แพ้ไร้ค่า ชนะฮีโร่ : สะท้อนสังคมฟิลิปปินส์ด้วยเส้นทางเหรียญทองของ "ฮิดิลิน ดิอาซ"
เมื่อคุณชนะในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ ทุกคนรอบข้างจะแซ่ซ้องสรรเสริญคุณราวกับเป็นพายุที่คุณไม่สามารถรับมือทัน
พวกเขาจะบอกว่าคุณเก่งอย่างนั้น แกร่งอย่างโน้น และภูมิใจกับสิ่งที่คุณทำราวกับติดตามคุณมาทั้งชีวิต
และนั่นคือเหตุผลที่ว่าเหตุใด "ชัยชนะ" จึงเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันกีฬา
นี่คือเรื่องจริงจอง ฮิดิลิน ดิอาซ นักยกน้ำหนักเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญแรกในโอลิมปิกของประเทศฟิลิปปินส์
จากเด็กที่โดนล้อเลียน นักกีฬาที่โดนซ้ำเติม สู่ฮีโร่ที่ถูกยกให้อยู่เคียงข้าง แมนนี่ ปาเกียว
เกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนจะถึงวันนี้ ติดตามได้ที่ Main Stand
บริบททางสังคมที่บอกว่า "อย่ายกน้ำหนัก"
หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาฟิลิปปินส์นั้น มีเพียงนักกีฬาเพียงคนเดียวที่สามารถก้าวไปถึงระดับที่โลกยอมรับได้ นั่นคือ แมนนี่ ปาเกียว นักมวยสากล ผู้ไต่เต้าจากมวยชุมชนจนกลายเป็นแชมป์โลก 8 รุ่นน้ำหนักภายในเวลาต่อมา และเมื่อมองจากสิ่งที่ปาเกียวทำ รวมถึงยังมีนักชกอีกหลายคนที่ไปถึงระดับนานาชาติอย่าง แอนโธนี่ บิยานูเอวา ที่เคยได้เหรียญเงินโอลิมปิกเมื่อปี 1964 ก็พอจะเห็นได้ว่า มวยเป็นกีฬาที่ชาวฟิลิปปินส์ทำได้ดีที่สุดในระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ตามในการแข่งขัน โอลิมปิก โตเกียว 2020 หลายคนต้องเปลี่ยนความคิดกันเสียใหม่ เมื่อเหรียญทองประวัติศาสตร์สำหรับชาติฟิลิปปินส์กลับเป็นเหรียญที่ไม่ได้มาจากกีฬามวย ... ฮิดิลิน ดีอาซ นักยกน้ำหนักหญิงรุ่น 55 กิโลกรัม กลายเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของชาติ และคำถามคือ เธอมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? ทั้ง ๆ ที่ฟิลิปปินส์ไม่เคยอยู่ใกล้เคียงกับการคว้าเหรียญทองในกีฬายกน้ำหนักระดับโอลิมปิกมาก่อน ?
หากไม่นับสิ่งที่ ดิอาซ ทำ มันมีเหตุผลที่ ฟิลิปปินส์ ไม่ได้เก่งในเรื่องกีฬายกน้ำหนักโดยเฉพาะในฝั่งผู้หญิง เพราะสังคมฟิลิปปินส์ ถือเป็นหนึ่งในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงยังมีสิทธิและมีพลังไม่มากพอในสังคมประเทศของพวกเขา เรื่องนี้ออกจากปากของ ดิอาซ เอง ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก เมื่อปี 2016 ที่ ริโอ เดอ จาเนโร ว่า ผู้หญิงฟิลิปปินส์นั้นไม่ได้นิยมการเป็นนักยกน้ำหนัก เพียงเพราะพวกเธออยู่ในสังคมที่มีความเชื่อว่าผู้หญิงจะต้องดูแลรูปร่างให้ดี เพื่อสร้างโอกาสในการแต่งงานกับผู้ชายดี ๆ ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมและจะทำให้ชีวิตเธอมีชีวิตที่สุขสบาย แล้วที่สำคัญ "การมีกล้ามถือเป็นการทำลายความสวยงามของผู้หญิง"
ตัวของ ดิอาซ รู้ตัวเองตั้งแต่ยังเด็กว่าเป็นคนที่มีรูปร่างใหญ่ มีกล้ามเนื้อที่มากกว่าผู้หญิงทั่วไป เธอพยายามมองหากีฬาที่จะใช้ประโยชน์จากรูปร่างของเธอได้ดีที่สุด นั่นคือการยกน้ำหนัก ทว่าแม่ของเธอไม่สนับสนุนในครั้งแรกเพียงเพราะว่ากลัวเธอจะหาสามีไม่ได้
"เมื่อโตขึ้นและหัดยกน้ำหนัก ฉันก็พบว่านี่เป็นกีฬาของผู้ชาย แม่ของฉันไม่สนับสนุนเลย เธอบอกว่ากีฬานี้จะทำให้ไม่มีคนมาชอบฉัน และจะทำให้ฉันไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เพราะระบบสืบพันธุ์จะพังจากการยกน้ำหนัก"
"แม่ย้ำเสมอว่าจะไม่มีใครมาชอบฉัน ถ้าฉันยังดึงดันจะเล่นกีฬานี้ต่อไป ยกน้ำหนักคือกีฬาของผู้ชาย ฉันโตมากับความเชื่อแบบนั้น เวลาไปไหนมาไหน ฉันจะสวมแจ็คเก็ตเพื่อปิดบังกล้ามเนื้อของตัวเองเสมอ" ดิอาซ กล่าว
เมื่อชุดความคิดของคนรุ่นเก่าที่ปลูกฝังลูกหลานเป็นเช่นนี้ ดิอาซ หลุดจากกรอบความคิดดังกล่าวได้อย่างไร ? ... เรื่องนี้เธอทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีตัวช่วย และต้องเป็นตัวช่วยที่ทำให้สังคมยอมรับว่าชุดความคิดเก่านั้นตกยุคไปแล้วในบริบทสังคมปัจจุบัน
ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนความคิด
โมนิโค เพนเตเวลลา คือชื่อของชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ดิอาซ อย่างแท้จริง ชายคนนี้อาจจะได้อำนาจมาจากการเล่นการเมือง แต่สำหรับวงการยกน้ำหนักฟิลิปปินส์ เขาคือคนที่ปลุกชีพกีฬาชนิดนี้ในหมู่ผู้หญิงอย่างแท้จริง
ตามที่กล่าวไปข้างต้น ผู้หญิงฟิลิปปินส์มีแนวคิดเป็นช้างเท้าหลัง เพราะพวกเธอไม่ได้รับการปลูกฝังให้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ โมนิโค ได้ทำสิ่งนั้นให้เป็นจริง เขาเข้ามารับตำแหน่งประธานสมาคมยกน้ำหนักของฟิลิปปินส์ ในช่วงปี 2001 และเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงและมีเงินเดือนให้สำหรับเยาวชนที่มีแววและได้รับการยอมรับจากศูนย์ฝึกของรัฐบาลฟิลิปปินส์
ตัวของ ดิอาซ อาจจะได้เหรียญทองครั้งแรกในปีนี้ แต่ความจริงแล้วเธอเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 18 ปีก่อนแล้ว ตอนนั้นเธออายุแค่ 12 ปี และถูกเลือกจากโครงการของ โมนิโค ที่จ้างโค้ชยกน้ำหนักที่มีประสบการณ์จากจีน อย่าง เกา ไข่เหวิน และหยิบจับเด็กที่มีแววมาปลุกปั้น ซึ่งกล้ามเนื้อของ ดิอาซ ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่าน่าอายสำหรับผู้หญิง ถูกนำมาใช้ประโยชน์สูงสุดในกีฬาชนิดนี้ได้อย่างลงตัว
"ดิอาซ เข้ามาเป็นนักกีฬาในสังกัดของผมมา 17 ปี แล้ว พวกเราเหนื่อยกันมาก ๆ เลยในการผลักดันเธอ ไม่ใช่แค่กับการแข่งขัน แต่ต้องให้ได้การยอมรับจากสังคมด้วย" โมนิโค กล่าว
การที่ ดิอาซ ได้เงินเดือนและการดูแลจากรัฐบาล ทำให้เธอสามารถเอาชนะใจแม่ของเธอได้ แม่ของเธอยอมรับในตัวเธอแล้ว แต่สังคมของ ฟิลิปปินส์ ยังคงไม่คิดเช่นนั้น แม้การเข้ามาคุมสมาคมยกน้ำหนักฟิลิปปินส์ของ โมนิโค จะสร้างเยาวชนฝีมือดีได้มากมาย และพวกเขาก็เริ่มมีเหรียญรางวัลในการแข่งขันระดับซีเกมส์ ในช่วงปี 2000-2010 บ้างแล้ว แต่สังคมฟิลิปปินส์ ก็ยังคงมองผู้หญิงยกน้ำหนักเป็นเรื่องตลก
ตัวของ ดิอาซ คือคนที่รับรู้เรื่องนี้ได้ดีที่สุด เธอทุ่มเทมาตลอดหลังจากเข้าศูนย์ฝึกเมื่อปี 2003 หลังจากใช้เวลา 5 ปี ก็พาตัวเองผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายไปแข่งขันยกน้ำหนักในโอลิมปิกที่ปักกิ่งได้สำเร็จ ด้วยวัยเพียงแค่ 17 ปีเท่านั้น
ด้วยอายุและประสบการณ์ เธอแพ้ และแพ้แบบที่คนฟิลิปปินส์อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอไปแข่ง จนกระทั่ง 4 ปี ต่อมา ในยุคที่โลกของอินเทอร์เน็ตกว้างไกล ใคร ๆ ก็เข้าถึงข่าวสารและสามารถคอมเมนต์ได้ตามใจ ดิอาซ จึงได้รู้ว่าเธอไม่มีวันจะเปลี่ยนความเชื่อของคนฟิลิปปินส์ได้เลยหากว่าเธอไม่สามารถเอาชนะในการแข่งขันโอลิมปิกได้ เพราะในการแข่งขันที่ ลอนดอน เกมส์ เธอแพ้แบบไม่ได้ลุ้นจากการเรียกน้ำหนักที่มากเกินไป
หนนั้นกระแสโซเชียลเล่นงานเธอหนักมาก พวกเขาไม่ได้สงสารแต่ล้อเลียนซ้ำเติมเธอ และนั่นคือประสบการณ์ที่เธอจดจำได้เป็นอย่างดี
"ความพ่ายแพ้ของฉันถูกเอามาตีแผ่ในสาธารณะ ฉันถูกล้อเลียนในโลกออนไลน์ โดนสื่อกัดแซะและว่าร้าย สำหรับฉันมันว่ายากแล้ว แต่กับครอบครัวของฉันนี่ พวกเขารับมือกับมันได้ยากกว่า ... ฉันไม่เคยอายกับสิ่งที่ฉันทำ ฉันรักประเทศนี้ ฉันอยากจะทำมันให้สำเร็จ ฉันไม่ได้น้อยใจจนอยากจะเลิกเล่นทีมชาติ แต่สิ่งเดียวที่ฉันอยากรู้คือ ฉันสมควรได้รับการปฏิบัติแบบนี้หรือ ?" ดิอาซ กล่าว
คนที่ทำให้ ดิอาซ และวงการยกน้ำหนักโดยเฉพาะฝ่ายหญิงเติบโต คือคนอย่าง โมนิโค ผู้มีหน้าที่ต้องดูแลพวกเธอ เขาเล่าว่าเขาได้เห็นทั้งน้ำตาและความเสียสละจากเด็ก ๆ ภายใต้การดูแลของเขามามากมาย สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือการมอบความหวังให้กับนักยกน้ำหนักรุ่นหลัง ทั้งในรุ่นของ ดิอาซ และรุ่นที่อายุน้อยกว่านี้ ให้ทำงานหนักเพื่อความสำเร็จต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพิ่มรายรับ รวมถึงการหาสถานที่ฝึกซ้อมที่ได้คุณภาพมากกว่าเดิม นั่นทำให้ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ฟิลิปปินส์ ใช้บริการศูนย์ฝึกคุณภาพที่อยู่ในประเทศมาเลเซียในช่วงการเตรียมตัวก่อนทัวร์นาเมนต์สำคัญ ๆ
ความใส่ใจ เปลี่ยนให้นักกีฬาหลายคนเชื่อมั่นว่ากีฬายกน้ำหนักจะช่วยทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้น ฝั่งนักกีฬายกน้ำหนักหญิงภายใต้การดูแลของสมาคมก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญพวกเขาได้รางวัลเพิ่มขึ้นจากเดิมเยอะเลยทีเดียว ทั้ง วาเนสซ่า ซาร์โน, เอลรีน อันโด และ อันโด มาโครฮอน โดยในรายของ ซาร์โน นั้นเพิ่งได้เหรียญทองในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศอุซเบกิสถานเมื่อช่วงต้นปี 2021 ซึ่งนี่เป็นการแข่งขันระดับสูงครั้งแรกของเธอ
"รอดูได้เลยในการแข่งขัน ซีเกมส์ ที่เวียดนาม เราจะกวาดเหรียญทองเยอะจนทุกคนต้องประหลาดใจ" โมนิโค ว่าไว้เช่นนั้น แม้ปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ซีเกมส์ 2021 ที่เวียดนามจะถูกยกเลิกหรือเลื่อนไปแข่งในปี 2022 หรือไม่ แต่วงการยกน้ำหนักหญิงของ ฟิลิปปินส์ กำลังเดินหน้าทะยานไปไม่หยุด และผลจากการฝืนกระแสสังคมด้วยความเด็ดเดี่ยวก็เกิดขึ้นในโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่เลื่อนมาแข่งในปี 2021 เสียที
เหรียญทองเปลี่ยนสังคม
ฮิดิลิน ดีอาซ รู้ตัวว่าจะได้มาแข่งขันในโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ก่อนการแข่งขันเริ่มอยู่ 1 ปี ดังนั้นเธอจึงมีเวลาเตรียมตัวสำหรับโอกาสครั้งสำคัญที่จะได้แก้มือจากความผิดหวังจากเมื่อ 4 ปีก่อน (ได้เหรียญเงินใน ริโอ เกมส์ 2016)
ดิอาซ เริ่มออกไปเก็บตัวที่ประเทศมาเลเซียตามเคย แต่หนนี้หลายสิ่งเปลี่ยนไป ด้วยสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นพอดิบพอดี และประเทศในแถบอาเซียนต่างเจอกับโรคนี้เล่นงานอย่างหนักหน่วง เธอเองประสบปัญหากับการฝึกซ้อมแทบทุกอย่าง ทั้งเรื่องของงบประมาณที่ต้องใช้ในการเดินทางด้วยเครื่องบิน การจัดการเรื่องอาหาร การใช้จ่ายเรื่องที่พัก รวมถึงการเดินทางที่ติดขัดจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ที่มาเลเซียอยู่ถึง 1 ปีเต็ม
"การฝึกอบรมสำหรับโอลิมปิกครั้งนี้ทรหดมาก ๆ และเรามีปัญหาเรื่องเงินทุน งบประมาณหลายส่วนจากรัฐโดนตัดไปใช้สำหรับสถานการณ์โควิด แต่สำหรับฉันและนักกีฬายกน้ำหนัก เราต้องการเงินทุนสำหรับการเดินทางไปฝึกและแข่งขันที่ต่างประเทศ หาที่พัก เครื่องบิน อาหาร ทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งหมด" ดิอาซ กล่าวถึงความลำบากก่อนแข่ง
ทุกอย่างเป็นไปแบบทุลักทุเล หาเงินส่วนนี้มาโปะส่วนนั้น ส่วนไหนขาดก็ต้องใช้เท่าที่มี แต่ ดิอาซ ยืนยันว่าเมื่อเลือกเส้นทางนี้แล้วก็ต้องห้ามแพ้ให้ใครเห็นอีก เธอรู้ว่าความพยายามของเธอจะเปลี่ยนแปลงสังคมฟิลิปปินส์ได้ โดยเฉพาะการทำให้ผู้หญิงหลายคนกลับมามั่นใจในตัวเอง และกล้าเลือกในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำจริง ๆ ดังนั้นเธอจึงสู้ในทุกสถานการณ์ จนกระทั่งการแข่งขันที่โตเกียวเริ่มขึ้น
เธอเคยลงคลิปในอินสตาแกรม โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ที่ไปไหนไม่ได้ เธอก็ยังไม่หยุดซ้อม และพลิกแพลงวิธีการซ้อมด้วยตัวเอง กับการเอาถังน้ำ 20 ลิตรถ่วงก้านเหล็กทั้ง 2 ข้าง และยกขึ้นยกลง เพื่อฝึกไปพลาง ๆ จริงอยู่ที่มันอาจจะไม่ได้ช่วยอะไร แต่มันสิ่งคือที่เธอพอจะทำได้ และทำให้เธอไม่ฟุ้งซ่านในช่วงเวลาที่พลังใจสำคัญพอ ๆ กับพลังกาย นอกจากนี้หลังพ้นจากช่วงล็อกดาวน์ เธอก็เปลี่ยนโรงรถของเธอให้เป็นโรงยิมส่วนตัวอีกด้วย
"การเป็นนักยกน้ำหนักสอนอะไรเราหลายอย่าง มันทำให้ร่างกายของฉันแข็งแรงสมบูรณ์ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือจิตใจและอารมณ์ มันทำให้ฉันไม่ต้องกลัวอุปสรรคหน้าไหน ฉันพร้อมชนกับมันตรง ๆ แบบไม่หนีไปที่ไหนทั้งนั้น" ดิอาซ กล่าว
เมื่อการแข่งขันจริงมาถึง ดิอาซ ต้องเจอกับคู่ปรับเก่าจาก ริโอ เกมส์ อย่าง เลี่ยว ชิ่วหยุน นักยกน้ำหนักจากประเทศจีน และอย่างที่ทุกคนรู้กัน ดิอาซ เฉือนชนะด้วยการเลือกเวตน้ำหนักที่ไม่มีคู่แข่งคนไหนเรียกด้วย...
127 กิโลกรัม ในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก คือน้ำหนักที่ ดิอาซ ตัดสินใจเรียกเพื่อจบเรื่องดังกล่าว หลังยกท่าสแนตช์ได้ 97 กิโลกรัมเท่ากัน (เลี่ยว ชิ่วหยุน เรียกครั้งสุดท้ายในท่าคลีนแอนด์เจิร์กเพียง 126 กิโลกรัม แม้ในอดีตเธอเคยยกได้ถึง 129 กิโลกรัมมาแล้วก็ตาม)
ถ้าเธอแพ้ เธอจะต้องโดนล้อเลียนอีกครั้ง แต่ถ้าเธอชนะ ประวัติศาสตร์ของวงการยกน้ำหนักฟิลิปปินส์จะเปลี่ยนไปตลอดกาล ... การเดิมพันแห่งศตวรรษเกิดขึ้นแล้ว
"ฉันบอกตัวเองว่าไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว ฉันอายุ 30 ปี และมันคือเวลาที่ต้องทุ่มทั้งหมดที่มี ถ้าจะล้มลงแล้วแพ้ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลอง ... เมื่อถึงรอบของฉัน ฉันเรียกน้ำหนักที่เป็นสถิติโอลิมปิก แน่นอนที่สุด ฉันเองก็ตกใจไม่แพ้ทุกคน สุดท้ายแล้วฉันยกมันขึ้นมาได้แบบเหลือเชื่อ" ดิอาซ ชนะทุกคนในการแข่งขันครั้งนี้และกลายเป็นเจ้าของสถิติโลกคนใหม่
จากนรกเป็นสวรรค์
คำว่าแพ้ก็ไม่เป็นไรขอแค่ได้ทำเต็มที่ ใช้ไม่ได้กับ ดิอาซ เพราะถ้าเธอแพ้ โซเชียลมีเดียของเธอจะต้องลุกเป็นไฟอีกครั้งเหมือนที่เคยเจอในปี 2012 แต่โชคดีที่ครั้งนี้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เธอหวัง เธอคว้าเหรียญทอง และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็เหมือนกับพายุแห่งความยินดีที่เธอเองก็รับมือไม่ทัน
แม้แต่ โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีพันธุ์ดุของ ฟิลิปปินส์ ยังอดชื่นชม ดิอาซ ไม่ได้ เขาชื่นชมเธอผ่านโฆษกรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่หลังจากนั้นไม่กี่วัน ดูเตอร์เต้ จะประกาศใช้มาตรการฆ่าตัดตอนกับผู้ค้ายาเสพติดในประเทศ ... เรียกได้ว่ากระแสของ ดิอาซ ยังทำให้ ดูเตอร์เต ต้องหยุดและให้ความสนใจอย่างปฏิเสธไม่ได้
กระแสความยินดีเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า โซเชียลมีเดียของเธอได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม เราลองย้อนเข้าไปดูอินสตาแกรมของ ดิอาซ ในช่วงปี 2019 โพสต์บางโพสต์ของเธอยังมีคนกดไลก์ไม่ถึง 1 พันไลก์เลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่เธอเป็นแชมป์ ตัวเลขของผู้ถูกใจในโพสต์พุ่งทะยานจนใกล้แตะหลัก 100,000 ไลค์ไปแล้ว
จากนรกในปี 2012 กลายเป็นสวรรค์ของ ดิอาซ เธอกลับบ้านเยี่ยงวีรสตรี มีกระแสจะสร้างอนุสาวรีย์ของเธอในฐานะความภาคภูมิใจของชาติเคียงข้างกับ แมนนี่ ปาเกียว เลยด้วยซ้ำ หากใครพูดสิ่งนี้เมื่อ 1-2 เดือนก่อน คุณคงต้องคิดว่าคนนั้น ๆ เป็นบ้าแน่นอน หากจะมีใครเอารูปปั้นของนักกีฬาหญิงมาเคียงข้างกับ ปาเกียว ผู้ยิ่งใหญ่
แต่วันนี้มันเป็นไปแล้ว ไม่ใช่แค่ชัยชนะและเหรียญทอง แต่จากนี้ไปเด็กผู้หญิงของฟิลิปปินส์ จะได้เรียนรู้จากความสำเร็จของ ดิอาซ ... ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ต้องไปให้สุด และอย่ากลัวในการทำสิ่งที่ตัวเองรัก เพราะผู้หญิงก็มีสิทธิ์เลือกเส้นทางของตัวเองเช่นกัน นั่นคือสิ่งที่ ดิอาซ พยายามจะสื่อมาตลอด ผ่านความพยายามของเธอ
"ย้อนกลับไปในวันเริ่มต้น ฉันไม่เคยซาบซึ้งกับสิ่งที่พระเจ้าให้มา ร่างกายของฉันใหญ่โตกว่าคนอื่น ๆ ฉันไม่เคยมั่นใจกับหุ่นของตัวเอง ... แต่เชื่อเถอะว่าฉันอยู่กับมันได้ และตอนนี้ฉันเรียนรู้ที่จะเอาชนะสิ่งนั้นแล้ว"
"มุมมองคือสิ่งสำคัญต่อชีวิต ฉันกลับมาชื่นชมร่างกายของตัวเอง ฉันให้เกียรติกีฬาที่ฉันเล่น ฉันเชื่อมั่นในความพยายามที่ตัวเองทำ ฉันไม่เคยลังเลและใส่เต็มร้อยเสมอ เพราะนี่คือสิ่งที่ฉันรัก"
ตอนนี้ ดิอาซ ไปถึงฝั่งแล้ว ความสำเร็จของเธอเปล่งประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุนรุ่นใหม่ ความพยายามที่ทุ่มเทไปไม่เคยเสียเปล่า ต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับว่าสังคมฟิลิปปินส์อยากจะเห็นฮีโร่โอลิมปิกแบบนี้อีกหรือไม่ ? ... ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ได้เวลาที่พวกเขาจะเอาเรื่องราวของ ดิอาซ ไปใช้เปลี่ยนแปลงสังคมและความเชื่อที่ฝังอยู่ในความคิดของผู้คนในประเทศ
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ