ยิ่งใหญ่ หรือ ทรมาน? : วาระสุดท้ายในการต่อสู้กับโรคพาร์คินสันของ "มูฮัมหมัด อาลี"

ยิ่งใหญ่ หรือ ทรมาน? : วาระสุดท้ายในการต่อสู้กับโรคพาร์คินสันของ "มูฮัมหมัด อาลี"

ยิ่งใหญ่ หรือ ทรมาน? : วาระสุดท้ายในการต่อสู้กับโรคพาร์คินสันของ "มูฮัมหมัด อาลี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคำถามคลาสสิกหนึ่งคำถาม ... คำถามที่ว่านั้นคือ การที่มนุษย์เรายอมลงแรงทุ่มชีวิตไปกับการทำงานเพื่อแลกกับความสำเร็จและเงินทองนั้น มันคุ้มกันไหมกับร่างกายที่เสียไปและโรคภัยที่ตามมา ? 

นึกภาพเล่น ๆ หากคุณเป็น มูฮัมหมัด อาลี ชายผู้เดินไปทางไหนก็พร้อมจะมีผู้คนก้มหัวซูฮก สุดยอดนักชก, ยอดคน, เอ็นเตอร์เทนเนอร์, นักสร้างแรงบันดาลใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ คุณจะยอมรับคำเยินยอ เงินทอง และอิทธิพลนั้นหรือไม่ หากรู้ว่าบั้นปลายของอาลีต้องพบเจอกับอะไรบ้าง ?

นี่คือเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ในวันที่อาลีต้องเผชิญกับโรคพาร์คินสันจนแม้แต่แค่เดินยังทำแทบไม่ได้

เกิดอะไรขึ้นบ้าง และเขาจะตอบอย่างไรกับคำถามคลาสสิกนั้น ? เขาจะยอมแลกหรือไม่หากย้อนเวลากลับไปได้ ?

ติดตามที่ Main Stand

เก่งจนสนุก ... 

มูฮัมหมัด อาลี ไม่ใช่แค่นักมวย แต่เขาคือยอดเอ็นเตอร์เทนเนอร์ตัวจริง ไม่มีใครไม่สนุกและตื่นเต้นหากว่ามีโอกาสได้ดูอาลีขึ้นชก เหตุผลก็เพราะว่า อาลีนั้นเป็นนักมวยที่แตกต่าง เขาอาจจะไม่ใช่พวกเดินหน้าเต็มสูบไล่ชกคู่แข่งแบบไม่ได้หายใจหายคอ แต่เขาเป็น "มวยเชิง" หรือที่ภาษามวยที่เรียกกันว่า "มวยบ็อกเซอร์" แต่บ็อกเซอร์ในแบบของอาลีนั้นแปลกประหลาดกว่าใคร เพราะในช่วงที่เขากำลังรุ่งสุดขีด เขาเป็นมวยประเภทดักชก โดยที่ตัวเองไม่ยอม "ตั้งการ์ด"


Photo : toledoblade.com

เพราะการ์ดเปรียบได้กับโล่กำบังของนักรบ ยิ่งการ์ดดี ตัวของนักชกคนนั้นก็จะกลายเป็นเป้าที่เล็กลงสำหรับนักชกตรงข้าม และเมื่อกลายเป็นเป้าเล็ก พวกเขาก็จะโดนชกยากขึ้น เรื่องมันง่าย ๆ แบบนั้น นักมวยสายบ็อกเซอร์ส่วนใหญ่จึงมีการ์ดเป็นอาวุธหลัก ปล่อยคู่แข่งชกก่อน หลังจากติดการ์ด พวกเขาก็ชกสวน ... นั่นแหละคือสิ่งที่เบสิคสำหรับนักมวยสายนี้

 

อย่างไรก็ตาม การดักชกของอาลี ไม่ใช้การ์ด แต่ใช้สิ่งที่เรียกว่า "ฟุตเวิร์ก" หรือสเต็ปเท้านั่นเอง อาลีถือเป็นโคตรมวยสเต็ปเท้าขั้นเทพ ฟุตเวิร์กของเขานั้นมีรอบจัดมาก สามารถเปลี่ยนจากเร็วเป็นช้าได้ง่าย ๆ เปลี่ยนจากจังหวะชกเป็นจังหวะถอยได้อย่างรวดเร็ว 

อีกทั้งสายตาของอาลี ไวอย่างกับเหยี่ยว สมกับฉายา "พริ้วเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง" โดยแท้จริง เพราะถ้าหมัดของคู่ชกไม่เร็วจริง ไม่คมจริง ก็ยากที่จะต่อย อาลี ให้เข้าเป้าได้ ดังนั้นอาลีจึงใช้ความเทพนี้โยกหลอกคู่ชกให้หาเขาไม่เจอ จนกลายเป็นที่สนุกนานของคนดูเสมอ ยิ่งประกอบกับสไตล์การแทรชทอล์ก ที่ล้อเลียนเก่ง และช่างพูดช่างเปรียบเทียบ จึงทำให้นักชกคู่แข่งหลายคนสติแตกไล่ชกอาลีจนหมดแรงไปเอง (เพราะชกไม่โดน) นั่นเอง 


Photo : irishtimes.com

นี่คือสิ่งที่ทำให้อาลีได้เข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตมากมายจนคร้านจะนับนิ้ว ... หลายคนอาจจะจำเข็มขัดแชมป์ของเขาไม่ได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่าหากใครได้ดูอาลีสักครั้ง พวกเขาจะจำสไตล์ของอาลีแบบไม่มีวันลืมเลยทีเดียว นี่คือนักมวยที่ชกได้สนุกที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกเคยมี

ทว่าเมื่อเวลาเดินไปข้างหน้า สังขารของคนเราก็ย่อมไม่เที่ยง กรรมใดที่เคยทำ กรรมนั้นก็เริ่มผลิดอกออกผล ซึ่งการชกแบบไม่ตั้งการ์ดและชอบใช้การเปิดหน้า ยั่วให้คู่ชกต่อยที่ว่ากันว่าเทพนักเทพหนานี้นี่เอง ที่ทำให้อาลีต้องพบเจอกับสิ่งที่เขาไม่เคยเตรียมการมาก่อน นั่นคือโรคพาร์คินสัน โรคร้ายที่อยู่กับเขานานยิ่งกว่าเข็มขัดแชมป์โลกที่ทุกคนชื่นชมเสียอีก

ส่งผลอย่างไม่น่าเชื่อ ... 

โรคร้ายอย่าง พาร์คินสัน เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของสมอง สาเหตุของโรคนี้เกิดขึ้นจากเซลส์สมองตาย ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจึงมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวผิดปกติ และส่วนใหญ่แล้ว กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคพาร์คินสัน ผู้ป่วยก็มักจะมีอายุราว 65 ปีขึ้นไปแล้ว


Photo : smh.com.au

กลับมาที่เรื่องของ มูฮัมหมัด อาลี กันอีกสักครั้ง เพราะที่สุดแล้วไม่ว่าจะหลบเก่งแค่ไหน สักวันก็ต้องมีวันพลาด อาลีเองก็เช่นกัน ฟุตเวิร์กและสายตาดีแค่ไหน แต่ก็มีไม่น้อยที่เขาโดนชกหน้าเต็ม ๆ แต่ภาพของเขาลงไปนอนนับ 10 นั้นหาได้ยาก เนื่องจากเขาเป็นคนที่เก็บอาการเก่งมากจนหลายคนแทบไม่รู้สึกว่าเขาเจ็บปวด

ในปี 1974 อาลีขึ้นชกกับ จอร์จ โฟร์แมน ที่กรุงคินซาช่า ประเทศซาอีร์ (ดีอาร์ คองโก ในปัจจุบัน) ไฟต์ที่ได้ชื่อว่า "The Rumble in the Jungle" นี้ชัดที่สุดแล้ว เพราะอาลีโดนหมัดของโฟร์แมนกระแทกหน้าแบบจัง ๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง แต่เขาก็ไม่ยอมล้มลงกับพื้นเสียที กลับกลายเป็นอาลี ที่ทนหมัดจนพลิกกลับมาน็อคโฟร์แมนได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากไฟต์นั้นจบ โฟร์แมนก็เคยให้สัมภาษณ์ถึงความตื่นตะลึงครั้งนั้นว่า

 


Photo : newsday.com

“ผมต่อยเขาเข้าที่กรามแบบจัง ๆ แล้วแท้ ๆ มันเป็นหมัดที่สมบูรณ์แบบ แต่คุณรู้ไหม เขาพูดอะไรหลังจากนั้น ... 'แกได้แค่นี้เองเหรอจอร์จ ?'" โฟร์แมน เล่าเรื่องนี้ในภายหลัง 

ไม่แพ้ ... แต่ส่งผลมาถึงอนาคต ต้องพูดแบบนั้นจึงจะถูกที่สุด อาลีกินหมัดมาตลอดชีวิต เขาอาจจะไม่แสดงออก และไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเจ็บปวดอะไร และไม่คิดว่ามันจะอันตรายด้วย 

ทว่ามีการสำรวจย้อนกลับไปในอดีต และลงเป็นบทความใน The Wall Street Journal ภายใต้ชื่อบทความว่า "การศึกษาพบว่า พาร์คินสันเล่นงานอาลีตั้งแต่ที่เขายังชกมวยอยู่ด้วยซ้ำ ... แต่พวกมันค่อย ๆ ส่งผลแบบเงียบ ๆ โดยที่เขาไม่รู้ตัว" 

การโดนชกไฟต์ละหมัดสองหมัด ตั้งแต่เป็นนักมวยอาชีพตอนอายุ 19 ปี สั่งสมความเจ็บปวดมาทีละนิดทีละนิดภายในร่างกายของอาลี การโดนชกที่หน้าหรือหัวนั้นถือเป็นการสร้างความเสียหายมายังสมองโดยตรง และอาลีไม่เคยรู้ว่า ยิ่งเขาชกมากไฟต์ขึ้นเท่าไหร่ พาร์คินสันก็เริ่มหาทางแสดงตัวตนออกมาเท่านั้น

 

อาลีเคยเป็นคนที่พูดเก่ง เมื่อไมโครโฟนอยู่กับปาก เขาจ้อได้ไม่มีหยุดและถูกใจทุกคนเสมอ แต่งานวิจัยพบว่าในช่วงที่อาลีอายุ 30 ปี เขามีอาการพูดช้าลงโดยที่เขาและคนรอบข้างไม่รู้ตัว ... สาเหตุที่งานวิจัยเริ่มจับถึงการพูดของอาลี ก็เพราะการพูดคือสัญญาณบ่งชี้แรก ๆ เกี่ยวกับความเสียหายของโรคระบบทางประสาท 


Photo : toledoblade.com

โดยในปี 1968 อาลีในช่วงวัยหนุ่มเคยพูดได้ 4.1 พยางค์ต่อวินาที ซึ่งนั่นอาจจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีเล็กน้อย แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่อันตราย ทว่าจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่เขาเริ่มดังและมีแมตช์ชกมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อีก 3 ปีให้หลัง ในปี 1971 อาลี พูดได้เพียง 3.8 พยางค์ต่อวินาทีเท่านั้น ... หากถามว่ามันผิดปกติขนาดไหน ? เอาเป็นว่าในผู้ใหญ่ระหว่างช่วงอายุ 25-40 ปีโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยความเร็วในการพูดในช่วงวัยนี้จะไม่ลดลงเลย หรือลดลงน้อยมาก แต่อาลีกลับพูดได้ช้าลงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกัน ถึง 26%

นั่นหมายความว่า พาร์คินสันกัดกินอาลีโดยที่เขาไม่รู้ตัว อาจจะเป็นตัวเขาเองที่มุทะลุและกระหายความยิ่งใหญ่ หรืออาจเพราะวิทยาการทางการแพทย์ที่ไม่สามารถเจาะลึกได้เหมือนทุกวันนี้ อาลี จึงเอาหน้าไปรับแรงกระแทกเพิ่มขึ้นทุก ๆ วันทั้งจากการซ้อมและการขึ้นชก ... มันทำให้เขามีฟุตเวิร์กและปฏิกิริยาการหลบหลีกที่ช้าลง เพียงแต่ว่าเขาเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนนั้น และยังคงเดินหน้าทำกิจวัตรเดิม ๆ ต่อไป ซึ่งที่สุดแล้วหลังจากแขวนนวมได้ไม่กี่ปี อาลีรู้สึกว่าตัวเองมีอาการตัวสั่น ชอบร้องผวาในขณะนอนหลับ หลังของเขาเริ่มค่อม ตัวของเขาเริ่มงุ้มลง 

และแล้วความจริงก็ปรากฏในปี 1984 มูฮัมหมัด อาลี ชายผู้ยิ่งใหญ่ ยอดนักชกประวัติศาสตร์ และ "แบล็คซูเปอร์แมน" ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์คินสัน โรคที่ว่ากันว่าทำได้แค่ประคับประคองอาการ แต่ไม่สามารถหายขาดได้ ... เมื่อนั้นเขาจึงรู้ว่าคู่ชกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเขาได้มายืนอยู่ต่อหน้าแล้ว

ไม่น่าเลยอาลี

"การไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ" มีคนบอกว่าประโยคนี้จะถูกตระหนักถึงก็ต่อเมื่อคน ๆ หนึ่งมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามานั่นแหละ ... และ อาลี ก็เป็นเช่นนั้น 


Photo : businessinsider.com

ยิ่งเขาตรวจเจอว่าตัวเองเป็นโรคพาร์คินสัน อาลีก็ต้องเริ่มสู้อีกครั้ง แม้จะเกษียณตัวเองออกจากการเป็นนักมวยแล้วก็ตาม เขาเดินหน้าพบหมอเก่ง ๆ ทั่วโลก และแพทย์หลายคนเชื่อว่าอาการของอาลีรักษายากมาก เนื่องจากเขาเคยผ่านหมัดมาเป็นพัน ๆ ครั้งตลอดชีวิตการทำงาน 

โรคร้ายเกาะกินเขาหนักขึ้นทุกวัน จากคนที่พูดเร็ว พูดเก่ง และคล่องตัว กลายเป็นคนที่พูดช้า สายตาเลือนราง หลังของเขาโค้งงอ ปากของเขาเบี้ยวผิดรูป วันหนึ่งที่เขาปรากฏตัวต่อหน้าสื่อ โลกทั้งใบไม่อยากจะเชื่อว่าชายที่เคยเก่งที่สุดในโลกจะมาอยู่ในสภาพนี้ 

แพทย์ที่รักษาอาการของเขาที่ชื่อว่า ดร.ซามูเอล โกลด์แมน ยอมรับโดยตรงว่าอาการของอาลีนั้นไม่มีทางรักษาได้เลย สิ่งหนึ่งที่ ดร.โกลด์แมน ว่าถึงอาการของอาลีคือ สมองของเขาสะสมแรงกระทบกระเทือนมามากจนเกินไป มีอาการบาดเจ็บที่หัวซ้ำ ๆ จนทำให้สมองเสื่อมโทรม และเซลล์ภายในตายไปเยอะเกินกว่าจะกู้คืนได้ 

การเป็นโรคพาร์คินสันของ มูฮัมหมัด อาลี สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมขึ้นมาทันที คนอเมริกันหลายคนเพิ่งรู้ความอันตรายของโรค ๆ นี้ ขณะที่วงการมวยโดยเฉพาะมวยสากลสมัครเล่น ก็มีการปรับกฎให้ใส่เฮดการ์ดขึ้นชกเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนที่สมอง ทุกคนต่างพูดเป็นคำเดียวกันว่า "อาลี ไม่ควรจะมาชกมวยเลย" บ้างก็บอกว่าจะมีประโยชน์อะไร หากความยิ่งใหญ่ที่เคยสร้างมากลับลงเอยด้วยการต่อสู้กับโรคร้ายอย่างทรมาน ... ความหมายโดยนัยคือ ถ้าอาลีแลกความสำเร็จตลอดอาชีพกับการไร้โรคภัยได้ เขาก็ควรทำ ชื่อเสียงไม่ได้มีค่ามากกว่าร่างกายที่แข็งแรง


Photo : mcall.com

"อาลีสร้างความเสียหายให้กับตัวเอง และเขาก็รู้ว่าตัวเองชกมวยนานเกินไป เขาเสียใจกับสิ่งนี้แน่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ณ เวลานั้นเขาไม่มีข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเหมือนในขณะนี้ ถ้ามีงานวิจัย เขาจะรู้ตัว่า คุณไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าคุณจะถึงวัยกลางคนเพื่อหยุดการเป็นนักมวยที่คุณภาคภูมิใจเลย" โจนาธาน อิก ผู้เขียนหนังเรื่อง Ali: A Life ว่าไว้เช่นนั้น

แต่ขอโทษที ... สำหรับ มูฮัมหมัด อาลี แล้ว แม้จะทรมานแค่ไหน เขาไม่เคยปริปากยอมแพ้ ไม่เคยกล่าวโทษคู่ชกในอดีต ไม่เคยยอมรับว่าสไตล์การชกของเขาคือสิ่งที่ผิดพลาด เพราะทุกอย่างที่เขาทำ และทุกสิ่งที่เขาเป็น คือสิ่งที่เขาภูมิใจ และความสำเร็จทุกสิ่งที่เคยคว้ามาจะอยู่ในความทรงจำของเขา แม้เขาจะเอ่ยปากเล่าให้ใครฟังไม่ได้ก็ตาม

แชมป์สุดท้าย

หลังจากได้รับการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วย ทีมแพทย์และคนใกล้ชิดไม่ได้ปล่อยให้อาลีได้ออกมาพูดคุยผ่านสื่อเท่าไหร่ เพราะไม่อยากใครเห็นสภาพที่เปลี่ยนไปของผู้ยิ่งใหญ่อย่างเขา


Photo : pbs.org

อย่างไรก็ตาม สำหรับอาลี เขาไม่เคยพูดเลยสักครั้งว่าเขาผิดหวังที่มวยทำให้ตัวเองเป็นเช่นนี้ เพราะมวยคือความภาคภูมิใจ และต่อให้เขาจะเป็นพาร์คินสัน มือไม้สั่นเทา พูดช้า และเดินเหินไม่สะดวก เขาก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจของประชาชนและแฟน ๆ ของเขาได้อยู่ดี 

นับตั้งแต่ป่วย อาลีใช้เงินส่วนตัวเป็นจำนวนมากในการบริจาคเข้าองค์กรการวิจัยเกี่ยวกับสมอง เขาสร้างศูนย์วิจัยเกี่ยวกับโรคพาร์คินสัน ที่ชื่อว่า มูฮัมหมัด อาลี พาร์คินสัน เซนเตอร์ ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งหมดที่เขาทำเพราะเขาต้องการให้ทุกคนตระหนักรู้และเข้าใจว่าโรคนี้เป็นเช่นไร ... เขาทรมานมาแล้ว และไม่ต้องการให้ใครทรมานเหมือนที่เขาเป็น 


Photo : dailyherald.com

"เขานำความสนใจและตื่นตัวมายังอเมริกันชนจำนวนมากเกี่ยวกับโรคพาร์คินสัน เรารู้สึกขอบคุณความเสียสละและการมองเห็นความสำคัญของงานวิจัย ที่เขามอบให้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยชุมชนของเรา และผู้คนได้อีกมากมายแน่นอน" เลสลี่ย์ แชมเบอร์ส ประธานศูนย์วิจัยพาร์คินสันแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าว

นอกจากนี้ อาลีไม่ได้อายที่จะปรากฏตัวต่อผู้คนเหมือนที่ใครหลายคนเข้าใจ โดยเฉพาะในการแข่งขันโอลิมปิกที่เมืองแอตแลนต้า ในปี 1996 ฝ่ายจัดได้เชิญอาลี ที่เดินก็แทบจะไม่ไหวมาเป็นผู้จุดคบเพลิงโอลิมปิก ซึ่งเขาเองตอบรับคำเชิญนี้อย่างเต็มใจ ... มันอาจจะยากลำบาก แต่เขาตั้งใจจะสื่อให้เห็นว่าเขายังคงเป็นนักสู้ขวัญใจมหาชนคนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง 

ในการจุดคบไฟครั้งนั้น อาลีเดินอย่างเชื่องช้า ตัวของเขาสั่นเทาตลอดทาง การจุดคบเพลิงที่ใครมองว่าง่าย คือวินาทีที่อาลีต้องรวบรวมกำลังสุดชีวิตเพื่อทำมัน อเมริกันชนทุกคนเฝ้ารอวินาทีประวัติศาสตร์อย่างจดจ่อ และหลังจากนั้นไม่นาน อาลีก็ทำสำเร็จ เขาจุดคบเพลิงโอลิมปิกพร้อมกับเสียงเชียร์ดังกระหึ่ม ราวกับเป็นการบอกว่า "อาลี คุณคือผู้ยิ่งใหญ่ของเราเสมอ" ของผู้ชมพิธีเปิดวันนั้น 


Photo : smh.com.au

"มันเป็นช่วงเวลาที่หาได้ยากที่สุด อึดอัดใจที่สุด และมีความสุขที่สุดในโอลิมปิก ความโศกเศร้าที่เขาแสดงออกมา นำไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครทำซ้ำได้ ... ไม่ว่าคุณจะดีใจหรือร้องไห้ แต่เชื่อเถอะว่าความยิ่งใหญ่ของ อาลี ได้ฝังรากไปยังอเมริกันทุกคนเรียบร้อยแล้ว" เคน โรเซนธาล คอลัมนิสต์ของ Baltimore Sun บรรยายบรรยากาศในวันนั้น 

นั่นอาจจะเป็นครั้งท้าย ๆ ที่อาลีปรากฏตัวกับสื่อและฝูงชนกลุ่มใหญ่ ทว่าเขาทำงานหนักอยู่เบื้องหลังเสมอ เขาพยายามสู้กับโรคร้าย มีชีวิตอยู่ต่อเพื่อส่งแรงบันดาลใจ รวมถึงสนับสนุนการช่วยเหลือผู้อื่น 

หลายคนที่ได้พบอาลี บอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า อาลียังเป็นคนเดิมเสมอ แม้ภายนอกจะดูเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม ออร่าความยิ่งใหญ่และความเป็นยอดคนไม่เคยจางหายไปไหนเลย

"ผมเคยได้ไปตรวจอาการของอาลี ตอนช่วงปี 90s ตอนที่เขากำลังสู้กับพาร์คินสันอย่างแข็งขัน เชื่อไหม เขาไม่ได้โอดครวญหรือเสียใจอะไรทั้งนั้น ผมนั่งลงและคุยกับเขา อาลียังคงสง่างาม เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ให้สู้กับมันเหมือนที่เขาทำ"

"อาลีมีความหวังเสมอ เขาเป็นคนแบบนั้น คนที่เฝ้ารอคืนวันที่ดีกว่า เขาไม่เคยยอมแพ้จนวินาทีสุดท้าย" คุณหมอ ฮอลลี่ ชิลล์ แพทย์ผู้ดูแลอาการของ อาลี กล่าวกับ The Guardian 


Photo : bostonglobe.com

สุดท้ายแล้ว อาลี ก็สู้กับโรคร้ายนี้มาถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2016 ด้วยวัยอันแก่ชราและโรคที่รุนแรงเกินกว่าร่างกายจะต้านทานไหว อาลีจากไปอย่างสงบ แต่ทุกสิ่งที่เขาทำ ยังคงถูกผู้คนจดจำได้เสมอเหมือนกับว่าเขายังคงเป็นเบอร์ 1 ของโลกไปตลอดกาล

"อาลีจากไปแล้ว แต่ผมไม่มีทางลืมสิ่งที่ผมสัญญากับเขา เราจะสานต่อภารกิจสู้โรคพาร์คินสัน ปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้คนต่อไป พวกเขาจะต้องเอาชนะโรคนี้ให้ได้" หมอฮอลลี่ กล่าวทิ้งท้าย และปัจจุบันเขาเป็นผู้ดูและศูนย์วิจัยโรคพาร์คินสันที่ชื่อว่า "มูฮัมหมัด อาลี" 


Photo : nbcnews.com

ไม่ว่าจะคิดเห็นเช่นไร แต่ปัจจุบันคือสิ่งที่มนุษย์เราควรเต็มที่กับสิ่งที่ตัวเองเลือกมากที่สุด อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็เป็นสิ่งยังมาไม่ถึง ... 

ปัจจุบันคือสิ่งเดียวที่มนุษย์จับต้องได้ และนั่นคือเหตุผลที่ มูฮัมหมัด อาลี ไม่ขอแลกเกียรติประวัติและความภาคภูมิของกับเขาสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น ... แม้สิ่งนั้นจะหมายถึงชีวิตที่ยืนยาวก็ตาม 

สำหรับ มูฮัมหมัด อาลี เขาเลือกที่จะยิ่งใหญ่และเป็นแชมป์โลกจนวินาทีสุดท้ายอย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook