จากเอสโคบาร์สู่ซานเชซ : เหตุใดชาวโคลอมเบียนิยมความรุนแรงกับนักบอลไม่เปลี่ยนไป

จากเอสโคบาร์สู่ซานเชซ : เหตุใดชาวโคลอมเบียนิยมความรุนแรงกับนักบอลไม่เปลี่ยนไป

จากเอสโคบาร์สู่ซานเชซ : เหตุใดชาวโคลอมเบียนิยมความรุนแรงกับนักบอลไม่เปลี่ยนไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหตุการณ์น่าเศร้ามากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกลูกหนัง คือการเสียชีวิตของ อันเดรส เอสโคบาร์ นักเตะชาวโคลอมเบีย เมื่อปี 1994 ที่เสียชีวิตด้วยฝีมือของแฟนบอลในบ้านเกิด หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำทีมชาติโคลอมเบียตกรอบแรกฟุตบอลโลกในปีเดียวกัน จากการทำเข้าประตูตัวเองในเกมที่พบกับสหรัฐอเมริกา

โชคร้ายที่ความสูญเสีย ไม่ได้สร้างบทเรียนให้คนจดจำ 24 ปีต่อมา คาร์ลอส ซานเชซ อีกหนึ่งนักเตะชาวโคลอมเบีย เกือบเจอเหตุการณ์แบบเดียวกับเอสโคบาร์ เพราะเขาถูกขู่ฆ่าอย่างหนัก โทษฐานเป็นตัวการทำให้ทีมชาติตกรอบฟุตบอลโลก 2018

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกฟุตบอลของโคลอมเบียไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ แต่ถูกสร้างจากปัญหาทางสังคมที่ถูกทับถมมาเป็นเวลายาวนาน แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข จนนำไปสู่ความรุนแรง และเรื่องเศร้า ในดินแดนแห่งนี้

โศกนาฏกรรมแห่งโคลอมเบีย

ย้อนไปในปี 1994 วงการฟุตบอลของประเทศโคลอมเบียเกิดการฟีเวอร์แบบสุดขีด จากขุมกำลังของพวกเขาที่ถูกเรียกว่า "โกลเด้น เจเนอเรชั่น" ที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นม้ามืดของฟุตบอลโลกในครั้งนั้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้โคลอมเบียไม่เคยประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันในฟุตบอลระดับชาติ เข้าแข่งฟุตบอลโลกมาแค่ 2 ครั้ง แชมป์ประจำทวีปอเมริกาใต้ อย่าง โคปา อเมริกา ก็ไม่เคยได้ 

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะโคลอมเบียไม่เคยมีทีมนักฟุตบอลชุดไหน เก่งเท่ากับชุดปี 1994 นำโดย คาร์ลอส วัลเดอร์รามา และ ฟาอุสติโน่ อัสปริย่า นี่คือโอกาสสำคัญที่จะทำให้โลกได้รู้จักชื่อของโคลอมเบีย ในฐานะชาติฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ ไม่ต่างจากบราซิล หรืออาร์เจนตินา

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาด จากที่ควรจะเป็นม้ามืด อนาคตของโคลอมเบียในฟุตบอลโลก 1994 กลับมืดสนิท 

พวกเขาตกรอบแรก และเกิดเหตุการณ์สำคัญที่คนโคลอมเบียทั้งประเทศมองว่า ทำให้ทีมตกรอบ นั่นคือการสกัดบอลเข้าประตูตัวเอง ของ อันเดรส เอสโคบาร์ ในเกมที่พบกับสหรัฐอเมริกา ในนัดที่สองของรอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของโคลอมเบีย 1-2

จากนักฟุตบอลคนสำคัญของชาติ เอสโคบาร์ กลายเป็นแพะรับบาปของชาวโคลอมเบีย เขาได้รับการขู่ฆ่าจากผู้คนเป็นจำนวนมาก หลังจากผลลัพธ์ของทีมชาติโคลอมเบีย คือการตกรอบแรก 

การขู่ทำร้ายเอสโคบาร์รุนแรงจนมีคนเสนอให้เขาใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ต่อไปอีกสักระยะ โชคร้ายที่เขาเลือกที่จะกลับบ้านทันทีหลังจากตกรอบ 5 วันหลังจากนั้น เขาเสียชีวิตเพราะถูกยิงด้วยกระสุน 6 นัด เพื่อชดใช้กับการทำลูกฟุตบอลเข้าประตูตัวเอง

สื่อทั่วโลกประณามเรื่องที่เกิดขึ้นในโคลอมเบีย ขณะเดียวกันทั้งประเทศก็ตกอยู่ในความโศกเศร้า คนนับแสนเข้าร่วมงานศพของฮีโร่รายนี้ การเสียชีวิตของ อันเดรส เอสโคบาร์ ถูกยกให้เป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าที่สุดของประเทศโคลอมเบีย

แต่หากคุณคิดว่า คนโคลอมเบียจะจำฝังใจ แล้วไม่ยอมให้เรื่องเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นได้อีก คุณคิดผิด เพราะ 24 ปีถัดมา เรื่องราวแบบนี้ เกือบเกิดขึ้นอีกครั้ง

ข้ามเวลามาที่ฟุตบอลโลก 2018 เป็นอีกครั้งที่ชาวโคลอมเบียคาดหวังกับผลงานของทีม สืบเนื่องจาก 4 ปีก่อนหน้านั้น พวกเขาไปได้ไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย

แม้ว่า โคลอมเบียจะสามารถผ่านรอบแรก ไปสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ แต่ผลงานที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้แฟนบอลโคลอมเบียพออกพอใจแต่อย่างใด นำมาซึ่งการหาแพะอีกครั้ง

หวยไปตกอยู่กับ คาร์ลอส ซานเชซ กองหลังผู้ที่ในรอบแรกโดนใบแดงตั้งแต่นาทีที่ 3 จนทำให้แพ้ทีมชาติญี่ปุ่น แต่ที่หนักกว่านั้นคือ เขาทำโคลอมเบียเสียจุดโทษในเกมรอบ 16 ทีมสุดท้าย ที่พบกับทีมชาติอังกฤษ แม้จบ 120 นาทีด้วยผลเสมอ โคลอมเบียก็เป็นฝ่ายแพ้ในการดวลจุดโทษ และตกรอบไป

แทนที่จะเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ชาวโคลอมเบียกลับลืมมันไปหมดสิ้น และ คาร์ลอส ซานเชซ เผชิญหน้ากับการถูกขู่ฆ่า ไม่ต่างจาก อันเดรส เอสโคบาร์ ในอดีต 

โชคดีที่เราไม่ต้องเจอเรื่องราวที่น่าเศร้าเป็นครั้งที่สอง แต่หากถามว่า เหตุใดคนโคลอมเบียจึงไม่ยอมเรียนรู้จากอดีตที่น่าเศร้า นั่นเป็นเพราะว่าบางสิ่งที่เลวร้าย ฝังตัวลึกในประเทศแห่งนี้ จนยากจะแก้ไข

สังคมที่ไม่มีที่ว่างให้ผู้แพ้

หากจะหาประเทศหนึ่งที่ชีวิตของประชากรมีความยากลำบาก มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด หนึ่งในรายชื่อที่ต้องมี คือ "โคลอมเบีย" อย่างไม่ต้องสงสัย 

ด้วยความที่โคลอมเบีย ตกอยู่ภายใต้การเป็นดินแดนอาณานิคมมาเกือบ 300 ปี ทำให้เกิดความนึกคิดกระหายอำนาจ โหยหาความยิ่งใหญ่ ไม่ต้องการเป็นผู้ใต้ปกครอง แต่อยากเป็นผู้ปกครองเสียเอง แนวคิดนี้ถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น

ดังนั้น หลังจากโคลอมเบียประกาศเอกราชในปี 1810 แทนที่จะหันมาร่วมมือกันพัฒนาประเทศ พวกเขากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือการจับปืนมาเข่นฆ่ากันเอง เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่

สงครามที่เกิดขึ้นทุกช่วงเวลาบนแผ่นดินโคลอมเบีย ทำให้ประเทศไม่ก้าวหน้าแบบที่ควรจะเป็น ทั้งที่ในช่วงแรกหลังการประกาศอิสรภาพ โคลอมเบียถือเป็นต้นแบบการเมืองสมัยใหม่ ในทวีปอเมริกาใต้

ผลลัพธ์ที่ตามมา โคลอมเบียกลายเป็นสังคม "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ใครมีอำนาจอยู่ในมือชีวิตก็สุขสบาย แต่ใครไร้ซึ่งพลัง ชีวิตจะจบลงเมื่อไหร่ ก็ไม่มีทางรู้ได้

ยิ่งเวลาผ่านไป ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 โคลอมเบียได้รับเงินอัดฉีดจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกา แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนกลับไม่เคยดีขึ้นเลย พวกเขาต้องสู้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ ทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด แม้กระทั่งเป็นพ่อค้ายา หรืออันธพาลประจำเมือง

การใช้ชีวิตในสังคมโคลอมเบียจึงไม่ต่างอะไรกับการอยู่ท่ามกลางสงคราม ต่อให้คุณไม่ต้องจับปืนไปสู้รบกับใคร แต่ก็ต้องยืนหยัดเอาชนะชีวิตที่โหดร้ายให้ได้ในแต่ละวัน 

ดังนั้น โคลอมเบียจึงเป็นประเทศที่ไม่มีที่ยืนให้กับผู้แพ้ คนที่ไม่แข็งแกร่งพอก็ไม่อาจมีชีวิตรอดในประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาแบบนี้

และถ้าหากคุณเป็นนักกีฬา คุณยิ่งแพ้ไม่ได้

นักรบของชาติ แพ้เท่ากับประหาร

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือแนวคิดชาตินิยม ที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในประเทศที่ยังไม่พัฒนาส่วนใหญ่ การบูชาความเป็นชาติจะยังคงมีบทบาทอยู่มากในสังคม

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็มาจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง จนผู้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องการบางสิ่งบางอย่าง มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่า การสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ

โคลอมเบียเคยเป็นแผ่นดินที่ตกเป็นเมืองขึ้นมาหลายร้อยปี ความรักชาติจึงถูกฝังอยู่ในแผ่นดินนี้ตั้งแต่แรก แม้จะได้การยอมรับว่า ไม่ได้ชาตินิยมจัดเท่าประเทศอื่นในทวีปอเมริกาใต้ แต่สำหรับเกมกีฬา คนโคลอมเบียถือได้ว่าเป็นการแสดงความรัก ไปจนถึงคลั่งชาติออกมาอย่างเต็มที่

ฟุตบอลคือกีฬาที่คนโคลอมเบียผูกพันเป็นอย่างมาก แม้ว่าในความเป็นจริง ทีมชาติของพวกเขาแทบจะไม่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่พวกเขาก็รัก และภูมิใจในทีมของตัวเองอย่างมาก เพียงแต่บางครั้งมันมากเกินไป

คนโคลอมเบียมีแพชชั่นต่อกีฬาฟุตบอลอย่างหนักหนาอยู่แล้ว ตั้งแต่ในระดับสโมสร ทีมฟุตบอลอันเป็นที่รักคือความภูมิใจของชีวิต เป็นสถาบันให้ยึดเหนี่ยวรูปแบบหนึ่ง ไม่ต่างจากความเป็นชาติ และพวกเขาแสดงออกถึงแนวคิดที่ว่า ทีมบอลที่รักแพ้ไม่ได้มาตั้งแต่แรก

แพ้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการแพ้ในสนาม แต่หมายถึง "บอลแพ้ คนไม่แพ้" แฟนบอลโคลอมเบียต่อยตีกันเป็นประจำ เพราะสำหรับพวกเขา ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่กีฬา แต่เป็นจิตวิญญาณ และความภาคภูมิใจ ที่ดูจะเลยเถิดไปพอสมควร

แต่พอมาอยู่ในระดับชาติ ชาวโคลอมเบียจะหันมารวมใจไม่ตีกันเอง (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวงการฟุตบอลหลายประเทศ) และส่งแรงใจให้ทีมชาติของพวกเขา แต่นั่นหมายความว่า นักฟุตบอลทุกคนต้องแบกความกดดันมหาศาลไว้บนไหล่ และห้ามทำพลาดอย่างเด็ดขาด

แนวคิดชาตินิยม บวกกับสังคมที่ต้องการแค่ผู้ชนะของโคลอมเบีย เปลี่ยนให้นักฟุตบอลกลายเป็นนักรบของชาติ พวกเขาจึงมองนักฟุตบอลเหล่านี้ ไม่ต่างอะไรกับมุมมองแบบเดียวกับทหารในอดีตที่ต้องสู้จนตัวตายเท่านั้น และหากคุณผิดพลาดกลับมา คุณก็ต้องได้รับการลงโทษ 

กรณีของ อันเดรส เอสโคบาร์ และ คาร์ลอส ซานเชซ คือเรื่องเดียวกัน ผู้คนมองว่านักฟุตบอลเหล่านี้ทำผิดพลาด จนทีมชาติโคลอมเบียไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นพวกเขาจึงควรได้รับการลงโทษ กับการทำให้ชาติ และสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจเสื่อมเสีย

หากจะมีคนถามว่า เหตุใดโคลอมเบียไม่เคยเรียนรู้ กับความสูญเสียจากเกมฟุตบอล ตั้งแต่จากกรณีของ อันเดรส เอสโคบาร์ ? คำตอบง่ายนิดเดียว นั่นเพราะสังคมโคลอมเบียไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปไหน

1994, 2018, 2021 หรือปีไหนก็ตาม โคลอมเบียยังคงเป็นรัฐที่ไม่ได้รับการพัฒนาเช่นเดิม ผู้มีอำนาจไม่เคยใส่ใจในคุณภาพชีวิตของประชาชน ทุกคนยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างปากกัดตีนถีบ สังคมปลาใหญ่กินปลาเล็กไม่เคยหายไปไหน

ดังนั้น โคลอมเบียจึงเป็นประเทศที่ต้องการผู้ชนะอยู่เสมอ และต้องการภูมิใจกับความเป็นชาติ ในฐานะเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อปิดบังความไม่มั่นคงในชีวิต 

สุดท้ายแล้ว สังคมโคลอมเบียไม่มีที่ว่างให้กับผู้แพ้ ถ้าคุณไม่ดีพอคุณก็ไม่คู่ควรกับดินแดนที่โหดร้ายที่ชื่อว่าโคลอมเบีย

Bleacher Report สื่อกีฬาจากสหรัฐอเมริกา เคยตั้งคำถามว่าเหตุผลที่ความรุนแรงอยู่คู่กับกีฬาฟุตบอลในโคลอมเบีย มาจากความย่ำแย่ของรัฐบาล และผู้มีอำนาจในประเทศ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 

จนพวกเขาไม่เข้าใจการดูกีฬาให้เป็นกีฬา เพื่อลดความรุนแรงจากการใช้อารมณ์ที่ไม่จำเป็น เช่น การมองให้เป็นสถาบัน ความภาคภูมิใจ หรือเอาแนวคิดชาตินิยม(ที่มากเกินไป) มาผูกติดกับทีมกีฬา

การมีแพชชั่นกับกีฬาไม่เคยเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ต้องอย่าให้มันเลยเถิดเกินไปกว่าคำว่ากีฬา เพราะสุดท้ายกีฬาคือกิจกรรมที่สร้างความสุข ความสนุก ให้กับผู้เล่น และผู้ชม ไม่ควรเลยที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง ความเจ็บปวดทางร่างกาย โดยเฉพาอย่างยิ่ง ความตาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook