ไขเบื้องหลัง : ทำไมนักกีฬาจีนที่โอนสัญชาติไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก?

ไขเบื้องหลัง : ทำไมนักกีฬาจีนที่โอนสัญชาติไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก?

ไขเบื้องหลัง : ทำไมนักกีฬาจีนที่โอนสัญชาติไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนที่ดูกีฬาฟุตบอลเป็นกิจวัตรคงเข้าใจว่า จีน เป็นประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง โดยเฉพาะเรื่องการโอนสัญชาตินักฟุตบอลนั้น ต้องสละสัญชาติเดิมทิ้งให้หมด ก่อนจะมาเล่นให้ทีมชาติจีน

แน่นอนว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะพวกเขาอยากจะมีความเป็นเลิศในด้านฟุตบอล ทว่าไม่ใช่แค่การรับเข้ามาอย่างเดียวเท่านั้นที่จีนทำ เพราะในโอลิมปิก 2020 เราจะเห็นได้ในหลายๆการแข่งขันว่ามีนักกีฬาที่หน้าจีนแต่เล่นให้ทีมชาติอื่นๆอยู่ไม่น้อย 

พวกเขาคือผลผลิตของการโอนสัญชาติไปในประเทศต่างๆมากมาย และนับวันก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ.. เหตุผลดังกล่าวเกิดจากอะไร? ติดตามได้ที่ Main Stand

เพราะกีฬาคือสงครามยุคใหม่ 

การเปลี่ยนแปลงสัญชาตินักกีฬาที่เข้าเเข่งขันในโอลิมปิกนั้น เกิดขึ้นพร้อมๆกับแนวคิดของโลกยุคใหม่ ยุคที่ กีฬา เป็นตัวแทนที่บ่งบอกถึงความเก่งกาจและยิ่งใหญ่ของชาตินั้นๆ 

1เพราะการโอนสัญชาตินักกีฬานั้นเป็นการแสดงออกถึงแนวทางปฏิบัติที่ขยายตัวออกไปสู่กีฬาและการเมืองอย่างรวดเร็ว หลายๆประเทศที่เคยภาคภูมิใจกับความเป็นชาตินิยมต้องยอมทิ้งกฎเกณฑ์เก่าๆ ด้วยการให้สัญชาติและสิทธิพลเมืองกับนักกีฬาที่มีฝีมือ แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดหรือแม้แต่ความผูกพันกับประเทศของตัวเอง

แนวคิดเรื่องโลกยุคใหม่ที่ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือแสดงความเก่งกาจนี้ไม่ใช่แค่การกล่าวอ้าง แต่มันเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนด้วยตัวเลข เพราะหลังจากมีการนับสถิติตั้งแต่โอลิมปิกเมื่อปี 1948 จนถึงโอลิมปิกครั้งปัจจุบัน จะเห็นเส้นกราฟของนักกีฬาที่โอนสัญชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังยุค 1990s ที่ตัวกราฟพุ่งทะลุหลอด จากที่มีนักกีฬาโอนสัญชาติก่อนหน้านี้มากที่สุดแค่ 15 คน แต่ในโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์นั้น มีนักกีฬาโอนสัญชาติที่เล่นในโอลิมปิกมากถึง 38 คน  

ประเทศต่างๆพร้อมมอบสิทธิพลเมือง สัญชาติ และสวัสดิการทางสังคม ให้กับนักกีฬาที่มีความสามารถมากพอ ยกตัวอย่างเช่น ปิเอโตร ฟิกลิโอลี่ (Pietro Figlioli) หนึ่งในนักเล่นโปโลน้ำผู้มากความสามารถที่สุดในโลก เขาเกิดที่บราซิล เติบโตที่ออสเตรเลีย ทว่าเมื่อเขาได้ย้ายไปเป็นนักโปโลน้ำอาชีพกับสโมสรในประเทศอิตาลีที่ชื่อว่า Pro Recco ได้ไม่กี่ปี เขาก็ได้รับสิทธิ์พลเมืองจากรัฐบาลอิตาลี โดยเขาเองก็เต็มใจ เพราะที่นี่ โปโลน้ำอาชีพทำเงินได้มากกว่าที่บราซิลและออสเตรเลีย และเมื่ออยู่อิตาลี เขาก็เป็นคนสำคัญของประเทศมากกว่าด้วย 

2ฟิกลิโอลี่ เล่นให้ทีมชาติออสเตรเลียในโอลิมปิกเมื่อปี 2004 และ 2008 ก่อนที่เขาจะโอนสัญชาติและไปรับใช้ทีมชาติอิตาลี ลงเเข่งขันในโอลิมปิกปี 2012 และ 2016 

นี่คือตัวอย่างของแนวคิดการสร้างความเป็นเลิศและประกาศศักดาความเก่งกาจโดยใช้กีฬา โดยเอาเรื่องความภาคภูมิใจจากสัญชาติและเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรงไว้ทีหลัง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงไม่แปลกใจนัก เพราะเราได้เห็นนักกีฬาประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ รัสเซีย ใช้นักฟุตบอลบราซิลโอนสัญชาติ ในขณะที่ฟุตซอลก็ใช้ผู้เล่นที่ชื่อบราซิลจ๋าๆกันแทบจะยกชุด

แต่สำหรับ จีน ประเทศคอมมิวนิสต์มหาอำนาจเบอร์ต้นๆของโลกที่เราเข้าใจว่ามีความเป็นชาตินิยมสูงมากก็ยังเอากับเขาด้วย พวกเขามีนักสกีน้ำเเข็งชาวแคนาดาโอนสัญชาติมา มีนักกีฬาฟุตบอลจากบราซิล ที่เปลี่ยนสัญชาติเปลี่ยนชื่อ เพื่อมาเล่นให้ทีมชาติจีนมากขึ้นเรื่อยๆ 

3ทั้งที่ประเทศของพวกเขาเป็นประเทศที่มีความหนักแน่นในแนวคิดชาตินิยม วัฒนธรรม และความเจริญแบบตะวันตกไม่สามารถเจาะเข้ามาในจีนรวมถึง "ระบบความคิด" ได้ง่ายๆ แต่ทำไมพวกเขาจึงรับเรื่องใหม่ๆ อย่าง การโอนสัญชาติ และไม่ใช่แค่นั้น ยังมีนักกีฬาจีนอีกหลายคนที่ก้าวข้ามแนวคิดชาตินิยมจนยอมสละสัญชาติจีนที่พวกเขาภาคภูมิใจ เพื่อไปเป็นนักกีฬาให้กับประเทศอื่นๆอีกมาก ทำไมกันล่ะ?

ระบบส่งออกนักกีฬาจีน 

หากการเข้ามาของนักกีฬาเชื้อชาติต่างๆที่ได้รับสัญชาติจีนเกิดขึ้นจากการผลักดันแนวคิดสร้างความเป็นเลิศทางด้านกีฬาในยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แล้ว มันคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะหากจีนคิดจะทำการใหญ่ พวกเขาไม่เคยลังเล เเละพร้อมทุ่มไม่อั้นอยู่แล้ว 

4แต่สิ่งที่เราแปลกใจคือ ทำไมนักกีฬาชาวจีนหลายคนจึงกระจายตัวไปยังประเทศต่างๆได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วภาพลักษณ์ชาวจีนของคนภายนอกคือประชากรที่มีความเชื่อมั่นและมีความเป็นชาตินิยมสูงมาก พวกเขามีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนที่ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่า "นี่คือคนจีน" แต่ทำไมนักกีฬาจีนหลายๆคนจึงสละสัญชาติจีนทิ้งไป? 

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะหาได้คือ "คนเก่งในจีนมีมากเกินไป" ย้อนกลับไปในช่วงพ้นยุค 1980s เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ผลักดันการพัฒนาด้านกีฬาและใช้งบประมาณไปสูงมากๆ พวกเขามีศูนย์ฝึกที่ได้มาตรฐาน มีผู้ฝึกสอนที่มีประกาศนียบัตรการันตีคุณภาพ โดยเฉพาะกับกีฬาที่พวกเขาเป็นเจ้าโลกอย่าง เทเบิลเทนนิส, แบดมินตัน, ยกน้ำหนัก และ ยิมนาสติก 

ยกตัวอย่างเช่น การสร้างนักแบดมินตันที่หลายคนยอมรับว่าเก่งที่สุดในโลกอย่าง หลิน ตัน ก็คงจะพอทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น 

ตัวของ หลิน ตัน นั้นเกิดที่เมืองหลงเหยียน มณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองเล็กๆของประเทศที่ไม่ได้มีความเจริญทางด้านวัตถุ แต่มีชื่อเสียงในแง่ธรรมชาติมากกว่า เพราะที่นี่ถือเป็นเมืองที่มีป่าไม้มากคิดเป็น 70% ของทั้งประเทศ 

5จะเรียก หลิน ตัน ว่าชาวป่าชาวดงก็พอได้ แต่ในที่ห่างไกลในมณฑลฝูเจี้ยนแบบนั้น เขาก็ยังได้เข้ารับการฝึกกับครูสอนแบดมินตันที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล และจุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ หลิน ตัน ฝึกอยู่ที่นั่นจนอายุ 9 ขวบ จนคุณครูของเขาเห็นแวว จึงเริ่มเจรจาทาบทามกับครอบครัวของเขา เพื่อให้ส่ง หลิน ตัน ไปฝึกเพิ่มเติมที่ "People's Liberation Army Sports Team" ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพและรัฐบาลจีนในเมืองใหญ่ เพื่อไม่ให้พรสวรรค์ที่เขามีต้องเสียเปล่า หากยังอยู่ที่เมืองเล็กๆเเห่งนี้ต่อไป 

ซึ่ง "People's Liberation Army Sports Team" ที่ หลิน ตัน ไปฝึกนั้น ถือเป็นโครงการฝึกความเป็นเลิศทางด้านกีฬาของกองทัพจีนที่มีมาตั้งแต่ช่วงยุค 1930s แล้ว จนกระทั่งในช่วง 1970s ที่นั่นได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์ฝึกกีฬาระดับมาตรฐาน โดยเป็นศูนย์ฝึกกีฬาหลายชนิดตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งนักกีฬาที่เข้าไปสู่ระบบของกองทัพจะได้เงินเบี้ยเลี้ยง และมีสโมสรกีฬาภายใต้การบริหารของกองทัพและรัฐบาลจีนรองรับการทำงานด้วยในกรณีที่จบการศึกษาเเล้ว 

เมื่อเจอเด็กเก่งก็จับมาเจียระไน สร้างอาชีพ และทำให้มีรายได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เยาวชนจีนยอมทุ่มเทแบบรากเลือดเพื่อให้ได้เป็นนักกีฬา ดังนั้น ยิ่งมีการแข่งขันสูงเท่าไหร่ ปลายทางก็จะได้นักกีฬาที่มีคุณภาพเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งตัวของ หลิน ตัน ก็เป็นตัวอย่างผลผลิตจากการฝึกภายใต้การดูแลของกองทัพและรัฐบาล 

หากจะมีกีฬาชนิดไหนที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของกลุ่มนักกีฬาได้มากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นกีฬา เทเบิลเทนนิส ที่ผู้เล่นจีนเก่งอย่างกับพระเจ้า ลงเเข่งโอลิมปิกเมื่อไหร่ก็กวาดเหรียญทองเกลี้ยงเมื่อนั้น ในยุคหลังๆที่เป็นอย่างนั้นได้ก็เพราะพวกเขามีระบบการสร้างนักกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชน มีศูนย์ฝึกกีฬาที่ได้มาตรฐานอยู่ทั่วทุกมณฑล ก่อนที่พวกเขาจะคัดเอาหัวกะทิที่เก่งที่สุดมาเสริมเขี้ยวเล็บต่อในขั้นตอนสุดท้าย และส่งลงเเข่งขันในระดับนานาชาติ 

640 ล้านคน คือจำนวนนักเทเบิลเทนนิสจีนที่อยู่ในประเทศของพวกเขา มันค่อนข้างชัดว่าพวกเขามีตัวเลือกมากมายสำหรับการคัดเเล้วคัดอีก จาก 40 ล้าน คัดเหลือแค่ไม่ถึง 20 คนต่อ 1 เจเนอเรชั่น มันเป็นคำตอบว่าทำไมพวกเขาจึงกลายเป็นเทพเจ้าแห่งวงการปิงปองได้ 

สิ่งนี้สะท้อนกลับไปยังเรื่องของการโอนสัญชาติของนักกีฬาจีน เพราะเลข 20 : 40,000,000 คือสิ่งยืนยันว่ามีนักกีฬาอีกกว่า 39 ล้านคน ที่ต้องผิดหวังเพราะไปไม่ถึงฝันเพียงเพราะพวกเขาไม่เก่งกาจในระดับ "ปีศาจ" และเมื่อเราเอาเรื่องของผู้ผิดหวังเหล่านี้ไปผนวกเข้ากับแนวคิดเกี่ยวกับโลกยุคใหม่ที่ใช้กีฬาเป็นการแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของชาตินั้นๆ เราจะเห็นความสัมพันธ์กันของ "จีนนักกีฬาเหลือ + ประเทศอื่นนักกีฬาขาด = การโอนสัญชาติ" นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา 

หากคุณยังไม่เห็นภาพ เราจะพาย้อนกลับยังการเเข่งขันโอลิมปิกปี 2016 ที่ ริโอ เดอ จาเนโร โดยในการแข่งขันเทเบิลเทนนิส มีนักกีฬาจากทุกชาติเข้าเเข่งขันทั้งหมด 172 คน และใน 172 คนนี้มีนักกีฬาที่เกิดในแผ่นดินจีนถึง 44 คน แต่มีเพียงแค่ 6 คนเท่านั้นที่เป็นนักกีฬาของทีมชาติจีน ส่วนที่เหลือเล่นให้กับชาติอื่นอีก 21 ประเทศ 

คราวนี้คุณจะเห็นภาพชัดเลยว่านักกีฬาที่ผิดหวังจากการ "ยกระดับคุณภาพชีวิต" ด้วยการติดทีมชาติจีนนั้น เลือกทางเลือกที่ง่ายกว่าการพยายามสู้กับตัวแทนที่เก่งระดับต้นๆของประเทศ โดยการตัดสินใจย้ายสัญชาติไปเล่นให้กับประเทศอื่นที่ยังขาดแคลนนักกีฬาประเภทนั้นๆแทน

7ต้องเข้าใจก่อนว่านักกีฬาระดับทีมชาติจีน กับนักกีฬาที่เล่นได้แค่ในระดับประเทศ มีความต่างกันมากในเเง่ของเรื่องรายได้ เคยมีการเปิดเผยถึงรายรับของ Shaanxi Yinhe อดีตมือ 1 ของโลกชาวจีน ที่ทำเงินได้ราว 645,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 20 ล้านบาท) แต่นักกีฬาที่ไม่ติดทีมชาติและไม่ได้เป็นตัวท็อปของโลกจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 90,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 3 ล้านบาท)

ในกรณีนี้คือนักกีฬาที่เป็นนักกีฬาอาชีพที่มีสโมสรสังกัดและสามารถลงเเข่งในระดับนานาชาติได้ ส่วนระดับที่ต่ำกว่านั้นคงไม่ต้องพูดถึง พวกเขาจะได้รายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เรียกได้ว่าน้อยกว่าพวกหัวแถวมากกว่า 20 เท่าเลยทีเดียว.. ไม่แปลกที่พวกเขาจะโอนสัญชาติเพื่อไปยังที่ที่ได้ค่าตอบแทนและการยอมรับมากกว่า

แล้วเรื่องชาตินิยมล่ะ? 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ชาวจีนมีแนวคิดของความเป็นชาตินิยมและมีความรักชาติสูงมาก เรื่องนี้สะท้อนออกมายังกฎหมายโอนสัญชาติของพวกเขา หากจะอธิบายแบบง่ายๆคือ หากนักกีฬาต่างชาติจะโอนสัญชาติเข้ามาเพื่อโอกาสติดทีมชาติจีน พวกเขาจะต้องสละสัญชาติและสิทธิพลเมืองจากประเทศเดิมทิ้งทั้งหมด เพราะจีนอนุญาตให้ถือสัญชาติได้แค่สัญชาติเดียวเท่านั้น  

8แต่พวกเขาก็ไม่ได้ห้ามและทำให้เรื่องการโอนสัญชาติของชาวจีนที่จะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเป็นเรื่องยากอะไร เพราะพวกเขามีเรื่องอื่นที่ต้องสนใจมากกว่า นั่นคือ "คนที่ถือพาสปอร์ต 2 เล่ม" หรือ ชาวจีนที่แอบถือ 2 สัญชาตินั่นเอง 

จีน พยายามหาทางยับยั้งและปราบปรามคนจีนที่แอบถือ 2 สัญชาติ มาตั้งแต่ช่วงยุค 1990s เพราะถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกยากต่อการควบคุมและตรวจสอบ 

ในกรณีนี้ จีน เคยประสบปัญหาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐแอบถือ 2 สัญชาติ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทุจริต (รับเงินจากจีนแล้วไปฝากไว้ที่บัญชีต่างประเทศ) ซึ่งวิธีการหนึ่งในการกวาดล้างเมื่อปี 2016 นั้น คือการแก้กฎหมายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ฉบับเก่าที่ร่างไว้ตั้งแต่ช่วง 1980s 

การปราบปรามอย่างจริงจังทำให้ จีน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ของเขาที่ทุจริตถึง 18,000 คน และโกยเงินออกนอกประเทศไปมากกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (นับตั้งแต่ปี 1990-2008)  

กฎหมายสัญชาติปี 2016 ของจีนระบุไว้ว่า จีน ไม่ยอมรับการถือครองสองสัญชาติอย่างเด็ดขาด และชาวจีนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงการได้รับสัญชาติของประเทศนั้น "โดยสมัครใจ" จะสูญเสียสัญชาติจีนโดยอัตโนมัติ 

9หากเอามาเปรียบเทียบกับเรื่องของนักกีฬาที่โอนสัญชาติก็จะได้ความว่า พวกเขาไม่ง้อหากนักกีฬาคนนั้นๆจะโอนสัญชาติออกไป เพียงแต่การโอนสัญชาติครั้งนั้นจะตัดขาดนักกีฬาคนดังกล่าวจากความเป็นคนจีนทั้งหมด พวกเขาจะไม่ได้เข้าประเทศได้ง่ายๆ ธุรกิจและธุรกรรมต่างๆในประเทศจีนของพวกเขาถือเป็นโมฆะ 

"รัฐบาลจีนไม่ได้ห้ามโอนสัญชาติ แต่คิดให้ดีก่อนจะทำ" มันน่าจะออกมาในรูปแบบนี้มากกว่า 

เรื่องนี้สามารถดูได้จากการให้สัมภาษณ์และการพูดถึงชีวิตใหม่ของนักกีฬาจีนโอนสัญชาติอย่าง Han Ying นักกีฬาเทเบิลเทนนิสที่เปลี่ยนมาถือสัญชาติเยอรมันตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา และหลังจากการโอนสัญชาติ เธอได้ตัดสินใจย้ายครอบครัวของเธอทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ ลูกสาว และหลานสาว มาอยู่ที่เยอรมันด้วยเลย 

"อยู่ที่นี่เราทุกคนสบายดี ฉันใช้เวลากับครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นการอยู่บ้านกับลูกสาว ฉันจะสอนเธอทำการบ้าน และว่างๆเราก็จะเล่นปิงปองด้วยกัน ที่เหลือก็อาจจะนั่งเล่นนินเทนโดสวิตช์ด้วยกันกับลูกๆและสามีบ้าง แต่ตารางงานนั้นยุ่งอยู่เสมอ" Han Ying กล่าว

10ขณะที่นักกีฬาเทเบิลเทนนิสอีกคนที่ย้ายจากจีนและโอนสัญชาติเป็นชาวออสเตรเลียในช่วงปี 1990s ก็สร้างครอบครัวที่นี่ ด้วยการมีลูกสาวสองคน โดยช่วงเวลาที่เธอย้ายมาเล่นเทเบิลเทนนิสที่ออสเตรเลีย เธอก็กลายเป็นมือวางอันดับ 1 ของประเทศ ชนะการแข่งขันระดับประเทศและทวีป (โอเชียเนีย) มามากมาย ขณะที่การแข่งขันโอลิมปิกนั้นเธอก็เคยผ่านมาเเล้วตั้งแต่ปี 1994 จนถึงตอนนี้ โตเกียว เกมส์ ปี 2020 เธอก็มาแข่งด้วยและกลายเป็นนักกีฬาประวัติศาสตร์ของ ออสเตรเลีย ที่ผ่านโอลิมปิกมาแล้วถึง 6 ครั้ง 

จะเห็นได้ว่าพวกเขาเองก็มีความสุขในแบบที่พวกเขาควรจะได้รับ นั่นคือการเป็นนักกีฬาระดับต้นๆในประเทศใหม่ของพวกเขา ส่วนเรื่องของชีวิตนั้นเราคงตัดสินไม่ได้ว่าอยู่ที่จีนหรืออยู่ที่ประเทศไหนจะดีกว่ากัน เพราะนั่นมันก็เเล้วแต่มุมมองของแต่ละคน 

กลับมาที่ Han Ying ตัวของเธอและเพื่อนอีกคนอย่าง Shan Xiaona ที่ปัจจุบันเป็นนักกีฬาปิงปองตัวทีมชาติเยอรมัน ชุดได้เหรียญเงินประวัติศาสตร์ในโอลิมปิกเมื่อปี 2016 ก็ยืนยันถึงเรื่องนี้ ว่าสมัยที่เธอยังอยู่ในประเทศจีนนั้น พวกเธอยังเก่งแค่ในระดับสโมสรเท่านั้น ไม่สามารถแตะระดับทีมชาติจีนได้ ทว่าเมื่อพวกเธอได้ย้ายมาเล่นอาชีพกับลีกบุนเดสลีกา (ชื่อลีกเทเบิลเทนนิสของเยอรมัน) พวกเธอก็เลือกโอนสัญชาติเพื่อโอกาสในการแข่งขันระดับโลก 

"การเล่นในระดับสโมสร (ที่เยอรมัน) ง่ายกว่าการแข่งขันระดับทีมชาตินิดหน่อยในมุมมองของฉัน ทีมของเราแข็งแกร่งมาก แข่งแต่ละครั้งเราก็มั่นใจว่าเราจะเป็นผู้ชนะ แต่การแข่งขันระดับนานาชาตินั้นเป็นอะไรที่ยากกว่ามาก แม้บางครั้งฉันจะพยายามรีดความสามารถตัวเองมาจนถึงขีดสุด แต่ฉันก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าจะเป็นผู้ชนะ" Shan Xiaona กล่าว 

11ส่วนเรื่องแนวคิดชาตินิยมนั้น มันเป็นเรื่องความคิดส่วนบุคคลมากกว่า เราได้รับมุมมองจากชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬา (ฟุตบอล) ท่านหนึ่ง และได้รับคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จริงอยู่ที่ชาวจีนนั้นถูกปลูกฝังเรื่องชาตินิยม (Nationalism) แต่ในโลกยุคใหม่พวกเขาก็มีความเป็นวัตถุนิยม (Materialism) มากขึ้นในเวลาเดียวกัน 

พวกเขาอาจจะต้องเสียสัญชาติจีนไปและอาจจะทำให้อะไรยุ่งยากมากขึ้น แต่การโอนสัญชาติไปยังประเทศต่างๆก็มีผลดีเช่นกัน นั่นคือพวกเขาจะได้รับสิทธิพลเมืองสำหรับการอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ (นักกีฬาจีนส่วนใหญ่ย้ายไปเล่นให้กับประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในยุโรป) ซึ่งประเทศเหล่านี้มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และสามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับพวกเขาได้   

"ชาวจีนเป็นชาตินิยมก็จริง แต่พวกเขาก็มีความเป็นวัตถุนิยมสูงขึ้นมากเช่นกัน พวกเขารู้ดีว่าที่ไหนที่ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ประเทศใดให้ผลตอบแทนในเเง่ใดแง่หนึ่งของพวกเขาได้ดีที่สุด" แหล่งข่าวชาวจีนคนหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ให้เหตุผลส่วนตัวไว้กับ Main Stand 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างนอกจากนักกีฬาจีนโอนสัญขาติ คือ รัฐบาลจีน และ ชาวจีนคนอื่นๆคิดเช่นไรกับพวกเขา? พวกเขาถูกมองว่าเป็นศัตรูหรือไม่? คำตอบจากแหล่งข่าวคนเดิมของเราคือ "ขึ้นอยู่กับสถานการณ์" 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น นักกีฬาโอนสัญชาติคือนักกีฬาเกรดรองๆของประเทศ พวกเขาคือผู้ผิดหวังจากวงการ แบดมินตัน, เทเบิลเทนนิส และ ยิมนาสติก ของจีน ดังนั้น ชาวจีนไม่ได้มองว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นศัตรูหรือคู่แค้น พวกเขาต่างเข้าใจถึงโอกาสของนักกีฬาผู้ผิดหวังเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะมองหาโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าสำหรับตัวเองทั้งนั้น  

12ส่วนความโกรธแค้นและถูกมองว่าเป็นศัตรูจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ นักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ชาวจีน พ่ายแพ้ให้กับนักกีฬาเชื้อชาติจีนอพยพเท่านั้น ซึ่งในข้อนี้มันไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนักหรอก อย่างในวงการเทเบิลเทนนิส จีน ก็เพิ่งเสียสถิติกวาดทุกเหรียญทุกรุ่นในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ในโอลิมปิก 2020 นี้เท่านั้น และพวกเขาก็ไม่ได้แพ้ให้กับนักกีฬาโอนสัญชาติ แต่เป็นการแพ้ให้กับนักกีฬาจากญี่ปุ่น 

ขณะที่ในวงการอื่นๆที่นิยมใช้นักกีฬาโอนสัญชาติอย่าง แบดมินตัน ก็สามารถฟ้องได้ด้วยอันดับโลก ที่ประเภทหญิงนั้นมีนักแบดจากจีนติดท็อป 10 ของโลกอยู่ 3 คน ขณะที่นักกีฬาจีนโอนสัญชาตินั้นไม่มีใครติดท็อป 10 แม้แต่คนเดียว โดยติดท็อป 20 อยู่ 3 คนได้แก่ Michelle LI (แคนาดา), Yvonne LI (เยอรมัน) และ Beiwen ZHANG (สหรัฐอเมริกา) เท่านั้น  

ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้พอเห็นภาพได้ว่า สาเหตุที่นักกีฬาจีนโอนสัญชาติไปเล่นให้กับชาติต่างๆมากขึ้นนั้น เป็นเพราะพวกเขาต้องการมีตัวตน มีผลงาน และได้โอกาสลงแข่งขันมากกว่าการอยู่ในประเทศเกิดของตัวเอง อีกทั้งการย้ายไปเล่นในต่างแดนก็มีข้อดีเรื่องของคุณภาพชีวิตและโอกาสเจริญก้าวหน้าที่มากกว่า (ในฐานะนักกีฬาทีมชาติ) ดังนั้น จากนี้ไปเราอาจจะได้เห็นนักกีฬาจีนโอนสัญชาติมากขึ้นกว่าในปัจจุบันอีกก็ได้ 

13ส่วนเรื่องชาตินิยมในตัวของนักกีฬานั้นตกยุคไปแล้ว พวกเขาสามารถมองหาทางที่ดีกว่าการเป็นมืออันดับล่างๆในประเทศ ด้วยการเป็นมือต้นๆในประเทศอื่นแทน 

ท้ายที่สุด เรื่องของชาวจีนจะโกรธแค้นพวกเขาหรือไม่? เรื่องนี้ยังคงต้องหาคำตอบกันต่อไป เพราะเรายังไม่เห็นภาพชัดๆว่านักกีฬาจีนโอนสัญชาติสามารถเอาชนะนักกีฬาทีมชาติจีนแท้ๆได้เลย.. ซึ่งหากวันหนึ่งมันเกิดขึ้น เชื่อว่าเราจะได้คำตอบที่กระจ่างยิ่งกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน และรับรองว่ามันจะต้องน่าสนใจสุดๆเลยทีเดียว

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ ไขเบื้องหลัง : ทำไมนักกีฬาจีนที่โอนสัญชาติไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook