ใกล้บ้านไม่ใกล้เคียง : ทำไมเพื่อนบ้าน เคนยา, เอธิโอเปีย, ยูกันดา จึงไม่เก่งวิ่ง ?

ใกล้บ้านไม่ใกล้เคียง : ทำไมเพื่อนบ้าน เคนยา, เอธิโอเปีย, ยูกันดา จึงไม่เก่งวิ่ง ?

ใกล้บ้านไม่ใกล้เคียง : ทำไมเพื่อนบ้าน เคนยา, เอธิโอเปีย, ยูกันดา จึงไม่เก่งวิ่ง ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

10 ปีหลังมานี้เทรนด์ของการวิ่งโด่งดังไปทั่วโลก และหลายคนก็ติดตามเรื่องการแข่งขันวิ่งมาราธอน หรือวิ่งระยะไกลอื่น ๆ มากขึ้นด้วย

สิ่งที่เราเห็นเป็นประจำคือผู้ชนะมักจะมาจาก 3 ประเทศจากแถบแอฟริกาตะวันออกอย่าง เคนยา, เอธิโอปีย และ ยูกันดา 

อย่างไรก็ตามแอฟริกาตะวันออกไม่ได้มีแค่ 3 ประเทศนี้ คุณสงสัยบ้างไหมว่าทำไมเพื่อนบ้านหรือประเทศที่มีดินเเดนติดกับพวกเขาอย่างแทนซาเนีย, โซมาเลีย และ ซูดานใต้ จึงไม่สามารถผลิตนักกีฬาแบบที่ 3 ชาติแห่งวงการวิ่งทำได้ ? 

ผิดที่ยีนส์, แตกต่างที่พรสวรรค์ หรือห่างชั้นที่เศรษฐกิจ ? มันเกิดจากอะไร ติดตามได้ที่ Main Stand 

เหตุบ้านการณ์เมือง 

ก่อนที่จะเจาะลึกกันในเรื่องของการแข่งขัน หรือการสร้างนักวิ่งตามระบบที่ได้มาตรฐาน เราควรย้อนกลับไปดูจุดกำเนิดของเรื่องทั้งหมดกันก่อนว่าทำไมในขณะที่ เอธิโอเปีย, ยูกันดา และ เคนยา สามารถสร้างนักวิ่งระยะไกลที่โด่งดังระดับโลกได้ แต่เพื่อนบ้านที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันอย่าง โซมาเลีย, ซูดานใต้ และ แทนซาเนีย จึงไม่สามารถทำได้ ... ง่ายที่สุด คือ การมองชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา


Photo : DW 

ไม่ต้องไปไหนไกลเลยในการจัดอันดับจากเว็บไซต์ gfmag.com โดยอ้างอิงจากตัวเลข GDP และ PPP เกี่ยวกับเรื่องของประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกประจำปี 2021 เราก็จะพบได้ทันทีเลยว่าประเทศซูดานใต้ และ โซมาเลีย 2 ประเทศที่เรากำลังตั้งคำถาม ติดเข้ามาเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ขณะที่ แทนซาเนีย อยู่ในอันดับ 29 ... ทั้ง 3 ประเทศคือประเทศที่ยากจนกว่าเอธิโอเปีย, ยูกันดา และ เคนยา ประเทศที่เป็นราชาแห่งการวิ่งระยะไกลของโลก 

เท่านี้ก็แทบไม่ต้องพูดอะไรต่อแล้ว เพราะปัญหาปากท้อง คือบ่อเกิดของปัญหาทุกเรื่อง แต่เราจะเจาะให้ลึกขึ้นสักหน่อยเพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าทำไมพวกเขาจึงยากจน และทำไมการวิ่งจึงไม่ถือเป็นกิจกรรมที่พวกเขามองว่าเป็นโอกาสในการสร้างนักกีฬาที่เป็นชื่อเสียงของประเทศชาติ 

ซูดานใต้ ถือเป็นประเทศใหม่ของโลก ก่อตั้งในปี 2011 ประวัติศาสตร์ของชาตินี้ไม่มีอะไรที่คนทั้งโลกจะจดจำได้มากไปกว่า การสู้รบเพื่อแบ่งประเทศผ่านความขัดเเย้งกับ ซูดาน (ตอนเหนือ) การต่อสู้ระหว่าง 2 ประเทศนี้คือสงครามกลางเมืองที่มีระยะเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์ทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว 

ขณะที่ โซมาเลีย นั้นก็มีสงครามกลางเมืองมา 30 ปีเเล้ว นอกจากนี้พวกเขายังเป็นประเทศที่ค่อนข้างโชคร้าย ประสบกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุทกภัยในหน้าฝน และบางปีพวกเขาก็ต้องเผชิญกับความแห้งเเล้งแบบแทบไม่มีน้ำสะอาดไว้ดื่มและใช้ในชีวิตประจำ หนำซ้ำยังเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการบริการด้านสุขภาพและสาธารณะสุขระดับติดท็อป 3 ของโลก 


Photo : RAQ Stories 

สาเหตุของความขัดเเย้งคือการที่พวกเขามีกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองมากกว่า 60 เผ่า และมีการก่อกบฏกับรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา โดยการปะทะกันครั้งล่าสุดเมื่อ 8 ปีก่อน มีผู้เสียชีวิตกว่า 4 แสนคน และอพยพไปยังประเทศใกล้เคียงอีก 4 ล้านคน ... จบเลยแบบนี้ ในภาวะที่การเอาชีวิตรอดและมีกินแต่ละมื้อยังยาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการสร้างนักกีฬา หรือการพัฒนาด้านการวิ่งอะไรทั้งนั้น เพราะสงครามกลางเมืองส่งผลกระทบกับทุกอย่าง

ปี 2020 ที่ผ่านมามี 2 นักวิ่งชาวแทนซาเนีย ที่ชื่อว่า ไมเคิล คิชิบา และ นาตาเลีย เอลิซานเต ถูกปฏิเสธห้ามเข้าประเทศอิตาลี เพื่อเข้าเเข่งขันในรายการ เซียน่า มาราธอน โดยกงสุลของอิตาลีให้เหตุผลว่า เมืองที่พวกเขาอยู่กำลังเกิดสงครามและมีการปิดเมือง 

ไม่ใช่ว่าชาวซูดานใต้ แทนซาเนีย หรือ โซมาเลีย จะไม่รู้จักวิธีวิ่ง และรู้ว่าพวกเขามีร่างกายที่ได้เปรียบสำหรับกีฬาชนิดนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าการใช้ความจนเป็นข้ออ้างนั้นดูไม่สมเหตุสมผล เพราะประเทศอย่าง เคนยา, เอธิโอเปีย และ ยูกันดา ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่อย่าลืมว่าประเทศอย่าง โซมาเลีย และ ซูดานใต้ เป็นประเทศที่ไม่มีความปลอดภัยในประเทศมานานเกิน 10 ปี ต่อให้เด็กคนหนึ่งคิดจะลุกมาซ้อมวิ่งระยะไกล ก็เป็นไปได้ยากเกินกว่าที่คนประเทศอื่น ๆ จะเข้าใจเเล้ว 

มีเรื่องราวของสาวน้อยนักวิ่งชาวโซมาเลียคนหนึ่งที่ชื่อว่า ซาเมีย ยูซุฟ โอมาร์ เธอเป็นนักวิ่งระยะ 100 เมตร ที่เคยแข่งขันในระดับชิงแชมป์ทวีปแอฟริกามาก่อน และเคยไปแข่งขันในระดับโอลิมปิก เมื่อปี 2008 ที่กรุงปักกิ่งมาแล้วด้วย 


Photo : RunnesWorld.com

ซาเมีย ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ RunnesWorld.com ถึงชีวิตนักวิ่งในโซมาเลียว่า "ที่นี่มีสนามกีฬาแค่ 2 สนาม ที่แรกเป็นของกองทัพ เราต้องขออนุญาตก่อนใช้ซ้อม ซึ่งไม่ง่ายเลย"  

ตามที่เธอได้กล่าวไว้ หากไม่ใช่คนที่มีฝีมือและไม่ได้มีเส้นสายมากพอ ก็แทบไม่มีโอกาสจะใช้สนามวิ่งแบบมาตรฐานเลย และถ้าคุณยังสงสัยว่าทำไมเธอจึงไม่วิ่งตามถนน สวนสาธารณะ หรือตามชุมชน นี่คือคำตอบของเธอที่ยืนยันเรื่องหลุมดำของเหล่านักวิ่งจากประเทศที่มีสงครามกลางเมืองได้เป็นอย่างดี

"สาเหตุที่ต้องไปซ้อมที่สนามก็เพราะว่า นั่นเป็นที่เดียวที่ไม่มีการอนุญาตให้พกและใช้อาวุธ มันเป็นที่ปลอดภัยสำหรับการวิ่ง  และถ้าคุณถามว่าทำไมถึงไม่วิ่งตามถนน คำตอบคือ แค่เริ่มวิ่งคุณก็จะเห็นปืนกลอยู่ทุกหนทุกแห่งเเล้ว" ซาเมีย กล่าว 

ชีวิตที่ต้องพยายามเอาชีวิตรอดอยู่ตลอดเวลา คือชีวิตที่ไม่มีเวลาจะสนใจสิ่งอื่น ๆ เยาวชนในประเทศที่อยู่ด้วยความหวาดกลัว ขาดสารอาหาร ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม ไม่ได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ทุกอย่างสัมพันธ์กับเรื่องของการพัฒนาด้านกีฬาทั้งหมด พวกเขาไม่มีวัตถุดิบ (นักกีฬา) ที่มากพอ และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาไม่อยู่ในสภาพที่จะพร้อมผลักดันเรื่องของกีฬา เพราะยังมีปัญหาอีกมากที่จะต้องแก้ไข ซึ่งสำคัญกว่าการสร้างนักวิ่งแน่นอน 


Photo : ABC NEWS 

"คนโซมาเลียเห็นการวิ่งเป็นเรื่องแปลก นี่คือความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่เลย จริงอยู่ที่เราอาจจะพอมีนักวิ่งอยู่บ้าง (ฟาตุน อาบูการ์ โอมาร์ เคยแข่งในโอลิมปิก 2004) แต่นานวันเข้ามันก็ยิ่งยากขึ้น ผู้คนของเราไม่เข้าใจว่ากีฬาคืออะไร ผู้คนที่ถูกเลี้ยงดูภายใต้ภาวะสงคราม ไม่มีทางเลยที่จะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ นอกจากการเอาชีวิตรอด" ซาเมีย ว่าต่อ

เเม้ ซาเมีย จะได้ไปแข่งขันในโอลิมปิกมาเเล้วภายใต้การซ้อมในประเทศที่ยากลำบาก แต่ทุกอย่างก็สะท้อนผ่านผลการแข่งขันของเขาในโอลิมปิกที่ปักกิ่ง เพราะเธอเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย ทำเวลาได้แย่ที่สุด ซึ่งหลังจากการแข่งขันโอลิมปิก 2008 จบลง เธอก็อพยพจาก โซมาเลีย ไปที่ เอธิโอเปีย, ลิเบีย และขึ้นเรืออพยพเข้าไปยังยุโรปแบบผิดกฎหมาย 

น่าเสียดายที่สุดท้าย ซาเมีย ไปไม่ถึง ... เรือของเธอจมลงกลางทางในทะเลที่ใกล้เขตประเทศอิตาลี และเสียชีวิตเมื่อราวปี 2012 ... นี่คือเหตุผลที่ว่าปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ คือตัวบ่งชี้สำคัญจากหัวข้อของเราว่าทำไมชาติอย่าง แทนซาเนีย, โซมาเลีย และ ซูดานใต้ จึงไม่สามารถผลิตนักวิ่งระยะไกล หรือแม้แต่ระยะใกล้ในการแข่งขันระดับโลกได้เลย 


Photo : Alchetron

 

องค์กรที่ดูแล … ยังดูแลไม่ได้ 

ที่เมือง "อิเทน" ในประเทศ เคนยา ที่ได้ฉายาว่าเป็น "บ้านของแชมป์" มีคติพจน์ประจำเมืองอยู่ว่า "Train hard, win easy" หรือ "ยิ่งฝึกหนัก ชัยชนะก็ยิ่งเป็นเรื่องง่าย" และนั่นทำให้พวกเขาได้สร้างนักวิ่งระยะไกลเบอร์ 1 ของโลกอย่าง เอเลียด คิปโชเก้ ในเวลานี้ และยังมีนักวิ่งอีกหลายคนที่มาอยู่ที่นี่ เพื่อยกระดับตัวเองก่อนจะไปแข่งขันในระดับโลก 

ที่ เคนยา การวิ่งกลายเป็นหนึ่งในกีฬาหลักของประชาชนที่นี่ และเริ่มมีการสร้างศูนย์ฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐานอย่าง "The HATC" (High Altitude Training Centre) ที่จะรับเอานักกีฬาที่มีแววเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึก มีการจัดการโภชนาการที่เพียงพอและเหมาะสมกับนักกีฬาวิ่ง ขณะที่เส้นทางธรรมชาติพวกเขาก็ยังเลือกเส้นทางที่มีดินลูกรังที่มีความนุ่ม เหมาะกับการดูแลเท้าของนักกีฬา เรื่องแบบนี้ เคนยา ทำมาเเล้วมากกว่า 20 ปี ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพวกเขาจึงเป็นราชาของโลกแห่งการวิ่งระยะไกล 


Photo : Kenyarunningcamp.com 

ส่วนที่เอธิโอเปีย พวกเขามีพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า "วิหารที่สูงที่สุดแห่งโลกนักวิ่ง" อยู่ที่เมือง Meskel ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,300 เมตร ที่นี่เป็นศูนย์รวมการสร้างนักวิ่งของประเทศเอธิโอเปีย และสร้างนักวิ่งระยะไกลในตำนานอย่าง อเบเบ บิกิลา ที่เคยได้เหรียญทองโอลิมปิกด้วยการวิ่งเท้าเปล่ามาเเล้ว เหรียญทองของ อเบเบ สร้างวัฒนธรรมการวิ่งให้ชัดเจนมากขึ้น ชาวเอธิโอเปีย เริ่มผูกพันกับการวิ่งระยะไกลตั้งแต่วันนั้นจนมาถึงปัจจุบัน 

นักเขียนจาก เดอะ การ์เดี้ยน เคยนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการวิ่งระยะไกลของที่นี่ เขากล่าวว่า "เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น Meskel Square จะเป็นของนักวิ่งเสมอ" กล่าวคือ วัฒนธรรมการวิ่งที่เอธิโอเปียนั้นเข้มข้นระดับฝังอยู่ในเส้นเลือด ต่อให้จะมีการปฏิวัติ เปลี่ยนระบอบการปกครองหรือเหตุการณ์อะไรก็ตาม เมื่อวันใหม่เริ่มขึ้น นักวิ่งในประเทศจะออกมาวิ่งอีกครั้งเพื่อความฝันสู่ชีวิตที่ดีของพวกเขา 

ขณะที่ ยูกันดา อันเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดกับ เคนยา และมีนักวิ่งมาราธอนเหรียญทองโอลิมปิกอย่าง สตีเฟ่น คิปโรทิช (ลอนดอน 2012) ก็ยังมีศูนย์ฝึกและองค์กรที่คอยดูแลเรื่องการวิ่งระยะไกลเป็นของตัวเอง อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็มีกิจกรรมชื่อดังอย่าง ยูกันดามาราธอน ที่นักวิ่งทั่วโลกให้ความสนใจ พร้อมเงินรางวัลมากมาย 


Photo : uganda marathon runners

ที่เรายกตัวอย่างมาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่านี่คือสิ่งที่ประเทศอย่าง แทนซาเนีย, โซมาเลีย และ ซูดานใต้ ไม่มี หรือต่อให้มีก็ไม่ได้มีอำนาจและงบประมาณมากพอจะทำอะไรได้อย่างอิสระเพื่อการผลักดันวงการวิ่งให้ไปข้างหน้าได้ 

9 ปีก่อน เอเดน ยาบาโรว์ วีช และ ซาอิด โมฮัมหมัด นอร์ ประธานโอลิมปิก และ ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งโซมาเลีย ถูกกลุ่มก่อการร้ายใช้ระเบิดพลีชีพระหว่างอยู่ในโรงละคร ซึ่งภายหลังมีการรายงานจาก BBC ว่า เกิดจากการลงมือของกลุ่มกบฏอัล-ชาบับ ที่ไม่ต้องการให้ประเทศสงบสุข และการสังหารผู้ใหญ่ในวงการกีฬา เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ เพราะกีฬาคืออิสรภาพของมนุษย์ 

เรื่องมันเป็นเช่นนั้นเอง นักวิ่งที่ดีที่สุดของประเทศซูดานใต้ อย่าง กูออร์ มาเรียล ก็เป็นอีกคนที่บอกว่าในประเทศซูดานใต้ ประชาชนต้องการค่ายอพยพมากกว่าสมาคมวิ่งแน่นอน เพราะตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น มาเรียลเคยโดนกลุ่มผู้ก่อการร้ายจับตัวไปตอน 8 ขวบ แต่หนีออกมาอยู่ในค่ายผู้อพยพได้สำเร็จ ก่อนที่เขาจะโดนส่งมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งวันนี้

 

มีแค่ใจ สู้ใครไม่ได้ 

ดินดี น้ำดี ก็มีโอกาสจะปลูกพืชได้เจริญงอกงาม, ดินแห้งไร้สารอาหาร และน้ำที่ขาดแคลน ย่อมทำให้โอกาสรอดของพืชมีน้อยนิด คำกล่าวเหล่านี้สามารถเปรียบเทียบกับประเทศอย่าง แทนซาเนีย, โซมาเลีย และ ซูดานใต้ ได้เป็นอย่างดี  

พวกเขาไม่มีองค์กรที่ดูแลเรื่องการวิ่งโดยเฉพาะ พวกเขาไม่ได้ปลูกฝังให้คนในประเทศเชื่อว่าการวิ่งคือหนทางแห่งการเข้าสู่โลกใบใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่มีนักกีฬาที่เก่งระดับโลก ซึ่งประโยชน์ของนักกีฬาเหล่านี้นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศแล้ว พวกเขายังสามารถสร้างสิ่งทีเรียกว่า "มรดก" (Legacy) ที่ทำให้คนรุ่นหลังมีตัวอย่าง และมีความหวังในการสู้ต่อไป 


Photo : Al-Jazeera 

สิ่งที่น่าเสียดายคือประเทศที่ขาดโอกาสเหล่านี้ มีปัญหามากมายหลายด้านเกินไป เกินกว่าที่พวกเขาจะพยายามผลักดันสิ่งใดให้ไปไกลกว่าที่ควรจะเป็นได้ ประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกเหล่านี้ มีความได้เปรียบด้านสภาพเเวดล้อม เพราะประเทศเหล่านี้อยู่บนที่สูงและเคยมีการศึกษาว่าทำไมประเทศในโซนนี้จึงเก่งเรื่องการวิ่งระยะไกลนัก 

มีการศึกษาจาก ดร.แดเนี่ยล ลีเบอร์แมน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการทางชีววิทยาของมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ค้นพบว่าชาวแอฟริกันตะวันออกนั้น มีค่า VO2 Max หรือค่าประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ออกซิเจนที่สูงมาก ๆ โดยเด็กผู้ชายมีค่านี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 73.9 Ml/Kg/Min และผู้หญิงอยู่ที่ 61.5 Ml/Kg/Min  เมื่อเทียบกับการคำนวณที่ว่า นักวิ่งมาราธอนที่สามารถทำเวลาได้ราว 2 ชั่วโมง 36 นาที มีค่า VO2 Max อยู่ที่ประมาณ 73 Ml/Kg/Min ถือว่าเยาวชนเหล่านี้มีแต้มต่อในการเป็นยอดนักวิ่งระยะไกลไม่น้อยเลยทีเดียว 

แต่ประเทศที่คว้าโอกาสจากความได้เปรียบนี้ก็มีแค่ เอธิโอเปีย, เคนยา และ ยูกันดา เท่านั้น ... เพื่อนบ้านของพวกเขายังไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะเรียนรู้และหยิบจับเอาความได้เปรียบที่ตัวเองมีมาประยุกต์กับการวิ่งให้ได้ประสิทธิภาพ 

แทนซาเนีย, โซมาเลีย และ ซูดานใต้ พยายามแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของนักกีฬาของพวกเขา แต่พวกเขามีปัจจัยที่ขาดมากเกินไป และเป็นปัจจัยที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นมันจึงลำบากยิ่งกว่าประเทศที่เป็นราชาการวิ่งระยะไกลที่เป็นเพื่อนบ้านของพวกเขา 


Photo : Al-Jazeera 

กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ไร้คนผลักดัน ขาดความเข้าใจ ห่างไกลโอกาส และไร้คนเหลียวแล ...  เคนยา, เอธิโอเปีย และ ยูกันดา อาจจะประสบปัญหาเหล่านี้บ้าง แต่ แทนซาเนีย, โซมาเลีย และ ซูดานใต้ เจอปัญหาเหล่านี้ครบทุกข้อ 

ทั้ง ๆ ที่ใกล้กันนิดเดียว แต่พวกเขากลับห่างไกลกันเหลือเกิน นี่คือความจริงที่น่าเจ็บปวดและน่าสงสารสำหรับเหล่านักวิ่งที่มีฝืมือ ... ทางเดียวของพวกเขาคือการอพยพไปที่อื่น ซึ่งก็ต้องมาหวังกันอีกว่าพวกเขาจะโชคดีหรือไม่ 

ถ้าโชคดีพวกเขาอาจจะถึงจุดหมายปลายทางในดินแดนใหม่ และถ้าโชคร้ายพวกเขาก็อาจจะต้องตายกลางทะเลเหมือนอย่างที่ ซาเมีย โอมาร์ เคยประสบมาก่อน ... ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็มีทางเดียว คือรอจนกว่าประเทศจะสงบสุขไร้สงครามกลางเมือง และรัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องได้ ... ซึ่งพวกเขาไม่รู้เลยว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือร้ายไปกว่านั้นคือ "ปาฏิหาริย์แห่งความหวังนี้มีจริงหรือไม่?" 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ใกล้บ้านไม่ใกล้เคียง : ทำไมเพื่อนบ้าน เคนยา, เอธิโอเปีย, ยูกันดา จึงไม่เก่งวิ่ง ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook