เส้นทางมหัศจรรย์ของ คีริน ตันติเวทย์ นักวิ่งลูกครึ่งอเมริกันหัวใจไทย
ในแวดวงกรีฑาขณะนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ “คีริน ตันติเวทย์” ลมกรดลูกครึ่งไทย-อเมริกา วัย 24 ปี ที่ผลงานล่าสุดในนามทีมชาติไทยคือการคว้าโควตาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้เป็นคนที่ 18 ของนักกีฬาไทย จากรายการวิ่งระยะ 10,000 ม.
คีริน แจ้งเกิดในนามทีมชาติไทยด้วยการคว้า 2 เหรียญทองซีเกมส์ 2019 ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จากการแข่งขันรายการ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 ชนิดที่ว่าทิ้งห่างคู่แข่งกันเลยทีเดียว
จากผลงานอันโดดเด่นในซีเกมส์ 2019 ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นวงการกรีฑา นักวิ่ง หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยสนใจกรีฑาก็ยังรู้จัก ด้วยฝีเท้าอันทรงพลัง หน้าตาหล่อเหลาจิ้มลิ้ม แถมดีกรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียกได้ว่า เรียนดี กีฬาเด่น จริงๆ
รอยยิ้มของ คีรินย์ กับความสำเร็จในนามทีมชาติไทย (ช่างภาพมีกล้าม)
จุดเริ่มต้นของก้าวแรก
ตามประสาเด็ก เขามีความสนใจในการเรียนและเล่นกีฬา ซึ่งคุณพ่อให้การสนับสนุน โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้คีรินก้าวเข้าสู่วงการวิ่งคือการเริ่มวิ่งตามพี่ชาย “ชานันต์ ตันติเวทย์” ของเขานั่นเอง เวลาพี่ชายซ้อมวิ่ง ออกกำลังกาย หรือ ฝึกซ้อม คีรินมักจะไปด้วยเสมอ ซึ่งฝีเท้าของพี่ชายก็ใช่ย่อย เขาสังกัดชมรมกรีฑา มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาสาขาวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะนิสิตคณะวิศกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมีและชีวภาพ เป็นทั้งนักวิ่งครอสคันทรี่และวิ่งในลู่วิ่ง โดยชานันต์สามารถคว้าอันดับที่ 2 ในรายการ Rehoboth Seashore Half Marathon 2019 ในรัฐเดลาแวร์ ด้วยเวลา 1:13:18 ชม. ซึ่งเป็นสถิติฮาล์ฟมาราธอนแรกในชีวิต
“ผมเลือกวิ่งบนลู่เพราะคิดว่าง่ายกว่าวิ่งบนถนน ซึ่งเร็วและยาก ใช้กำลังมาก”
นี่คือเหตุผลที่คีรินเลือกทางลู่มากกว่าถนน เขาถือเป็นนักวิ่งระยะกลาง ซึ่งมีระยะทำการคือ 1ไมล์, 1,500 เมตร, 5,000เมตร, 10,000 เมตร รวมไปถึงครอสคันทรี่ที่ระยะ 10 กิโลเมตร ซึ่งเขาได้เข้าร่วมชมรมกรีฑาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอย่างไม่ลังเล ด้วยผลงานฝีเท้าอันโดดเด่น วินัย ความกระหายในการแข่งขัน ทำให้คีรินกลายเป็นดาวเด่นของชมรมโดยปริยาย ถูกยกให้เป็นสุดยอดสถิติตลอดการของชมรมกรีฑามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (All-time Crimson record and Harvard Athletics)
- โม ฟาราห์ ผมกลับมาเพราะยังกระหายความสำเร็จ
- พาโว นูร์มี่ ตำนานระยะกลาง-ไกลของโอลิมปิก
- ยูเซน โบลต์ จากเด็กไฮเปอร์ สู่ชายที่ไม่มีใครไล่ทัน
- คาร์ล ลูอิส ชายผู้ครองบัลลังก์ทั้งลู่และลานในโอลิมปิก
- เอลิอุด คิปโชเก้ ความยอดเยี่ยมที่มาจากความเรียบง่าย
คีริน คว้าแชมป์ 3000 ม. Ivy League ด้วยเวลา 3:57.36 นาที และรองเท้าข้างเดียว (Harvard University Athletics)
เข้าสู่วงการกรีฑาแบบเต็มตัว
แม้การฝึกซ้อมและแข่งขันกับชมรมกรีฑาของมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่ระดับอาชีพ (non-professional runner) ก็ตาม แต่การได้รายล้อมด้วยนักวิ่งที่เก่งกาจ มีโค้ชที่ดี การฝึกซ้อมที่เข้มข้น และประสบการณ์หลากหลายที่ได้จากแต่ละสนามแข่งขันที่มีให้แข่งเกือบทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นปกติของอเมริกา ที่มีจัดการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่ทั้งกลางแจ้งและในร่มเป็นประจำ เหมือนกับงานวิ่งระยะไกลที่บ้านเรานั่นแหล่ะ
คนส่วนมากมากคิดว่านักศึกษาที่เป็นลูกครึ่งอเมริกัน-เอเชีย มักไม่จริงจังในการวิ่ง พอจบมหาวิทยาลัยไปแล้วก็คงเลิก แต่คีรินสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าด้วยข้อกำจัดที่อาจด้อยกว่านักวิ่งอเมริกัน เขาสามารถพิชิต Sub-4 ไมล์ โดยยังมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมไว้ได้ ซึ่งสัดส่วนของนักกรีฑาใน NCAA (The National Colligiate Athletic Association) ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับวิทยาลัยและอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่เป็นเวทีประชันสุดยอดนักกีฬาเพื่อคัดเฟ้นสู่วงการกีฬามืออาชีพ หรือแม้แต่โอลิมปิก มีเพียง 2% ที่เป็นคนเอเชีย, ฮาวาย หรือ คนจากหมู่เกาะแปซิฟิก จากนักกรีฑาทั้งหมดมากกว่า 480,000 คน โดย 64%เป็นคนผิวขาว ในการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่ครั้งแรก คีรินบอกว่ามันเหนื่อยเหลือเกิน และไม่ชนะเลยซักรายการ เพราะการจัดจังหวะวิ่ง (pacing) ของตัวเองยังไม่ลงตัว
- กาเบรียล่า แอนเดอร์เซ่น เชสส์ : เส้นชัยที่ต้องไปให้ถึง ผู้หญิงคู่ควรกับมาราธอนโอลิมปิก
- 1 ปี 6 เดือน จากชายอ้วนหนัก 198 กิโลกรัม สู่นักวิ่งผู้พิชิตฟูลมาราธอน
- เส้นทางมหัศจรรย์ของ คีริน ตันติเวทย์ นักวิ่งลูกครึ่งอเมริกันหัวใจไทย
- 5 เรื่อง(ไม่)ลับของ อลิก้า ชมิดท์
- บุญถึง ศรีสังข์ : ชีวิตจริงยิ่งกว่ามาราธอน
แชมป์ 1600 เมตร รายการ 2014 New Castle Country Track and Field Championships ที่เมืองวิลมิงตัน (William Bretzger/ Delaware News Journal)
มีดที่คมอยู่แล้ว ยิ่งลับ มันก็ยิ่งคมและเข้าฝัก
สังเกตจากสถิติการวิ่งที่ดีวันดีคืน ในปี 2015 เขาเริ่มแข่งขันวิ่งครอสคันทรี่ ระยะ 5 และ 8กิโลเมตร ซึ่งเขาสามารถทำมันได้ดีมากๆ ก่อนเริ่มวิ่งในลู่วิ่งในปี 2016 ตั้งแต่ระยะ 1 ไมล์ไปจน 3,000เมตร และได้เพิ่มระยะขึ้นตามประสบการณ์และการสะสมระยะเป็น 5,000 เมตร ในปี 2018 เขาได้กลายเป็นนักวิ่งระยะกลางฝีเท้าดีอีกคนที่หาตัวจับได้ยาก และในปี 2019 เขาได้ขยับมาลงระยะ 10,000 เมตร ทำลายสถิติ 5,000เมตรของตัวเอง
➲ Sub-4 Mile
งานแข่งที่เป็น Talk of the Town ของปี 2020 คงหนีไม่พ้นการทำ Sub-4 Mile (การวิ่ง 1 ไมล์ในเวลาที่ต่ำกว่า 4 นาที) ด้วยเวลา 3:57.36 คว้าแชมป์ในการแข่งขัน BU David Hemery Valentine Invitational 2020 ที่ทำลายทั้งสถิติตัวเองและสถิติของชมรม เป็นสถิติอันดับที่ 2 ของไอวีลีก (Ivy League), อันดับ 9 ของ NCAAปี 2020 เป็นคนที่ 2ของรัฐเดลาแวร์ที่ทำสำเร็จ และที่สำคัญเขายังคงการเรียนได้เป็นอย่างดี เกรดเฉลี่ย 3.6-3.7!!!
เข้าเส้นชัยพร้อมรอยยิ้ม กับสถิติ Sub-4 Mile ที่งาน 2020 BU David Hemery Valentine Invitational 2020 (Brian Panoff)
One-Shoe Wonder
ในปี 2019 คีรินลงแข่งให้กับชมรมกรีฑาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในการแข่งขัน 2019 Indoor Ivy Heps Championship ซึ่งเป็น Ivy Leauge Indoor Track & Field Championship เขาได้จารึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของวงการกรีฑาและแม้แต่ตัวของเขาเอง ด้วยการคว้าแชมป์ 3,000 เมตรด้วยรองเท้าเพียงข้างเดียว
จริง ๆ เขาไม่ได้ตั้งใจจะวิ่งข้างเดียวหรอก แต่รองเท้าตะปูเจ้ากรรมเกิดปัญหาเมื่อวิ่งไปได้ 300เมตร เนื่องจากมีนักวิ่งข้างหลังเผลอเหยียบส้นรองเท้าตอนออกตัว เลยปลิ้นไปปลิ้นมา จะหยุดใส่ก็ไม่ได้ จะวิ่งต่อไปก็คงไปไม่ถึง สุดท้ายคีรินตัดสินใจเตะข้างนั้นทิ้งไป วางแผนการวิ่งใหม่แล้ววิ่งด้วยเท้าเปล่ากับรองเท้าตะปูอีกข้างเป็นระยะทาง 2,500 เมตร
ช่วง 1,800 เมตรแรกก็ยังดีอยู่ ถึงจะวิ่งสบายแต่ก็ไม่สบายเหมือนมีรองเท้าอยู่ดี เขาพยายามไม่โฟกัสที่เท้า แต่จดจ่อกับเป้าหมายแทน ซึ่งคือการทำให้ใกล้เคียงที่สุดแล้วปิดอย่างสตรอง ทำให้ระยะ 1,500 เมตร หลังเริ่มดีขึ้น แต่พอเข้าช่วง 1,000 เมตรสุดท้าย หนังเท้าเริ่มหลุด เขาอดกลั้นความเจ็บปวด กลั้นใจเก็บแรงไว้สปรินท์รอบสุดท้าย และเขาก็ทำสำเร็จด้วยการฉีกแซง Brian Zabilski รุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา 8:12.72 นาที เพซเฉลี่ย 2:44
เมื่อเข้าเส้นชัยโค้ชต้องรีบพยุงไปปฐมพยาบาล เขาได้แชร์ภาพฝ่าเท้าที่พุพองในอินสตาแกรมของเขา ซึ่งในความเป็นจริงเขาควรจะหยุดพักการใช้เท้าเพื่อให้แผลหาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นในฐานะเฟรชชี่ไฟแรง วันรุ่งขึ้นเขายืนยันลงแข่ง 5,000 เมตร คว้าแชมป์ด้วยเวลา 14:25.32 นาที แต่ครั้งนี้เขาใส่รองเท้าครบ (ฮา)
คีรินกับโค้ชสมัยอยู่ชมรมกรีฑาฮาร์วาร์ด
สภาพฝ่าเท้าซ้ายของคีรินหลังเข้าเส้นชัย (@kierunner)
“ตราบใดที่ผมยังวิ่งได้ ผมอยากทำมันให้เต็มที่จนถึงที่สุด ตอนวอร์มอัพก่อนวิ่งมันเจ็บตรงเท้ามากๆ แต่ก็อยากลองดูสักตั้ง” คีรินเผยความในใจ
จากผลงาน 2 เหรียญทองในระยะ 3,000 และ 5,000เมตร บวกกับวีรกรรมรองเท้าข้างเดียว ทำให้คีรินได้รับเลือกให้เป็นนักกรีฑาชายประเภทลู่ที่โดดเด่นของรายการ (The Male Most Outstanding Track Performer) เรื่องราวของเขาถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์และนิตยสารมากมาย มีหลายคนพูดถึงการวิ่งอันน่าจดจำนั้น ถึงขั้น ESPN เผยแพร่คลิปจังหวะสปรินท์แลปสุดท้ายในทวิตเตอร์ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เขาศึกษาอยู่ได้ยกย่องให้เขาเป็นนักกีฬาชายโดดเด่นของปี 2019 (Male Performace of the Year 2019)
ในปี 2020 หนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน สามารถคว้า 2 ทองจากแข่งขัน Ivy League Indoor Track & Field Championshios ในระยะ 3,000 เมตร (8:28.90 น.) และ 5,000 เมตร (14:20.65 น.) และด้วยสถิติ 3,000 เมตรนี้ทำให้เขาได้รับคัดเลือกให้ร่วมแข่งขันใน NCAA แต่ความฝันการไปสู่เวทีระดับชาติต้องจบลงเพราะ โควิด-19 ระบาดหนัก การแข่งขันต้องยกเลิกไป
วิ่งรองเท้าข้างเดียวคว้าแชมป์ 3000 เมตร ก่อนคว้าอีกทองใน 5000 เมตรวันรุ่งขึ้น (Ivy League)
การก้าวเข้าสู่ทีมชาติไทย
แม้จะเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่เติบโตและใช้ชีวิตส่วนมากที่ต่างแดน แต่ในใจลึกๆ ของเขา ยังคงโหยหาและต้องการเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันกรีฑา คีริน ฝึกฝนและเรียนภาษาไทยอยู่เสมอ เขาสามารถพูดประโยคเบื้องต้น สื่อสารได้ เขียนและพิมพ์ได้ แม้แต่ทำอาหารไทยกินเองและอัพลงสตอรี่ในอินสตาแกรมบ่อยๆ
โชคชะตาเป็นใจ ประมาณปี 2017 เขาได้กลับมาเยี่ยมญาติที่ไทย ซึ่งเพื่อนของพ่อที่อยู่ในวงการบาสเกตบอลได้แนะนำให้ลองไปติดต่อสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางทีมชาติไทยของ คีริน ตันติเวทย์ ด้วยการประเดิมภารกิจแรกที่เอเชียนเกมส์ ปี 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคีรินส่งชื่อลงแข่ง 2 รายการ คือ 5,000เมตร และ 10,000 เมตร แต่เขาลงแข่งแค่รายการ 10,000 เมตร พร้อมกับนักวิ่งระยะกลางรุ่นพี่ ตำนานทีมชาติไทย “บุญถึง ศรีสังข์” เจ้าของสถิติ 10,000 เมตร ประเทศไทย
คีริน วิ่งเกาะกลุ่ม ก่อนแซง Zhu Renxue จากจีนเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 4 ด้วยเวลา 30:29.04 นาที เพซเฉลี่ย 3:03 ถือว่าเป็นม้ามืดของรายการ เพราะตัวเต็งระยะนี้คือชาติตะวันออกกลางกับจีน โดย Hassan Chani (บาห์เรน) เข้าเป็นอันดับ 1 ด้วยเวลา 28:35.54 นาที , Abraham Cheroben (บาห์เรน) อันดับ 2 เวลา 29:00.29 นาที และ Zhao Changhong (จีน) อันดับ 3 เวลา 30:07.49 นาที แม้ในปี 2020 มีประกาศจาก IAAF ว่า Hassan Chani โดนแบน 4ปีจากการแข่งขันกรีฑา และปลดเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2018 เพราะผลการใช้สารกระตุ้นก็ตาม
จากข่าวนี้...คีรินถือว่าเข้าเป็นอันดับ 3 คว้าทองแดงเอเชียนเกมส์ได้เลย
แต่ตอนนั้นเรื่องกรีฑายังไม่ค่อยได้รับความสนใจในหมู่คนไทย หลายคนไม่ค่อยรู้จักหรือติดตามผลการแข่งขันมากนัก ทำให้ไม่ค่อยมีใครได้ทราบผลงานหรือรู้จักเขาหากไม่ใช่คนในวงการกรีฑาจริงๆ แต่เวลาผ่านไป 1 ปี ในปี 2019 ที่กีฬาวิ่งระยะไกลเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย ชื่อของ “คีริน ตันติเวทย์” กลับเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่นักกีฬา นักวิ่ง และคนที่ไม่ได้วิ่งเลย จากผลงาน 2 เหรียญทองซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในระยะ 5,000 เมตร (14:31.15) และ 10,000 เมตร (30:19.28 นาที) ที่เรียกได้ว่ากดปุ่มไนตรัสพุ่งทะยานเข้าเส้นชัยแบบหล่อ ๆ เหนือความคาดหมายของคู่ต่อสู้เจ้าของเหรียญทอง 3 สมัย อย่าง Nguyen Van Lai จากเวียดนาม ก่อนรีบบินกลับไม่ได้รับเหรียญเพื่อไปสอบที่อเมริกาต่อ
จังหวะเกาะกลุ่มกับคู่แข่ง ก่อนเข้าเส้นชัยแบบสบาย ๆ เป็นคนแรกในซีเกมส์ 2019 (ช่างภาพมีกล้าม)สีหน้าผู้ชนะของคีริน หลังคว้าแชมป์ซีเกมส์ 2019 (ช่างภาพมีกล้าม)
วิถี Pro-Runner เต็มตัว
หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ได้เวลาที่เด็กหนุ่มผู้ตามล่าหาฝันจะเลือกการวิ่งให้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งเขามักพูดกับตัวเองเสมอว่าให้ทำดีขึ้นในทุกๆ วัน พัฒนาฝีเท้าอย่างไม่หยุดยั้ง และหนึ่งในความฝันคือการได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิก และ มหกรรมกรีฑาชิงแชมป์โลก (World Athletics Championships) เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิ่งชั้นแนวหน้าให้ได้
และนี่คือจุดเปลี่ยนของชีวิตที่คีรินตัดสินใจเข้าร่วมกับทีม Bowerman Track Club (BTC) แห่งเมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอรีกอน ที่มี Jerry Schumacher เป็นผู้ฝึกสอน และยังรวมนักวิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดทีมหนึ่งในสหรัฐ ที่นักวิ่งหลายคนใฝ่ฝันอยากเข้าร่วม เพราะการได้หลายล้อมกับนักวิ่งอีลิท โปรรันเนอร์ ทีมชาติ ไม่ว่าจะเป็น Grant Fisher, Marc Scott, Woody Kincaid ฯลฯ ที่จะจะช่วยส่งเสริมและดึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ให้ออกมา
“ผมดีใจและโชคดีมากที่โค้ชรับผมเข้าร่วมทีม”
แม้จะมีภาพหลุดของคีรินร่วมฝึกซ้อมกับทีมในอินสตาแกรมของ BTC แต่ทว่ายังเป็นที่สงสัยในหมู่นักวิ่งว่าเขาแค่มาซ้อมด้วยเฉยๆ หรือว่าได้เข้าเป็นสมาชิกแล้วเพราะไม่มีชื่อในเวบไซต์ แต่ล่าสุดเมื่อปี 2021 ทางทีมได้เพิ่มชื่อของคีรินเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้เขาเป็นสมาชิกชายคนที่ 23 ของทีม (ชาย 12, หญิง 11) และเป็นนักวิ่งที่มีเชื้อสายเอเชียคนแรกของทีม
“การเป็นนักวิ่งที่มีเชื้อสายเอเชียไม่ได้เป็นข้อเสียเปรียบเลย คนไทยก็สามารถเป็นนักวิ่งชั้นนำได้” คีรินกล่าว
การซ้อมกับ BTC ถือเป็นความท้าทายที่โหดเอาการสำหรับเขา กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานอย่างหนักหน่วงในทุกๆ วัน แต่เพื่อนร่วมทีมช่วยปรับให้เขาเข้ากับระบบของทีมมากขึ้น ตั้งเป้าหมายและทิศทางการฝึกซ้อมอย่างเป็นแบบแผน ตอนนี้ซ้อมวิ่งอาทิตย์ละประมาณ 130 กิโลเมตร แต่ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปีในการไต่ระดับขึ้นมา คีรินบอกว่าการแบ่งเวลาคือสิ่งจำเป็นและสำคัญ เขาจะไม่วิ่งมากกว่าระยะหรือโปรแกรมที่ควรต้องวิ่ง และหากรู้สึกเหนื่อยล้าหรือคิดว่าใช้เวลาวิ่งมากเกินไป วิ่งไม่สนุกแล้ว เขาเลือกที่จะพัก
สถิติ 10,000 เมตร ของคีริน ในรายการ The Ten ติดอันดับ Top5 สถิติ Sub 27:20 นาที (Bowerman Track Club)คีริน ในรายการ The Ten ก่อนทำเวลาผ่านเกณฑ์โอลิมปิก 2020 (Bowerman Track Club)
➲10,000 ม. ผ่านเกณฑ์โอลิมปิก
จากการฝึกซ้อมที่เข้มข้น การโค้ชชิ่งที่เอาใจใส่ และเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยผลักดันส่งเสริม ทำให้การวิ่งของคีรินดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา ในรายการ The Ten ที่เมือง San Juan Capistrano รัฐแคลิฟอร์เนีย เขาสามารถทำลายสถิติ 10,000 เมตร ของตัวเองด้วยเวลา 27:17.14 นาที เพซเฉลี่ย 2:44 ซึ่งเป็นเวลาที่พาตัวเขาไปสู่เวทีโอลิมปิกแรกในชีวิตอีกด้วย เร็วกว่าสถิติ 10000 เมตรครั้งแรกที่เขาเคยทำไว้ในปี 2019 (28:45.61) ถึง 1นาทีครึ่ง!!
ซึ่งในรายการเดียวกันนี้ คีรินยังทำลายสถิติอื่นด้วย คือ 5,000 เมตร แรกที่ 13:45 นาที และ 5,000 เมตรหลังที่ 13:32 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ดีกว่าสถิติ 5,000 เมตร เดิมที่เคยทำไว้ที่ 13:57.60 นาที ในปี 2019 ซึ่งคีรินวางแผนจะหาสนามแข่งเพื่อคัดเวลาสำหรับระยะ 5,000 เมตร ที่เวลา 13:10 เร็วๆ นี้
สถิติ 10,000 เมตรล่าสุดของคีริน ได้ติดอันดับ Top5 สถิติ Sub 27:20 นาที ของประวัติศาสตร์วงการกรีฑาเอเชีย เป็นอันดับที่ 4 โดย 3 คนแรกเป็นนักกรีฑาที่มีเชื้อชาติแอฟริกัน ทำให้ คีริน เบียดแซง อากิระ ไอซาวะ จากญี่ปุ่น ที่ทำเวลา 27:18.75 งานนี้ทางสื่อและวงการกรีฑาญี่ปุ่นถึงขั้นกับวงกลมตัวแดงโตๆ ที่ชื่อ Kieran Tuntivate ว่าเขาคือใคร ทำอะไร ผลงานเป็นอย่างไร เพื่อจะได้วางแผนมาพิชิต มันส์แน่นอน
สถิติการวิ่ง
คีรินเริ่มวิ่งแบบจริงจังในปี 2016 และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด การซ้อมกับทีมวิ่งแบบ pro-runner ยิ่งช่วยให้เขาพิชิตเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้อีก มาดูสถิติความเร็วของฝีเท้าหนุ่มน้อยคนนี้กัน
1 Mile = 3:57.36 (2020) *NR, *SEA
1500 m. = 3:47.36 (2018)
3000 m. = 7:48.24 (2021) *NR
5000 m. = 13:57.60 (2019) *NR, *SEA
10000 m. = 27:17.14 (2021) *NR, *SEA
*NR - สถิติประเทศไทย
*SEA - สถิติอาเซียน
สถิติการวิ่งของคีรินดีแบบสม่ำเสมอ ทั้งในลู่วิ่งและครอสคันทรี่ เขาได้รับรางวัลมากมาย เช่น
- All-American ระยะ 3000 เมตรและ 1ไมล์ (ลู่)
- แชมป์ Ivy League 5 สมัย
- สถิติ 3000 เมตร ที่ดีที่สุดใน Ivy League
- สถิติ 1 ไมล์ อันดับที่ 2 ใน Ivy League
- หนึ่งในนักกรีฑาของฮาร์วาร์ดที่ดีที่สุด
- USTFCCCA Northeast Region Male Track Athlete of the Year ปี 2019
- คว้าอันดับที่ 28 ในการแข่งขันคอสคันทรี่ระดับชาติ (NCAA Division 1 Cross Country Championships)
- TOP5 นักกีฬาของฮาร์วาร์ด ปี 2020
- 16 Award Recipient Men’s Cross Country and Track & Field ปี 2020 โดย Williams J. Bingham
“ผมอยากจะเป็นนักวิ่งมืออาชีพ” นี่คือความฝันคีรินกล่าวกับ Stadium TH มาร่วมติดตามเรื่องราวภาคต่อไปของเขาได้ที่นี้ เร็วๆ นี้
ประวัติส่วนตัว
คีริน ตันติเวทย์ เกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ที่ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นลูกชายของ ดร.วรเวช ตันติเวทย์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านพลังงาน ที่ปรึกษาอาวุโส โครงการให้กับธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน ส่วนมารดาชื่อ แมรี่ ตันติเวทย์ (Mary Culnane) เป็นชาวอเมริกัน มีพี่ชาย 1 คน คือ ชานันต์ ตันติเวทย์ เคยย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยตอนอายุประมาณ 3 ขวบ ก่อนย้ายกลับไปอาศัยที่ วิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ ทางตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความสนใจในเศรษฐศาสตร์ตามคุณพ่อ เขาจึงเลือกศึกษาปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกและเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาจบการศึกษาเมื่อปีที่แล้วพร้อมเกรดเฉลี่ยสวยหรู
-------------------------------------------
ติดตามการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้ทุกวันทาง T-Sports ร่วมด้วย Thai PBS, NBT, PPTV, JKN 18, ทรูโฟร์ยู 24, GMMTV 25 และ AIS PLAY ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม 2564
-------------------------------------------
คีริน ตันติเวทย์ จะลงแข่งขันกรีฑา ในรายกายวิ่ง 10,000 เมตร รอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 30 ก.ค. เวลา 18.30 น. ติดตามการถ่ายทอดสดได้ทางช่อง GMM25 และ AIS PLAY
อัลบั้มภาพ 56 ภาพ