เรื่องเล่าจากปากคนไทยในสวิตฯ กับการขับรถข้ามพรมแดนไปเชียร์ยูโร 2020 ท่ามกลางโควิด-19
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2020 นับเป็นทัวร์นาเมนต์ลูกหนังที่แฟนกีฬาทั่วโลกรอคอย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ความทุกข์ยากแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า
ในช่วงดึกของเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ชาวไทยเพิ่งจะได้มีความสุขกับการถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลผ่านหน้าจอ นับเป็นความบันเทิงเล็กน้อยในชีวิต ที่ช่วยบรรเทาความเครียดจากเรื่องราวรอบตัวได้บ้าง
ความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้คนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนใน "สวิตเซอร์แลนด์" ประเทศที่คนทั่วโลกขนานนามว่าเป็นสวรรค์บนดิน ที่บัดนี้เงียบเหงาไร้ชีวิตชีวาเหมือนอย่างเคย
ยูโร 2020 จึงไม่ใช่แค่ทัวร์นาเมนต์แห่งความภาคภูมิใจของชาวยุโรป แต่รวมถึงกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ที่ช่วยให้ผู้คนลืมความทุกข์รอบกาย ได้สวมเสื้อฟุตบอลตามท้องถนน และสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ระหว่างรับชมเกมกีฬา
"ธีรกุล สตุ๊กเกอร์" หญิงไทยที่เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ มานานเกือบ 30 ปี และเป็นแฟนบอลทีมชาติเยอรมัน จะบอกเล่าบรรยากาศของฟุตบอลยูโร 2020 ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากไวรัสโควิด-19
Photo : teeragul stuker
ผู้หญิงจากประเทศไทยคนหนึ่งเดินทางไปใช้ชีวิตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้อย่างไร
พี่เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ เรียนจบวิทยาลัยครูเชียงใหม่ สาขาศิลปะ แต่ไม่ได้ไปเป็นครูนะคะ ตอนนั้นออกมาขายเสื้อที่เพ้นท์เองอยู่ที่ตลาดไนท์บาซาร์ คราวนี้ แวร์เนอร์ สามีของพี่ เขามาซื้อเสื้อผ้า ก็เลยทำความรู้จักกันตั้งแต่ตอนนั้น
ช่วงแรกเป็นเพื่อนกันก่อน เขาก็ชวนไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ เขียนจดหมายคุยกันอยู่ประมาณ 2 ปี จนปี 1993 พี่ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สามีของพี่เขาทำวีซ่าคู่หมั้นให้ ช่วงนั้นก็เรียนภาษาอย่างจริงจัง เพราะพี่คิดว่าถ้าเราจะอยู่ที่นั่นจริง ต้องอ่านออกเขียนได้ และถ้าเราไม่ได้ภาษาก็คงจะไม่มีโอกาสหางานทำ
เรียนภาษาได้ราวหนึ่งปีก็ตัดสินใจแต่งงาน หลังจากนั้นก็ไปสมัครทำงานที่ซูเปอร์มาเก็ต คล้าย โลตัส หรือ บิ๊กซี ของบ้านเรา ตอนแรกทำงานเป็นแคชเชียร์ก่อน ก็ทำทุกอย่าง จนเคยเลื่อนเป็นรองหัวหน้าแผนกเครื่องใช้ แต่ช่วงหลังมีปัญหาสุขภาพเลยกลับมาทำแคชเชียร์เหมือนเดิม ตอนนี้ก็ยังทำงานที่นี่อยู่
Photo : teeragul stuker
ทำไมผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึงกลายเป็นแฟนบอลเยอรมันไปได้
พี่ติดตามทีมชาติเยอรมันตั้งแต่ก่อนย้ายไปอยู่ยุโรปแล้วค่ะ เริ่มรู้จักครั้งแรกในแมตช์ที่เยอรมัน ชนะ อาร์เจนตินา ในฟุตบอลโลก 1990 ตอนนั้น ฟรานซ์ เบคเคนเบาเออร์ ยังเป็นโค้ช พี่รู้สึกว่าทีมชาติเยอรมันยอดเยี่ยมมาก ก็เลยติดตามมาตลอด
สามีพี่ก็ชอบเล่นฟุตบอล เขาเคยเกือบเป็นนักเตะของทีมประจำเขต แต่บาดเจ็บไปเสียก่อน เขาเองก็รู้ว่าพี่เชียร์ทีมชาติเยอรมัน แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า คนสวิสจะไม่ชอบทีมชาติเยอรมัน คนเยอรมันก็ไม่ชอบทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเพื่อนบ้านที่ไม่ค่อยจะชอบขี้หน้ากันสักเท่าไหร่
ทุกครั้งที่ข้ามไปเชียร์บอลฝั่งเยอรมัน สามีจะไม่ไปด้วยนะคะ เพราะเขาไม่ชอบทีมชาติเยอรมันเลย คือเขาก็เกรงใจเรานะ แต่จะพูดตลอดว่า ทีมชาติเยอรมันมีฝีมือก็จริงแต่โชคช่วยตลอด ทุกวันนี้ยังขอบคุณตัวเองที่เรียนขับรถตั้งแต่มาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ใหม่ ๆ เพราะมันช่วยให้พี่ขับรถไปเชียร์เยอรมันเองได้ (หัวเราะ)
Photo : teeragul stuker
ช่วยเล่าประสบการณ์การขับรถข้ามประเทศ ไปเชียร์ฟุตบอลที่เยอรมันให้เราฟังหน่อย บรรยากาศตรงนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง
พี่อาศัยอยู่ในเมืองบาเซิล บ้านพี่อยู่ห่างจากชายแดนฝรั่งเศสแค่ 5 นาที ส่วนเยอรมันจะอยู่ห่าง 15 นาที ตามปกติ พี่ก็ชอบขับรถไปซื้อของที่เยอรมันเป็นประจำ ยิ่งช่วงหลังที่เขาเปิดเป็นวีซ่าเชงเก้น (วีซ่าข้ามเขตแดนยุโรปเสรี 26 ประเทศ) มันก็ง่ายมากขึ้น
ต้องบอกก่อนนะคะว่า ถึงบ้านพี่ติดชายแดนเยอรมันก็จริง แต่โอกาสไปดูบอลในสนามก็ค่อนข้างยาก เพราะกว่าจะเลิกงานคือสองทุ่ม ถ้าบอลเตะสามทุ่มที่เมืองมิวนิค ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปอยู่ตรงนั้น
แถมการจองตั๋วก็ยากมาก แต่เราสามารถข้ามชายแดนเพื่อไปสัมผัสบรรยากาศแบบนั้นได้ เพราะคนเยอรมันเขาก็เชียร์ทีมบ้านเขาใช่ไหมคะ
พี่จึงเลือกเชียร์บอลที่เมืองใกล้ชายแดน อย่าง ลอร์รัค (Lörrach) หรือ ไวล์ แอม ไรห์น (Weil am Rhein) มากกว่า ได้เข้าไปในร้านอาหารที่มีเพื่อนใจเดียวกัน เชียร์ด้วยกัน คือบรรยากาศมันคึกครื้นมากเลยค่ะ คนจะใส่เสื้อบอลเยอรมันเดินทั่วเมือง ถ้าวันไหนเยอรมันชนะ เขาก็จะปิดถนน ขับรถโบกธงชาติ บีบแตรประกาศชัยชนะ วนรถอยู่ตรงนั้น
ฟุตบอลก็มีเปิดให้ดูแทบทุกร้าน อย่างเมืองไทยต้องเป็นบาร์เบียร์ใช่ไหม แต่ที่นี่คือมีทีวีให้ดูบอลทุกร้านจริง ๆ ซึ่งเยอรมันจะดีกว่าสวิตเซอร์แลนด์ตรงที่ในซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ ๆ ประจำเมือง เขาจะมีจอยักษ์ตั้งไว้ให้คนขับรถเข้าไป เขาก็จอดรถดูบอลกันตรงนั้น อารมณ์เหมือนดูหนังกลางแปลง ระหว่างที่ดูก็จะมีขายเบียร์ ขายอาหาร ไส้กรอก อยู่ตรงนั้น มีห้องน้ำบริการ ช่วงพักครึ่งคนก็จะออกมาซื้ออาหารกินกัน
Photo : teeragul stuker
ดูเหมือนว่าฟุตบอลระดับชาติ เช่น ยูโร หรือ ฟุตบอลโลก จะมีบทบาทต่อชีวิตคนยุโรปมาก
เท่าที่สัมผัสมาคนเยอรมันเขาชอบฟุตบอลมาก และรักชาติของเขามาก ถ้าวันไหนมีแข่งบอลนัดใหญ่บริษัทเขาจะให้พนักงานหยุดงานช่วงบ่ายเพื่อออกไปดูบอล
สำหรับองค์กรของพี่ ถ้าวันนี้มีฟุตบอลแข่งไม่ว่าจะสวิสแข่งหรือทีมชาติอื่นแข่ง บริษัทก็จะอนุญาตให้พนักงานใส่เสื้อฟุตบอล ทีมไหนก็ได้แล้วแต่ที่ตัวเองชอบมาทำงาน
พี่ใส่เสื้อเยอรมันไปทำงาน แต่ถ้าวันไหนสวิสแข่งพี่ก็จะใส่เสื้อสวิตเซอร์แลนด์ เพราะเราอาศัยอยู่ในประเทศนี้ เราก็ต้องเชียร์เขา
นักเตะทีมชาติชอบมาซื้อของในร้านที่พี่ทำงานอยู่บ่อย ๆ อย่างเช่น อเล็กซานเดอร์ ฟราย เขาอาศัยอยู่ละแวกใกล้ ๆ เจอกันบ่อย หรือ ยานน์ ซอมเมอร์ ที่กำลังดังจากยูโร 2020 ครั้งนี้ ก็เป็นลูกค้าที่ร้าน เคยคุยกันบ่อย
Photo : teeragul stuker
ถึงแม้ตอนนี้สวิตเซอร์แลนด์จะตกรอบไปแล้ว แต่ภายในเมืองก็ยังมีคนออกไปนั่งกินเบียร์เพื่อเชียร์ฟุตบอล คือเขาจะมีทีมสำรองเอาไว้ อย่างตอนนี้คนสวิสจะเชียร์เดนมาร์กกัน หรือบางคนที่เขามาจากเดนมาร์กแล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ เขาก็จะใส่เสื้อเชียร์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ อย่างคนเยอรมันหรือคนฝรั่งเศส จะชอบข้ามแดนมาทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ เพราะค่าแรงสูงกว่าในประเทศเขา
ถ้าเป็นฟุตบอลโลกก็จะยิ่งครึกครื้นกว่านี้อีกค่ะ เพราะจำนวนชาติที่เข้าแข่งขันเยอะกว่ายูโร พี่เคยเห็นคนญี่ปุ่นใส่เสื้อทีมชาติญี่ปุ่นเดินอยู่ในเมือง หรือคนสวิสเขาก็จะดูว่าวันนั้นทีมไหนแข่งกับทีมไหน คือพวกเขาจะมีทีมสำรองไว้เชียร์ เขาก็จะใส่เสื้อทีมนั้น
สมมติว่า วันนี้เนเธอร์แลนด์เตะ คนก็จะหาเสื้อสีส้มมาใส่ ทุกคนในเมืองที่เชียร์เนเธอร์แลนด์ก็จะใส่เสื้อสีส้มเดินกันเต็มไปหมด บรรยากาศครึกครื้นเป็นปกติอยู่แล้ว แต่จะครึกครื้นเป็นพิเศษตอนชาติตัวเองแข่ง
Photo : teeragul stuker
บรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในยูโร 2020 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
ความรู้สึกมันแย่ลง มันไม่เหมือนเดิม คนมันน้อยลงไปเยอะค่ะ ไม่มีเสียงเพลงที่คึกคักเร้าใจ ตามปกติช่วงก่อนแข่งคนจะใส่เสื้อทีมชาติเยอรมันมารวมตัวกันเยอะมาก แล้วเปิดเพลงเสียงดังอะไรทำนองนี้ค่ะ แต่ช่วงที่ผ่านมามันจะมีคนมาเชียร์บอลอยู่แค่ไม่กี่โต๊ะ นั่งห่างกัน ใส่หน้ากาก ก็ดูแบบเงียบ ๆ คือตอนนี้คนยุโรปยังกลัวโควิดกันมากนะคะ
ล่าสุด พี่ขับรถเข้าไปเชียร์บอลที่เยอรมัน ถ้าจะเข้าไปดูบอลในร้านอาหารต้องมีใบรับรองว่าฉีดวัคซีนมาแล้ว ถ้าไม่มีใบรับรองห้ามเข้าไปข้างในร้าน นั่งได้แค่ส่วนข้างนอก ถ้าจะเข้าไปดูในสนามก็ต้องมีการตรวจก่อนว่าติดเชื้อโควิดไหม ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตที่เขาเคยทำจอยักษ์เขาก็ยกเลิกไปแล้ว
ฟุตบอลยูโร 2020 พี่ก็เลยนั่งดูในร้านเล็ก ๆ เพราะพี่ฉีดวัคซีนแล้วก็เข้าไปนั่งดูข้างในได้ บรรยากาศมันเศร้าสร้อย พี่ไม่ได้รู้สึกคนเดียวนะคะ คนอื่นก็รู้สึกแบบนี้เหมือนกัน ยิ่งทีมบอลที่เชียร์แพ้ มันจะเงียบเลยค่ะ
ถ้าเป็นเมื่อก่อน มีครั้งหนึ่งที่เยอรมันแพ้แล้วบราซิลชนะ แฟนบอลเยอรมันก็จะรวมตัวดื่มเบียร์กันต่อ ส่วนคนที่เชียร์บราซิลเขาก็จะขับรถบีบแตร ชูธงชาติของเขา แต่ว่าในยูโร 2020 ที่ผ่านมา เมื่อเยอรมันแพ้ ข้างนอกนี่เงียบไปหมดเลยค่ะ คนจะเข้าบ้านกันหมด เงียบกันทั้งเมือง ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย
Photo : teeragul stuker
ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ประเทศฝั่งยุโรปมีวิธีรับมือกับโควิด-19 ในช่วงที่ผู้คนรวมตัวกันดูบอลอย่างไรบ้าง
ก่อนหน้านี้เยอรมันล็อกดาวน์มา 5 เดือนเต็ม ไม่ให้ใครเข้าประเทศเลย แต่ว่าเพื่อนของพี่ที่เป็นคนเยอรมัน เขาเขียนใบอนุญาตให้พี่สามารถเข้าไปได้ ก็จะมีตั๋วเข้าไป แต่ไม่สามารถเข้าไปซื้อของแบบเมื่อก่อนได้ ถ้าทำแบบนั้นก็จะโดนปรับ ทำได้แค่นั่งในร้านอาหาร สังสรรค์กับเพื่อน
มาตรการในการเชียร์บอลตอนนี้คือ ห้ามนั่งใกล้กัน ในร้านสามารถนั่งได้ไม่เกินกี่คน ร้านขนาดใหญ่เขาถึงไม่ค่อยเปิดกัน เพราะเขาจะเขียนป้ายหน้าร้านชัดเจนว่าห้ามนั่งเกินกี่คน
สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ จะฉีดวัคซีนหรือยังไม่ฉีดวัคซีนก็สามารถนั่งในร้านได้ แต่เขากำหนดไว้ว่านั่งได้กี่คน และห่างกันแค่ไหน สามารถถอดหน้ากากได้แค่ตอนกินข้าวเท่านั้น เมื่อลุกจากโต๊ะต้องใส่หน้ากากทันที คือทุกคนก็ไม่ได้ทำตามกฎทั้งหมด เพราะเขาก็จะให้สิทธิเสรีภาพ ยกเว้นว่าเขาไปซื้อของในร้านค้าโดยไม่ใส่หน้ากาก ถ้าเขาโดนจับได้จะถูกปรับทันที
ทัวร์นาเมนต์ยูโร 2020 สำคัญกับชาวยุโรปแค่ไหน ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ความจริง ยูโร 2020 ตอนแรกเพื่อนก็บอกว่าอาจจะไม่ได้แข่ง ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดหนักปีที่แล้ว แต่คนทั่วไปตอนนี้เขาเครียดมาก เพราะว่าช่วงสองปีที่ผ่านมา ไม่มีคอนเสิร์ต ไม่มีกิจกรรมอะไรเลย ทุกคนต้องการหาอะไรที่มันจรรโลงใจ ก็มียูโร 2020 เข้ามาเป็นกิจกรรมตรงนี้
โควิดมันทำลายทุกอย่างจริง ๆ นะคะ ทำลายชีวิตคนที่นี่ มันยากมากเลยค่ะ
Photo : teeragul stuker
หากวันหนึ่งไวรัสโควิด-19 หายไป ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ วางแผนอะไรเกี่ยวกับการเชียร์บอลในอนาคตไว้บ้าง
พี่เคยคิดเหมือนกันนะว่า ถ้าเกษียณแล้วก็อาจจะมีเวลามากขึ้น แล้วอาจได้ไปดูฟุตบอลในสนาม ตอนนี้ก็มีวางแผนว่าถ้าโควิดหายไปก่อนฟุตบอลโลก 2022 พี่อาจจะทำเรื่องพักร้อนให้ตรงกับช่วงแข่งขัน แล้วเดินทางไปเชียร์ฟุตบอลที่กาตาร์ เพราะคิดว่าน่าจะไม่ได้เชียร์บอลที่เยอรมันเหมือนเดิม เพราะเวลาเตะคงประมาณเที่ยงคืน เวลานั้นคงไม่มีร้านไหนเปิดแล้ว
ปีหนึ่งพี่จะมีพักร้อนประมาณ 6 อาทิตย์ ก็วางแผนว่าจะกลับมาประเทศไทยแวะกาตาร์สัก 4-5 วัน เพื่อไปเก็บบรรยากาศ อาจจะไม่ต้องเข้าไปดูในสนามก็ได้คิดว่าเราไปเก็บบรรยากาศ ไปเที่ยวด้วย พักผ่อนด้วย อารมณ์เหมือนเราไปเที่ยวประเทศที่จัดโอลิมปิก ประเทศไหนเป็นเจ้าภาพเราก็อยากไปตรงนั้น
ถึงเยอรมันไม่เข้ารอบ แต่ถ้าพี่มีโอกาสขอลาพักร้อนในช่วงแข่งขันฟุตบอลโลกได้ พี่ก็อยากไปเก็บบรรยากาศตรงนั้น
Photo : teeragul stuker
ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ฟุตบอลมีความหมายมากแค่ไหนสำหรับหญิงไทยคนหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์
คนไทยที่นี่เขาก็ไม่ได้บ้าเหมือนพี่นะ ชวนใครไปเชียร์บอลเขาก็ไม่สนใจ เราก็ไปของเรา มันเป็นความชอบส่วนตัว คือเราอยู่ไกลบ้าน เราจากครอบครัวมา อะไรที่ทำให้ตัวเองมีความสุขได้เราก็จะทำ
คล้ายกับว่าเราต้องมอบความรักให้ตัวเองบ้าง แล้วสิ่งนี้มันเป็นความสุขของเรา เสื้อฟุตบอลทีมชาติเยอรมันจะแพงแค่ไหนเราก็ซื้อ ถึงตอนนี้จะเหลือเก็บไว้แค่ไม่กี่ตัวเพราะแจกคนอื่นไปเยอะ แต่ตัวที่เรารักจริง ๆ เราก็เก็บไว้
สำหรับพี่ มันเป็นความทรงจำที่ดีทุกครั้งที่ได้ไปเชียร์ทีมชาติเยอรมัน แต่จะพิเศษหน่อยถ้าปีไหนเยอรมันได้เข้ารอบลึก ๆ ก็จะตื่นเต้นมาก จะกระวนกระวาย ถ้าชนะก็จะมีความสุข มันไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นหรอก
Photo : teeragul stuker