ทำความรู้จัก "ทีมผู้ลี้ภัย" และทำไม? รัสเซียต้องแข่งโอลิมปิก 2020 ในชื่อ "ROC"

ทำความรู้จัก "ทีมผู้ลี้ภัย" และทำไม? รัสเซียต้องแข่งโอลิมปิกในชื่อ "ROC"

ทำความรู้จัก "ทีมผู้ลี้ภัย" และทำไม? รัสเซียต้องแข่งโอลิมปิกในชื่อ "ROC"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โอลิมปิก เกมส์ 2020 ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่หนึ่งหรือสองคำถามที่หลายคนเกิดความสงสัยตั้งแต่ได้เห็นขบวนพาเหรดนักกีฬาคือ Refugee Olympic Team (EOR) หรือทีมผู้ลี้ภัย คืออะไร มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงได้ถึงธงสัญลักษณ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)

และอีกคำถามคือทีม ROC มาจากไหน แม้หลาย ๆ ท่านจะทราบแล้วว่าเป็นทีมชาติรัสเซีย แต่ทำไมพวกเขาไม่ได้ใช้ชื่อและธงชาติของประเทศตัวเอง

เมื่อมีข้อสงสัย เราจึงมาไขคำตอบ ทั้ง 2 ทีมมีที่มาอย่างไร ติดตามได้ที่นี่

ที่มาทีมผู้ลี้ภัย (EOR)

Refugee Olympic Team (EOR) คือ "ทีมผู้ลี้ภัย" มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ(UN) ในเดือนตุลาคมปี 2015 หลังจากเผชิญปัญหาผู้ลี้ภัยนับล้านคนทั่วโลกไร้ที่อยู่อาศัย โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ประกาศกลางที่ประชุมว่าจะจัดตั้งทีมนักกีฬาโอลิมปิกผู้ลี้ภัย เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ ที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร ในปี 2016

10 เดือนหลังจากนั้น 10 นักกีฬาจาก เอธิโอเปีย, ซูดานใต้, ซีเรีย และ ดีอาร์ คองโก ได้เข้าร่วมการแข่งขัน ริโอ เกมส์ เคียงข้างกับนักกีฬากว่า 11,000 คน ซึ่งโครงการพิเศษนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ IOC ในการยืนหยัดเคียงข้างผู้ลี้ภัยและสนับสนุนพวกเขาผ่านการเล่นกีฬา และยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ผ่านโครงการสนับสนุนนักกีฬาผู้ลี้ภัยช่วยให้พวกเขาไม่เพียงแค่ฝึกฝนเพื่อให้ได้ไปแข่งโอลิมปิกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขามีก้าวต่อไปในอาชีพ และสร้างอนาคตด้วยตัวเอง

จากผลตอบรับที่ดีทำให้ในเดือนตุลาคมปี 2018 IOC ลงมติให้มีทีมผู้ลี้ภัยใน โตเกียว 2020 และมอบหมายให้โครงการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ กำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกนักกีฬาโดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ, สหพันธ์กีฬาระหว่างประเทศ และคณะกรรมการจัดงานโตเกียว 2020

ขณะเดียวกัน IOC ยังได้เปลี่ยนโค้ดสำหรับทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยจาก ROT (Refugee Olympic Team) มาเป็น EOR ตามภาษาฝรั่งเศสคือ Équipe olympique des réfugiés ที่มีความหมายเดียวกัน ซึ่งจากกรณีนี้ทำให้ทีมผู้ลี้ภัยได้เดินขบวนพาเหรดเป็นอันดับที่ 2 ตามอักษรภาษาญี่ปุ่น ต่อจากกรีซที่เป็นอันดับแรกตามธรรมเนียม ในพิธีเปิดโตเกียว 2020

การคัดเลือกนักกีฬาทีมผู้ลี้ภัยสำหรับ โตเกียว 2020

จากโครงการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศของIOC ทำให้มีนักกีฬาผู้ลี้ภัยกว่า 56 คนจาก 13 ประเทศได้ทุนการศึกษา ช่วยให้พวกเขามุ่งมั่นฝึกซ้อมสำหรับการไปแข่งโตเกียว 2020 โดยนักกีฬาผู้ลี้ภัยที่ได้ทุนโอลิมปิกทั้ง 56 คน มาจากประเทศเจ้าบ้าน 21 ชาติ คือ ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยียม, บราซิล, แคนาดา, โครเอเชีย, อียิปต์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิสราเอล, จอร์แดน, เคนยา, ลักเซมเบิร์ก, โปรตุเกส, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ตรินิแดดและโตเบโก, ตุรกี, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร และเป็นนักกีฬาจาก 12 ชนิดกีฬาคือ กรีฑา, แบดมินตัน, มวยสากล, เรือแคนู, จักรยาน, ยูโด, คาราเต้, เทควันโด, ยิงปืน, ว่ายน้ำ, ยกน้ำหนัก และมวยปล้ำ

จากนักกีฬาผู้ลี้ภัยที่ได้ทุนทั้งหมด มี 25 คนจาก 11 ประเทศใน 12 ชนิดกีฬา ซึ่งอาศัยและฝึกซ้อมอยู่ใน 13 ประเทศเจ้าบ้านได้สิทธิ์ลงแข่งโอลิมปิก บวกกับอีก 4 คนจากโครงการเพื่อผู้ลี้ภัยของสหพันธ์ยูโดนานาชาติ เพื่อจัดทีมผสม ทำให้มีนักกีฬาผู้ลี้ภัยทั้งหมด 29 คนในโตเกียว 2020

ส่วนสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของทีม (รวมถึงพิธีรับเหรียญรางวัล) นักกีฬาผู้ลี้ภัยจะใช้ธงโอลิมปิกและเล่นเพลงของโอลิมปิกแทนเพลงชาติ ส่วนตัวนักกีฬาจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาเช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ โดย IOC จะให้การสนับสนุนนักกีฬาผู้ลี้ภัยต่อไปแม้หลังจากจบ โอลิมปิก เกมส์ โตเกียว 2020 แล้วก็ตาม

ทำไมรัสเซียต้องใช้ชื่อว่า ROC

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากการที่ องค์การต่อต้านสารกระตุ้นโลก (WADA) สั่งแบนรัสเซียจากการลงแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในปี 2019 เนื่องจากมีความผิดฐานปกปิดข้อมูลและฉ้อโกงการแข่งขันด้วยการใช้สารกระตุ้น ส่งผลให้นักกีฬารัสเซียไม่สามารถลงแข่งในนามประเทศของตัวเองได้

ขณะที่ทีม ROC นั้น ไม่ได้แปลว่าเป็นประเทศ แต่เป็นช่องทางให้นักกีฬารัสเซียลงแข่งได้แม้ชาติบ้านเกิดจะถูกแบนก็ตาม โดย ROC เป็นตัวแทนของคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย ซึ่งนักกีฬาสามารถลงแข่งในนามตัวแทนคณะกรรมการได้ ซึ่งกฎของโอลิมปิกระบุว่าต้องใช้ ROC แทนชื่อเต็ม

 กรณีนี้หมายถึง หากนักกีฬาคว้าเหรียญทองโอลิมปิก จะไม่มีการเชิญธงชาติรัสเซีย ไม่มีการเล่นเพลงชาติรัสเซีย แต่จะเป็นการเล่นเพลงของ Tchaikovsky ตำนานนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย และเชิญธง ROC แทน ส่วนชุดยูนิฟอร์มได้รับอนุญาตให้มีคำว่า "Russian" ได้ แต่ต้องตามด้วย "neutral athlete" เท่านั้น เพื่อให้ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นตัวแทนทีมชาติรัสเซียนั่นเอง

ขณะที่ระยะเวลาโทษแบนของรัสเซียนั้น ได้รับการลดโทษจาก 4 ปี เหลือ 2 ปี ซึ่งเริ่มมีผลในเดือนธันวาคมปี 2020 ทำให้พวกเขาไม่สามารถลงแข่งโอลิมปิก เกมส์ ปีนี้ในนามประเทศได้ รวมไปถึงโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 และฟุตบอลโลกในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ROC ไม่ใช่ทีมเดียวที่ไม่ถือว่าเป็นีมชาติในโอลิมปิก เนื่องจาก ไชนีสไทเปซึ่งเป็นนักกีฬาจากไต้หวัน และทีมผู้ลี้ภัยก็ไม่จัดในหมวดหมู่ทีมชาติเช่นกัน ขณะที่เขตปกครองพิเศษอื่น ๆ รวมทั้ง หมู่เกาะเวอร์จิ้น และเกาะกวมต่างก็แยกทีมลงแข่งเช่นกัน

สรุปเหรียญโอลิมปิก 2020 ได้ที่นี่ : https://www.sanook.com/sport/olympics/medal/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook