จุฑามาศ จิตรพงศ์ : นักชกสาวผู้เคยโทษโชคชะตาสู่การคว้าตั๋วไปโอลิมปิกแบบเหนือดวง
เดือนเมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงกีฬาเกาหลีเหนือประกาศผ่านเว็บไซต์ขอถอนตัวออกจากการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยอ้างว่ามีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19
โควต้านักกีฬาเกาหลีเหนือ ที่ได้เข้าร่วมโอลิมปิก เกมส์ ต้องถูกส่งต่อให้กับนักกีฬาคนอื่น ๆ ที่มีผลงานรองลงมาแบบอัตโนมัติ…
จุฑามาศ จิตรพงศ์ หรือ “เฟี้ยว” นักชกสาววัย 23 ปีของไทยก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไปโอลิมปิก เกมส์ ในโควต้านักกีฬาเกาหลีเหนือ ที่ถอนตัวออกไปแบบไม่คาดคิด … แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะหยาดเหงื่อที่สู้มา จนอย่างน้อยเธอก็เป็นเบอร์ต้น ๆ ที่มีลุ้นได้โควต้าไปมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก … แต่ใจหนึ่งเธอก็คิดว่า หรือมันเป็นเพราะฟ้ารับรู้ว่าเธอโอดครวญกับโชคชะตา จึงมอบรางวัลแห่งความพยายามให้เธอ ?
Main Stand จะพาไปพบกับเรื่องราวของ “เฟี้ยว” เด็กสาวจากนครศรีธรรมราช ผู้คว้าโควต้าโอลิมปิก เกมส์ ให้กับทัพมวยสากลสมัครเล่นไทย
เหตุเกิดจากความซน
“หนูเริ่มชกมวยครั้งแรกเป็นมวยไทยตอนอายุ 10 ขวบ ตอนหนูอยู่บ้านที่นครศรีธรรมราช” เฟี้ยว-จุฑามาศ เริ่มเล่าเรื่องราวของเธอกับ Main Stand
เธอดูเป็นวัยรุ่นสาว ที่พูดจาฉะฉาน เล่าเรื่องได้สนุก อันที่จริง เส้นทางบนผืนผ้าใบของจุฑามาศ ไม่ได้เริ่มต้นบนพื้นฐานความยากลำบากเหมือนนักมวยอีกหลายคน อาชีพรับจ้างของพ่อและแม่ถึงจะไม่ได้ร่ำรวยแต่ก็สามารถหาเงินมาดูแลครอบครัวและส่งเสียให้เธอได้ร่ำเรียนตามปกติเหมือนเด็กคนอื่น
บ้านห้วยผักหนาม ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี ที่ “เฟี้ยว” อาศัยอยู่นั้น ไม่ต่างจากหมู่บ้านตามชนบทแถบเชิงเขาทั่วไป แม้จะไม่ถึงขั้นกันดารจนลำบาก แต่ก็ยังอยู่ไกลจากตัวเมืองถึง 30 กม. และห่างจากความเจริญพอสมควร ผู้คนส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการรับจ้างตัดยาง ทำให้เด็กและเยาวชนละแวกนั้นไม่มีตัวเลือกอะไรมากนักนอกจากเล่นซุกซนไปวัน ๆ
กระทั่งวันหนึ่ง “การชกมวย” ก็ได้เขามาเปลี่ยนกิจวัตรที่จำเจของเด็กหญิงคนหนึ่งให้เปลี่ยนไป
“หนูเป็นเด็กที่ดื้อ เป็นเด็กห้าว ๆ เล่นแต่กับเด็กผู้ชายมาตลอด ไม่ได้เล่นกับเด็กผู้หญิงเลย วัน ๆ เลิกเรียนมาก็จะเล่นซนไปเรื่อย ไปจับปลาบ้าง เล่นนู่นเล่นนี่บ้าง มีแผลกลับบ้านตลอด แล้วตอนนั้นที่บ้านจะมีโค้ชมวยคนหนึ่งที่สนิทกับพ่อและแม่มาหาที่บ้านเป็นประจำ พอเห็นหนูซนก็เลยบอกว่า ‘ซนพรรค์นี้ลองไปต่อยมวยไหม ?’ ซึ่งทีแรกหนูก็ปฏิเสธไป จนพอดีกับที่หนูมีเพื่อนสนิทที่นิสัยห้าว ๆ เหมือนกัน ที่ต่อยมวยกับโค้ชคนนี้อยู่แล้วมาชวนไปอีกรอบ หนูก็เลยตัดสินใจลองไปที่ค่ายมวยดูสักครั้ง” จุฑามาศ ย้อนความ
เธอไม่ต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป ที่ครั้งแรกกับประสบการณ์การชกมวยย่อมน่วมไปทั้งตัว แต่ถึงจะโดนเตะโดนต่อยจนช้ำขนาดไหน ด.ญ.จุฑามาศ ก็ไม่ได้รู้สึกหวั่นกลัว เธอกลับชื่นชอบและสนุกไปกับมัน และจากนั้นทุก ๆ วันหลังเลิกเรียน เธอก็เดินทางไปซ้อมมวย…
“ครั้งแรกที่ไป เขาจับหนูลองชกกับเพื่อนคนที่ชวนมาจนน่วมไปหมด โดนแย็บท้องแย็บไส้ โดนต่อย โดนเตะ จนเจ็บไปหมด แต่หนูกลับรู้สึกว่ามันสนุก ได้อยู่กับเพื่อนด้วย หลังจากนั้นจากปกติที่เลิกเรียนกลับบ้านมาเล่นอย่างเดียว ก็เปลี่ยนเป็นไปซ้อมที่ค่ายมวยทุกวันเลย จนผ่านไปสักพัก วันหนึ่งที่ตลาดแถวบ้านมีประกาศว่าจะมีการจัดเวทีชกมวยในตลาดตอนค่ำ โค้ชเขาก็จับหนูลงชื่อขึ้นชกครั้งแรกเลย พร้อมตั้งชื่อให้ว่า ยอดเยี่ยม ศิษย์ยกล้อ โดยมีเวลาเตรียมตัวก่อนขึ้นชกไม่ถึง 1 เดือน จากนั้นหนูก็กลับไปซ้อมจริงจังมากขึ้น”
“ถึงวันจริง บรรยากาศตอนนั้นต้องบอกเลยว่าตื่นเต้นมาก เป็นเวทีมวยกลางตลาดที่ล้อมด้วยสังกะสี ซึ่งนาน ๆ ทีแถวบ้านหนูจะมีจัดสักครั้ง ถึงแม้จะมีการเก็บค่าบัตรเข้าชม แต่ก็มีคนมาดูเต็มไปหมดเกือบ 200 คนได้ พอขึ้นเวทีไปหนูถึงกับขาสั่น หัวใจเต้นแรงมาก หนูขึ้นชกครั้งแรกต้องเจอกับคู่ชกที่ชกมาแล้ว 12 ครั้ง ซึ่งหนูก็ยังไม่เป็นมวยหรอก แต่หนูมีแรง พอเขาเตะหนูก็เจ็บแค่นั้นแหละ หนูก็ใส่คืนอย่างเดียวเลย สุดท้ายชนะมาได้ ได้เงินค่าตัว 500 บาท หลังจากนั้นก็ยิ่งชอบชกมวยมากขึ้นอีก เพราะนอกจากสนุกแล้วยังทำเงินได้ด้วย” จุฑามาศ เล่าพร้อมรอยยิ้ม
จากความคิด “ไม่อยากติดยา” สู่รั้วทีมชาติไทย
เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น แทบทุกคนต้องเผชิญกับสิ่งยั่วยุและเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ที่พร้อมจะดึงเราเข้าไปในเส้นทางที่เลวร้ายหากเราก้าวพลาดหรือไขว้เขว ไม่ต่างจากจุฑามาศที่ได้เห็นสังคมรอบข้างที่เต็มไปด้วยอบายมุขและสิ่งมอมเมาคอยกวักมือเรียกหา โดยเฉพาะการต้มใบกระท่อม
พื้นที่ภาคใต้การใช้ใบกระท่อมนับเป็นเรื่องปกติที่มักพบเห็นกันได้อย่างแพร่หลาย ในงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยพืชกระท่อม : ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม” ของสำนักงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุชัดเจนว่า ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการและโรคต่าง ๆ
ปัจจุบันแม้ว่าพืชกระท่อมจะไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษแล้วก็ตาม แต่ยังมีหลายคนที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ได้นำใบกระท่อมไปใช้เป็นสารตั้งต้น ผสมกับ ยา สาร หรือน้ำอื่น ๆ ที่ตนอยากจะให้มีฤทธิ์ตามต้องการ เพื่อให้เกิดความมึนเมา นำมาซึ่งความสนุกสนาน คึกคะนอง และตามมาด้วยปัญหาอาชญากรรมในที่สุด
ด.ญ.จุฑามาศ รับรู้เรื่องเหล่านี้ดี แม้ครอบครัวของเธอจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพย์ติดเลยก็ตาม แต่เธอก็ได้ฟัง ได้ยิน มาว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ในชุมชนที่เธออาศัยอยู่ได้เข้าไปพัวพันกับสิ่งเหล่านี้ ความคิดของเด็กอายุ 12 ปีในตอนนั้น เธอคิดอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้เธอหนีห่างจากมันให้ได้ไกลที่สุด เพื่อที่วันหนึ่งจะได้ไม่ก้าวเข้าไปอยู่ในวังวน และการชกมวยที่เธอชื่นชอบนี่เองที่มีส่วนสำคัญในการพาเธอหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น
“หนูชกมวยไทยอยู่เกือบ 3 ปี จนจบ ป.6 หนูก็มีความคิดว่าไม่อยากเรียนต่อแถวบ้านแล้ว เพราะดูแล้วถ้ายังอยู่แถวบ้านต่อคงไม่พ้นต้องติดกระท่อมหรือติดยาอะไรสักอย่าง เพราะคนรอบข้างติดกันเยอะ สมัยเด็กเรายังไม่เคยเห็นกับตาหรอก แต่เราก็รับรู้ได้ พอจะได้ยินได้ฟังมาบ้าง เลยขอพ่อไปเรียนต่อที่โรงเรียนกีฬานครศรีธรรมราช โดยใช้กีฬามวยในการสอบคัดเลือก พอไปสอบปฏิบัติ เขาเห็นแววว่าเราน่าจะต่อยมวยสากลได้ดี ก็เลยสอบติดประเภทมวยสากลแทน และได้เรียนประจำอยู่ที่โรงเรียนนี้จนถึง ม.4”
“ที่จริงตอนเด็ก ๆ หนูเป็นคนขี้เกียจ ตื่นสาย จะลงมาซ้อมช้ากว่าเพื่อนเป็นประจำ แต่หนูตั้งใจซ้อม จนวันหนึ่งพี่สาวหนูพูดว่า ถ้าหนูไม่ได้เป็นเบอร์ 1 ในรุ่นก็ไม่มีใครสนใจหรอก มันเหมือนเป็นแรงผลักดันให้เรามีความขยันและตั้งใจฝึกซ้อมมากขึ้น จนทำให้มีพัฒนาการด้านมวยสากลเร็วกว่าคนอื่น ๆ และชกได้ดีขึ้นจนได้เป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าแข่งขันกีฬาโรงเรียนกีฬาแห่งประเทศไทย ที่รวมนักเรียนจากโรงเรียนกีฬาทั่วประเทศ และก็สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ 4 ปีซ้อน”
“พอจบ ม.4 ก็ย้ายมาเรียนโรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร ต่ออีก 2 ปี และได้โควตาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตอนปี 1 ทางสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย มีการเปิดคัดนักมวยหญิงเข้าทีมชาติเพื่อเตรียมนักกีฬาไปโอลิมปิกเกมส์ 2020 หนูเลยไปคัดแล้วก็ได้ที่ 1 ได้ติดทีมชาติในที่สุด”
เส้นทางของจุฑามาศในระดับเยาวชนดูสดใสเหลือเกิน ไม่ว่าจะขึ้นชกกับใครเวทีไหน เธอก็เหนือกว่าใครไปเสียหมด … แต่เส้นทางสู่ฝันที่แท้จริง มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
ท้อ...จนอยากจะเลิก
บนวัย 19 ปี จุฑามาศ มีความมั่นใจเต็มเปี่ยม … หลังเข้าร่วมแคมป์ทีมชาติ เธอใช้เวลาไม่นานก็ได้รับเลือกให้เป็น 1 ในขุนพลเสื้อกล้ามทีมชาติไทย และได้ออกไปแข่งขันในต่างประเทศทันที
“ตอนติดทีมชาติ มีนักมวยคนอื่นติดมาด้วยพร้อมกันรวมทุกรุ่น 32 คน แต่อยู่ไปเรื่อย ๆ โค้ชก็จะตัดคนที่ไม่ตั้งใจซ้อมหรือซ้อมได้ไม่ดีออก สุดท้ายแล้วเหลือทั้งหมดอยู่แค่ 10 กว่าคน ซึ่งหนูก็ยังได้เป็น 1 ในนั้น จนได้ขึ้นชกรายการแรกในรายการอุ่นเครื่องที่คาซัคสถาน ตอนนั้น รู้สึกดีใจมาก ได้ไปต่างประเทศครั้งแรก ได้นั่งเครื่องบินฟรี” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงอิ่มเอม
การขึ้นชกครั้งแรกที่ต่างแดน เธอคว้าเหรียญทองแดงได้ทันที … ดูเหมือนว่าเส้นทางของเธอดูจะยิ่งสดใส อย่างไรก็ตามโลกนี้มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด หลังจากทัวร์นาเมนต์เปิดตัวที่คาซัคสถาน เมื่อปี 2560 จุฑามาศไม่สามารถก้าวถึงจุดสูงสุด หรือการคว้าเหรียญทองในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติได้เลย ที่สำคัญหลายครั้งยังต้องจอดป้ายเร็วกว่ากำหนด อาทิ ศึกชิงแชมป์โลกที่แพ้ตั้งแต่รอบ 16 คน ทั้ง 2 ครั้งที่เข้าร่วม
รวมถึงการชกในรายการนานาชาติที่เบลารุส ซึ่งคาใจเธอมาตลอดเพราะชกได้ดีมาตั้งแต่รอบแรก แต่ต้องมาแพ้คะแนนให้กับนักชกเจ้าถิ่นที่ต่อยเธอแทบจะไม่โดน จากเหรียญทองที่ตั้งใจไว้จึงเหลือเพียงแค่เหรียญทองแดง โดยมีผลงานโดดเด่นที่สุดคือการได้เหรียญทองแดง ในศึกซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งครั้งนั้นเธอก็แพ้ให้กับนักชกเจ้าภาพอีกเช่นกัน
ความผิดหวังเหล่านี้ได้สั่งสมอยู่ในใจเธอเรื่อยมา ไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ภายใน จนถึงวันที่ตัวเลขนับถอยหลังถึงศูนย์ในที่สุด ในการชกโอลิมปิก เกมส์ รอบคัดเลือกโซนเอเชีย ที่ประเทศจอร์แดน ซึ่งเธอเตรียมตัวมาอย่างดีและตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะได้ไปลุยโตเกียวแน่นอน แต่สุดท้ายก็แพ้ต่อ ราคิโมวา ตูร์ซูนอย นักชกชาวอุซเบกิสถาน แบบไม่เอกฉันท์ 1-4 เสียง ซึ่งเป็นรอบชิงตั๋วด่านสุดท้าย หากชนะได้ก็จะได้โควต้าทันที
“หนูรู้สึกว่าหนูดวงไม่ดี ชอบจับสลากไปเจอคนเก่งหรือเจอนักชกเจ้าภาพตั้งแต่รอบแรก ๆ เลยทำให้ไม่ค่อยได้เหรียญ คนที่หนูแพ้ส่วนใหญ่จะเป็นตัวเต็งในรุ่น และพอชนะหนูได้ก็ผ่านเข้าไปถึงรอบชิงฯ ทุกคน มันเป็นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามา 2-3 ปี จนถึงช่วงที่ท้อที่สุดในชีวิตตอนคัดเลือกโอลิมปิกครั้งแรกที่ประเทศจอร์แดน หนูแพ้ในรอบชิงตั๋ว ทั้งที่หนูคิดว่าตัวหนูทำได้ดีแล้ว มันทำให้หนูเสียใจจนอยากจะเลิกชก”
“หลังชกเสร็จหนูกลับมากักตัวที่ค่าย 14 วัน หนูตัดขาดจากทุกคน ไม่ติดต่อใครเลย ตัดขาดจากทางบ้าน ไม่คุยกับที่บ้านเลยเกือบเดือน เพราะหนูตั้งความหวังกับรายการนี้ไว้มาก อยากให้คนรอบข้างภูมิใจ เป็นรายการที่หนูตั้งใจซ้อมมากที่สุดในชีวิต และรู้ตัวว่าคงจะหมดโอกาสแล้ว เพราะถึงจะมีการคัดเลือกครั้งต่อไป ทางสมาคมฯ ก็คงจะเปลี่ยนตัวนักมวย ส่งนักมวยคนอื่นในรุ่นไปลุ้นแทนบ้าง ตอนนั้นถึงขนาดโทษฟ้าดินว่า ทำไมหนูตั้งใจขนาดนี้แต่ยังผิดหวังมาตลอด ทำไมฟ้าดินไม่ให้หนูสมหวังสักครั้ง” จุฑามาศ เผยความรู้สึก
โชคชะตาฟ้าดินที่เธอกล่าวโทษมีจริงหรือไม่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ในโลกความเป็นจริง ด้วยสถานการณ์ที่ทั่วทั้งโลกกำลังวุ่นวายกับวิกฤติโควิด-19 อยู่นั้น ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอได้ไปโอลิมปิก เกมส์ครั้งแรกในชีวิตอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
ชัยชนะแบบเหนือดวง
“หลังจากผิดหวังหนูทำใจอยู่นาน จนมีโอกาสได้กลับบ้านไปเจอแม่กับพี่สาว แล้วเขาก็เตือนสติเรา บอกเราว่า ‘อยู่กับมวยมาทั้งชีวิตแล้ว ผิดหวังแค่นี้จะทิ้งเลยเหรอ อายุก็ยังไม่ได้เยอะ ไม่ได้รักมันจริงเหรอ’ จนทำให้หนูคิดได้และมีแรงฮึดสู้กลับมาลองอีกสักตั้ง ถึงไม่ได้ไปโอลิมปิกแต่ก็ยังมีซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ให้ได้แข่งอีก ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ชกจนถึงอายุ 26 แล้วไม่เวิร์กก็คงต้องเลิก”
จุฑามาศ กลับเข้าสู่แคมป์อีกครั้ง พร้อมกับความมุ่งมั่นที่มากกว่าเดิม เธอไม่รู้หรอกว่าการคัดเลือกนักกีฬาโอลิมปิก เกมส์ 2020 ครั้งที่ 2 ที่ประเทศฝรั่งเศส เธอจะได้โอกาสจากทีมหรือไม่ … เธอไม่โทษฟ้าดินอีกแล้ว เธอกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง และดูเหมือนว่า หากเรื่องโชคชะตามีจริง ครั้งนี้พวกเขาคงจะเข้าข้างเธอ
ผลพวงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดการแข่งขันมวยสากล World Qualify ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการคัดนักชกไปโอลิมปิก เกมส์ 2020 ครั้งที่ 2 ถูกยกเลิก ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จึงใช้การจัดอันดับโดยแบ่งโควต้านักกีฬาให้กับทวีปต่าง ๆ แทน
รุ่นฟลายเวต 51 กิโลกรัมหญิง ปัง โชล มี นักชกจากเกาหลีเหนือดีกรีแชมป์โลกปี 2018 ได้โควต้าลุยศึกโตเกียว เกมส์ แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงกีฬาเกาหลีเหนือประกาศผ่านเว็บไซต์ขอถอนตัวออกจากการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2020 โดยอ้างว่ามีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เธอจึงต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันแบบอัตโนมัติ และจุฑามาศ ที่รั้งอันดับ 11 ของโลก ซึ่งอยู่ในลำดับถัดมาจาก ปัง โชล มี ก็ได้โควต้าคว้าตั๋วลุยโอลิมปิกไปแทน
“กลับมาซ้อมได้สักพักก็ค่อย ๆ มีข่าวหลุดมาว่าการคัดเลือกครั้งที่ 2 อาจจะแข่งไม่ได้ แล้วอาจต้องให้นักมวยที่ไปคัดครั้งแรกมาแบ่งโควต้าแทน ช่วงนั้นมีคืนหนึ่งพี่ ๆ ในทีมยังพูดแซวอยู่เลยว่า ถ้าหนูจะได้ไปก็คงต้องให้นักชกเกาหลีเหนือขาหักนั่นแหละ จู่ ๆ เช้าวันรุ่งขึ้นนักมวยคนนั้นก็ถอนตัวจริง ๆ เราก็ติดตามลุ้นมาตลอดว่าเราจะได้ไปหรือเปล่า จนมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเราได้ไปโอลิมปิก ก็เลยดีใจมาก รู้สึกโล่งขึ้นมาทันที เหมือนฟ้าเบื้องบนมองเห็นความตั้งใจของเราและช่วยให้เราได้ไป”
แม้จะได้ตั๋วเป็นตัวแทนนักชกไทยไปโอลิมปิกเกมส์ตามที่ตั้งความหวังไว้ แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่คาใจเจ้าตัวมาตลอด เพราะหากการคัดเลือกครั้งที่ 2 สามารถจัดขึ้นได้ตามปกติและไม่ถูกยกเลิก ก็อาจจะเป็นนักชกไทยรายอื่นที่ได้ไปแข่งและทำผลงานจนคว้าโควต้าไปแทน โดยเฉพาะรุ่นพี่ฝีมือดีอย่าง “หวาน” จุฑามาศ รักสัตย์ ที่เธอยกย่องมาโดยตลอดและยอมรับในฝีมือว่าเหนือกว่า
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเธอก็สามารถพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าการได้ไปโอลิมปิกครั้งนี้ของเธอนั้นคู่ควรและสมศักดิ์ศรี
“ย้อนกลับไปตอนหลังจากที่หนูแพ้ในการคัดเลือกครั้งแรก ที่จริงทางสมาคมฯ ต้องส่งนักชกคนอื่นไปแข่งในครั้งที่ 2 แทนเรา เพราะเราได้ไปครั้งแรกแต่แพ้มาแล้ว แต่ตอนนั้นมีรายการชิงแชมป์ประเทศไทยพอดี ทางสมาคมฯ เลยเหมือนให้คัดเลือกกันใหม่ ถ้าใครชนะก็จะได้ไปแข่งคัดเลือกรอบ 2 ซึ่งหนูมุ่งมั่นมาก ชกชนะจนถึงรอบชิงฯ โดยต้องเจอกับพี่หวาน ซึ่งที่ผ่านมาเวลาลงนวมหนูไม่เคยเอาชนะเขาได้เลย พี่เขาเก่งมาก แต่ครั้งนี้หนูสู้เต็มที่จนชนะพี่เขาได้ มันโล่งใจจริง ๆ หนูต่อยมวยมาตั้งแต่เด็กไม่เคยร้องไห้เลย แต่วันนั้นหนูร้องไห้ พอชนะได้ตอนนี้ก็รู้สึกเลยว่าเราสมควรแล้วที่ได้ไป”
ไม่ว่าโชคชะตาจะพลิกตลบสักกี่ครั้ง เมื่อทุกอย่างลงล็อกเหมือนบทละครที่ถูกวางไว้ ก็บันดาลให้ จุฑามาศ จิตรพงศ์ ได้เป็นนักชกหญิงคนที่ 4 ในประวัติศาสตร์กำปั้นไทย ที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในศึกโอลิมปิก เกมส์ ต่อจาก เปี่ยมวิไล เล่าเปี่ยม, ใบสน มณีก้อน และสุดาพร สีสอนดี
“หลังจากนี้ก็เตรียมตัวอย่างดี ซ้อมหนักตามโปรแกรมที่โค้ชวางไว้อย่างเต็มที่ พร้อมที่จะขึ้นชกแน่นอน แม้จะมีคู่แข่งฝีมือดีจากจีนและตุรกีแต่หนูก็ไม่เคยกลัว ประสบการณ์หนูอาจไม่ได้มีเยอะ การชกต่างประเทศหนูอาจไม่มาก แต่เรื่องใจหนูว่าหนูดีกว่าทุกคนแน่นอน” จุฑามาศ ทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ