แดเนียล เลวี : CEO เขี้ยวลากดินแห่งสเปอร์สผู้เป็นฝันร้ายแห่งตลาดซื้อขายนักเตะโลก

แดเนียล เลวี : CEO เขี้ยวลากดินแห่งสเปอร์สผู้เป็นฝันร้ายแห่งตลาดซื้อขายนักเตะโลก

แดเนียล เลวี : CEO เขี้ยวลากดินแห่งสเปอร์สผู้เป็นฝันร้ายแห่งตลาดซื้อขายนักเตะโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในบรรดาสโมสร บิ๊ก ซิกซ์ ของอังกฤษ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นทีมที่เงินน้อยสุด และไม่ได้มีเศรษฐีต่างชาติหนุนหลัง พวกเขามีเพียงแค่ แดเนียล เลวี นักธุรกิจชาวอังกฤษที่ปลุกปั้นสโมสรมาเป็น 20 ปี

แม้เขาจะไม่ใช่คนที่มีเงินถุงเงินถัง แต่กลับมีความสามารถด้านการเจรจาต่อรองธุรกิจขั้นเทพ ถึงขนาดที่ผู้จัดการยอดนักดีลอย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังโอดครวญว่า “ทรมานยิ่งกว่าการผ่าตัดสะโพก” 

เขามีวิธีทำการค้า และบริหารจิตใจนักเตะภายในทีมอย่างไร ? จนทำให้ สเปอร์ส สามารถโก่งราคาค่าตัวผู้เล่นได้ในระดับสูง กลายเป็นฝันร้ายของทีมคู่ค้าเสมอ

จากแฟนบอล สู่เจ้าของสโมสร

เทคนิคการเจรจาต่อรองธุรกิจ เป็นความรู้ที่หากันไม่ได้ห้องเรียนเสมอไป แต่ถ้าคุณเกิดมาในตระกูลพ่อค้าเชื้อสายยิวแบบ แดเนียล เลวี คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเขาจะเชี่ยวชาญในทักษะด้านนี้


Photo : www.footballinsider247.com

ครอบครัวของ แดเนียล เลวี ทำธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าราคาถูก Mister Byrite ถือเป็นร้านค้าที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในยุค 80s และ 90s สามารถรีแบรนด์เป็นธุรกิจเสื้อผ้า Blue Inc เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเครื่องแต่งกายราคาถูก แต่มีลุคโฉบเฉี่ยวสะดุดตา ในปี 1997

เมื่อกิจการครอบครัวเติบโตใหญ่โตขึ้น เลวี ไม่มีเส้นทางอื่นรออยู่เบื้องหน้า นอกจากการเข้ามาช่วยเหลือบริหารธุรกิจร้านเสื้อผ้า ร่วมกับพี่ชายอีก 3 คน

 

เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ และเศรษฐกิจที่ดิน ในปี 1985 ก่อนเข้ามาปลุกปั้นธุรกิจของตระกูลจนติดตลาด

แตกต่างจากพี่น้องคนอื่น เลวี ไม่หยุดแค่กิจการประจำบ้าน เขาเริ่มลงทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นที่สามารถสร้างกำไรเข้ากระเป๋า

ก่อนที่ปี 1995 เขาจะร่วมหุ้นกับบริษัท ENIC Group เจ้าของธุรกิจกีฬา และความบันเทิงในประเทศอังกฤษ ที่ถือหุ้นในสโมสรต่าง ๆ ทั่วยุโรป ไม่ว่าจะเป็น กลาสโกว์ เรนเจอร์ส, สลาเวีย ปราก, วิเซนซา, เอฟซี บาเซิล หรือ เออีเค เอเธนส์ โดย เลวี เข้าไปถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 29.4 เปอร์เซ็นต์ พร้อมรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท

หากคุณสงสัยว่าทำไม แดเนียล เลวี ถึงกระโดดลงสู่ธุรกิจกีฬา ? นั่นเป็นเพราะตัวเขาคือสาวก “ไก่เดือยทอง” ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ตั้งแต่วัยเยาว์ หลังสัมผัสประสบการณ์อันยากจะลืมเลือน ที่สนามไวท์ ฮาร์ท เลน รังเหย้าเก่าของสเปอร์ส

“ผมจำได้ว่า ผมเดินทางมาที่นี่พร้อมกับลุงของผม เมื่อ 50 ปี ก่อนเพื่อดูเกมแรกของในชีวิตที่ท็อนแนมเจอกับควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส” แดเนียล เลวี เล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาผูกพันกับสโมสรแห่งนี้

 

“มันยากที่จะเลือกความทรงจำที่ดีที่สุดเกี่ยวกับสโมสรแห่งนี้ เพราะมันมีเยอะมากมาย บทบาทของผมในวันนี้ คือ การเป็นเพียงผู้ดูแลสโมสรคนหนึ่ง เพราะทีมแห่งนี้กำเนิดตั้งแต่ก่อนผมเกิด และจะดำรงอยู่ต่อไปหลังจากผมสิ้นใจ”


Photo : www.standard.co.uk

ความฝันเดียวของเลวี จึงหนีไม่พ้น การเป็นเจ้าของทีม ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เขายื่นซื้อสโมสรแห่งนี้เป็นครั้งแรก ในเดือนกรกฎาคม ปี 1998 แต่ถูกปฏิเสธโดย ลอร์ด อลัน ชูการ์ นักธุรกิจพันล้านชาวอังกฤษ เจ้าของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า Amstrad ผู้เป็นประธานสโมสรท็อตแนม ในขณะนั้น

เลวี ไม่ละความพยายาม เขาซื้อหุ้นสโมสรอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ปี 2000 และถูกปฏิเสธอีกเช่นเคย แต่ท้ายที่สุด พลังจากแฟนบอลได้เปิดทางให้เขากลับสู่การเจรจาอีกครั้ง หลังสาวกไก่เดือยทองเบื่อหน่ายกับผลงานของทีม ที่เอาแต่ย่ำอยู่กับที่ในยุคของลอร์ด ชูการ์

เดือนตุลาคม ปี 2000 แดเนียล เลวี ภายใต้นาม ENIC Group บรรลุข้อตกลงซื้อหุ้น 27 เปอร์เซ็นต์ ของสโมสร ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ จากลอร์ด ชูการ์ ด้วยเงิน 22 ล้านปอนด์ ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสโมสร (เลวีซื้อหุ้นที่เหลืออีก 12 เปอร์เซ็นต์ จากลอร์ด ชูการ์ ในปี 2007 ด้วยเงิน 25 ล้านปอนด์)

 

เลวีเข้ารับตำแหน่งประธานสโมสรในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2001 ก่อนเข้ามาบริหารสโมสรอย่างเต็มตัว ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน และยังคงดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

ความทะเยอทะยานของเลวี

การเข้ามาของ แดเนียล เลวี ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เพราะตั้งแต่เข้ามาทำงานกับสโมสรในวันแรก เลวี ตั้งเป้าหมายถึงการพาสโมสรกลับสู่จุดที่ควรจะเป็น นั่นคือ ทีมหัวตารางพรีเมียร์ลีก

ทางเลือกของเลวี มีทั้งหมด 2 ทาง อย่างแรกคือ ทุ่มเงินอย่างบ้าคลั่งเพื่อตามล่าความสำเร็จ ในระยะเวลาอันสั้น 

ทางที่สองคือ ค่อยพัฒนาสโมสรทีละก้าว และเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน แน่นอนว่า เลวี เลือกแนวทางหลัง แม้การตัดสินใจของเขาจะขัดใจแฟนไก่เดือยทอง ที่ต้องการเห็นทีมรักขึ้นมาอยู่ระดับเดียวกับ อาร์เซนอล คู่ปรับตลอดกาลให้เร็วที่สุด


Photo : spurs.vitalfootball.co.uk

“ท็อตแนมจะเป็นทีมหลักของกลุ่ม ENIC แต่พวกเขาจะไม่ทุ่มเงินเป็นล้านในชั่วข้ามคืน เพราะพวกเขาไม่เคยทำแบบนี้กับสโมสรอื่น และจะไม่มีวันเปลี่ยนแนวทางของตัวเอง”

เลวี กางแผนพัฒนาสโมสรภายในระยะเวลา 5 ปี แก่บอร์ดบริหาร เขาชี้ให้เห็นความผิดพลาดของการบริหารที่ขาดทุน 3.5 ล้านปอนด์ ในฤดูกาล 2020-21 โดยสาเหตุมาจากการใช้เงิน 20 ล้านปอนด์ ไปกับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับนักเตะภายในทีม ทั้งที่ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ มีรายรับต่อปีอยู่ราว 48 ล้านปอนด์

ความเขี้ยวเรื่องการเงินของสโมสร ส่งผลให้ โซล แคมป์เบลล์ กองหลังที่เติบโตมาจากอคาเดมีของสโมสร โบกมืออำลาทีมเพื่อซบคู่ปรับร่วมลอนดอนเหนือ อาร์เซนอล ในปี 2001 การย้ายทีมครั้งนี้สร้างความโกรธแค้นแก่แฟนบอลไก่เดือยทองมาก จนได้ฉายา “จูดาส” แต่ถ้ามองในแง่มุมธุรกิจ นี่คือดีลที่ประสบความสำเร็จ เพราะการทุ่มเงินมหาศาลเพื่อรั้งนักเตะหมดใจ ไม่ใช่สิ่งที่เลวีต้องการแม้แต่น้อย แม้แคมป์เบลล์ จะย้ายไปแบบไม่มีค่าตัวก็ตาม

เลวี มองเห็นแล้วว่า หากจะพัฒนาสโมสรแห่งนี้ เขาต้องพัฒนาจากนอกสนาม ไม่ใช่ในสนาม แผนขยายความจุ ไวท์ ฮาร์ท เลน จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยตั้งแต่ปีแรกของเขากับทีม เนื่องจากเป็นหนทางดีที่สุด ที่จะเพิ่มกำไรแก่สโมสรและผู้ถือหุ้นทั้งหมด

 

ในปี 2001 เลวี มีแผนขยายความจุของ ไวท์ ฮาร์ท เลน จาก 36,000 สู่ 44,000 ที่นั่ง แต่หลังจากเห็นความยิ่งใหญ่ของ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ที่มีความจุผู้ชม 74,140 ที่นั่ง รวมถึง เอมิเรตส์ สเตเดียม สนามใหม่ของ อาร์เซนอล ที่จุผู้ชมมากกว่า 60,000 ที่นั่ง แผนการปรับปรุงสนามของเลวี จึงเหมือนความฝันของเด็ก ที่นำไปเทียบกับความทะเยอทะยานของผู้ใหญ่

เดือนตุลาคม ปี 2008 ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ จึงประกาศ “โครงการพัฒนานอร์ทัมเบอร์แลนด์” เพื่อก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ของ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่มีความจุไม่ต่ำกว่า 60,000 ที่นั่ง รวมถึงพัฒนาพื้นที่รอบข้าง เพื่อกระตุ้นธุรกิจท้องถิ่น และพัฒนาคุณภาพชีวิตแฟนบอลในพื้นที่


Photo : twitter.com/spursofficial

“โครงการพัฒนานอร์ทัมเบอร์แลนด์ นับเป็นโปรเจกต์ระดับโลก ที่จะดึงดูดการนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาสู่เขตฮารินเกย์ และแฟนบอลของเรา” แดเนียล เลวี กล่าวขณะเปิดตัวแผนสร้างสนามใหม่

“นี่คือก้าวสำคัญในการเติบโตของสโมสร จากการสร้างสนามกีฬาความจุ 60,000 ที่นั่ง พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ล้ำสมัย, พื้นที่สาธารณะที่สำคัญ, งานใหม่ และที่อยู่อาศัยแก่ผู้คนในชุมชน รวมถึงการกระตุ้นครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในท้องถิ่น”

การสร้างสนามแห่งใหม่ คือความทะเยอทะยานครั้งใหญ่ ที่มาพร้อมกับงบประมาณมหาศาล ด้วยค่าใช้จ่ายของการก่อสร้างที่อาจมากเกิน 1 พันล้านปอนด์ เลวี จำเป็นต้องควบคุมทุกการใช้จ่ายของสโมสร เพื่อจะมั่นใจว่า เงินที่จ่ายออกไปจะกลับมาเป็นรายได้ของสโมสรอย่างคุ้มค่า

แดเนียล เลวี จึงเป็นประธานสโมสรฟุตบอลเพียงไม่กี่รายที่ลงมาดูแลการซื้อขายนักเตะด้วยตัวเอง นับจากวันนั้น โลกทั้งใบจึงได้รู้ว่า บิ๊กบอสแห่งทัพไก่เดือยทอง ไม่ใช่แค่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังเป็นนักเจรจาต่อรองที่คุยด้วยยากสุดคนหนึ่งในวงการฟุตบอล

เคี่ยวจนหยดสุดท้าย

“แดเนียล เลวี ประธานสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ต้อนพวกเราให้จนมุม เมื่อปี 2008 พวกเขาลากการเจรจาจนถึงวันสุดท้าย ก่อนที่เราจะคว้าตัว ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ”

แม้แต่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตผู้จัดการทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผู้ได้รับการยอมรับว่า เป็นสุดยอดนักเจรจาแห่งโลกฟุตบอล ก็ยังเปิดปากซูฮกให้ความเขี้ยวลากดินของ แดเนียล เลวี


Photo : talksport.com

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ในดีลที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องการคว้าตัว ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ กองหน้าตัวเก่งของทัพไก่เดือยทอง แต่กว่าทุกอย่างจะลงตัว การเจรจาก็ล่วงเลยไปถึงวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายหน้าร้อน ฤดูกาล 2008-09 เนื่องจากกลยุทธ์เรียกค่าตัว 30.75 ล้านปอนด์ สุดเหนือชั้นของประธานสโมสร ท็อตแนม ฮอตสเปอร์

“เราได้ข่าวว่าเลวีจะขายเบอร์บาตอฟให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เราจึงตัดสินใจยื่นข้อเสนอซื้อตัว ทุกอย่างเป็นไปตามที่ผมคาดหวัง เราตกลงราคากับสโมสร และพานักเตะขึ้นเครื่องบินมายังแมนเชสเตอร์ เพื่อเตรียมเซ็นสัญญาให้เรียบร้อย”

“หลังจากนั้น เลวีกลับมาบอกเราว่า เขาต้องการ เฟรเซอร์ แคมป์เบลล์ กองหน้าดาวรุ่งคนหนึ่งของเรา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดีล แต่ เดวิด กิลล์ (อดีตซีอีโอ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) ไม่ยอม เลวีจึงขอเพิ่มค่าตัวของเบอร์บาตอฟ เราต้องการปิดดีลให้ทันเวลา จึงต้องยอมเพิ่มค่าตัว แถมยังส่งแคมป์เบลล์ให้พวกเขาใช้งานในสัญญายืมตัว”

“ประสบการณ์เจรจาธุรกิจที่ผ่านมา (กับเลวี) มันทำให้ผมรู้สึกทรมานยิ่งกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเสียอีก”

ถึงจะโดนหลอกล่อจนหัวหมุน แต่เซอร์ อเล็กซ์ ยังโชคดีที่ได้นักเตะที่ตัวเองต้องการ เพราะมีผู้บริหารจำนวนมากในวงการฟุตบอล ที่เข้ามาเจรจาธุรกิจกับเลวี และต้องเดินกลับออกไปแบบมือเปล่า 

ว่ากันว่า เลวีเป็นเพียงคนเดียวในวงการฟุตบอล ที่สามารถเปลี่ยนข้อตกลงที่บรรลุกันไปก่อนหน้า หากภายใน 11 ชั่วโมงหลังจากนั้น เขาเกิดรู้สึกไม่ชอบใจขึ้นมา

ทำไม แดเนียล เลวี ถึงมีอำนาจต่อรองมากขนาดนั้น ทั้งที่เขาไม่ใช่เศรษฐีน้ำมันจากตะวันออกกลาง ? นั่นเป็นเพราะผู้ชายคนนี้มี “สินค้า” อันล้ำค่ามากมายอยู่ในมือ ซึ่งสินค้าที่เราพูดถึงจะเป็นอะไรไปได้ หากไม่ใช่ นักฟุตบอล

แกเร็ธ เบล, คริสเตียน เอริคเซน, และ ไคล์ วอล์คเกอร์ คือนักเตะที่ทัพไก่เดือยทองเซ็นมาในราคาไม่เกิน 11 ล้านปอนด์ ก่อนจะปลุกปั้นเป็นดาวดังของสโมสร และขายออกไปด้วยกำไรมหาศาล


Photo : sport360.com

เบล กว่าจะถูกปล่อยให้กับ เรอัล มาดริด ก็ต้องขายในราคาสถิติโลก (เมื่อปี 2013) 85 ล้านปอนด์ ส่วนวอล์คเกอร์ ถูกขายในราคา 50+3 ล้านปอนด์ ให้กับ ขณะที่ เอริคเซน นั้น อินเตอร์ มิลาน ต้องยอมเสียเงิน 24 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นเงินที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับสัญญาที่เหลือเพียง 6 เดือน

เลวี ไม่เพียงเก่งกาจในการขายนักเตะด้วยราคากำไรล้น แต่ยังเชี่ยวชาญในการต่อรองราคาก่อนซื้อนักเตะมาก โดยเฉพาะการเจรจาในวันสุดท้าของตลาดซื้อขาย ซึ่งแฟนบอลท็อตแนมเรียกว่า “เวลาของเลวี” เพราะเขามักจะปิดดีลนักเตะชื่อดังด้วยราคาคุ้มค่า ในวันสุดท้ายเสมอ

ราฟาเอล ฟาน เดอร์ ฟาร์ท, อูโก โยริส, เจอร์เมน เดโฟ, มุสซา ซิสโซโก และ เฟอร์นานโด ยอเรนเต ล้วนเป็นนักเตะที่ย้ายสู่ ท็อตแนม ฮอคสเปอร์ ในวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายทั้งหมด

แม้จะมีบางคนที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่หากดูจากความสำเร็จของฟาน เดอร์ ฟาร์ท ในราคา 8 ล้านปอนด์ หรือโยริส ในราคา 11 ล้านปอนด์ สิ่งที่สโมสรได้กลับมาจากพวกเขา คือผลงานคุ้มค่าเกินราคา


Photo : www.independent.co.uk

เลวียังเข้มงวดมากเกี่ยวกับการจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะในสโมสร แข้งส่วนใหญ่ของท็อตแนม ฮอตสเปอร์ มักมีค่าเหนื่อยต่อสัปดาห์ไม่เกิน 100,000 ปอนด์ ซึ่งทั้ง มุสซา เดมเบเล และ เดเล อัลลี เคยระเบิดฟอร์มในสีเสื้อไก่เดือยทอง ด้วยค่าตอบแทนที่น้อยกว่านี้มาแล้ว

ถ้าหากนักเตะเกิดมองเห็นคุณค่าของตัวเอง และอยากเพิ่มเงินเดือนขึ้นมา เลวีจะตอบสั้น ๆ ว่า “ไม่” เขาปฏิเสธคำขอของ โทบี อัลเดอร์ไวเรลด์ ที่ต้องการเพิ่มค่าเหนื่อยเป็น 150,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เช่นเดียวกับ เอริค ไดเออร์ ที่รับค่าเหนื่อยอยู่ที่ 70,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ และพร้อมจะออกไปหาสโมสรใหม่ ที่กล้าเพิ่มเงินตรงนี้เป็นสองเท่าตามคำขอ

แทคติกนี้ของเลวีได้ผลทั้งขึ้นล่อง เพราะนอกจากนักเตะเหล่านี้จะไม่ได้เพิ่มเงินเดือนตามความต้องการ นี่ยังเป็นการดึงดูดให้สโมสรอื่นสนใจจะคว้าตัวแข้งติดบัญชีไม่แฮปปี้ แต่ท้ายที่สุด ทั้ง อัลเดอร์ไวเรลด์ และไดเออร์ ยังคงเล่นให้กับไก่เดือยทอง เพราะไม่มีทีมไหนจ่ายราคาที่เลวีต้องการได้

นี่คือส่วนหนึ่งในความเคี่ยว จากการเจรจาต่อรองซื้อขายของ แดเนียล เลวี ชายที่ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน จำกัดความไว้ว่า “ขี้อาย, มีอารมณ์ขัน และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น” ซึ่งเลวีอาจจะมีนิสัยแบบนั้นจริง แต่ไม่ใช่ตอนที่เขานั่งลงบนโต๊ะเจรจา เพื่อทำธุรกิจกับผู้อื่นแน่ ไม่แปลกเลยที่เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ แฮรรี่ เคน และเคนเองก็เกรงใจในตัวเขา

ทำทุกอย่างเพื่อทีม

แดเนียล เลวี อาจเป็นปีศาจร้ายในสายตาแฟนบอลทีมอื่น แต่สำหรับสาวกไก่เดือยทอง พวกเขารู้ดีว่า ผู้ชายคนนี้คิดถึงผลประโยชน์ของสโมสรก่อนสิ่งอื่นเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างไม่เป็นใจ ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19

เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ถูกเปิดเผยจำนวนหนี้ค้างชำระ ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 1.177 พันล้านปอนด์ หรือมากกว่า 50,000 ล้านบาท ถือเป็นทีมฟุตบอลที่ติดหนี้มากที่สุดในทวีปยุโรป ขณะนี้


Photo : www.independent.co.uk

สาเหตุหลักที่สภาพการเงินของไก่เดือยทองทรุดหนัก เนื่องจากการสร้าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม สนามใหม่ของพวกเขา มีค่าใช้จ่ายสูง 1.2 พันล้านปอนด์ แต่ผลลัพธ์ที่ตอบแทนกลับมายังไม่คุ้มค่า เนื่องจากวิกฤติ COVID-19 ส่งผลให้รายได้แมตช์เดย์ในแต่ละนัด รวมถึงอีเวนท์พิเศษต่าง ๆ อย่างการให้ใช้เป็นสังเวียนแข่งอเมริกันฟุตบอล NFL ที่จะมีเกมแข่งขันในอังกฤษทุกฤดูกาลหายไป ซึ่งหมายถึงเงินอย่างน้อย 50 ล้านปอนด์ ตามการคาดการณ์ของสื่อ

ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ จึงจำเป็นต้องยืมเงิน 175 ล้านปอนด์ จากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ เพื่อนำเงินตรงนี้เข้ามาหมุนสภาพคล่องในสโมสร เป็นหลักฐานชัดเจนว่า แดเนียล เลวี กำลังเจอปัญหาไม่น้อยในการบริหารทีมขณะนี้

ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ แดเนียล เลวี รับบทประธานสโมสร นี่คือช่วงเวลาที่เขาพบเจอกับปัญหามากที่สุด จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเจรจาเพื่อซื้อขายนักเตะของเขา ในช่วงซัมเมอร์ ฤดูกาล 2021-22 จะเคี่ยวมากขึ้นแค่ไหน


Photo : www.90min.com

ท้ายที่สุดแล้ว หน้าที่ของประธานสโมสร ไม่ใช่การทุ่มเงินมหาศาลซื้อความสำเร็จแล้วจบ แต่เป็นควบคุมการเงินของสโมสร เพื่อความยั่งยืนของทีมในอนาคต

ความทะเยอทะยานในการพัฒนาสโมสรของเลวี กำลังทำให้ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นทีมฟุตบอลที่ติดหนี้เกินพันล้าน นี่คือความรับผิดชอบที่เขาต้องแก้ไขสถานการณ์ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้

แดเนียล เลวี รู้หน้าที่ของตัวเองดี ... และเขาแสดงให้ผู้อื่นทราบถึงบทบาทนี้ ทุกครั้งที่เขานั่งลงเพื่อเจรจาซื้อขายนักเตะกับใครสักคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook