ไขข้อสงสัย : ทำไม "เทควันโด" จึงอยู่ในโอลิมปิกได้นานกว่า 20 ปี และไม่ผูกขาดแค่ชาติเดียว
กระแสเหรียญทองประวัติศาสตร์ของ "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดสาวทีมชาติไทย ยังร้อนแรงและเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง จากการพลิกแซงชนะ อาเดรียนา เซเรโซ อิเกลเซียส คู่แข่งวัย 17 ปีจากสเปน ในช่วง 7 วินาทีสุดท้าย
หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วนักกีฬาเกาหลีใต้ ชาติต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้หายไปไหน ? ทำไมมีชาติอื่น ๆ ที่ดูแล้วไม่น่าจะเก่งกีฬาชนิดนี้มากไปกว่าพวกเขาถึงก้าวขึ้นมาท้าชิงได้
แล้วทำไมกีฬาพื้นเมืองแบบนี้ถึงได้กลายเป็นกีฬายอดนิยมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ถูกบรรจุอยู่ในมหกรรมโอลิมปิกเกมส์มาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 ทศวรรษ ผิดกับกีฬาอีกหลายชนิดที่ได้รับความนิยมเช่นกันแต่กลับไม่ได้รับเลือกให้อยู่ในลิสต์โอลิมปิก
เรื่องราวทั้งหมดเป็นเช่นไร สามารถหาคำตอบได้ที่ Main Stand
ต้นกำเนิดก่อนคริสตกาล
เทควันโด เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวโดยไม่ใช้อาวุธของชาวเกาหลี คำว่า "เท" (태; แท) แปลว่า เท้าหรือการโจมตีด้วยเท้า; "ควัน" (권; ควอน) แปลว่า มือหรือการโจมตีด้วยมือ; "โด" (도; โท) แปลว่า วิถีหรือสติปัญญา
เมื่อทั้ง 3 สิ่งนี้ผนวกเข้าด้วยกัน เทควันโดจึงไม่ใช่เพียงการต่อสู้ด้วยพละกำลังเท่านั้น แต่ยังหมายถึงจิตวิญญาณที่อยู่ภายในกีฬาชนิดนี้ด้วย
ต้นกำเนิดของเทควันโดนั้นไม่ต่างจากกีฬาพื้นบ้านชนิดอื่น ๆ ที่ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดค้นหรือเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเล่า หรือตำนานที่สืบทอดต่อกันมา ตลอดจนการเชื่อมโยงกับภาพวาดในถ้ำโบราณที่ถูกค้นพบ
ประวัติศาสตร์ของเทควันโดนั้น มีตำนานเชื่อกันว่าเกิดขึ้นในยุค "สามอาณาจักรของเกาหลี" ซึ่งเป็นยุคแรกเริ่มของอารยธรรมเกาหลี ตั้งแต่ 50 ปีก่อนคริสตกาล ประกอบด้วย อาณาจักรโคกุลเยอ ทางภาคเหนือ, อาณาจักรแพ็กเจ ทางใต้ และอาณาจักรชิลลา อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต่างสู้รบกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ จึงพยายามเสริมสร้างกำลังกองทัพและฝึกฝนทหารของตนให้มีความเข้มแข็งอยู่เสมอ
อาณาจักรซิลลา ซึ่งเดิมทีเป็นอาณาจักรเล็กที่สุดได้ร่วมมือกับอาณาจักรแพ็กเจ เพื่อแลกเปลี่ยนวิทยายุทธในการฝึกฝนทหาร โดยในสมัยกษัตริย์จินฮึง กษัตริย์องค์ที่ 24 ของอาณาจักรซิลลา ได้สร้างกองทัพนักรบหนุ่มขึ้นเรียกว่า "ฮวารังโด" หรือที่แปลว่า "อัศวินดอกไม้งาม" ด้วยการรวบรวมชายหนุ่มรูปงาม และลูกหลานของชนชั้นสูง มาฝึกฝนทักษะทางการทหารและการสู้รบแบบไม่มีอาวุธ ซึ่งมีการฝึกฝนการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่เรียกว่า "ซูบัก" (Subak) ที่เน้นการใช้ทักษะของมือเป็นหลัก นอกจากนี้ทหารเหล่านั้นยังได้ร่ำเรียนศิลปะ ปรัชญา ศาสนา และประวัติศาสตร์ จนเป็นที่มาของการฝึกฝนด้านวินัยและจิตใจของเทควันโดยุคปัจจุบัน
ขณะที่ อาณาจักรโคกุลเยอ มีการฝึกฝนทหารเช่นกัน โดยใช้รูปแบบที่แตกต่างกันในชื่อ "เทคเคียน" (Taekkyeon) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่การใช้เท้าเตะ เนื่องจากการขี่ม้าจะต้องใช้มือควบคุมสายบังคับม้า ถืออาวุธ และธนู จึงเน้นการใช้เท้าที่ว่างอยู่ในการต่อสู้และช่วยในการทรงตัว
ศิลปะการต่อสู้ของทั้ง 2 อาณาจักรนี้มีต่างมีปรากฎเป็นหลักฐานสืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นยักษ์เฝ้าประตู ภายในวัดพุลกุกซา ในเมืองคย็องจู อันเป็นยุคทองของศิลปะทางพุทธศาสนาในอาณาจักรชิลลา ซึ่งมีลักษณะท่ามือที่คล้ายคลึงกับเทควันโดในปัจจุบัน รวมถึงภาพวาดตามฝาผนังในสุสานโบราณหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้และทักษะต่าง ๆ ของเทคเคียน
ความเก่งกาจของกองทัพฮวารังโด ได้ช่วยให้อาณาจักรซิลลามีความแข็งแกร่งมากกว่าอาณาจักรอื่น ๆ และสามารถรวมอาณาจักรในคาบสมุทรเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จในปี ค.ศ.676 และคงความเป็นปึกแผ่นไว้ได้นานเกือบ 300 ปี จนทำให้ศิลปะการต่อสู้ทั้ง "ซูบัก" และ "เทคเคียน" ได้เริ่มผสมผสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน และได้กลายเป็นศิลปะการต่อสู้ของเกาหลีเรื่อยมา โดยใช้ในการฝึกฝนทหาร ตลอดจนบริหารร่างกาย และจัดประลองกันในโอกาสต่าง ๆ
กระทั่งเกาหลีถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1910-1945 ศิลปะการต่อสู้ของเกาหลีได้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยมีอิทธิพลกีฬาคาราเต้ และยูโดของญี่ปุ่นเข้ามาแทนที่ ทำให้ปรมาจารย์ซูบักและเทคเคียนต้องหลบซ่อนหรือเดินทางไปต่างประเทศ
ภายหลังจบสงคราม เกาหลีที่ได้รับอิสรภาพได้เริ่มฟื้นฟูศิลปะการต่อสู้ของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง มีโรงเรียนแทคยอนและซูบักเปิดขึ้นหลายแห่งในกรุงโซล แต่ส่วนใหญ่ได้นำอิทธิพลของคาราเต้และกังฟูเข้ามาผสมผสาน จนถึงในปี 1955 นายพลชเว ฮอง ฮี (Choi Hong Hi) ได้รวบรวมศิลปะการต่อสู้ทั้งหมดเพื่อใช้ในการฝึกฝนทหาร และได้ก่อตั้งสมาคมเทควันโดแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KTA) ขึ้นมา โดยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่สร้างขึ้นใหม่ มีความแตกต่างและสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน พร้อมทำให้เขาถูกยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งเทควันโด" ในภายหลัง
แพร่หลายสู่นานาชาติ
เทควันโด ได้กลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเกาหลี นอกจากใช้ฝึกการต่อสู้ระยะประชิดให้กับทหารแล้ว ยังมีการจัดการแข่งขันทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับมหาวิทยาลัย ทั้งชายและหญิง โดยจุดเด่นของเทควันโดนอกจากจะเป็นการฝึกฝนพละกำลังทั้งร่างกายและจิตใจ ยังเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลิกภาพให้แก่เยาวชนอีกด้วย
เมื่อเป็นที่นิยมมากขึ้น นายพลชเว ฮอง ฮี ได้ส่งทีมจากเกาหลีไปสาธิตการเล่นกีฬาชนิดนี้ยังส่วนต่างๆ ของโลก ทั้งในด้านกีฬาและการฝึกทหาร พร้อมก่อตั้งสมาคมสหพันธ์เทควันโดระหว่างประเทศ (ITF) ในปี 1966 ร่วมกับสมาคมในเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เยอรมนีตะวันตก สหรัฐอเมริกา ตุรกี อิตาลี สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ และเกาหลี
อย่างไรก็ตามหนึ่งในประเทศที่ นายพลชเว ส่งผู้เชี่ยวชาญไปร่วมโชว์ศิลปะเทควันโดนั้นคือ เกาหลีเหนือ ทำให้โดนรัฐบาลเกาหลีใต้คัดค้านและโดนปลดออกจากตำแหน่งในที่สุด ถึงขนาดต้องลี้ภัยไปตั้งรกรากที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ในปี 1972 แต่ความรักที่มีต่อเทควันโดของเจ้าตัวก็หาได้เสื่อมคลายลง เขาได้เดินหน้าจัดตั้งสมาคมสหพันธ์เทควันโดระหว่างประเทศ (ITF) แห่งใหม่ขึ้นที่แคนาดา ในปีถัดมา โดยมีตัวเองเป็นประธาน
ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้มีการตั้งองค์กรเทควันโดขึ้นมาใหม่ในชื่อ สหพันธ์เทควันโดโลก (WTF) ในปี 1973 เช่นเดียวกัน โดยมี คิม อัน ยอง (Kim Un-yong) เป็นประธาน พร้อมด้วยสมาชิกก่อตั้ง 35 ประเทศ ก่อนจะเปลี่ยนตัวย่อเป็น WT ในปัจจุบัน
ทั้งสององค์กรนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องการฝึกใน โดย ITF มุ่งเน้นไปที่รูปแบบการต่อสู้แบบดั้งเดิมที่เน้นการจู่โจม และไม่มีเครื่องป้องกันอื่น ๆ สวมเพียงถุงมือเท่านั้น ส่วน WT เน้นในเรื่องการฝึกซ้อมเพื่อใช้เป็นศิลปะป้องกันตัว และมีการสวมอุปกรณ์ป้องกัน จนมีความเป็นกีฬามากกว่า และได้จัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งแรกขึ้นที่กรุงโซลในปีเดียวกับที่ก่อตั้ง
แม้ทั้งสององค์กรนี้จะเดินคู่ขนานกัน แต่ต่างก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้กีฬาเทควันโดแพร่หลายไปสู่นานาชาติ โดยปัจจุบัน ITF มีสมาชิก 128 ประเทศ มีการจัดแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ส่วน WT มีสมาชิก 210 ประเทศ และมีการจัดแข่งขันชิงแชมป์โลกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมควบคุมดูแลการจัดตั้งสหพันธ์เทควันโดแห่งเอเชียและทวีปอื่น ๆ
ขณะที่ในประเทศไทย เริ่มรู้จักกีฬาเทควันโดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2508 โดยคณาจารย์จากสาธารณรัฐ เกาหลีจำนวน 6 คน ได้เดินทางมาทำการสอนเทควันโดให้กับทหารสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทยในเวลานั้นเพื่อทำการรบในสงครามเวียดนาม อาจารย์เหล่านั้นยังได้เปิดสอนเทควันโดให้กับประชาชนทั่วไปด้วย บางท่านได้มาทำการสอนอยู่ที่ราชกรีฑาสโมสร และโรงยิมหลังโรงหนังลิโด สยามสแควร์
ก่อนที่ พ.ศ. 2516 สมาคมเทควันโดแห่งสาธารณรัฐเกาหลี จะส่งผู้ฝึกสอนชื่อ ซองคิยอง มาเปิดสอนและเปิดสำนักขึ้น พร้อมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรยังสถาบันหลายแห่ง เช่น โรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และโรงเรียนช่างฝีมือทหาร
ขณะนั้นมีผู้ฝึกวิชาเทควันโดรวมกัน ประมาณ 5,000 คน ในปี พ.ศ. 2521 จึงได้ก่อตั้ง สมาคมส่งเสริมศิลปะป้องกันตัวเทควันโด โดยมี สรยุทธ์ ปัทมินทรวิภาส เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2528 พร้อมเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์เทควันโดโลก สหพันธ์เทควันโดเอเชีย และสหพันธ์เทควันโดอาเซียน ตามลำดับ
ก้าวสู่โอลิมปิก
แม้จะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่การจะได้บรรจุในโอลิมปิกเกมส์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีหลักเณฑ์ในการเข้าร่วม โดยต้องผ่านเกณฑ์สำคัญทั้งหมด 54 ข้อใน 8 หมวด อาทิ ต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC), ต้องมีองค์กรระดับนานาชาติที่กำกับดูแลกีฬา ฯลฯ
สำคัญคือ "ต้องเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมระดับสากลที่เพียงพอ"
ความนิยมในระดับนานาชาติของกีฬาที่สามารถถูกบรรจุเข้าแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ได้นั้น จะต้องเป็นกีฬาที่มีคนฝึกฝนกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่พื้นที่เดียว โดยปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานว่ากีฬาในโอลิมปิกฤดูร้อน ต้องมีประชากรที่เล่นกีฬาชนิดนี้ใน 75 ประเทศ และกระจายใน 4 ทวีปเป็นอย่างน้อย (สำหรับผู้ชาย) และ 40 ประเทศ ใน 3 ทวีป (สำหรับผู้หญิง)
กฎนี้แค่ข้อเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้กีฬาหลาย ๆ ชนิดไม่ถูกบรรจุเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกรายการนี้ เนื่องจากหลายกีฬาแม้จะได้รับความนิยมแต่ก็ไม่มีการเล่นกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น มวยไทย หรือศิลปะการต่อสู้แบบผสม (MMA) กีฬาเหล่านี้ได้รับความนิยมทั้งในประเทศต้นกำเนิดและในสหรัฐอเมริกา แต่อีกหลายแห่งในโลกไม่เป็นเช่นนั้น
"เวิลด์เทควันโด" (WT) ได้พยายามผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น การส่งผู้เชี่ยวชาญไปฝึกสอนยังต่างแดน ซึ่งหลายชาติเป็นที่นิยมมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยนายพลชเว ฮอง ฮี, จัดแข่งขันชิงแชมป์โลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลักดันเข้าแข่งขันในเอเชียนเกมส์ มาตั้งแต่ปี 1974
พร้อมควบคุมดูแลการจัดตั้งสหพันธ์เทควันโด ครอบคลุมทั้ง 5 ทวีป ได้แก่ สหพันธ์เทควันโดแอฟริกา (AFTU) สมาชิก 52 ชาติ, สหพันธ์เทควันโดยุโรป (ETU) สมาชิก 51 ชาติ, สหพันธ์เทควันโดแพนอเมริกัน (PATU )สมาชิก 45 ชาติ, สหพันธ์เทควันโดเอเชีย (ATU) สมาชิก 43 ชาติ และสหพันธ์เทควันโดโอชีเนีย (OTU) สมาชิก 19 ชาติ (ปัจจุบันมีนักกีฬาและผู้ฝึกฝนเทควันโดทั่วโลกประมาณ 80 ล้านคน ตามการระบุของเว็บไซต์โอลิมปิกเกมส์)
กระทั่งได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล เมื่อปี 1980 ในการประชุมครั้งที่ 83 ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย หรือเพียงแค่ 7 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งสหพันธ์ ก่อนที่ปีถัดมาจะได้รับอนุมัติให้บรรจุเป็นกีฬาสาธิตในโอลิมปิกเกมส์ 1988 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ต้นกำเนิดของกีฬาเทควันโดเป็นเจ้าภาพ
โอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซลนั้น เจ้าภาพได้สร้างความฮือฮาจากทั่วโลก ด้วยการนำจอมเตะนับร้อยชีวิตมาร่วมแสดงศิลปะการต่อสู้อย่างพร้อมเพรียงในพิธีเปิด โดยในการแข่งขันนั้นมีนักกีฬาเข้าร่วมทั้งหมด 182 คน (ชาย 120 คน และหญิง 62 คน) จาก 35 ประเทศ
ชิงชัยกันทั้งหมด 8 รุ่น รวม 16 อีเวนท์ และเป็น นักเทควันโดเจ้าถิ่นที่คว้าเหรียญทองไปทั้งหมด 9 เหรียญ ตามด้วย, สหรัฐอเมริกา 4 เหรียญ, ไต้หวัน 2 เหรียญ และเดนมาร์ก 1 เหรียญ
หลังจากนั้นได้มีการบรรจุเป็นกีฬาสาธิตอีกครั้งในปี 1992 ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน และ 2 ปีถัดมาที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้รับรองเทควันโด ให้บรรจุเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ ในโอลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และอยู่ในโปรแกรมการแข่งขันของโอลิมปิกเกมส์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การพัฒนาที่ยั่งยืน
ตลอดระยะเวลาการจัดมหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 32 ครั้งที่ผ่านมา มีเพียง 5 ชนิดกีฬาเท่านั้นที่ไม่เคยหลุดผังจากโปรแกรมการแข่งขันเลย ประกอบด้วย กรีฑา, ว่ายน้ำ, จักรยาน, ฟันดาบ และยิมนาสติก ขณะที่กีฬาอื่น ๆ มีแวะเวียนเข้าออก หรือเพิ่งมีบรรจุเพิ่มเข้ามาอย่างเป็นทางการภายหลัง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชนิดกีฬาที่ไม่ได้รับความนิยมหรือไม่เข้ากับแนวทางของโอลิมปิกยุคใหม่ จนถูกถอดออกและค่อย ๆ หายไปในที่สุด เช่น ไต่เชือก และชักเย่อ
สำหรับเทควันโดนั้น หลังจากได้บรรจุเข้าแข่งขันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2000 ก็อยู่ในลิสต์มาตลอดไม่เคยหลุดจากผังเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ถึงปัจจุบันจัดแข่งในโอลิมปิกเกมส์อย่างต่อเนื่องมาแล้ว 6 สมัย (ไม่นับตอนเป็นกีฬาสาธิต) รวมถึงในการแข่งขันครั้งต่อไปที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี 2024 ด้วยเช่นกัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เทควันโดได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจากการแข่งขันที่สนุก ลุ้นระทึก และผลแพ้ชนะสามารถพลิกได้ทุกวินาที เหมือนดังเช่นที่เราเพิ่งได้เห็น "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ทำแต้มพลิกแซงคู่แข่งในช่วง 7 วินาทีสุดท้าย คว้าเหรียญทองศึกโตเกียวเกมส์ 2020
รวมถึงการที่หลายชาติมีการพัฒนานักกีฬาเยาวชนรุ่นใหม่เข้ามาแข่งขันอย่างจริงจังมากขึ้น เราจึงได้เห็น อาเดรียนา เซเรโซ อิเกลเซียส สาวน้อยวัย 17 ปีจากสเปน ก้าวขึ้นมาท้าชิงกับพาณิภัคในครั้งนี้ จนถูกยกย่องว่าเป็นวันเดอร์คิดคนใหม่ของโลก
สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้ว่ากีฬาชนิดนี้แม้จะมีต้นกำเนิดมาจากเกาหลี แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นผู้ผูกขาด ผูกปีชนะได้ง่าย ๆ หนำซ้ำนักกีฬาจากชาติอื่น ยังพัฒนาฝีมือเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นักกีฬาจากเม็กซิโก, คิวบา, อิหร่าน, กรีซ, ออสเตรเลีย, จีน, ตุรกี, อิตาลี, สเปน, สหราชอาณาจักร อาร์เจนตินา, เซอร์เบีย, อาร์เซอร์ไบจาน, จอร์แดน, และไอวอรี่โคสต์ พวกนี้เคยก้าวถึงเหรียญทองมาหมดแล้ว
อีกปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุหลักมาจากการไม่หยุดพัฒนาของกีฬาชนิดนี้ โดย "เวิลด์เทควันโด" พยายามปรับเปลี่ยนกฎกติกาการแข่งขันให้มีความเหมาะสมและสนุกมากที่สุดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีให้คะแนน, ยกเลิกการให้คะแนนในบางท่า, เปลี่ยนรูปแบบเวทีจาก 4 เหลี่ยมเป็น 8 เหลี่ยม, เปลี่ยนกฎการชั่งน้ำหนักใหม่ ฯลฯ
ที่สำคัญยังได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมเพิ่มขึ้นมาตลอด ทั้งเกราะไฟฟ้า เฮดการ์ดไฟฟ้า ที่ส่งผลต่อการนับคะแนนโดยตรง รวมถึงล่าสุดที่ใช้ใน "โตเกียวเกมส์" อย่างเทคโนโลยีภาพรีเพลย์ 4 มิติ สิ่งเหล่านี้ได้ช่วยลดข้อครหาในเรื่องผลการตัดสิน หรือการให้คะแนนในกีฬาต่อสู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
แม้จะมีบางเสียงมองว่าสิ่งเหล่านี้ได้ลดทอนการต่อสู้ที่ดุเดือดและลูกเตะที่หนักหน่วงอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวของกีฬาชนิดนี้ไปก็ตาม แต่มันก็แลกมาด้วยความยุติธรรมและโปร่งใสในความเป็นกีฬาตามแบบฉบับของโอลิมปิกเกมส์อย่างเต็มที่
"ผมขอรับประกันกับพวกคุณว่า เวิลด์ เทควันโด ยังคงนำความเป็นธรรมและความโปร่งใสมาสู่กีฬาของเรา แม้ว่าเราจะได้รับความทุกข์ทรมานทางการเงินจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่เราตัดสินใจลงทุนกับระบบการตัดสินด้วยต้นทุนของเราเอง เพื่อให้แน่ใจว่านักกีฬาที่ดีที่สุดจะชนะอย่างยุติธรรมที่สุด ตราบใดที่เราไว้วางใจซึ่งกันและกันและในระบบ ไม่มีเหตุผลใดที่เทควันโดจะไม่สามารถเป็นกีฬาถาวรในกีฬาโอลิมปิกได้" ชู ชุง วอน (Choue Chung-won) ประธานเวิลด์เทควันโด กล่าวอย่างมั่นใจ
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของกีฬาเทควันโด ที่แม้จะเป็นกีฬาประจำชาติ แต่ก็ได้ถูกผลักดันจนกลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในระดับสากลมายาวนาน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ