Cobra Strike : ไขรหัสเบื้องหลังท่าไม้ตายของ "พาณิภัค" สู่เหรียญทองโอลิมปิก

Cobra Strike : ไขรหัสเบื้องหลังท่าไม้ตายของ "พาณิภัค" สู่เหรียญทองโอลิมปิก

Cobra Strike : ไขรหัสเบื้องหลังท่าไม้ตายของ "พาณิภัค" สู่เหรียญทองโอลิมปิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในเวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดไทยคนแรก ที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกได้สำเร็จ

และกับผู้คนมากมายที่รับชมการถ่ายทอดสด ก็คงได้เห็นท่าเตะตวัดหลังของ พาณิภัค ที่เมื่อย้อนชมภาพช้าแล้ว อาจทำให้ต่างต้องตกตะลึงได้ว่า เธอสามารถดึงเท้ากลับมาในระดับนั้นได้อย่างไรกัน! 

วันนี้ Main Stand จะมาเล่าให้ฟัง

การเตะที่แตกต่าง

หากลองถอดนิยามของเทควันโดแบบคร่าว ๆ จะได้ว่า “วิถีการต่อสู้ด้วยมือและเท้า” ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่กำหนดกฎการแข่งขัน และวิธีเข้าทำเพื่อให้ได้ชัยชนะ

การทำคะแนนจะถูกจำกัดไว้ ว่าสามารถใช้ได้แค่หมัดและเท้าเท่านั้น ซึ่งในการออกหมัดเพื่อชก จะสามารถกระทำได้แค่บริเวณเกราะในช่วงลำตัวเท่านั้น พร้อมกับต้องออกแรงให้มากพอที่เซนเซอร์จะจับได้ ก่อนที่จะได้มา 1 คะแนนถ้วน

ด้านการเตะนั้น คะแนนจะค่อนข้างหลากหลายตามความยากง่าย โดยไล่ตั้งแต่ 2 คะแนน จากการใช้เท้าเตะเข้าที่ลำตัว (เกราะ) , 3 คะแนน สำหรับการเตะเข้าที่หัว (บริเวณเฮดการ์ด), 4 คะแนน จะได้โดยการหมุนตัวเตะเข้าลำตัว, และสุดท้าย 5 คะแนนนั้น มาจากการหมุนตัวเตะเข้าที่หัว

1ในเวลาเดียวกัน เทควันโดก็มีการลดโทษ หรือ “กัมเจิม” (gam-jeom) ซึ่งมาจากสาเหตุอย่างการออกนอกเขตการแข่งขัน, ล้มลง, ยกเข่าป้องกัน, และถ่วงเวลา เป็นต้น โดยในทุกกันเจิม จะเป็นการเพิ่มแต้มให้กับคู่แข่ง 1 คะแนนด้วยกัน

สำหรับกีฬาที่แค่เสี้ยววินาที ก็สามารถพลิกผลแพ้กับชนะได้อย่างเทควันโด การเตะบริเวณหัวนั้น แทบจะเป็นอาวุธทีเด็ด ที่สามารถใช้เปลี่ยนเกมได้เลย ซึ่งก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นเทคนิคดังกล่าว ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย

แต่กับ พาณิภัค แล้ว เทคนิคของเธอได้ล้ำกว่านั้นไปอีกขั้นนึงแล้ว...

ท่าเตะจากอาการบาดเจ็บ

Cobra Strike หรือชื่อเรียกท่าเตะแบบ Hook Kick ของ พาณิภัค กลายเป็นลายเซ็นที่หลายคนสามารถจดจำเธอได้ จากจังหวะการวาดขาออกไปเตะ และตวัดเท้ากลับมาเกี่ยวโดนที่ศีรษะของคู่ต่อสู้ ที่ผู้ชมธรรมดาอย่างเราดูแล้วอาจสงสัยขึ้นมา ว่าเธอทำได้อย่างไรกัน

2เริ่มแรกเลยนั้น การเตะแบบ Hook Kick จะคล้ายกับการเตะแบบ Side Kick นั่นคือเป็นการยื่นขาออกไปเตะ ก่อนจะดึงให้เข่างอกลับเข้ามา เพื่อวาดให้เท้าไปเตะเข้าโดนที่หัวของคู่ต่อสู้เข้าอย่างจัง โดยอาศัยการทรงตัว และความยืดหยุ่นของร่างกาย ให้สามารถออกท่าดังกล่าวได้

เทคนิคดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลย และมันเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกซ้อมสำหรับท่า Spinning Hook Kick หรือการหมุนตัวเตะตวัดหลัง รวมทั้งยังมีนักเทควันโดจำนวนมาก ที่นำเอาท่าดังกล่าวมาใช้ในการแข่งขันจริง

แต่เหตุผลที่ พาณิภัค สามารถตวัดเตะท่าดังกล่าวได้ในองศาที่มากกว่าคนอื่นนั้น กลับมาจากอาการบาดเจ็บในอดีตของเธอ โดยเฉพาะกับอาการเอ็นไขว้หลังขาด ที่มีส่วนช่วยสำคัญในการทำเทคนิคดังกล่าว

พาณิภัค ประสบอาการบาดเจ็บดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2017 และแม้ว่าการรักษาส่วนมากมักผ่านการผ่าตัด แต่แพทย์ให้ความเห็นว่าเธอควรเสริมสร้างกล้ามเนื้อมาทดแทนเพิ่มเติม จะให้ผลที่ดีกว่า ซึ่งนั่นคือทางที่เธอเลือก ก่อนจะกลับมาแข่งขันต่อในช่วงปลายปีเดียวกันได้ทันที

สำหรับเอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament) เป็นเส้นเอ็นเส้นใหญ่ ที่ทำงานควบคู่กับเอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament) โดยอยู่ในบริเวณช่องข้อเข่า ระหว่างกระดูกแข้งกับกระดูกต้นขาของร่างกายมนุษย์

การที่เอ็นไขว้หลัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนแกน และคอยป้องกันไม่ให้ข้อเข่าและกระดูกแข้ง เคลื่อนไปด้านหลังมากเกินไปนั้นมีปัญหา ควบคู่กับการที่เธอมีสะโพกหลวมกว่าปกติ จึงทำให้การเตะของ พาณิภัค สามารถทำองศาได้มากกว่านักกีฬาทั่วไป และกลายมาเป็นอาวุธเด็ดสำคัญของเธอไปโดยปริยาย

3
4นั่นก็เพราะในจังหวะที่ยืดขาออกไป กล้ามเนื้อส่วนสะโพกจะต้องดึงให้เท้าของเธอวนกลับมาเตะให้โดนศีรษะของคู่ต่อสู้ โดยความยืดหยุ่นในบริเวณสะโพกของ พาณิภัค ช่วยให้องศาการวาดขาของเธอนั้นเพิ่มขึ้น และหลบหลีกการป้องกันของคู่แข่งได้

เช่นกันกับการที่ส่วน PCL ขาดไป ที่ช่วยให้จังหวะการดึงเท้ากลับมานั้น สามารถมีทิศทางที่กว้างและยืดหยุ่นกว่าผู้คนทั่วไป ซึ่งนอกจากจะทำให้คู่ต่อสู้คาดเดาจังหวะได้ยากแล้ว ยังเสริมโอกาสให้เธอเตะเข้าเป้า และเก็บ 3 คะแนนไปได้มากกว่าเดิมอีกด้วย

สู่เหรียญทองประวัติศาสตร์

จากความผิดหวังเมื่อครั้งโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ กับการพ่ายให้กับ คิม โซฮึย จากเกาหลีใต้ ในช่วง 4 วินาทีสุดท้ายของการแข่งขัน จนเธอให้คำมั่นกับตัวเองว่า “หลังจากนี้เจอใคร หนูจะเตะไม่ยั้ง ต่อให้ต้องทำแต้ม 50 หรือ 60 แต้มก็จะทำ ไม่อยากเจอกับเหตุการณ์พลิกมาแพ้อีกแล้ว”

ในวันนี้ นอกจากเธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว พาณิภัค ยังได้ออกจังหวะเตะทำคะแนนไปทั้งสิ้น 38 ครั้งในโอลิมปิกครั้งนี้ โดยแบ่งเป็นเตะช่วงลำตัว 25 ครั้ง และช่วงส่วนหัวอีก 13 รอบด้วยกัน จนกรุยทางให้เธอเดินมาสู่เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จ เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์เทควันโดไทยเลย

ทีมงาน Main Stand ได้พูดคุยกับ นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้จัดการทีมเทควันโดไทย ผู้เห็นพัฒนาการของ พาณิภัค มาตั้งแต่เมื่อครั้งแข่งขันซีเกมส์ 2013 ที่ประเทศเมียนมา ซึ่งได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเตะของเธอ ว่าเป็นอาวุธไม้ตายที่ถูกใช้อยู่บ่อยครั้ง โดยได้ให้คำนิยามว่าเธอนั้นมี “ตีนติดเรดาร์” เลยทีเดียว

คุณหมอทศพรยังได้เพิ่มเติมอีกว่า “เทนนิสนี่ผมว่ายังไปได้อีก ถ้าเขารักษาสภาพร่างกาย และเทนนิสเป็นคนที่มีวินัย ไม่ว่าได้แชมป์อะไรก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ไม่ได้เย่อหยิ่ง และยังมองว่าเรื่องการแข่งขัน เรื่องการฝึกซ้อม เป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

6จากผู้ที่ต้องเผชิญความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นพระรองทั้งใน ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ มาจนถึงโอลิมปิกเกมส์ สู่การกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ จนได้รับคำนิยามจากโลกออนไลน์ว่า “คว้าเหรียญทองมาแล้วจากทุกรายการที่มีแข่ง” ก็ย่อมเหมาะสมแล้ว กับการที่เธอจะได้รับเหรียญทองประวัติศาสตร์นี้

เช่นกันกับท่าเตะ Cobra Strike ที่แม้จะเริ่มต้นมาจากอาการบาดเจ็บของเธอ แต่ด้วยการฝึกฝนอย่างหนัก ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ พาณิภัค สามารถปรับเอาบาดแผลในส่วนนี้ มาเป็นอาวุธชั้นดีของเธอได้อย่างในปัจจุบัน

อัลบั้มภาพ 50 ภาพ

อัลบั้มภาพ 50 ภาพ ของ Cobra Strike : ไขรหัสเบื้องหลังท่าไม้ตายของ "พาณิภัค" สู่เหรียญทองโอลิมปิก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook