23 ปีที่หายไป : เหตุใด "สกอตแลนด์" จึงหายจากรายการเมเจอร์ไปกว่า 2 ทศวรรษ

23 ปีที่หายไป : เหตุใด "สกอตแลนด์" จึงหายจากรายการเมเจอร์ไปกว่า 2 ทศวรรษ

23 ปีที่หายไป : เหตุใด "สกอตแลนด์" จึงหายจากรายการเมเจอร์ไปกว่า 2 ทศวรรษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สกอตแลนด์ ได้โอกาสเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายในยูโร 2020 และนี่คือทัวร์นาเมนต์แรกในรอบ 2 ทศวรรษ ที่พวกเขาได้กลับมามีบทบาทในรายการระดับเมเจอร์

จากชาติที่เคยไปฟุตบอลโลก 6 จาก 7 ครั้งในช่วงยุค 70s-90s เกิดอะไรขึ้น ทำไมแข้งสกอตติชกลับสิ้นมนต์ขลังจนหลุดวงโคจรไปนานถึง 20 ปี 

และอะไรที่ดึงให้พวกเขากลับมาภายใต้นักเตะวัยรุ่นที่แฟน ๆ เรียกว่า "ยุคทอง"  

ติดตามได้ที่ Main Stand

เมื่อก่อนไม่อ่อนแบบนี้ 


Photo : scotlandepistles.com

ตั้งแต่ปี 1974 จนถึงฟุตบอลโลกปี 1998 สกอตแลนด์ ถือเป็นชาติที่เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึง 6 จาก 7 ครั้ง จากสถิติดังกล่าวมันพอบอกเราได้ว่า เดิมทีพวกเขาไม่ใช่หมูอย่างที่ใครเข้าใจ แม้การได้เข้าไปเล่นจะจบแค่รอบแบ่งกลุ่มและตกรอบกลับมา ทว่านั่นก็มากพอที่จะการันตีได้ว่านักเตะที่พวกเขามีสามารถต่อยอดและพัฒนาได้ 

ทว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา ... ไม่มีเลยแม้แต่รายการเดียวที่ทีมชาติสกอตแลนด์ ได้ผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในรายการระดับเมเจอร์ ทั้งฟุตบอลยูโรและฟุตบอลโลก อัตราการเข้ารอบคือ 0 ... สิ่งนี้บอกอะไรกับเราบ้าง ? 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุค 60s เป็นต้นมา ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศ หรือ สกอตติช พรีเมียร์ชิป ถือเป็นลีกที่แข็งแกร่งและเป็นลีกที่มีม้าแข่งแค่ 2 ตัว นั่นคือ กลาสโกว์ เซลติก กับ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส การแข่งขันจาก 2 ทีมแห่งเมืองกลาสโกว์นี้ สูสีคู่คี่กันมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ฟุตบอลสกอตเริ่มต้นขึ้น และการมีม้าแข่งแค่ 2 ตัวไม่ใช่เรื่องที่ดี ...

 


Photo : scottishfootballmuseum.org.uk

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นคือ พวกเขารวบรวมสรรพกำลังทุกอย่างที่มี แลกความสำเร็จที่นำมาซึ่งเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ และสิ่งเหล่านี้ที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่ออนาคตได้แบบไม่รู้จบ ดังนั้นเมื่อมีสโมสรที่ผลัดกันเป็นแชมป์แค่ 2 ทีม ทีมอื่น ๆ จะอยู่ยังไง ? 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่ฟุตบอลทีมชาติจะแข็งแกร่งได้นั้น ย่อมต้องแกร่งมาจากรากฐาน กล่าวคือคุณภาพของฟุตบอลท้องถิ่นและระดับเยาวชนก็ต้องดีด้วย ดังนั้นเมื่อเก่งกันอยู่แค่ 2 ทีม แต่อีกกว่า 30-40 สโมสรทั้งในระดับลีกสูงสุดและลีกรองเป็นได้แค่ไม้ประดับ รากฐานจะแข็งแกร่งได้อย่างไร ? 

เอาล่ะ คุณอาจจะบอกว่า แล้วแบบนั้นทำไม สกอตแลนด์ ถึงได้ไปเล่นในฟุตบอลโลก 6 จาก 7 ครั้งในช่วงปี 1974 ถึงปี 1998 ... เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นคือ มันยังคงเป็นโลกฟุตบอลยุคเก่าที่ยังไม่ได้เข้าสู่โลกของทุนนิยม หรือที่เรียกกันว่า "โมเดิร์นฟุตบอล" 

ย้อนกลับไปตอนนั้น เซลติก ก็ยังแข่งกับ เรนเจอร์ส อยู่แค่ 2 ทีม แต่ลีกฟุตบอลของสกอตแลนด์ ไม่ได้ห่างชั้นจากเพื่อนบ้านอย่างพรีเมียร์ลีกเท่าไรนัก เซลติก เคยเป็นแชมป์ ยูโรเปี้ยน คัพ 1 สมัย ส่วน เรนเจอร์ส คว้าแชมป์ คัพ วินเนอร์ส คัพ 1 สมัย (เป็นรองแชมป์อีก 2 สมัย) ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดในช่วงยุค 60s-70s ที่เป็นฟุตบอลยุคเก่าทั้งสิ้น

 


Photo : twitter.com/memorabiliamal

สิ่งที่ยืนยันได้ในยุคนั้น คือนักเตะสกอตแลนด์ กลายเป็นยอดนักเตะในลีกสูงสุดของอังกฤษกันแทบจะยกทีม อาทิ เคนนี่ ดัลกลิช, แกรม ซูเนสส์ (ลิเวอร์พูล), อาร์ชี่ เกมมิล (แชมป์ลีกกับ ดาร์บี้) และ จอห์น โรเบิร์ตสัน (แชมป์ลีก และ แชมป์ยุโรปกับกับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่กระจายตัวอยู่ในลีกอังกฤษเต็มไปหมด ซึ่งทีมจากอังกฤษก็เปรียบเสมือนแหล่งช่วยฟูมฟักนักเตะ สกอตแลนด์ ระดับหัวแถวดี ๆ นี่เอง 

วงการฟุตบอลสกอตแลนด์ พึ่งพาฟุตบอลลีกอังกฤษมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุค 60s จนถึง 90s ... แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็มาถึง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ลีกฟุตบอลอังกฤษฉีกหนีลีกฟุตบอลสกอตแลนด์ไปไกลหลายไมล์ ... เหตุการณ์นั้นคือ "การกำเนิดของพรีเมียร์ลีก" นั่นเอง

เมื่อเพื่อนบ้านก้าวกระโดด ... ทุกอย่างก็ชัดขึ้น  

ปี 1992 ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษรีแบรนด์จาก ดิวิชั่น 1 กลายมาเป็น พรีเมียร์ลีก หลังจากนั้นหลายสิ่งก็เปลี่ยนไป เดิมทีดิวิชั่น 1 นั้นเป็นเวทีที่ใช้นักเตะท้องถิ่นในสหราชอาณาจักร รวมถึงสกอตแลนด์ เป็นหลักมาโดยตลอด พวกเขาไม่นิยมใช้บริการนักเตะต่างชาติ เพราะค่าเหนื่อยแพง นอกจากนี้ลีกก็ยังไม่ดึงดูดนักเตะต่างชาติเก่ง ๆ ให้มาเล่นที่นี่ได้ ด้วยปัญหาเรื่องฮูลิแกน วิธีการเล่น รวมถึงเรื่องของวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์

 


Photo : twitter.com/footballmemorys

จะเห็นได้ว่าในช่วงการรีแบรนด์นั้น นักเตะระดับตัวหลักของทีมชาติสกอตแลนด์ ที่เล่นในพรีเมียร์ลีกเริ่มน้อยลงมาก หลังจากที่ฟุตบอลอังกฤษตัดสินใจเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัวเพื่อพัฒนาลีกของประเทศ กลับกลายเป็นว่า สกอตแลนด์ ไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลโลกในปี 1994 (ครั้งแรกในรอบ 20 ปี) ขณะที่ในฟุตบอลโลกปี 1998 นั้น นักเตะตัวหลักของทีมชาติสกอตแลนด์ มาจากอังกฤษแค่ 3 รายเท่านั้น นั่นคือ โคลิน คัลเดอร์วูด (ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์) และ 2 นักเตะจาก แบล็คเบิร์น อย่าง โคลิน เฮนดรี้ และ เควิน กัลลาเกอร์ ขณะที่ 11 ตัวจริงที่เหลือมาจาก เซลติก และ เรนเจอร์ส เป็นส่วนใหญ่

อังกฤษ เริ่มจะทิ้งนักฟุตบอลจากสกอตแลนด์แล้ว เพราะทั้ง คัลเดอร์วูด, เฮนดรี้ และ กัลลาเกอร์ นั้นก็มีอายุเกิน 32 ปีแล้วทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นรถด่วนขบวนสุดท้ายของพวกเขาอย่างแท้จริง และหลังจากหมดฟุตบอลโลกปี 1998 นักเตะสกอตติชที่เก่งระดับปรากฏการณ์ในพรีเมียร์ลีกก็แทบจะไม่ปรากฏอีกแล้ว 

กลับกัน นักเตะจาก อิตาลี, สเปน, บราซิล, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ และอีกหลาย ๆ ประเทศเริ่มตบเท้าเข้ามาหากินในพรีเมียร์ลีกเพิ่มมากขึ้น เพราะได้ค่าจ้างสูง และลีกได้รับความนิยมไปทั่วโลกในแง่ของการตลาด เรียกได้ว่าหมดยุคแข้งสกอตแลนด์เลยก็ว่าได้  และสิ่งนี้น่าจะพอเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหลังจากฟุตบอลโลก 1998 สกอตแลนด์ ไม่เคยมีเอี่ยวในรายการระดับเมเจอร์อีกเลย 

 

"การพลาดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญที่ครอบงำวงการฟุตบอลสกอตแลนด์มาโดยตลอด ร้อยวันพันปีเราสนใจแต่ เซลติก กับ เรนเจอร์ส พวกเขาเอาเงิน 64 ล้านปอนด์ไปปรับปรุงสนาม แฮมป์เดน พาร์ค ที่อยู่ใน กลาสโกว์ ทั้ง ๆ ที่มี ไอบร็อกซ์ (สนามเหย้าของ เรนเจอร์ส) และ เซลติก พาร์ค (รังเหย้าของ เซลติก) อยู่แล้ว ... ลองคิดดูสิ เงิน 64 ล้านปอนด์ ทำอะไรเพื่อฟุตบอลสกอตแลนด์ได้มากกว่านั้นเยอะ" เฟอร์กัส แมคแคนน์ อดีตซีอีโอของ เซลติก ว่าไว้เช่นนั้น เมื่อเขามองย้อนกลับไปในความผิดพลาดเมื่อครั้งอดีต

สนามฟุตบอลระดับมาตรฐาน ที่สามารถใช้จัดทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปหรือระดับโลก แต่อัดแน่นอยู่ในเมืองกลาสโกว์ถึง 3 แห่ง ... ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศนั้น "ไม่มีเลย"

"ผมอยากให้เรามองที่เรื่องของโครงสร้างโดยรวมให้ชัด ๆ ยกตัวอย่างเลยนะ ประเทศเรามีสนามฟุตบอลในร่มเพียงสามแห่งเท่านั้นที่สามารถเล่นฟุตบอลอย่างจริงจังได้ ส่วนที่เหลือน่ะเหรอ ยากมากเลย และมันส่งผลถึงบรรยากาศวงการลูกหนังของที่นี่ด้วย เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ไม่เล่นฟุตบอลข้างถนนกันแล้ว พวกเขาหยิบมือถือขึ้นมาเล่นเกมนู่น" อาร์ชี่ แม็คเฟอร์สัน นักวิจารณ์ฟุตบอลสกอตแลนด์ เห็นพ้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

ในขณะที่พรีเมียร์ลีกติดตลาด แบ่งสันปันส่วนกำไรให้กับทุกสโมสรได้เอามาพัฒนา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในภาพรวม ทั้งการเอามาซื้อนักเตะเก่ง ๆ การสร้างสนามให้ได้มาตรฐาน รวมถึงการทำการตลาดไปทั่วโลก ... แม้ไม่ได้เป็นแชมป์โลก แต่ไม่มีใครไม่ยอมรับว่าฟุตบอลลีกอังกฤษคือเบอร์ 1 ในแง่ของความนิยม 

ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงฟุตบอลสกอตแลนด์ คนก็รู้จักแค่ เซลติก กับ เรนเจอร์ส อยู่เหมือนเดิม ... เท่านี้ก็น่าจะเห็นภาพของการแข่งขันแบบผูกขาดที่ทำให้ลีกสกอตแลนด์ ที่เคยมีคุณภาพไล่เลี่ยกับอังกฤษในช่วง 60s-70s โดนทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น และตอนนี้พูดตรง ๆ ว่าแทบมองไม่เห็นโอกาสไล่ตามทันได้เลยแม้แต่น้อย

ลดศักดิ์ศรี แต่เพิ่มความแข็งแกร่งในภาพรวม 

สิ่งที่น่าประหลาดสิ่งหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากความตกต่ำของ เรนเจอร์ส เมื่อปี 2012 ... 

ณ เวลานั้น เรนเจอร์ส เกิดปัญหาเรื่องการเงิน เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนต้องเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ในช่วงต้นปี 2012 สุดท้ายพวกเขาก็กลายเป็นสโมสรที่ล้มละลาย 

ในตอนนนั้นมีการโหวตจาก สกอตติชฟุตบอลลีก (เอสเอฟแอล) โดยสมาชิก 30 สโมสร ว่าจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะการขาด เรนเจอร์ส อาจจะทำให้ลีกเกิดปัญหาเรื่องการเงิน เนื่องจาก เรนเจอร์ส เป็น 1 ใน 2 ทีมที่การตลาดดีและทำเงินให้ลีกได้มากที่สุด ตัวเลือกหนึ่งในการโหวตคือการปรับให้ เรนเจอร์ส กลับไปตั้งหลักใหม่ในลีกต่ำสุดของประเทศ ซึ่งสุดท้าย 29 สโมสรเลือกโหวตให้ เรนเจอร์ส ตกลงไปเล่นใน ดิวิชั่น 3 เพื่อก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่

แฟนบอลอาจจะบ่นว่าเมื่อ เรนเจอร์ส หายไป เซลติก ก็คงจะกวาดแชมป์ไปเพลิน ๆ สัก 10 สมัยติดต่อกัน จนลีกหมดความสนุก ... ซึ่งความเป็นจริงก็ไม่ผิดไปจากนั้น เซลติก คว้าแชมป์ลีกเป็นว่าเล่น ชนิดที่ทุกคนรู้ตั้งแต่นัดแรกของฤดูกาลแล้วว่าจะจบฤดูกาลลงอย่างไร ทว่ามันกลับส่งผลอีกด้านที่ทำให้วงการฟุตบอลของพวกเขาเริ่มจะแข็งแกร่งขึ้น 

เมื่อขาดเบอร์ 2 สโมสรที่เหลือก็ต้องการจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของ เซลติก แทน เรนเจอร์ส ในช่วงเวลา 6 ฤดูกาลนับตั้งแต่ เรนเจอร์ส โดนปรับไปเล่นลีกต่ำสุด สโมสรในประเทศอย่าง อเบอร์ดีน, ฮิเบอร์เนียน, ฮาร์ทส์, เซนต์ เมียร์เรน, รอสส์ เคาน์ตี้, เซนต์ จอห์นสโตน และ อินเวอร์เนส จัดการยกเครื่องระบบการเงินของตัวเองใหม่ เพื่อปรับให้เข้ากับฟุตบอลยุคทุนนิยม 

ขณะที่อีกหลาย ๆ สโมสรเริ่มปรับปรุงสนาม ปรับปรุงศูนย์ฝึกเยาวชนที่เป็นรากฐาน และนั่นทำให้พวกเขาเริ่มจะมาถูกทางแล้ว สโมสรอย่าง อเบอร์ดีน, ฮิเบอร์เนียน และ คิลมาร์น็อค ที่แทบจะรื้อระบบใหม่ทั้งหมด ด้วยการให้โอกาสคนหนุ่มตั้งแต่นักเตะรวมไปถึงเฮดโค้ชของทีมได้มีบทบาท  

นอกจากนี้ "โอลด์ เฟิร์ม ดาร์บี้" ที่หายไป ยังทำให้ เซลติก ไม่ได้เจอกับการแข่งขันที่หายใจรดต้นคอ มันทำให้พวกเขาเปิดโอกาสให้นักเตะดาวรุ่งหลายคนได้ลงเล่นเป็น 11 ตัวจริงของทีมมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นักเตะสกอตแลนด์ รุ่นหลัง ๆ ที่ฝีเท้าดีได้ไปเล่นในพรีเมียร์ลีกมากขึ้น เช่น จอห์น แม็คกินน์ ที่เติบโตจาก ฮิเบอร์เนี่ยน ก่อนย้ายไปเล่นให้กับ แอสตัน วิลล่า, เคียแรน เทียร์นี่ย์ ที่ถูกปลุกปั้นมาโดยเซลติกแล้วขายต่อให้กับ อาร์เซน่อล, แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ที่โดดเด่นมากับ ดันดี ยูไนเต็ด ก่อนย้ายมาต่อยอดกับ ฮัลล์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก และทุกวันนี้เขาได้กลายเป็นแข้งดีกรีแชมป์ยุโรปและแชมป์ลีกกับ ลิเวอร์พูล ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

การเติบโตของนักเตะที่แจ้งเกิดในช่วง "เรนเจอร์สล่มสลาย" ถือเป็นส่วนสำคัญกับทีมชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทีมชาติชุดยูโร 2020 นั้น สกอตแลนด์ ไม่ต้องใช้แต่นักเตะจาก เซลติก และ เรนเจอร์ส แบบเกือบยกทีมแล้ว พวกเขามีนักเตะที่เล่นในต่างแดนโดยเฉพาะในอังกฤษถึง 15 คน ... แสดงให้เห็นว่านักเตะที่เล่นในลีกที่การแข่งขันสูงกว่า คุณภาพมากกว่า ย่อมเป็นนักเตะที่เก่งกว่า ... นี่คือสิ่งสะท้อนถึงวงการฟุตบอลสกอตแลนด์ในเวลานี้ 

"สโมสรต่าง ๆ ในประเทศให้โอกาสนักเตะเยาวชนมากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้นั่นจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โต แต่อย่างน้อยมันก็เป็นส่วนผสมที่ทำให้เรียกทีมชาติสกอตแลนด์ชุดนี้ว่า 'สเปเชี่ยล เจเนอเรชั่น' ได้"  แม็คเฟอร์สัน ว่าต่อ 

"การที่มีเงินไม่เยอะ ทำให้สโมสรไม่สามารถลงทุนกับระบบเยาวชนที่แพงว่าการซื้อนักเตะได้เลย หลายปีก่อน โอลด์ เฟิร์ม ดาร์บี้ แต่ละครั้งเราแทบไม่เห็นหน้านักเตะอายุน้อย ๆ เลย เพราะ เซลติก กับ เรนเจอร์ส แข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายในเกมที่มีเดิมพันสูงเช่นนี้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ตอนนี้เราได้เห็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป เซลติก ใช้นักเตะดาวรุ่งหลายคนกับทีมชุดใหญ่ และตอนนี้เราได้เห็นนักเตะอย่าง เคียแรน เทียร์นี่ย์ ที่กลายเป็น 1 ในแบ็คที่ดีที่สุดของยุโรปไปแล้ว" 

ขณะที่ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส กุนซือที่พา เซลติก คว้าแชมป์ 10 สมัยรวด ก็ยอมรับในเรื่องนี้ว่าการเปลี่ยนแปลงในการสร้างรากฐานจากเยาวชน ภายใต้การแข่งขันระหว่าง 2 สโมสรที่เข้มข้นน้อยลง ทำให้วงการฟุตบอลสกอต ได้พบกับนักเตะอายุน้อยที่มีคุณภาพมากขึ้น 

"ฟุตบอลสกอตแลนด์กำลังเสริมระดับและมาตรฐาน ... ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ แต่เชื่อได้เลยว่าลีกจะแข็งแกร่งขึ้นในแง่ของภาพรวม และคุณจะได้เห็นมาตรฐานที่ดียิ่งกว่าเดิม" ร็อดเจอร์ส ที่ปัจจุบันคุมทีม เลสเตอร์ ซิตี้ กล่าว

ทั้งหมดนี้พอจะสรุปได้ว่า วงการฟุตบอลสกอตแลนด์ได้ใช้โอกาสจากการถอยหลังลงคลองของ เรนเจอร์ส ได้อย่างคุ้มค่า หลายสโมสรดีดตัวขึ้นมาเพราะอยากจะเป็นเบอร์ 2 ทีมที่ดีที่สุดในประเทศใช้บริการนักเตะท้องถิ่นมากขึ้น ขณะที่ เมื่อ เรนเจอร์ส กลับมาอีกครั้ง ภายใต้การคุมทีมของ สตีเว่น เจอร์ราร์ด เขาก็เน้นใช้นักเตะสกอตติชเป็นแกนหลักจนทีมคว้าแชมป์แบบไร้พ่ายได้สำเร็จ 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้ตัวว่าตัวเองขาดอะไร ระบบเยาวชนที่ล้าหลัง ที่ทำให้ทีมระดับรุ่นยู 16 ถึงยู 21 ไม่เคยไปเล่นรายการใหญ่ ๆ มาเป็นสิบปี แสดงให้เห็นปัญหาที่พวกเขาต้องแก้ไข และเข้าใจว่าพวกเขาละเลยเรื่องรากฐานมาโดยตลอด การจะฝากผู้เล่นให้โตจากลีกอังกฤษอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ พวกเขาต้องเริ่มสร้างนักเตะของตัวเองด้วย .... และตอนนี้ผลผลิตของสกอตแลนด์กำลังผลิดอกออกผล ทีมชาติชุดยูโร 2020 ของพวกเขามีนักเตะอายุเกิน 30 ปี แค่ 3 คนเท่านั้น และทั้ง 3 คนนั้นเป็นผู้รักษาประตู (เดวิด มาร์แชล, เคร็ก กอร์ดอน และ แจ็ค แม็คลัฟลิน) นั่นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเริ่มมาถูกทางแล้ว เด็ก ๆ พวกนี้จะช่วยพวกเขาได้อีกอย่างน้อย ๆ 2 - 3 ทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ได้สบาย ๆ 

ถ้าพวกเขายังคงเดินหน้าสร้างรากฐานและต่อยอดให้แกร่งขึ้นจากจุดนี้ บางทีความสำเร็จและมาตรฐานของแข้งสกอตติช อาจจะกลับมาเป็นที่เฟื่องฟูอีกครั้งเหมือนในยุค 70s-90s ก็เป็นได้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook