พิคโตแกรม : สัญลักษณ์เปลี่ยนโลกจากโอลิมปิก 1964 ที่ผู้ออกแบบไม่ได้เงินแม้แต่เยนเดียว

พิคโตแกรม : สัญลักษณ์เปลี่ยนโลกจากโอลิมปิก 1964 ที่ผู้ออกแบบไม่ได้เงินแม้แต่เยนเดียว

พิคโตแกรม : สัญลักษณ์เปลี่ยนโลกจากโอลิมปิก 1964 ที่ผู้ออกแบบไม่ได้เงินแม้แต่เยนเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญในพิธีเปิด โตเกียว โอลิมปิก 2020 สำหรับพิคโตแกรม เมื่อมันกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกพูดถึง หลังถูกนำเสนอในสไตล์ "เกมซ่าท้ากึ๋น" สุดฮา 

อันที่จริงจุดเริ่มต้นการใช้พิคโตแกรม ก็มีต้นกำเนิดมาจากโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ในการแข่งขันเมื่อปี 1964 ที่ทำให้มัน "ปฏิวัติ" วงการกราฟิกดีไซน์ และถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องในการมาถึงของมัน กลับมีเรื่องราวเบื้องหลังว่าผู้ออกแบบสัญลักษณ์สุดโด่งดังนี้ ไม่ได้รับค่าจ้างแม้แต่เยนเดียวในโปรเจ็กต์นี้ 

พบกับเรื่องราวของสัญลักษณ์เปลี่ยนโลก ไปพร้อมกับ Main Stand

เวทีแสดงศักยภาพ 

โอลิมปิก ถือเป็นมหกรรมกีฬาสุดยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติ ที่ทำให้หลายชาติพากันแย่งชิงกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ที่นอกจากเม็ดเงินจะไหลเข้าประเทศแล้ว ยังเป็นเวทีในการประกาศศักดาให้โลกได้เห็น เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น ที่ตั้งเป้าจะเป็นเจ้าภาพให้ได้ 

อันที่จริง ก่อนหน้านั้นพวกเขาก็เคยได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพในปี 1940 มาแล้ว แต่ต้องสละสิทธิ์ไปเนื่องจากกำลังโฟกัสกับการไล่ล่าอาณานิคม ซึ่งสุดท้ายโอลิมปิกครั้งนั้นก็ต้องพับไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 

Photo : Olympic Games Museum

ทำให้หลังสงครามพวกเขาได้รื้อแผนที่จะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกอีกครั้ง และได้ยื่นเสนอตัวทันทีในโอลิมปิก 1960 แต่ด้วยความไม่พร้อมในประเทศ บวกกับเสียงต่อต้านไม่อยากให้โอลิมปิกจัดขึ้นในฝั่งตะวันออกสองครั้งติดกัน (ปี 1956 จัดขึ้นที่ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย) ทำให้ความหวังต้องดับลง 

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่น ยังไม่ยอมแพ้ ในครั้งต่อมาพวกเขาได้เสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ก่อนจะได้เฮกันทั้งประเทศ เมื่อ โตเกียว เอาชนะ ดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, เวียนนา ประเทศออสเตรีย และ บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในการโหวตเมื่อปี 1959 และกลายเป็นชาติแรกของเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 

Photo : IOC

แน่นอนว่าการได้เป็นเจ้าภาพครั้งนี้ของญี่ปุ่นสำคัญมาก เพราะมันเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพให้โลกได้รู้ว่าพวกเขาฟื้นตัวมาได้มากแค่ไหน หลังต้องตกอยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม 

ทำให้รัฐบาลในตอนนั้น ทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาลพัฒนาญี่ปุ่น โดยเฉพาะกรุงโตเกียวให้ทันสมัย ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างสนามกีฬาใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปรับภูมิทัศน์ของเมือง ทั้งการสร้างโรงแรม พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ไปจนถึงขยายระบบขนส่งมวลชน ที่เป็นต้นกำเนิดของรถไฟความเร็วสูงชินคันเซน

Photo : IOC

ในขณะที่งานออกแบบ ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะมันคือหน้าตาที่จะแสดงให้โลกได้เห็น จึงทำให้พวกเขาระดมนักออกแบบฝีมือเยี่ยม และดาวรุ่งพุ่งแรงมาอยู่ด้วยกัน โดยมี มาซารุ คัตสึมิ นักออกแบบชั้นครู นั่งตำแหน่งหัวหน้าทีมออกแบบ 

โดยทีมออกแบบประจำโอลิมปิก จะรับหน้าที่ออกแบบทุกอย่างที่เป็น Imagery ทั้งในงานภาพอย่างโลโก้ หรือ โปสเตอร์ ไปจนถึงชุดแข่งของนักกีฬา และเหรียญรางวัล 

แต่หนึ่งในสิ่งที่พวกเขาออกแบบที่สร้างปรากฏการณ์มาจนถึงทุกวันนี้คือ "พิคโตแกรม" 

 

แรงบันดาลใจจากตราซามูไร

อันที่จริงพิคโตแกรม หรือสัญลักษณ์แทนตัวอักษร ไม่ใช่สิ่งใหม่ มาร์คุส ออสเตอร์วัลเดอร์ เลขาธิการสมาคมนักประวัติศาสตร์โอลิมปิกสากล และผู้เชี่ยวชาญด้านกราฟิกและการออกแบบในโอลิมปิกบอกว่า การสื่อสารในลักษณะนี้ถูกใช้มาตั้งแต่โอลิมปิก 1912 ที่สวีเดน 

"การสร้างสัญลักษณ์ไม่มีตัวอักษร แต่เป็นภาพประกอบที่ทำให้ทุกคนเข้าใจ ต้องย้อนกลับไปไกลกว่านั้นมาก ผมเจอพิคโตแกรมเล็ก ๆ ในโอลิมปิกที่สตอกโฮล์มในปี 1912, ปารีส ปี 1924 และโอลิมปิกอื่น ๆ หลังจากนั้น แต่พวกเขายังไม่ได้นำเสนอในรูปแบบที่เรียบง่ายและชัดเจนอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้" ออสเตอร์วัลเดอร์ กล่าวกับ Olympics.com

"มันเป็นภาพประกอบที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ไม่มีองค์ประกอบทางคำพูด อธิบายชนิดกีฬา แข่งขันกันในเชิงศิลปะ หรืออะไรอย่างอื่น ยกตัวอย่างเช่นในการแข่งขันทางศิลปะในปารีสในปี 1924 มันมีสัญลักษณ์ มีภาพประกอบ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพิคโตแกรม" 

Photo : Olympic Games – The Design

แน่นอนว่าแตกต่างจากโอลิมปิก 1964 ที่ญี่ปุ่นนำ "พิคโตแกรม" มาใช้อย่างจริงจัง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากอุปสรรคทางภาษา 

เนื่องจากสมัยนั้น คนที่พูดภาษาญี่ปุ่นในต่างประเทศได้มีน้อยมาก เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นที่รู้ภาษาอังกฤษ พวกเขาจึงพยายามหาวิธีที่จะสื่อสารกับคนหมู่มาก โดยเฉพาะการต้องรับมือกับ 90 ชาติสมาชิกที่เข้าร่วม จนออกมาเป็น พิคโตแกรม ในที่สุด

พิกโตแกรม ของโอลิมปิก 1964 ประกอบด้วยภาพกีฬา 20 ภาพ ที่มีกีฬาอย่าง ฟุตบอล มวย ยูโด และภาพที่ให้ข้อมูล 39 ภาพ ทั้งสัญลักษณ์ห้องปฐมพยาบาล ธนาคาร ไปจนถึงตู้โทรศัพท์ ที่ต่างมาพร้อมกับลายเส้นที่เรียบง่าย

Photo : Olympic Games Museum

"พวกเขาลดทอนรูปร่างและขนาดให้เล็กที่สุดเพื่อให้คนเข้าใจสิ่งที่จะสื่อ" ออสเตอร์วัลเดอร์ อธิบายต่อ 

"ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาทางภาษา และไม่มีใครพูดภาษาญี่ปุ่นได้นอกเกาะญี่ปุ่น ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามหาวิธีที่มันใช้งานได้กับทุกคนที่มาจากต่างประเทศ นั่นก็คือระบบอวัจนภาษา" 

โดยหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของพวกเขาก็คือตราประจำตระกูลของซามูไร (Kamon) นักรบในอดีตของญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่จะเป็นรูปทรงแบบเรขาคณิต และใช้สีเพียงสีเดียว 

Photo : JAPANESE LOGO DESIGN

"ในญี่ปุ่น เรามีบางอย่างที่คล้ายกับอักษรภาพอยู่แล้ว นั่นก็คือตราประจำตระกูล ในตราประจำตระกูลมันจะมีรูปทรงแบบง่าย ๆ ที่มีความเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง เพื่อเป็นภาพแทนของแต่ละตระกูล มันเป็นวิธีเฉพาะของชาวญี่ปุ่นในการลดทอนวัตถุให้เป็นนามธรรม" มิตสึโอะ คัตสึอิ หนึ่งในทีมออกแบบกล่าวกับ Hesperios

"ดังนั้นสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัย 30 ปี อักษรไม่ได้เป็นแนวคิดที่พวกเขาไม่คุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง การออกแบบพิคโตแกรมก็มีจุดเริ่มต้นมาจากตรงนั้น" 

แต่นั่นไม่ใช่วัฒนธรรมโบราณเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลต่องานออกแบบชิ้นนี้ 

 

พริ้วไหวแบบภาพเขียนอุคิโยะเอะ

แม้ว่า โอลิมปิก โตเกียว 1964 อาจจะไม่ใช่การแข่งขันแรกที่นำพิคโตแกรมมาใช้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สัญลักษณ์แทนตัวอักษรในโอลิมปิกครั้งนี้มีความโดดเด่น คือการเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ในทันที 

มันเป็นการผสมผสานระหว่างภาพที่ดูมีมิติกับความเรียบง่าย ที่แม้จะลดทอนองค์ประกอบที่สำคัญ แต่ก็เต็มไปด้วยการแสดงออกที่ทำให้รู้สึกว่ากำลังเคลื่อนไหว หรือกำลังถ่ายทอดเรื่องราว

ยกตัวอย่างเช่นสัญลักษณ์ของวอลเลย์บอล มันประกอบด้วยเส้นสองเส้น และวงกลมสองวง แค่มองแวบแรก ก็รู้ได้ทันทีว่ามันคือร่างของมนุษย์ที่กำลังเคลื่อนที่ไปตีบอลที่ลอยอยู่กลางอากาศ 

หรือสัญลักษณ์ที่บอกข้อมูลอย่าง ธนาคารที่เป็นรูปมือถือธนบัตร หรือ วงกลมล้อมรอบช้อนส้อมที่สื่อไปถึงร้านอาหาร เช่นเดียวกับรูปมือที่นิ้วมีผ้าพันแผลและเครื่องหมายบวกที่ทำให้รู้ได้ทันทีว่าคือสถานที่ปฐมพยาบาล 

Photo : Olympic Games Museum

"ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการใช้ภาพที่ดูง่าย แต่บอกข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด และมันต้องได้ผลกับวัฒนธรรม อายุ และภูมิหลังที่แตกต่างกัน" ไอซาคุ มุราโคชิ หนึ่งในทีมออกแบบกล่าวในบทความ The Power of the Pictogram Developing the Legacy of the Tokyo 1964 Games

มาโคโตะ วาตานาเบะ อาจารย์ด้านการสื่อสารและสื่อ จากมหาวิทยาลัย ฮอกไกโด บุงเคียว มองว่าพวกเขาน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก ภาพ "อุคิโยะเอะ" หรือภาพพิมพ์แกะสลักไม้ที่ได้รับความนิยมในสมัยเอโดะ 

มันคือภาพสองมิติที่รังสรรค์จากฝีมือของ คัตสึชิกะ โฮคุไซ ศิลปินในยุคนั้น ซึ่งมีจุดเด่นในการเขียนภาพที่แสดงถึงความพริ้วไหว โดยหนึ่งในภาพอันโด่งดังของเขาก็คือ The Great Wave off Kanagawa หรือคลื่นยักษ์นอกชายฝั่งคานางาวะ

Photo : Metropolitan Museum of Art

"พิคโตแกรมเหล่านี้มีแนวคิดเดียวกับการถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหวที่เราเห็นใน 'อุคิโยะเอะ' หรือภาพพิมพ์ไม้แกะสลัก และต่อมาในมังงะ ที่อยู่ในพื้นที่สองมิติที่แบนราบ" อาจารย์วาตานาเบะ อธิบาย 

ซึ่งมันก็ทำให้พิคโตแกรมทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในโอลิมปิก 1964 พร้อมกับเสียงชื่นชม เมื่อสัญลักษณ์แทนอักษรนี้ สามารถสื่อให้คนต่างชาติต่างภาษา สามารถเข้าใจได้ตรงกัน 

ในขณะเดียวกันก็ช่วย "ปฏิวัติ" วงการกราฟิกดีไซน์ ที่ทำให้การออกแบบลักษณะนี้กลายเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก และถูกต่อยอดนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นหน้าห้องน้ำสาธารณะ หรือ บนแผนที่ 

Photo : The Yomiuri Shimbun

"ดูอย่างภาพทางออกฉุกเฉินที่เป็นรูปผู้ชายตัวเขียวกำลังวิ่งไปข้างหน้าเพื่อเปิดประตู ซึ่งเป็นหนึ่งในพิคโตแกรมที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล ไม่ว่าคุณจะเห็นมันที่ไหน ภาพนี้ก็สื่อสารว่าต้องใช้ความเร็ว ต้องวิ่ง ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมไปถึงแนวคิดของความปลอดภัยที่อยู่แถวนั้น" 

"เพื่อทำอย่างนั้น ในพื้นที่ขนาดเล็ก และการใช้แค่สองสี ก็สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายแล้ว" อาจารย์วาตานาเบะ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ดี เบื้องหลังความชื่นมื่นนี้ ก็มีบางอย่างซ่อนอยู่ 

 

ไม่ได้ค่าจ้าง

ความสำเร็จของพิคโตแกรม ในโตเกียว 1964 ทำให้โอลิมปิกสากล กำหนดเป็นนโยบายไว้ว่าในโอลิมปิกทุกครั้ง ทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว ประเทศเจ้าภาพจะต้องออกแบบพิคโตแกรมของตัวเองขึ้นมา 

ทำให้หลังจากนั้น พิคโตแกรม ได้กลายเป็นหนึ่งในการออกแบบที่ใช้บ่งบอกอัตลักษณ์ของตัวเองในโอลิมปิก ยกตัวอย่างเช่น เม็กซิโก 1968 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลาจารึกของชาวมายัน หรือ ซิดนีย์ 2000 ที่ใช้บูมเมอแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของพิคโตแกรม 

Photo : Olympic Games Museum

แน่นอนว่าการที่มันแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างนี้ ทำให้หลายคนคิดว่าชาวญี่ปุ่นที่เป็นทีมออกแบบในโอลิมปิก 1964 น่าจะรวยเละจากค่าลิขสิทธิ์ แต่ความจริงแล้ว น่าเสียดายที่ไม่ใช่ 

เพราะแม้ว่าจะทำงานกันอย่างหลังขดหลังแข็งกันเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อช่วยกันออกแบบพิคโตแกรม แต่ทีมออกแบบก็ถูกให้เซ็นสัญญา (บางแหล่งข้อมูลก็ว่าบังคับ) ว่างานนี้จะไม่ได้รับการจดลิขสิทธิ์ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่ให้มันเป็นสมบัติสาธารณะ ที่ทำให้คนทั่วโลกสามารถใช้งานได้ฟรี ๆ   

แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือตลอดระยะเวลากว่าพันวันที่ทีมออกแบบต้องทำงานเพื่อชาติ พวกเขากลับไม่ได้รับค่าตอบแทนแม้แต่เยนเดียว หรือแค่ค่ารถก็ยังไม่ได้ โดยได้ค่าตอบแทนมาเป็นแค่ตั๋วเข้าชมการแข่งขันโอลิมปิกเท่านั้น

Photo : Olympic Games Museum

"ฟุคุดะ ชิเงโอะ สมาชิกคณะอนุกรรมการตราสัญลักษณ์ (พิคโตแกรม) เล่าว่า เขาต้องทำงานสามเดือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างเลย แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้น เขาต้องเซ็นสัญญาสละสิทธิ์ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์" บางส่วนจากหนังสือ Yusaku Kamekura: His Works. Bijutsu Shuppan-sha

โดยคนที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินจากความเหน็ดเหนื่อยในครั้งนี้คงจะมีเพียง ยูซากุ คาเมคุระ เมื่อโลโก้ โอลิมปิก ที่เขาส่งประกวดเป็นการส่วนตัว ได้รับเลือกให้เป็นโลโก้ประจำการแข่งขัน และทำให้เขาได้รับเงินรางวัลที่สูงถึง 250,000 เยน (65 ล้านบาทหากเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน) ไปครอบครอง 

Photo : Olympic Games Museum

ทว่า สามในสี่ของเงินรางวัล เขาต้องนำไปจ่ายให้กับ ฮายาซากิ โอซามุ ช่างภาพ และผู้กำกับ มุราโคชิ โจ ในการประสานงาน แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังเหลือเงินติดตัวที่เทียบกับค่าเงินในปัจจุบันอยู่ราว 16 ล้านบาทสำหรับงานนี้  

แต่ถึงอย่างนั้นความเสียสละของพวกเขา ก็ทำให้พิคโตแกรม กลายเป็นอักษรภาพที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้งานได้ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ จนทำให้มันแพร่หลายไปทั่วโลก 

 

จาก 1964 ถึง 2020 

พิคโตแกรมกลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว แต่ก็ไม่ได้เป็นไฮไลต์มากนัก จนกระทั่งญี่ปุ่น ชาติผู้คิดค้นและนำมาใช้เป็นชาติแรก ได้เวียนกลับมาเป็นเจ้าภาพในปี 2020 สัญลักษณ์นี้ก็ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง 

เมื่อทีมออกแบบที่นำโดย มาซาอากิ ฮิโรมุระ ได้ออกแบบพิคโตแกรมขึ้นมาใหม่ โดยมีเวอร์ชั่น 1964 เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งยังคงความเรียบง่ายแบบมินิมอล แต่มีมิติมากขึ้น จากการเน้นให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย 

"ผมพยายามนำเสนอมิติความงามของการเคลื่อนไหวของนักกีฬา ผ่านพิคโตแกรมเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็เคารพมรดกของผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมการออกแบบญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมา จากสิ่งที่พวกเขาทำไว้ในโตเกียว 1964" ฮิโรมุระ อธิบาย 

Photo : IOC

สำหรับพิคโตแกรม 2020 ถูกทำออกมาถึง 50 ภาพ จาก 33 ชนิดกีฬาในโอลิมปิก ซึ่งทำให้กีฬาบางประเภทอย่างจักรยานหรือขี่ม้ามีมากกว่า 1 ภาพ ในขณะที่พาราลิมปิกมีทั้งหมด 23 ภาพจาก 22 ชนิดกีฬา และทั้งสองรายการนี้ ยังถูกแบ่งออกเป็นสองเซ็ต คือแบบไม่มีกรอบและแบบมีกรอบ 

ก่อนที่มันจะกลายเป็นไฮไลต์สำคัญในพิธีเปิด เมื่อพิคโตแกรมถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอในสไตล์ Kasou Taishou เกมโชว์สุดฮาที่บ้านเรารู้จักกันในชื่อ "เกมซ่าท้ากึ๋น" จนถูกพูดถึงไปทั่วโซเชียล ทั้งในไทยและต่างประเทศ 

นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งความคิดสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่นที่สืบทอดมาจากในอดีต ไม่ว่าจะเป็นในแง่การออกแบบหรือการนำเสนอ และทำให้โอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ มีสีสันตั้งแต่วันแรกของการเปิดการแข่งขัน

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการประกาศศักดาให้โลกได้เห็นว่า ในเรื่องนี้พวกเขาไม่เคยยอมใคร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook