คุยกับ "รัชนก อินทนนท์" ในวัย 26 ปีพร้อมหรือยังกับการคว้าเหรียญโอลิมปิก 2020

คุยกับ "รัชนก อินทนนท์" ในวัย 26 ปีพร้อมหรือยังกับการคว้าเหรียญโอลิมปิก?

คุยกับ "รัชนก อินทนนท์" ในวัย 26 ปีพร้อมหรือยังกับการคว้าเหรียญโอลิมปิก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เมย์” รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 1 ของประเทศไทยและอดีตมือ 1 ของโลก ผู้ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน แต่เผลอแปปเดียววันเวลาล่วงเลยมาแบบไม่ทันรู้ตัว จากที่เราเรียกเธอกันจนติดปากว่า “น้องเมย์” วันนี้เธอเติบโตขึ้นจนเป็นพี่เมย์ในทีมเสียแล้ว

 ในวัย 26 ปีกับโอลิมปิกเกมส์ 2020 ซึ่งเป็นโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 3 ในชีวิต วันนี้เธอพร้อมแล้วหรือยังกับการคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิกในปีนี้ ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษของเธอไปพร้อมกัน

ก่อนหน้านี้ รัชนก ได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในลอนดอนเกมส์ปี 2012 ซึ่งขณะนั้นเธออายุเพียงแค่ 17 ปีเศษ ก่อนจะคว้าแชมป์โลกครั้งแรกตอนอายุ 18 ปี (6 เดือน 6 วัน) เป็นสถิติอายุน้อยสุดที่คว้าแชมป์โลก ณ เวลานั้น ความยอดเยี่ยมตั้งแต่เยาว์วัยนี้เองที่ทำให้เธอถูกขนานนามว่า “สาวน้อยมหัศจรรย์”

ซึ่งครั้งนี้ก็เหมือนกับทุกครั้ง ก่อนที่เธอจะเดินทางไปแข่งขันมหกรรมกีฬารายการใหญ่ อย่าง ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ หรือโอลิมปิก เธอจะสละเวลาว่างอันมีค่ามาให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์กันแบบใกล้ชิด เพียงแต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปจากที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องด้วยเจ้าไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้เราไม่สามารถบุกไปนั่งคุยกับเธอถึงสนามซ้อมเหมือนปกติ หนนี้จึงเป็นครั้งแรกที่เราสัมภาษณ์เธอผ่าน แอพพลิชั่น ซูม ร่วมกับสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก

สิ่งแรกที่เราพบหลังจากที่ล็อกอินเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ในเวลา 17:30 น. คือภาพน้องเมย์กำลังยิ้มแย้มแจ่มใสดูอารมณ์ดีแบบผิดคาด เพราะเราคิดว่าความกดดันเหมือนเช่นทุกครั้งจะทำให้สีหน้าของเธออัดแน่นไปด้วยความกังวล ด้วยคำว่าโอลิมปิกเกมส์ มันคือมหกรรมกีฬาแห่งความฝันของนักกีฬาทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาระดับโลกแบบเธอแล้ว ที่ถูกคาดหวังไว้สูงมากว่าจะต้องคว้าเหรียญรางวัลแรกให้ได้

“เวลาว่างเมย์จะพยายามหาอะไรทำเพื่อผ่อนคลายตัวเองเสมอ ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลงหรือเล่นเกม แต่ก็ไม่ได้เล่นหักโหมเกินไป เมย์ชอบเล่นเกม ROV หรือปลูกผัก HAYDAY เพื่อให้ตัวเองได้รีแล็กซ์บ้าง เพราะโอลิมปิกนั้นเครียดอยู่แล้วแต่เราจะพยายามไม่เครียดจนเกินไป" รัชนก ยิ้มพร้อมตอบคำถาม
แม้เราจะเซอร์ไพรส์ที่เธอบอกแบบนั้น แต่ลึก ๆ เราก็พอสัมผัสได้ว่าความกดดันที่เธอแบกเอาไว้นั้นมากมายมหาศาลขนาดไหน ต้องยอมรับว่าแบดมินตันหญิงเดี่ยวในปัจจุบันความเข้มข้นในการแข่งขันมีค่อนข้างสูง Top 10 ของโลกนั้นต่างเอาชนะกันได้ทั้งหมด ดังนั้นการเตรียมพร้อมทั้งใจและกายจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ 

รัชนก บอกว่า “ ทุกครั้งที่ได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ เมย์ก็ยังหวังกับตัวเองเสมอว่าจะต้องคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งเพื่อประเทศไทยให้ได้ แต่ลึก ๆ ในใจเมย์ก็ตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ว่าอยากจะได้เหรียญทอง ถามว่ายากไหม เมย์ว่ามันก็ไม่ได้ยากจนเกินไป มันขึ้นอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า ว่าจะสามารถควบคุมตัวเองในสนามแข่งได้มากน้อยขนาดไหน โอลิมปิก 2 ครั้งที่ผ่านมาที่เมย์แพ้ไม่ใช่แพ้เพราะรูปแบบการเล่นสู้ไม่ได้ แต่แพ้เพราะจิตใจเมย์มากกว่าที่คาดหวังกับตัวเองมากจนเกินไป”

“ครั้งแรกลอนดอนเกมส์ ปี 2008 เมย์ไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศก็จริงแต่ตอนนั้นอายุแค่ 17 ยอมรับว่าประสบการณ์ยังไม่เพียงพอ ส่วนครั้งที่ 2 ที่ริโอเกมส์ เมย์ตกรอบ 16 คน เพราะคาดหวังมากจนเกินไป ทำให้ฟอร์มการเล่นตีออกมาไม่เป็นตัวของตัวเอง ยังไม่รวมถึงอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้อีก”

“แต่สำหรับโอลิมปิกครั้งที่ 3 เมย์มองว่าเราเจอวิกฤต ส่งผลให้การแข่งขันถูกยกเลิกไปหลายรายการก็จริง แต่มันก็ทำให้เมย์มีเวลาพัฒนาจุดอ่อนของตัวเอง”

ในระหว่างการสัมภาษณ์แม้เราจะเห็นภาพเธอในจอแค่ครึ่งตัว แต่ก็พอจับความรู้สึกได้ว่าสภาพร่างกายของเธอนั้นดูฟิตและกระชับขึ้นกว่าก่อนหน้านี้พอสมควร เธอบอกว่าช่วงเวลาที่ไม่มีแมตช์การแข่งขัน เธอเน้นการฝึกซ้อมเวทเทรนนิ่งมากขึ้น หวังจะลบจุดอ่อนของตัวเองซึ่งก็คือเรื่องของสภาพความฟิตที่มักจะหมดแรงก่อนคู่แข่ง

“การฝึกซ้อมช่วงโค้งสุดท้ายมันลำบากกว่าโอลิมปิกสองครั้งที่ผ่านมา ต้องระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้อด้วยและอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่อุปสรรคครั้งนี้ทำให้เราได้มีเวลาฝึกซ้อมต่อเนื่อง ซึ่งมันอาจจะเป็นผลดีกับตัวเราเองก็ได้”

“ที่ผ่านมาเราเตรียมความพร้อมกันหลายด้านอย่างเป็นระบบ ทุกครั้งที่ซ้อมจะใส่เต็มเหมือนคิดว่าแข่งจริงตลอด เพราะเราห่างหายจากการแข่งขันไประยะหนึ่ง แต่ก็มีเวลาได้พัฒนาแก้ไขจุดอ่อนของเรา ซึ่งเมย์ก็พยายามที่จะลบจุดอ่อน เรื่องพละกำลังให้มากที่สุด แต่สภาพร่างกายของคนเรามันมีขีดจำกัดไม่เหมือนกัน”

“เมย์มีโรคประจำตัวที่ทำให้อาจจะเหนื่อยง่ายกว่าคนอื่นแต่ก็พยายามแก้ไขในจุดนี้มาตลอด พยายามแอคทีพตัวเองและควบคุมตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ถึงหน้างานต่อให้เหนื่อยขนาดไหนก็จะสู้ให้ถึงที่สุด เพราะสุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับว่าวันแข่งขันเราจะทำผลงานได้ดีมากน้อยขนาดไหน ส่วนเกมของคู่แข่งเราทำได้แค่ย้อนดูเทปทั้งเกมที่เราแพ้และชนะ ตรงไหนคือจุดเด่นและจุดด้อยของเราและคู่แข่ง ก็จะพยายามศึกษาทั้งหมด”

“ส่วนเรื่องการยืนระยะ 3 เกม เมย์คิดว่าตัวเองทำได้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่อาจจะมีหลุดเรื่องของความคิดที่อยากจะเร่งอยากปิดเกมให้เร็วขึึ้น เหมือนอย่างตอนแข่ง ออล อิงแลนด์ ซึ่งตอนแรกเราเล่นมาอย่างดี คู่แข่งก็ไม่ได้เล่นลากแต่เขาเล่นแบบรอจังหวะให้เราเสียเหมือนเล่นกับจิตวิทยากับเรา ซึ่งเมย์คิดว่าเมย์ไปแพ้ตรงนั้นมากกว่า เพราะหลังแข่งเสร็จออกมานอกสนามเราก็ยังไม่รู้สึกว่าเหนื่อยหรือหมดแรง ตรงจุดนี้เมย์คิดว่าตัวเองพัฒนาขึ้นแล้วเรื่องของแมตช์ฟิตเนส“

การสัมภาษณ์ดำเนินไปเรื่อย ๆ แต่ดูเหมือนน้องเมย์ยังแรงดีไม่มีตก ยิ่งคุยยิ่งสนุกการ คอยเล่นมุสอดแทรกการตอบคำถามก็ดูไหลลื่นขึ้น

เธอบอกกับเราต่อว่าโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่งสำคัญรวมไปถึงการขาดหายไปของ กาโรลิน่า มาริน แชมป์โอลิมปิกคนล่าสุด ไม่ได้ทำให้โอกาสคว้าแชมป์ของเธอมีมากขึ้น เพราะคู่แข่งคนอื่น ๆ ต่างก็เตรียมตัวมากันเป็นอย่างดี ทุกคนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวหมดไม่เว้นแม้แต่การต่อสู้กับตัวเธอเองด้วยเช่นกัน

“ปีนี้เป็นปีที่เรามีประสบการณ์มากพอหลังจากผ่านอะไรมาเยอะ ขึ้นอยู่กับตัวเองแล้วว่าวันแข่งขันจะพร้อมมากขนาดไหน บางคนเตรียมตัวร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า แต่ถ้าหากในสนามไม่สามารถดึงสิ่งที่ซ้อมเอาออกมาใช้ได้ก็ไปไม่ถึงเส้นชัย ทุกคนมีโอกาสในการคว้าเหรียญรางวัลรวมถึงตัวเมย์ด้วย เพราะเมย์ไม่เคยมองว่าตัวเองไม่มีโอกาสคว้าเหรียญโอลิมปิก”

“ส่วนเรื่องที่หลายคนมองว่าปีนี้แบดมินตันไทยมีลุ้นเหรียญหลายประเภท ในสายตาเธอมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยให้เธอผ่อนคลายได้ระดับหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นว่าวงการแบดมินตันบ้านเรานั้นพัฒนาขึ้นในทุกประเภท”

ท้ายที่สุดนี้ รัชนก ได้ทิ้งท้ายไปพร้อมกับรอยยิ้มและบอกกับเราว่า เรื่องโชคลางเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จก็จริง แต่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้นอยู่ที่ความพร้อมของตัวเองมากกว่า

และไม่ว่าผลการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 2020 จะจบลงอย่างไร เธอยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้าต่อสู้ไปกับกีฬาชนิดนี้อย่างสุดความสามารถ เหมือนที่เคยทำมาตลอดตั้งแต่วันแรกหรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
-------------------------------------------
ติดตามการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้ทุกวันทาง T-Sports ร่วมด้วย Thai PBS, NBT, PPTV, JKN 18, ทรูโฟร์ยู 24, GMMTV 25 และ AIS PLAY ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม 2564
-------------------------------------------

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook