ทำไม ฝีพาย, นายพล และ ครูสอนจักรยาน จึงอยู่เบื้องหลังทีมชาติอังกฤษยุค เซาธ์เกต ?

ทำไม ฝีพาย, นายพล และ ครูสอนจักรยาน จึงอยู่เบื้องหลังทีมชาติอังกฤษยุค เซาธ์เกต ?

ทำไม ฝีพาย, นายพล และ ครูสอนจักรยาน จึงอยู่เบื้องหลังทีมชาติอังกฤษยุค เซาธ์เกต ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักเตะที่ดี ทีมงานที่พร้อม การสนับสนุนที่ครบเครื่อง คือหนึ่งในสิ่งที่เฮดโค้ชทีมฟุตบอลทุกคนบนโลกนี้ต้องการ

พวกเขาเป็นเหมือนเชฟ ผู้มีหน้าที่หยิบเอาวัตถุดิบเหล่านี้มาทำอาหารให้ออกมาเป็นเมนูชั้นเลิศ และการที่มันจะออกมาอร่อยระดับเวิลด์คลาสได้ พวกเขาต้องใส่สิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ "ไอเดีย" ลงไปด้วย 

นี่คือเรื่องราวหลังจากการเข้ามาทำงานของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ในฐานะกุนซือทีมชาติอังกฤษที่เริ่มรับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2016 ... ในวันนั้นชาวอังกฤษทุกคนต่างฟันธงกันว่าเป็นการเลือกที่ "สิ้นคิด" แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่เขาควรได้เครดิตจากสิ่งที่ตนเองทำขึ้นมาบ้าง 

ติดตามเรื่องราวของกุนซือที่ครั้งหนึ่งเคยน้อยประสบการณ์ จนต้องขอความช่วยเหลือจาก นายพล, ฝีพาย, ครูสอนจักรยาน และ โค้ชรักบี้ ได้ที่นี่กับ Main Stand

เลือกแบบไหนก็ไม่ตรงรุ่น 

ตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติอังกฤษ ถือเป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตกมาหลายทศวรรษ ย้อนกลับไปตอนฟุตบอลโลก 1998 ก็พอแล้ว นับตั้งแต่ เกล็น ฮ็อดเดิ้ล คุมทีมและตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในการดวลจุดโทษกับ อาร์เจนตินา แฟน ๆ ของพวกเขาก็บอกว่า "เราต้องการโค้ชต่างชาติ" เพราะอยากได้อะไรที่หลากหลาย แทคติกที่เหนือชั้น และมุมมองที่แปลกใหม่


Photo : FourFourTwo 

ครั้นเมื่อเปลี่ยนกุนซือมาเป็น สเวน โกรัน อีริคส์สัน กับ ฟาบิโอ คาเปลโล่ ที่เป็นโค้ชต่างชาติและพาทีมตกรอบรายการใหญ่แบบไม่ได้ลุ้น แฟน ๆ และสื่อก็มองว่า โค้ชเหล่านี้ไม่รู้จักวัฒนธรรมและเข้าถึงความเป็นทีมชาติอังกฤษมากพอ 

สุดท้ายพวกเขากลับมาใช้กุนซือในประเทศอีกครั้ง หวังพึ่งคนที่มีประสบการณ์สูงอย่าง รอย ฮ็อดจ์สัน ให้เข้ามาคุมทีม ผลออกมาก็ยังไม่ต่างจากเดิม ยังคงมองไม่เห็นความสำเร็จเหมือนเก่า 

กระทั่งมาถึงปี 2016 เมื่อ แซม อัลลาร์ไดซ์ ที่เข้ามารับหน้าที่แทนปู่รอยหลังจอดป้ายใน ยูโร 2016 ได้ไม่นาน และเพิ่งคุมทีมได้แค่เกมเดียวเท่านั้น ก็โดนสื่อขุดคุ้ยเรื่องการทุจริตติดสินบนจนต้องออกจากตำแหน่ง สมาคมฟุตบอลอังกฤษเลยจิ้มชื่อของ แกเร็ธ เซาธ์เกต กุนซือหนุ่มผู้ไม่เคยประสบความสำเร็จในระดับสโมสรเลยสักครั้งมารับเผือกร้อนนี้ สิ่งเดียวที่พอจะเชิดหน้าชูตาในฐานะโค้ช คือการคุมทีมชาติอังกฤษชุด ยู 21 คว้าแชมป์ ตูลง ทัวร์นาเมนต์ เมื่อปี 2016 เท่านั้น 

การคุม มิดเดิ้ลสโบรช์ และทำทีมตกชั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ เซาธ์เกต มีวันนี้ เพราะเขาต้องกลับไปเริ่มทำงานใหม่ ๆ เปิดใจสู่ตำแหน่งต่าง ๆ นอกจากเฮดโค้ช โดยเขาได้รับงานเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ในปี 2011 ก่อนที่ในอีก 2 ปีต่อมา จะได้รับงานคุมทีมชาติอังกฤษชุด ยู 21


Photo : Sport Mole 

หากไม่สามารถมองเห็นอนาคตได้ นี่คือการแต่งตั้งโค้ชใหม่ที่ค้านสายตาแฟนบอลชาวอังกฤษที่สุด เพราะเซาธ์เกตไม่มีอะไรสักอย่างที่พวกเขาต้องการ ประสบการณ์ระดับท็อป ? บารมีในการปกครองทีมที่มีนักเตะชื่อดังมากมาย ? รวมถึงเกียรติประวัติยืนยันความสำเร็จ ? ... เขาไม่มีอะไรเลย 

และหากจำกันได้ ใน ยูโร 1996 เซาธ์เกต สมัยที่เป็นนักเตะ ได้สร้างบาดแผลฝังใจสาวกสิงโตคำรามไว้ ด้วยการยิงจุดโทษไม่เข้า ทำให้อังกฤษแพ้เยอรมนี ตกรอบรองชนะเลิศทั้ง ๆ ที่เล่นในบ้านตัวเอง ... ไม่แปลกที่ตอนนั้นสื่ออังกฤษจะเขียนบทความด่าการเลือกที่สิ้นหวังครั้งนี้

พวกเขาหัวเราะที่ เอฟเอ บอกว่า เหตุผลในการเลือก เซาธ์เกต มาเป็นโค้ช เพราะเป็นคนที่รู้จักกับนักเตะเยาวชนอังกฤษ หลังจากทำงานในส่วนนี้มา 3 ปี นอกจากนี้ ในอดีตสมัยเป็นนักพัฒนาของ เอฟเอ เขาเป็นคนที่รู้ระบบและเข้าใจวิสัยทัศน์ขององค์กรเป็นอย่างดี

"โอเค ขอโทษนะ แกเร็ธ คุณไม่มีทั้งประสบการณ์และพรสวรรค์สำหรับงานนี้เลยแม้แต่น้อย แต่เอาเถอะ ... อย่าได้กังวลไป คุณรู้ระบบการทำงานของเราเป็นอย่างดี ไม่มีอะไรมากกว่าการเพิ่งแพ้ทีมที่มีโค้ชเป็นหมอฟัน (ไอซ์แลนด์ ใน ยูโร 2016) คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว เราจะติดต่อคุณกลับแน่นอน" นี่คือส่วนหนึ่งของบทความที่ออกแนวประชดประชัน เซาธ์เกต จากเว็บไซต์ GQ


Photo : Daily Mail 

ใคร ๆ ก็คิดแบบนั้น เซาธ์เกต คืออันเดอร์ด็อกตัวจริง ณ ช่วงเวลาที่มีการเฟ้นหากุนซือในปี 2016 โค้ชอย่าง เอ็ดดี้ ฮาว จาก บอร์นมัธ และ อลัน พาร์ดิว จาก คริสตัล พาเลซ ยังมีคนเชียร์มากกว่าเขาเลยด้วยซ้ำไป 

จากคำถามที่แฟน ๆ และสื่อตั้งมา สรุปความได้ว่า สิ่งแรกที่เซาธ์เกตต้องทำหลังจากที่เขาได้รับตำแหน่ง คือการแสดงวิสัยทัศน์ และทำให้คนวงนอกเข้าใจว่าความสำคัญของคำว่า "เข้าระบบ" แบบเป็นรูปธรรมนั้นจะส่งผลดีต่อทีมชาติอังกฤษอย่างไร
 

เปิดโลกใหม่โดยกุนซือโนเนม 

ด้วยดีกรีที่น้อยนิด เซาธ์เกต ไม่ได้มีอำนาจและอิทธิพลอะไรมากมายในการสั่งการหรือกดดันคนที่อยู่บน ๆ เหนือเขาขึ้นไป อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คนฟุตบอลส่วนใหญ่เลยไม่เชื่อมือเขา ดังนั้นเขาจึงทำในสิ่งที่แตกต่างจากโค้ชคนก่อน ๆ ของทีมชาติอังกฤษ กล่าวคือเขาไม่ได้ใช้ที่ปรึกษาที่เป็น "คนฟุตบอล" หรือโค้ชที่ประสบการณ์สูงมาช่วยในการสร้างทีมยุคใหม่ของเขาเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่เซาธ์เกตทำ ไม่ใช่การอวดรู้ แต่คือ "ฟังให้มากกว่าพูด" 

เซาธ์เกต ใช้บริการของ FA Technical Advisory Board ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิเคราะห์และให้คำแนะนำแบบใหม่ที่ เอฟเอ จัดตั้งขึ้น บอร์ดชุดนี้มีความแตกต่างจากสมาคมโค้ชที่เอาคนฟุตบอลมารวมกันเพื่อช่วยกันวิเคราะห์และแก้ปัญหา แต่กลุ่มนี้จะเป็นการขอคำแนะนำจากสมาชิกที่เป็นอาสาสมัคร (ไม่ได้รับค่าจ้าง) ที่มาจากวงการต่าง ๆ นอกเหนือจากวงการฟุตบอล 


Photo : Sport Mole 

โดยกลุ่มบุคคลที่ เซาธ์เกต เข้าประชุมและรับฟังมุมมองจากพวกเขาเหล่านั้นได้แก่ เซอร์ ไคลฟ์ วู้ดเวิร์ด อดีตเฮดโค้ชรักบี้ทีมชาติอังกฤษ ชุดแชมป์โลกปี 2003, เซอร์ เดฟ เบรลส์ฟอร์ด ผู้ฝึกสอนกีฬาปั่นจักรยานแห่ง Team Sky (Team INEOS ในปัจจุบัน) เบื้องหลังการคว้าแชมป์ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ของนักปั่นจากสหราชอาณาจักร 7 สมัยในยุค 2010s, ลูซี่ กิลส์ ผู้บัญชาการของ The Royal Military Academy Sandhurst, แคธ เกรนเกอร์ และ มาโนจ์ บาเดล นักพายเรือระดับโอลิมปิก โดยมีคนฟุตบอลเข้าประชุมเพื่อถกปัญหาด้วย 2 คนได้แก่ สจ็วร์ต แลงแคสเตอร์ และ เดวิด ชีปแชงก์ส 2 ผู้บริหารจากศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ เซนต์ จอร์จ พาร์ค 

ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา สื่ออังกฤษตะลึงมาก ... พวกเขาคิดว่า เซาธ์เกต ได้เริ่มทำอะไรที่ไร้สาระตั้งแต่เริ่มงาน พวกเขาไม่คิดว่าการขอคำปรึกษาจาก นายพล, นักพายเรือ, โค้ชจักรยาน และ โค้ชรักบี้ จะทำให้ชาวอังกฤษมีความสุขกับทีมฟุตบอลได้  แต่เซาธ์เกตไม่คิดเช่นนั้น 

"ผมชอบฟังคนที่รู้เรื่องราวที่ผมไม่เคยรู้ ... นี่คือวิธีการเรียนรู้ของผม" เซาธ์เกต กล่าว 

ไม่มีคำยืนยันว่ากลุ่มที่ปรึกษาจากนอกวงการบอกอะไรกับเซาธ์เกตบ้าง แต่ที่แน่ ๆ มันมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่มีชื่อว่า ทฤษฎีเครือข่ายทางสังคม ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบอยู่รวมกลุ่มกับคนที่มีความคุ้นเคยและคล้ายคลึงกัน ทั้งในแง่ของความสามารถ, แนวคิด และความคิดเห็น ซึ่งเรียกว่าทฤษฎี "Homophily" 


Photo : Daily Mail 

แม้จะได้เห็นสิ่งที่อยากเห็น ฟังสิ่งที่อยากฟัง แต่ทฤษฎีนี้ก็มีข้อเสีย นั่นคือเราจะไม่ได้เห็นมุมมองและองค์ความรู้ใหม่ ๆ  ดังนั้นสิ่งที่ เซาธ์เกต ต้องการ คือการออกจากกรอบเดิม และใช้ทฤษฎีเครือข่ายทางสังคมแบบหลวม ๆ (Weak Tie) นั่นคือให้ผู้คนที่แปลกหน้า เข้ามาในเครือข่ายสังคมแบบแน่นหนา (Strong Tie) เพื่อหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่ตัวเองคาดไม่ถึง หรือมองข้ามมาตลอด 

วิธีแบบนี้ แม้แต่องค์กรระดับโลกอย่าง CIA หรือ หน่วยสืบราชการลับแห่งสหรัฐอเมริกาก็เคยทำมาก่อน โดยถูกนำมาใช้ในช่วงการต่อต้านผู้ก่อการร้าย หลังกลุ่ม ตาลีบัน ขับเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และ เพนตากอน ตึกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งแทนที่ CIA จะนั่งประชุมกันแบบผู้บริหารระดับสูงในองค์กร พวกเขาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและมุมมองจากลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือกบฏที่กลับใจ เพื่อหาสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมองเห็น

การหมกมุ่นอยู่กับชุดความคิดเดิม ๆ และผู้คนที่มีมุมมองคล้ายๆ กัน คือสิ่งที่ตรงข้ามกับการพัฒนาให้หลุดจากกรอบ เว็บไซต์ BBC ระบุว่า "การย่ำอยู่กับที่และไม่มองหาสิ่งใหม่" คือการเสียโอกาสครั้งใหญ่ของหลายองค์กร อาทิ Blockbuster ธุรกิจเช่าภาพยนตร์ที่มองข้ามโอกาสในสมัยที่โลกอินเทอร์เน็ตและสตรีมมิ่งเริ่มเข้ามา และ Kodak ที่เลือกยึดติดอยู่กับฟิล์มมากกว่าดิจิทัล ซึ่งปลายทางคือทั้ง 2 องค์กรยักษ์ต้องพ่ายแพ้ต่อยุคสมัย และปิดตัวไปในที่สุด


Photo : Daily Express 

นั่นคือสาเหตุที่ เซาธ์เกต อยากเห็นมุมมองจากคนสาขาอาชีพอื่น ๆ บ้าง ไม่ใช่โค้ชฟุตบอลหรือคนที่เรียนหลักสูตรฟุตบอลมาเหมือนกับเขา เขาเริ่มทำแบบนั้นมาตั้งแต่ต้น และมีการเปลี่ยนแปลงทีมงานสตาฟโค้ชทีมชาติอังกฤษของเขา ที่อยู่ด้วยกันมาจนทุกวันนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ได้รับการคัดเลือกจากทักษะและภูมิหลังที่หลากหลาย ไม่เว้นแม้กระทั่งการแต่งตั้งโค้ชรักบี้ เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมงานของเขาด้วย 

เห็นได้ชัดว่า เซาธ์เกต กล้าลองในสิ่งที่แตกต่าง ... แต่คงไม่แปลกอะไรนักที่เขาจะโดนตั้งข้อสงสัยในวันแรก เพราะมีหลายคนบนโลกนี้ที่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่าง หรือกระทั่งแย่ยิ่งกว่าเดิม และนั่นนำไปสู่การพิสูจน์ตัวเองของเซาธ์เกตว่า สิ่งที่เขาทำสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมอย่างไรบ้าง ? 
 

จากวันนั้นถึงวันนี้

ย้ำอีกครั้งว่า ไม่มีการบอกกล่าวเกี่ยวกับกลุ่มสมาชิกที่ให้คำแนะนำจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่เซาธ์เกตร่วมประชุมด้วย ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลาย ๆ อย่างนับตั้งแต่ที่ เซาธ์เกต รับงานกับทีมชาติอังกฤษ พอจะบอกเราได้เหมือนกันว่า "การเปิดโลก ให้อะไรกับเขาบ้าง ?" 


Photo : Sport Mole 

ในส่วนแนวคิดจากผู้บัญชาการทหาร เซาธ์เกต ได้แรงบันดาลใจในเรื่องความทุ่มเทและการรับรู้ถึงหน้าที่ที่นักฟุตบอลต้องทำ นานมาแล้วที่นักเตะอังกฤษถูกค่อนขอดว่าทำตัวเหมือนกับดารา โด่งดังในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่กลับไมได้เรื่องเมื่ออยู่ในสนาม ... ซึ่งนั่นไม่ผิดนักหรอก เพราะนับตั้งแต่ที่พวกเขาเป็นแชมป์โลกในปี 1966 อังกฤษ ไม่เคยเข้ารอบชิงชนะเลิศในทัวร์นาเมนต์ใด ๆ เลยสักครั้ง 

เซาธ์เกต ให้นักเตะของพวกเขาภูมิใจกับโอกาสที่ได้รับในการลงเล่นให้ทีมชาติ ลงเล่นโดยรู้สึกว่าการเอาชนะคือหน้าที่ของพวกเขา และทุกผลการแข่งขันหลังเกมจบลง ล้วนส่งผลต่อผู้คนในประเทศทั้งสิ้น 

โค้ชจักรยานและฝีพายคู่ระดับโอลิมปิก อาจจะสอนให้พวกเขารู้จักความสามัคคีและการทำงานเป็นหมู่คณะ, โค้ชทีมรักบี้ อาจนำมาซึ่งความกล้าหาญ ... หลากหลายอาชีพอาจจะนำมาซึ่งมุมมองใหม่ ๆ ที่ส่งอิทธิพลและทำให้ทีมดีขึ้นก็ได้ ใครจะรู้ 

จอร์แดน เฮนเดอร์สัน 1 ในนักเตะซีเนียร์ของทีมชาติอังกฤษชุด ยูโร 2020 คือคนที่ทำหน้าที่คอยกระตุ้นและเตือนสิ่งนี้กับน้อง ๆ ในทีมเสมอ ก่อนที่เกมยูโร 2020 จะเริ่มขึ้น เขาพูดกับทุกคนในทีมว่า "จงภูมิใจกับโอกาสที่ได้รับ และรู้สึกยินดีกับมันเหมือนกับวันที่ได้ติดทีมชาติเป็นครั้งแรก" 


Photo : Sky SPort 

"คุณจะเห็นได้เลยว่า เด็ก ๆ ในทีมชุดนี้ แม้แต่คนที่ไม่มีโอกาสลงสนามมากมายเท่าไหร่ แต่เมื่อได้โอกาส พวกเขาก็โดดเด่นมาก แม้กระทั่งในวันซ้อม พวกเขาก็ไม่เคยถอดชุดความคิดของการเป็นนักสู้ออกได้ การฝึกซ้อมกับทีมชุดนี้เป็นเรื่องยากเสมอ และนี่คือทีมที่ดีที่สุดในแง่ทัศนคติ" เฮนเดอร์สัน ผู้ติดทีมชาติมา 62 เกมกล่าว

นอกจากนักเตะที่ลงเล่นด้วยความกระหายในชัยชนะแล้ว เขายังต้องการนักเตะที่ลบล้างภาพลักษณ์แข้งทีมชาติเก่า ๆ ออกไปให้หมด ทุกคนต้องเข้าถึงแฟนบอลได้ เป็นตัวอย่างที่ดีกับเด็ก ๆ และคนอื่น ๆ ในประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือการระลึกเสมอว่าโอกาสที่พวกเขาได้รับ จะต้องใช้มันให้คุ้มค่า ถ่อมตัวและอยู่ด้วยกันอย่างไร้ซึ่งอีโก้ 

"เด็ก ๆ จากทีมชุดนี้เริ่มต้นอาชีพกับสโมสรเล็ก ๆ อย่าง บาร์นสลี่ย์, เอ็มเค ดอนส์ หรือ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด พวกเขารู้ดีถึงความถ่อมตัวอยู่แล้ว กว่าพวกเขาจะมาอยู่ในจุดนี้ พวกเขารู้ดีว่ามันเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจขนาดไหน"

"นี่คือกลุ่มนักเตะที่พิเศษ ทุกคนอ่อนน้อมถ่อมตน เต็มไปด้วยความภาคภูมิ และมีจิตวิญาณที่เป็นอิสระ ทุกสิ่งออกมาจากแก่นและตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา" เซาธ์เกต กล่าวถึงลูกทีมของเขาที่ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากทีมเล็ก ๆ เหมือนกับตัวของเขาเอง 


Photo : The Athletic 

เซาธ์เกต เลือกนักเตะจากทัศนคติเสมอ นั่นคือเหตุผลที่ทำไม จอร์แดน เฮนเดอร์สัน จึงพูดถึงบรรยากาศรอบตัวในทีมชาติว่าดีที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็น โดยตัวของ เซาธ์เกต เคยเขียนบทความในเว็บไซต์ The Players' Tribune ว่า 

"นักเตะคนไหนที่แสดงออกในแง่ลบ ไม่ว่าการล่วงละเมิด หรือแม้กระทั่งการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว สำหรับผม พวกเขาเหล่านั้นคือผู้แพ้ นักเตะของผมจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญต่อสังคม พวกเขาต้องเป็นคนที่มีทัศนคติยิ่งใหญ่กว่าการเป็นแค่นักฟุตบอลคนหนึ่ง ... พวกเขาต้องเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้" เซาธ์เกต เล่า 

"ทีมชาติอังกฤษ ชุดนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนทั้งในและนอกสนาม วิธีที่เรานำผู้คนจากที่ต่าง ๆ มารวมกัน เพื่อเปิดมุมมอง สร้างแรงบันดาลใจ และความสามัคคี เราจะระลึกเสมอว่าทุกครั้งที่เราลงสนาม เราจะสร้างความทรงจำให้นานมากกว่า 90 นาที หรือแม้กระทั่งในซัมเมอร์นี้ ... แต่แรงบันดาลใจจะต้องคงอยู่ตลอดไป" 

"ไม่ว่าสุดท้ายแล้วการแข่งขันยูโรครั้งนี้จะจบลงเช่นไร สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ พ่อ-แม่ คุณครู และผู้จัดการทีมฟุตบอลทั่วประเทศ จะชี้นิ้วมาที่จอโทรทัศน์และบอกเด็ก ๆ ของพวกเขาว่า 'ดูสิ นี่คือตัวแทนประเทศของพวกเรา นี่คือทีมชาติอังกฤษ ทีมที่ทำให้รู้ว่าทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้'" 

"หากเราทำมันสำเร็จ ... นี่จะเป็นซัมเมอร์ที่ผมและเด็ก ๆ ทุกคนในทีมรู้สึกภาคภูมิใจที่สุด"

ความเข้าใจระบบ อันเป็นเหตุผลที่ เอฟเอ เลือกให้ เซาธ์เกต เป็นกุนซือ เริ่มแสดงคำตอบออกมาแล้ว เขารู้จักวิธีที่ทำให้นักเตะรีดศักยภาพออกมาจนถึงขีดสุดเมื่อสวมเสื้อแข่งของทีมชาติอังกฤษ เช่นเดียวกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ มองเห็นปัญหาในมุมที่ไม่มีใครเคยเห็นเมื่อครั้งอดีต   


Photo : The Athletic 

หากกล่าวว่า "แค่นี้ก็สำเร็จแล้ว" คงจะเป็นการอวยและพูดเกินจริงไปสักหน่อย ซึ่งเซาธ์เกตก็รู้ดี การเปลี่ยนแปลงที่เขานำมาสู่อังกฤษยุคใหม่จะผลิบานและเป็นรูปธรรม ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้แชมป์ ซึ่งเป็นการการันตีความสำเร็จที่ชัดที่สุด 

เพราะตั้งแต่ที่เซาธ์เกตเข้ามารับหน้าที่ ผลงานของทีมสิงโตคำราม คือการคว้าอันดับ 4 ฟุตบอลโลก 2018 และอันดับ 3 ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 2019 และมันยังไม่ถึงฝั่งฝัน กับการที่ทุกฝ่ายมองว่า เมื่ออังกฤษลงสนาม พวกเขาต้องคว้าแชมป์ให้ได้เท่านั้น

"แน่นอนว่าผู้เล่นของผม รวมถึงการทำงานของตัวผมเอง จะถูกตัดสินจากการชนะการแข่งขัน ซึ่งมีเพียงทีมเดียวเท่านั้นที่สามารถชนะยูโรครั้งนี้ ... เราไม่เคยทำได้มาก่อน แต่เชื่อเถอะว่า เราอยากจะทำมันเป็นครั้งแรก" เซาธ์เกต ทิ้งท้าย และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเขาต้องเปิดใจกับสิ่งใหม่เพื่อผลลัพท์ที่แตกต่างจากที่เคยผิดหวังมาในอดีตนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook