The Last Dance : โกรัน ปานเดฟ เสือเฒ่าวัย 37 ปี กับภารกิจสร้างตำนานให้ "นอร์ทมาซิโดเนีย"

The Last Dance : โกรัน ปานเดฟ เสือเฒ่าวัย 37 ปี กับภารกิจสร้างตำนานให้ "นอร์ทมาซิโดเนีย"

The Last Dance : โกรัน ปานเดฟ เสือเฒ่าวัย 37 ปี กับภารกิจสร้างตำนานให้ "นอร์ทมาซิโดเนีย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอร์ทมาซิโดเนีย ไม่ใช่ประเทศที่โดดเด่นเรื่องฟุตบอลเท่าไหร่นัก หากเท้าความไปสัก 20 ปีหลังภาพจำของแฟนบอลบ้านเราจะพบว่า นี่คือทีมที่ลงสนามเมื่อไหร่ พร้อมแจกแต้มเมื่อนั้น นาน ๆ ทีจะมีผลงานที่น่าประทับใจให้แฟนบอลได้ชุ่มชื่นหัวใจสักครั้ง 

อย่างไรก็ตามใน ยูโร 2020 นอร์ทมาซิโดเนีย คือชาติที่ได้เข้าแข่งขันในรอบสุดท้าย และนี่คือทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ครั้งแรกของประเทศ 

หากจะมีใครสักคนภาคภูมิใจกับความสำเร็จครั้งนี้มากที่สุด คงหนีไม่พ้น โกรัน ปานเดฟ กองหน้าวัย 37 ปี ผู้ที่พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าและอยู่กับทีมชาติมาตั้งแต่วันที่ นอร์ทมาซิโดเนีย เป็นแค่สมันน้อยคอยแจกแต้ม จนกระทั่งถึงวันนี้ วันที่คนทั้งประเทศออกมาเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งสำคัญ

 

Main Stand ขอพาคุณย้อนมองทีมชาติ นอร์ทมาซิโดเนีย ผ่านแต่ละช่วงชีวิตของดาวยิงเสือเฒ่ารายนี้ ... จากวันที่สิ้นหวัง สู่วันที่ฝันสำเร็จ เรื่องทั้งหมดเป็นเช่นไร ติดตามที่นี่

ทำไม นอร์ทมาซิโดเนีย จึงเป็นสมันน้อย ? 

ฟุตบอลจะดีได้ ก็ต้องมาจากโครงสร้างบ้านเมือง ซึ่ง นอร์ทมาซิโดเนีย หรือ มาซิโดเนีย ในอดีตนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ... มาซิโดเนีย ได้เอกราชจาก ยูโกสลาเวีย มาในปี 1991 และด้วยความเป็นประเทศใหม่ พวกเขาพยายามก่อโครงสร้างที่แข็งแกร่งขึ้นมา โดยให้ความสำคัญกับคนทุกเชื้อชาติ 

รัฐบาลมาซิโดเนีย สร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชากรมุสลิม ที่มีจำนวนราว 30% ของประเทศ ทว่าความสัมพันธ์อันดีนั้นมีราคาเนื่องจากมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเกิดขึ้น จนทำให้เกิดสงครามระหว่างกลุ่มชน และมีความขัดแย้งกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง แอลเบเนีย และทำให้เกิดการรบภายในระหว่างกลุ่มกำลังแยกย่อยที่ต้องการอำนาจ กับรัฐบาลกลาง เรื่องนี้ลุกลามไปใหญ่โตถึงขั้นที่ นาโต้ ต้องเข้ามามามีบทบาทควบคุมสถานการณ์ในช่วงปี 2001 

 

นี่คือเรื่องราวคร่าว ๆ เมื่อประเทศไม่สงบและคนมีแนวคิดแตกต่างที่แตกแยก ก็ยากที่ฟุตบอลของ มาซิโดเนีย จะมีคุณภาพได้ พวกเขาเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกของ ฟีฟ่า เมื่อปี 1994 ก่อนที่ในปี 2018 มาซิโดเนีย ได้เจรจาหาข้อยุติกรณีพิพาทกับ กรีซ ที่มีปัญหาเรื่อง "ชื่อ" มาอย่างยาวนาน ก่อนได้ข้อสรุปที่ทำให้ มาซิโดเนีย เปลี่ยนชื่อเป็น นอร์ทมาซิโดเนีย เช่นทุกวันนี้

ประเทศไม่ดี ฟุตบอลลีกไม่แข็งแรง ไม่ได้มีการวางระบบฟุตบอลตั้งแต่รากฐานจากเยาวชน นั่นคือสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ นอร์ทมาซิโดเนีย ไม่ได้มีทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งพอเป็นหน้าเป็นตา 

พวกเขามีทรัพยากรที่ดี เพราะขีดจำกัดของสายเลือด เนื่องด้วยประชากรในประเทศก็มาจากประเทศที่เล่นฟุตบอลเก่งอย่าง ยูโกสลาเวีย ทว่า การไม่ได้รับการฟูมฟักอย่างถูกวิธี ไม่มีระบบเยาวชนที่ต่อยอดให้เด็ก ๆ ที่มีพื้นฐานได้มีเส้นทางให้ไปต่อในโลกลูกหนัง นั่นแหละคือประเด็นใหญ่ที่สุดที่ทำให้ภาพรวมออกมาดูไม่มีคุณภาพดังที่ควรจะเป็น สิ่งที่ยืนยันได้คืออันดับโลก ที่ไม่เคยอยู่เกินอันดับ 150 เลยตลอดช่วงยุค 2000s ถึงปี 2010s

ส่วนนักเตะที่หนีออกจากระบบฟุตบอลที่ค่อนข้างล้าหลังนั้นได้ จะต้องเป็นนักเตะที่มีความพยายามในการถีบตัวสูงมาก เขาคนนั้นจะต้องเป็นคนที่ไม่ว่าจะเจออุปสรรคและยากลำบากขนาดไหนก็จะต้องพยายามเอาตัวเองออกจากจุดนั้นให้ได้ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ... นั่นแหละคือสิ่งอยู่ในสมองฝังหัว โกรัน ปานเดฟ มาตลอด สิ่งเดียวที่เขาต้องการ คือการเบ่งบานภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย และเขาเอาจริงตั้งแต่วันที่เริ่มคิดจะเป็นนักฟุตบอลแล้ว

เฉิดฉายภายใต้สงคราม 

"ความรัก" คือความรู้สึกที่ทรงพลังที่สุดสำหรับมนุษย์ สำหรับ โกรัน ปานเดฟ "ความรักจากครอบครัว" ถีบเขาได้แรงที่สุดแล้ว ...

ปานเดฟ เป็นคนที่มีครอบครัวตั้งแต่วัยรุ่น เขาคบผู้หญิงที่ชื่อว่า นาดิกา ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทีนเอจ แม้จะอายุน้อยแต่นี่ไม่ใช่ปั๊ปปี้เลิฟ เขาต้องการจะสร้างครอบครัวที่อบอุ่นร่วมกับเธอ โดยใช้ฟุตบอล ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารักที่สุดและเป็นสิ่งเดียวที่เขาคิดว่า "เขามีดีพอ" 

"ผมคบกับ นาดิกา มาตั้งแต่ยังเด็ก และความรักมีบทบาทสำคัญมากกับชีวิตของผม เป็นความรู้สึกอันทรงพลังที่ส่งผมมาอยู่จุดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้" โกรัน ปาเดฟ กล่าวเริ่ม 

"ความรักช่วยทำให้ผมอยากเป็นคนที่มั่นคง กลายเป็นคนมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องการสรางครอบครัว ทุกครั้งที่เจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบากกับอาชีพนักฟุตบอล ก็มีแต่หน้าครอบครัวนี่แหละที่ทำให้ผมอยากจะเอาชนะเรื่องเหล่านั้น ผมไม่เคยคิดทำเรื่องอื้อฉาวให้อาชีพนักฟุตบอลของผมต้องล้มเหลวเลยแม้แต่ครั้งเดียว"

 

ชีวิตนักเตะของ ปานเดฟ นั้นไม่สวยหรูนัก เขาเล่นให้กับทีม FK Belasica ซึ่งเป็นทีมท้องถิ่น เขาแทบไม่ได้เงินค่าเหนื่อยเพียงพอกับค่าใช้จ่ายเลย ซึ่งในช่วงที่ ปานเดฟ กำลังขึ้นรุ่นนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวที่มาซิโดเนียมีสงครามกลางเมืองอีกต่างหาก 

สิ่งเดียวที่ทำให้ ปานเดฟ ต่างจากนักเตะมาซิโดเนียคนอื่น ๆ คือเขาพยายามหนักมาก เพราะเชื่อว่าฟุตบอลจะพาเขาออกไปจากประเทศนี้ จนกระทั่งอายุ 18 ปี อินเตอร์ มิลาน ก็มอบสัญญาให้กับเขา 

หากถามว่าทำไม อินเตอร์ จึงเลือกเขาได้ ทั้ง ๆ ที่เล่นในประเทศเล็ก ๆ และไม่ได้เก่งฟุตบอลอะไร สาเหตุนั้นคงต้องบอกว่าเป็นเพราะในประเทศอิตาลี มีชาวมาซิโดเนียอพยพเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเรื่องราวของนักเตะดาวรุ่งที่เก่งที่สุดในประเทศ มาซิโดเนีย จึงเป็นที่เล่าขานในอิตาลี และนั่นคือสาเหตุที่ อินเตอร์ กล้าซื้อและกล้าเสี่ยงกับนักเตะจากมาซิโดเนีย อย่าง ปานเดฟ 

แม้จะเป็นสัญญาสำหรับการเล่นให้กับทีมระดับเยาวชนของ อินเตอร์ ทว่านี่คือก้าวแรกสู่สังเวียนของ ปานเดฟ อย่างแท้จริง เขาไม่กลัวว่าไปแล้วจะต้องล้มเหลวซมซานกลับมา แต่เขาคิดเสียว่าเป็นการออกไปล่าคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้ตัวเองและครอบครัว ดังนั้นงานนี้ "ลุยอย่างเดียว" 

 

อินเตอร์ ปล่อยตัว ปานเดฟ ไปให้ทีมระดับล่าง ๆ ใน อิตาลี ยืมตัว ก่อนที่หลังจากนั้น 1 ปี เขาจะถูกส่งให้กับ อันคอน่า ทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นมา เซเรีย อา ไปใช้งาน แต่ฤดูกาลนั้น (2003-04) เป็นปีที่ล้มเหลวอย่างมากของทั้ง ปานเดฟ และต้นสังกัดของเขา

"ผมโดนส่งยืมตัวไปทั่ว แต่ผมไม่เคยเสียใจ การได้ย้ายออกมาเจอกับฟุตบอลในประเทศอย่างอิตาลีคือความฝัน และผมเชื่อว่าต่อให้ผมจะต้องย้ายสังกัดทุกตลาดซื้อขาย สักวันผมต้องกลายเป็นนักเตะทีม อินเตอร์ ชุดใหญ่ให้ได้ ผมไม่ยอดแพ้ ผมบอกตัวเองว่าผมไม่มีแต้มต่ออะไรนอกจากการทำงานหนักเท่านั้น ทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตนักฟุตบอลของผมประสบความสำเร็จ" ปานเดฟ กล่าว และหลังจากนั้นเส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่ของเขาก็เริ่มขึ้น

โตในอิตาลี และเดอะแบกของมาซิโดเนีย

ปานเดฟ ไม่ได้ประสบความสำเร็จกับ อินเตอร์ ในทีแรก เขาขึ้นชุดใหญ่ไม่ได้ และถูกส่งให้ ลาซิโอ ด้วยราคาแค่ 500 ยูโร (ราว 18,000 บาท) เท่านั้น ทว่าช่วงเวลากับ ลาซิโอ นั้นเป็นเหมือนการเกิดใหม่ของเขาเลยก็ว่าได้ 

ลาซิโอ เป็นทีมที่มีปัญหาการเงิน พวกเขาขายนักเตะดัง ๆ ของทีมออกไปในทุกซีซั่น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ลาซิโอ จึงมีที่ว่างให้กับนักเตะโนเนมจากมาซิโดเนียอย่างเขา และเมื่อ ปานเดฟ ได้ลงสนามเ ขาไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง กองหน้าที่มีเทคนิคดี ไม่เคยเกี่ยงเรื่องการไล่บอล และเข้าใจจังหวะของเกม ทำให้เขากลายเป็นตัวหลักของ ลาซิโอ ภายในเวลาอันรวดเร็ว

 

"โค้ช เดลิโอ รอสซี่ (ลาซิโอ) เป็นโค้ชที่ให้อะไรกับผมเยอะมาก เขาเป็นคนที่สนับสนุนผม คอยแนะนำว่าตำแหน่งกองหน้า 'ตัวรอง' ในแบบที่ผมเป็นควรทำแบบไหนทีมจึงจะได้ประโยชน์ที่สุด" 

"ตอนนั้นผมเล่นร่วมกับ ตอมมาโซ่ ร็อคคี่ (กองหน้าวัยที่อยู่ในช่วงบั้นปลายอาชีพค้าแข้ง) ผมทำงานหนักมากเพื่อจะยืนเป็นกองหน้าคู่กับเขา ผมเปิดใจ และเขาเปิดรับ จากนั้นเรากลายเป็นพาร์ทเนอร์ที่เข้าขารู้ใจกันเป็นอย่างดี ชนิดมองตาก็รู้ใจ" ปานเดฟ ที่พาทีม ลาซิโอ คว้าแชมป์ โคปปา อิตาเลีย ในปี 2009 กล่าวอย่างภาคภูมิใจ 

และความสำเร็จนั้นเองที่ทำให้ อินเตอร์ มิลาน กลับมาสนใจเขาอีกครั้ง อินเตอร์ ใช้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของร่วม ดึงตัว ปานเดฟ เข้ามาเป็นสมาชิกของทีมในฤดูกาล 2009-10 ณ เวลานั้น มี โชเซ่ มูรินโญ่ เป็นเฮดโค้ช และการย้ายทีมครั้งนี้ ปานเดฟ จะต้องทำหน้าที่ที่ตัวเองถนัดที่สุดคือการเป็นกองหน้าตัวรอง ที่ทำงานหนักเพื่อให้ตัวรุกคนอื่นๆ เล่นง่ายและได้ประโยชน์กับทีมที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเพื่อนร่วมแนวรุกของเขาอย่าง กาเบรียล มิลิโต้ และ ซามูเอล เอโต้ ยิงกันระเบิดเถิดเทิงในปีนั้น 

ปีแรกกับ อินเตอร์ ปานเดฟ กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ในทีมชุดที่ดีที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร อินเตอร์ คว้า 3 แชมป์ (แชมป์เซเรีย อา, แชมป์ โคปปา อิตาเลีย และ แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก) หลังจากนั้นไม่มีใครไม่รู้จักเขาอีกแล้ว โกรัน ปานเดฟ ดังไปทั่วโลก และแน่นอนเขาคือความหวังสูงสุดเมื่อต้องลงเล่นในนามทีมชาติมาซิโดเนีย 

ปานเดฟ ไม่เคยรู้สึกเสียใจที่ไม่ประสบความสำเร็จในนามทีมชาติ เพราะเขารู้ดีถึงข้อจำกัดนั้น ประเทศของเขาไม่ได้มีการสนับสนุน และมีทรัพยกรที่ดีมากพอ ดังนั้นเมื่อได้ลง เขาต้องกลายเป็นผู้นำของน้อง ๆ และพยายามที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่าประเทศนี้ต้องการนักเตะแบบเขาเพิ่มอีก ไม่เช่นนั้น มาซิโดเนียจะไม่ก้าวหน้าไปไหนได้เลย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความพยายามแบบสุดชีวิต ปานเดฟ ก็ต้องรู้สึกผิดหวัง เพราะไม่ว่าเขาและนักเตะในทีมจะมุ่งมั่นขนาดไหน แต่ปัญหาระดับโครงสร้างนั้นใหญ่เกินกว่าที่นักฟุตบอลตัวเล็ก ๆ จะซ่อมแซมได้ มาซิโดเนีย มีปัญหาภายในสมาคม การแบ่งเป็นสองขั้ว การเปลี่ยนโค้ชเพราะผลประโยชน์ ซี่งที่สุดแล้ว ปานเดฟ ก็ประกาศยอมแพ้ ... เขาจะไม่เล่นให้ทีมชาติต่อไป

ยอมแพ้ไปแล้วแท้ ๆ ... 

"ผมยอมแพ้ ... ในปี 2013 หลายสิ่งเข้ามาในหัวและความคิดของผมบอกให้ผมยอมแพ้ ประกาศเลิกเล่นทีมชาติไปเสียดีกว่า" ปานเดฟ กล่าวเริ่ม

"ผมรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น (ความขัดแย้งไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม) ครอบครัวผมก็เห็นด้วย ผมพยายามมามากแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นมันดูจะผิดไปหมด มีผู้เล่นหลายคนที่โดนตัดออกจากทีม มีผู้เล่นหลายคนที่ถูกเรียกเข้ามาติดแบบหาเหตุผลไม่ได้ เฮดโค้ชของเราเปลี่ยนตัวเป็นว่าเล่น สภาพการทำงานของเราจัดว่าเลวร้ายเลย ณ เวลานั้น"

"เราไม่ประสบความสำเร็จ และไม่มีวันเลยถ้ามันยังเป็นแบบนี้อยู่ ผมพยายามแล้ว แต่ความคิดผมมันบอกว่า เราก็ทำได้แค่นี้แหละ อยากจะช่วยแค่ไหนแต่มันก็ไม่มีทางที่จะดีไปกว่าที่เป็นอยู่ได้เลย" 

ในปี 2013 ชาวมาซิโดเนีย เรียกร้องให้ ปานเดฟ เปลี่ยนใจ แต่เขาเลือกแล้ว ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทีมชาติ เขาไม่มีวันกลับคำ จนกระทั่งอีก 2 ปีให้ หลังความหวังของ ปานเดฟ ก็ถือกำเนิดใหม่เป็นครั้งที่ 2 โดยโค้ชที่ชื่อว่า อิกอร์ อังเจลอฟสกี้ และโค้ชคนนี้แหละ เข้าใจว่าภายใต้การเลิกเล่นทีมชาติของ ปานเดฟ นั้นเขารู้สึกอย่างไร และต้องทำแบบไหนให้เขากลับมาช่วยทีมอีกครั้ง

"อิกอร์ อังเจลอฟสกี้ เข้ามาเป็นเฮดโค้ชของทีมชาติ ทันทีที่เขาได้งาน เขาเดินทางมาหาผมที่สโมสร เจนัว เขาบอกทุกอย่างที่ผมอยากได้ยิน แผนการในอนาคตของทีมชาติ การเปลี่ยนแปลงภายในที่ไม่มีการแตกคอเป็นสองฝั่ง เขาเปิดเผยทุกอย่างที่เขารู้ เขาขอจากผมเพียงอย่างเดียว นั่นคือเขาต้องการให้ผมกลับไปสวมเสื้อทีมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ตัวนั้นอีกครั้ง" ปานเดฟ เล่าถึงเหตุการณ์นั้น ก่อนที่เขาจะตอบตกลง 

ปานเดฟ กลับมามีหวังอีกครั้งในยุคใหม่ นักเตะของมาซิโดเนียหลายคนแจ้งเกิดและยังอายุน้อย อาทิ เอนิส บาร์ดี้ จาก เลบานเต้, จานนี่ อลิออสกี้ จาก ลีดส์ และ เอลิฟ เอลมาส จาก นาโปลี .. ปานเดฟ เห็นในความสามารถและต้องการประคองเด็ก ๆ พวกนั้น ถ่ายทอดประสบการณ์และบอกว่าสักวันหนึ่ง มาซิโดเนียจะต้องมีประวัติศาสตร์ด้านฟุตบอลเป็นของตัวเอง และพวกเขาทุกคนได้รับการยืนยันจาก อังเจลอฟสกี้ ว่าความสำเร็จ "อยู่ไม่ไกล" 

ความหวังใหม่จากทั้งเพื่อนนักเตะและโค้ช ทำให้ ปานเดฟ กลับมาเป็นหนุ่มอีกครั้ง เขามองย้อนกลับมาดูตัวเองในวันที่เขายังเป็นนักเตะดาวรุ่ง มันต่างจากตอนนี้เยอะเลยทีเดียว ตอนที่ ปานเดฟ ยังเป็นทีนเอจ เขาไม่ได้มีเพื่อนร่วมทีมที่ดี ไม่ได้มีรุ่นพี่ที่คอยแนะนำ แถมยังมีโค้ชที่ไม่ได้ทุ่มทั้งใจอีกต่างหาก ดังนั้นนี่คือทีมในฝันของเขา แม้มันจะมาช้าสักหน่อย แต่เขาพร้อมจะทุ่มสุดตัวเองครั้ง และเขาแสดงให้ทุกคนเห็นผ่านฟอร์มการเล่นในสนาม รวมถึงการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในสายตาองน้อง ๆ ด้วย

"โกรัน ปานเดฟ เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของทีมชุดนี้ เขาคือนักเตะที่เก่งกาจที่สุดที่เรามีตลอดกาล นักเตะในทีมเคารพและให้เกียรติเขามาก เขาแสดงออกถึงความเป็นผู้นำเสมอ เขาเป็นที่รักของเพื่อนร่วมทีม เป็นนักเตะที่โค้ชกล้าฝากความหวัง เขาเข้าใจฟุตบอล ... ทุกอย่างที่ มาซิโดเนีย ต้องการ คือทุกสิ่งที่ ปานเดฟ มี" ดาร์โก้ ปานเซฟ สตาฟฟ์โค้ชของทีมว่าไว้

สู่ฝันที่รอคอย 

หลังจากเคยประกาศเลิกเล่นตั้งแต่ปี 2013 ปานเดฟ ไม่เคยมีความคิดนั้นอีกเลยเมื่อบรรยากาศในทีมที่ดีขึ้น เขาพยายามช่วยผลักดันฟุตบอลมาซิโดเนียตั้งแต่รากฐาน ด้วยการสร้างอคาเดมีในกรุงสคอปเย่ เมืองหลวงของประเทศ เขาจ่ายเงินไปจำนวนมาก เพื่อหวังให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาเก่งยิ่งกว่าเขา นอกจากนี้ ปานเดฟ ยังมีส่วนผลักดันในการสร้างลีกอาชีพในประเทศนอร์ทมาซิโดเนีย หลังจากมีการเปลี่ยนชื่อประเทศอีกด้วย 

"ผมพยายามทุ่มเททุกอย่างเท่าที่จะทำได้ให้กับ มาซิโดเนีย ผมอยากให้เรามีช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ มีสโมสรฟุตบอล มีศูนย์กีฬาดี ๆ ... เราหวังพึ่งใครไม่ได้หรอกนะ ผมรู้ว่าการแข่งขันใหญ่ ๆ มันยากจะมาจัดแข่งที่ มาซิโดเนีย ดังนั้นทุกคนในประเทศต้องช่วยกัน ผมพยายามติดต่อกับทุกคน ทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่ผมและทีมงานอคาเดมีของผมทำนั้นมันกำลังไปถูกทาง" 

บางทีเขาอาจจะไม่ได้หวังว่าตัวเองในบั้นปลายอาชีพจะได้เก็บเกี่ยวความสำเร็จนั้น แต่สิ่งที่ยืนยันว่า นอร์ทมาซิโดเนีย ไปกันถูกทางก็คือ พวกเขาสามารถเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นทีมชาติที่อันตรายสำหรับคู่แข่งได้แล้ว 

บอลของ นอร์ทมาซิโดเนีย เป็นบอลสายเกมรับอดทน ตั้งรับเอาไว้ สวนกลับอย่างรวดเร็ว โดยมี ปานเดฟ เป็นศูนย์กลางขึ้นเกมรุก เขาพบว่าตัวเองเล่นง่ายขึ้นมากเมื่อรอบตัวมีนักเตะที่มีคุณภาพที่สุดตลอดการเล่นให้กับทีมชาติของเขา 

ไม่ใช่แค่ในแง่วิธีการ แต่ผลลัพธ์ก็เช่นกัน นอร์ทมาซิโดเนีย ลงเล่นใน ยูโร 2020 รอบคัดเลือกด้วยฟอร์มที่ดีที่สุด พวกเขากลายเป็นทีมแพ้ยาก แม้ถูกเก็งว่าจะตกรอบหลังจากอยู่ร่วมสายกับ โปแลนด์, ออสเตรีย, สโลวีเนีย, อิสราเอล และ ลัตเวีย ทว่าตลอดการแข่งขันรอบคัดเลือก นอร์ทมาซิโดเนีย ก็แสดงความมุ่งมั่นในทุก ๆ เกม พวกเขาตีคู่มากับ สโลวีเนีย ในการชิงอันดับ 3 ของกลุ่มเพื่อเพลย์ออฟ จนกระทั่งนัดสุดท้าย 

แต่การเดินทางยังไม่จบ เพราะบันไดอีกขั้นที่รออยู่คือการเล่นรอบเพลย์ออฟกับ จอร์เจีย ... ซึ่งในเกมนั้นถือเป็นเกมที่สำคัญที่สุดในชีวิตค้าแข้งของ ปานเดฟ เลยก็ว่าได้ เพราะหาก นอร์ทมาซิโดเนีย แพ้ตกรอบ เขาตั้งใจแล้วว่า ตัวของเขาในวัย 37 ปี คงถึงเวลาวางมือและส่งมอบความฝันให้รุ่นน้องในทีมแทน 

"นี่คือเกมแห่งอารมณ์ ผมเดินลงสนามด้วยความตื่นเต้นแบบที่ไม่เคยมี สำหรับผมแล้ว ผมกลัวว่านี่จะเป็นเกมสุดท้ายในนามทีมชาติ" ปานเดฟ อธิบาย 

ในเกมที่ ทลิบิซี่ ทุกอย่างส่งให้ ปานเดฟ กลายเป็นพระเอก ... เขาลงมาและยิงประตูชัยพาทีมเข้ารอบสุดท้ายได้สำเร็จ ช่วงเวลาที่เขาส่งบอลเข้าประตู แฟนบอลที่ประเทศ นอร์ทมาซิโดเนีย โห่ร้องและกระโดดจนแผ่นดินขย่ม นักเตะทุกคนในสนามวิ่งมากอดเขาและตะโกนใส่กล้องถ่ายทอดสดราวกับคนขาดสติ นั่นคือช่วงเวลาแห่งความสะใจ ... และที่สุดคือความภูมิใจที่ได้พยายามจนขีดสุดจนกระทั่งบรรลุความฝันที่รอคอย 

"นี่คือประตูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม เพราะมันคือประตูสั่งตายที่ทำให้เราได้ไปแข่งขันในรายการระดับเมเจอร์เป็นครั้งแรก เราไม่เคยใกล้เคียงเรื่องแบบนี้มาก่อน ย้อนกลับไป 5 ปีก่อน เรายังอยู่ในอันดับที่ 162 ของโลกอยู่เลย" ปานเดฟ กล่าวหลังเกม 

"อารมณ์ของผมพุ่งพล่านเหมือนกับคนอื่น ๆ เรามีเกมที่ดีที่สุด เราสามัคคีและเป็นหนึ่งเดียวกันจนเสียงนกหวีดยาวดังขึ้น ... เราชนะแล้ว ชนะเพื่อผู้คนในประเทศของเราทุกคน ไม่ต้องรออีกต่อไป ความฝันของเราเป็นจริงในท้ายที่สุด"

ณ ตอนนี้ ปานเดฟ กำลังอยู่ในภารกิจ The Last Dance ของเขาแล้ว ... เขาเชื่อว่าหลังจบ ยูโร 2020 รอบสุดท้าย ประตูทีมชาติของเขาก็จะปิดลง และเป็นหน้าที่ของน้อง ๆ ทุกคนที่เขาเชื่อใจว่า จะต้องทำได้ดีกว่าที่เขาเคยทำเอาไว้อย่างแน่นอน 

"ผมภูมิใจกับสิ่งที่ผมทำจนกระทั่งถึงวันนี้ ภารกิจสุดท้ายและความฝันอีกขั้นที่ผมต้องการ คือหวังว่าเราจะชนะใครบ้างในการแข่งขันยูโรครั้งนี้ ... เรามันม้านอกสายตา และการเป็นม้านอกสายตาคือพวกเขาจะประมาทเรา เราจะออกไปซ่าและสร้างความตื่นตระหนกให้กับทีมร่วมสาย พวกเขาจะได้รู้จักว่าฟุตบอลของ นอร์ทมาซิโดเนีย เป็นเช่นไร" 

ในการแข่งขัน ยูโร 2020 รอบสุดท้าย นอร์ทมาซิโดเนีย จะอยู่ร่วมสายกับ เนเธอร์แลนด์, ยูเครน และ ออสเตรีย ... อันดับ 1 และ 2 จะเข้ารอบอัตโนมัติ ส่วนอันดับที่ 3 จะได้เพลย์ออฟเพื่อเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย นี่คือสิ่งที่ ปานเดฟ หวังว่าเขาจะสร้างประวัติศาสตร์ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ... 

ช่วงเวลาที่ต้องหนีจากสงครามไปยังต่างประเทศ การลงเล่นท่ามกลางคุณภาพทีมที่ย่ำแย่ การบริหารที่ทำให้ทีมล้าหลังจนแทบถอดใจ ... ที่สุดแล้ว โกรัน ปานเดฟ ยังคงเป็นคนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คนที่เชื่อว่าฟุตบอลจะเปลี่ยนให้เขาเป็นชายผู้ยิ่งใหญ่ .... เขาทำเร็จยิ่งกว่าเป้านั้นด้วยซ้ำ เขาไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จในอาชีพ แต่เขาจะเป็นตำนานที่สร้างแรงบันดาลใจไม่รู้จบให้กับนักเตะ นอร์ทมาซิโดเนีย รุ่นหลัง ... 

ยูโร 2020 ภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่เข้าร่วม แม้ไม่ถึงแชมป์ แต่ก็นับว่าเป็นการเดินทางที่มาไกลเกินกว่าที่ใครหวังไว้อย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook