เอริค มูซซัมบานี่ : ฉลามหนุ่ม "อิเควทอเรียลกินี" ผู้ทำสถิติว่ายน้ำช้าที่สุดโอลิมปิก
การแข่งขันว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์ 100 เมตรชายในโอลิมปิก 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีสิ่งแปลกประหลาดอยู่หนึ่งอย่างที่โลกไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก
นั่นคือนักกีฬาคนหนึ่ง ว่ายนํ้าช้าอย่างไม่น่าเชื่อ จนแฟน ๆ ที่เข้ามาชมการแข่งขันในสนามโห่ไล่ เนื่องจากพวกเขาต้องการดูการแข่งว่ายน้ำที่เข้มข้นจากนักกีฬาระดับโลก
พวกเขาไม่เข้าใจว่า นักว่ายน้ำที่ว่ายช้าขนาดนี้มาแข่งในโอลิมปิกได้อย่างไร ? จนกระทั่งเมื่อนักว่ายน้ำผิวดำคนนั้นแตะขอบสระ ความจริงก็ปรากฏ
นี่คือเรื่องราวของนักว่ายน้ำระดับโอลิมปิกที่ว่ายช้าที่สุด แต่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดให้กับการว่ายน้ำในทวีปแอฟริกา ... เขามีชื่อว่า เอริค มูซซัมบานี่ จากประเทศ อิเควทอเรียลกินี
และนี่คือความยิ่งใหญ่ภายใต้เสียงโห่ที่ซิดนีย์และประโยคสุดคลาสสิก "เออ ผมว่ายน้ำไม่เป็น" ... ติดตามได้ที่ Main Stand
ทำไมแอฟริกันว่ายน้ำจึงเป็นเรื่องแปลก ?
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของวงการว่ายน้ำ ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะไกล รายการระดับชิงแชมป์โลกหรือโอลิมปิก สิ่งหนึ่งที่คุณจะพบได้และชวนให้คิดหาคำตอบคือ "ทำไมถึงไม่ค่อยมีนักกีฬาจากประเทศในทวีปแอฟริกาเลย ?"
คิดตามตรรกะของคนทั่วไป เราทุกคนรู้ดีว่าชาวแอฟริกันมีความได้เปรียบเรื่องกล้ามเนื้อและพลังปอดที่ไม่ธรรมดา เราจึงได้เห็นพวกเขาเป็นเจ้าเหรียญทองในการวิ่งระยะสั้น ซึ่งแม้แทบไม่มีชาติจากทวีปแอฟริกาคว้าเหรียญทองในการวิ่งระยะสั้น แต่ก็ได้เห็นนักวิ่งเชื้อสายแอฟริกันชนะการแข่งเป็นประจำ และการวิ่งระยะไกลที่มี เคนยา กับ เอธิโอเปีย เป็นหัวหอก ... ถ้าพวกเขาวิ่งได้เร็ว วิ่งได้ทน ทำไมพวกเขาถึงไม่มาแข่งว่ายน้ำกันบ้าง ?
Main Stand เคยลงบทความเกี่ยวกับข้อสงสัยนี้ไว้แล้ว และเราจะมาสรุปแบบรวบรัดกันอีกครั้ง เรื่องนี้มีสาเหตุหลัก ๆ อยู่สามอย่างคือพันธุกรรม, ประวัติศาสตร์โลก และ ฐานะ
1. สรีระของชาวแอฟริกันแม้จะมีกล้ามเนื้อเยอะ แต่ก็ไม่เหมาะกับการว่ายน้ำเท่ากับคนขาว เรื่องนี้ถูกยืนยันโดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ที่ค้นพบว่า มวลกระดูกของคนแอฟริกัน หนาแน่นและหนักกว่าคนขาวถึง 300 กรัม และนั่นทำให้พวกเขาลอยในน้ำได้ไม่เก่งเท่า
2. ประวัติศาสตร์ของโลกชัดเจนมาก ๆ โดยเฉพาะการแบ่งแยกชนชั้นจากสีผิว ย้อนกลับไปตอนที่กีฬาว่ายน้ำเริ่มเป็นที่สนใจของคนอเมริกันในยุค 1920s พวกเขาอนุญาตให้ใช้สระว่ายนํ้าได้เฉพาะแค่คนขาวเท่านั้น ส่วนคนดำหมดสิทธิ์ ... การโดนกีดกันตั้งแต่อดีตกาล ทำให้พวกเขาไม่มี Know How เกี่ยวกับเรื่องการว่ายน้ำมากนัก
3. ต้นทุนที่ต้องจ่ายในการซ้อมว่ายน้ำนั้นมีราคาแพง ทั้งการจ่ายค่าเรียน การเช่าสระว่ายน้ำ หรือถ้าจะเอาให้เก่งก็ต้องจ้างโค้ชส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่สัมพันธ์กับฐานะของชาติในทวีปแอฟริกาที่ประสบปัญหาเรื่องความยากจนและปากท้อง ดังนั้นแม้แต่สระน้ำแค่ 1 สระก็หาได้ยากยิ่งในชาติต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา ครั้นจะใช้แหล่งน้ำธรรมชาติก็ไม่ได้อีก เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยวเกินกว่าจะว่ายได้
สามข้อนี้ทำให้เราเห็นภาพชัด ๆ ว่าทำไมคนดำหรือคนแอฟริกันจึงไม่เก่งนักในเรื่องนี้ ... ทว่าจากเหตุผลที่กล่าวมายังนำมาสร้างข้อสงสัยอีก 1 อย่างคือ "ถ้าเริ่มตอนนี้ล่ะ" พวกเขาจะทำได้ดีขนาดไหน ?
บทความที่เกี่ยวข้อง >> สรีระหรือฐานะ : คลายปมสงสัยทำไมคนเชื้อสายแอฟริกัน ไม่ค่อยเป็นนักว่ายน้ำ ? | Main Stand
หากตัดข้อ 1 เรื่องสรีระไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาได้มาตั้งแต่เกิด จะเห็นว่าข้อ 2 ในเรื่องของประวัติศาสตร์การเหยียดผิว และข้อ 3 เรื่องต้นทุน สองสิ่งนี้แก้ไขกันได้ โลกยุคปัจจุบันการเหยียดผิวกลายเป็นความผิดร้ายแรง คนผิวดำสามารถทำได้ทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการ ดังนั้นถ้าพวกเขาจะลงสระว่ายน้ำก็คงไม่ยากอะไร และเรื่องของต้นทุนนั้น ทุกวันนี้การจะใช้สระว่ายน้ำก็ไม่ได้มีราคาแพงอะไรนัก อีกทั้งหลักสูตรต่าง ๆ ก็เข้าถึงง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ
"ทำไม่ได้ หรือไม่ได้เริ่มทำ" นี่คือสิ่งที่เป็นคำถามต่อไป ซึ่งในคำถามนี้มีนักว่ายน้ำชาว อิเควทอเรียลกินี คนหนึ่งได้ลงมือหาคำตอบแล้ว ว่าถ้าพวกเขาเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
เป็นคนแรกนั้นยากเสมอ
ลืมภาพของความยากจนและขาดแคลนในแอฟริกาไปก่อนได้เลย เพราะประเทศ อิเควทอเรียลกินี ของ เอริค นั้น ถือเป็น 1 ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในทวีป เพราะเป็นประเทศที่ส่งออกทั้งแร่ธาตุและน้ำมันจำนวนมหาศาล โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าสำคัญ ... แม้จะมีการยืนยันว่าเงินส่วนใหญ่มักจะตกไปอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำ หรือกลุ่มราชวงศ์ แต่มันก็ยังมากพอที่จะดูแลประชากรในประเทศที่มีจำนวนแค่ราว ๆ 1.5 ล้านคน
เงินที่เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล มากพอที่จะทำให้ประชาชนในประเทศนี้มีการศึกษามากที่สุดในทวีป เพราะประชากรใน อิเควทอเรียลกินี มีอัตราการรู้หนังสือมากถึง 95% ของคนในประเทศทั้งหมด
คิดดูแล้วกัน ขนาดเป็นประเทศที่มีความพร้อมขนาดนี้ พวกเขาก็ยังไม่สามารถผลักดันกีฬาว่ายน้ำ หรือทำให้การว่ายน้ำกลายเป็นกิจกรรมของคนในประเทศได้เลย เพียงเพราะปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น นั่นคือเรื่องสิ่งตกค้างจากประวัติศาสตร์เรื่องการเหยียดผิว และที่สำคัญอีกอย่างคือ ไม่มีคนเริ่มทำอย่างจริงจัง จนกระทั่งมาถึงการเปลี่ยนแปลงที่นำโดย เอริค นี่แหละ ... และอะไรพาเขามาที่สระว่ายน้ำกันแน่ ?
"เหตุผลง่ายมาก เพราะผมว่ายน้ำไม่เป็น ผมเคยคิดมานานแล้ว เราน่าจะลองดูสักครั้งให้รู้กันไป" เอริค มุซซัมบานี่ กล่าว
คุณอาจจะไม่เชื่อ แต่จากการสำรวจเรื่องอุบัติเหตุการจมน้ำตายของเยาวชนในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2007 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เสียชีวิต 3,443 คน และ 3 ใน 4 ของเด็กที่จมน้ำตาย เป็นเด็กที่มีเชื้อสายแอฟริกัน ... แม้จะอยู่ห่างคนละฟากโลก แต่มันก็พอจะบอกถึงเรื่องของการว่ายน้ำกับชาวแอฟริกันได้เป็นอย่างดีว่า พวกเขาค่อนข้างจะเป็นเส้นขนานกันอย่างชัดเจน
เอริค อยากรู้คำตอบนั้น ทำไมเราจึงหนีมันแทนที่จะลองว่ายน้ำดู แต่ความอยากของคน ๆ เดียวนั้น ไม่มีทางเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนทั้งประเทศได้ง่าย ๆ ที่ประเทศ อิเควทอเรียลกินี ไม่ได้มีสระว่ายน้ำมาตรฐานเลยแม้แต่สระเดียว ดังนั้น เอริค จึงต้องหาวิธีอื่น เมื่อไม่มีสระว่ายน้ำสาธารณะ เขาก็จะเสียเงินเช่าสระว่ายน้ำของโรงแรมแทน
โรงแรมในเมืองหลวงของประเทศ (มาลาโบ) มีสระว่ายน้ำ เพื่อรองรับแขกและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เอริค จึงไปที่นั่น และจ่ายค่าเช่าสระว่ายน้ำเพียงสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นโรงแรมจะต้องเปิดบริการให้กับแขกที่เข้ามาพักเท่านั้น
"ผมต้องไปที่โรงแรม Old Ureca สระที่โรงแรมนั้นยาวแค่ 12 เมตรเห็นจะได้ และโรงแรมก็เปิดให้บริการกับคนนอกแค่ตอน ตี 5 ถึง 6 โมงเช้าเท่านั้น ผมเลยใช้บริการได้แค่สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น"
ปัญหาในการเรียนยังมีต่ออีก เอริค เริ่มฝึกเองโดยไม่มีใครสอน เพราะเขาไม่มีเงินจ้างครูฝึกส่วนตัว และต่อให้มีเงิน ในประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการว่ายน้ำเลย ก็ใช่ว่าจะหาคนสอนได้ง่าย
เป็นอีกครั้งที่ เอริค ต้องพลิกแพลง เมื่อไม่มีโค้ชก็ต้องไปหาคนที่ว่ายน้ำเป็น เขาตอบคำถามตัวเองและได้คำตอบแบบกำปั้นทุบดิน นั่นคือ "ชาวประมงอยู่บนเรือ อยู่กับน้ำทะเลทั้งปี ทำไมเราไม่ไปถามเขา ?"
"ผมเลยไปลองว่ายน้ำในแม่น้ำและในทะเลดู ครูสอนของผมคือชาวประมง ... หากจะพูดให้ถูกคือ พวกเขาก็ไม่ได้รู้วิธีว่ายน้ำหรอก พวกเขาแค่ลอยตัวแบบไม่จมน้ำตายได้แค่นั้นแหละ เห็นชัดเลยไหมว่าจุดเริ่มต้นของผมไม่มีอะไรใกล้เคียงคำว่ามืออาชีพเลยแม้แต่น้อย"
บุญหล่นทับ
ไม่มีทางที่นักกีฬาที่ซ้อมว่ายนํ้าในสระยาว 12 เมตร และมีครูสอนเป็นขาวประมงจะก้าวหน้าในเวลาไม่กี่ปี และได้เข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกได้ ... เราทุกคนรู้ความจริงนี้ดี แต่จะรู้ดีเท่ากับคนที่ลงมือทำได้อย่างไร ?
เอริค เองก็ไม่ได้หวัง แต่การลงมือทำมันส่งผลจริง ๆ เขาฝึกอยู่แบบนี้ได้ 2 ปี ก็มีโครงการจาก IOC หรือ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่เหมือนกับเป็นบุญหล่นทับเขา โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจาก IOC มองเห็นปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ไม่มีนักว่ายน้ำแข่งในโอลิมปิกเลย เพราะนอกจากพวกเขาจะไม่รู้วิธีว่ายแล้ว พวกเขายังขาดสถานที่ และอีกหลาย ๆ อย่าง
หากรอให้ชาติกำลังพัฒนาเหล่านี้งมผิดงมถูก ไม่รู้อีกกี่สิบปีพวกเขาจะได้ไปโอลิมปิก ดังนั้น IOC จึงมอบโควต้าให้กับนักกีฬาว่ายน้ำในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยให้สมาคมที่ดูแลเรื่องดังกล่าวส่งชื่อนักกีฬาที่ดีที่สุดของตัวเองมาร่วมแข่งขันในโอลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ โดยไม่ต้องผ่านรอบคัดเลือก
ในประเทศ อิเควทอเรียลกีนี จะมีใครที่ว่ายน้ำอย่างบ้าคลั่งได้เท่า เอริค อีก ? ไม่มีแน่ ... ดังนั้นโควต้าดังกล่าวจึงตกเป็นของ เอริค แบบงง ๆ ที่แม้แต่เขาเองก็ยังช็อก เพราะไม่คิดว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสไปแข่งในมหกรรมระดับโลกอย่าง โอลิมปิก เลย
เอริค ได้รับเงินจำนวนหนึ่ง และตั๋วเดินทางไปยังประเทศ ออสเตรเลีย ก่อนการแข่งขันจะเริ่ม เมื่อไปถึงหมู่บ้านนักกีฬา เขาก็ต้องอ้าปากค้าง นี่คือโลกอีกใบที่เขาไม่เคยเห็น และหากเขาไม่เริ่มว่ายน้ำ ก็ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เห็นหรือไม่
"ในหัวผมมีแต่คำว่าโอลิมปิก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าซิดนีย์อยู่ประเทศอะไร นี่คือครั้งแรกที่ผมเดินทางออกมานอกประเทศ การเดินทางใช้เวลาถึง 3 วัน มีการจอดแวะโน่นแวะนี่จนผมจำไม่ได้ว่าที่ไหนบ้าง (เปลี่ยนไฟลต์บิน)" เอริค รู้สึกราวกับตัวเองเป็นเด็กที่กำลังเดินทางมาทัศนศึกษา เขาตื่นเต้นทุกวินาทีตลอดการเดินทางนั้น
"พอถึงหมู่บ้านนักกีฬาผมร้อง โอ้แม่เจ้า ! สระว่ายน้ำที่นี่ใหญ่มาก ตอนแรกผมไม่รู้หรอกว่าสระว่ายน้ำมาตรฐานต้องยาว 50 เมตร มันใหญ่กว่าที่ผมคิดเยอะ ผมนึกในใจ 'ตาย ๆ แบบนี้กูตายแน่ จะเอาอะไรไปแข่งกับเขา'" เอริค กล่าวต่อ
โชคที่ดีของเขายังคงดำเนินต่อไป ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น ฝ่ายจัดการแข่งขันส่งเขาไปฝึกซ้อมร่วมกับทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่อุดมไปด้วยยอดนักว่ายน้ำระดับโลก แรก ๆ เขาก็อายเพราะตัวเองว่ายน้ำไม่เก่งเหมือนคนอื่น ๆ แต่พอมองว่านี่คือการเก็บความรู้ดีที่สุดในชีวิตของเขา หากเขาไม่กล้าถาม ไม่กล้าพูด เขาจะต้องอยู่กับบทเรียนว่ายน้ำโดยชาวประมงไปตลอดชีวิตแน่ ๆ
"ผมได้ซ้อมกับทีมอเมริกา ผมดูการว่ายของพวกเขาละเอียดยิบแบบไม่ให้ตกหล่นเลย พวกเขาเห็นผมเก้ ๆ กัง ๆ โค้ชของทีมก็เรียกผมมาคุยและมอบแว่นตาและกางเกงว่ายน้ำให้ ก่อนจะบอกให้ผมลงสระเลย เขาจะเริ่มสอนเทคนิคให้กับผมแล้ว"
3 วันในการเก็บตัวกับทีมอเมริกา เอริค รู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้นเยอะมาก และการแข่งขันจริงก็มาถึงจนได้ ตัวของกลุ่มนักกีฬาจากโควต้าประเทศกำลังพัฒนา จะต้องเล่นในรอบคัดเลือกและทำให้ได้ตามเวลาที่กำหนดก่อน จึงจะมีโอกาสเข้าไปเล่นกับกลุ่มที่จะเล่นเพื่อลุ้นเหรียญ เอริค ขึ้นไปยืนบนแท่น พร้อมกับนักกีฬาอีก 2 คนที่มาจากประเทศ ไนจีเรีย และ ทาจิกิสถาน ... นี่คือการแข่งขันนานาชาติครั้งแรกในชีวิตของเขาและวงการว่ายน้ำของประเทศ อิเควทอเรียลกินี ด้วย
"ตู้ม ตู้ม !" เสียงกระโดดลงน้ำดังขึ้นสองครั้งจากนักกีฬาอีก 2 คน ... น่าเสียดายที่พวกเขาออกตัวเร็วเกินไป นักกีฬาจาก ไนจีเรีย และ ทาจิกิสถาน โดนปรับตกรอบเนื่องจากออกตัวผิดกติกา และนั่นทำให้เหลือ เอริค จาก อิเควทอเรียลกินี คนเดียวเท่านั้นในการแข่งขันจับเวลารอบคัดเลือกนี้
"จากที่เคยคิดว่าน่าจะสนุกดี แต่พอเหลือคนเดียวกลับรู้สึกกลัวขึ้นมาเลย ผมตื่นเต้นหัวใจแทบหลุด แฟนกีฬาว่ายน้ำเข้ามาประมาณ 17,000 คน และผมต้องว่ายในสระคนเดียวเท่านั้น" เอริค กล่าว
มาถึงตรงนี้ไม่มีอะไรหยุดเขาได้แล้ว ถ้าจะถอยกลับก็ใช่ที่ เอริค ตั้งใจทำสมาธิก่อนการออกสตาร์ต เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณ วินาทีประวัติศาสตร์ของเขาก็เริ่มขึ้น
การว่ายน้ำที่ช้าที่สุดในโอลิมปิก
"ผมคิดว่าผมทำได้ดีมาก ๆ ในช่วง 50 เมตรแรก" เอริค บอกความรู้สึกตอนขาไป ทว่าขากลับนี่สิคือของจริง
เอริค ตื่นเต้นมากจนใส่พลังทั้งหมดลงไปในการว่าย 50 เมตรแรก และเขาคงลืมไปว่ายังมีอีก 50 เมตร ที่ต้องแข่งต่อให้จบการแข่งขัน ถึงตอนนั้นเขาบอกตรง ๆ ว่าพลังหมดหลอดแล้ว
"ผมใส่เกลี้ยงตับในช่วง 50 เมตรแรก เพราะคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ต้องแสดงออก มีคนทั้งโลกรอดูอยู่ คนที่บ้าน คนที่ประเทศ คนในครอบครัวของผม แต่ 50 เมตรหลัง ขาของผมแข็งจนแทบขยับไม่ได้ ผมรู้สึกว่ายิ่งว่ายยิ่งช้า เหมือนว่ายอยู่กับที่เลย" เอริค กล่าวต่อ
กลุ่มคนดูที่มารอดูการแข่งขันรอบต่อไป เริ่มเบื่อกับการว่ายของ เอริค ที่ไม่แตะขอบสระสักที พวกเขาส่งเสียงโห่ และพยายามบอกให้ เอริค ยอมแพ้เถอะ มันกินเวลานานเกินไปแล้ว
"ผมว่าผมเริ่มได้ยินเสียงคนตะโกนไล่ผมนะ ... แต่พอได้ยินแบบนั้นผมบอกเลย ผมยอมไม่ได้ ผมกระตุ้นตัวเอง ไป ไป ไป ! อีกเฮือกเดียวเอาให้จบ อีกนิดเดียว ผมกลั้นใจแทบหมดลม และพระเจ้าช่วย สุดท้ายผมแตะขอบสระได้ ตอนนั้นผมบอกตัวเองว่า เราก็ทำได้เหมือนกันนี่หว่า" เอริค กล่าว
เวลาที่ เอริค ทำได้คือ 1 นาที 52.72 วินาที หากจะบอกว่าช้าขนาดไหนในการแข่งขันระดับโลก ก็ต้องบอกว่าช้ากว่าที่ ปีเตอร์ ฟาน เด็น โฮเกนแบนด์ เจ้าของเหรียญทองรายการเดียวกันจาก เนเธอร์แลนด์ ทำสถิติโลกไว้ที่ 47.84 วินาที ในรอบคัดเลือก "มากกว่า 1 นาที" ... "ช้ากว่า 2-3 เท่า" คือคำกล่าวที่พอจะระบุได้
เมื่อ เอริค แตะขอบสระ เสียงตะโกนไล่เขาก็เปลี่ยนไป คนดูชอบใจในความใจสู้ของเขา ทุกคนปรบมือยินดี ที่อย่างน้อย ๆ ก็สู้จนแตะขอบสระได้ และการแข่งขันแบบ "ว่ายคนเดียว" ในวันนั้น ก็ได้รับการพูดถึงระดับไวรัล มีนักข่าวและสื่อเข้าหาเขามากมาย แบบที่ เอริค ยังงงว่า ช้าขนาดนี้ มันพิเศษอย่างไร ?
ไม่เริ่ม … ไม่มีวันชนะ
"สื่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ผมเยอะอย่างน่าเหลือเชื่อ พวกเขาถามผมว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้แตะขอบสระ ผมตอบได้คำเดียวว่า ดีใจมาก นี่คือประวัติศาสตร์ ผมเป็นนักว่ายน้ำคนแรกในประเทศที่ได้ลงแข่งขันระดับนานาชาติ ผมแพ้ขาดลอย ผมรู้ แต่ผมมีความสุขมากที่ได้ทำมัน เวลาของผมแย่มาก แต่แล้วยังไงล่ะ ? สุดท้ายผมก็ได้ทำมันแล้ว" เอริค กล่าวกับเว็บไซต์ Olympics
เอริค ทำได้ประทับใจคนทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดปูมหลังก่อนจะมาแข่งขันของเขา เขาได้รับงานเป็นพรีเซนเตอร์ มีงานจ้าง จนทำให้เขามีรายได้มากขึ้น ขณะที่ เอริค เองก็ไม่เคยลืมว่ามาจากตรงไหน และได้สิ่งใดกลับไปบ้างนอกจากเรื่องของเงินทองและชื่อเสียง
เขากลับไปที่ อิเควทอเรียลกินี และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาล มีการจ่ายเงินสนับสนุนให้เขา และผลักดันกีฬาว่ายน้ำในประเทศอย่างรวดเร็ว ในไม่ถึง 1 ปีที่ เอริค กลับไปที่ อิเควทอเรียลกินี ประเทศของเขาก็มีสระว่ายน้ำระดับมาตรฐานโอลิมปิก 2 สระ สระหนึ่งสร้างโดยรัฐบาล และอีกสระสร้างโดยเอกชน
ตัวของ เอริค กลายเป็นเหมือนอาจารย์ของคนทั้งประเทศที่อยากเรียนว่ายน้ำ ตัวของเขาเองก็เอาทักษะต่าง ๆ มาต่อยอดและพัฒนาตัวเองไปด้วย จากคนที่ว่ายได้ช้าที่สุดในโอลิมปิก ด้วยเวลาเกือบ 2 นาที อีก 4 ปีต่อมา เอริค สามารถขยับเวลาได้ดีขึ้นมาก เหลือเพียง 52.12 วินาทีเท่านั้น แม้เจ้าตัวจะไม่มีโอกาสได้แข่งโอลิมปิกอีกครั้งก็ตาม
"ผมพร้อมเอาสิ่งที่ได้มาส่งต่อให้กับทุก ๆ คนในประเทศของผม ผมพยายามช่วยหนุ่มสาวที่อยากจะเป็นนักว่ายน้ำที่ดี ผมอาจจะไม่เก่งนัก แต่ผมยินดีอย่างมากที่จะทำหน้าที่คอยกระตุ้นให้พวกเขาอยากเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งกว่าผม"
ทุกวันนี้ อิเควทอเรียลกินี อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในวงการว่ายน้ำเหมือนกับที่ สหรัฐอเมริกา หรือชาติอื่น ๆ เป็น แต่อย่างน้อย สระว่ายน้ำที่มาจากชื่อเสียงและเรื่องราวของ เอริค ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนในประเทศก้าวออกจากกรอบที่ตัวเองอยู่มาเกือบ 100 ปี ... พวกเขาเลิกคิดว่าว่ายน้ำไม่ใช่กีฬาของคนดำแล้ว พวกเขาแค่กระโดดลงน้ำไป สนุกกับมันเหมือนกับที่ใคร ๆ หลายคนเป็น แม้จะไม่มีการการันตีด้วยเหรียญทอง แต่มันก็มีประโยชน์ อย่างน้อย ๆ เมื่อพวกเขาว่ายน้ำเป็น พวกเขาก็ไม่จมน้ำตาย เหมือนกับเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อในอดีต
"ผลการแข่งขันของเอริค มันทำให้เขาดูเหมือนเป็นไอ้งั่งที่กระโดดลงสระ แต่จริง ๆ แล้ว หัวใจของโอลิมปิกมันยิ่งใหญ่กว่าแค่ผลแพ้ชนะ ไม่เกี่ยวกับคนเก่งคนห่วยอะไรหรอก ความสำคัญที่แท้จริงคือ คุณสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนได้ และทุกคนที่ อิเควทอเรียลกินี ก็เห็นสิ่งนั้นผ่านการแข่งขันของ เอริค จากคนที่แค่พยายามอยากจะลอยบนน้ำ ตอนนี้เขาสร้างแรงสั่นสะเทือนขนาดใหญ่อย่างเหลือเชื่อแล้ว" Yara El-Shaboury นักเขียนบนเว็บไซต์ Fansided สรุปใจความของ เอริค และ 100 เมตรที่ช้าที่สุดในโอลิมปิกไว้เช่นนั้น
การไม่เริ่มอาจจะทำให้คุณไม่แพ้ แต่มันไม่มีวันทำให้คุณเป็นผู้ชนะได้ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเรื่องราวของเขาจึงยิ่งใหญ่ และเป็นตำนานเล่าขานจนทุกวันนี้