ปัญจกีฬาสมัยใหม่ : การยำ 5 กีฬาที่ดูไม่เข้ากันเพื่อแข่งขันในโอลิมปิก

ปัญจกีฬาสมัยใหม่ : การยำ 5 กีฬาที่ดูไม่เข้ากันเพื่อแข่งขันในโอลิมปิก

ปัญจกีฬาสมัยใหม่ : การยำ 5 กีฬาที่ดูไม่เข้ากันเพื่อแข่งขันในโอลิมปิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟันดาบ ว่ายน้ำ ขี่ม้า ยิงปืน และ วิ่ง นอกจากว่าเป็นกีฬาที่มีแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเหมือนกันแล้ว มันอาจเป็นเรื่องยากที่จะหาความเกี่ยวเนื่องกันของทั้ง 5 ชนิดกีฬาข้างต้น

อย่างไรก็ตาม มีกีฬาอยู่รายการหนึ่ง ที่จับรวมทั้งห้ากีฬาดังกล่าวมาแข่งขันรวมกันเป็นเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว ที่สำคัญ มันอยู่ในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติด้วย

ทำความรู้จักกับปัญจกีฬาสมัยใหม่ และเหตุผลว่าทำไม 5 กีฬาที่ดูแตกต่างกันเช่นนี้ ถึงถูกนำมายำรวมกันได้กับ Main Stand

ปัญจกีฬาสมัยเก่า

เมื่อพูดว่ามีปัญจกีฬาสมัยใหม่แล้ว ก็ย่อมต้องมีปัญจกีฬาสมัยเก่าเกิดขึ้นมาก่อนหน้า โดยมันถูกแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์สมัยเก่า เมื่อยุคกรีกโบราณ ประมาณ 2700 ปีที่แล้วด้วยกัน

ปัญจกีฬาสมัยเก่าประกอบไปด้วย สตาดิออน หรือการวิ่งระยะ 180 เมตร, พุ่งแหลน, ขว้างจักร, กระโดดไกล, และมวยปล้ำ 


Photo : www.britannica.com

เมื่อพิจารณาทั้ง 5 ชนิดกีฬาข้างต้นแล้ว จะเห็นว่ามันประกอบด้วยทักษะที่จำเป็นต่อการสู้รบทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่ผู้ร่วมแข่งขันส่วนใหญ่ ต่างเป็นทหาร

 

ทักษะในปัญจกีฬาสมัยเก่า ต่างถูกใช้เพื่อฝึกซ้อมทหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับยุคสมัยที่ต้องมีการประกาศพักรบชั่วคราวทุก 4 ปี เพื่อให้ประชาชนจากเมืองต่าง ๆ เดินทางมารับชมโอลิมปิกได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย

อริสโตเติล นักปรัชญากรีกโบราณอันเลื่องชื่อ เคยเขียนไว้ว่า “ร่างกายที่สามารถทนทานต่อทุกสิ่งได้ ไม่ว่าการวิ่งแข่ง หรือความแข็งแกร่งของร่างกาย คือเหตุผลที่ทำไมนักปัญจกีฬาถึงได้สง่างามเป็นที่สุด” แน่นอนว่าการฝึกซ้อมทักษะที่รอบด้านของนักกีฬาเหล่านี้ ย่อมทำให้พวกเขาถูกยกเป็นแบบอย่าง ของความแข็งแกร่งด้านร่างกายที่ใครหลายคนต่างถวิลหา

ทักษะของทหารที่ดี

ปัญจกีฬาสมัยใหม่ กลับเข้าสู่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1912 โดยยังคงแนวคิดจากการรวม 5 ชนิดกีฬา ที่จำเป็นสำหรับทหารม้าในสมัยศตวรรษที่ 19 ผู้ต้องบุกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก


Photo : www.militarytimes.com

ขี่ม้าตัวที่ไม่รู้จัก, ใช้อาวุธปืนและดาบเพื่อสู้กับศัตรู, วิ่ง หรืออาจต้องว่ายน้ำกลับเข้าสู่ทัพ คือแนวคิดที่ บารอน ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ได้ริเริ่มกีฬานี้ขึ้นมา

แม้มันจะริเริ่มโดยแนวคิดของผู้ก่อตั้งโอลิมปิก แต่เหตุที่ปัญจกีฬาสมัยใหม่ต้องรอเวลาถึง 16 ปี หลังจากโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1896 นั้น มาจากการที่คณะกรรมการโอลิมปิกในตอนนั้น “ขาดความเข้าใจและต่อต้านต่อชนิดกีฬานี้” ตามคำอ้างของ กูแบร์แต็ง


Photo : www.wired.com

ในโอลิมปิกที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน การแข่งขันเริ่มวันแรกด้วยการยิงปืนระยะ 10 เมตรจากเป้า, ตามด้วยการว่ายน้ำ 300 เมตรในวันที่สอง, วันถัดมาเป็นรายการฟันดาบเอเป้ใน 1 นาที, ขี่ม้าในวันที่สี่, และปิดท้ายด้วยการวิ่งทางไกล ก่อนจะนำอันดับที่ได้จากแต่ละการแข่งขัน มาหาว่าใครทำคะแนนได้ดีสุด และกลายเป็นผู้ชนะไป

ในระหว่างการแข่งขันครั้งแรก นักกีฬาทั้ง 32 คน ล้วนเป็นทหารทั้งหมด และหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่สต็อกโฮล์ม เมื่อปี 1912 คือร้อยตรี จอร์จ แพตตัน ผู้กลายมาเป็นนายพลในกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และดูแลปฏิบัติการในแถบเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2


Photo : www.uipmworld.org

แม้ แพตตัน จะจบอันดับที่ 5 ในการแข่งขันครั้งนั้น แต่มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่ เพราะเจ้าตัวอ้างว่าในระหว่างการยิงปืน รูกระสุนบนกระดาษเป้ามันกว้างมาก จนเขาสามารถยิงผ่านรูนั้นไปได้ แต่กรรมการกลับตัดสินให้เป็นการพลาดเป้า จนทำให้ว่าที่นายพลในอนาคตรายนี้ พลาดคว้าเหรียญโอลิมปิกไปอย่างน่าเสียดาย

กาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป

จากวันนั้น ปัญจกีฬาสมัยใหม่ ยังคงอยู่คู่กับการแข่งขันโอลิมปิกมาโดยตลอด พร้อมกับมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น


Photo : olympics.rf.gd

 

ในปัจจุบัน นักปัญจกีฬาจะถูกเก็บคะแนนตามผลงานของแต่ละชนิดกีฬา และการแข่งขันจะจบภายใน 1 วัน โดยเริ่มวันจากการฟันดาบเอเป้ ที่ผู้แข่งขันทุกคนจะพบกันหมด โดยมีเวลารอบละ 1 นาที ใครที่ฟันดาบเข้าเป้าได้เป็นคนแรกคือผู้ชนะ แต่ถ้าหมดเวลาไปก่อนจะมีคนทำคะแนนได้ จะถือว่าแพ้ทั้งสองฝ่ายในทันที

ถัดมาในรายการว่ายน้ำ 200 เมตร การเก็บคะแนนจะวัดจากเวลาที่สามารถทำได้ ส่วนของการขี่ม้าแบบ Show Jumping หรือ กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง คะแนนจะค่อย ๆ ลดหลั่นลงไปตามเวลา และความผิดพลาดที่ก่อระหว่างการแข่งขัน ซึ่งความท้าทายมีอยู่ว่า นักกีฬาจะรู้ว่าเขาได้จับคู่กับม้าตัวไหน เพียงแค่ 15-20 นาทีก่อนเริ่มแข่งเท่านั้น

สิ่งที่แตกต่างออกไปของปัญจกีฬาในโอลิมปิก อยู่ในรายการสุดท้าย ที่รวมทั้งการวิ่งและยิงปืนมาไว้ในรายการเดียวกัน หรือเรียกว่า Laser-Run อันประกอบด้วยการวิ่ง 800 เมตร และหยุดเพื่อยิงปืนเลเซอร์ ให้เข้าเป้าได้ครบ 5 นัด และทำซ้ำรวมทั้งสิ้น 4 รอบ จนครบระยะทาง 3,200 เมตร

ใน Laser-Run แต่ละคนจะถูกปล่อยตัวแบบหน่วงเวลาไว้ตามผลงานที่ทำได้ ทำให้ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน และใครก็ตามที่เข้าสู่เส้นชัยเป็นคนแรก จะถือว่าเป็นผู้ชนะในทันทีเลย

แม้จะบอกว่าปัญจกีฬาสมัยใหม่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือหนึ่งในกีฬาที่สุ่มเสี่ยงต่อการหายไปจากโอลิมปิก

เส้นใหญ่ถึงอยู่รอด ?

หากลองดูให้ดี ปัญจกีฬาสมัยใหม่ อาจไม่สามารถเรียกว่าเป็น ปัญจกีฬา หรือประกอบด้วย 5 ชนิดกีฬา และคำว่า สมัยใหม่ ดังกล่าว ก็มีอายุมากกว่า 1 ศตวรรษแล้ว

ในโอลิมปิก การรวบรายการวิ่งกับยิงปืนเข้าด้วยกันเป็น Laser-Run ทำให้มีการแข่งขันจริงเพียงแค่ 4 กีฬาหลัก ๆ เท่านั้น และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งแรกในการแข่งขันที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ปี 2012 ก็เกิดกระแสในเชิงลบจากบรรดานักกีฬา ผู้ต้องปรับเปลี่ยนทักษะให้เหมาะกับการวิ่งและยิงปืนในรายการเดียวกัน

ปัญจกีฬาสมัยใหม่ มีกระแสตอบรับที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับชนิดกีฬาอื่น ๆ ในโอลิมปิก และเคยได้รับเสนอชื่อให้ถูกพิจารณาคัดออกในการประชุม IOC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 มาแล้ว ก่อนที่ทาง IOC จะเลือกหั่นมวยปล้ำออกไปแทน โดยจะมีผลในปี 2020 (อย่างไรก็ตาม มวยปล้ำก็ได้รับการเพิ่มชื่อเข้าสู่การแข่งขันอีกครั้ง ในการประชุม เดือนกันยายนของปีเดียวกัน สถานะของกีฬานี้ จึงเปรียบเสมือนไม่เคยถูกโหวตออกไปจากสารบบ)

หนึ่งในทฤษฎีที่ถูกพูดถึงกัน คือการที่ปัญจกีฬาสมัยใหม่สามารถอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากมันริเริ่มโดยแนวคิดของผู้ก่อตั้งโอลิมปิกสากล ประหนึ่งมีแบ็คอันยิ่งใหญ่คอยหนุนหลังให้อยู่

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของกีฬาชนิดนี้ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้มันอยู่รอดได้ ทั้งการปรับลดวันแข่งขันลงจาก 5 วันให้เหลือเพียงวันเดียว เพื่อเพิ่มความสนใจจากสาธารณะมาสู่ปัญจกีฬาสมัยใหม่ ขณะที่ความพยายามเปลี่ยนจากปืนปกติ ให้เป็นปืนเลเซอร์สุดล้ำยุค นอกจากเหตุผลด้านความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจกีฬานี้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


Photo : www.uipmworld.org

สุดท้ายแล้ว ไม่สิ่งใดที่ยั่งยืนเสมอไป แม้แต่กีฬาที่ถูกมองว่ามีความล้ำยุคเมื่อ 100 ปีที่แล้ว กลับกลายเป็นแค่หนึ่งในกีฬาโอลิมปิก ที่หากยอมรับตามความจริงแล้ว ก็คงมีกลุ่มคนเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น ที่เปิดมารับชมมัน

กับโลกใบนี้ที่การต่อสู้โดยกำลังพล ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็นปัญจกีฬาสมัยใหม่กว่า ที่ถูกปรับมาให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกยิ่งขึ้น ก็ย่อมเป็นไปได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook