"มาร์กาเร็ต แมคนีล" : จากนโยบายลูกคนเดียว สู่เจ้าของเหรียญทองว่ายน้ำโอลิมปิก
"โอ้พระเจ้า" คือคำอุทานของ มาร์กาเร็ต แมคนีล หลังจากทราบผลว่าเจ้าตัวเข้าแตะขอบสระเป็นอันดับหนึ่ง ในรายการว่ายน้ำท่าผีเสื้อ 100 เมตรหญิง ซึ่งเป็นเหรียญทองแรกของทัพนักกีฬาแคนาดา ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้อีกด้วย
ทว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ เธอเองได้เผชิญกับนานาอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการถูกทิ้งโดยบุพการีแท้ ๆ ของตน หรือการต่อสู้กับโรคหอบหืดในช่วงวัยรุ่น ก่อนจะมาคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกครั้งแรกของเธอได้สำเร็จ
นี่คือเรื่องราวบนเส้นทางสู่โอลิมปิก ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายของ มาร์กาเร็ต "แม็กกี้" แมคนีล จากเด็กกำพร้าในจีน สู่ฮีโร่เหรียญทองหัวใจแคนาเดียน
"ลูกคนเดียว"
แม้ในหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโอลิมปิก จะระบุว่า แมคนีล ถือกำเนิดที่เมืองลอนดอน (คนละที่กับเมืองหลวงของอังกฤษ) รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา แต่เมืองเกิดที่แท้จริงของเธอ กลับตั้งอยู่ห่างออกไปกว่า 10,000 กิโลเมตรด้วยกัน
26 กุมภาพันธ์ 2000 ในเมืองจิ่วเจียง มณฑลเจียงซี ประเทศจีน หนูน้อยคนหนึ่งได้ลืมตาขึ้นมาดูโลก
แต่ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม เธอกลับถูกทิ้งจากอ้อมอกของบุพการีแท้ ๆ ทางสายเลือด และต้องไปอยู่ในบ้านเด็กกำพร้าท้องถิ่นแทน
ซึ่งนั่นเป็นชะตากรรมเดียวกันกับที่เด็กอีกหลายคนในจีนต้องเผชิญจากนโยบาย "ลูกคนเดียว" ที่ถูกนำมาใช้ในปี 1980 เพื่อชะลอการเติบโตของจำนวนประชากร โดยมีการบังคับใช้และตรวจสอบอย่างเข้มข้นมานานกว่า 35 ปี ก่อนจะถูกผ่อนปรนให้เป็นนโยบายลูกสองคนในปี 2015 และตามด้วยลูกสามคนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา
และด้วยลักษณะทางสังคมของจีน ที่มักโปรดปรานลูกชายมากกว่าลูกสาว จากแนวคิดแบบปิตาธิปไตยที่มีอยู่มานานกว่าพันปี ซึ่งมองว่าผู้ชายแข็งแกร่งกว่า สามารถช่วยเหลือหาเลี้ยงชีพให้กับครอบครัวได้ดีกว่า รวมทั้งเมื่อถึงคราแต่งงาน ก็ประหนึ่งดั่งได้ลูกสาวเพิ่มมาอีกหนึ่งคนจากการที่ภรรยาของลูกชายจะต้องย้ายเข้ามาอยู่ในครอบครัวใหม่แห่งนี้ด้วยนั่นเอง
เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับที่สูงกว่า 3.5 ล้านบาท (ตามรายงานในปี 2020 อาจมีแปรผันได้ตามแต่ละช่วงเวลา) จากการมีลูกมากกว่าหนึ่งคน จึงทำให้มีเด็กมากกว่า 570,000 คน ต้องกำพร้าพ่อแม่ในปี 2012 และจาก 71,632 คน ที่ได้รับการอุปการะโดยครอบครัวบุญธรรมในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 1999 ถึงปี 2013 เป็นเด็กผู้หญิงมากถึง 88.9% ด้วยกัน
ด้านของ มาร์กาเร็ต แมคนีล ก็ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ ซูซาน แมคแนร์ กับ เอ็ดเวิร์ด แมคนีล ได้อุปการะเธอกับน้องสาวจากสถานดูแลเด็กกำพร้าในจีน และพาทั้งคู่เดินทางกลับมาสู่มาตุภูมิในแคนาดา
จากตรงนี้เอง ที่เป็นดั่งจุดเริ่มต้นเส้นทางฝันของเธอ...
ต่อสู้กับหอบหืด
มาร์กาเร็ต แมคนีล เริ่มต้นว่ายน้ำตั้งแต่ยังอายุได้เพียง 2 ขวบเท่านั้น เรียกได้ว่าเธอก้าวลงสระตั้งแต่แรกเริ่มสัมผัสแผ่นดินแคนาดาเลยก็ว่าได้
เมื่ออายุได้ 8 ขวบ เธอลงแข่งขันรายการแรกในชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงกับช่วงที่ปักกิ่ง กำลังเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกปี 2008 อยู่ และนั่นได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ขับเคลื่อนความฝันของเธอ ว่าสักวันหนึ่ง ชื่อของ มาร์กาเร็ต "แม็กกี้" แมคนีล จะต้องถูกประกาศก้องในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เกมส์
ระหว่างนั้น เธอก็ได้เติบโตขึ้นมา โดยมี เมลิสสา แฟรงคลิน กับ ซาราห์ สโยสตรอม สองนักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ เป็นไอดอลให้เจ้าตัวได้ชื่นชมและหวังจะเดินตามรอยพวกเขาเหล่านี้ให้ได้
แมคนีล ติดทีมว่ายน้ำประจำโรงเรียนมัธยมของเธอ ตลอดมาจนถึงระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่เธอศึกษาด้านกฎหมายและการแพทย์อยู่ ควบคู่ไปกับลงแข่งขันรายการต่าง ๆ ในนามของทีมมหาวิทยาลัย
ทว่าในปี 2017 ระหว่างลงแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกที่สิงคโปร์ เธอกลับรู้สึกหายใจลำบากขึ้นในขณะว่ายน้ำ จนกระทั่งถูกตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคหอบหืด ซึ่งจำต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ควบคู่ไปกับการปรับมาลงแข่งขันในระยะทางที่สั้นลงกว่าเดิม เนื่องจากอาการของเธอนั้น จะร้ายแรงยิ่งขึ้นหากร่างกายสัมผัสกับคลอรีนเป็นเวลานาน
แต่เมื่อ แมคนีล สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดดังกล่าวไปได้ ความฝันที่เจ้าตัวเคยมองว่าอยู่ห่างไกล ก็กลับมาใกล้จนเธอเอื้อมมือออกไปคว้ามันได้สำเร็จ
สู่เหรียญทองแรก
ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่จดจำครั้งแรก ในระหว่างการแข่งขันรายการชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2019 ที่เธอสามารถคว้าเหรียญทองในรายการผีเสื้อ 100 เมตรหญิงมาครองได้ แซงหน้าของ ซาราห์ สโยสตรอม เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกคนล่าสุด และไอดอลของเธอได้สำเร็จ
"ฉันแค่คิดว่าได้เหรียญกลับมาก็ดีมากพอแล้ว เหรียญทองไม่เคยอยู่ในหัวของฉันเลย และในตอนแรกฉันไม่รู้ด้วยว่าตัวเองชนะ เพราะตอนนั้นมองไม่เห็นผลบนสกอร์บอร์ดเลย จนมีคนมาบอกนี่แหละ" คือบทสัมภาษณ์ของเธอ หลังจากสามารถคว้าเหรียญทองรายการระดับโลกได้เป็นครั้งแรก และการันตีให้เธอได้เข้าแข่งขันในโอลิมปิกตามที่ตัวเองฝันไว้
แมคนีล ได้ลงแข่งในรายการฟรีสไตล์ 4x100 เมตรหญิง ควบคู่กับรายการผีเสื้อ 100 เมตรหญิง โดยเธอประเดิมด้วยเหรียญเงินจากการแข่งขันประเภททีม ด้วยการเข้าแตะเส้นชัยช้ากว่าทีมเงือกสาวจากออสเตรเลีย ที่ทำลายสถิติโลกของตัวเองไปได้สำเร็จ และประเดิมเหรียญแรกให้กับทัพนักกีฬาจากแคนาดา
ในวันถัดมา เจ้าตัวได้ลงแข่งรายการผีเสื้อ 100 เมตร ด้วยการทำเวลาเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเป็นอันดับที่ 6 เรียกได้ว่าแทบจะอยู่นอกสายตาของการเป็นผู้ชนะเลยด้วยซ้ำ
นั่นเพราะในรายการนี้ มีทั้งเจ้าของสถิติโลกอย่าง ซาราห์ สโยสตรอม และ จาง หยู่เฟย ผู้เป็นตัวเต็งคว้าเหรียญทองร่วมลงแข่งขันด้วย ซึ่งคงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาทั้งสองจะยอมอ่อนข้อให้ในการแข่งขันระดับโอลิมปิกเช่นนี้
แมคนีล ประเดิม 50 เมตรแรกด้วยอันดับที่ 7 หรือรองสุดท้ายของการแข่งขันเลยด้วยซ้ำ ก่อนจะเร่งเครื่องทำความเร็วสูงสุดที่ 1.63 เมตร/วินาที เพื่อไล่กวดบรรดาผู้นำให้ทัน จนสามารถเข้าแตะเส้นชัยก่อนหน้าของ จาง หยู่เฟย ได้ 0.05 วินาทีด้วยกัน
แม้จะเป็นผู้ชนะแล้ว แต่ แมคนีล ก็ยังไม่รู้ตัวเหมือนดั่งเคย เนื่องจากว่าเจ้าตัวมองเห็นสกอร์บอร์ดได้ไม่ชัดเจน จนไม่แน่ใจว่าเสียงประกาศชื่อเธอนั้นหมายความว่าอะไรกันแน่
และในทันทีที่เธอรู้ว่าตัวเองเป็นแชมป์โอลิมปิกแล้ว คำอุทาน "โอ้พระเจ้า" ก็หลุดออกมาในทันที หลังจากเส้นทางฝันที่ยาวนานกว่า 13 ปี ได้กลายเป็นจริงแล้ว กับการเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกครั้งแรกของเธอ
เมื่อสามารถเอาชนะเพื่อนร่วมชาติบ้านเกิดไปได้ จึงทำให้มีคำถามจากผู้สื่อข่าวในทันทีว่า เธอรู้สึกอย่างไรกับความเกี่ยวข้องที่เธอมีต่อจีนบ้าง
"ฉันเกิดในจีน และถูกรับมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเด็ก และนั่นน่าจะเป็นมรดกตกทอดเพียงอย่างเดียวที่ฉันมีเกี่ยวกับประเทศจีน"
"ฉันเป็นคนแคนาดามาโดยตลอด นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในเส้นทางของฉันมาสู่จุดนี้ และมันไม่เกี่ยวข้องกับการว่ายน้ำของฉันเลย"
แมคนีล ยังได้กล่าวขอบคุณถึงพ่อแม่บุญธรรมของเธอ ในการให้สัมภาษณ์หลังการแข่งขันว่า "ฉันขอบคุณพวกเขามาก ๆ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างเลย โดยเฉพาะการสนับสนุนของพวกเขา ท่านทั้งสองคือคนที่ดีที่สุดจริง ๆ"
แน่นอนว่าเรื่องราวของเธอนั้น ได้สะท้อนความจริงที่น่าเศร้า เกี่ยวกับนโยบายที่กำหนดให้ชีวิตของคนหนึ่งคนกลับมีคุณค่ามากกว่าคนอีกคน จนนำไปสู่การถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก ดั่งที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต
แต่หากลองนึกจากอีกมุม ถ้าเจ้าตัวยังได้ใช้ชีวิตอยู่ในแผ่นดินเกิดของตน ก็คงมีโอกาสที่เธอจะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยดูแลพี่ชาย (หากว่าเธอมี และเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอต้องถูกทิ้งออกจากบ้าน) และครอบครัวของเธอ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ความฝันที่จะได้ไปว่ายน้ำในเวทีโอลิมปิก หรือแม้แต่ริเริ่มลงสระว่ายน้ำ อาจไม่เคยผุดขึ้นมาในความคิดของเธอเลยก็เป็นได้
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ