จากอาณาจักรชิลลาถึงโอลิมปิก : ทำไมเกาหลีใต้จึงเป็นเจ้าแห่งการยิงธนู?

จากอาณาจักรชิลลาถึงโอลิมปิก : ทำไมเกาหลีใต้จึงเป็นเจ้าแห่งการยิงธนู?

จากอาณาจักรชิลลาถึงโอลิมปิก : ทำไมเกาหลีใต้จึงเป็นเจ้าแห่งการยิงธนู?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงกีฬาจากประเทศเกาหลีใต้ หลายคนคงนึกถึงเทควันโด แต่ความจริงแล้ว กีฬาที่เกาหลีใต้กำลังครองความยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน คือ "กีฬายิงธนู"

ประเทศเกาหลีใต้ครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในกีฬาประเภทนี้ ตั้งแต่โอลิมปิก เกมส์ 1988 หรือเป็นเวลานานกว่า 30 ปี 

ยิ่งไปกว่านั้น ความเกรียงไกรของนักธนูเกาหลีใต้ ยังไม่ถูกจำกัดแค่ไหนวงการกีฬา แต่ปรากฎในวงการบันเทิง ทั้ง ซีรีส์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง Kingdom หรือ กีฬาสีไอดอล ที่มีนักร้องสาวยิงเป้าคะแนนเต็ม 10 สี่ครั้งติดต่อกัน

นี่คือเรื่องราวที่จะตอบคำถามของคุณว่า ทำไมเกาหลีใต้ถึงเป็นเจ้าแห่งการยิงธนู ? กับคำตอบซึ่งสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ยาวนานของชาวเกาหลี และการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ที่สามารถพาเกาหลีใต้แซงหน้าสหรัฐอเมริกา และครองตำแหน่งราชาแห่งวงการยิงธนูได้สำเร็จ

อาวุธคู่บ้านเมือง

ประวัติศาสตร์การยิงธนูของชนชาติเกาหลี สามารถสืบยอดไปไกลถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว 2,000 ปี ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ในซีรีส์เรื่อง Kingdom

เหตุผลที่ชาวเกาหลีเรียนรู้ และอยู่คู่กับการยิงธนูอย่างยาวนาน นั่นเป็นเพราะตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา คาบสมุทรเกาหลีต่างถูกบุกรุกโดยศัตรูต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือ ญี่ปุ่น ทั้งสองประเทศต่างยกทัพมารุกรานเกาหลี แทบจะทุกครั้งที่พวกเขาเห็นว่ามีโอกาส

1นักรบชาวเกาหลีจำนวนมาก จึงเรียนรู้การยิงธนูบนหลังม้า ไม่ต่างจากทหารไทยโบราณซึมซับวิชาแม่ไม้มวยไทย โดยเหตุผลที่ชาวเกาหลีเลือกการยิงธนูเป็นอาวุธสังหารศัตรู นั่นเป็นเพราะ ความเสียเปรียบทางกำลังพล เนื่องจากอาณาจักรเกาหลีไม่ได้มีขนาดใหญ่ และไม่มีประชากรมากเหมือนจีน หรือ ญี่ปุ่น

การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว, อาวุธที่สังหารข้าศึกอย่างว่องไว และปลิดชีพศัตรูจากระยะไกล ไม่มีสิ่งใดตอบโจทย์ทหารชาวเกาหลีไปมากกว่า การยิงธนูบนหลังม้า เพราะนอกจากจะช่วยให้ทหารเกาหลีเว้นระยะห่างจากผู้บุกรุกแล้ว การสร้างความหวาดกลัวโดยลูกธนูที่แม่นยำจนเลื่องชื่อ ยังช่วงชะลอการโจมตีของกองทัพข้าศึก

กองทัพเกาหลีจึงมักซุ่มทหารของตัวเองไว้ตามป้อมปราการกลางหุบเขา เมื่อกองทัพผู้รุกรานเดินทางมาถึงระยะทำการ ทหารเกาหลีจะสาดลูกธนูเป็นห่าฝนโจมตีข้าศึก และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการโจมตีให้มากที่สุด ชาวเกาหลีจึงคิดค้น และพัฒนาธนูของตัวเองขึ้นมา เรียกว่า “กักกุง”

“ธนูชั้นเยี่ยมของนักแม่นธนูในตำนานโบราณของเกาหลี ด้วยพลังทำลายของมัน สามารถล้มศัตรูขนาดใหญ่ได้อย่างง่ายดาย” นี่คือคำบรรยายของธนูกักกุงที่ปรากฎในเกมออนไลน์จากประเทศเกาหลีใต้ และจากคำอธิบายที่เห็นคงพอรู้แล้วว่า ชาวเกาหลีรุ่นหลังยกย่อง และเทิดทูนอาวุธโบราณของพวกเขามากแค่ไหน

2ธนูกักกุง มีลักษณะคล้ายกับคันธนูที่เห็นโดยทั่วไปในอาณาจักรตะวันออก เช่น ธนูของชาวมองโกเลียน หรือ ธนูของชาวเตอร์กิช นั่นคือ คันธนูมีความโค้งคล้ายเขาควาย และปลายทั้งสองด้านยาวจนเกือบบรรจบกัน แต่ธนูกักกุงจะมีขนาดเล็ก และทำจากไม้ไผ่ เพื่อให้มีน้ำหนักเบา จึงช่วยให้เคลื่อนที่ได้ว่องไว ดั่งที่กล่าวไปข้างต้น

ถึงขนาดจะเล็ก แต่ประสิทธิภาพของธนูกักกุงไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะคันธนูที่โค้งงอจนเกือบจะเป็นวงกลมนี้ ช่วยให้นักธนูสามารถดึงสายผ่านหูอย่างง่ายดาย ส่งผลให้การยิงแต่ละครั้งมีแรงสะท้อนจำนวนมากส่งไปยังลูกธนู “พลังดิบ” ที่ส่งจากธนูกักกุง ช่วยให้ลูกธนูของทหารเกาหลี มีความรุนแรงจนสามารถปลิดชีพคู่ต่อสู้ภายในธนูดอกเดียว และยังยิงได้ไกลถึง 135 เมตร ซึ่งไกลกว่าการแข่งขันโอลิมปิกซึ่งอยู่แค่ 90 เมตร

ธนูกักกุงมีบทบาทอย่างมากในช่วงเวลา “สามก๊กแห่งเกาหลี” สงครามระหว่างอาณาจักรชิลลา, แพ็กเจ และโครกูยอ ที่กินเวลานานกว่า 700 ปี ก่อนที่อาณาจักรชิลลาจะมีชัยในศตวรรษที่ 7 และปกครองแผ่นดินเกาหลีสืบมา โดยอัศวินชั้นสูงซึ่งสามารถยิงธนูใส่ศัตรูอย่างอาจหาญในสงคราม ถูกเรียกว่า “ฮวารัง” ถือเป็นเกียรติสูงสุดของทหารในยุคสมัยอาณาจักรชิลลา

3การฝึกฝนศาสตร์ยิงธนูจึงถูกฝังรากลึกในกองทัพทหารเกาหลี โดยเฉพาะสมัยราชวงศ์โชซอน ที่เริ่มปกครองคราบสมุทรเกาหลี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 มีคัดเลือกทหารเข้าสู่กองทัพ โดยยึดจากฝีมือการยิงธนูเป็นสำคัญ และทหารที่สามารถยิงธนูแม่นยำจนเป็นที่เลื่องลือ จะถูกเลื่อนขั้นจนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในกองทัพอย่างรวดเร็ว

ธนูถูกใช้เป็นอาวุธหลังของชาวเกาหลี จนถึงปลายศตวรรษที่ 16 เมื่อพวกเขาพบเจอกับการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น (1692-1698) โดยข้าศึกจากตะวันออกมีอาวุธที่ทันสมัยกว่ามาก หนึ่งในนั้นคือ ปืนยาว ที่สามารถปลิดชีวิตศัตรูในสงครามรวดเร็วกว่าธนูแบบเทียบไม่ติด

หลังจากจบความเลวร้ายในสงครามครั้งนั้น เกาหลีจึงเริ่มพัฒนาอาวุธปืนของตัวเอง และลดความสำคัญของการใช้ธนูในสงครามลงไป แต่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการยิงธนู ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้ประยุกต์กิจกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยใช้สังหารศัตรู กลายเป็น หนึ่งในกีฬาที่สำคัญที่สุดของชาติ

ปลูกฝังตั้งแต่ชั้นประถม

“ยิงธนูคือกีฬาประจำชาติของพวกเขา เหมือนกับกีฬาฟุตบอลของพวกเราในอังกฤษ” แลร์รี ก็อดฟรีย์ นักกีฬายิงธนูแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวประโยคนี้ไว้ ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ซึ่งไม่เกินเลยจากความจริงนัก หากเราหันไปมองสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเกาหลีใต้

4สำหรับชาวเกาหลี การยิงธนูไม่ใช่แค่กีฬาที่แข่งขันเพื่อคว้าชัยชนะ แต่เป็นวัฒนธรรมของชาติที่สืบทอดยาวนานหลายพันปี นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวเกาหลี เน้นความถูกต้องของท่ายิงธนู มากกว่าจะฝึกฝนความแม่นยำของการยิงเข้าเป้า เพราะพวกเขาต้องการรักษาความสง่างามของกีฬาอันมีเกียรติ

เพื่อปลูกฝังการยิงธนูอย่างถูกต้อง รัฐบาลเกาหลีจึงบังคับให้เด็กนักเรียนทุกคน ฝึกหัดยิงธนูตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา โดยเริ่มจากการฝึกฝนง่าย ๆ กับธนูของเล่น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ พวกเขาจะต้องยืนอย่างถูกต้อง, หันธนูในองศาที่ถูกต้อง, ดึงสายด้วยรูปแบบที่ถูกต้อง และยิงธนูออกไปด้วยท่าที่ถูกต้อง

การยิงธนูด้วยท่าที่ถูกต้องได้การยอมรับจากทั่วโลก ในฐานะพื้นฐานความแข็งแกร่งของเกาหลีใต้ในกีฬาชนิดนี้ เพราะทันทีที่เด็กเหล่านี้ยิงธนูอย่างถูกวิธี พรสวรรค์ของพวกเขาจะปรากฎออกมาเห็นชัด สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้คือการนำช้างเผือกเหล่านั้น มาฝึกฝนจนเติบโตเป็นนักธนูที่มีความสามารถในอนาคต

มีข้อมูลยืนยันออกมาว่า ประเทศเกาหลีใต้มีนักยิงธนูทุกระดับ ตั้งแต่ ประถมศึกษา จนถึง นักกีฬาอาชีพ มากกว่า 1,500 คน โดยระดับประถมศึกษามีจำนวนมากที่สุด คือราว 256-480 คน จากทั่วประเทศ เฉลี่ยหนึ่งเขตการปกครอง ต้องมีนักธนูประจำโรงเรียนประถมศึกษา ราว 6-10 คน และต้องมีทั้งชาย-หญิง

5จำนวนของนักธนูในเกาหลีใต้อาจไม่แตกต่างจากประเทศอื่น แต่สิ่งที่ไม่เหมือนใครคือแนวคิดที่ปลูกฝังอยู่ภายใน นักกีฬายิงธนูชาวเกาหลีทุกคนเติบโตภายใตแนวคิด “ฝึกฝนเพื่อเป็นแชมเปี้ยน” พวกเขาไม่ได้เล่นกีฬานี้เพื่อเป็นงานอดิเรก และไม่มีที่ว่างแก่ความล้มเหลว

นักธนูระดับประถมของโรงเรียนจะฝึกฝน 2 ชั่วโมงในแต่ละวัน และค่อยเพิ่มขึ้นไปเมื่อเติบใหญ่ กล่าวกันว่า นักธนูระดับอาชีพของเกาหลีใต้ ฝึกฝน 10 ชั่วโมงต่อวัน และยิงธนูไปไม่ต่ำกว่า 2,500 ดอกต่อสัปดาห์ ไม่มีประเทศไหนฝึกฝนนักธนูหนักเท่าเกาหลีใต้

การฝึกซ้อมของชาวเกาหลีใต้ไม่มีหยุดลง จนกว่าโค้ชจะเห็นว่านักกีฬาเป็นหนึ่งเดียวกับคันศรและลูกธนู เพื่อพัฒนาเทคนิคตั้งแต่วัยเยาว์ โค้ชชาวเกาหลีคนหนึ่ง เคยสั่งให้นักกีฬายิงธนูมากกว่า 1,000 ลูกภายในวันเดียว เพื่อแน่ใจว่าลูกศิษย์ของเขาจะประสบความสำเร็จในอนาคต

นักกีฬายิงธนูที่มีความสามารถจะประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้ ไม่ใช่แค่ในฐานะนักกีฬา แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาไม่จำเป็นต้องเสียเงินราว 4 แสนบาทต่อปี เพื่อเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่น และยังการันตีรายได้เกือบ 4 หมื่นบาทต่อเดือน ในฐานะนักกีฬาอาชีพ แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดเทียบไม่ได้กับนักกีฬาระดับทีมชาติ

6BBC รายงานว่า งบประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของคณะกรรมการโอลิมปิกเกาหลีใต้ ถูกส่งต่อให้สมาคมยิงธนูเกาหลีใต้ เพื่อโครงสร้างของกีฬาชนิดนี้ให้ดีขึ้นทั้งระบบ เริ่มจากโค้ชยิงธนูที่ถูกว่าจ้างเป็นพิเศษจากโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถรับเงินเดือนขั้นต่ำราว 60,000 บาท ไปจนถึงเกือบ 4 แสนบาทต่อเดือน หากประสบความสำเร็จในระดับสูง โดยไม่รวมส่วนแบ่งจากเงินรางวัลต่าง ๆ

รัฐบาลเกาหลีใต้ยังขอร้อง (กึ่งบังคับ) ให้บริษัทระดับชาติทั้งหมด ทุ่มงบประมาณไปในการพัฒนากีฬายิงธนูของชาติ มาตั้งแต่ช่วงปี 1980s อันเป็นผลพวงมาจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ 1988 รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศชัดว่า พวกเขาจะเป็นเจ้าเหรียญทองกีฬายิงธนู ซึ่งขณะนั้นครองความยิ่งใหญ่โดยสหรัฐอเมริกา

เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยการคว้า 3 เหรียญทองจากโอลิมปิกที่กรุงโซล นับแต่นั้น เหรียญทองโอลิมปิกจึงกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักกีฬายิงธนูชาวเกาหลีทุกคน และเมื่อคุณฝันถึงความสำเร็จนี้ตั้งแต่ชั้นประถม บวกกับการฝึกหนักจนน่าเหลือเชื่อ เป็นไปไม่ได้เลยหากจะมีชาติอื่น ครองความยิ่งใหญ่ในวงการยิงธนูนอกเหนือจากเกาหลีใต้

เก่งทั้งนักกีฬา และไอดอล

นับตั้งแต่ เกาหลีใต้ ประกาศความเป็นเจ้าเหรียญทองของกีฬายิงธนูในโอลิมปิก เกมส์ 1988 แดนโสมขาวไม่เคยเสียตำแหน่งดังกล่าวให้กับชาติไหนอีก โดยเฉพาะการแข่งขันประเภททีม ซึ่งถูกบรรจุลงโอลิมปิกครั้งแรกในการแข่งขันที่กรุงโซล ทีมชาติเกาหลีใต้สามารถคว้าเหรียญทอง จากการแข่งขันประเภททีมหญิงได้ทุกครั้ง ส่งผลให้พวกเธอเป็นแชมป์ 8 สมัยติดต่อกัน

7และเมื่อรวมเหรียญรางวัลทั้งหมดที่ได้จากกีฬายิงธนูในโอลิมปิก เกาหลีใต้นำประเทศอื่นขาดลอยด้วยจำนวน 26 เหรียญทอง ห่างจากชาติอันดับสอง สหรัฐอเมริกา ที่คว้าได้เพียง 14 เหรียญทอง โดย 3 จาก 26 เหรียญทองของเกาหลีใต้มาจากโตเกียวเกมส์ 2020 ซึ่งในขณะนี้ (27 กรกฎาคม) พวกเขากวาดเหรียญทองจากประเภททีมหญิง, ทีมชาย และทีมผสม

เกาหลีใต้จึงเข้าใกล้ความสำเร็จจากโอลิมปิก เกมส์ 2016 คือการคว้าชัยชนะในกีฬายิงธนูทุกประเภท และการแข่งขันครั้งนี้จะพิเศษกว่าครั้งก่อน เนื่องจากมีการเพิ่มการแข่งขันแบบทีมผสมเป็นครั้งแรก เกาหลีใต้จึงมีโอกาสเขียนประวัติศาสตร์ เป็นชาติแรกที่คว้าเหรียญทองจากกีฬายิงธนูในโอลิมปิกเกมส์ ด้วยจำนวนสูงสุด 5 เหรียญทอง

8นักกีฬายิงธนูที่เก่งที่สุดในโลกขณะนี้ เดินทางมาแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวด้วยเช่นกัน “อันซาน” คือนักกีฬาหญิงวัย 20 ปี ที่เพิ่งทำลายสถิติแต้มสูงสุดตลอดกาลในประเภทหญิงเดี่ยวของ ลิน่า เฮราซิเมนโก้ นักกีฬาชาวยูเครนที่ทำ 673 แต้ม ในแอตแลนต้า เกมส์ 1996

แต่ อันซาน สามารถทำ 680 แต้ม จากการแข่งขันประเภทหญิงเดี่ยวรอบแรกในโตเกียว เกมส์ ส่งผลให้สถิติที่คงอยู่ยาวนาน 25 ปี ถูกทำลาย โดยเพื่อนร่วมชาติอีก 2 คน อย่าง จาง มินฮวี และคัง แชยอง สามารถทำแต้มมากกว่าสถิติโอลิมปิกเช่นกัน โดยอยู่ที่ 677 และ 675 แต้ม ตามลำดับ

9
10“ฉันทำสุดความสามารถ และนั่นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ตอนนี้ฉันมีความสุขมาก เพราะทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ถึงแม้จะมีลมระหว่างการแข่งขัน แต่ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ฉันชอบผลงานของตัวเอง” อันซานให้สัมภาษณ์ หลังทำลายสถิติโอลิมปิก

ไม่ใช่แค่นักกีฬาอาชีพที่สามารถทำผลงานในการฬายิงธนูอย่างยอดเยี่ยม แต่นักกีฬาสมัครเล่น เช่น ไอดอลเกาหลี ยังสามารถสร้างความประทับใจจนน่าเหลือเชื่อ จนกลายเป็นไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ตมาแล้ว หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ ท่ายิงที่สวยงามราวเทพธิดา หรือ การยิงธนูเข้าเป้าคะแนนเต็มหลายครั้งติดต่อกัน

ย้อนกลับไปยังการแข่งขันกีฬาสีไอดอล ปี 2018 ครั้งแรก มีแมตช์แข่งขันยิงธนูระดับตำนานเกิดขึ้น โดยเป็นการพบกันระหว่าง ไอรีน แห่งวง Red Velvet และ จื่อวี จากวง TWICE โดยการแข่งขันของพวกเธอทั้งคู่ มีผู้เข้าชมคลิปในยูทูบ มากกว่า 21 ล้านครั้ง เพื่อเพราะความสวยจากท่วงท่าการยิงธนูของพวกเธอ

แต่ถ้ามีใครดูถูกพวกเธอว่าโด่งดังจากการยิงธนูเพราะแค่หน้าตา ไอดอลทั้งสองพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเธอสามารถสร้างชื่อเสียงจากการยิงธนูด้วยฝีมือได้เช่นกัน เพราะในการแข่งขันกีฬาสีไอดอล ปี 2018 ครั้งที่สอง ไอรีนยิงธนูเข้าไปตรงกลางเป้า จนเลนส์กล้องที่ฝังเอาไว้ด้านในแตกละเอียด เรียกว่าแม่นยำสุด ๆ ของจริง

ส่วน จื่อวี พัฒนาไปไกลยิ่งกว่าไอดอลคนอื่นหลายเท่า เธอลงแข่งขันในกีฬาสีไอดอล ปี 2018 ครั้งแรก โดยสร้างผลงานยิงเข้าเป้า 10 คะแนน 4 ครั้งติดต่อกัน เมื่อบวกกับความจริงที่เธอเป็นชาวไต้หวัน ซึ่งไม่ได้เรียนกีฬายิงธนูเหมือนชาวเกาหลีคนอื่น แต่สามารถพัฒนาได้ถึงขนาดนี้ จากการฝึกฝนเพียงไม่กี่ครั้งในแต่ละปี (เนื่องจากตารางงานที่รัดตัว) แสดงให้เห็นว่า ศาสตร์การฝึกสอนกีฬายิงธนูในเกาหลีใต้ มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน

เรื่องราวของกีฬายิงธนูในประเทศเกาหลีใต้ สะท้อนความจริงจังในการพัฒนาประเทศของดินแดนโสมขาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร หากมองไปยังอุตสาหกรรมอื่นของประเทศดังกล่าวในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี และภาพยนตร์ เกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนความบันเทิงและกีฬา ให้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างชื่อเสียง รวมถึงรายได้แก่ประเทศ และครองใจคนทั่วโลก

12ย้อนกลับไป 100 ปีก่อน เกาหลีใต้ตกเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น และหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาหยุดชะงักภายใต้รัฐบาลเผด็จการอีกหลายปี แต่ด้วยแนวทางการพัฒนาประเทศที่จริงจัง เกาหลีใต้แซงหน้าหลายประเทศในเอเชีย ก้าวขึ้นเป็นชาติแถวหน้าของอุตสาหกรรมโลกในปัจจุบัน

กีฬายิงธนูในเกาหลีใต้ จึงเป็นอีกบทเรียนที่ช่วยให้เรามองเห็นว่า ประเทศในเอเชียที่เคยตามหลังโลกตะวันตกอยู่นานหลายสิบปี สามารถก้าวมายืนจุดเดียวกันได้อย่างไร...น่าสงสัยเหลือเกินว่า ประเทศไทยจะสามารถมองเห็นกีฬาที่เป็นจุดแข็ง และนำมาพัฒนาต่อจนสร้างความภูมิใจแก่ชาติ และต่อยอดในธุรกิจอื่นอย่างเกาหลีใต้ได้หรือไม่

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ จากอาณาจักรชิลลาถึงโอลิมปิก : ทำไมเกาหลีใต้จึงเป็นเจ้าแห่งการยิงธนู?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook