เกมซ่าท้ากึ๋น : รายการที่ทำให้คนทั้งโลกร้องอ๋อเมื่อเห็นโชว์ Pictogram ในโตเกียว เกมส์
เพราะรายการโทรทัศน์ไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่มันสะท้อนถึงค่านิยม แนวคิด และคุณภาพของประชากรในประเทศนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี
ในพิธีเปิดโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่โตเกียว เราได้เห็นการโชว์ Pictogram หรือสัญลักษณ์ภาพของกีฬาชนิดต่าง ๆ ที่มีการจัดการแข่งขัน ผ่านนักแสดง 3 คน ที่ทำหน้าที่ได้อย่างน่าประทับใจ และทันทีที่โชว์จบลง ทุกคอมเมนต์ในประเทศไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่มัน "เกมส์ซ่าท่ากึ๋น" ชัด ๆ
เราจะพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปดูต้นกำเนิด จุดพีค และแนวคิดของรายการที่ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนของประเทศใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดรายการโทรทัศน์ให้คนทั้งประเทศได้ดู
นี่คือเรื่องราวของรายการ เกมส์ซ่าท้ากึ๋น รายการที่ทำให้ทุกคนร้องอ๋อ และอยู่เบื้องหลังความสร้างสรรค์ของโชว์ที่เด็ดที่สุดในพิธีเปิดครั้งนี้
วัฒนธรรมเก่า สู่วัฒนธรรมร่วมสมัย
รายการ Kasou Taishou หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ เกมซ่าท้ากึ๋น นั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มกลยุทธ์ของสถานีโทรทัศน์ Nippon TV ที่พยายามจะหารายการวาไรตี้ที่ได้ทั้งความสนุกและสาระในเวลาเดียวกัน ดังนั้นพวกเขาจึงสร้างรายการ Kasou Taishou ขึ้นมา โดยออกอากาศครั้งแรกในช่วงปี 1979
Photo : route207.net
ย้อนอดีตไปในช่วงยุค 70s นั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเทศของพวกเขามีเศรษฐกิจดี และเป็นยุครุ่งเรืองของประเทศในทุก ๆ ด้านหลังจากฟื้นตัวเต็มระบบจากสงครามโลกครั้งที่ 2
ดังนั้นรายการโทรทัศน์ก็เฟื่องฟูไปด้วย มีการผลิตรายการต่าง ๆ ออกมามากมาย และเด็กไทยหลายคนน่าจะคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะทั้ง โดราเอมอน, ไอ้มดแดง หรือ อุลตร้าแมน ก็ปรากฏตัวครั้งแรกในช่วงยุค 70s ทั้งสิ้น จึงไม่แปลกอะไรในเมื่อธุรกิจบูมสุดขีด พวกเขาจึงแข่งกันทำรายการคุณภาพออกมา ซึ่งแน่นอนนั่นร่วมถึง Kasou Taishou หรือ เกมซ่าท้ากึ๋น ด้วย
เดิมทีพวกเขาพยายามหาคอนเซ็ปต์ของรายการว่าจะทำให้อย่างไรให้คนดูเข้าใจได้ด้วยสติปัญญาและยังได้ความบันเทิงไปพร้อม ๆ กัน โจทย์คือการนำสิ่งต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงการเป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นมาปรับใช้ และพวกเขาจึงเลือก "บุนระกุ" ศิลปะการแสดงยุคเก่า เข้ามาประยุกต์ให้เป็นการแสดงร่วมสมัย
บุนระกุ คือการแสดงหุ่นกระบอกแบบญี่ปุ่นที่ใช้คนบังคับให้มันเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ได้ เปรียบเทียบภาพให้เห็นง่าย ๆ คงคล้ายกับการละเล่นหุ่นกระบอกแบบไทย ที่บ้านเราใช้แสดงกันในงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองนั่นแหละ
เมื่อคิดคอนเซ็ปต์ได้ ทางรายการจึงหาวิธีทำให้มันร่วมสมัยขึ้น นั่นคือการเอาหลักการของ บุนระกุ มาใช้ นั่นคือ ใช้คนเป็นผู้บังคับหุ่นหรือการแสดงใด ๆ ก็ตามอยู่หลังฉาก เพียงแต่ไม่ได้เอาตัวหุ่นที่ใช้แสดงใน บุนระกุ มาใช้เท่านั้น แต่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าแข่งขันมาออกแบบการแสดง
หลักการง่าย ๆ คือ รายการจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านจัดทีมเพื่อเข้าแข่งขันชิงเงินรางวัล โจทย์คือผู้เข้าแข่งขันต้องคิดการแสดงแบบ บุนระกุ ประยุกต์ขึ้นมา 1 โชว์ เพื่อให้ได้คะแนนจากคณะกรรมการ หากได้เกิน 15 คะแนน ก็จะผ่านเข้าสู่รอบต่อไปนั่นเอง
รายการน้ำดี
หลังจากมีการออกอากาศไปครั้งแรกในปี 1979 Kasou Taishou ก็กลายเป็นรายการยอดนิยมที่มีเรตติ้งระดับต้น ๆ ของช่อง Nippon TV สาเหตุความสนุกของรายการมาจากการเปิดรับผู้เข้าแข่งขันกันโดยไม่จำกัดอายุ ทำให้หลาย ๆ ครั้งเราได้เห็นทีมจากโรงเรียนอนุบาล หรือแม้กระทั่งคุณลุงคุณป้าวัยเกษียณ เข้ามาแสดงไอเดียและคอนเซ็ปต์โชว์เจ๋ง ๆ ของตัวเองให้ได้ชมกัน
Photo: ameblo.jp
และยิ่งเวลาผ่านไป ไอเดียของผู้เข้าแข่งขันก็ยิ่งบรรเจิด มันเหมือนการต่อยอดทางความคิดของคนดู เพราะเมื่อได้เห็นโชว์ดี ๆ สักโชว์ พวกเขาก็จะมานั่งคิดตามว่าผู้เข้าแข่งขันทำมันได้อย่างไร และสิ่งที่ตามมาคือ พวกเขาจะเกิดไอเดียของตัวเอง และถ้าพวกเขากล้าพอเอามันมาร่วมแข่งขัน พวกเขาก็จะได้ลุ้นทั้งเงินรางวัลและชื่อเสียงกลับไป
ต่อเนื่องมาถึงยุค 80s โชว์ส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยได้ว้าวมาก เพราะยังไม่สามารถก้าวหลุดกรอบจากการแสดง บุนระกุ แบบโบราณได้ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ศิลปะการแสดงก็เริ่มถูกต่อยอดทีละนิด ๆ จนที่สุดแล้ว โชว์ของผู้เข้าแข่งขันก็อลังการขึ้น จนทำให้รายการเป็นที่นิยมมากกว่าเดิมหลายเท่า เริ่มมีการให้คะแนนจากหลายหมวด ทั้งความพร้อมเพียง, ไอเดีย, ความคิดสร้างสรรค์ และความสวยงาม
ผู้เข้าแข่งขันเริ่มสร้างสรรค์โชว์ออกมาจากเรื่องง่าย ๆ ให้กลายเป็นเรื่องว้าว ๆ ได้ เช่นการโชว์ทำอาหาร, โชว์ลิงตกต้นไม้, โชว์แหกคุก และที่สุดยอดที่สุดจนถูกกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ คือการแสดงโชว์ชุด ปิงปอง เมทริกซ์ ที่เอาการตีปิงปองไปผสมกับภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ก่อนจะกลายเป็นโชว์ที่ได้รับคะแนนโหวตอย่างท่วมท้น และกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจนมีสถานนีโทรทัศน์จากต่างประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายเป็นภาษาต่าง ๆ
มี 13 ประเทศจากทวีปเอเชียที่ซื้อลิขสิทธิ์มาฉายซ้ำ หรือผลิตใหม่ เช่น จีน, สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น หนึ่งในนั้นรวมถึงประเทศไทยที่ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ ทีวี ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาฉายในช่วง 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาครอบครัวพอดิบพอดี แม้ในประเทศไทยรายการนี้อาจจะไม่ได้โด่งดังในวงกว้าง หรือมีเรตติ้งถล่มทลาย แต่ก็ทำให้คนไทยหลายคนยกให้รายการ เกมซ่าท้ากึ๋น เป็นรายการน้ำดีเหมาะสำหรับครอบครัวและทำให้เด็กและเยาวชนได้คิดตาม ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักจากรายการวาไรตี้ทั่วไป
ภาพสะท้อนสู่สังคม
จุดเด่นของคนญี่ปุ่นคือการเอาวัฒนธรรมเก่ามาทำให้ร่วมสมัยได้ดีแบบที่ไม่รู้สึกว่าดูแล้วขัดหูขัดตา การแสดงชุดต่าง ๆ ของ เกมซ่าท้ากึ๋น นั้นยืนยันจุดเด่นของเรื่องนี้ได้อย่างดี ซึ่งโชว์หลาย ๆ โชว์ในรายการถูกนำมาใช้ในงานโฆษณา หรืองานประเภทมิวสิกวีดีโอมากขึ้น จนทำให้โชว์ประเภทนี้กลายเป็นสากลแบบที่ใครเห็นก็ร้องอ๋อทันที เห็นปุ๊ปก็ต้องนึกถึงต้นกำเนิดจากรายการ เกมซ่าท้ากึ๋น ขึ้นมาปั๊บ
Photo : twitter.com/iwosiiws
เรียกได้ว่าต่อให้คุณไม่รู้จัก บุนระกุ แต่เมื่อเห็นโชว์ประเภทนี้คุณจะเข้าใจถึงวิธีการแสดงโชว์ในแบบของ เกมซ่าท้ากึ๋น ได้เป็นอย่างดี ขณะที่ในประเทศไทยของเราก็มีมิวสิกวีดีโอเพลง "โกหก" ของวง Tatoo Colour ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการนี้ และเมื่อ MV ออกอากาศ ก็ได้รับการพูดถึงอย่างมากมาย และเพลง โกหก นี้ก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงฮิตประจำอัลบั้มไปเรียบร้อย
แม้ทุกวันนี้ รายการ เกมซ่าท้ากึ๋น จะไม่ได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์มาฉายซ้ำที่เมืองไทยแล้ว ขณะที่ประเทศต้นขั้วอย่างญี่ปุ่นก็ไม่มีตารางเวลาออกอากาศเป็นประจำ ทว่าความคลาสสิกของ Kasou Taishou ยังคงส่งอิทธิพลต่อประชาชนในญี่ปุ่นได้เป็นอย่างชัดเจน เพราะพวกเขายังคงไม่ลืมและให้ความสำคัญกับรายการนี้ แม้จะไม่มีชั่วโมงออนแอร์เป็นประจำ แต่ก็ยังมีการแข่งขันแบบนี้อยู่ปีละครั้ง ที่จะเป็นช่วงพิเศษที่ฉายรายการนี้ยาว 2 ชั่วโมงเต็มให้แฟน ๆ ได้หายคิดถึง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีการแข่งขันกันอยู่
การเป็นรายการที่จุดประกายทางความคิด ให้เยาวชนได้คิดสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ และช่วยให้เห็นมุมมองที่แปลกแตกต่างออกไป เป็นเหตุผลว่าทำไม Kasou Taishou จึงถูกยกให้เป็นรายการระดับคุณภาพ และแน่นอนในพิธีเปิดโตเกียว เกมส์ 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ พวกเขาก็ได้ใช้เทคนิคการแสดง บุนระกุ แเบบร่วมสมัยเหมือนกับรายการ Kasou Taishou โชว์ในช่วง Pictogram ที่เป็นการแสดงสัญลักษณ์ภาพของกีฬาชนิดต่าง ๆ ที่มีการจัดการแข่งขัน และใช้ถูกงานเป็นครั้งแรกในโอลิมปิกปี 1964 ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพ นำมาทำใหม่ให้ทันสมัยขึ้น
Photo : www.timeout.com
สิ่งที่โลกได้เห็นคือทุก ๆ อย่างจากรายการนั้น ทั้งความพร้อมเพรียง ความสวยงาม และความคิดสร้างสรรค์ จนหลายคนยกให้การแสดงชุด Pictogram นี้ เป็นหนึ่งในโชว์ที่ดีที่สุดประจำพิธีเปิดโตเกียว เกมส์ เลยทีเดียว
สื่อที่คนในประเทศดู สะท้อนถึงรสนิยมและสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น จริงอยู่ที่ชีวิตคนเราไม่ได้ต้องการสาระตลอด 24 ชั่วโมง แต่การให้ความสำคัญกับเรื่องของความสนุกที่มีสาระก็สำคัญมาก ๆ เพราะหากมีสาระเพียงอย่างเดียว มันก็จะไม่มีแรงกระตุ้นให้เกิดภาพจำ ไม่เกิดการใช้ความคิดและการต่อยอดในสิ่งใหม่ ๆ และหากเราเอาแต่สนุกเพียงอย่างเดียวก็จะได้แค่ความสุขชั่วครู่ที่ต่อยอดไปทางไหนไม่ได้ ดังนั้นการหยิบเอาสิ่งต่าง ๆ มาผสมกันและหาตรงกลางให้เจอ จะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
จากนี้ไปหากใครได้เห็นการแสดงประเภทนี้พวกเขาก็จะร้องอ๋อทันที และรู้ถึงที่มาต้นตำรับว่ามาจากประเทศญี่ปุ่น ... ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม Kasou Taishou ได้ทำให้ละครหุ่นกระบอกที่โลกไม่รู้จัก เกิดใหม่ภายใต้บทบาทคนแสดงที่สนุกและสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้างเป็นที่เรียบร้อย