โตเกียว โอลิมปิก 2020 : พื้นที่กีฬาและความเท่าเทียมทางเพศ

โตเกียว โอลิมปิก 2020 : พื้นที่กีฬาและความเท่าเทียมทางเพศ

โตเกียว โอลิมปิก 2020 : พื้นที่กีฬาและความเท่าเทียมทางเพศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 32 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ก.ค. 2564 - 8 ส.ค. 2564 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แม้จะต้องเลื่อนจัดการแข่งขันนานถึง 1 ปี เพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่โตเกียว โอลิมปิก 2020 ในครั้งนี้ก็ได้สร้างความประทับใจให้กับคนทั้งโลก และยังสร้างความตระหนักเรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” ให้กับวงการกีฬาโลกอีกด้วย 

หนึ่งในความประทับใจของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ คือการที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหันมาให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศในมิติต่างๆ และนี่คือ 3 เรื่องราวความเท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020

โอลิมปิกที่มีความสมดุลทางเพศมากที่สุด  

โตเกียว โอลิมปิก 2020 ถือเป็นการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มี “ความสมดุลทางเพศมากที่สุด” นับตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันมา โดยโธมัส แบช ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) ได้ประกาศในแถลงการณ์ของเขาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า การแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้จะมีนักกีฬาผู้หญิงเข้าร่วมการแข่งขันมากถึง 48.8% หรือมากกว่า 11,000 คน ซึ่งการสร้างสมดุลทางเพศของโตเกียว โอลิมปิก 2020 ถือเป็นก้าวสำคัญของการจัดแข่งขันโอลิมปิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้ามาร่วมแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1900 ที่มีสัดส่วนนักกีฬาหญิงเพียง 23 คน จากนักกีฬาทั้งหมด 1,000 คนเท่านั้น และถือเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางเพศที่เป็นหมุดหมายสำคัญในวงการกีฬาเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่แค่การอนุญาตให้มีจำนวนนักกีฬาหญิงเท่ากับนักกีฬาชายเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการให้โอกาสนักกีฬาหญิงได้แสดงความสามารถอย่างเท่าเทียมและให้โอกาสได้รับชัยชนะเท่ากับผู้ชาย 

แฟชั่นนักกีฬาสะท้อนความเท่าเทียมทางเพศ

นักกีฬาหญิงต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกชุดที่จะสวมใส่เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาอย่างยาวนาน ซึ่งในโตเกียว โอลิมปิก 2020 ก็ยังคงมีนักกีฬาหญิงหลายคนที่แสดงออกถึงจุดยืนเรื่องสิทธิและเสรีภาพในประเด็นเรื่องการแต่งกาย

 

เริ่มต้นที่นักยิมนาสติก จากประเทศเยอรมนี ที่ปรากฎตัวในชุดรัดรูปขายาวแขนยาวแบบเต็มตัว ซึ่งแตกต่างไปจากชุดนักกีฬายิมนาสติกโดยทั่วไปที่มักจะเป็นชุดรัดรูปขาเว้าสูง โดยการเลือกสวมใส่ชุดดังกล่าวของทีมชาติเยอรมนี ก็เพื่อเรียกร้องว่าผู้หญิงควรมีเสรีภาพในการเลือกใส่ชุดที่ตัวเองมั่นใจในการแข่งขัน อีกทั้งต่อต้านการทำให้นักกีฬาหญิงตกเป็นวัตถุทางเพศผ่านเครื่องแต่งกาย ซึ่งซาราห์ วอสส์ หนึ่งในนักกีฬายิมนาสติก ทีมชาติเยอรมนี กล่าวว่า

เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้หญิง มันเป็นเรื่องยากที่จะทำความคุ้นเคยกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เราจึงต้องการให้ทุกคนรู้สึกสบายใจ และแสดงให้ทุกคนเห็นว่าพวกเขาสามารถสวมใส่อะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นชุดรัดรูปยาวหรือสั้นก็ตาม” 

เช่นเดียวกับนักกีฬาแบดมินตัน ซึ่งนักกีฬากว่า 30 คน จากหลายประเทศก็ใช้เครื่องแต่งกายมาผลักดันประเด็นเรื่องความเสมอภาคของนักกีฬาหญิงเช่นกัน โดยสำนักข่าว Reuters รายงานว่า นักกีฬาราว 2 ใน 3 เลือกสวมกางเกงขาสั้นเข้าแข่งขัน ขณะที่บางส่วนเลือกสวมกางเกงกระโปรง (Skort) ชุดเดรส กระโปรง และมีนักกีฬาหนึ่งคนที่สวมผ้าคลุมศีรษะตามหลักศาสนาอิสลาม 

เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน สมาพันธ์แบดมินตันโลกถูกโจมตีอย่างหนัก หลังจากออกกฎที่ระบุให้นักกีฬาหญิงต้องสวมใส่กระโปรงเท่านั้น เพื่อทำให้การแข่งขันมี “ความเป็นผู้หญิง” และ “น่าดึงดูด” สำหรับแฟน ๆ และสปอนเซอร์ อย่างไรก็ตาม กฎดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปก่อนการแข่งขันลอนดอน โอลิมปิก 2012 

มหกรรมโอลิมปิกแห่งความหลากหลายทางเพศ 

การแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียวในครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาโอลิมปิก ด้วยจำนวนนักกีฬาที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองอย่างน้อย 168 คนได้เข้าร่วมการแข่งขันในหลายชนิดกีฬา ซึ่งมีมากกว่าที่เข้าร่วมริโอ โอลิมปิก 2016 ถึง 3 เท่า นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในวงการกีฬาที่ถูกมองว่ามีความเป็นชายสูง 

จำนวนนักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นการยอมรับนักกีฬา LGBTQ+ ที่เพิ่มขึ้นในวงการกีฬาและในสังคม โดยในโอลิมปิกครั้งนี้ มีมากกว่า 30 ประเทศ ที่มีนักกีฬา LGBTQ+ อย่างน้อยหนึ่งคนเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาอย่างน้อย 34 รายการ 

โอลิมปิกในครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ “นักกีฬาข้ามเพศ” เข้าร่วมการแข่งขันได้

ลอเรล ฮับบาร์ด นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาตินิวซีแลนด์ วัย 43 ปี ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกที่ลงแข่งขันยกน้ำหนักหญิง ในรุ่น Super-Heavyweight (+87 กิโลกรัม) ฮับบาร์ดมีเพศกำเนิดเป็นชาย และเข้าร่วมแข่งขันในกีฬายกน้ำหนักระดับเยาวชน ก่อนจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศเมื่อ 8 ปีก่อน แล้วจึงกลับมาลงแข่งขันยกน้ำหนักอีกครั้ง เธอได้สิทธิ์ให้เข้าร่วมแข่งขันได้หลังจากมติของ IOC ในปี 2015 ที่อนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศสามารถเข้าแข่งขันในรายการผู้หญิงได้ 

ไม่ใช่แค่ฮับบาร์ดเท่านั้น แต่ควินน์ นักกีฬาฟุตบอล จากทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติแคนาดา ก็ได้เปิดเผยว่าตัวเองเป็นนักกีฬาข้ามเพศ และกลายเป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเชลซี วูล์ฟ นักกีฬาจักรยาน BMX ฟรีสไตล์ จากทีมชาติสหรัฐฯ ที่เป็นนักกีฬาข้ามเพศอีกคนที่ได้ลงแข่งในโอลิมปิกครั้งนี้ 

โตเกียว 2020 ยังถือเป็นการจัดโอลิมปิกครั้งแรกที่ Pride House หรือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักกีฬา LGBTQ+ ได้รับการรับรองจาก IOC หลังจากเกิดขึ้นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ที่แวนคูเวอร์ ปี 2010 โดย Pride House จะเปิดให้บริการต่อไป แม้การแข่งขันจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม ซึ่งจะเป็นหมุดหมายที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมญี่ปุ่นต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook