สรุปในที่ประชุม! ส.บอล ชี้ปัจจัยส่งผล "ทีมชาติไทย" ล้มเหลวในการคัดบอลโลก
พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานของทีมฟุตบอลทีมชาติไทย โดยมี นายอนุรักษ์ ศรีเกิด รักษาการหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย และ อิสสระ ศรีทะโร ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย เข้าชี้แจงเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงาน ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมทีมงาน การคัดเลือกนักบอล การฝึกซ้อม ความเป็นอยู่ การเดินทาง ตลอดจนปัญหาอุปสรรค ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
โดยสาเหตุที่อาจจะส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากกลับจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพ้นจากการกักตัว 14 วัน ตามมาตรการของภาครัฐ ซึ่งทางทีมงานได้วิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นว่า
การพบติดเชื้อในแคมป์ ทำให้ต้องยุติการซ้อมในสนาม 14 วัน และแยกกักตัว
หลังจากมีการวางแผนเข้าแคมป์เตรียมทีมชาติในช่วงปลายเดือนเมษายน ในรอบที่ 1 และจะต้องเข้าแคมป์รอบที่ 2 ในวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งหากเป็นไปตามที่วางแผนการเก็บตัวแล้ว ทีมชาติไทยจะมีการเตรียมทีม 1 เดือนเต็ม ก่อนการแข่งขันแมตช์แรกของทัวนาเมนต์ ซึ่งเพียงพอต่อการเรียกความฟิตและวางแท็คติค แผนการเล่น
อย่างไรก็ตามเมื่อทีมงานได้รับทราบข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่และนักฟุตบอลมีผลตรวจพบเชื้อโควิดและต้องส่งเข้ารับการรักษาตัวทันที ทำให้คณะนักกีฬาทั้งหมด ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อความปลอดภัยสูงสุด และเพื่อให้ทีมชาติไทยยังสามารถเดินทางไปแข่งขันให้ได้ จึงต้องงดกิจกรรมการฝึกซ้อมในสนาม และแยกกักตัวให้ครบ 14 วัน รวมถึงแยกกลุ่มนักฟุตบอลที่ต้องเข้าสมทบออกไปอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งทำให้นักฟุตบอลไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามโปรแกรมเตรียมความพร้อมของร่างกายได้ตามที่กำหนดไว้
ปัญหาที่ไม่สามารถ ทำการฝึกซ้อมจนวันเดินทาง ตัดสินใจต้องนำนักฟุตบอลไปทุกคน
เมื่อไม่สามารถทำการฝึกซ้อมได้แล้ว ทำให้หัวหน้าผู้ฝึกสอนเห็นว่า ไม่สามารถตัดสินใจตัดตัวนักฟุตบอลได้โดยไม่ได้เห็นการฝึกซ้อมร่วมกันเลย ไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบสมรรถภาพความฟิต และมีโอกาสที่จะพบอาการบาดเจ็บได้ตลอดเวลา จึงให้พานักฟุตบอลทั้งหมดไปฝึกซ้อมที่ยูเออีทุกคน ซึ่งเป็นวันพ้นกำหนดการกักตัว ก็คือวันเดินทาง (วันที่ 21 พฤษภาคม 2564)
ความสมบูรณ์ของนักฟุตบอล
หลังจากเดินทางไปฝึกซ้อมในสนามได้ครั้งแรกที่ประเทศยูเออี พบว่ามีนักฟุตบอลที่เคยเป็นตัวหลักของทีมหลายคน ประสบปัญหาการบาดเจ็บรบกวน ได้รับการประเมินอาการจากแพทย์แล้วต้องทำการฟื้นฟู และใช้เวลา และอาจจะล่วงเลยไปถึงช่วงเข้าสู่ทัวนาเมนต์แล้ว รวมถึงปัญหาเรื่องความฟิตของร่างกายที่ไม่ได้ลงซ้อมในสนามเป็นเวลานานในช่วงกักตัว
การบริหารผู้เล่น การซ้อมเพื่อลงแท็คติค
การนำนักฟุตบอลไปทั้งหมดนั้น มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน เมื่อพบปัญหาความฟิต หรือ บาดเจ็บ ข้อดีคือมีตัวเลือกนักฟุตบอลที่สามารถทดแทนตำแหน่งได้ แต่ข้อเสียที่เป็นปัญหาคือ ไม่สามารถจำกัดกลุ่มนักฟุตบอลตัวหลักของทีมที่ชัดเจน สำหรับฝึกซ้อมลงรายละเอียดทางแท็คติค และไม่สามารถสร้างความเข้าใจในแผนการเล่นได้อย่างสม่ำเสมอ แตกต่างจากทีมอื่นๆ ที่สามารถโฟกัสนักกีฬาที่คัดเลือกมาในจำนวนจำกัด รวมถึงสตาฟโค้ชต้องแบ่งเพื่อเตรียมแผนการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาทุกๆ คนในทุกวันที่เดินทางไปสนามซ้อม รักษาสปิริตและยังต้องเปิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวหลัก เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นกับนักฟุตบอลทุกๆ คนที่ร่วมฝึกซ้อมด้วยกัน
ปัญหาการสื่อสาร ของโค้ช ล่าม และนักฟุตบอล
เรื่องของการสื่อสารต่างๆ ภายในทีมทั้งในการลงรายละเอียดการฝึกซ้อม และในระหว่างแข่งขันเป็นเรื่องที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการสื่อสาร เมื่อล่ามแปลภาษาคนเดิมได้ลาออกไปเป็นล่ามให้กับนักฟุตบอลไทยที่ประเทศญี่ปุ่น(ตามคำแนะนำของโค้ช) ฝ่ายประสานงานทีมชาติของสมาคมฯ ได้แจ้ง อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าโค้ช และ คุณอัตซิโอะ โอกุระ ผู้ประสานงานส่วนตัว ให้สรรหาสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกล่าม โดยทางหัวหน้าผู้ฝึกสอนได้ทำการพูดคุยกับล่ามคนไทยที่สมาคมฯ นำเสนอ เพราะเคยทำหน้าที่ให้กับนักฟุตบอลไทย ที่เคยไปเล่นที่เจลีกมาแล้ว 2 ท่าน
ส่วนอีก 1 คนคือคุณยูกิ ที่ผู้ประสานงานและโค้ชหามาเอง โดยตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันกับโค้ช จากการที่เคยเป็นผู้หาที่พักให้กับโค้ชในประเทศไทย และสามารถพูดได้สองภาษา
แม้ว่าทางฝ่ายประสานงานทีมชาติและสมาคมฯ ได้ทัดทานแล้วว่าผู้ที่จะทำหน้าที่นี้นอกจากจะเข้าใจในทั้งภาษาไทยและญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้แล้ว จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ไหวพริบ และสามารถสื่อสารด้านศัพท์เทคนิคให้นักฟุตบอลเข้าใจได้ แต่ทางโค้ชและผู้ประสานงานยืนยันว่าจะขอเลือกคุณยูกิ เมื่อเป็นความต้องการและการตัดสินใจของโค้ช ทางสมาคมฯจึงต้องจำยอม ซึ่งเมื่อเริ่มทำหน้าที่ไปแล้ว ปรากฏว่าเกิดปัญหาคุณยูกิ ไม่สามารถสื่อสารได้ดีเพียงพอ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ด้านฟุตบอลมาก่อน นี่ก็เป็นสาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่ง ล่าสุดทางสมาคมฯ ได้ทำการยกเลิกสัญญาการบริการของผู้ประสานงาน และล่ามแล้ว
หัวหน้าผู้ฝึกสอน ไม่ได้แบ่งงานหลังจบทัวนาเมนต์รอบคัดเลือกฟุตบอลโลกที่ยูเออี
หลังเสร็จสิ้นภารกิจฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ที่ยูเออี อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ได้เปลี่ยนแปลงโปรแกรมการเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น โดย สมาคมฯ มาทราบภายหลังในการประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับผู้ช่วยโค้ช และทีมงานในระหว่างกักตัว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ว่า อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ไม่ได้สั่งการหรือมอบหมายงานใดๆ ไว้ระหว่างที่ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย จึงมีการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ฝึกสอน อนุรักษ์ ศรีเกิด และ อิสสระ ศรีทะโร ให้ปฏิบัติหน้าที่ติดตามผลงานนักเตะไทยในรายการเอเอฟซี แชมป์เปี้ยนส์ลีก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามนโยบายของสมาคมฯ ที่ต้องการให้มีผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง สมาคมฯ พยายามประสานงานสอบถามผ่านผู้ประสานงาน แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบยืนยันที่แน่ชัด
หัวหน้าผู้ฝึกสอน ไม่ได้แบ่งงานหลังจบทัวนาเมนต์รอบคัดเลือกฟุตบอลโลกที่ยูเออี
หลังเสร็จสิ้นภารกิจฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ที่ยูเออี อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ได้เปลี่ยนแปลงโปรแกรมการเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นทันที ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติทุกครั้งหัวหน้าโค้ชต้องกลับพร้อมทีม และเข้ารายงานชี้แจงผลการปฏิบัติงานกับสมาคมฯ และสมาคมฯ มาทราบภายหลังในการประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับผู้ช่วยโค้ช ทีมงานในช่วงระหว่างกักตัว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ว่า อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ไม่ได้สั่งการหรือมอบหมายงานใดๆ ไว้ระหว่างที่ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย สมาคมฯ จึงมีการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ฝึกสอน อนุรักษ์ ศรีเกิด และ อิสสระ ศรีทะโร ให้ปฏิบัติหน้าที่ติดตามผลงานนักเตะไทยในรายการเอเอฟซี แชมป์เปี้ยนส์ลีก เพื่อเตรียมการสำหรับแผนงานการแข่งขันฟุตบอลรายการต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามนโยบายของสมาคมฯ ที่ต้องการให้มีผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง สมาคมฯ พยายามประสานงานสอบถามผ่านผู้ประสานงาน เพื่อต้องการทราบกำหนดวันเวลาเดินทางกลับที่แน่นอนชัดเจน เพราะสมาคมฯ ต้องดำเนินการเรื่องตั๋วเครื่องบิน และสถานที่กักตัว (ASQ) เนื่องด้วยขณะนี้มีความไม่แน่นอน ซึ่งเพิ่งมาได้คำตอบจาก อากิระ นิชิโนะ ล่าสุดว่าจะเดินทางกลับมายังประเทศไทย ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564