เสียหายแสนล้าน : เหตุใดยูฟ่าถึงต้องสั่งห้ามนักเตะขยับขวดเครื่องดื่มบนโต๊ะแถลงข่าว
เพียงแค่สัปดาห์แรกของศึก ยูโร 2020 เราก็ได้เห็นเหตุการณ์บางอย่างในห้องแถลงข่าว เหตุการณ์ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กัปตันทีมชาติโปรตุเกส ขยับขวดน้ำอัดลมให้พ้นเฟรมก่อนเริ่มแถลงข่าว ตามมาด้วย ปอล ป็อกบา สตาร์ทีมชาติฝรั่งเศส หยิบเบียร์ไฮเนเก้นไปวางไว้ใต้โต๊ะก่อนการให้สัมภาษณ์ รวมถึง มานูเอล โลคาเตลลี่ ผู้เล่นทีมชาติอิตาลี ที่ปฏิเสธเข้าฉากร่วมกับเครื่องดื่มยี่ห้อ โคคา-โคลา
ส่วน สตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ เฮดโค้ชทีมชาติรัสเซีย ก็เปิดขวดโค้กกระดกดื่มระหว่างแถลงข่าว และ อังเดร ยาร์โมเลนโก ตัวรุกทีมชาติยูเครน เรียกเสียงฮาด้วยการนำขวดโค้กและไฮเนเก้น มาตั้งตรงหน้าตัวเอง ก่อนยิงมุกว่า "สปอนเซอร์เจ้าไหนสนใจสามารถติดต่อผมได้เลย"
ทำไมอยู่ดี ๆ นักเตะระดับโลกเหล่านี้ ถึงแสดงอาการต่อสินค้าที่วางอยู่บนโต๊ะแถลงข่าว? เรื่องราวเริ่มบานปลายจนทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) ออกคำสั่งที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือ ห้ามนักเตะหยิบหรือขยับผลิตภัณฑ์ของผู้สนับสนุนหลักออกจากโต๊ะตามอำเภอใจ
อลงกต เดือนคล้อย นักเขียนแห่ง Main Stand จะมาสรุปประเด็นว่าเหตุใดการขยับขวดแค่ครั้งเดียว ถึงสามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้หลักแสนล้านบาท รวมถึงวิเคราะห์ Movement ของนักกีฬาในยูโร 2020 ที่อาจทำให้ "ห้องแถลงข่าวฟุตบอล" ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป?
ขวดนี้ท่านได้แต่ใดมา?
ถ้าคุณเดินทางไปยังห้องแถลงข่าว หรือ Press Conference Room ของ สามอ่าว สเตเดียม เมื่อปี 2019 คุณจะพบกับ น้ำมันเครื่องยี่ห้อ PT วางตั้งตระหง่านอยู่บนโต๊ะแถลงข่าว ด้วยเหตุผลที่พอเข้าใจได้ว่า น้ำมันเครื่องแบรนด์ดังกล่าว คือ สปอนเซอร์หลักของสโมสรฟุตบอล PT ประจวบ เอฟซี ซึ่งใช้ที่นี่เป็นสนามเหย้า
Photo : PT Prachuap FC
เมื่อทุกอย่างบนโลกไม่มีอะไรได้มาฟรี เม็ดเงินจากผู้สนับสนุนที่จ่ายให้กับสโมสรหรือองค์กรจัดการแข่งขัน จึงต้องแลกมาด้วยสิทธิประโยชน์บางอย่างด้านการค้า, โฆษณาประชาสัมพันธ์ และการรับรู้แบรนด์ แก่ภาคธุรกิจที่เซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์กับหน่วยงานหรือองค์กรกีฬานั้น ๆ
"ซุ้มขายของหน้าสนามแข่ง", "ป้ายแบนเนอร์ที่ติดทั่วสนาม", "ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะแถลงข่าวพร้อมฉากหลังเต็มไปด้วยโลโก้" เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในข้อตกลงที่ "ผู้ได้รับเงิน" ใช้ตอบแทนให้กับ "ผู้จ่ายเงิน" ที่ต้องการให้แบรนด์ของพวกเขาถูกเผยแพร่ออกสู่สายตาสาธารณชนมากที่สุด
ยิ่งช่องทางมีมากหรือจัดวางอยู่ในจุดที่คนสนใจและเห็นแบรนด์มากเท่าไร (เช่น ป้ายโฆษณาตัววิ่งข้างสนาม) ก็ยิ่งเป็นโอกาสให้องค์กรกีฬา สามารถเรียกมูลค่าเงินจากสปอนเซอร์หลายรายได้มากขึ้นเท่านั้น
Product Placement หรือ การวางสินค้าประกอบฉาก จึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้โลโก้ผู้สนับสนุนเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก
เพราะสิ่งที่ผู้คนสนใจ ไม่ได้มีเพียงแค่เกมการแข่งขัน แต่ยังรวมไปถึงบทสัมภาษณ์ก่อนเกม-หลังเกม จากผู้เล่นและโค้ช เพราะด้วยกฎและธรรมเนียมปฏิบัติ ทางทีมจำเป็นจะต้องส่งตัวแทน เข้ามาในห้อง Press Conference ที่มีทั้งกองทัพนักข่าวและช่างภาพประจำการอยู่ตรงนั้น
บ่อยครั้งที่ข่าวสารกีฬา ถูกนำเสนอด้วยภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจากห้องแถลงข่าว ซึ่งนั่นถือเป็นโอกาสอันดีที่โลโก้สปอนเซอร์สินค้าและบริการของผู้สนับสนุน จะถูกนำไปจัดวางประกอบไว้ เพื่อให้ติดอยู่ในเฟรมภาพ ระหว่างที่นักกีฬาและผู้จัดการกำลังแถลงข่าว
เราอาจกดเข้าไปดูบทสัมภาษณ์ก่อนเกมของนักเตะคนโปรด, ทีมที่เชียร์ หรืออยากฟังความรู้สึกของผู้เล่นที่ได้รับเลือกให้เป็น แมน ออฟ เดอะ แมตช์ แต่สุดท้ายเราก็ต่างห้ามสายตาไม่ให้เห็นสินค้าที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ หรือหยุดมองโลโก้บนป้าย Backdrop ประกอบฉากไม่ได้
ขวดน้ำอัดลมโค้กและเบียร์ไฮเนเก้น จึงถูกนำมาตั้งไว้อยู่บนโต๊ะแถลงข่าวศึกยูโร 2020 ตามโควต้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน ให้สัญญากับสปอนเซอร์อย่าง โคคา-โคลา (Coca-Cola) กับ ไฮเนเก้น (Heineken) ที่เป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มสองยี่ห้อนี้
แต่ทุกอย่างคงถูกปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา และไม่มีใครตั้งข้อสังเกต หากไม่เกิดเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว จากนักฟุตบอลนามอุโฆษ "คริสเตียโน่ โรนัลโด้"
โรนัลโด้ เอฟเฟกต์
คงไม่ต้องบรรยายว่า เจ้าของสถิติดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาล ศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งยุโรป ผู้ผ่านยูโรมาแล้ว 5 สมัยอย่าง "CR7" มีอิมแพกต์ขนาดไหนในวงการกีฬาโลก
ทุกอากัปกิริยายามอยู่หน้ากล้องของ ซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุกีส ล้วนได้รับความสนใจจากสื่อ เพราะมีผู้คนจำนวนมากทั่วโลกติดตามเขาในฐานะไอคอนนักฟุตบอลแห่งยุค การันตีจากยอดผู้ติดตามใน Instagram ที่มากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกเป็นคนแรก
คอลูกหนังทั้งหลายต่างรู้ดีว่า "คริสเตียโน่ โรนัลโด้" เป็นผู้เล่นที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพร่างกายมากขนาดไหน ?
ดังนั้นเมื่อ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ แสดงท่าทีปฏิเสธจะอยู่ร่วมฉากเดียวกับ ขวดเครื่องดื่มโคคา-โคลา ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะแถลงข่าว แถมยังหยิบขวดน้ำเปล่าขึ้นมาแล้วพูดว่า "Aqua (น้ำดื่ม)" เพื่อสื่อถึงตัวตนของเขาที่ไม่ใช่คนดื่มน้ำอัดลม
นั่นทำให้การรับรู้แบรนด์และภาพลักษณ์ของ "โค้ก" ได้รับความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากการกระทำของ โรนัลโด้ ทำให้ผู้คนเกิดฉุกคิดและตระหนักได้ว่า เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ไม่ใช่สินค้าที่มีประโยชน์ทางโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี
เพราะคนทั่วไปโดยปกติต่างรับรู้อยู่แล้วว่า การบริโภคน้ำอัดลมมากเกินไป หรือมีพฤติกรรมบริโภคต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
เพียงแต่บางครั้งผู้คนอาจไม่ได้คิดถึงมันมากนัก จนพลอยรู้สึกดีกับตัวแบรนด์ไปด้วย จากการเห็นโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ โดยเฉพาะในทัวร์นาเมนต์กีฬารายการใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของใครหลายคน
แม้ที่ผ่านมา โคคา-โคลา จะพยายามปรับกลยุทธ์หันมาโปรโมตสินค้าตัวอื่น เช่น น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล เพื่อปรับตัวให้เข้ากับกระแสของยุคสมัยที่หันมาใส่ใจ "อาหารการกินและสุขภาพ" และดูแลตัวเองมากขึ้น
แต่พอตัวพ่อนักกีฬาสายดูแลสุขภาพอย่าง CR7 แสดงท่าทีต่อต้านน้ำอัดลม ก็เลยทำให้มุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อ โคคา-โคลา เปลี่ยนแปลงไป
ภายหลังจากที่ CR7 ขยับขวดโค้กไปตั้งริม ๆ และชูน้ำเปล่าขึ้นมาดื่ม Marca สื่อจากประเทศสเปน ก็รายงานทันทีว่า เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบไปถึงหุ้นของ โคคา-โคลา ที่ตกลงไปมาก ซึ่งทำให้มูลค่าโดยรวมของบริษัทหายไปกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 1.25 แสนล้านบาทไทย
ทั้งที่ช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นขาขึ้นของ โคคา-โคลา ในการสร้างความเชื่อมั่นและการรับรู้แบรนด์ที่ดีต่อสายตาชาวโลก ที่ติดตามดูบอลยูโร 2020 และได้เห็นตราสินค้าและผลิตภัณฑ์อยู่ในซีนต่าง ๆ ตลอดทัวร์นาเมนต์ ในฐานะ Official Non-alcoholic Beverage หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ประจำศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 อย่างเป็นทางการ
สิ่งที่ตามมาคือ เพื่อนร่วมอาชีพบางคนในทัวร์นาเมนต์เดียวกัน เลือกที่จะแสดงจุดยืนตามรอย โรนัลโด้ ในระหว่างการเข้าห้อง Press Conference
ไล่มาตั้งแต่ ปอล ป็อกบา มิดฟิลด์ทีมชาติฝรั่งเศส ที่หยิบขวด ไฮเนเก้น 0.0 ซึ่งเป็นเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ออกจากเฟรม หรือ มานูเอล โลคาเตลลี่ กองกลางทีมชาติอิตาลี ที่นำเอา โคคา-โคลา ไปวางไว้ข้าง ๆ แบบเดียวกับ โรนัลโด้
แน่นอนเมื่อคนอย่างโรนัลโด้ ขยับเป็นคนแรก ย่อมเสียงดังกว่านักเตะทั่วไป เพราะแรงกระเพื่อมจากประเด็นนี้ ถูกนำมาพูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นไวรัลไปทั้งโลก
บางคนก็ทำให้เรื่องนี้ดูเป็นโจ๊ก อาทิ จอห์น แม็กกินน์ ผู้เล่นทีมชาติสกอตแลนด์ ที่เดินเข้าห้องแถลงข่าว แล้วกวาดสายตามองสินค้าต่าง ๆ บนโต๊ะก่อนพูดว่า "Nae Coke" ที่แปลว่า "ไม่มีโค้กนะ"
รัดยา เนียงโกลัน อดีตแข้งทีมชาติเบลเยียม ที่โพสต์สตอรี่ใน Instagram ตัดต่อภาพตัวเองพร้อมด้วยขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากชนิดแบบเต็มพิกัด, อังเดร ยาร์โมเลนโก ดาวเตะทีมชาติยูเครน พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการหยิบขวดไฮเนเก้นกับโค้กมาตั้งตรงหน้า พร้อมป่าวประกาศว่า "ใครอยากให้ผมโฆษณาให้ ติดต่อมาได้เลย"
ส่วนที่พีคกว่าใครเพื่อนคือ สตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ เฮดโค้ชทีมชาติรัสเซีย ที่จัดการเอาขวดโค้ก 2 ขวดมางัดเปิดฝาอย่างชำนาญ ก่อนกระดกโชว์สื่ออย่างหน้าชื่นตาบาน
ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่า ทำไม เชอร์เชซอฟ ถึงทำเช่นนั้น เขาอาจเป็นแฟนคลับโค้กจริง ๆ หรือแค่อยากช่วยกระตุ้นให้แบรนด์ได้การรับรู้ด้านภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น หลังได้รับผลด้านลบจากรีแอคชั่นของ โรนัลโด้
แต่ที่รู้แน่ ๆ คือ โคคา-โคลา เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของ สหพันธ์ฟุตบอลรัสเซีย องค์กรแม่ที่ควบคุมดูแลทีมชาติรัสเซียในขณะนี้
ขณะที่แฟนบอลบางคนก็ตั้งแง่ว่า การกระทำของ โรนัลโด้ นั้นเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ได้เป็นเหตุผลเกี่ยวกับสุขภาพเสมอไป โดยไปตามขุดภาพเมื่อปี 2013 ที่เจ้าตัวเคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ ไก่ทอด KFC และหากย้อนไปราวปี 2006 โรนัลโด้ ก็เคยสวมเสื้อกล้ามสีแดง เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ โคคา-โคลา มาแล้วเหมือนกัน
Photo : KFC Arabia
ขณะที่ในกรณีของ ปอล ป็อกบา นั้นกลับแตกต่างออกไป เพราะภายหลังการปฏิเสธร่วมเฟรมกับเครื่องดื่ม ไฮเนเก้น 0.0 ในคืนวันที่ 16 พฤษภาคม ปรากฏว่าราคาหุ้นของเบียร์สัญชาติดัตช์ ตกลงต่ำสุดอยู่ที่ 98.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 99.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม แต่ยังไม่ทันข้ามวัน หุ้นของ ไฮเนเก้น ก็ขยับกลับขึ้นมาสูงถึง 99.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในตอนบ่ายสามโมง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุน และผู้บริโภคต่างรับรู้ได้ว่า เบียร์ไฮเนเก้น 0.0 นั้นมีส่วนผสมของแอลอฮอล์น้อยมาก ๆ (มีกระบวนการผลิตเหมือนกับเบียร์ปกติ แต่นำมาสกัดเอาแอลกอฮอล์ออกก่อนบรรจุขวด) จึงมองว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกมากกว่า และไม่ได้รู้สึกเหมือนตอนที่ โรนัลโด้ หยิบขวดน้ำอัดลมออกไปจากเฟรม
อีกเหตุผลที่ ปอล ป็อกบา ปฏิเสธแถลงข่าวร่วมเฟรมกับเครื่องดื่มเจ้าดัง ก็เป็นไปตามความเชื่อของเจ้าตัว ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งของมึนเมาเป็นสิ่งต้องห้ามอยู่แล้ว แม้การมีอยู่ของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะทำให้มีคำถามว่า ของแบบนี้ผิดหลักศาสนาหรือไม่ก็ตาม จึงทำให้นักลงทุนไม่เทขายหุ้นกันมากนัก และ ไฮเนเก้น ก็ได้รับผลกระทบไม่รุนแรงเท่ากับกรณีของโค้ก
เกมอำนาจ
แน่นอนว่าในทางธุรกิจ ไม่มีสปอนเซอร์เจ้าไหนอยากเสียเงินมหาศาล เพื่อถูกนักกีฬาปฏิเสธการร่วมเฟรมด้วย ดังนั้น ยูฟ่า ในฐานะองค์กรที่ควบคุมการแข่งขัน ศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 จึงต้องออกคำสั่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
นั่นคือการสั่งห้ามนักกีฬา แตะหรือขยับสินค้าที่วางอยู่บนโต๊ะแถลงข่าว แต่อนุโลมให้สำหรับเหตุผลด้านศาสนา หากมีใครฝ่าฝืน สหพันธ์ฟุตบอลของชาติต้นสังกัดนักเตะ จะต้องถูกลงโทษด้วยการปรับเงิน
ณ จุดนี้ก็เข้าใจได้ เพราะยูฟ่า ต้องการเลือกรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าที่จ่ายเงินก้อนโต้ สนับสนุนการแข่งขัน รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อภาพลักษณ์แบรนด์ของ สปอนเซอร์ทั้ง 2 เจ้า ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์อันยาวนานเและเหนียวแน่นกับองค์กร
โคคา-โคลา ให้การสนับสนุนฟุตบอล ยูโร มาตั้งแต่ปี 1988 ส่วน ไฮเนเก้น ก็เริ่มต้นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับ ยูฟ่า ผ่านการเป็นสปอนเซอร์หลักศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มาตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบัน และนี่ก็เป็นยูโรหนแรกที่ ไฮเนเก้น ลงมาร่วมสนับสนุนศึกยูโรด้วย
ที่น่าตลกคือ ข่าวการแถลงเซ็นสัญญาเป็นผู้สนับสนุนหลัก ยูโร 2020 ระหว่าง ยูฟ่า กับ โคคา-โคลา นั้น ปรากฏว่าตอนนั้น เว็บไซต์ uefa.com เลือกภาพ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ มาเป็นรูปประกอบข่าว เพราะนักเตะคนนี้คือกัปตันผู้พาโปรตุเกส คว้าแชมป์ ยูโร 2016 และเป็นนักฟุตบอลผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคนั่นเอง
ยูฟ่า จึงใช้อำนาจที่พวกเขามีอยู่ในมือ ควบคุมให้นักเตะปฏิบัติตามแบบที่เคยเป็นมา เพราะดูเหมือนว่าหลังจาก คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ปฏิเสธเข้าฉากกับเครื่องดื่มน้ำอัดลมแบรนด์ดังกล่าว ก็เหมือนจะมีนักเตะทำตามกันมาเรื่อย ๆ
บางคนก็เห็นด้วยกับจุดยืนของยูฟ่า อย่างเช่น แกเร็ธ เซาธ์เกต หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติอังกฤษ เป็นคนหนึ่งที่พูดถึงประเด็นนี้ โดยเขาบอกว่าตนเองเข้าใจได้ในเรื่อง Product Placement
เพราะโลกลูกหนังทุกหย่อมหญ้า ยังต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากภาคธุรกิจและสปอนเซอร์ ตนจึงไม่ได้มีปัญหากับสินค้าที่ตั้งอยู่ตรงหน้า ระหว่างแถลงเตรียมความพร้อมก่อนเกม
หากอธิบายในแง่ของปรากฏการณ์ นักบอลขยับขวดเครื่องดื่มสะเทือนมูลค่าเงินนับแสนล้านบาท โดยศาสตราจารย์ ไซมอน แซดวิค แห่งศูนย์อุตสาหกรรมกีฬาแห่งยูเรเซียน ได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์นี้ว่า ที่ผ่านมาข้อตกลงด้านการค้าระหว่างหน่วยงานที่ควบคุมการแข่งขัน กับภาคธุรกิจ มักปิดโอกาสไม่ให้นักกีฬาได้แสดงออกอย่างเต็มที่
พวกเขาไม่สามารถเลือกได้เลยว่า วันนี้จะต้องมานั่งแถลงข่าว โดยมีสินค้าอะไรวางอยู่บนโต๊ะ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามสัญญาข้อตกลงระหว่าง สปอนเซอร์กับองค์กรฝ่ายจัดการแข่งขัน
แต่การเติบโตของโซเชียลมีเดีย ทำให้นักกีฬายุคใหม่กล้าที่จะพูด พวกเขารู้สึกได้ว่าเสียงของพวกเขามีพลัง สามารถส่งไปถึงผู้คนวงกว้างได้ไกลกว่าเดิม พวกเขาจึงรู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนของผู้บริโภค
โดยไซมอน มองว่าในอนาคต นักกีฬาจะเป็นผู้มีอำนาจในควบคุมพื้นที่สื่อรอบตัว เช่น ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ตั้งอยู่บนโต๊ะแถลงข่าว และไม่ถูกปิดกั้นหากต้องการแสดงออกอะไรไป เหมือนในอดีต
แม้ว่า ยูฟ่า จะพยายามตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการออกคำสั่งพร้อมขู่ว่าจะมีการลงโทษปรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเคสแบบโรนัลโด้ จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ... เพราะถ้าใครสักคนยังอยากทำอะไรต่อ เพื่อสื่อสารอะไรบางอย่างต่อสังคม
เราก็เชื่อว่า คนเหล่านั้นพร้อมอย่างยิ่งที่จะจ่ายค่าปรับ แลกกับอำนาจที่จะได้แสดงออกในแบบที่ใจตัวเองต้องการ เพราะพวกเขารู้ดีว่าจะเกิดอิมแพกต์อะไรตามมาหลังจากนั้น
อัลบั้มภาพ 17 ภาพ