Mission Possible : ภารกิจสร้างทีมเพื่อไปฟุตบอลโลกครั้งแรกของทีมชาติญี่ปุ่น
ทั้งที่ก่อตั้งลีกอาชีพมาเพียงแค่ 4 ปี ทัพซามูไรบลูพาตัวเองไปฟุตบอลโลกได้อย่างไร
"ทำได้แล้ว ในที่สุด โอคาโนะ ก็พาญี่ปุ่นไปเล่นฟุตบอลโลกแล้ว"
ทันทีที่ มาซายูกิ โอคาโนะ ส่งบอลไปกองที่ก้นตาข่ายของอิหร่านก่อนหมดเวลาเพียง 2 นาทีในช่วงต่อเวลาพิเศษ ก็ทำให้ผู้บรรยายในเกมนั้นถึงกับตะโกนออกมาด้วยความดีใจ เมื่อประตูอันล้ำค่าลูกนี้ มีความหมายว่าทีมชาติญี่ปุ่น จะได้เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
บรรยากาศทั่วญี่ปุ่นหลังจากนั้น เต็มไปด้วยความชื่นมื่น ผู้คนต่างเฉลิมฉลองด้วยความตื้นตัน และดีใจอย่างสุดเหวี่ยง จนทำให้วันนั้นถูกเรียกว่า "การดีใจอย่างสุดขีดแห่งยะโฮร์บาห์รู"
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เหลือเชื่อคือ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ เกิดขึ้นในปี 1997 หรือเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น หลังจากการก่อตั้ง "เจลีก" หรือลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่น
พวกเขาทำได้อย่างไร ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
บิดาแห่งฟุตบอลญี่ปุ่น
"เมื่อก่อนทีมชาติญี่ปุ่นก็พอ ๆ กับทีมชาติไทย แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลแล้ว" อาจจะเป็นเรื่องเล่าที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ที่ยุคอินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู จนทำให้เกิดภาพจำว่าฟุตบอลญี่ปุ่นเพิ่งจะมาพัฒนาในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี คำกล่าวนี้อาจจะคลาดเคลื่อนพอสมควร เพราะแม้ว่าทัพซามูไรบลู จะทำผลงานได้ไม่ดีนักในยุค 1970s-1980s แต่ความเป็นจริง พวกเขาเริ่มวางรากฐานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s แล้ว
Photo : flagrants.wordpress.com
มันเริ่มต้นในปี 1959 จากการที่ญี่ปุ่น ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 1964 ที่ทำให้รัฐบาลพยายามส่งเสริมการเล่นกีฬาในระดับชาติ และทำให้วงการกีฬาของพวกเขาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
เช่นเดียวกันกับ ฟุตบอล เมื่อหนึ่งปีหลังจากการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ก็ตัดสินใจยกพลไปดูงานและหาข้อมูลถึงประเทศเยอรมนี เพื่อนำมาสร้างระบบการพัฒนาฟุตบอลของญี่ปุ่น
ราวกับเป็นโชคสองชั้น เมื่อการไปเยือนเมืองเบียร์ในครั้งนั้น JFA ยังประสบความสำเร็จในการเชิญชวน เด็ตมาร์ คราเมอร์ โค้ชชาวเยอรมันของฟีฟ่า มานั่งตำแหน่งที่ปรึกษาเทคนิคเพื่อวางโครงสร้างให้กับฟุตบอลญี่ปุ่น
เพราะคราเมอร์ ไม่แค่เข้ามาสอนวิธีการเล่นฟุตบอลให้กับคนญี่ปุ่น แต่ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับแผนการพัฒนาระยะยาวให้กับที่นี่อีกด้วย
เนื่องจากก่อนหน้านั้น JFA จะโฟกัสเพียงแค่การแข่งขันที่กำลังจะมาถึง โดยไร้แผนต่อจากนั้น ส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็พอใจกับแค่ผลการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ต่อทัวร์นาเมนต์ ในขณะที่สภาพแวดล้อมเกี่ยวกับฟุตบอลค่อนข้างย่ำแย่ เมื่อโค้ชส่วนใหญ่เป็นเพียงโค้ชมือสมัครเล่น แถมสนามซ้อมของทีมชาติก็เป็นเพียงแค่สนามดิน
นอกจากนี้ ระบบการแข่งขันในประเทศ ก็ยังเป็นแบบทัวร์นาเมนต์ ที่ทำให้นักเตะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากตกรอบตั้งแต่รอบแรก ๆ ก็ทำให้มีเกมที่ได้เล่นไม่มากนัก
ทำให้ทันทีที่ คราเมอร์ มาถึง เขาได้พยายามเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานนอกสนาม ที่สำคัญไม่แพ้ผลงานในสนาม เขาได้แนะนำให้ JFA สร้างระบบอบรมโค้ช ก่อตั้งลีกอาชีพ พัฒนามาตรฐานของผู้ตัดสิน รวมไปถึงสร้างระบบจัดหาและแต่งตั้งผู้ตัดสิน
"คงไม่มีใครอีกแล้วที่ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ รวมทั้งมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์สำหรับอนาคตได้อย่างน่าเกรงขามเหมือนเขา" ฮิโรชิ คางาวะ อดีตนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นกล่าวถึง คราเมอร์
ก่อนที่มันจะพาญี่ปุ่นไปสู่จุดที่ไกลกว่าที่คิด
เฉิดฉายในระดับโลก
การมาถึงของ คราเมอร์ ไม่เพียงทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นแถวหน้าของเอเชีย แต่ยังไปได้ไกลถึงระดับโลก เมื่อมันทำให้ซามูไรบลูพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยการผ่านเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโอลิมปิก 1964 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ ทั้งที่เป็นการเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งที่ 2 ของพวกเขาเท่านั้น
หนึ่งปีหลังจากนั้น สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ได้ก่อตั้ง Japan Soccer League (JSL) หรือลีกแห่งชาติได้สำเร็จ ก่อนที่ในปี 1968 พวกเขาจะประกาศศักดา ด้วยการก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทองแดงในฟุตบอลโอลิมปิกได้อย่างยิ่งใหญ่
Photo : twitter.com/FootballArchive
"ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประวัติศาสตร์อันยาวนานของฟุตบอลญี่ปุ่นได้เท่าเขา" ฮิโรชิ คางาวะ กล่าวถึง คราเมอร์
นอกจากนี้ ทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ยังทำให้โลกได้รู้จักกับ คุนิชิเงะ คามาโมโต หลังจากที่หัวหอกของ ยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ โอซากา ในปัจจุบัน) จัดการซัดไปถึง 7 ประตู รวมถึงทำแฮตทริคได้ในนัดเปิดสนามที่พบกับไนจีเรีย ทำให้เขากลายเป็นคนญี่ปุ่นคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่คว้าดาวซัลโวในโอลิมปิกมาได้
ผลงานอันยอดเยี่ยมของทัพซามูไรบลู ยังได้ทำให้เกิดกระแส "ฟุตบอลบูม" ครั้งแรกในญี่ปุ่น ที่ทำให้ลูกเด็กเล็กแดงเปลี่ยนใจจากเบสบอล กีฬายอดนิยมของประเทศ หันมาเล่นฟุตบอล ด้วยความหวังว่าจะเป็น "คามาโมโต" คนต่อไป
แถมในช่วงเวลานั้น ฐานคนเล่นกีฬาก็กำลังเติบโต ซึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนการเล่นกีฬาในโรงเรียน รวมไปถึง "โชเนนดัน" หรือชมรมกีฬาสำหรับเยาวชน ที่มีขึ้นหลังได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ก็ทำให้ฟุตบอลเริ่มมีตัวตนขึ้นในแดนอาทิตย์อุทัย
"โชเนนดัน ก่อตั้งขึ้นในปี 1962 และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเล่นกีฬา รวมไปถึงฟุตบอลให้แก่เด็ก ๆ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s" มาซาฮิโร ซุงิยามะ, เซลินา คู และ ร็อบ เฮส กล่าวในงานวิจัย Grassroots Football Development in Japan
อย่างไรก็ดี ความชื่นมื่นในช่วงเวลานั้น ก็เกิดขึ้นเพียงชั่วพริบตา เพราะแม้ว่า คราเมอร์ จะเข้ามาช่วยวางรากฐาน จนทำให้ญี่ปุ่นเริ่มมีหน้ามีตาในระดับนานาชาติ แต่มันก็เป็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
เมื่อหลังจากโอลิมปิก 1968 ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถผ่านไปเล่นในรอบสุดท้ายได้อีกเลยเกือบ 30 ปี ในขณะที่การได้ไปฟุตบอลโลกก็แทบจะไม่ใกล้เคียง
เหตุผลสำคัญก็คือหลังจากหมดยุคของ คามาโมโต ที่เลิกเล่นให้กับทีมชาติไปในปี 1977 ญี่ปุ่นก็ไม่มีนักเตะระดับเวิลด์คลาสอีกเลย นอกจากนี้การที่ JSL ลีกของพวกเขายังเป็นเพียงแค่ลีกสมัครเล่น ทำให้ไม่สามารถผลิตนักเตะระดับสูง ซึ่งเป็นอีกอุปสรรคสำคัญ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น มีความตั้งใจที่จะก่อตั้งลีกอาชีพ
ลีกอาชีพสร้างอนาคต
ผลงานอันย่ำแย่ในช่วงทศวรรษที่ 1970s-1980s ได้ทำให้ญี่ปุ่นต้องการตั้งลีกอาชีพขึ้น ซึ่งประจวบเหมาะกับในช่วงเวลานั้น โจอัว ฮาเวลานจ์ ประธานฟีฟ่าในขณะนั้น ได้ถามผู้บริหารของ JFA ถึงโอกาสที่ญี่ปุ่น จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอนาคตพอดี
ทำให้ในปี 1988 พวกเขาได้แต่งตั้งคณะกรรมการก่อตั้งลีกอาชีพ โดยทำหน้าที่วางโครงสร้างลีก รวมไปถึงเป็นผู้ร่างหลักเกณฑ์ของสโมสร ที่มีคุณสมบัติผ่านการรับรองเข้ามาเล่นในลีกที่กำลังจะก่อตั้งใหม่แห่งนี้
Photo : aucfree.com
อย่างไรก็ดี JFA ไม่ได้โฟกัสเพียงแค่การสร้างลีกเท่านั้น แต่ยังต้องการพัฒนาด้านอื่นไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบอมรมโค้ช ระบบศึกษาและเรียนรู้เทคนิคและแทคติกของฟุตบอลในระดับโลก ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนั้น รวมไปถึงการพัฒนาผู้ตัดสิน
พวกเขายังได้เน้นย้ำถึงความเป็น "สโมสรของท้องถิ่น" ของทีมที่จะเข้าร่วม ด้วยการออกกฎ ทั้งการมีฐานที่มั่นในจังหวัดอย่างชัดเจน ไม่อนุญาตให้มีชื่อบริษัทเอกชนอยู่ในชื่อสโมสร หรือทุกสโมสรจะต้องมีทีมระดับเยาวชน
นอกจากนี้ JFA ยังตั้งเป้าให้สโมสรอาชีพเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานักเตะระดับเยาวชนของท้องถิ่น อย่างคงเส้นคงวา
เนื่องจากก่อนจะมีลีกอาชีพ พวกเขาเหล่านี้จะเล่นฟุตบอลผ่าน โชเนนดัน ในระดับประถม และเล่นให้กับทีมโรงเรียนในระดับมัธยม แล้วค่อยไปเล่นให้ทีมมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะไปเล่นให้กับทีมบริษัท
การต้องเปลี่ยนทีมไปมา ทำให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องเจอกับโค้ช หลากหลายสไตล์ แถมบางครั้งอาจทำให้พัฒนาการต้องหยุดชะงัก หากโรงเรียนที่ไปเรียนต่อไม่มีชมรมฟุตบอล อันเนื่องมาจากการขาดแคลนงบประมาณ และบุคลากร
Photo : jr-soccer.jp
"การเปลี่ยนผ่านของนักเตะจากกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน บางครั้งก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะว่าผู้เล่นต้องเล่นภายใต้การดูแลของโค้ชใหม่ที่ยังไม่รู้จักพวกเขาดี" โค้ชจากสโมสรอาชีพระบุ
ซึ่งสโมสร จะเข้ามาช่วยอุดจุดอ่อนในเรื่องนี้ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้พวกเขาได้เล่นฟุตบอลต่อไปแล้ว มันยังทำให้เด็กได้มีโอกาสซ้อมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีเกมลงเล่นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นัดกระชับมิตรไปจนถึงการแข่งขันจริง
และหลังการเตรียมการเสร็จสมบูรณ์ พวกเขาก็เปิดตัวเจลีก ลีกอาชีพแรกของพวกเขาอย่างเป็นทางการในปี 1993
ฐานผู้เล่นที่มั่นคง
15 พฤษภาคม 1993 คือเกมนัดแรกในประวัติศาสตร์เจลีก และทุกอย่างก็เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งพิธีเปิดที่เลิศหรูอลังการ ในเกมการแข่งขันระหว่าง เวอร์ดี คาวาซากิ (โตเกียว เวอร์ดี ในปัจจุบัน) กับ โยโกฮามา มารินอส (โยโกฮามา เอฟ มารินอส ในปัจจุบัน) ที่พลิกไปพลิกมา ก่อนที่ฝ่ายหลังจะเอาชนะไปได้ 2-1 ต่อหน้าผู้ชมกว่า 59,626 คนในโอลิมปิก สเตเดียม
Photo : www.japantimes.co.jp
มันคือการเปิดฉากได้อย่างสมบูรณ์แบบของเจลีก เมื่อพวกเขาสามารถดึงดูดผู้ชมระดับหลักหมื่นเข้ามาชมการแข่งขันในสนาม และเกิดเป็นกระแส "ฟุตบอลฟีเวอร์" อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลีกอาชีพของพวกเขาเป็นไปอย่างราบรื่น คือการมีจำนวนนักฟุตบอลในระดับหลายแสนคน ในวันที่ลีกอาชีพเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
จากข้อมูลของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ที่เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1979 ระบุว่าในปี 1989 หรือ 4 ปีก่อนการเปิดตัวเจลีก พวกเขามีนักเตะที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมมากถึง 661,509 ราย และเป็นนักเตะอายุต่ำกว่า 12 ปีถึง 264,617 ราย (สถิติถึงปี 1987)
หากเทียบให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น จากข้อมูลของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยระบุว่าในปี 2019 ประเทศไทยมีนักเตะอาชีพที่ลงทะเบียนอยู่แค่เพียง 4,976 คน และนักเตะระดับสมัครเล่นอยู่ราว 6,900 คน ซึ่งถ้ารวมกับนักเตะจากยูธลีก (12-18 ปี) ที่มี 21,425 คน ก็จะมีเพียงแค่ 33,225 คนเท่านั้น
ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนนักเตะที่ลงทะเบียนของญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีลีกอาชีพ แถมผลงานในทีมชาติก็ล้วนน่าผิดหวัง คือการมาถึงของ "กัปตันสึบาสะ"
มันคือมังงะจากปลายปากกาของอาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ที่ตีพิมพ์ (ภาคแรก) ในช่วงปี 1981-1988 และถูกทำเป็นอนิเมะออกฉายในช่วงปี 1983-1986 ก่อนที่มันจะกลายเป็นการ์ตูนยอดฮิตที่ได้รับความนิยมไปทั่วบ้านทั่วเมือง และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนเริ่มเล่นฟุตบอล
จากข้อมูลของ JFA ระบุว่า ในช่วงปี 1979-1989 ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงที่กัปตันสึบาสะตีพิมพ์ พวกเขามีจำนวนนักเตะที่ลงทะเบียนกับสมาคมเพิ่มขึ้นถึง 400,000 คน โดยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีถึง 195,000 คน
Photo : tegiblogjp.blogspot.com
"กัปตันสึบาสะได้กลายเป็นแรงใจในการเริ่มเล่นฟุตบอลของเด็กหลายคน มันเข้าไปกุมหัวใจของเด็กได้ เพราะว่ามันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เด็กรู้สึกว่าอยากจะทำลายหลักปฏิบัติแบบดั้งเดิมในกีฬา" งานวิจัย Grassroots Football Development in Japan ระบุ
"อย่างโครงสร้างทางสังคมแบบแนวตั้ง ที่เข้มงวดกับเรื่องมารยาทและวินัย รวมไปถึงจิตวิญญาณสูงสุดอันเป็นตัวแทนของความกล้าหาญ ที่กดดันเด็กมากเกินไป ทำให้เป็นตัวขัดขวางความสนุกในการเล่นกีฬา"
"ความนิยมของการ์ตูนเรื่องนี้ที่เกิดขึ้น เกิดจากการอยากหลบหนีจากค่านิยมดั้งเดิมและคุณค่าของกีฬาแบบตะวันตก ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้คน อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคนั้น"
นอกจากนี้ การเติบโตของฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติมัธยมปลาย ที่มีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970s ยังช่วยส่งเสริมให้กีฬาชนิดนี้ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกคุ้นเคยและเปิดรับในวันที่พวกเขามีลีกอาชีพ
อย่างไรก็ดี ปี 1993 อาจจะเป็นปีแห่งความทรงจำสำหรับลีกอาชีพของพวกเขา แต่ไม่ใช่สำหรับทีมชาติ
โศกนาฏกรรมแห่งโดฮา
ในปีที่ลีกอาชีพเปิดตัว ทีมชาติของพวกเขาก็กำลังดีวันดีคืน และเพิ่งจะคว้าแชมป์เอเชียนคัพได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในการแข่งขันที่ ฮิโรชิมา เมื่อปี 1992 แถมยังผ่านเข้ามาเล่นในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก รอบสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่ม
Photo : japanupclose.web-japan.org
โดฮา ประเทศกาตาร์ คือสังเวียนตัดสินในตอนนั้น พวกเขามีเพื่อนร่วมกลุ่มที่ล้วนเป็นเบอร์ต้น ๆ ของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, อิรัก, อิหร่าน และ ซาอุดีอาระเบีย ที่จะเอาเพียงแค่ 2 ทีมเท่านั้นไปเล่นรอบสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นกลับเริ่มต้นได้อย่างย่ำแย่ หลังประเดิมสนามด้วยการเสมอกับซาอุฯ ก่อนจะพ่ายต่อ อิหร่าน ที่ทำให้ความหวังที่จะไปฟุตบอลโลกของพวกเขาต้องริบหรี่ลง
แต่จากการรวมใจ ญี่ปุ่น ก็สามารถคว้าชัยเป็นเกมแรก ด้วยการถล่มเกาหลีเหนือ 3-0 ก่อนจะเอาชนะ เกาหลีใต้ 1-0 บวกกับทีมในกลุ่มต่างผลัดกันแพ้ ผลัดกันเสมอ ทำให้พวกเขาขึ้นมานำเป็นจ่าฝูง จากการมี 5 คะแนนเท่าซาอุฯ (ชนะได้ 2 คะแนน เสมอ ได้ 1 คะแนน) แต่ประตูได้เสียดีกว่า
ปราการด่านสุดท้ายของพวกเขาคือ อิรัก ที่ยังมีลุ้นเข้ารอบอยู่ ทำให้พวกเขาต้องเอาต้องเอาชนะให้ได้ในเกมนี้เพื่อการันตีการเข้ารอบ หรือหากพลาดท่าเสมอ ก็ต้องลุ้นให้ เกาหลีใต้ และซาอุฯ ไม่ชนะ และห้ามอิหร่านชนะซาอุฯ เกินกว่า 4 ประตู
ญี่ปุ่นเปิดเกมบุกตั้งแต่นาทีแรก ก่อนจะได้ประตูขึ้นนำอย่างรวดเร็วจากลูกโหม่งซ้ำของ "คิงคาซู" คาซุโยชิ มิอุระ ในนาทีที่ 5 แต่ไม่ว่าจะพยายามบี้หนักหวังทำประตูเพิ่มแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถบวกประตูเพิ่มได้ ทำให้จบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์ 1-0
พวกเขาเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 45 นาที ก็จะได้ไปเล่นฟุตบอลโลก เพราะเกาหลีใต้จบครึ่งแรกด้วยการเสมอกับเกาหลีเหนือ ในขณะที่ซาอุฯ เป็นฝ่ายออกนำอิหร่านอยู่ 2-1
อย่างไรก็ดี หลังเริ่มครึ่งหลังไปได้เพียงแค่ 9 นาทีญี่ปุ่นก็มาโดนตีเสมอจาก อาห์เหม็ด ราดี ทำให้พวกเขาต้องเร่งยิงประตูออกนำอีกครั้ง เพราะตอนนั้น เกาหลีใต้ออกนำ 2-0 ส่วนซาอุฯ ก็นำคู่แข่งอยู่ 3-2 และมาทำสำเร็จในนาทีที่ 69 จาก มาซาชิ นาคายามา
ทำให้ช่วงเวลาที่เหลือพวกเขาต้องยันเอาไว้ให้ได้ เนื่องจากทั้ง เกาหลีใต้ และ ซาอุฯ น่าจะคว้าชัยได้ทั้งคู่ จากสกอร์ 3-0 และ 4-2 ตามลำดับ ที่กลายเป็นวินาทีบีบหัวใจของแฟนบอลและนักเตะญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นพยายามต้านทานอย่างหนัก และหวิดจะเสียประตูอยู่หลายครั้ง ซึ่งต้องชื่นชมฝีมือการเซฟของ ชิเงทัตสึ มัตสึนางะ นายทวารจาก โยโกฮามา มารินอส ที่ปัดป้องเอาไว้ได้ จนทำให้ขุนพลซามูไรรักษาสกอร์นั้นได้จนถึงนาทีที่ 89
แต่ในขณะที่เข็มนาฬิกา เดินทางมาถึงนาทีที่ 90 และกำลังเข้าสู่ช่วงทดเวลา อิรักก็มาได้ลูกเตะมุมทางฝั่งขวา พวกเขาตัดสินใจเล่นสั้น ก่อนจะเปิดเข้ามาตรงกลาง และเป็น จาฟฟาร์ ออมรัน ที่ขึ้นมาโหม่งแบบไร้ตัวประกบเข้าไป และมันก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องฝันสลายในชั่วพริบตาเดียว
Photo : ultra-soccer.jp
"ทุกอย่างมันขาวโพลนไปหมด หลังจากโดนตีเสมอ แม้จะบอกว่าเรายังมีเวลาอยู่ แต่เราก็ทำไม่ได้แล้ว มันแค่นั้นแหละ ผมร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด ทุกคนรอบตัวล้วนอยู่ในสภาพนั้น" เท็ตสึจิ ฮาชิราตานิ กัปตันทีมชาติญี่ปุ่นในเกมนั้นกล่าวกับ Sportiva
จากผลเสมอ ทำให้ญี่ปุ่นหล่นลงมาอยู่ที่ 3 พร้อมกับปิดประตูที่จะไปเล่นฟุตบอลโลกอย่างชอกช้ำ มันคือเหตุการณ์ที่ช็อกคนทั้งประเทศ และถูกเรียกว่า "โศกนาฏกรรมแห่งโดฮา"
และมันก็คือบทเรียนสำคัญที่พวกเขาไม่มีวันลืม
แรงขับเคลื่อน
โศกนาฏกรรมโดฮา อาจจะทำให้คนญี่ปุ่นทั้งประเทศต้องผิดหวัง แต่ความทุ่มเทของนักเตะญี่ปุ่นในเกมนัดนั้น ได้สร้างความประทับใจให้กับชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้หลายคนหันมาสนใจฟุตบอล และรู้สึก "สนุก" กับการชมการแข่งขัน
ในขณะเดียวกัน ความเจ็บช้ำในครั้งนั้นยังกลายเป็นแรงกระตุ้น ที่ทำให้หลายคนเริ่มเล่นฟุตบอล ไม่ว่าจะอยากแก้แค้น หรือประทับใจเกมวันนั้น และก็ทำให้ JFA มีนักเตะที่ลงทะเบียนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 1991-1996 ถึง 273,000 คน โดยเป็นผู้เล่นอายุต่ำกว่า 12 ปีถึง 71,624 ราย
Photo : yns.main.jp
นอกจากนี้ อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนของพวกเขา คือการที่ญี่ปุ่นได้รับสิทธิ์ในปี 1996 ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2002 ร่วมกับเกาหลีใต้ ที่ทำให้พวกเขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะไปเล่นฟุตบอลโลกให้ได้ ก่อนที่จะได้สิทธิ์อัตโนมัติจากการเป็นผู้จัดการแข่งขัน
ทำให้หลังจากนั้น ญี่ปุ่นหมายมั่นปั้นมือกับฟุตบอลโลกเป็นพิเศษ ซึ่งหนึ่งในตัวช่วยของพวกเขาคือ "เจลีก" โดยเฉพาะระบบการพัฒนานักเตะตั้งแต่ระดับ "รากหญ้า" ที่มีมาตรฐาน ซึ่งสามารถผลิตนักเตะรุ่นใหม่ฝีเท้าดีออกมาให้ทีมชาติได้ใช้อย่างต่อเนื่อง
เช่นกันกับการที่สโมสรอาชีพมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก 10 ทีมในช่วงก่อตั้ง เป็น 17 ทีม ในปี 1997 ที่เพิ่มตัวเลือกให้กับเยาวชนที่จะเข้าไปอยู่ในระบบของเจลีก
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเป็น "สโมสรท้องถิ่น" ที่ทำให้สโมสรและนักเตะเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน เช่นไปเยี่ยมโรงเรียนและเล่นฟุตบอลกับเด็ก หรือจัดอีเวนต์ฟุตบอลให้เด็ก ที่กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กหันมาเล่นฟุตบอลกันมากขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขามีโอกาสได้พบนักเตะฝีเท้าดีมากขึ้นตามไปด้วย
และดูเหมือนว่ามันจะเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อดาวรุ่งที่เป็นผลผลิตจากเจลีก เริ่มผลิดอกออกผล เมื่อในปี 1995 ทีมเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีของพวกเขาได้ผ่านเข้าไปเล่นในโอลิมปิก 1996 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี
Photo : Photo : ironna.jp
ถึงแม้ว่าจะตกรอบแรก แต่ซามูไรบลูภายใต้การคุมทีมของ อากิระ นิชิโนะ ก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเอาชนะบราซิลได้เป็นครั้งแรก เป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ "ปาฏิหาริย์แห่งไมอามี" แถม 18 ขุนพลจากทีมชุดนั้น ล้วนเป็นนักเตะที่เล่นอยู่ในเจลีกกันทุกคน
และในปี 1997 บททดสอบสำคัญของพวกเขาก็มาถึง เมื่อฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกได้เวียนกลับมาอีกครั้ง
ในตอนนั้นซามูไรบลู ได้ผ่าตัดทีมยกใหญ่ ที่ทำให้พวกเขาเหลือนักเตะจากตัวจริงในเกมที่โดฮาเพียง 3 ราย ได้แก่ มาซามิ อิฮาระ, มาซาชิ นาคายามะ และ คิงคาซู โดยมีผู้เล่นจากชุดโอลิมปิก อย่าง โยชิคัตสึ คาวางุจิ, ฮิเดโตชิ นากาตะ และ โชจิ โจ สอดแทรกเข้ามา
ญี่ปุ่นเริ่มต้นได้อย่างร้อนแรงในรอบคัดเลือกรอบแรก ด้วยการชนะคู่แข่งไป 5 นัด และเสมอไปแค่นัดเดียว ที่ทำให้พวกเขาคว้าแชมป์กลุ่ม และผ่านเข้ามาเล่นในรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย
โดยรอบนี้จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 5 ทีม ที่พวกเขามีเพื่อนร่วมสายอย่าง เกาหลีใต้, อุซเบกิสถาน, คาซัคสถาน (ปัจจุบันย้ายไปเล่นในโซนยุโรป) และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งแชมป์กลุ่มเท่านั้น ที่จะได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายโดยอัตโนมัติที่ฝรั่งเศส ส่วนอันดับ 2 ต้องไปเพลย์ออฟกับรองแชมป์ของอีกกลุ่ม
อย่างไรก็ดี ราวกับหนังม้วนเดิมจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่อญี่ปุ่นภายใต้การคุมทีมของ ชู คาโมะ เริ่มต้นได้อย่างย่ำแย่ ไร้ชัยในสองเกมแรก จากการเสมอกับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 0-0 และพ่ายคาบ้านต่อเกาหลีใต้ 1-2 ทำให้พวกเขาหล่นลงมาอยู่อันดับ 3 ของตาราง
และฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึง ในเกมพบกับ คาซัคสถาน ซามูไรบลูเก็บได้เพียงแค่แต้มเดียว หลังถูกตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ที่ทำให้ คาโมะ ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยมี ทาเคชิ โอคาดะ ผู้ช่วยของเขาขึ้นมาขัดตาทัพ
และแม้ว่า โอคาดะ จะกู้หน้ากลับมาได้ ด้วยการเอาชนะ เกาหลีใต้ และคาซัคสถานใน 2 นัดสุดท้าย แต่ผลเสมอกับ ยูเออี และอุซเบกิซสถาน ใน 2 เกมก่อนหน้านั้น ก็ทำให้พวกเขาทำแต้มไล่ไม่ทัน เกาหลีใต้ และจบเพียงแค่อันดับ 2 ของกลุ่ม
ทำให้พวกเขาต้องมาลุ้นด้วยการเพลย์ออฟกับอิหร่าน เพื่อตั๋วใบสุดท้าย
การดีใจอย่างสุดขีดที่ยะโฮร์บาห์รู
16 พฤศจิกายน 1997 คือวันดีเดย์ของญี่ปุ่น เกมนัดนี้มีขึ้นที่สนามกลาง ลาร์คิน สเตเดียม เมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย โดยจะเป็นการแข่งขันแบบนัดเดียวจบ หากเสมอจะต่อเวลาพิเศษด้วยกฎ "โกลเดนโกล" หรือถ้ายังยิงเพิ่มกันไม่ได้ก็จะตัดสินด้วยการดวลลูกโทษ
ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายทำได้ดีกว่าในช่วงแรก เมื่อเป็นฝ่ายได้ประตูออกนำไปก่อนในนาทีที่ 39 จากมาซาชิ นาคายามะ ทว่าหลังจากเริ่มครึ่งหลังได้ไม่นาน อิหร่านก็เป็นฝ่ายพลิกแซงขึ้นนำจากประตูของ โคดาดัด อาซีซี และ อาลี ดาอี ในนาทีที่ 46 และ 58 ตามลำดับ
ทำให้ ทาเคชิ โอคาดะ ต้องทุ่มหมดหน้าตัก ด้วยการเปลี่ยนตัวคู่ศูนย์หน้าอย่าง นาคายามะ และ คิงคาซู ออกตั้งแต่นาทีที่ 63 แล้วส่ง วากเนอร์ โลเปซ และ โชจิ โจ ลงไปแทน ซึ่งโจ ก็ตอบแทนเขาในอีก 12 นาทีต่อมา ด้วยการโหม่งประตูตีเสมอให้ญี่ปุ่นได้สำเร็จ ต่อชีวิตญี่ปุ่นได้อีกเฮือก
ในช่วงทดเวลาเจ็บ โอคาดะ ก็ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ด้วยการส่ง มาซายูกิ โอคาโนะ ในตำแหน่งศูนย์หน้าลงไปแทน สึโยชิ คิตาซาวะ กองกลางของทีม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีฝ่ายใดทำประตูเพิ่มได้ ทำให้ต้องต่อเวลาพิเศษออกไป
ในช่วงต่อเวลาพิเศษครึ่งแรก โอคาโนะ ก็ทิ้งโอกาสทองไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อเขาได้บอลหลุดเดี่ยวเข้าไปในกรอบเขตโทษ แต่แทนที่เขาจะยิง กลับส่งให้เพื่อนร่วมทีม จนทำให้กองหลังอิหร่านสกัดทิ้งออกไปได้
อย่างไรก็ดี ก่อนหมดเวลาเพียง 2 นาที เขาก็มาแก้ตัวได้สำเร็จ เมื่อ ฮิเดโตชิ นากาตะ ตัดสินใจพาบอลไปหน้าเขตโทษ ก่อนยิงไกลด้วยซ้าย บอลอาจไม่แรงมาก แต่ทำให้ผู้รักษาประตูอิหร่านต้องปัดออกมา โอคาโนะ ซึ่งอยู่ตรงนั้นพอดี จึงจัดการล้มตัวยิงเข้าไปอย่างง่ายดาย ท่ามกลางเสียงเฮของแฟนบอลญี่ปุ่นทั้งสนาม
เขาวิ่งไปพร้อมกับแสดงความดีใจอย่างสุดเหวี่ยง เมื่อประตูดังกล่าวมีความหมายว่าญี่ปุ่นได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
"ในที่สุด โอคาโนะ ก็พาญี่ปุ่นไปเล่นฟุตบอลโลกแล้ว" เท็ตสึโอะ นางาซากะ ผู้บรรยายของฟูจิทีวี ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดสดในเกมนัดนั้น ตะโกนออกมาด้วยความดีใจ
หลังจากนั้นก็กลายเป็นความโกลาหล นักเตะและสตาฟโค้ช ต่างพากันวิ่งลงมาในสนาม หลายคนร้องไห้ด้วยความตื้นตัน เช่นเดียวกับแฟนบอลที่ญี่ปุ่น ที่ปักหลักเชียร์ท่ามกลางสายฝนอยู่ที่โอลิมปิก สเตเดียม ก็พากันฉลองอย่างสุดเหวี่ยง
เพราะมันไม่เพียงแต่ทำให้ทีมชาติญี่ปุ่นได้ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกเท่านั้น แต่มันยังช่วยปลดล็อกความรู้สึกเศร้าหมองในใจที่เกาะกุมนักเตะและแฟนบอลจากเหตุการณ์ที่โดฮาเมื่อ 4 ปีก่อน ราวกับยกภูเขาออกจากอก
"ทำได้แล้ว ทำได้แล้วโว้ย เปลี่ยนมันได้แล้ว พวกเราแก้ไขมันได้แล้ว" โชจิ โจ นักเตะในเกมนั้นกล่าวทั้งน้ำตา
ทำให้มันกลายเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ และถูกเรียกว่า "การดีใจอย่างสุดขีดที่ยะโฮร์บาห์รู"
จุดเริ่มต้นแห่งความฝัน
ญี่ปุ่น อาจจะทำผลงานในฟุตบอลโลกครั้งแรกได้ไม่ดีนัก หลังพ่ายคู่แข่ง 3 นัดรวดในการพบกับ อาร์เจนตินา, โครเอเชีย และจาเมกา แต่อาจจะไม่ใช่หากดูจากฟอร์มการเล่น เมื่อพวกเขาได้รับเสียงชื่นชม จากการสู้ไม่ถอยในทุกนัดที่ลงสนาม
ก่อนที่พวกเขาจะกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งในอีก 4 ปีต่อมาที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ ด้วยผลงานไร้พ่ายในรอบแรก จนสามารถทะลุเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
หลังจากนั้นพวกเขาก็กลายเป็นขาประจำในฟุตบอลโลก ด้วยการผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายได้ถึง 6 สมัยติดต่อกัน แถมยังผ่านไปถึงรอบน็อกเอาต์ได้อีก 2 ครั้งในปี 2010 และ 2018
ในขณะที่ปัจจุบัน พวกเขากำลังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะคว้าแชมป์โลกภายในปี 2092 ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนวิสัยทัศน์ 100 ปี เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้ลีกมีสโมสรอาชีพครบ 100 สโมสรภายในปีเดียวกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จของพวกเขาไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการวางแผนในระยะยาว ทั้งในแง่โครงสร้างและรากฐาน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเตะระดับรากหญ้ามาตั้งแต่ก่อนก่อตั้งลีก ที่ทำให้พวกเขาก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง
ทำให้การไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย กลายเป็นมาตรฐานที่ต้องทำให้ได้ และไม่ต้องมาลุ้นอย่างหืดจับในทุก 4 ปีที่เวียนมาถึงอีกแล้ว