 (และปี 1970 ในเวลาต่อมา) รวมถึงแชมป์ลีก และแชมป์ระดับทวีปกับสโมสรซานโตส อีกนับไม่ถ้วน
ชื่อเสียงของเปเล่ บวกกับผลงานของทีม ส่งผลให้ ซานโตส กลายเป็นทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกในขณะนั้น
เมื่อมองเห็นโอกาส ซานโตสจึงเริ่มเดินสายเตะบอลตามทวีปต่าง ๆ เริ่มต้นด้วยการทัวร์ทวีปยุโรป ในปี 1959 ตามด้วยสหรัฐอเมริกา ในปี 1966, แอฟริกาเหนือ ในปี 1967 และอาร์เจนตินา ในปี 1968
สำหรับปี 1969 ทีมซานโตส มีโปรแกรมทัวร์ในเขตแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก ประกอบด้วย คองโก, โมซัมบิก, กาน่า, แอลจีเรีย รวมถึงประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม อย่าง ไนจีเรีย
Photo : www.quora.com
วันที่ 26 มกราคม ปี 1969 เปเล่ และขุนพลซานโตส เดินทางถึงกรุงลากอส ประเทศไนจีเรีย พวกเขาได้การต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาล สมกับค่าตัว 11,000 ปอนด์ไนจีเรีย หรือคิดเป็นเงินไทยราว 550,000 บาท ในเวลานั้น
ซานโตส ลงสู้ศึกกับทีมชาติไนจีเรีย ในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว ผลการแข่งขันจบลงด้วยสกอร์ 2-2 ซึ่งเปเล่เป็นผู้เหมาสองประตูของทีมซานโตส ในเกมดังกล่าว ส่งผลให้ทางการไนจีเรียปลาบปลื้มในตัวเปเล่มาก จนอยากให้เขาลงเล่นฟุตบอลในดินแดนแห่งนี้อีกสักนัด
หนึ่งในคนคิดจริงทำจริง คือ ไอแซค โอคอนโจ ประธานสภากีฬาเขตมิดเวสต์ องค์กรกีฬาจากภูมิภาคทางตอนใต้ของประเทศไนจีเรีย ที่รวบรวมเงินจากแฟนบอลในท้องถิ่นราว 6,000 ปอนด์ เพื่อเป็นค่าจ้างแก่ทีมซานโตส
Photo : www.nairaland.com
ในตอนแรก ทีมซานโตสปฏิเสธจะลงเล่นอีกหนึ่งนัด เนื่องจากเงินค่าจ้างที่ไม่ตรงกับความต้องการ แต่หลังจากสัมผัสการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าถิ่น รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐาน เปเล่ และผองเพื่อน จึงพร้อมลงสนามในประเทศไนจีเรียอีกครั้ง ที่เบนิน ซิตี้ เมืองหลวงของเขตมิดเวสต์ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์
การแข่งขันระหว่างทีมซานโตส และทีมมิดเวสต์ จบลงดวยชัยชนะ 2-1 ของผู้มาเยือน แม้เปเล่จะยิงประตูไม่ได้ในเกมดังกล่าว แต่เขากลับมีส่วนสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในฐานะผู้สร้างตำนานยุติสงครามกลางเมืองไนจีเรีย ที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้จนถึงทุกวันนี้
เรื่องจริง หรือ ตำนาน
เรื่องราวการยุติสงครามกลางเมืองของเปเล่ ถูกเผยแพร่บนหน้าสื่อครั้งแรก ในนิตยสาร Time เมื่อปี 2005 โดยมีการระบุข้อความในเนื้อหาว่า
“แม้ว่านักการทูตจะพยายามเป็นเวลาสองปี เพื่อหยุดการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองที่นองเลือดที่สุดของทวีปแอฟริกา การมาถึงประเทศไนจีเรียของตำนานนักฟุตบอลบราซิล ในปี 1969 กลับทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงเป็นเวลาสามวัน”
Photo : Pelé @Pele
หลังจากนั้น เรื่องราวของเปเล่ที่ไนจีเรีย ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นสื่อในยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา ทั้งสิ้น แต่กลับไม่มีเรื่องราวของเปเล่ ถูกเผยแพร่ในสื่อท้องถิ่นที่ประเทศไนจีเรียเลย
Nigerian Daily Times และ Nigerian Observer คือ สองหนังสือพิมพ์ชื่อดังจากกรุงลากอส และเบนิน ซิตี้ พวกเขาขุดค้นต้นฉบับในปี 1969 เพื่อค้นหาข่าวการหยุดยิง ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับเปเล่ และทีมซานโตสบุกเยือนไนจีเรีย แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการหยุดยิงถูกบันทึกไว้
เรื่องราวนี้ยิ่งน่าสับสนมากขึ้นไปอีก เมื่อ เปเล่ เขียนหนังสือชีวประวัติ “My Life and the Beautiful Game” (1977) ว่าตัวเขาเดินทางสู่ประเทศไนจีเรีย ในปี 1967 ทั้งที่ความจริง เปเล่บุกเยือนไนจีเรียเป็นครั้งแรกในปี 1969
Photo : www.facebook.com/iaindabawa
กว่าเปเล่จะชี้แจงความจริงในเรื่องนี้ ต้องรอถึงปี 2007 ในหนังสือเล่มใหม่ “Pelé: The Autobiography” ที่ยืนยันว่าเขาเดินทางสู่กรุงลากอส ในปี 1969 และมีการกล่าวถึงบรรยากาศสงครามกลางเมืองไว้ดังนี้
“ผมไม่รู้ว่าเรื่องนี้จริงเท็จมากแค่ไหน แต่ไนจีเรียทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันไม่ให้พวกบิอาฟราบุกมาถึงกรุงลากอส ขณะเราอยู่ที่นั่น ผมเห็นทหารเต็มท้องถนนไปหมด”
อย่างไรก็ตาม เปเล่ไม่เคยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เบนิน ซิตี้ ซึ่งสวนทางกับเรื่องราวที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ของสโมสรซานโตส ถึงเหตุการณ์หยุดยิงในเมืองเบนิน ซิตี้ และการเปิดสะพานที่เชื่อมเขตประเทศไนจีเรีย และดินแดนบิอาฟรา เพื่อให้ผู้คนทั้งสองประเทศ สามารถเข้าชมการแข่งขันนัดประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น
Photo : www.facebook.com/5Kondo9ja-935757059931834
มีการสืบหาความจริงอีกหลายครั้ง จนรู้ว่าต้นตอของเรื่องราวทั้งหมด มาจากบทความในนิตยสาร Palcar Magazine ที่ตีพิมพ์ในประเทศบราซิล เมื่อปี 1990 แต่ท้ายที่สุด ไม่เคยมีข้อสรุปว่า การหยุดยิงในสงครามกลางเมืองไนจีเรีย เกิดขึ้นเพราะเปเล่จริงหรือไม่ ?
แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าเคยเกิดขึ้นจริง คือ สงครามกลางเมืองไนจีเรีย ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของดินแดนบิอาฟรา และการผนวกประเทศไนจีเรียเป็นหนึ่งอีกครั้ง ในปี 1970
มีผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ วันละ 3,000 – 5,000 คน เนื่องจากความอดอยาก อันมีสาเหตุจากการปิดล้อมดินแดนบิอาฟราทางทะเลของกองกำลังไนจีเรีย ส่งผลให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร และเวชภัณฑ์ จากต่างประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่สงคราม
ไม่ว่าตำนานการยุติสงครามของเปเล่ในที่ไนจีเรีย จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ? แต่อย่างน้อยเรื่องราวนี้ก็ช่วยให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึง สงครามอันไร้มนุษยธรรม และเรียนรู้ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้คนนับล้าน จากความขัดแย้งที่แบ่งหนึ่งประเทศเป็นสอง ในสงครามกลางเมืองไนจีเรีย