กรณีศึกษาจาก เดอร์ริค โรส : ล้วงวิธีรักษาแผลใจนักกีฬาตามหลัก "จิตวิทยา" ทำกันอย่างไร ?
การแข่งขันรอบเพลย์ออฟ บาสเกตบอล NBA ปีนี้ หนึ่งในผู้เล่นที่โชว์ฟอร์มดีอย่างต่อเนื่องมีชื่อว่า "เดอร์ริค โรส" ผู้เล่นตำแหน่งพอยต์การ์ดแห่ง นิวยอร์ก นิกส์ ผู้เข้ามาสร้างสมดุลให้กับทีมได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ และกลายเป็น "เดอะแบก" ของนิคส์อย่างแท้จริง
โรส คนนี้เคยเป็นสุดยอดดาวรุ่ง เริ่มต้นกับ ชิคาโก บูลส์ และเคยคว้ารางวัล MVP รอบเพลย์ออฟในฐานะผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2012 แต่จากนั้นเขาเจอมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ และถูกตีตราจากนักวิจารณ์ว่าเป็น "MVP ยอดแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ NBA" แถมยังเจอกับอาการบาดเจ็บหนักเล่นงาน ส่งผลให้เขามีสภาพจิตใจที่ไม่เหมือนเดิม
เขาตัดสินใจเข้ารับการฟื้นฟูด้านร่างกาย ไปพร้อมกับการเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อสมานบาดแผลในใจ และเริ่มกลับมาทำผลงานในระดับอาชีพได้อีกครั้ง
แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า นักจิตวิทยาการกีฬาใช้วิธีการอย่างไร เพื่อทำให้นักกีฬาอาชีพที่ประสบปัญหา กลับมามีจิตใจแข็งแกร่งเหมือนเดิม ?
ณัฐพล ทองประดู่ นักเขียนจาก Main Stand จะช่วยสืบหาผ่านเคสของ เดอร์ริค โรส
ไปไม่ถึงฝัน
ย้อนกลับไปในเดือนเมษายนปี 2012 ในการแข่งขันบาสเกตบอลลีก NBA ระหว่าง ชิคาโก้ บูลส์ กับ ฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส ซึ่งเป็นรอบเพลย์ออฟ ที่เต็มไปด้วยมวลบรรยากาศของความตื่นเต้น
Photo : hoopshabit.com
สปอตไลท์สาดส่องไปที่ MVP ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA อย่าง "เดอร์ริค โรส" ในวัย 22 ปี กำลังจะพากระทิงดุแห่งชิคาโก้ เข้าไปยืนบนตำแหน่งแชมป์ประจำซีซั่น 2011-12 อย่างภาคภูมิ
ลองจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากพอยต์การ์ดตัวโหดนาม เดอร์ริค โรส ผู้ที่ขึ้นชื่อว่ากำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งวงการพา ชิคาโก้ บูลส์ คว้าแชมป์ได้สำเร็จ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของ NBA ที่น่าจดจำก็ว่าได้ เพียงแต่เกมแรกของรอบเพลย์ออฟ ในขณะที่กระทิงดำแดงนำอยู่ 12 แต้ม เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
ดี-โรส ที่กำลังพาตัวทะลวงเข้าไปสู่แป้นของฝ่ายตรงข้าม พร้อมกระโดดเตรียมทำแต้มอีกครั้ง แต่เขากลับชะงักแล้วร่วงลงจากกลางอากาศ ท่ามกลางความตกใจของแฟนบูลส์
Photo : dailyevergreen.com
ภาพที่ทุกคนเห็นต่อมาคือ ร่างของ ดี-โรส นอนอยู่บนพื้นสนาม พร้อมสีหน้าที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส ด้วยอาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้า (ACL) บริเวณเข่าซ้ายของเขาฉีกขาดอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัด และพักฟื้นยาวเป็นเวลานานถึง 8-12 เดือน
แม้ทีมจะคว้าชัยไปได้ในเกมแรกของการแข่งขันเพลย์ออฟ แต่ในอีก 5 เกมที่เหลือที่ ชิคาโก้ บูลส์ ต้องขาดผู้เล่นคนสำคัญอย่าง ดี-โรส ไป ก็ตกรอบในที่สุด
มากไปกว่านั้น ดี-โรส ยังพลาดโอกาสในการเข้าไปเล่นเพลย์ออฟในรอบที่เหลือทั้งหมดอย่างน่าเสียดาย เงินทอง ชื่อเสียง และเกียรติยศที่ควรจะถาโถมเข้ามา กลับถูกแทนที่ด้วยความผิดหวัง
นั่นคือสิ่งที่นักกีฬาคนหนุ่มอย่าง เดอร์ริค โรส ต้องแบกรับไว้ตอนเขาอายุแค่ 22 ปี และเมื่อทุกอย่างพังทลายลงไปต่อหน้า และร่างกายต้องเผชิญกับการบาดเจ็บหนัก จิตใจของเขาก็อ่อนแอลงเรื่อย ๆ เหมือนกับคนเสียหลัก ทำให้ไม่สามารถกลับไปยืนในจุดเดิมได้อีกหลายปี
ต้นตอความเครียด
NBA คือลีกบาสเกตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่นี่เพียบพร้อมไปด้วยเงิน ชื่อเสียง เกียรติยศ เป็นความใ่ฝ่ฝันของเด็กทุกคนที่กำลังเล่นกีฬายัดห่วง
เดอร์ริค โรส และเพื่อนร่วมอาชีพทุกคนในลีก ต่างต้องเผชิญกับความกดดัน ความเครียด ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพเลยด้วยซ้ำ เพราะทุกคนต้องพยายามโชว์ฟอร์มให้โดดเด่นให้ได้ตั้งแต่ช่วงที่ยังเรียนอยู่ระดับไฮสคูล หวังให้แมวมองจากสโมสรชั้นนำเลือกพวกเขาเข้าสู่ลีกผ่านระบบการดราฟท์ผู้เล่น
สัดส่วนของคนที่ถูกเลือกมีน้อยนิดเพียงหยิบมือ แต่คนที่ไม่ถูกเลือกมีมหาศาล นั่นคือความจริงอันโหดร้ายของระบบนักกีฬาอาชีพ
เมื่อได้รับการเซ็นสัญญาแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ นักกีฬาจำเป็นต้องแข่งขันกับนักบาสฝีมือดีระดับมืออาชีพจริง ๆ แน่นอนว่ารุกกี้คนหนุ่มทั้งหลาย ต้องพยายามกดดันและเค้นศักยภาพของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อแข่งขันแย่งชิงโอกาสลงสนามจากรุ่นพี่ภายในทีม
และยิ่งประสบความสำเร็จเร็วแค่ไหน ก็เหมือนดั่งกรณี เดอร์ริค โรส ที่ต้องแบกความหวังในฐานะสุดยอดนักกีฬาเอาไว้บนบ่า แล้วมันก็ดันมาพังทลายลง นั่นทำให้ภายหลังการบาดเจ็บของ ดี-โรส เหล่าบรรดานักจิตวิทยา จิตแพทย์ และนักสะกดจิตบำบัดหลายคนจึงให้ความสนใจในเรื่องนี้
"มิเชล มิชเชอร์ แฟรงค์" หนึ่งในจิตแพทย์ผู้ดูแลนักกีฬาในแถบชิคาโก้ ลงความเห็นต่อเรื่องการบาดเจ็บของ ดี-โรส เอาไว้ว่า
"นักกีฬาหลาย ๆ คน ชอบที่จะทำตัวเป็นไก่รองบ่อน เพราะนั่นคือจุดยืนที่ดีกว่า พวกเขาพยายามกดความคาดหวังให้ต่ำไว้ แล้วทำผลงานให้มากกว่าที่หวัง"
"แต่เมื่อมีผู้คนคาดหวังในตัวนักกีฬาเยอะ ไม่ว่าใครก็ตาม มันน่ากลัวเสมอสำหรับนักกีฬา เพราะสุดท้ายเราต้องอย่าลืมว่าเขาเองก็เป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน"
"ความคาดหวัง" ถือเป็นตัวแปรสำคัญในกรณีตัวอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่ เดอร์ริค โรส และนักกีฬาอาชีพหลายคนต่างก็เคยเผชิญมาแล้วทั้งสิ้น
เพราะเมื่อถูกคาดหวัง สิ่งที่ตามมาก็คือแรงกดดันต่อตัวนักกีฬา ที่จะนำมาซึ่งความเครียดและส่งผลต่อการเล่นโดยตรง
Photo : cleveland.com/healthfit
บางครั้งที่เราในฐานะผู้ชมลืมนึกถึงเรื่องนี้ไปอย่างสิ้นเชิง ชัยชนะและการเล่นอย่างมีประสิทธิภาพคือสิ่งที่เราคาดหวังจากผู้เล่น แต่ใครจะรู้ว่า ภาพของนักกีฬาฟอร์มดีที่เราเห็น อาจจะต้องแบกรับอะไรที่หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่เราจะเข้าใจก็เป็นได้ และโรสก็ไม่ใช่คนแรกที่ต้องเจอกับปัญาหาเหล่านี้
นักกีฬาบาสเกตบอลอาชีพอย่าง "เควิน เลิฟ" ผู้เล่นตำแหน่งพาวเวอร์ฟอร์เวิร์ดและเซ็นเตอร์แห่ง คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องพบเจอกับปัญหาความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต ถึงขนาดเคยพบเจออาการ Panic Attacks ระหว่างเกมการแข่งขันด้วยเช่นกัน
จิตวิทยาการกีฬา
เมื่อนักกีฬาได้รับบาดแผลทางจิตใจที่ส่งผลต่อชีวิตของพวกเขา ศาสตร์แขนงหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการรักษา นั่นคือ "Sports Psychology" ที่แปลอย่างตรงตัวว่า "จิตวิทยาการกีฬา" ใจความสำคัญของศาสตร์นี้อยู่ที่แนวทางการศึกษาจิตใจของนักกีฬา อันจะมีผลต่อการเล่น และมีจุดประสงค์หลักคือ เพื่อใช้ศาสตร์นี้ในการดูแลจิตใจของนักกีฬายามพวกเขาได้รับผลกระทบจากการแข่งขันหรืออาการบาดเจ็บ
"Sports Psychology" ถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1897 ตามหลักฐานและบันทึกทางวิชาการที่ปรากฏ โดยนักจิตวิทยา "ด็อกเตอร์ นอร์แมน ทริปเล็ต" แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อการศึกษาพฤติกรรมของนักปั่นจักรยาน
ด็อกเตอร์นอร์แมน ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นักปั่นจักรยานสามารถปั่นจักรยานได้เร็วขึ้นเมื่อมีผู้ร่วมปั่นคนอื่นอยู่ใกล้ ๆ เร็วกว่าตอนที่ปั่นจักรยานอยู่คนเดียว จึงอนุมานได้ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดผลนี้ คือแรงกดดันที่นักปั่นได้รับจากคนรอบข้าง
แนวทางการศึกษาเรื่องนี้เริ่มแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1920s เมื่อมีการจัดตั้งห้องแล็บเพื่อการค้นคว้าเกี่ยวกับจิตวิทยาการกีฬาโดยเฉพาะที่เมืองเบอร์ลิน โดยได้รับการสนับสนุนจาก "ด็อกเตอร์ คาร์ล เดียม" ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการศึกษากีฬาแห่งประเทศเยอรมัน
จุดประสงค์หลักของการทดลองครั้งนี้ เพราะต้องการให้มีการวัดสมรรถภาพทางกายของนักกีฬา และสังเกตเรื่องความถนัดทางด้านกีฬาของแต่ละบุคคล
ผลการทดลองในครั้งนั้น สามารถสรุปได้ว่า ระดับความเครียดระหว่างการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลลบต่อตัวนักกีฬาได้ ทั้งทางกายและทางใจ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มมากขึ้นสามารถทำให้นักกีฬาเหงื่อออกมากได้ และเมื่อนักกีฬาเริ่มเป็นกังวลกับผลการแข่งขัน ทำให้การควบคุมสมาธิระหว่างลงเล่นเป็นไปได้ยาก
เวลาผ่านไปหนึ่งทศวรรษ แนวคิดเรื่องจิตวิทยาการกีฬา เริ่มเป็นที่แพร่หลายในอเมริกามากขึ้น ทีมเบสบอลอาชีพอย่าง "ชิคาโก้ คับส์" ตัดสินใจให้ "ด็อกเตอร์ โคลแมน อาร์ กริฟฟิท" นักจิตวิทยาการกีฬาและอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวงการจิตวิทยาการกีฬา เข้ามาดูแลนักกีฬาของพวกเขา
Photo : twitter.com/BSmile
ในตอนนั้น ชื่อเสียงและความนิยมของ ชิคาโก้ คับส์ กำลังร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารของ "ฟิลลิป รีกลีย์" หลังจากผู้เป็นพ่ออย่าง "บิล รีกลีย์" เสียชีวิตลง
การมาของด็อกเตอร์โคลแมน ในปี 1932 จึงเป็นเหมือนการกระตุ้นขวัญกำลังใจของพวกเขาให้กลับคืนมา โดยเฉพาะหลังจากที่พวกเขาเพิ่งปราชัยให้กับ "นิวยอร์ก แยงกีส์" ทำให้พวกเขาเสียศูนย์ถึงขนาดไม่ได้กลับมาร่วมการแข่งขันอีกเลยนานถึง 3 ปี
ถึงแม้ว่าจะกลับมาลงสนามอีกครั้ง ในปี 1935 แต่สถานะของ ชิคาโก คับส์ ก็เป็นได้แค่ทีมระดับปลายแถว โดย คับส์ แพ้ไปถึง 5 เกมติดต่อกันในการแข่งขัน "เวิลด์ ซีรีส์" ในปี 1937 รวมถึงการแพ้ให้กับทีมคู่แข่งอย่าง "ซานฟรานซิสโก ไจแอนท์ส" อย่างราบคาบ
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ ชิคาโก้ คับส์ ต้องเผชิญปัญหากับความเครียด ตั้งแต่นักกีฬา โค้ช ไปจนถึงผู้บริหาร เนื่องจากผลกระทบจากความกดดันที่ได้รับจากการแข่งขันและจากแฟน ๆ ด้วยผลงานที่ไม่สู้ดีนัก
ด็อกเตอร์โคลแมน จึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงบางอย่างภายในทีม เขามองว่าการฝึกซ้อมของ คับส์ ไร้ระเบียบ ไม่มีเป้าหมาย และไร้ประโยชน์ บทบาทสำคัญของเขาจึงเป็นการควบคุมและวิเคราะห์นักกีฬาอย่างเข้มงวด ในขณะที่ให้คำแนะนำไปด้วย
เขาศึกษาจากตัวแปร เช่น ความสามารถของตัวนักกีฬา บุคลิกภาพ และความเป็นผู้นำ ตัวอย่างการร่วมฝึกของเขาได้แก่ การให้นักกีฬาฝึกนับลูกในขณะที่โยนหรือตีลูก แทนที่จะซ้อมไปเรื่อย ๆ ตามที่เคยฝึกมา เพื่อฝึกสมาธิและทำการฝึกให้เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น เหมือนกับตอนที่ลงสนามจริง
แม้ในเวลาต่อมา คับส์ จะทำผลงานได้ดีขึ้น แต่วิธีการของด็อกเตอร์โคลแมนระหว่างที่เข้าไปช่วย ชิคาโก้ คับส์ กลับไม่ได้รับความสนใจและได้รับการยอมรับในวงกว้าง
เครดิตที่เขาควรจะได้รับ กลับไปตกอยู่ที่โค้ชอย่าง "แก๊บบี้ ฮาร์ตเนต" อดีตผู้เล่นมากประสบการณ์ในทีมเสียแทน ไม่มีการลงบันทึกว่าจิตวิทยาการกีฬามีส่วนช่วยให้ คับส์ ฟื้นตัวได้แต่อย่างใด ด็อกเตอร์โคลแมนถึงกับลงความเห็นว่าเขารู้จักไม่ปรับตัวเลยในฐานะโค้ช สิ่งที่เขาทำคือการอาศัยประสบการณ์การเล่นในอดีตของเขาเท่านั้น
ภายหลัง ด็อกเตอร์โคลแมนได้แยกตัวออกมาจากทีม ทำให้งบวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากทีมถูกระงับ จนไม่ได้ทำวิจัยต่อ แต่การศึกษาของเขาก็ได้วางรากฐานสำคัญไว้ให้กับวงการจิตวิทยาการกีฬา
ในปี 1966 จึงได้มีการจัดตั้ง "สมาคมจิตวิทยาการกีฬานานาชาติ" (The International Society of Sports Psychology) ขึ้นโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งยุโรป และ "สมาคมจิตวิทยาการกีฬาและการออกกำลังกายแห่งอเมริกาเหนือ" (The North American Society for The Psychology of Sport and Physical Activity) สำหรับนักวิชาการที่มีความสนใจเฉพาะต่อเรื่องนี้ในปีเดียวกัน เพื่อเป็นการขยายองค์ความรู้ในเรื่องของจิตวิทยาการกีฬาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
Photo : facebook.com/NASPSPA/
อย่างไรก็ดีในช่วงแรกของการศึกษาจิตวิทยาการกีฬาในช่วงทศวรรษ 1960s ได้มีการใช้สุราและยากระตุ้นควบคู่ไปด้วย เพื่อสังเกตผลของสารเคมีที่เข้าไปกระตุ้นสมรรถภาพทางร่างกาย
แต่ภายหลังได้มีการมุ่งเน้นศึกษาไปที่สภาพจิตใจของนักกีฬาเป็นหลัก โดยเป็นการศึกษากระบวนการทำงานของสมอง และการแลกเปลี่ยนพูดคุย บวกกับการรับฟังปัญหาความเครียดอย่างเข้าอกเข้าใจแทน
เทคนิคนี้จะสามารถช่วยให้นักกีฬาลดอารมณ์ความเครียดระหว่างการแข่งขันได้ โดยอาศัยองค์ความรู้ทางจิตวิทยาเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เพื่อที่จะสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับตัวนักกีฬาได้
อีกหนึ่งข้อเสนอที่น่าสนใจจาก "ด็อกเตอร์ คอสตาส คาราจิโอคิส" และศาสตราจารย์ "ปีเตอร์ ซี เทอร์รี่" ในงานวิจัยร่วมที่มีชื่อว่า "Inside Sports Psychology" ในปี 2010 ได้มีการตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องจิตวิทยาการกีฬาไว้ว่าเป็น "ศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และศิลปะ"
ใจความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ความสามารถของนักจิตวิทยาการกีฬา ในด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล เพื่อที่จะสามารถพูดคุยและช่วยผ่อนคลายความเครียดของนักกีฬาลงได้
นั่นจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า หลักจิตวิทยา จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ บุคคลนั้นก็จำเป็นต้องมีทั้งความรู้และศิลปะในการสื่อสารที่ดี ดังนั้นเรื่องของจิตวิทยา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะบุคลากรในวงการแพทย์เท่านั้น
เพราะอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่ใกล้ตัวนักกีฬา อย่าง "โค้ช" โดยเฉพาะในยุคหลัง เรื่องของ Sports Psychology ค่อนข้างแพร่หลายในหมู่คนทำงานโค้ช ที่นอกจากจะต้องมีความรู้ ความสามารถในเรื่องกีฬาชนิดนั้นแล้ว ยังต้องมีจิตวิทยาที่ดีในการพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกทีมตัวเอง
โค้ชจำเป็นที่จะต้องเข้าใจลักษณะนิสัยและบุคลิกของนักกีฬาเป็นอย่างดี เพื่อเสริมสร้างจุดแข็ง และกำจัดจุดอ่อนของนักกีฬาให้ได้ ยิ่งโค้ชรู้จักนักกีฬาของเขาดีมากเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดการสื่อสารที่ดีต่อกันมากขึ้น ตลอดจนการสร้างแวดล้อมที่ดีให้กับนักกีฬาอีกด้วย
เทคนิคที่โค้ชนำมาใช้กับนักกีฬาของเขา มีตั้งแต่การพูดให้กำลังใจ ไปจนถึงการให้นักกีฬานึกภาพการแข่งขันในหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ในการแข่งขัน ทั้งหมดนั้นจะเป็นการช่วยให้นักกีฬาตั้งเป้าหมายได้ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างโค้ชกับนักกีฬาจึงถือเป็นตัวแปรสำคัญ ที่สามารถทำให้เกิดการเล่นอย่างมีประสิทธิภาพได้
โค้ช = ผู้เยียวยาที่ใกล้ตัวที่สุดของนักกีฬา
การสร้างความเชื่อใจในตัวนักกีฬาโดยเฉพาะโค้ชถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โค้ชและนักกีฬาจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกันตลอดเวลาในเกมการแข่งขัน
สิ่งที่โค้ชควรจะหลีกเลี่ยงมากที่สุดคือ การดึงผู้เล่นของตัวเองออกมาระหว่างการแข่งขันและทิ้งความรู้สึกน่าอับอายไว้ให้กับตัวนักกีฬา
ในทางตรงกันข้าม หากโค้ชเชื่อใจ ให้กำลังใจ และบอกนักกีฬาของเขาว่าเขาทำได้ ก็อาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เกินความคาดหมาย
นี่คือสิ่งที่ เดอร์ริค โรส และโค้ชของเขาอย่าง "ทอม ธิโบโด" มีให้กับกันและกัน ครั้งนี้ถือเป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 3 ของ ทอม กับ เดอร์ริค หลังจากที่ทั้งคู่รู้มือกันเป็นอย่างดีตั้งแต่ตอนที่โรสยังเป็นดาวรุ่งอยู่ที่ ชิคาโก้ บูลส์ และ มินเนโซต้า ทิมเบอร์วูล์ฟส์ จนกระทั่งในฤดูกาล 2021 ทั้งสองก็โคจรกลับมาพบกันอีกครั้งที่ นิวยอร์ก นิคส์
โรส เคยกล่าวถึง ธิโบโด ไว้กับ New York Times ว่า "เขาพัฒนาขึ้นอย่างมากในฐานะโค้ช เขาเป็นโค้ชที่ดีอยู่แล้ว แต่ในทุกๆ ปี เขาจะพัฒนาตัวเองและปรับตัวได้ดีมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมเห็นจากเขาในปีนี้ เขาให้อิสระแก่ผู้เล่นตามแบบที่แต่ละคนอยากจะเล่นมากขึ้น เขาเชื่อมั่นมากขึ้นขณะที่อยู่ข้างสนาม"
ในทางกลับกัน ธิโบโด ก็ได้กล่าวถึงโรสไว้ว่า "หากคุณมองย้อนกลับไปดูในตอนไหนก็ตามบนเส้นทางอาชีพของ เดอร์ริค โรส ตอนที่ร่างกายเขาสมบูรณ์ดี คุณจะเห็นว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดในลีก ผมสบายใจเมื่อได้อยู่กับเขา และเขาเองก็สบายใจเมื่ออยู่กับผมด้วยเช่นกัน"
"ถ้าคุณให้ เดอร์ริค โรส ลงไปเล่นในนัดสำคัญ จะต้องมีเรื่องดีเกิดขึ้นแน่"
เอาชนะความกลัว
ปมอย่างหนึ่งที่ฝังอยู่ในใจของ เดอร์ริค โรส ที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ ในวัยเด็กเขาต้องเผชิญกับโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง ที่มีสาเหตุมาจากการเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมาใน แองเกิลวูด ในเมืองชิคาโก้ พื้นที่ละแวกหนึ่งในชิคาโก้ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่อันตราย และมีเหตุกราดยิงและการใช้ความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง
เดอร์ริค โรส เคยเปิดใจพูดถึงเรื่องนี้กับ ESPN ว่า "ผมมักจะทำอะไรของผมไปเรื่อยเปื่อยในชั้นใต้ดินของบ้าน เวลาที่ผมได้ยินใครเล่นกันข้างบน ผมมักจะวิ่งขึ้นไปดูว่ามีใครบุกเข้ามาในบ้านเพื่อทำร้ายลูกพี่ลูกน้องของผมหรือเปล่า"
"ลูกพี่ลูกน้องของผมคนนี้ เธอมักจะชอบทุบตีคนในละแวกนี้ และผมมักจะคิดว่าจะมีคนมาแก้แค้นอยู่เสมอ ดังนั้นเวลาที่ผมได้ยินเสียงอะไรเบา ๆ ในบ้านก็ตาม ผมก็จะกลัว หรือในตอนกลางคืน ผมอาจจะได้ยินเสียงอะไรต่าง ๆ แล้วกลัวไปเอง เพราะผมกลัวว่าจะมีคนมาเอาคืน"
สำหรับนักกีฬาที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์อย่าง โรส การต้องเผชิญกับอาการบาดเจ็บ ไม่ได้นำมาแค่ความรู้สึกเจ็บช้ำทางกาย แต่สภาพจิตใจที่บอบช้ำยังถูกเสริมทับด้วยความกลัวเพิ่มเข้าไปอีก
ในด้านการเยียวยาจิตใจช่วงระหว่างการรักษาตัว "เรจจี้ โรส" พี่ชายของ เดอร์ริค ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า เขากำลังเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในร่างกายของตนเอง ซึ่งนั่นอาจจะยากยิ่งกว่าการฟื้นจากอาการเจ็บเข่าเสียอีก
"วินเซนต์ ชัง" นักสะกดจิตบำบัดที่ทำงานกับนักกีฬาอาชีพในชิคาโก้ ได้ลงความเห็นต่อการบาดเจ็บของ เดอร์ริค โรส เมื่อปี 2012 ว่า "มีหลายตัวแปรที่เราจะต้องจัดการเมื่อเผชิญกับการบาดเจ็บ ตัวแปรอย่างหนึ่งคือการกลัวที่จะกลับไปเจ็บอีกครั้ง"
"จริง ๆ แล้วความกลัวก็เป็นความรู้สึกที่มีประโยชน์นะ มันสอนให้คนรู้จักระมัดระวัง คุณไม่อยากที่จะไร้ความกลัวหรอก เพราะมันจะทำให้คุณต้องพบกับภัยอันตราย แต่การกลัวจนไม่ทำอะไรเลย นั่นก็ไม่ได้เป็นการป้องกันอันตรายที่ดีหรอกนะ"
เทคนิคที่น่าสนใจของ ชัง คือการสะกดจิตบำบัด เขาคิดว่าการระงับความกลัวทางอ้อมอาจได้ผลดีกับ โรส อย่างการใช้สีแทนค่าแต่ละอารมณ์
เมื่ออารมณ์เปลี่ยน ชัง จะให้เขาเปลี่ยนสีตาม เช่น เปลี่ยนจากสีดำเป็นสีเทา เปลี่ยนจากสีเทาเป็นสีขาว เราอาจได้คำตอบว่าจิตใจของเราทำงานอย่างไร และนั่นเองคือวิธีการสื่อสารกับจิตใจของตัวเอง ที่จะช่วยเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกให้ดีขึ้นในทางอ้อมได้
D-ROSE THE G.O.A.T
แม้ว่า เดอร์ริค โรส จะเคยถูกลืมในฐานะ MVP อย่างรวดเร็ว และเป็นที่จดจำใหม่ในนาม "คนเจ็บ" ท้ายที่สุดเขาค่อย ๆ ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บ และเริ่มความเคลื่อนไหวในฐานะไก่รองบ่อนมาตั้งแต่นั้น จากทีมบ้านเกิดอันเป็นที่รัก เขาถูกจับย้ายสลับที่ใหม่ไปในหลาย ๆ ทีม ดั่งเสือสิ้นลาย
ดี-โรส ได้เกิดใหม่อีกครั้ง เป็นเรื่องน่าทึ่งที่เขาเรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ในวันที่เริ่มก้าวไปข้างหน้า เสียงรอบตัวของเขาเบาบางลง แต่นั่นเองก็ทำให้เขาได้ยินทุกอย่างมากขึ้น ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาได้เติบโตและพัฒนาเป็นอีกคน
ไล่มาตั้งแต่ นิวยอร์ก นิกส์ ในซีซั่น 2016-17, คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ ในซีซั่น 2017-18 และในซีซั่น 2018-19 นี้เอง ที่เขาเล่นให้กับ มินเนโซต้า ทิมเบอร์วูล์ฟส์ ดี-โรส ที่หลายคนรู้จักก็ได้กลับมาอีกครั้ง เขากระหน่ำยัดห่วงไม่ยั้ง ทำสถิติคะแนนสูงสุดในอาชีพไปกว่า 50 แต้ม หลังจบเกม ดี-โรส ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความอัดอั้นตันใจบนเส้นทางอันยากลำบากของเขา และนี่ก็เป็นสัญญาณของการคืนฟอร์มอย่างสมศักดิ์ศรี
แม้แต่นักกีฬาดาวรุ่งแห่งวงการก็ยังเคยบอบช้ำและพ่ายแพ้ให้กับความผิดหวัง การล้มในครั้งนั้นได้สอนให้คนคนหนึ่งลุกขึ้นยืนในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่ในฐานะฮีโร่หรือดาวรุ่ง ที่แบกความคาดหวังและความฝันอยู่เต็มสองบ่า เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถลุกขึ้นยืนแล้วกลับไปเล่นต่อได้ในทันทีในเกมกีฬา แน่นอนว่าในเกมชีวิตย่อมยากยิ่งกว่า
อย่าลืมว่าการสะดุดล้ม เป็นเรื่องที่ใครต่างเคยพบเจอ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่าอายแต่อย่างใด ไม่จำเป็นจะต้องรีบลุก ไม่จำเป็นจะต้องรีบเดิน ใช้เวลากับมันให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และเมื่อใดที่คุณลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง นั่นคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของคุณแต่เพียงผู้เดียว