สงสัยกันไหม : เชโกสโลวาเกีย เคยเป็นแชมป์ยูโร แต่ทำไมสิทธิ์ตกเป็นของ "เช็ก" เพียงชาติเดียว

สงสัยกันไหม : เชโกสโลวาเกีย เคยเป็นแชมป์ยูโร แต่ทำไมสิทธิ์ตกเป็นของ "เช็ก" เพียงชาติเดียว

สงสัยกันไหม : เชโกสโลวาเกีย เคยเป็นแชมป์ยูโร แต่ทำไมสิทธิ์ตกเป็นของ "เช็ก" เพียงชาติเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือฟุตบอลยูโร คือหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะการแข่งขันในแต่ละปี ล้วนมีเรื่องราวที่น่าจดจำ ถูกบอกกล่าวเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน 

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกจดจำ และทรงอิทธิพลในโลกลูกหนังมาจนถึงปัจจุบัน คือจุดโทษปาเนนก้า หรือการยิงลูกโทษด้วยการชิพแบบเบา ๆ เข้าไปกลางประตู แทนที่จะเป็นการซัดเต็มข้อ โดย แอนโตนิน ปาเนนก้า ซึ่งเป็นฮีโร่พาทีมชาติเชโกสโลวาเกีย ชนะเยอรมันตะวันตก ในนัดชิงชนะเลิศ จากการดวลจุดโทษ คว้าแชมป์ยุโรปปี 1976 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติเชโกสโลวาเกียมาครองได้สำเร็จ

แต่คุณอาจจะรู้สึกเอะใจเล็กน้อยว่า ประเทศเชโกสโลวาเกียในปัจจุบัน ไม่มีอยู่แล้ว หากแต่แบ่งแยกออกเป็น สาธารณรัฐเช็ก และ สโลวาเกีย และคุณอาจแปลกใจมากขึ้นที่ว่า สิทธิ์ในการเป็นแชมป์ยูโรของเชโกสโลวาเกียในครั้งนั้น ตกเป็นของทีมชาติเช็กแต่เพียงชาติเดียว

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ไขคำตอบไปพร้อมกับ Main Sand

กำเนิดเชโกสโลวาเกีย

ประเทศเชโกสโลวาเกียถือกำเนิดขึ้นในปี 1918 จากการแยกตัวออกจากประเทศ ออสเตรีย-ฮังการี อันเป็นผลพวงหลังจากชาติมหาอำนาจดั้งเดิมแห่งดินแดงยุโรปกลาง พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1


Photo : www.charlottesvveb.com

เหตุผลที่เชโกสโลวาเกียต้องแบ่งตัวออกมา เพราะว่าตั้งแต่อดีตชาวเช็ก และชาวสโลวัก เคยร่วมกันปกครองดินแดนของตัวเองมาตลอด 

ถึงจะมีเชื้อชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน แต่คนทั้งสองชาติกลับมีความสามัคคีกันเป็นอย่างดี เนื่องจากพวกเขาเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย จึงต้องรวมกันเราอยู่ เพื่อต้านมหาอำนาจอย่าง เยอรมนี และฮังการี ที่จ้องจะยึดครองดินแดนอยู่เสมอ

 

อย่างไรก็ตามด้วยความเป็นดินแดนกันชนระหว่างมหาอำนาจฝั่งตะวันตก อย่าง เยอรมนี, ฝรั่งเศส หรือกระทั่งอิตาลี กับเจ้าพ่อฝั่งตะวันออก อย่าง สหภาพโซเวียต ทำให้เชโกสโลวาเกียมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเองได้ไม่นาน ก็ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมัน เพื่อใช้เป็นทางผ่านบุกโจมตีโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ขณะเดียวกันเชโกสโลวาเกีย มีชาวเยอรมันอพยพไปอาศัยเป็นจำนวนมาก ทำให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มองแผ่นดินนี้เป็นของเยอรมนีมาตั้งแต่แรก

หลังจากถูกยึดครองในปี 1938 เชโกสโลวาเกียต้องรอถึงปี 1945 ถึงจะได้รับดินแดนของตัวเองกลับคืนมา เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง แต่ก็ใช่ว่าชาวเช็ก และสโลวัก จะมีอำนาจสูงสุดเหนือดินแดนของตัวเองเสียทีเดียว 

ด้วยความเป็นดินแดนกันชนระหว่างฝั่งตะวันตก และตะวันออก ทำให้เชโกสโลวาเกียไม่รอดการถูกครอบงำอำนาจโดยสหภาพโซเวียต ถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ในฐานะส่วนหนึ่งของกำแพงตะวันออก หรือ Eastern Bloc ช่วงสงครามเย็น

 

ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักของชาวเชโกสโลวาเกีย คนที่นี่รักในระบอบประชาธิปไตย และต้องการปกครองดินแดนของตนเองอย่างเสรี ขณะเดียวกันการปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์แบบฉบับโซเวียต ทำให้อุตสาหกรรมของประเทศไม่เจริญเติบโต มีแต่โรงงานผลิตสินค้าไร้ฝีมืออยู่ทั่วไป ผู้คนเริ่มอดอยาก และเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุดในช่วงยุค 1960s

ฟุตบอลมอบความสุข

เรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น คือการชูอำนาจของความเป็นชาติผ่านวงการกีฬา ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในฝั่งโลกคอมมิวนิสต์ เชโกสโลวาเกียถือเป็นส่วนหนึ่ง กับการสร้างนักกีฬาที่มีความสามารถ เพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งของแนวคิดตามแบบฉบับที่โซเวียตต้องการ

ด้วยเหตุนี้ เชโกสโลวาเกียจึงถือเป็นชาติที่มีความเป็นเลิศด้านกีฬาอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล, ฮอกกี้น้ำแข็ง, เทนนิส, กรีฑา หรือยิมนาสติก พวกเขาสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม

 

ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ถึงความเก่งกาจด้านกีฬาของชาวเชโกสโลวาเกีย คือ โอลิมปิก เกมส์ ซึ่งในการแข่งขันปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี พวกเขาจบอันดับที่ 10 ของตารางเจ้าเหรียญทอง 

4 ปีต่อมา กับการแข่งขันที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พวกเขาจบอันดับที่ 8 ก่อนที่ในปี 1968 นักกีฬาเชโกสโลวาเกีย จะกวาดเหรียญจนจบอันดับที่ 7 จากโอลิมปิกที่ เม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก

แต่ไม่มีกีฬาไหนที่ชาวเชโกสโลวาเกียจะหลงใหลไปกว่า "ฟุตบอล" พวกเขามองตัวเองในฐานะยอดทีมของวงการลูกหนังมาโดยตลอด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่คิดแบบนั้น

เพราะ เชโกสโลวาเกีย เคยไปไกลถึงตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1962 ขณะเดียวกันสำหรับฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ก็เป็น 1 ใน 4 ทีมแรก ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันรอบสุดท้าย ในฟุตบอลยูโรครั้งแรก เมื่อปี 1960 ซึ่งจบในอันดับที่ 3

ฟุตบอลคือความภูมิใจของเชโกสลาวาเกีย ถึงจะมีทั้งช่วงเวลาที่สำเร็จ และล้มเหลว สลับผลัดเปลี่ยนกันไป แต่คนในประเทศก็ยังคลั่งไคล้กีฬานี้มาก จนกระทั่งพวกเขาได้รับความสำเร็จสูงสุด หลังจากขุนพลเชโกสลาวาเกีย สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลยุโรป ปี 1976 มาครองได้สำเร็จ

 

Photo : soccernostalgia.blogspot.com

ความสำเร็จครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่ความหมายในแง่ของกีฬา แต่เป็นพลังใจให้กับชาวเชโกสโลวาเกียที่กำลังเหนื่อยล้า จากสภาพสังคมที่ย่ำแย่ รัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ผู้คนตกงานจำนวนมาก ทำให้ประเทศนี้ตกอยู่ในความตกต่ำด้านเศรษฐกิจมาหลายปี

เช็ก และ สโลวาเกีย

ปลายยุค 80s คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ผู้คนในประเทศคอมมิวนิสต์อดทนกับคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ไม่ได้อีกต่อไป พวกเขาลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

เหตุการณ์หนึ่งที่น่าจดจำมากที่สุด คือการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน หรือเหตุการณ์ที่ชาวเยอรมันตะวันออกหลายหมื่นคน เดินทางพร้อมกันข้ามสู่เยอรมันตะวันตก เมื่อวันที่ 9 พฤษจิกายน 1989 เป็นสัญลักษณ์การล่มสลายของการแบ่งประเทศเยอรมัน ซึ่งจะกลับมารวมกันอย่างเป็นทางการ ในปี 1990

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเยอรมัน จุดไฟอย่างมากให้ชาวเชโกสโลวาเกีย 8 วันหลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน กลุ่มนักศึกษาในกรุงปรากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่กลับกลายเป็นว่าถูกปราบปรามอย่างหนักโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายสิบปีในประเทศนี้

แต่วันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ชาวเชโกสโลวาเกียเลือกที่จะไม่ทนอีกแล้ว คนจำนวน 5 แสน ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ให้ออกไปจากตำแหน่ง และต้องเปลี่ยนประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

การชุมนุมดำเนินไปเป็นเวลา 42 วัน มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนสุดท้ายพรรคคอมมิวนิสต์ของเชโกสโลวาเกียต้องตัดสินใจยุบพรรค และมีการประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างเสรี สิ้นสุดยุคของคอมมิวนิสต์ในประเทศแห่งนี้อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไม่มีอำนาจปกครองตัวเองมาอย่างยาวนาน ทำให้ทั้งชาวเช็ก และชาวสโลวาเกีย เริ่มมีไอเดียที่อยากจะปกครองตัวเอง เพราะถึงแม้จะอยู่ในชาติเดียวกัน แต่คนทั้งสองเชื้อชาติก็แบ่งเขตแดนอาศัยกันอย่างชัดเจน โดยชาวเช็กอาศัยอยู่ทางตะวันตก และชาวสโลวักอยู่ทางตะวันออก

นอกจากนี้ เมื่อออกจากระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ เท่ากับว่าเชโกสโลวาเกียต้องหันหน้าเข้าสู่ทุนนิยม ซึ่งระบบเศรษฐกิจของประเทศในตอนนั้น รายได้ส่วนใหญ่มาจากผลผลิตของชาวเช็ก ซึ่งสูงกว่าสโลวักพอสมควร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จินตนาการได้ไม่ยากว่า หากเช็กแยกตัวออกจากสโลวาเกีย พวกเขาก็จะร่ำรวยมากกว่าเดิม

ทำให้หลังจากกลับมาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ทั้งชาวเช็ก และสโลวัก ต่างมีรัฐบาลของตัวเองขึ้นมาปกครองประเทศร่วมกัน ในลักษณะของสหพันธรัฐ

ยิ่งเวลาผ่านไปความตึงเครียดระหว่างผู้มีอำนาจทั้งสองชนชาติเพิ่มสูงขึ้น จนสุดท้ายทั้งสองฝ่ายตัดสินใจหันหน้าเข้าหากัน และตกลงแยกประเทศกันอย่างสันติ กำเนิดประเทศสาธารณรัฐเช็ก และประเทศสโลวาเกีย อย่างเป็นทางการวันที่ 1 มกราคม 1993


Photo : www.kindpng.com

กระนั้นหนึ่งในรายละเอียด ระหว่างการตกลงแยกประเทศ ของรัฐบาลฝ่ายเช็ก และสโลวาเกีย คือข้อตกลงที่ว่า ประวัติศาสตร์ทุกสิ่งอย่างของประเทศเชโกสโลวาเกีย จะถูกสืบทอดโดยผู้สืบทอดที่แท้จริงเท่านั้น ซึ่งในแง่นี้คือประเทศสาธารณรัฐเช็ก เนื่องจากเช็กได้เป็นผู้ถือทั้งตราแผ่นดิน และธงชาติ สืบต่อมาจากเชโกสโลวาเกีย

ดังนั้นแล้ว จากการแยกประเทศครั้งนี้ หน่วยงานทางรัฐบาลเกือบทั้งหมดจึงตกเป็นของประเทศเช็ก ขณะที่ประเทศสโลวาเกียต้องตั้งหน่วยงานใหม่เกือบทั้งหมด รวมถึงสมาคมฟุตบอลของประเทศด้วยเช่นกัน

จึงเป็นเหตุผลให้เกียรติประวัติทุกอย่างของกีฬาฟุตบอลที่ประเทศเชโกสโลวาเกียเคยทำมา ตกเป็นของสาธารณรัฐเช็ก เพราะสมาคมฟุตบอลของเช็ก คือสมาคมฟุตบอลเดิมของเชโกสโลวาเกีย ซึ่งถือกรรมสิทธิ์สืบเนื่องต่อมา และยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ทีมชาติสโลวาเกีย ต้องสร้างทีมฟุตบอลของตัวเองขึ้นมาใหม่ ผ่านการรับรองสมาคมฟุตบอลสโลวัก โดย FIFA ในปี 1993 

ดังนั้น ทีมฟุตบอลของสโลวักจึงถือว่ามีตัวตนอย่างเป็นทางการในโลกลูกหนังครั้งแรก เมื่อปี 1993 จึงไม่มีสิทธิ์เป็นแชมป์ยูโร 1976 หรือเกียรติประวัติต่าง ๆ ที่ถูกถือครองโดยสมาคมฟุตบอลเชโกสโลวาเกีย ที่กลายเป็นสมาคมฟุตบอลของสาธารณรัฐเช็กเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศยังคงมีความสัมพันธ์อันดี เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันมาตลอด นับตั้งแต่แยกประเทศ และทีมฟุตบอลของทั้งสองชาติ ต่างรอคอยความสำเร็จบนเวทีลูกหนังครั้งต่อไป 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook