อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข : นักแม่นปืนสาวกับการเล่นเกมผ่านความคิดสู่โอลิมปิกที่ไม่เคยคาดฝัน

อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข : นักแม่นปืนสาวกับการเล่นเกมผ่านความคิดสู่โอลิมปิกที่ไม่เคยคาดฝัน

อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข : นักแม่นปืนสาวกับการเล่นเกมผ่านความคิดสู่โอลิมปิกที่ไม่เคยคาดฝัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยิงเป้าบินอาจไม่ใช่กีฬาที่ใกล้ชิดกับคนไทยเท่าไหร่นัก แต่โอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่จะถึงนี้ อาจทำให้ใครหลายคน รู้จักกับกีฬานี้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีนักกีฬาไทยถึง 3 คนด้วยกันที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน

หนึ่งในนั้นคือ อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข นักยิงปืนเป้าบินประเภทสกีต สาวอายุเพียง 25 ปี ที่คว้าตั๋วโอลิมปิก เกมส์ มาได้แบบที่เธอไม่เคยคาดฝัน

ขณะที่นักกีฬาหลายคนมีโอลิมปิกเป็นเป้าหมาย และมีแรงผลักดันที่จะไปให้ถึงจุดนั้น แต่ อิศราภา กลับแค่ใช้ความสุขทุกครั้งที่เธอได้ลั่นไกปืน พาเธอให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกโดยไม่รู้ตัว

อิทธิพลจากครอบครัว

คำว่า “ยิงปืน” อาจทำให้ใครหลายคนจินตนาการภาพถึงความรุนแรง แต่ในอีกแง่หนึ่ง การยิงปืนถือเป็นกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 และมีส่วนร่วมกับโอลิมปิก เกมส์ ยุคใหม่ มาตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรก ในปี 1896 

มรดกของกีฬาชนิดนี้ถูกส่งทอดมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นกิจกรรมพักผ่อนย่อนใจให้กับใครหลายคน ที่ไม่ได้มองการจับปืนเป็นความน่ากลัว แต่สามารถสร้างความสนุกและความสุขได้ โดยไม่ก่ออันตรายให้กับใคร

เด็กสาวคนหนึ่งได้รับอิทธิพลของการยิงปืนมาในลักษณะของกีฬา หลังจากเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่มองการเหนี่ยวไกปืน เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ที่สามารถช่วงสร้างรอยยิ้มในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 

“เราเห็นที่บ้านยิงปืนตลอดอยู่แล้ว เวลาคุณพ่อคุณแม่ไปยิงปืน เสาร์-อาทิตย์ ก็ตามไปด้วย มันเหมือนกับเป็นความเคยชิน จนอายุได้ 10 ขวบ เราเริ่มจับปืนไหว คุณพ่อมาชวนให้มาลองยิง”

“ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้รู้สึกกลัวที่จะจับปืน คุณพ่ออยากให้ลองก็ลองดู แต่ปรากฏว่าพอลองยิง สามารถยิงเป้าโดนตั้งแต่วันแรก เหมือนคุณพ่อจะคิดว่าเรามีแวว”

“หลังจากนั้นทุกอย่างเปลี่ยนเลยในทันที เสาร์-อาทิตย์ จากที่เคยเล่นเกมอยู่บ้าน ก็ต้องมาซ้อมยิงปืนพร้อมกับครอบครัว พอยิงบ่อยก็เริ่มเป็นมากขึ้น จับปืนเองได้ คาดการณ์จังหวะยิงได้เอง ทางบ้านจึงตัดสินใจที่จะปั้นให้เป็นนักกีฬาเต็มตัว”

สำหรับเด็กผู้หญิงวัยขึ้นเลขสองหลักได้หมาด ๆ กับการถือปืน คงไม่ใช่ภาพที่ใครจะคุ้นเคย แต่ด้วยอิทธิพลความรักในกีฬายิงปืนของครอบครัวอิ่มประเสริฐสุข ทำให้ อิศราภา กล้าที่จะลั่นไกปืนด้วยแรงสนับสนุนที่ดีของครอบครัว

“คุณพ่อคือคนที่ช่วยทุกอย่างในการยิงปืน เป็นครูคนแรกที่สอน ถึงท่านจะไม่ได้เป็นนักกีฬาแต่ก็รักในการยิงปืนมาก ช่วงแรกคุณพ่อก็จะยิงปืนไปพร้อมกับเรา คอยช่วยดูกัน แต่หลังจากมั่นใจว่า เราพอไปทางนี้ได้ ท่านก็หยุดยิงเพื่อมาทุ่มเวลาให้แบบเต็มตัว”

แรงสนับสนุนแบบเต็มที่จากครอบครัว ทั้งเรื่องของการฝึกซ้อมผ่านการติวเข้มจากคุณพ่อ, ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงส่งลูกสาวสุดที่รักออกไปแข่งขันในต่างประเทศตั้งแต่วัยเยาว์ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความหวังที่อยากเห็นเด็กสาวชื่อ อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข ไปได้ไกลในฐานะนักยิงปืนเป้าบินดาวรุ่งระดับแถวหน้าของประเทศ

หากแต่สิ่งที่ขับเคลื่อนให้เด็กสาวคนหนึ่งใช้เวลาไปกับการยิงปืน ไม่ใช่แรงบังคับหรือความกดดันจากครอบครัว เพราะไม่มีพลังไหนที่จะผลักดันมนุษย์ให้เดินหน้าไปได้ดีกว่า ความสุข และความรัก ที่มาพร้อมกับการกดนิ้วไปที่ไกปืนทุกครั้งของ อิศราภา

“เรายิงเอาสนุกนะ การยิงเป้าบินเป็นกีฬาที่ทำให้เราได้ใช้ความคิด เป็นกีฬาที่ไม่เคยน่าเบื่อ เพราะเราต้องคิดตามตลอด มีความท้าทายอยู่เสมอ”

“ในขณะที่เป้าเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ตัวเรากลับต้องหยุดนิ่งยืนอยู่กับที่ ต้องควบคุมตัวเองให้ได้ เพราะการพลาดเพียงเสี้ยววินาที สามารถทำให้เรายิงผิดได้เลย เราก็สนุกกับกีฬานี้มาตลอด เพราะทุกครั้งมันคือการท้าทายตัวเองว่า เราจะทำได้ไหม”

จัดการกับตัวเอง 

ความท้าทายของกีฬาทั่วไปคือการฝึกซ้อมให้หนักอย่างถึงที่สุด ผ่านการใช้ความเชี่ยวชาญทางกายภาพ ร่างกายที่แข็งแรงอย่างถึงที่สุด สามารถสร้างความได้เปรียบมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นกีฬาวิ่ง, ว่ายน้ำ, ฟุตบอล, บาสเก็ตบอล, เทควันโด, เทนนิส, ปั่นจักรยาน, แบดมินตัน, ยกน้ำหนัก, มวย และอีกมากมายหลายชนิด

แต่สำหรับการยิงปืนเป้าบินกลับต่างออกไป ไม่จำเป็นต้องมีกล้ามโตหรือกล้ามเนื้อเป็นมัดเพื่อเล่นกีฬาชนิดนี้ หากเป็นการใช้ความคิดที่เข้ามาทดแทน เป็นการจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในหัวของมนุษย์ ให้สามารถควบคุมไปตามที่ต้องการได้ แต่นั่นไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

“ช่วงแรก ๆ ตอนที่ยังเป็นเด็กเจอปัญหาด้านนี้เยอะมาก เพราะเรื่องความคิดมันห้ามกันไม่ได้ หนีไม่ได้ที่เราจะคาดหวังเรื่องผลงาน บางครั้งเราไปโฟกัสที่ผลการแข่งขันมากเกินไป จนลืมสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คือการยิงเป้าบิน”

“กีฬายิงปืนเป้าบินเหมือนเป็นกีฬาที่แข่งกับคนอื่น แต่อันที่จริงเราไม่ได้แข่งกับใคร นอกจากแข่งกับตัวเอง เพราะเราคือคนที่เหนี่ยวไกยิงเป้า ไม่ได้เกี่ยวกับใคร”

“มันจึงวนกลับมาที่ว่า เราจะจัดการกับความคิดของตัวเองได้ดีแค่ไหน ไม่ให้น้อยไปและมากเกินไป มันคือความยากของกีฬานี้เลยนะ การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา ถ้าพลาดก็คือพลาด พลาดแค่ 0.00001 วินาที ก็คือพลาด”

“การเป็นนักยิงเป้าบินต้องสามารถทิ้งความผิดพลาดของตัวเองให้ได้ ไปโฟกัสที่เป้าต่อไป บางทีก็ต้องให้ประสบการณ์เป็นคนสอนเราด้วย สมัยก่อนเราคิดว่าซ้อมมาเต็มที่แล้ว แต่พอถึงวันแข่งจริง มันก็อาจจะไม่ดีอย่างที่เราคิด”

“ตอนนี้เราใช้วิธีปรึกษานักจิตวิทยา พูดคุยเพื่อหาวิธีที่จะควบคุมความคิดของตัวเองเหมือนให้เขาเข้ามาช่วยจัดระเบียบความคิด อันนี้ที่เราต้องเก็บไว้ บางความคิดที่เราต้องทิ้งไป ทำให้เราสามารถสร้างสมาธิเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด”

ความยากในการเป็นนักยิงเป้าบินของ อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข ไม่ได้มีแค่การจัดการความคิด แต่เนื่องจากเธอเริ่มเดินเส้นทางนักกีฬาตั้งแต่วัยเรียน ทำให้เธอต้องแบกรับภาระสองด้าน ซึ่งไม่เคยเป็นงานง่ายสำหรับวัยรุ่นทุกคน

“ถึงจะเล่นกีฬา แต่เราก็ไม่เคยทิ้งการเรียน พยายามจะทำให้ได้ทั้งสองอย่าง ซึ่งมันเหนื่อยนะ คือเราพยายามทุ่มเท มีแรงผลักดันกับตัวเอง แต่ด้วยความที่ยังเด็ก มันก็ไม่ง่าย เราแข่งกับเวลาทั้งเรื่องเรียน ทั้งการซ้อมยิงปืน ต้องไปออกกำลังกาย รู้จักจัดการตัวเอง บางครั้งก็มีคำถามว่า เป็นนักกีฬาทำไมมันยากขนาดนี้”

“แต่เหมือนครอบครัวจะบอกตลอดว่า อยากให้เราตั้งใจ สักวันเราจะทำได้ดีเอง พอทำให้ถึงจุดหนึ่งเราก็อยากทำให้ดีที่สุด เราเดินมาทางนี้แล้ว จะถอยหลังกลับไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ขอให้ได้ทำอย่างเต็มที่ ผลจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน”

โอลิมปิกที่มาพร้อมกับโชคชะตา

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากีฬายิงปืนเป้าบินช่วยให้ อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข เติบโตเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งไปพร้อมกับผลงานที่โดดเด่นในการแข่งขันกับการคว้าความสำเร็จสำคัญ คือ เหรียญเงินจากการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย กับการยิงเป้าบินประเภทสกีตบุคคลหญิง ทำให้ชื่อของเธอถูกพบเห็นได้ตามสื่อกีฬาทั่วไป 

นักกีฬาหลายคนเลือกใช้ความสำเร็จเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเองเพื่อเดินหน้าก้าวสู่ความสำเร็จถัดไป แต่สำหรับนักแม่นปืนสาวรายนี้ เธอกลับมีความคิดที่ต่างออกไป ไม่มีความสำเร็จใดที่เธอวางเป้าหมายว่าต้องพิชิตให้ได้ แม้กระทั่งการเข้าร่วมโอลิมปิก เกมส์ มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

“สำหรับเรา ความสำเร็จไม่ได้มีความหมายขนาดนั้น ไม่ได้ตั้งเป้าว่าทุกครั้งต้องได้ที่ 1 หรือต้องมีเหรียญรางวัล แรงผลักดันของเรามันอยู่ที่ความสุขมากกว่า นี่คือกีฬาที่เรารู้สึกท้าทายอยู่ตลอด เหมือนกับการเล่นเกมที่เราต้องก้าวผ่านแต่ละด่านไปให้ได้”

“เราชอบการเป็นนักยิงปืนเป้าบินตรงที่มันให้ประสบการณ์มากกว่า มีหลายอย่างที่หากเราไม่ได้มาทำตรงนี้ คงไม่มีโอกาสได้เจอ เราชอบโฟกัสกับตรงนี้ มากกว่าจะไปคิดเรื่องผลการแข่งขัน”

“อย่างโอลิมปิก เราตื่นเต้นทุกครั้งนะที่ได้เห็นพี่ณี (สุธิยา จิวเฉลิมมิตร) ก็ลุ้นเชียร์พี่ณีตลอด แต่ตัวเราเองไม่เคยคิดว่าจะต้องไปโอลิมปิกให้ได้ คือถามว่ามีโอกาสไหม มันก็มี แต่เราก็คาดหวังว่าต้องไปอยู่ดี”

ถึงจะไม่ได้วางเป้าไว้ที่โตเกียวเกมส์ 2020 แต่สุดท้ายแล้วฝีมือที่ได้มาจากความมุ่งมั่นของเธอยาวนานกว่า 10 ปี ก็ทำให้โชคชะตาได้ส่งมอบสิ่งที่เธอคู่ควร จากการแข่งขันในรายการชิงแชมป์เอเชีย ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งหากเธอสามารถติด Top 5 ของการแข่งขันได้ เธอก็จะได้ตั๋วเข้าร่วมโอลิมปิก ณ ประเทศญี่ปุ่นทันที

“เราไม่ได้คิดถึงเรื่องโควต้าโอลิมปิกเลยนะ แต่เราก็เตรียมพร้อมมาอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการยิง, กายภาพ, จิตวิทยา เรื่องของผลงานเราไม่รู้ว่าจะออกมาดีแค่ไหน แต่เราอยากทำให้เต็มที่ไว้ก่อน มันฟังดูน่าเบื่อนะ คำว่า ‘ทำให้เต็มที่’ (หัวเราะ) แต่เราคิดแบบนี้จริง ๆ”

“ตอนแข่งเราได้ยิงเป็นกลุ่มสุดท้าย ตอนนั้นก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เรายังมีลุ้นไปโอลิมปิก เพราะไม่ได้คิดถึงอะไรเลย พอไปยิงเสร็จพี่ ๆ ในทีมชาติก็มาแสดงความยินดีด้วย พอรู้ว่าได้ไปโอลิมปิก ก็รู้สึกงงมากกว่า เพราะเหมือนกับว่า เราไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อน”

อันดับที่ 5 จากการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย ส่งผลให้นักแม่นปืนสาวไทย ตีตั๋วไปลุยโตเกียวเกมส์ 2020 ถึงแม้ว่าโอลิมปิกจะไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของเธอ แต่ด้วยนิสัยที่ต้องทำให้ดีที่สุดทุกการแข่งขัน ทำให้เธอเตรียมแผนงานอย่างหนัก ทั้งการแข่งขันและการเก็บตัวฝึกซ้อม เพื่อหวังท้าทายการยิงเป้าบินในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

โชคร้ายที่การระบาดของไวรัส COVID-19 พังทุกอย่างลง นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคร้าย เธอยังไม่มีการแข่งขันอีกเลย ทำได้เพียงแค่ฝึกซ้อมเท่านั้น ซึ่งย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเตรียมความพร้อมก่อนลุยโอลิมปิก เกมส์ 2020

“เราอยู่เมืองไทย เราก็ซ้อมอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้นะ แต่ว่าสิ่งที่มันเสียไปคือความรู้สึกของการแข่งขัน เพราะก่อนมี COVID-19 เราไปแข่งทุกเดือน แต่ตอนนี้ไม่ได้ไปแข่งเลย เราก็พยายามเอาเรื่องจิตวิทยาเข้ามาช่วย ใช้การจินตนาการภาพในหัวแทน”

“เราคิดว่าตอนนี้ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้แล้ว ทั้งเรื่องร่างกาย, สภาพจิตใจ, การยิงเป้า เราใส่ทุกอย่างมาเต็มที่ ถ้าถามว่าพร้อมไหม ก็ขอบอกว่าตอนนี้เราพร้อมแล้ว”

โตเกียว เกมส์ 2020 แจ้งเกิดเต็มตัว แม้ไร้เหรียญรางวัล 

อิศราภา ลงแข่งขันด้วยความไม่กดดัน เพราะเธอไม่ได้ถูกคาดหวังจากสื่อมวลชนหรือแฟนกีฬาชาวไทยมากนัก  ว่าจะคว้าเหรียญรางวัลนี้มาครอง  เนื่องจากประสบการณ์ในโอลิมปิกครั้งแรก อีกทั้งผลงานในระดับนานาชาติของเธอ ยังเป็นรอง “ณี” สุธิยา จิวเฉลิมมิตร นักกีฬารุ่นพี่ เธอจึงมาด้วยเป้าหมายสำคัญ ก็คือ การทำอันดับให้ดีที่สุด

ปรากฏว่าหลังผ่านการแข่งขันวันแรก อิศราภา สามารถเกาะกลุ่มผู้นำ โดยยิงได้ 72 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 5 ร่วมของการแข่งขัน  แม้คะแนนจะตามหลังผู้นำอยู่ 3 แต้ม  แต่ความหวังในการเข้ารอบชิงชนะเลิศ ก็เปิดกว้าง หากพลาดน้อยที่สุดในการคัดเลือก อีก 2 สเตชั่นที่เหลือในวันรุ่งขึ้น 

การแข่งขันในช่วงที่เหลือ อิศราภา ประคองตัวเข้ารอบไฟนอล ด้วยการยิงพลาดไปเพียง 2 นัด จาก 50 นัด  เก็บได้ 120 คะแนน  เพียงพอที่จะทำให้เธอเข้ารอบเป็น 1 ใน 6 คนได้สำเร็จ 

รอบชิงชนะเลิศ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะคะแนนที่ทำได้ในรอบแรก จะถูกล้างออก และเริ่มต้นกันใหม่  ดังนั้น เหรียญรางวัลประวัติศาสตร์จากกีฬายิงเป้าบิน อาจจะเกิดขึ้นในโอลิมปิก 2020  

เซคชั่นแรก “วอร์ม” ยิงพลาดไป 2 นัด แต่ยังประคองตัวผ่านการเป็นผู้อยู่รอดใน 5 คนสุดท้าย  โดยตุนคะแนนที่ 18 คะแนน

เข้าสู่เซคชั่นที่ 2  นักยิงเป้าบินสาวไทยมุ่งสมาธิ แต่มาพลาดในเป้าที่ 29  ก่อนจะประคองตัวเป็นผู้อยู่รอดในช่วงนี้  เหรียญรางวัลประวัติศาสตร์อยู่แค่เอื้อม แต่เงื่อนไขสำคัญก็คือ เธอต้องไม่พลาดในสเตชั่นสุดท้าย  เพราะคู่แข่งสำคัญจากจีน อย่าง “เหว่ย เมิ่ง” ยิงได้คะแนนเท่ากับเธอที่ 27 คะแนน  แต่ได้ภาษีเข้ารอบมาในรอบคัดเลือกที่ดีกว่า “วอร์ม” 

เซคชั่นสุดท้าย อิศราภา ไม่สามารถพลาดได้อีกแล้ว และต้องลุ้นให้นักกีฬาคนอื่นๆพลาดด้วย  น่าเสียดาย ที่เธอมาพลาดในนัดที่ 36  แม้ว่าคู่แข่งจากจีนจะพลาดด้วย 1 เป้า แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะมีคะแนนดีกว่านักกีฬาจีน   ชวดคว้าเหรียญรางวัลประวัติศาสตร์ไปอย่างน่าเสียดาย 

แม้ครั้งนี้  “วอร์ม” จะยังไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาคล้องคอ พร้อมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่  แต่เธอได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และทำให้ชาวไทยได้รู้จัก ชื่อของ อิศราภา ที่ยังมีอนาคตที่สดใสรออยู่ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งถัดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook