ปรับแพ้ก็ไม่สน : ย้อนรอย “สเปน” ตกรอบคัดเลือกยูโร 60 เพราะไม่อยากเหยียบแผ่นดินโซเวียต
สำหรับชาวยุโรป “ศึกฟุตบอลยูโร” คือ เกมลูกหนังที่มีความหมายอย่างมาก เป็นถ้วยรางวัลที่ทุกชาติในทวีปต่างใฝ่ฝันอยากได้มาครอบครอง
แต่ย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน ในยุคสมัยที่การตกรอบของชาติยักษ์ใหญ่ ไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้คนมากขนาดนี้ มีบางประเทศพร้อมออกจากการแข่งขันอย่างไม่ยินดียินร้าย หากมีประเด็นนอกสนามเข้ามารบกวนจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องจากเวทีการเมือง
ตัวอย่างเช่น ทีมชาติสเปน ที่ในรอบคัดเลือกยูโร 1960 พวกเขาได้ขอสละสิทธิ์ตกรอบออกจากการแข่งขัน เพียงเพราะได้ผลจับฉลากให้ต้องมาเจอกับสหภาพโซเวียต (มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ประเทศรัสเซียในปัจจุบัน) แผ่นดินที่สเปนไม่ต้องการให้ประชาชนไปเหยียบมากที่สุดในโลก
Say No To Soviet
ปี 1958 คือจุดกำเนิดที่แท้จริงของฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ที่เกิดขึ้นตามความต้องการของ อองรี เดอโลเนย์ ผู้ล่วงลับ และถูกสานต่อโดย ปิแอร์ เดอโลเนย์ ลูกชายของเขา
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นรายการใหม่ จึงทำให้มีชาติเข้าร่วมการแข่งขันเพียง 17 ชาติ ขณะที่ประเทศชื่อดังอย่าง อังกฤษ, สกอตแลนด์, เยอรมัน, สวีเดน, อิตาลี ต่างไม่เข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้ โดยมีชาติเดียวจากยุโรปที่เคยผ่านเข้าชิงฟุตบอลโลก ลงแข่งขันในรายการนี้คือ ฮังการี
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งแรก จึงเปิดโอกาสให้ชาติน้องใหม่ ที่กำลังโหยหาความสำเร็จในฟุตบอลระดับนานาชาติได้เข้ามาไล่ล่าถ้วยแชมป์ อาทิ ฝรั่งเศส, สหภาพโซเวียต, ยูโกสลาเวีย, เช็กโกสโลวาเกีย และสเปน
Photo : theantiquefootball.com
ก่อนหน้านี้ สเปน ไม่ค่อยได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายภายในประเทศ ผ่านการเกิดสงครามกลางเมือง แต่ทัพกระทิงดุก็เคยฝากผลงานที่น่าประทับใจไว้ ด้วยการคว้าอันดับ 4 จากการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1950
ฟุตบอลยูโร 1960 จึงเป็นรายการสำคัญที่ทัพสเปนตั้งความหวัง เพราะผลงานในรอบคัดเลือกนัดแรกที่พบกับโปแลนด์ ทัพกระทิงดุได้กระซวกไส้คู่แข่งด้วยผลสกอร์รวม 7-2 (ชนะ 4-2 และ 3-0) ผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกรอบสุดท้ายไปได้อย่างสวยงาม
แต่พอผลการจับฉลากออกมา สเปนต้องมาพบกับสหภาพโซเวียต ชาติมหาอำนาจจากดินแดนตะวันออก ทีมชาติสเปน กลับประกาศเลือกที่จะยอมถูกปรับแพ้อย่างไม่ลังเล โดยไม่มีความรู้สึกเสียดายเลยที่จะต้องตกรอบ ปล่อยให้โซเวียตเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้าย โดยไม่ต้องลงมือลงแรงแม้แต่น้อย
เหตุผลในการถอนตัวครั้งนี้ ไม่มีเรื่องฟุตบอลมาเกี่ยวข้อง แต่มาจากการไม่ชอบหน้ากันล้วน ๆ ระหว่างผู้มีอำนาจของทั้งสองประเทศ ที่กินระยะเวลายาวนานมากว่า 20 ปี
สงครามกลางเมืองเป็นเหตุ
ย้อนไปในปี 1936 สงครามครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศสเปนได้ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือสงครามกลางเมืองสเปน ระหว่าง ฝั่งสาธารณรัฐ กับ ฝั่งชาตินิยม
ฝั่งสาธารณรัฐ คือกลุ่มผู้มีอำนาจในสเปนที่ชูแนวคิดฝั่งซ้าย หรือคอมมิวนิสต์ขึ้นมา เพื่อหวังจะปฏิวัติประเทศสเปน ให้ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ที่ลดอำนาจของรัฐบาลกลาง เน้นการปกครองตัวเองของแต่ละรัฐ โดยมีศูนย์กลางของกองทัพอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออกของประเทศ ปกคลุมแคว้นกาตาลูญญา และบาสก์ สองเชื้อชาติที่ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นสเปน และต้องการอิสระในการปกครองดินแดนของตัวเอง
ขณะที่ฝั่งชาตินิยม หรือสเปนนิยม คือกลุ่มทหารในประเทศสเปน ที่ต้องการรักษาความเป็นปึกแผ่นเดียวกันของสเปนไว้ แน่นอนว่าฝั่งนี้เลือกใช้แนวคิดทางการเมืองแบบขวาจัด และต้องการเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นรัฐชาตินิยม ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการฟาสซิสต์
ถึงจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองภายใน แต่ความจริงแล้ว การต่อสู้ระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ในแดนกระทิงดุ มีมือที่มองเห็นคอยหนุนหลัง … ฝั่งสาธารณรัฐได้รับการสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าโดยสหภาพโซเวียต บิดาแห่งคอมมิวนิสต์ในเวทีการเมืองโลก
ขณะที่ฝั่งชาตินิยมไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุน แต่เพื่อนพ้องชาวฟาสซิสต์ ทั้งอิตาลี โดย เบนิโต มุสโสลินี และนาซีเยอรมัน โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยังส่งกองกำลังใหญ่มาช่วยจัดการพวกฝ่ายซ้าย ซึ่งถือเป็นศัตรูโดยธรรมชาติ ตามแนวคิดของฟาสซิสต์
ด้วยอำนาจทางการทหารที่เหนือกว่า และความเด็ดขาดของ นายพลฟรังโก หรือ ฟรานซิสโก ฟรังโก ผู้นำของฝั่งชาตินิยม ส่งผลให้กองกำลังฝ่ายขวาได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ ปิดฉากการต่อสู้ที่เริ่มในปี 1939 พร้อมกำจัดแนวคิดคอมมิวนิสต์ออกไปจากสเปนได้อย่างหมดสิ้น
นับแต่นั้นเป็นต้นมา สเปนก็อยู่ภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโกมาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำรายนี้ไม่เคยลืม คือความเจ็บแค้นที่ตัวเขามีต่อสหภาพโซเวียต
เพราะในช่วงสงคราม โซเวียตคือผู้สนับสนุนรายใหญ่ให้ฝั่งสาธารณรัฐ ส่งทั้งอาวุธ, เครื่องบิน และรถถัง จำนวนมาก ให้กองกำลังฝ่ายซ้ายใช้ในการต่อสู้ ว่ากันว่า ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่โซเวียตส่งให้ฝั่งสาธารณรัฐใช้ในสงครามกลางเมืองครั้งนั้น มีมูลค่ารวมถึง 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน หรือประมาณ 3 แสนล้านบาทไทย
เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากสงครามจบลงไปหลายปี สหภาพโซเวียตยังหาเรื่องกลั่นแกล้งรัฐบาลสเปนของนายพลฟรังโก ด้วยการบังคับให้จ่ายเงินค่าอาวุธที่โซเวียตเคยส่งให้กองกำลังฝั่งสาธารณรัฐ ซึ่งในมุมของโซเวียตมองว่าผู้สั่งซื้อเป็นรัฐบาลอย่างถูกต้องในช่วงปี 1936-1939 เท่ากับว่ารัฐบาลสเปนติดหนี้โซเวียตอยู่ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นปกครอง ก็ต้องจ่ายหนี้แทนรัฐบาลชุดเก่า
ทำให้ในปี 1956 รัฐบาลสเปนไม่มีทางเลือก ต้องจ่ายเงินราว 494 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับโซเวียต (คิดเป็นค่าเงินในปัจจุบัน) หรือประมาณ 15,000 ล้านบาทไทย และสร้างความเจ็บแค้นให้กับนายพลฟรังโกเป็นอย่างมาก
เหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้เมื่อทีมชาติสเปน ต้องมาเจอกับสหภาพโซเวียตในรอบคัดเลือกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปปี 1960 นายพลฟรังโก จึงไม่ยอมให้ทีมชาติสเปนไปแข่งขันบนแผ่นดินโซเวียต เพราะไม่ต้องการจะยุ่งเกี่ยว กับชาติคอมมิวนิสต์ที่พวกเขารังเกียจ
นอกจากนี้ นายพลฟรังโกยังโชว์เพาเวอร์ ด้วยการสั่งให้การแข่งขันลดลงจากที่ต้องเตะเหย้า-เยือน เหลือแค่เกมเดียว (เพราะสเปนจะไม่ไปเตะที่โซเวียตเด็ดขาด) ถ้าอยากแข่งก็ต้องเตะแค่นัดเดียว ซึ่งจะจัดที่ไหนก็ได้ ยกเว้นที่โซเวียต
เจอแบบนี้ โซเวียตก็ไม่ยอมเหมือนกัน พร้อมกับประกาศชัดว่า ต้องมีเกมที่มาเตะในโซเวียตด้วย ถึงจะยอมแข่ง
สุดท้ายฝ่ายจัดการแข่งขันก็ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องปรับสเปนซึ่งเป็นผู้เริ่มปัญหาให้ตกรอบไป ซึ่งนายพลฟรังโกก็ไม่สนใจ และดีใจด้วยซ้ำที่ไม่ต้องเห็นทีมฟุตบอลตัวแทนของสเปน ไปยุ่งเกี่ยวกับชาติที่เขารังเกียจเป็นการส่วนตัว
“ความสัมพันธ์ของพวกเรา กับสเปน ย่ำแย่ถึงที่สุดแล้ว คุยกับคนพวกนี้ไปก็จะมีแต่ปัญหา” ไนกิต้า คราเชฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ของสหภาพโซเวียตในเวลานั้นกล่าว ซึ่งเป็นประโยคที่แสดงความชิงชังระหว่างทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี
เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น..
การถอนตัวของสเปนในครั้งนั้น เป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับวงการฟุตบอล เพราะการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรปปี 1960 ก็ยังคงดำเนินต่อไป และผลลัพธ์ที่ออกมาคือ สหภาพโซเวียต ได้เถลิงบัลลังค์กลายเป็นแชมป์แรกในประวัติศาสตร์ของรายการนี้
แต่สำหรับเวทีการเมือง ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย เพราะฝั่งโซเวียตมองว่าสเปนหยามเกียรติ ด้วยการไม่ยอมส่งทีมชาติมาแข่งบนแผ่นดินโซเวียต
ขณะที่ฝ่ายสเปนก็เจ็บใจ ที่ถูกมองว่ามีส่วนส่งให้โซเวียตคว้าแชมป์ เนื่องจากปล่อยให้อริผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปอย่างง่ายดาย แถมต้องเห็นชาติคู่ปรับประสบความสำเร็จ แถมยังเอาไปอวดความเกรียงไกรของชาติ ตามแบบฉบับยุคสงครามเย็นได้อีกด้วย
ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองชาติปะทะอย่างรุนแรงในปี 1960 โชคดีที่เวลานั้นโลกอยู่ในยุคสงครามเย็น และไม่มีชาติมหาอำนาจที่อยากปะทะกันอย่างตรงไปตรงมา สถานการณ์จึงพลิกผันให้สเปน และสหภาพโซเวียต เซ็นสัญญาที่จะไม่รบกันอีกในปี 1963 เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่า จะไม่มีฝั่งไหนหัวร้อน และเปิดสงครามจนสร้างความเดือดร้อนไปทั่วยุโรป
ด้วยเหตุนี้ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1964 ทั้งโซเวียต และสเปน จึงเข้าร่วมการแข่งขันอย่างไร้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองชาติได้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายของการแข่งขัน (ที่มีแค่ 4 ทีม) สเปนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันรอบสุดท้าย และโซเวียตก็ไม่มีปัญหาที่จะเดินทางไปเล่นฟุตบอลบนแผ่นดินของชาติคู่ปรับ
Photo : futbolretro.es
แม้มีการร่ำลือกันว่า เหตุผลที่สเปนถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพในปี 1964 ก็เพราะอยากเอาใจนายพลฟรังโก ซึ่งไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ฝ่ายจัดการแข่งขันก็คิดถูกอย่างมาก
เพราะสเปน และสหภาพโซเวียต ได้เข้ามาพบกันในรอบชิงชนะเลิศ ที่ตั๋วชมการแข่งขัน 80,000 ใบขายหมดเกลี้ยง มีผู้ชมเข้ามาเต็มสนามซานติอาโก้ เบอร์นาเบว หวังได้เห็นสเปนอัดชาติคู่ปรับให้หายซ่า
ขุนพลกระทิงดุ ไม่ทำให้ชาวสเปน และนายพลฟรังโก ที่เข้ามานั่งชมเกมถึงสนามในวันนั้นต้องผิดหวัง สามารถเอาชนะโซเวียตไปด้วยสกอร์ 2-1 คว้าแชมป์ยูโรมาครองได้สำเร็จ และทำให้สเปนเกรียงไกรสุดขีด เพราะไม่เคยแพ้ในการแข่งขันฟุตบอลยูโรหนนั้นเลยแม้แต่นัดเดียว ขณะเดียวกันก็ได้ยัดเยียดความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในรายการนี้ให้กับสหภาพโซเวียตได้อีกด้วย
Photo : cultofcalcio.com
นั่นคือครั้งสุดท้าย ที่ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติ เกิดขึ้นโดยมีฟุตบอลมาเกี่ยวข้อง เพราะทั้งสเปน และโซเวียต ค่อย ๆ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างช้า ๆ จนเปิดไมตรีทางการทูตแบบเต็มรูปแบบในปี 1977
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้น ในการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ที่แสดงให้เห็นว่า “กีฬากับการเมือง” ไม่เคยแยกขาดจากกัน ไม่ว่าคุณจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม