10 พิธีเปิดโอลิมปิกที่ดีที่สุดตลอดกาล
ในการแข่งขันโอลิมปิก สิ่งหนึ่งที่จะวัดศักยภาพของเจ้าภาพได้ดีที่สุดและง่ายที่สุดคือ พิธีเปิดการแข่งขัน ซึ่งเหมือนเป็นงานปล่อยของและเป็นอีเวนต์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด
เจ้าภาพต้องทุ่มทุนสร้างอย่างเต็มที่ ทั้งความคิดสร้างสรรค์และกำลังทรัพย์ เพื่อให้พิธีเปิดของตัวเองนั้นซาบซึ้งตรึงใจสายตานับล้าน ๆ คู่ ทั่วโลก เพราะมันจะช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเองไปด้วยอีกทางหนึ่ง
แล้วนับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา พิธีเปิด โอลิมปิก เกมส์ ครั้งไหน ยิ่งใหญ่ สวยงาม น่าประทับใจมากที่สุด ติดตามได้ที่นี่
10. ลอส แองเจลิส (สหรัฐฯ) ปี 1984
การรับหน้าที่เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนหนแรกของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดภาพประทับใจมากมายในพิธีเปิด ทั้งการได้ชมการขับร้องเพลง “When the Saints Go Marching In” ของ เอตต้า เจมส์ ตำนานนักร้องระดับ 6 รางวัลแกรมมี่, การได้เห็นวงโยธวาทิตกองทัพบกสหรัฐฯ แปรขบวนเป็นห่วงห้าสีของโอลิมปิก และการจุดกระถางคบเพลิงโดย เรเฟอร์ จอห์นสัน เจ้าของเหรียญทองทศกรีฑาโอลิมปิกปี 1960 แต่สิ่งที่ฮือฮาที่สุดคือ บิลล์ ซูเตอร์ มนุษย์จรวดที่เหาะเข้าสู่สนาม Los Angeles Memorial Coliseum ด้วยจรวดไอพ่นขนาดกระเป๋า (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
9. โซล (เกาหลีใต้) ปี 1988
พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโซลเมื่อปี 1988 คือครั้งสุดท้ายที่จัดพิธีดังกล่าวในตอนกลางวัน และเป็นที่จดจำในเรื่อง "นกพิราบ" ที่ถูกนำมาปล่อยให้โบยบินในพิธีเปิดทุกครั้งก่อนหน้านั้น เพื่อเป็นตัวแทนของสันติภาพ แต่ที่โซลกลายเป็นโศกนาฏกรรมเมื่อนกไปเกาะบนกระถางคบเพลิงขณะที่อดีตนักกีฬาของเกาหลีจุดไฟ ทำให้โดนย่างสดออกอากาศ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจและต้องยุติการปล่อยนกพิราบตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา แต่นอกจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว การแสดงในส่วนอื่น ๆ ถูกพูดถึงไม่น้อยไปกว่ากัน ทั้งการสาธิตกีฬาเทควันโดด้วยคนนับร้อยแบบพร้อมเพรียง และกลุ่มนักดิ่งเวหาที่เกาะกันเป็นห่วงห้าสีของโอลิมปิกบนน่านฟ้าอย่างสวยงาม (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
8. ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) ปี 1948
นี่คือโอลิมปิกฤดูร้อนหนแรกนับตั้งแต่ต้องเว้นช่วงยาวนานถึง 12 ปี จากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งด้วยภัยสงครามที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้กลายเป็นพิธีเปิดที่ต้องรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นพิธีเปิดที่ไม่ได้ทุ่นทุนสร้างอย่างอลังการ แต่ด้วยบรรยากาศของผู้ชมกว่า 85,000 ในสนามเวมบลีย์ และอารมณ์ร่วมหลังจากผ่านการสูญเสียครั้งใหญ่ ทำให้แต่ละขั้นตอน ทั้งการที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด, การใช้ปืน 21 กระบอกยิงสดุดีก่อนการจุดไฟกระถางคบเพลิง และการให้ โดนัลด์ ฟินเลย์ ทหารในสังกัดกองทัพอากาศหลวงของสหราชอาณาจักร (RAF) กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณโอลิมปิก ต่างมีความหมายและประทับอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
7. เอเธนส์ (กรีซ) ปี 2004
ชาติต้นกำเนิดโอลิมปิกจัดพิธีเปิดได้อย่างสมศักดิ์ศรี องค์ประกอบทุกอย่างมีทั้งมนต์ขลัง และความฉูดฉาดเข้ามาเติมเต็มประสบการณ์ให้กับผู้ชม ทั้ง เทพกรีกโบราณ, สระน้ำขนาดใหญ่สุดไฮเทคกลางสนามที่สามารถระบายน้ำ 2,162,000 ลิตรออกจนหมดภายใน 3 นาที และ บียอร์กศิลปินหญิงชื่อดังมาร้องเพลง Oceania ซึ่งเป็นเพลงประจำการแข่งขัน ผ่านสายตาผู้ชม 72,000 ในสนาม และนับพันล้านคนทั่วโลกผ่านการถ่ายทอดสดด้วยระบบ HD เป็นครั้งแรก (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
6. โตเกียว (ญี่ปุ่น) ปี 1964
โตเกียว เกมส์ 1964 คือครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก รวมทั้งเป็นครั้งแรกที่ถ่ายทอดเป็นภาพสีอีกด้วย ซึ่งนอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ในพิธีเปิดยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งการเสด็จเป็นองค์ประธานของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ และการจุดไฟกระถางคบเพลิงโดย โยชิโนริ ซากาอิ เด็กหนุ่มผู้เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ในฮิโรชิม่า วันเดียวกับที่เมืองถูกทิ้งระเบิด ซึ่งแม้เจ้าตัวจะไม่เคยได้ลงแข่งโอลิมปิก แต่ได้รับเลือกให้มาเป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงทิศทางใหม่ของประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องสันติภาพ (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
5. บาร์เซโลน่า (สเปน) ปี 1992
บาร์เซโลน่าคือหนึ่งในพิธีเปิดที่สร้างความบันเทิงเริงใจได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหุ่นกระบอกขนาดมหึมา, ผู้ชมกว่า 67,000 ในสนาม และ การจุดกระถางคบเพลิงด้วยการยิงธนูของ อันโตนิโอ โรเบลโล่ นักกีฬาพาราลิมปิก ซึ่งแม้จะน่าเสียดายที่ไม่ได้เห็น เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ ตำนานนักร้องนำของวง Queen ขึ้นแสดงสดในเพลง Barcelona ร่วมกับ มอนเซร์ราต กาบาลเล่ เนื่องจากเจ้าตัวเสียชีวิตในปี 1991 แต่แค่นำเพลงมาเปิดประกอบในพิธีก็ให้ความรู้สึกทรงพลังไม่แพ้กัน (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
4. ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) ปี 2012
เมื่อเทียบกับการได้จัดพิธีเปิดหนแรกเมื่อปี 1948 ที่ดูเป็นทางการและต้องรัดเข็มขัดจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ลอนดอน เกมส์ ปี 2012 มีสไตล์ที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง แดนนี่ บอยล์ (Trainspotting, Slumdog Millionaire)ผู้กำกับระดับรางวัลออสการ์ ถ่ายทอดพิธีเปิดออกมาโดยอุทิศให้กับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกรุงลอนดอน พร้อมสอดแทรกอารมณ์ขัน มีทั้งรถบัสสองชั้น, Mr. Bean ดาวตลกชื่อดังที่ขโมยซีนวง London Symphony Orchestra รวมทั้งการให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ร่วมแสดงในหนังสั้นกับ แดเนียล เคร็ก เจ้าของบทบาท เจมส์ บอนด์ สายลับ007 ก่อนกระโดดร่มลงสู่สนามเวมบลีย์ สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก (ผู้รับหน้าที่แสดงแทนในฉากเฮลิคอปเตอร์คือ จูเลีย แม็คเคนซี่ นักแสดงหญิงรุ่นเดอะ และมี แกรี่ คอนเนรี่ นักแสดงเสี่ยงตายรับหน้าที่กระโดดร่มแทน) (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
3. แอตแลนตา (สหรัฐฯ) ปี 1996
ทั้งในส่วนของขบวนพาเหรด (วงโยธวาทิตเดินสวนสนาม, ขบวนเชียร์ลีดเดอร์, ขบวนรถปิกอัพ) และส่วนที่พาย้อนอดีตแดนใต้ของสหรัฐฯ (พร้อมกับบทเพลง Georgia on My Mind ของวง กลาดีส์ ไนท์) พิธีเปิดสำหรับการฉลองครบรอบศตวรรษของโอลิมปิกสมัยใหม่ตอบรับความฟุ่มเฟือยจากบาร์เซโลน่าได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันการจุดคบเพลิงครั้งนี้ ยังถือเป็นครั้งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลกมากที่สุด เพราะแม้จะไม่ได้มีเทคนิคตระการตา แต่ภาพของ มูฮัมหมัด อาลี ตำนานนักชกที่ถูกโรคพาร์กินสันคุกคามถือคบเพลิงโอลิมปิก ค่อย ๆ เดินไปจุดไฟที่กระถาง กลายเป็นภาพแห่งความทรงจำที่ถูกพูดถึงมาจนปัจจุบัน (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
2. ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) ปี 2000
ผู้กำกับการแสดงสรรค์สร้างพิธีเปิดที่ซิดนีย์ให้ออกมาสวยงาม แสดงถึงความหลากหลายด้านภูมิประเทศและวัฒนธรรมของประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งสมบูรณ์แบบสำหรับการชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการจัดขบวนม้ากว่า 120 ตัว ให้เป็นรูปห่วงโอลิมปิก และการเปลี่ยนพื้นสนามให้กลายเป็นแนวปะการัง Great Barrier Reef อันโด่งดัง โดยมี เคธี่ ฟรีแมน นักกรีฑาเชื้อสายอะบอริจินเป็นผู้จุดกระถางคบเพลิงโอลิมปิกในน้ำก่อนที่กระถางจะยกตัวขึ้นไปประดิษฐานบนจุดสูงสุดของสนาม (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
1. ปักกิ่ง (จีน) ปี 2008
นอกจากพลุที่ตระการตาแบบสุด ๆ พิธีเปิด ปักกิ่ง เกมส์ ยังมีอีกหลายเหตุผลที่คู่ควรกับการได้รับยกย่องให้เป็นพิธีเปิดที่ดีที่สุดของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ทั้งดนตรี, การแสดง และการสร้างสรรค์งานศิลปะ ทุกอย่างที่ผู้ชมคาดหวังจะได้เห็นจากการเป็นเจ้าภาพของจีน ถูกนำมาเสนอแบบไม่มีอั้น ทั้งกายกรรม, การตีกลองแบบโบราณอย่างพร้อมเพรียงของนักแสดงหลายร้อยคน และการเขียนตัวอักษรจีนโดยใช้พู่กันมนุษย์ เหล่านี้ฝ่ายจัดนำเสนอออกมาได้น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะการจุดกระถางคบเพลิงที่ให้ หลี่ หนิง ตำนานนักยิมนาสติกของจีน เหาะเหินเดินอากาศรอบสนามราวกับดูหนังจีนกำลังภายในเลยทีเดียว (ดูคลิปพิธีเปิดได้ ที่นี่)
***พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 เริ่มเวลา 18.00 น. - 21.30 น. (ถ่ายทอดสด : True4U ช่อง 24 , NBT ช่อง 2 , ThaiPBS ช่อง 3 และ AIS PLAY ช่อง 1)
-------------------------------------------
ติดตามการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้ทุกวันทาง T-Sports ร่วมด้วย Thai PBS, NBT, PPTV, JKN 18, ทรูโฟร์ยู 24, GMMTV 25 และ AIS PLAY ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม 2564
-------------------------------------------
สรุปเหรียญรางวัล โอลิมปิก 2020 ได้ที่นี่ : https://www.sanook.com/sport/olympics/medal/