กรณีศึกษา :"ซิโมน ไบล์ส" ภาวะทางจิตกับความกดดันของสังคมต่อนักกีฬา
หากกล่าวถึงนักกีฬาที่พลาดเหรียญทองในโอลิมปิก เกมส์ 2020 แบบช็อกโลก หนึ่งในนั้นคงเป็น ซิโมน ไบลส์ นักกีฬายิมนาสติกชาวอเมริกัน เจ้าของ 4 เหรียญทองจากการแข่งขันเมื่อปี 2016 และได้รับการยกย่องในฐานะนักยิมนาสติกที่เก่งที่สุดตลอดกาล
แต่เมื่อการแข่งขันที่กรุงโตเกียวมาถึง เธอกลับถอนตัวจากการแข่งขันเนื่องจากสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังของวงการกีฬาในปัจจุบัน หลัง นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสฝีมือดีชาวญี่ปุ่น ถอนตัวจากการแข่งขันเฟรนช์ โอเพ่น และวิมเบิลดัน ด้วยปัญหาเดียวกัน
Main Stand นำสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ซิโมน ไบลส์ มาเป็นกรณีศึกษา ถึงสิ่งที่นักกีฬาคนหนึ่งต้องแบกรับคือความคาดหวังของสังคม ในวันที่พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วย ทำไมพวกเขาถึงไม่มีโอกาสจะก้าวถอยหลัง และเอ่ยคำว่ายอมแพ้เหมือนคนทั่วไปในโลกใบนี้?
เริ่มจากโรคสมาธิสั้น
หากกล่าวว่า ซิโมน ไบลส์ คือหนึ่งในนักกีฬายิมนาสติกที่เก่งที่สุดตลอดกาลก็คงจะไม่เกินความเป็นจริงมากไปนัก เพราะหญิงสาววัย 24 ปีรายนี้ คือเจ้าของสถิติคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลกมากที่สุด ด้วยจำนวน 25 เหรียญ และยังเป็นผู้ที่คว้าเหรียญทองมากที่สุด ด้วยจำนวน 19 เหรียญ
ความสำเร็จสูงสุดของ ไบลส์ ในฐานะนักยิมนาสติกย่อมหนีไม่พ้น การกวาด 4 เหรียญทองให้กับทีมชาติสหรัฐอเมริกา ในโอลิมปิก เกมส์ 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในประเภท บุคคลรวมอุปกรณ์, ม้ากระโดด, ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ และประเภททีม ส่งผลให้เธอเป็นนักยิมนาสติกหญิงชาวอเมริกันคนแรก ที่คว้า 4 เหรียญทองจากการแข่งขันครั้งเดียว
แต่ในช่วงเวลาที่เธอกำลังอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพและได้รับคำชื่นชมจากแฟนกีฬาทั่วโลก ไบลส์ เปิดเผยถึงข่าวอันน่าตกใจในเดือนกันยายน ปี 2016 ว่าเธอกำลังป่วยเป็นโรค ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) หรือโรคสมาธิสั้น ซึ่งมีอาการรุนแรงจนต้องรับประทานยาเพื่อระงับอาการของโรคดังกล่าว
"การเป็นโรคสมาธิสั้น และกินยาเพื่อรักษาไม่ใช่เรื่องน่าอาย และฉันก็ไม่กลัวหากจะต้องเปิดเผยให้คนอื่นรับรู้เรื่องนี้" ไบลส์ ในวัย 19 ปี เปิดเผยถึงอาการป่วยของเธอผ่านทางทวิตเตอร์
หากพิจารณาจากคำกล่าวของ ไบลส์ เราคงพอมองเห็นได้ว่าโรคสมาธิสั้นไม่เป็นที่ต้อนรับในสังคมอเมริกันเท่าไรนัก เพราะเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งมีสูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มคนอายุ 4-19 ปี ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา มักมีปัญหากับการใช้ชีวิตในโรงเรียน และการปรับตัวเข้ากับสังคม
ไบลส์ ไม่ใช่นักกีฬาทีมชาติสหรัฐอเมริกาเพียงคนเดียวที่ป่วยด้วยโรคนี้ เพราะตำนานแห่งวงการว่ายน้ำ ไมเคิล เฟลป์ส หรือ มิเชล คาร์เตอร์ นักกีฬาทุ่มน้ำหนักผู้คว้าเหรียญทองจากโอลิมปิก เกมส์ 2016 ต่างก็เคยเผชิญหน้ากับโรคสมาธิสั้นมาแล้ว
ADHD จึงไม่มีผลกับผลงานในการแข่งขันของนักกีฬา แต่ในทางกลับกัน โรคสมาธิสั้นกลับกลายเป็น "ตราบาป" ของนักกีฬาเหล่านี้ เพราะความจริงที่ ไบลส์ และนักกีฬาคนอื่นไม่เคยบอกใครคือ พวกเขาล้วนต่างเลือกเส้นทางนักกีฬาเพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยจากโรคสมาธิสั้นด้วยกันทั้งสิ้น
"นักกีฬาที่เป็นโรคสมาธิสั้นกำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ เพราะโรคสมาธิสั้นคืออาการที่น่าสับสน ซึ่งทำให้เด็กกระสับกระส่าย และไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ" ดร.เดวิด คอแนนต์-นอร์วิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมาธิสั้นกล่าว
"แม้ ซิโมน ไบลส์ จะพิสูจน์ให้เห็นถึงเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่นักกีฬาที่ป่วยเป็นโรคสมธิสั้นหลายคน ต่างจดจ่อกับสิ่งที่พวกเขาทำ เพื่อตามหารางวัลที่พวกเขาจะได้มา"
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ซิโมน ไบลส์ และ ไมเคิล เฟลป์ส จะกวาดเหรียญทองจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เพราะโรคสมาธิสั้นมีส่วนช่วยให้ทั้งสองจดจ่อกับการฝึกซ้อมมากกว่าคนปกติทั่วไป และยังช่วยให้พวกเขายึดมั่นในเป้าหมายของตัวเอง
แต่ในทางกลับกัน นักกีฬาที่ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น จะเล่นกีฬาโดยจำเป็นต้องมีเป้าหมายให้พวกเขาโฟกัสเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาหลุดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ นักกีฬาในกลุ่ม ADHD จะไม่สามารถโฟกัสอะไรจากการเล่นกีฬาได้เลย
หลายคนจึงเข้าใจผิดคิดว่านักกีฬาที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น มีความขยันและตั้งใจมากกว่านักกีฬาทั่วไป ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมเหล่านั้นคืออาการป่วยของโรคสมาธิสั้น และหากปราศจากความเข้าใจจากคนรอบข้าง นักกีฬาจะกลับมาถูกทิ่มแทงด้วยอาการป่วยของตัวเองอย่างช้า ๆ
"ทั้งผู้ปกครองและโค้ชต้องเข้าใจว่า พฤติกรรมฟุ้งซ่าน หุนหันพลันแล่น และการกระทำที่มากเกินไป ไม่ได้เกิดจากความมุ่งมั่นของนักกีฬา แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำสั่งการจากสมองในเด็กสมาธิสั้น" ดร.โรนัลด์ คามม์ สมาชิกทีมแพทย์ยิมนาสติกสหรัฐอเมริกากล่าว
"นี่ไม่ใช่ความประพฤติส่วนบุคคล แต่เป็นอาการของโรค การสั่งจ่ายยาสำหรับเด็กสมาธิสั้น ไม่ต่างจากการสั่งจ่ายอินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน"
เผชิญหน้าอาการ The Twisties
นับจากปี 2016 เป็นต้นมา ซิโมน ไบลส์ รับมือกับโรคสมาธิสั้นของตัวเองมาโดยตลอด เธอหายหน้าหายตาจากวงการกีฬาตลอดปี 2017 ก่อนจะกลับสู่การแข่งขันในปีถัดมา ซึ่งถ้าดูจากผลงานในสนาม ดูเหมือนว่า ไบลส์ จะจัดการชีวิตของตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเธอสามารถคว้าแชมป์โลกประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ สองปีติดต่อกัน (2018-2019)
ผลงานที่ยอดเยี่ยมเหมือนเคย ส่งผลให้ ไบลส์ กลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ถูกตั้งความหวังไว้มากที่สุดของทีมชาติสหรัฐอเมริกา ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 และดูเหมือนว่าเธอจะไม่ทำให้ใครผิดหวัง จากการคว้าตำแหน่งแชมป์แห่งชาติ 2021 เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นหลักฐานยืนยันว่า ไบลส์ ยังคงเป็นมือหนึ่งของวงการ และพร้อมจะกวาดเหรียญทองในโอลิมปิกเหมือนเดิม
แต่สัญญาณที่แสดงให้เห็นปัญหาซึ่งถูกซุกซ่อนไว้ ปรากฏออกมาในรอบวอร์มอัพของการแข่งขันประเภทททีม เมื่อ ซิโมน ไบลส์ เล่นท่า Amanar Vault ท่าเก่งของเธอ แต่กลับหมุนตัวกลางอากาศเพียง 1.5 รอบ แทนจะเป็น 2.5 รอบตามความตั้งใจ
หลายคนคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดในการฝึกซ้อม แต่ผลงานของ ไบลส์ ในการแข่งขันจริงแย่ยิ่งกว่านั้น เพราะไม่เพียงแค่เธอจะหมุนได้เพียง 1.5 รอบ ไบลส์ ยังไม่สามารถจบท่าด้วยการยืนบนพื้นอย่างสวยงาม เธอยืนออกไปในตำแหน่งที่เกือบหลุดออกไปจากพื้นสนาม แถมยังเกือบทรงตัวไม่อยู่ด้วยซ้ำ มันเป็นผลงานที่ย่ำแย่จนนักพากย์พูดว่า "Oh Boy"
ไบลส์ ทำคะแนนได้เพียง 13.766 แต้ม ถือเป็นคะแนนน้อยที่สุดบนเวทีโอลิมปิกของเธอ นี่คือความผิดหวังครั้งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะแบกรับไหว ไบลส์ ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันประเภททีม ก่อนตัดสินใจถอนตัวจากกีฬาโอลิมปิกในโตเกียวเกมส์ ทุกประเภทการแข่งขัน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม โดยให้เหตุผลว่า เธอมีปัญหาด้านสุขภาพจิต
"หลังจากผลงานที่ได้แสดงออกไป ฉันไม่อยากแข่งขันต่ออีกแล้ว" ไบลส์ ให้สัมภาษณ์ หลังตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขัน
"ฉันไม่เคยรู้สึกแบบนี้ก่อนการแข่งขันมาก่อน แม้ฉันจะพยายามออกไปที่นั่นและสนุกกับมัน แต่เมื่อฉันออกไปยืนตรงนั้นจริง ๆ ฉันรู้สึกเหมือนกับ 'ไม่ จิตใจของฉันไม่พร้อม' เพราะฉะนั้น ฉันจำเป็นต้องโฟกัสกับตัวเอง และปล่อยให้คนอื่นทำหน้าที่ตรงนี้"
ไบลส์ เปิดเผยภายหลังว่า เธอกำลังเผชิญหน้ากับอาการป่วยที่มีชื่อเรียกว่า "The Twisties" ปรากฏการณ์ลึกลับที่มักปรากฏขึ้นกับนักยิมนาสติกแบบกะทันหัน ส่งผลให้นักกีฬาไม่สามารถแสดงท่ายิมนาสติกที่เคยฝึกซ้อมมาแล้วนับพันครั้ง ด้วยท่วงท่าแบบเดิมได้อีกต่อไป
นักยิมนาสติกที่ประสบกับอาการ The Twisties จะไม่สามารถควบคุมร่างกายของตัวเองได้ตามใจต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะลอยตัวอยู่กลางอากาศ สมองจะไม่สามารถสั่งการร่างกายได้เลย และนักกีฬาที่ประสบอาการนี้จะรู้ตำแหน่งของพื้นก็ต่อเมื่อร่างกายของพวกเขากระทบกับฟลอร์เท่านั้น
ไม่ใช่เรื่องแปลก หากสุขภาพจิตของ ไบลส์ จะย่ำแย่เนื่องจากอาการ The Twisties เพราะอาการที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถหาสาเหตุที่เกิดขึ้นหรือแก้ปัญหาด้วยการฝึกซ้อมที่นักกีฬาคุ้นชิน มันคือปัญหาที่เกิดขึ้นจากสุขภาพจิตล้วน ๆ
และเมื่อบวกกับความจริงที่นักยิมนาสติก ซึ่งเคยผ่านอาการ The Twisties พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "พวกเขาหวาดกลัวเสมอเมื่อหมุนตัวข้ามม้ากระโดด" เพราะไม่มีทางที่พวกเขาจะรู้ได้เลยว่า การแสดงครั้งนี้จะจบลงเช่นไร
"มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับฉัน เพราะฉันไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และฉันไม่สามารถหยุดมันได้ มันเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับฉัน และมันเลวร้ายมากด้วย ความรู้สึกนั้นมันแย่มากจริง ๆ" จูเลีย สไตน์กรูเบอร์ นักยิมนาสติกชาวสวิสที่เคยป่วยด้วยอาการนี้ เมื่อปี 2014 กล่าว
ท้ายที่สุด สไตน์กรูเบอร์ กล่าวว่า เธอแก้ปัญหาด้วยการฝึกฝนเบสิกของกีฬายิมนาสติกใหม่ทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ คือ กลับไปเริ่มต้นจากศูนย์ ซึ่งนั่นก็เป็นทางแก้ปัญหาที่ดีพอจะช่วยให้เธอกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง จากการคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก เกมส์ 2016
ไบลส์ อาจใช้เวลา 2-3 ปี เพื่อเริ่มต้นฝึกฝนใหม่แบบสไตน์กรูเบอร์ และกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง แต่ปัญหาของ ไบลส์ ไม่ได้มีแค่ความหวาดกลัวขณะหมุนตัวกลางอากาศ แต่รวมถึงความคาดหวังและมุมมองที่สังคมอเมริกันมีให้กับเธอ ซึ่งกลายเป็นความกดดันที่มากเกินกว่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะรับไว้
นักกีฬาคือมนุษย์
"ฉันไม่เชื่อมั่นในตัวเองอีกต่อไป บางทีอาจจะเป็นเพราะฉันอายุมากขึ้นด้วย มันมีหลายครั้งที่ทุกคนทวิตเกี่ยวกับคุณ และคุณรู้สึกเหมือนกับแบกน้ำหนักของโลกทั้งใบไว้บนบ่า"
ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในวงการยิมนาสติกของ ซิโมน ไบลส์ ส่งผลให้เธอถูกยกย่องในฐานะหนึ่งในนักกีฬาที่ดีที่สุดตลอดกาล แต่ความเก่งกาจนั้น ส่งผลให้ชาวอเมริกันส่วนมากมองเธอเป็นผู้หญิงที่เพอร์เฟกต์ราวกับ วันเดอร์วูแมน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ซิโมน ไบลส์ เป็นผู้หญิงที่มีความสามารถเหนือมนุษย์
แน่นอนว่า ความคิดของชาวอเมริกันที่มีต่อ ไบลส์ ไม่เป็นความจริง เธอยังคงเป็นมนุษย์ที่รู้จักความผิดหวังและความเจ็บปวดเหมือนกับเราทุกคน แต่ความคาดหวังที่สังคมมอบให้กับเธอ กลับทำให้ ไบลส์ ไม่สามารถแสดงออกในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้ เธอไม่ได้รับการอนุญาตให้ร้องไห้ และไม่ได้รับการอนุญาตให้ล้มเหลว
ไบลส์ ยังเป็นนักกีฬาที่อยู่ภายใต้สปอตไลท์ของชาวอเมริกัน ในฐานะนักกีฬาความหวัง "หลาย" เหรียญทองจากโตเกียวเกมส์ ผู้คนคาดหวังให้เธอเป็นนักยิมนาสติกหญิงคนแรกในรอบครึ่งศตวรรษ ที่คว้าเหรียญทองในประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์จากโอลิมปิก 2 ครั้งติดต่อกัน (คนสุดท้ายคือ เวร่า คาสลัฟสกา ในปี 1964 และ 1968)
ไบลส์ รับความคาดหวังจากชาวอเมริกันมาเป็นเป้าหมายของตัวเองโดยไม่รู้ตัว เธอฝึกซ้อมหนัก และมุ่งมั่นกับการแข่งขันตลอด 24 ชั่วโมง ใน 7 วันของสัปดาห์ แน่นอนว่าฝีมือของเธอพัฒนาขึ้น แต่นั่นก็ต้องแลกกับสุขภาพจิตที่แย่ลงจนระเบิดออกมาในโอลิมปิก เกมส์ 2020
"มันแย่นะ เมื่อคุณรู้สึกว่าคุณกำลังต่อสู้กับสิ่งที่อยู่ภายในหัวของตัวเอง" ไบลส์ ให้สัมภาษณ์ถึงอาการของเธอ
"เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเครียดสูง คุณก็เริ่มที่จะสติแตก ฉันจำเป็นต้องโฟกัสกับสุขภาพจิตของตัวเอง และป้องกันไม่ให้สุขภาพรวมถึงชีวิตของฉันต้องมาเสี่ยงกับอันตรายตรงนี้"
การถอนตัวจากโตเกียวเกมส์ของ ไบลส์ จึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและดีที่สุดของเธอ เพราะ ไบลส์ รู้ตัวดีว่าเธอไม่พร้อม และดีไม่พอจะลงแข่งขันในฐานะตัวแทนทีมชาติสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป มันคงจะดีกว่าหากเธอได้หยุดพัก และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
แต่ถึงแม้ว่า ไบลส์ จะชี้แจงอาการของตัวเองอย่างชัดเจน เธอก็ยังหนีไม่พ้นกับคำครหาในฐานะ "คนเห็นแก่ตัว" เมื่อเธอถูกบรรดากูรูจาก FOX ช่องโทรทัศน์ฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกา โจมตีที่เธอเห็นประโยชน์ของตัวเองก่อนชาติ และไม่ต่อสู้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดอนุรักษ์นิยม ที่ผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อนความต้องการส่วนบุคคลเสมอ
กล่าวตามตรง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะโจมตี ไบลส์ แบบนั้น เพราะ เชอรีล ทอมป์สัน นักวิชาการและผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาวแคนาดา ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมของคนดังในสังคม กล่าวว่า มหกรรมกีฬาโอลิมปิกคือ "ความสุขของผู้ชนะ และความทุกข์ของผู้แพ้" เธอยืนยันว่า ใครก็ตามที่ล้มเหลวหรือทำให้สังคมผิดหวังจากโอลิมปิก จะต้องทนอยู่กับความเจ็บช้ำครั้งนั้นไปชั่วชีวิต เนื่องจากความคาดหวังที่ผู้คนมอบให้นักกีฬาเหล่านั้น
"ไม่มีช่วงเวลาไหนเลยในประวัติศาสตร์ของนักกีฬา ที่ผู้คนทั่วไปจะรู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของนักกีฬาเหล่านั้น และโอลิมปิก เกมส์ ในตัวของมันเองคือพิธีกรรมสร้างฮีโร่แก่ผู้คนในสังคม เพื่อที่เราจะได้มองพวกเขาเป็นแบบอย่างหรือเป็นแรงบันดาลใจ ฉันคิดว่านั่นคือแก่นที่แท้จริงของโอลิมปิก"
สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ซิโมน ไบลส์ ไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ หรือ ยอดนักกีฬาของชาวอเมริกันอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต สถานการณ์ของเธอในปัจจุบันแตกต่างจากภาพที่ชาวอเมริกันบางส่วนวาดฝันไว้มาก
แต่มันจะดีกว่าไหม หากเราเลิกมองนักกีฬาเหล่านั้นในฐานะฮีโร่ หรือ นักกีฬาที่ต้องแลกทุกอย่างเพื่อความสำเร็จของชาติ เพราะท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีช่วงเวลาที่ดีและร้ายเหมือนกันกับเรา
ไม่ใช่เรื่องเสียหายเลยหาก ซิโมน ไบลส์ จะทิ้งโอกาสที่หลายคนฝันถึง เพียงเพราะอาการเจ็บป่วยของตัวเอง เพราะหากเรามองนักกีฬาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างแท้จริง จะพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่เคยเป็นเหรียญทองจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก แต่เป็นความสุขจากการเล่นกีฬา และการได้ใช้ชีวิตตามความฝันของตัวเอง
"พวกเราไม่ใช่แค่นักกีฬา เพราะท้ายที่สุดแล้ว พวกเราเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง และบางครั้ง มันจำเป็นที่คุณต้องก้าวถอยหลังบ้าง"
"ฉันจำเป็นต้องโฟกัสกับสุขภาพจิตของตัวเอง ฉันคิดว่าปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถพบได้บ่อยขึ้นในโลกกีฬาทุกวันนี้ พวกเราจำเป็นต้องปกป้องร่างกายรวมถึงจิตใจของเรา ไม่ใช่แค่ออกไปเล่นกีฬาและทำในสิ่งที่โลกอยากให้เราทำ"
"แน่นอนว่านี่คือโอลิมปิก เกมส์ แต่ฉันไม่อยากเดินออกไปแข่งขัน จนทำอะไรงี่เง่า และเจ็บตัวกลับมา ฉันคิดว่าการที่นักกีฬาออกมาพูดเรื่องนี้บ่อยขึ้น ช่วยพวกเราได้มากจริง ๆ" ซิโมน ไบลส์ ให้สัมภาษณ์ก่อนโบกมือลาโตเกียวเกมส์
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ