"ฮินาตะ โชโย" : ดาวเด่นจากไฮคิว กับเหตุผลที่คนเราควรหาที่ของตัวเองให้เจอ

"ฮินาตะ โชโย" : ดาวเด่นจากไฮคิว กับเหตุผลที่คนเราควรหาที่ของตัวเองให้เจอ

"ฮินาตะ โชโย" : ดาวเด่นจากไฮคิว กับเหตุผลที่คนเราควรหาที่ของตัวเองให้เจอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฮินาตะ โชโย ตัวละครเอกจากเรื่อง "ไฮคิว" ถูกโหวตจากแฟน ๆ ผ่านเว็บไซต์  My Anime List ว่าเป็นอันดับ 1 ในแง่ของความนิยม จากตัวละครในมังงะญี่ปุ่น เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านมังงะ หรือดูอนิเมะเรื่องนี้อาจจะไม่เก็ตว่าเพราะอะไรตัวละครจากมังงะวอลเล่ย์บอลจึงแซงหน้าตัวละครดังจากมังงะระดับท็อปหลายเรื่องได้ ... นี่คือเหตุผล 

เด็กชายตัวเล็กกับกีฬาของคนตัวสูงตามค่านิยมของสังคมคนนี้ เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาได้เมื่อวันที่เขาพบว่า "ตัวเองคือใคร" และ "เกิดมาเพื่อสิ่งไหน" 

นี่คือเรื่องราวของตัวละครตัวหนึ่งที่สะท้อนโลกแห่งความจริงได้เป็นอย่างดี ... ติดตามได้ที่ MainStand

คนตัวเล็กในวงการกีฬาญี่ปุ่น 

ญี่ปุ่น คือชาติพันธุ์ที่ไม่ได้มีสรีระร่างกายใหญ่โตเท่าไรนัก หากเจาะไปที่พันธุกรรมหรือเรื่องราวในอดีตคงจะยืดยาวเกินไป แต่เรื่องนี้สามารถสะท้อนผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ให้เรารับรู้อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องราวของ "คนตัวเล็ก" ในมังงะกีฬาหลายเรื่อง 

1อิตโต้ จากเรื่อง นักเตะเลือดกังฟู, มิยางิ เรียวตะ จาก สแลมดังก์ หรือ เอจิเซ็น เรียวมะ จาก ปรินซ์ ออฟ เทนนิส ต่างเป็นตัวละครที่มีความสูงระดับ 150-160 เซนติเมตร กันทั้งนั้น และในแต่ละเรื่องก็มักจะมีดราม่าเรื่องความสูงของพวกเขาอยู่ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการโดนตัดสินจากคนภายนอกว่าคนตัวเล็กไม่มีทางจะเป็นนักกีฬาที่ดีได้ 

นอกจากนี้ยังมีตัวละครจากมังงะที่ไม่ได้เกี่ยวกับกีฬาอีกหลาย ๆ เรื่องที่เป็นคนตัวเล็ก และต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ตัวเองเก่งกาจและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่

เรื่องนี้สัมพันธ์กับตัวเลขและสถิติที่กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจส่วนสูงของเด็กนักเรียนตั้งแต่ประถมถึงมัธยมปลาย ตั้งแต่ช่วงปี 1950 โดยในช่วงอายุ 6 ปี เด็กผู้ชายญี่ปุ่นจะสูงอยู่ที่ราว ๆ 108.4 ซม. ถึง 117.4 ซม., ช่วงอายุ 12 ปีจะอยู่ที่ 136.1 ซม. ถึง 152.6 ซม., ช่วงอายุ 15 ปี จะสูง 152.7 ซม. ถึง 165.6 ซม. และ จนกระทั่งพวกเขาอายุ 20 ปี ผู้ชายญี่ปุ่นจะมีค่าเฉลี่ยความสูงอยูที่ราว ๆ 161.5 ซม. ถึง 172.2 ซม. เท่านั้น 

เท่านี้ก็พอจะนึกภาพออกได้ว่าในสังคมญี่ปุ่นนั้น คนตัวเล็กมีอยู่ไม่น้อย และหากพวกเขาอยากจะก้าวข้ามความสำคัญเรื่องสรีระได้ พวกเขาจะต้องใช้ความทุ่มเทและแรงบันดาลใจในการก้าวข้ามค่านิยมเหล่านั้น และหนึ่งในตัวละครจากมังงะที่ก้าวขึ้นมาเป็นขวัญใจและจุดประกายความสามารถของคนตัวเล็กในยุคนี้คงหนีไม่พ้น ฮินาตะ โชโย จากมังงะเกี่ยวกับวอลเล่ย์บอล อย่าง ไฮคิว 

2ไฮคิว คือการ์ตูนที่ขายดีเป็นอันดับที่ 7 จากการจัดอันดับเมื่อเดือนมกราคมปี 2021 โดยมียอดขายเเตะ 3 ล้านเล่ม โดยเนื้อเรื่องนั้นดำเนินตามชีวิตและความหวังที่อยากจะเป็นนักวอลเล่ย์บอลของ ฮินาตะ โชโย ตัวละครเอกของเรื่อง ที่เปล่งประกายด้วยความสูงเพียง 162 เซนติเมตร แต่กลับมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเป็นนักวอลเล่ย์บอล ซึ่งเป็นกีฬาที่แสดงให้เห็นภาพในความสำคัญของส่วนสูงอย่างที่สุด ว่ายิ่งสูงยิ่งได้เปรียบ 

และในความ "คอนทราสต์" (ขัดแย้ง) นี้เองที่ทำให้เราได้เห็นความพยายามของ ฮินาตะ ที่เปล่งประกายอยู่เสมอ แม้ว่าเขาจะต้องเจอกับอุปสรรคตั้งแต่เริ่มต้น

แรงบันดาลใจคือสิ่งสำคัญ 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ฮินาตะ คือเด็กมัธยมปลาย ปี 1 (เทียบเท่า ม.4) ที่รูปร่างผอมบางและสูงแค่ 162.8 เซนติเมตรเท่านั้น สำหรับเด็กที่ตัวเล็กขนาดนี้ หากใช้ชีวิตในห้องเรียนธรรมดาคงไม่ถือว่าแปลกตาและเป็นปัญหาอะไรมากนัก เเต่การเข้ามาอยู่ในทีมวอลเล่ย์บอลของโรงเรียนนั้น ต้องยอมรับว่า นี่คือส่วนสูงที่มีโอกาสที่จะทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้ ... แต่บางครั้งความหลงใหลก็ทำให้คนอยากทำทุกอย่างเพื่อคว้าความสำเร็จ โดยไม่สนอุปสรรคใด ๆ 

3เดิมที ฮินาตะ เป็นคนที่จมอยู่กับร่างกายที่ตัวเล็กกว่าคนอื่น ๆ มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถม และถูกปมด้อยกลบจนมองไม่เห็นตัวเองว่าแท้จริงแล้วเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง แม้กระทั่งวันหนึ่ง ฮินาตะ ปั่นจักรยานผ่านร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า และทีวีตัวโชว์ที่หน้าร้านปรากฏภาพของ อุได เท็นมะ นักวอลเล่ย์ที่เป็น "เอซ" ของทีมมัธยมคาราสึโนะ ที่เฉิดฉายในศึกอินเตอร์ไฮ จากนั้นความเปลี่ยนแปลงในใจของ ฮินาตะ จึงเริ่มต้นขึ้น  

ความเก่งกาจของ เท็นมะ ที่ได้ฉายาว่า ยักษ์จิ๋ว (Small Giant) คือการจุดประกายทุกอย่างที่ทำให้ ฮินาตะ มีแรงบันดาลใจและเข้าใจว่าการเป็นคนตัวเล็กก็สามารถทำในสิ่งที่หลายคนไม่คาดฝันได้เช่นกัน

จากนั้นเขาจึงเริ่มเล่นวอลเล่ย์บอลมาตั้งแต่ช่วง ม.ต้น ในตำแหน่ง Middle Blocker ซึ่งตำแหน่งนี้มีหน้าที่ "บล็อก" การตบทำแต้มของคู่แข่งเป็นอันดับแรก และจำเป็นจะต้องมีเทคนิคสูงมาก เพราะยังมีหน้าที่ทำแต้มด้วยการเล่นบอลเร็ว (บอลสั้น) ในเวลาเดียวกัน  ต้องเด่นทั้ง รับ และ รุก แถมยังต้องเป็นตัวที่ตัดสินแต้มแต่ละเเต้มในการแข่งขัน ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่เหมาะกับส่วนสูงของเขาเลย

ทว่าเมื่อความหลงใหลได้เริ่มขึ้น สิ่งที่ ฮินาตะ เริ่มทำ คือการสร้างความแตกต่างในแบบที่ตัวของเขาสามารถทำได้  เขาได้ใช้ความพยายามในการรวบรวมทีมอยู่ถึง 3 ปี กว่าที่จะมีสมาชิกมากพอสำหรับการแข่งขันในระดับจังหวัด 

4ฮินาตะ ชวนนักกีฬาจากชมรมกีฬาอื่นอย่าง บาสเกตบอล และ ฟุตบอล ให้มาเข้าทีมวอลเล่ย์บอลได้สำเร็จ โดยวิธีชวนของเขานั้น ไม่ได้เป็นการพูดโน้มน้าว แต่เป็นการแสดงให้ทุกคนเห็นถึงความพยายามอันแรงกล้าของเขา โดยเฉพาะหลังจากการแข่งทัวร์นาเมนต์แรก และต้องเจอกับทีมตัวเต็งอย่าง คิตางาวะ ไดอิจิ ซึ่งเป็นเกมที่ทีมของ ฮินาตะ ที่รอมาถึง 3 ปีกำลังจะเริ่มขึ้น เขาโดนดูถูกตามแบบฉบับดราม่าในมังงะญี่ปุ่น 

คนที่ดูถูกเขาคือ คาเงยามะ โทบิโอะ เจ้าของฉายา "ราชาแห่งคอร์ต" ของทีม คิตางาวะ ซึ่งการดูถูกครั้งนี้เริ่มตั้งแต่เรื่องของส่วนสูงของ ฮินาตะ รวมถึงเพื่อนร่วมทีมที่ไม่ได้เป็นผู้เล่นที่เก่งกาจอะไรเลย 

แม้ ฮินาตะ จะแค้น แต่เกมนั้นก็เป็นการทำให้เขาเห็นโลกแห่งความจริง ความพยายามที่เขาทำมายังไม่มากพอที่จะทำให้ทีมของเขาเป็นผู้ชนะ เพราะโรงเรียนมัธยมยูคิงาโอกะของเขา แพ้โดยไม่สามารถเก็บเซ็ตได้เลย แถมยังโดนนำแบบม้วนเดียวจบโดยใช้เวลาแค่ 31 นาทีเท่านั้น  นี่คือความห่างชั้นที่ทำให้ ฮินาตะ ฮึกเหิมยิ่งกว่าเคย เขาปรากฏตัวต่อหน้า คาเงยามะ ที่ดูถูกเขา และส่งสารท้ารบอย่างเป็นทางการว่า "วันหนึ่งฉันจะเอาชนะนายให้ได้" 

5เขาปลุกใจเพื่อน ๆ ทุกคนให้ลืมความผิดหวังจากความพ่ายแพ้ที่สู้ไม่ได้ และให้มองย้อนกลับมาตัวเอง หาข้อด้อยและจุดอ่อนที่ต้องพัฒนา และแน่นอนว่าตัวของเขานั้นพยายามยิ่งกว่าที่เคยอีกหลายเท่า 

การเป็นคนตัวเล็กคือสิ่งที่เขาไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยในเรื่องนี้ ดังนั้น สิ่งที่ ฮินาตะ ทำได้คือการพยายามเอาความสามารถด้านอื่น ๆ มาทดแทนส่วนสูงที่ขาดหายไป เขาออกกำลังกายหนักกว่าเดิม ซ้อมหนักยิ่งกว่าเก่า ไม่ใช่แค่ในสนามซ้อมเท่านั้น แต่มันเริ่มขึ้นตั้งแต่การลืมตาตื่น

ฮินาตะ เริ่มวิ่งจ๊อกกิ้ง ไปฝึกซ้อมพิเศษเพิ่มกับทีมวอลเล่ย์บอลหญิง รวมไปถึงการปั่นจักรยานเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าเดิม โดยตัวของเขานั้นปั่นจักรยานจากบ้านไปที่โรงเรียนทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งนั่นทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะการเดินทางจากบ้านของเขาที่อยู่บนภูเขามายังโรงเรียน ปกติเเล้วหากนั่งรถโดยสารจะใช้เวลาราว 40 นาที แต่ ฮินาตะ กลับใช้เวลาเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นในการปั่นจักรยานมาโรงเรียนมัธยมปลายในฝันของเขา ซึ่งก็คือโรงเรียน คาราสึโนะ ที่เคยสร้างตำนาน “Small Giant” ที่ ฮินาตะ มองเป็นไอดอลมาตลอด

หาที่ของเราให้เจอ 

สมัยมัธยมต้นความพยายามของ ฮินาตะ อาจจะไม่ได้ทำให้เขาเห็นภาพของความสำเร็จมากนัก แต่การตั้งต้นและเริ่มขึ้นจริงมาเกิดขึ้นเอาช่วงมัธยมปลายที่เขาเข้ามาสู่ทีมมัธยมคาราสึโนะ โรงเรียนที่มีทีมวอลเล่ย์บอลที่เก่งกาจ และการมาอยู่กับทีม ๆ นี้ทำให้ ฮินาตะ ได้เห็นโลกอีกใบที่เต็มไปด้วยคนที่เก่งกว่าเขา และทุ่มเทพยายามไม่ต่างจากที่เขาทำ แม้แต่ศัตรูในช่วง ม.ต้น อย่าง คาเงยามะ ก็ยังมาเข้าที่โรงเรียนนี้ด้วยเช่นกัน 

6โลกอีกใบของ ฮินาตะ ได้เริ่มขึ้น การได้มาอยู่กับคนที่มีความชอบและหลงใหลในสิ่งเดียวกัน ได้ดึงเอาความมุ่งมั่นของ ฮินาตะ ออกมามากกว่าเดิม ที่นี่เขาได้เรียนรู้ที่จะเจอกับคำท้าทายที่ไม่ใช่แค่เรื่องของส่วนสูงอีกเเล้ว มันคือที่ที่คุณต้องแสดงออกให้ทุกคนเห็นว่าคุณเก่งพอที่จะได้รับโอกาส หากทำได้ ต่อให้เตี้ยแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรียกได้ว่าโลกที่มัธยมปลายคาราสึโนะ คือสถานที่ที่เหมาะกับคนอย่าง ฮินาตะ ที่สุดเเล้ว 

ออร่าของการอยากก้าวข้ามของ ฮินาตะ เปล่งประกายอย่างที่สุด เขามองหาอุปสรรคทุกอย่างและพยายามก้าวข้ามมันไปให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีอดีตศัตรูอย่าง คาเงยามะ โทบิโอะ อยู่ในทีม ทำให้เขาเห็นถึงความเก่งกาจอันเหลือเชื่อของ คาเงยามะ ทุก ๆ วัน นั่นทำให้ ฮินาตะ ไม่เคยคิดที่จะหยุดพัฒนาตัวเองเลย จนกว่าที่เขาจะทำในสิ่งที่เคยลั่นวาจาไว้เมื่อสมัยมัธยมต้น  ซึ่งยิ่งเมื่อเขาพยายามอยากเอาชนะ คาเงยามะ ที่ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนร่วมทีมกันเเล้วมากขึ้นเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรู้ตัวว่าพวกเขาทั้งคู่ต่างมีแรงเกื้อหนุนซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้นเท่านั้น

เราคงจะไม่อธิบายว่าหลังจากที่ ฮินาตะ เข้ามาเป็นสมาชิกมัธยมปลายคาราสึโนะ ทีมมีผลการเเข่งขันเป็นอย่างไร เพราะนอกจากจะเป็นการสปอยล์กันแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจแพตเทิร์นของมังงะกีฬาที่ให้ความสำคัญกับ ความพยายาม-ล้มเหลว-ลุกขึ้นใหม่-พุ่งเข้าหาความสำเร็จ ที่แลกมาด้วยการทุ่มเทแรงกายและใจ 

7เพราะใจความสำคัญสำหรับเรื่องราวของ ฮินาตะ คือ เมื่อใดก็ตามที่คุณได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร รักสิ่งไหน และเสียสละตนเองเพื่อสิ่งนั้น ปลายทางที่รออยู่แม้อาจจะไม่ใช่ความสำเร็จหรือความยิ่งใหญ่ที่โลกต้องซูฮก แต่อย่างน้อย ๆ คุณจะได้พบกับโลกอีกใบที่รู้สึกว่า "มันสร้างมาเพื่อคุณ" 

ฮินาตะ สู้กับทุก ๆ สิ่งและมอบความฝันที่เขามีให้กับการเล่นวอลเล่ย์บอล ซึ่งสิ่งนี้ได้นำพาเขามายังที่ที่ทำให้ตัวของเขาเป็นนักวอลเล่ย์บอลที่เก่งยิ่งกว่าที่เคย เหนือสิ่งอื่นใดคือโรงเรียนมัธยมปลายคาราสึโนะ ได้ทำให้เขารู้ว่าเขาเกิดมาเพื่อเล่นวอลเล่ย์บอลอย่างแท้จริง 

สิ่งที่ยืนยันได้คือหลังจากจบมัธยมปลาย ฮินาตะ ได้วิ่งตามความฝันต่อไปอีกขั้น ด้วยการเดินทางไปยังประเทศบราซิล ดินเเดนแห่งวอลเล่ย์บอลชายหาด เพื่อเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ให้เขาก้าวข้ามจากเด็กมัธยมที่เล่นวอลเล่ย์บอล กลายเป็นนักกีฬาวอลเล่ย์บอลอาชีพอย่างแท้จริง 

ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ฮินาตะ ได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นยิ่งกว่าที่เขาเคยเจอมาตลอดชีวิต นอกจากนี้เขายังได้เจอกับวิทยาการใหม่ ๆ การใช้ชีวิต การออกกำลังกาย และการกินอาหารตามโปรเเกรมเพื่อสุขภาพอย่างเข้มงวด ที่สุดเเล้วจากคนที่สูงแค่ 164 เซนติเมตร กลับมีความสูงที่พุ่งพรวดขึ้นมาภายในระยะเวลาไม่กี่ปีเป็น 172 เซนติเมตร 

ความต่าง 8 เซนติเมตรที่ ฮินาตะ ได้มานี้ ทำให้เขาสามารถใช้เทคนิคและวิธีการที่เหนือชั้นได้มากกว่าที่เคยมากมาย ทว่าสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือการที่เขากลับมายังญี่ปุ่นและเอาดีทางด้านนี้ โดยเฉพาะที่เขาสามารถเข้าสู่ทีมวอลเล่ย์บอลอาชีพที่มีชื่อว่า MSBY Black Jackals ได้สำเร็จ ซึ่งจะบอกว่านี่คือปลายทางก็คงไม่ผิดนัก การเปลี่ยนความหลงใหลให้เป็นอาชีพ คือการพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าความพยายามที่ทุ่มเทลงไปไม่สูญเปล่า ไม่ใช่แค่ในมังงะเท่านั้น แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราเชื่อว่าทุกคนก็ล้วนอยากทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ให้เป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้เช่นกัน 

8ความสำเร็จในฐานะ "นักกีฬาคนหนึ่ง" ของ ฮินาตะ คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากเขาไร้ซึ่งความรักในกีฬาชนิดนี้ เพราะการเริ่มต้นที่ดีจะนำพาเขาไปสู่เส้นทางที่เหมาะสม 

มีทฤษฎีที่ชื่อว่า Similarity Attraction หรือ ทฤษฎีการดึงดูดคนที่เหมือนกัน ว่าด้วยการที่คนเรามักจะดึงดูดอีกคนหนึ่งเข้าหาด้วยเหตุผลจากการมีทัศนคติ ค่านิยม ไลฟ์สไตล์ พื้นฐานทางสังคม และความปรารถนา ที่เหมือน ๆ กัน  ซึ่งสุดท้ายแล้ว พวกเขาจะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัวโดยที่ไม่ต้องฝืนความรู้สึกใด ๆ เลย 

ฮินาตะ ก็เป็นเช่นนั้น เริ่มจากความรัก นำพาสู่สถานที่ที่เพาะบ่มเพื่อยืนยันให้ตัวเองได้รู้ว่า "เราเกิดมาเพื่อเป็นอะไร" และเมื่อเขาหาตัวเองเจอเเล้ว ความสำเร็จที่ใครหลายคนเคยดูถูกก็เป็นจริงได้ในท้ายที่สุด... 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "ฮินาตะ โชโย" : ดาวเด่นจากไฮคิว กับเหตุผลที่คนเราควรหาที่ของตัวเองให้เจอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook