สเก็ตบอร์ด กีฬาที่มีแข่งครั้งแรกในโตเกียวโอลิมปิก แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับสำหรับคนญี่ปุ่น?

สเก็ตบอร์ด กีฬาที่มีแข่งครั้งแรกในโตเกียวโอลิมปิก แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับสำหรับคนญี่ปุ่น?

สเก็ตบอร์ด กีฬาที่มีแข่งครั้งแรกในโตเกียวโอลิมปิก แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับสำหรับคนญี่ปุ่น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สเก็ตบอร์ด เป็นหนึ่งใน 4 กีฬา ที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ในรายการแข่งขันในโตเกียวโอลิมปิก 2020 พร้อมกับเซิร์ฟบอร์ด ปีนผา และคาราเต้ นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกที่มีการเพิ่มกีฬาผาดโผนชนิดนี้เข้าไปอย่างเป็นทางการ

สิ่งนี้นอกจากจะมีความสำคัญต่อคนรักสเก็ตบอร์ดทั่วโลก แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นบางคน การแข่งขันสเก็ตบอร์ดในโตเกียวโอลิมปิกนั้นลึกซึ้งและเป็นมากกว่าการแข่งขัน นี่เป็นสัญญาณของการเปิดรับทางความคิดชุดใหม่ เป็นการรับฟังเสียงของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่แสดงถึงการปะทะกันระหว่างทัศนคติแบบดั้งเดิมและแบบที่ท้าทายขนบธรรมเนียมญี่ปุ่น 

การเล่นสเก็ตบอร์ดในญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องที่มีความยากลำบากมานาน คนส่วนมากไม่ยอมรับวัฒนธรรมการเล่นแบบอเมริกันเช่นนี้เพราะมันดูรุนแรง โผงผาง ขัดต่อภาพลักษณ์และอากัปกิริยาอันเป็นระเบียบของญี่ปุ่น แต่สำหรับบางคน สเก็ตบอร์ดคือตัวตน การเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ ๆ เข้ามาสู่ประเทศถึงแม้จะเป็นเสียงอันน้อยนิด แต่เสียงสเก็ตบอร์ดในโตเกียวกำลังจะเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้เริ่มต้นขึ้น 

ทำไมวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดจึงยังไม่ได้รับการยอมรับในญี่ปุ่นเสียที ? กระแสการเล่นสเก็ตบอร์ดในญี่ปุ่นมีมานานแค่ไหน ? มาร่วมค้นหาคำตอบไปกับ Main Stand

ต้นกำเนิดของ "เด็กบอร์ด" 

"สเก็ตบอร์ด" (Skateboard) คือกีฬาผาดโผนชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีต้นกำเนิดขึ้นมาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างช่วงปลายทศวรรษ 1940s ถึง ช่วงต้นทศวรรษ 1950s โดยเหล่า "เด็กสเก็ต" ยุคแรกที่เป็นผู้บุกเบิกเทรนด์นี้ แท้จริงแล้วก็คือนักกีฬาโต้คลื่น ที่เกิดอาการเบื่อขึ้นมาเวลาไม่มีคลื่นให้โต้ พวกเขาเลยคิดจะหาอะไรเล่นแทนระหว่างที่ไม่มีคลื่นนั่นเอง 


Photo : timetoast.com

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าใครเป็นคนสร้างบอร์ดขึ้นมาคนแรก แต่เทรนด์นี้ก็เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นจำนวนมาก จนกลายมาเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า "การเซิร์ฟบนทางเท้า" (Sidewalk Surfing) โดยการใช้อุปกรณ์ แผ่นไม้ (Deck) ที่ติดล้อจำนวน 4 อัน 2 อันด้านหน้า อีก 2 อันด้านหลัง แล้วไถไปตามทาง การเล่นสเก็ตบอร์ดในช่วงแรกจึงไม่มีความผาดโผนแต่อย่างใด ไม่มีการเล่นท่าที่ซับซ้อน มีแต่การไถกระดานด้วยเท้าเปล่าไปบนทางเท้าเรื่อยๆ  เสมือนกับการเล่นกระดานโต้คลื่นในทะเล 
 
สเก็ตบอร์ดเริ่มมีการวางจำหน่ายครั้งแรกในร้านอุปกรณ์กระดานโต้คลื่นในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีชื่อว่า "วาล เซิร์ฟช็อป" (Val Surf Shop) โดยเจ้าของ "บิล ริชาร์ด" เป็นผู้จัดจำหน่ายสเก็ตบอร์ดรายแรก โดยเขาได้ทำสัญญากับ "ชิคาโก้ โรลเลอร์ สเก็ต คอมพานี" บริษัทโรลเลอร์สเก็ตจากรัฐชิคาโก้ ที่รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตล้อสเก็ตบอร์ด บิลจัดจำหน่ายสเก็ตบอร์ดของเขาในรูปแบบที่ประกอบสำเร็จแล้วในราคา 8 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 263 บาท) 


Photo : facebook.com/Valsurf.since1962

ความนิยมของเทรนด์นี้ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังเฟื่องฟูในทศวรรษ 1950s เนื่องจากการฟื้นตัวของสภาพทางสังคมหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัท "โรลเลอร์ เดอร์บี้ สเก็ต คอร์ป" ผู้ลงทุนอีกเจ้าจึงมองเห็นช่องทางในการลงทุนครั้งนี้ พวกเขาจึงได้ผลิตสเก็ตบอร์ดออกมาขาย นี่เป็นสัญญาณที่สถานะของสเก็ตบอร์ดได้เปลี่ยนจากของเล่น กลายมาเป็นอุปกรณ์กีฬาและสินค้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ 
 
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1960s สเก็ตบอร์ดได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จากการผลิตของบริษัท "แพตเทอร์สัน ฟอร์บส์" ที่มีการติด "ทรัคส์" (Trucks) ที่เป็นเหมือนฐานล้อ ทำหน้าที่ควบคุมทิศทางให้แก่ตัวบอร์ด ไว้ใต้บอร์ดประกอบสำเร็จ ความนิยมของสเก็ตบอร์ดจึงค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แบรนด์รองเท้าก็เริ่มผลิตรองเท้าสำหรับการเล่นสเก็ตบอร์ดออกมา อาทิ "คอนเวิร์ส" (Converse), "ดีซี" (DC) และ "แวนส์" (Vans) ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1966 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นรองเท้าเพื่อการเล่นสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ โดยมีพื้นยางเหนียวที่ทำให้มีการยึดเกาะกับสเก็ตบอร์ดดียิ่งขึ้น 

ยุคสมัยที่สเก็ตบอร์ดเริ่มมาถึงจุดพีคและโด่งดังจริง ๆ คือช่วงกลางทศวรรษ 1970s เป็นต้นมา ในปี 1975 เริ่มมีการจัดการแข่งขัน "เดล มาร์ เนชันแนล แชมป์เปี้ยนชิพ" (Del Mar National Championship) เพราะความนิยมที่สูงขึ้น มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 500 คน เป็นการแข่งขันเล่นท่าแบบฟรีสไตล์ 


Photo : timetoast.com

ในยุคนี้การเล่นสเก็ตบอร์ดเริ่มมีความหลากหลายมากกว่าแค่การไถไปบนทางเท้าหรือถนนเฉย ๆ แล้ว โดยมีการเล่นท่าเพิ่มเข้ามาในปี 1978 โดยท่าแรกที่เริ่มต้นเล่นกัน คือ "ออลลี่" (Ollie) ที่คิดค้นโดย "อลัน ‘ออลลี่’ เกลฟานด์" นักสเก็ตบอร์ดชาวอเมริกัน ที่มีลักษณะเหมือนการเตะบอร์ดให้ยกขึ้นสูงจากพื้น ข้ามสิ่งกีดขวาง ก่อนที่ท่านี้จะกลายมาเป็นท่าพื้นฐานสำหรับนักสเก็ตบอร์ดหลาย ๆ คน และสร้างแรงบันดาลใจให้ท่าอีกหลาย ๆ ท่า ไม่ว่าจะเป็น "คิ๊กฟลิบ" (Kickflip), "ป๊อป โชฟว์ อิท" (Pop Shove-It) ทำให้การเล่นสเก็ตบอร์ดนั้นมีสีสันมากขึ้น 

การเล่นสเก็ตบอร์ด จึงเปลี่ยนแปลงมาจากกิจกรรมแก้เบื่อของนักโต้คลื่นมาเป็นกีฬาใหม่ เป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกอยู่กับชาวอเมริกันมานับแต่นั้น เริ่มมีการสร้างสนามกีฬาสเก็ตบอร์ดขึ้นอย่างจริงจังขึ้น การสร้าง ทางลาด จำลอง (Ramp) ในสนาม ทำให้สเก็ตบอร์ดมีความผาดโผนขึ้นไปอีก 

กระแสของการเล่นสเก็ตบอร์ด สามารถมองในแง่ของการเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมร่วมสมัยได้เช่นกัน สิ่งที่ชาวอเมริกันนิยมกันในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี ที่ผูกติดอยู่กับดนตรีพังก์ ฮิปฮอป หรือนูเมทัล, ศิลปะ กราฟิตี้ สตรีทอาร์ตบนผนังหรือกำแพง หรือแฟชั่น อย่างรองเท้าสเก็ตหรือพวกสินค้าสปอร์ตแวร์อย่าง อาดิดาส ล้วนแต่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์กีฬาและประวัติศาสตร์ทางสังคม

แน่นอนว่า ณ ตอนนั้น ชาวอเมริกันเหล่านี้ก็ไม่คิดว่าสเก็ตบอร์ด จะไปสร้างแรงบันดาลให้กับใครอีกหลาย ๆ คนในอีกซีกโลกหนึ่งทางฝั่งตะวันออก ประเทศญี่ปุ่น 

  สเก็ตบอร์ดในญี่ปุ่นเมื่อวันวาน 

ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นระเบียบสูง กิริยามารยาทที่สำรวมถือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่พึงมีในที่สาธารณะ สิ่งนี้ถือเป็นมรดกตกทอดของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ปฏิบัติตามกันมา ต้องรู้จักกาลเทศะและรู้จักประพฤติตัวให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของประเทศญี่ปุ่นเองหรือกับนักท่องเที่ยว 

วัฒนธรรมร่วมสมัยอเมริกัน เริ่มเข้ามาสู่โลกฟากตะวันออกทีละเล็กน้อย ผ่านเทปวิดีโอ VHS บันทึกการเล่นสเก็ตบอร์ดและแม็กกาซีน ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980s จนถึง ต้นทศวรรษ 1990s สิ่งเหล่านี้ถูกโอบล้อมไว้โดยวัยรุ่นหัวขบถที่ต้องการท้าทายขนบธรรมเนียมแบบเดิมที่ปฏิบัติตาม ๆ กันมาอย่างเคร่งครัด ผ่านการแสดงออกทางแฟชั่น ทัศนคติ หรือรสนิยมการฟังเพลงที่แปลกไปจากเดิม เช่น แนวดนตรีพังก์ ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการเติบโตของวัฒนธรรมแบบตะวันตกในญี่ปุ่น 

วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่นิยมในดนตรีพังก์จะถูกมองว่าเป็นพวกวัยรุ่นหนุ่มสาวชายขอบ เป็นคนที่ไม่มีฐานะ นอกจากนี้ยังมีการเหมารวมกลุ่มคน LGBTQ หรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ซึ่งส่วนมากจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่น ดนตรีพังก์จึงไม่ได้รับการยอมรับและยังถูกขับเคลื่อนในลักษณะดนตรีใต้ดินมาตลอด 

แน่นอนว่าวัฒนธรรมแบบอเมริกันที่มีความโผงผาง ตรงไปตรงมา ย่อมถูกมองว่าแปลกในสายตาของคนญี่ปุ่นและมีแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปในทางไม่พอใจเสียมากกว่า สิ่งนี้เหมารวมไปถึงการเล่นสเก็ตบอร์ด ที่เต็มไปด้วยความอึกทึก เสียงของล้อที่เสียดสีไปกับถนนคอนกรีต หรือเสียงบอร์ดกระทบกับเหล็ก ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ดูขัดกับภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นไปหมด

อย่างไรก็ดี ก็มีคนที่หลงใหลในวัฒนธรรมร่วมสมัยของอเมริกันชนิดนี้อยู่บ้าง จากคำบอกเล่าของ "โยชิโระ ฮิไง" ช่างภาพชาวญี่ปุ่นและนักสเก็ตยุคบุกเบิก วัย 54 ปี ผู้คลุกคลีอยู่กับวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดตั้งแต่ที่เริ่มเข้ามาในญี่ปุ่นใหม่ ๆ โยชิโระเริ่มต้นอาชีพช่างภาพสเก็ตบอร์ด ในช่วงกลางทศวรรษ 1980s ภายหลังจากที่วัฒนธรรมแบบอเมริกันเริ่มเข้ามาสู่ญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากการพาโปรสเก็ตเตอร์อย่าง "โทนี่ ฮอว์ก", "สตีฟ คาบาลเรลโร" และ "แลนซ์ เมาเท่น" และอีกหลายคนในทีมสเก็ตบอร์ดที่ชื่อ "โบนส์ บริเกด" มาสาธิตการเล่นสเก็ตบอร์ดให้แก่เด็ก ๆ ในญี่ปุ่น 


Photo : imdb.com

โยชิโระเล่าย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจในการเล่นสเก็ตบอร์ดของเขาหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง "เคนนี แอนด์ คอมพานี" ที่ออกฉายครั้งแรกใน ค.ศ.1976 แต่กว่าเขาจะได้ดูครั้งแรกก็เข้าสู่ในช่วงทศวรรษ 1980s แล้ว เนื่องจากการเข้าฉายที่ล่าช้าของญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้น 

"นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงอยากเล่น มันรู้สึกใหม่มาก ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนได้กลิ่นลมโชยมาจากแคลิฟอร์เนียเลย"

"เคนนี แอนด์ คอมพานี" ภาพยนต์ดราม่าเนื้อเรื่องไม่ซับซ้อนที่เกี่ยวกับเด็กวัย 11 ขวบชื่อเคนนี่ ที่ชอบออกไปเล่นสเก็ตบอร์ดกับเพื่อน ๆ ของเขา ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการแสดงออกถึงความนิยมของสเก็ตบอร์ดที่กำลังก่อตัวขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่มันยังเป็นสัญญาณของวัฒนธรรมร่วมสมัยของอเมริกัน ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในฐานะ "วัฒนธรรมแบบสวนกระแส" (Counterculture) ในญี่ปุ่นอีกด้วย

"คนส่วนใหญ่ที่เล่นสเก็ตบอร์ดในช่วงทศวรรษ 1980s คือคนประเภทที่ไม่ได้สนใจดนตรีหรือแฟชั่นในกระแสหลัก ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเพลงป๊อปสักเพลงที่กำลังดังมาก ๆ ในช่วงนั้น พวกเขาจะไม่ชอบเลย เขาจะชอบพวกเพลงพังก์หรือเพลงฮาร์ดร็อกที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบกัน "

"ถ้าคนชอบกีฬาเบสบอล พวกเขาก็จะไม่ชอบเบสบอล เพราะพวกเขาไม่ได้อยากเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลัก" 

โยชิโระเผยถึงความทรงจำของเขาในช่วงวัยรุ่น เขาเล่าว่าในสมัยนั้นแทบจะไม่มีลานสเก็ตบอร์ดให้พวกเขาได้เล่นเลย สิ่งที่เขาและเพื่อน ๆ มักจะทำกัน คือการไปช่วยกันตักทรายในสนามเด็กเล่นสักแห่งออก จนถึงพื้นระดับที่เป็นคอนกรีต แล้วพวกเขาถึงจะมีที่เล่นสเก็ตกัน 

นั่นคือพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในการเล่น แน่นอนว่าหลังจากที่เล่นเสร็จก็ต้องตักทรายกลับเข้าไปในสนามใหม่ในแต่ละครั้งด้วย เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาเล่นสนามเด็กเล่นอย่างเป็นปกติในตอนกลางวัน 

"ผมกลัวว่าหลังจากจบโอลิมปิกไป สเก็ตบอร์ดจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น มากเกินไปจนพวกเขาจะออกมาตรการที่เคร่งครัดต่อคนที่เล่นสเก็ตบนถนนมากกว่าเดิม" 

โยชิโระกล่าวถึงความกังวลที่เขามีต่อการจัดโตเกียวโอลิมปิก 2020 

นอกจากโยชิโระ ยังมี "ฮาโรชิ" ศิลปินชาวญี่ปุ่น วัย 41 ปี ที่โดดเด่นเรื่องการสร้างสรรค์งานประติมากรรมจากไม้ ซึ่งสเก็ตบอร์ดก็ถือเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการสร้างงานของเขาเช่นกัน แม้กระทั่งเคยสร้างผลงานจากเด็คสเก็ตบอร์ดมาแล้ว 

ฮาโรชิขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปินที่แหกขนบความเป็นญี่ปุ่นออกมาค่อนข้างเยอะ เขารับวัฒนธรรมการแต่งตัวแบบคนที่เล่นสเก็ตบอร์ดมา แขนของเขาเต็มไปด้วยรอยสัก เจาะหู ซึ่งหากเขาอยู่ที่อเมริกาเขาจะเข้าพวกกับใครหลาย ๆ คน แต่เมื่ออยู่ที่ญี่ปุ่นเขากลายเป็นคนแปลก เขาจึงรู้สึกเข้าใจในความต่างของวัฒนธรรมนี้ได้อย่างลึกซึ้ง 

"ในยุคของผม พวกคนหนุ่มสาวชายขอบ ถ้าไม่เข้าแก๊งมอเตอร์ไซค์ ก็ไปเป็นเด็กสเก็ตบอร์ด​ การเล่นสเก็ตบอร์ดเลยถูกตีตราว่าเป็นสิ่งที่อาชญากรรุ่นเยาว์จะทำกัน "

"การสร้างลานสเก็ตบอร์ด​มันเหมือนเป็นการจำกัดอิสระ โดยเฉพาะในโตเกียว ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนามาก เมื่อก่อนเราจะไถสเก็ตบอร์ดไปที่ไหนก็ได้ แต่เด็กสมัยนี้ทำได้แค่เล่นสเก็ตบอร์ดในสนามสเก็ตบอร์ดเท่านั้น ผมรู้สึกแย่แทนพวกเขา" 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันสเก็ตบอร์ดในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเจ้าตำรับกีฬานี้อย่างสหรัฐอเมริกา โทนี่ ฮอว์ก ถึงกับประหลาดใจที่เพิ่งมีการบรรจุสเก็ตบอร์ดเข้าไปในรายการการแข่งขัน 

"ผมเซอร์ไพรส์ทีเดียวนะ ว่ากว่าพวกเขาจะใช้เวลาในการคิดว่าจะใส่สเก็ตบอร์ดเข้าไปเนี่ย ทั้ง ๆ ที่สโนว์บอร์ดถูกเพิ่มเข้าไปตั้งแต่ปี 1998 แล้ว" 

"ผมเชื่อว่าพวกเขาต้องการพลังงานของเยาวชนสำหรับการแข่งขันในฤดูร้อนนะ เรารอกันมานานเกินไปแล้ว"

  สเก็ตบอร์ดโอลิมปิก

การแข่งขันสเก็ตบอร์ดในโอลิมปิก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ "สตรีท" (Street) และ "พาร์ค" (Park) สำหรับการแข่งแบบสตรีท มีกติกาคือ นักกีฬามีเวลา 45 วินาทีในการทำให้กรรมการประทับใจด้วยการเล่นท่าจำนวน 5 ท่า กับอุปกรณ์และสิ่งกีดขวางที่สร้างขึ้นมาใหม่ อ้างอิงจากสภาพแวดล้อมบนถนนจริง ๆ อันประกอบไปด้วย บันได ทางลาด ม้านั่ง ราวจับ โดยนักกีฬาสามารถเลือกทางไหนก็ได้ตามที่ตัวเองถนัด 

ส่วนการแข่งขันแบบพาร์คนั้นไม่ต่างกันมากเท่าไหร่ แต่สนามจะมีความซับซ้อนกว่าแบบสตรีท การทำคะแนนในการแข่งขันประเภทนี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ เพราะกรรมการจะให้คะแนนจากความแปลกใหม่และความยากของท่า การแข่งแบบพาร์ค นักกีฬาจึงสามารถเล่นท่าไหนได้ ตราบใดที่ยังคงคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ จำกัดเวลาไว้ที่ 45 วินาทีเช่นกัน 

การแข่งขันสเก็ตบอร์ดในโตเกียวโอลิมปิกจะถูกจัดขึ้นที่ "สนามกีฬาอาริอาเกะ" (Ariake Urban Sports Park) สนามกีฬาที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อการแข่งขันสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ 

สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่น่าจับตามองเป็นพิเศษนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น "ทอม ชาร์" นักสเก็ตบอร์ดทีมชาติสหรัฐอเมริกาประเภทพาร์ค วัย 21 ปี ที่ครั้งหนึ่งสามารถหมุนตัวกลางอากาศ 1080 องศาได้ ตั้งแต่อายุ 12 ปี และ "ไบรตั้น ซูเนอร์" นักสเก็ตบอร์ดหญิงประเภทพาร์ค เจ้าของรางวัล 2 เหรียญทองจากการแข่งขัน "เอ็กซ์เกมส์" (X Games) การแข่งขันกีฬาผาดโผน ในปี 2017 และ 2018 

นอกจากนี้ ยังมี "สกาย บราวน์" วัย 13 ปี ลูกครึ่งญี่ปุ่น-อังกฤษ จากทีมชาติสหราชอาณาจักร เธอเป็นนักกีฬาสเก็ตบอร์ดที่เด็กที่สุดในการแข่งขันนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีประสบการณ์มากนัก แต่ฝีมือของเธอนั้นถูกจัดให้อยู่ระดับที่น่าทึ่ง ถ้าเทียบกันกับวัยเพียงเท่านี้ เธอยังได้เป็นพาร์ตเนอร์กับ "ออลโมสต์" (Almost) บริษัทผลิตอุปกรณ์สเก็ตบอร์ดและ "สเก็ตเทสแตนด์" (Skateistan) เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายแผ่นสเก็ตออลโมสต์ที่เธอเป็นคนออกแบบไปบริจาคอีกด้วย 

สำหรับทีมชาติญี่ปุ่น ทุกสิ่งกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อ "ยูโตะ โฮริโงเมะ" นักสเก็ตบอร์ดชาวญี่ปุ่น วัย 22 ปี ได้สร้างประวัติศาสตร์โดยการคว้าเหรียญทองแรกในการแข่งขันสเก็ตบอร์ดประเภทสตรีทมาได้ ด้วยคะแนนรวม 37.18 แต้ม เอาชนะ "เคลวิน โฮฟเฟลอร์" จากบราซิลและ "แจ็กเกอร์ อีตัน" จากสหรัฐอเมริกาไปได้

นอกจากนี้ยังมี “โมมิจิ นิชิยะ” นักกีฬาสเก็ตบอร์ดวัย 13 ปี ที่ได้รางวัลเหรียญทอง จากการแข่งประเภทสตรีท โดยสามารถเอาชนะ “ไฮยีซ่า เลอัล” วัย 13 ปี จากบราซิล และ “ฟูนะ นาคายามะ” วัย 16 ปี จากประเทศเดียวกันไปได้ด้วยคะแนน 15.26 แต้ม 

 

History Made

"ไดสุเกะ ฮายาคาวะ" โค้ชของทีมสเก็ตบอร์ดทีมชาติญี่ปุ่น เตรียมพร้อมอย่างมากสำหรับการแข่งขันสเก็ตบอร์ดในโอลิมปิกครั้งแรกนี้ แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาเองก็ยังไม่กล้าเล่นสเก็ตบอร์ดในที่สาธารณะในชีวิตประจำวัน จากบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งใน เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ 

แม้ญี่ปุ่นจะมีพื้นที่เอื้อต่อการเล่นสเก็ตบอร์ดมากมาย อาทิ สวนสาธารณะที่มีม้านั่ง มีบันไดคอนกรีตและราวเหล็ก พร้อมกับทางเดินสุดเรียบ แต่ไดสุเกะก็เลือกที่จะไม่เล่นตรงบริเวณนั้นเพราะกลัวว่าจะเป็นการรบกวนผู้คนรอบ ๆ จนเกินไป 

"สเก็ตบอร์ดกลายมาเป็นอีกหนึ่งกีฬาในโอลิมปิก แต่ภาพของสเก็ตบอร์ดในญี่ปุ่นก็เป็นกิจกรรมของเด็กที่ดูดื้อด้านเท่านั้น ผู้คนค่อย ๆ มองว่าสเก็ตบอร์ดเป็นกีฬามากขึ้น แต่คนส่วนมากไม่รู้เลยว่าสเก็ตบอร์ดจริง ๆ แล้วคือสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ของวัฒนธรรมแบบสวนกระแส" 

เขาหวังว่าวันหนึ่งสเก็ตบอร์ดจะถูกยอมรับในสังคมสักที จากที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นกีฬาของพวกคนไม่เอาถ่าน ต่อต้านระบบสังคม ดูรุนแรงและไร้ระเบียบ

บางทีขนบธรรมเนียมบางอย่างที่เคยถูกกำหนดไว้ อาจจะไม่มีคำตอบอย่างตายตัวว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก มีเพียงแค่ความแตกต่างเท่านั้น ภาพของคนเล่นสเก็ตบอร์ดแบบเก่ากำลังค่อย ๆ ทลายลงแล้วประกอบกลับขึ้นมาเป็นภาพใหม่ เป็นภาพของวัยรุ่น ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย ที่เต็มไปด้วยความท้าทายและความตั้งใจที่จะไล่ตามความฝัน และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะก้าวร้าวเสมอไป 

ภาพในตอนนี้ พวกเขาทุกคนถือสเก็ตบอร์ดคนละอัน ปล่อยลงพื้น ก่อนที่จะออกตัวไถสเก็ตบอร์ดคู่ใจ ไปสู่อนาคตของแต่ละคน อย่างไม่ต้องเขินอายอีกต่อไป 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook