สมุนไพรคุณภาพ? : "ใบกระท่อม" ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้นักกีฬาได้จริงหรือไม่?
หลังจากมีการประกาศ พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ ผ่านราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 ที่ปลดกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึงนี้
แม้กระท่อมเคยถูกขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ในประเทศไทย แต่กับวงการกีฬาโลกนั้น มีการใช้กระท่อมเพื่อเสริมประสิทธิภาพให้แก่นักกีฬามาระยะหนึ่งแล้ว
มาทำความรู้จักกับสรรพคุณต่าง ๆ ว่าทำไมกระท่อม ถึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการกีฬาได้
กระท่อมกับสังคมไทยในอดีต
กระท่อมเป็นพืชในวงศ์ Rubiaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitragynine speciosa เป็นไม้ยืนต้นสูง 10-15 เมตร ทนแดดและชอบฝน เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในอดีต กระท่อมถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยในการบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งในตำรับยาไทยโบราณ ถูกนำมาใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร อาการปวดท้อง เบาหวาน แก้ไอ ความดันโลหิต และอีกหลากหลายโรค
โดยเฉพาะส่วนของใบที่มักถูกนำมาเคี้ยวแบบสด ๆ หรือนำไปต้มชงกับน้ำร้อน เพราะด้วยฤทธิ์ จาก Mitragynine, 7-hydroxymitragynine, และสารอัลคาลอยด์อื่น ๆ ที่พบมากบนใบกระท่อม อันมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ซึ่งช่วยทำให้ผู้รับประทานเข้าไปมีอาการเมื่อยล้าที่ลดน้อยลง สามารถทำงานได้ยาวนานขึ้น
การเคี้ยวใบกระท่อมนั้นเป็นที่แพร่หลายมาตั้งแต่ในอดีต โดยสามารถพบเห็นการกล่าวถึงสรรพคุณของใบกระท่อมได้ในผลงานวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ตอนพลายงามอาสาไปรบเชียงใหม่ ความว่า
“พวกทหารสามพันห้าต่างคลาไคล บ้างคอนกระสอบหอบกัญชา ตุ้งก่าใส่ย่ามตามเหงื่อไหล บ้างเหล้าใส่กระบอกหอกคอนไป ล้าเมื่อไรใส่อึกไม่อื้ออึง บ้างห่อใบกระท่อมตะพายแล่ง เงี่ยนยาหน้าแห้งตะแคงขึง ถุนกระท่อมในห่อพอตึงตึง ค่อยมีแรงเดินดึ่งถึงเพื่อนกันฯ”
อย่างไรก็ตาม กระท่อมถูกขึ้นบัญชี ห้ามปลูก ครอบครอง และจำหน่ายในไทยเมื่อปี 1943 โดยนอกจากการเสพติดของผู้ใช้แล้ว มีการระบุถึงความพยายามที่จะผูกขาดการค้าฝิ่นของรัฐ ซึ่งมีการเก็บภาษีฝิ่น เพื่อนำรายได้เข้าสู่คลัง ทำให้ฝิ่นมีราคาที่สูง และส่งผลให้ผู้คนต่างหันไปสูบกระท่อม ซึ่งมีราคาถูกกว่าเป็นอย่างมาก ก่อนที่มันจะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายมานานกว่า 78 ปีด้วยกัน
กระท่อมกับกีฬา
จนถึงตอนนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครคือนักกีฬาคนแรก ที่บุกเบิกการนำกระท่อมมาใช้อย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามมีการตรวจพบสาร Mitragynine และ Demetyhl-mitragynine อันเป็นสารอัลคาลอยด์สำคัญ ที่พบได้ในใบกระท่อมเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 ระหว่างการตรวจโด๊ปของนักกีฬาชายรายหนึ่ง ทำให้นี่คือหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมชิ้นแรก ว่ามีการใช้กระท่อมในบรรดานักกีฬาอาชีพอยู่จริง
ทางองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ WADA ได้ติดตามและเพิ่มกระท่อมอยู่ในลิสต์เฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2018 ที่พวกเขาอนุมัติให้มีการใช้ใบกระท่อมได้ โดยไม่ถือว่าเป็นสารกระตุ้น และไม่มีการแบนนักกีฬาที่ใช้แต่อย่างใด
กระท่อมให้ฤทธิ์ที่แตกต่างออกไปตามปริมาณที่รับประทานเข้าไป หากใช้ในปริมาณที่น้อย คือระหว่าง 1 ถึง 5 กรัม มันจะเป็นสารกระตุ้นที่ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว สดชื่น มีพลังงานเพิ่มเติม และเสริมสร้างสมาธิให้กับนักกีฬาได้
หากใช้ในปริมาณมากขึ้น ระหว่าง 5 ถึง 15 กรัม กระท่อมสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บให้กับผู้ที่รับประทานเข้าไปได้ คล้ายกับยาระงับอาการปวดแบบ Opioid ซึ่งเป็นที่นิยมในกีฬาที่อาการบาดเจ็บเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ยกน้ำหนัก, วิ่ง, หรือมวย เป็นต้น
สายพันธุ์กระท่อมที่ถูกนิยมนำมาใช้ในวงการกีฬา ได้แก่ ก้านเขียว, ก้านขาว, ก้านแดง, และ แมงดา ซึ่งมักพบได้มากในประเทศไทยและชาติต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน
มีคุณหรือโทษกันแน่?
แม้เป็นที่ทราบกันดีว่า กระท่อมช่วยเพิ่มพลังงาน และสามารถลดอาการบาดเจ็บให้กับผู้ที่รับประทานเข้าไปได้ แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีงานวิจัยไหนที่ยืนยันประสิทธิภาพของใบกระท่อม ที่อาจเป็นประโยชน์หรือโทษกับนักกีฬาได้อย่างเป็นทางการ
แน่นอนว่าสิ่งใดที่มีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์เช่นกัน สาร Mitragynine ที่ถูกพบได้มากในใบกระท่อม เป็นสารจำพวกเดียวกับที่พบในยา LSD และยังถูกขึ้นบัญชีเป็นสารเสพติดโดย WADA เมื่อปี 2014 แม้การแบนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ใบกระท่อม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าหากมีการใช้ในปริมาณที่สูงเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการเสพติด และเป็นโทษต่อร่างกายได้เช่นกัน
มีการค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าที่สหรัฐอเมริกา มีรายงานผู้ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตจากการเสพติดใบกระท่อมอยู่จำนวนหนึ่ง แต่กับในแถบอาเซียน แม้มีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาจากการใช้ใบกระท่อมอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากกระท่อมเลย
นี่อาจมาจากการปรับตัวของร่างกาย หลังจากมีการใช้กระท่อมเป็นยาชูกำลัง สมุนไพร และเวชภัณฑ์รักษาโรคมาตั้งแต่ในอดีตของผู้คนในแถบนี้ เมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตกที่เพิ่งเริ่มใช้อย่างแพร่หลายมาไม่นาน แต่ก็อาจเกิดจากความบกพร่องในการบันทึกข้อมูลได้เช่นกัน
แม้ในตอนนี้ยังไม่มีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นคุณหรือโทษของกระท่อมอย่างชัดเจน และถึงกระท่อมก็กำลังกลับมาถูกกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง การใช้งานหรือรับประทานกระท่อมก็ยังควรอยู่ในปริมาณที่เราสามารถควบคุมได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ผลเสียจากการที่ปล่อยให้มันมาควบคุมร่างกายของเราได้นั้น อาจเลวร้ายกว่าข้อดีต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวถึงไว้ในข้างต้นได้
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ