รู้จัก "ซาราห์ กิลเบิร์ต" ผู้หญิงที่คนทั่วสนามวิมเบิลดันปรบมือกึกก้อง

รู้จัก "ซาราห์ กิลเบิร์ต" ผู้หญิงที่คนทั่วสนามวิมเบิลดันปรบมือกึกก้อง

รู้จัก "ซาราห์ กิลเบิร์ต" ผู้หญิงที่คนทั่วสนามวิมเบิลดันปรบมือกึกก้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทนนิส วิมเบิลดัน ถูกยกเลิกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 2020 หลังจากไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก รวมถึงอังกฤษ สถานที่จัดการแข่งขัน เช่นกันกับหลากหลายกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ที่ไม่อาจดำเนินไปได้เหมือนดั่งเคย

แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มทุเลาลง ทันเวลาก่อนที่วิมเบิลดันจะเริ่มเปิดฉากในปี 2021 ที่ทำให้แกรนด์แสลมบนคอร์ทหญ้ารายการนี้ กลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง พร้อมกับเสียงปรบมือดังกึกก้องตั้งแต่นัดเปิดสนาม ระหว่าง โนวัค ยอโควิช พบกับ แจ็ค แดรปเปอร์ ซึ่งเป็นการแข่งขันนัดแรกในรอบ 715 วันของวิมเบิลดัน

ทว่าเสียงปรบมือดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นจากชัยชนะของ ยอโควิช หรือเป็นการต้อนรับนักหวดท้องถิ่นอย่าง แดรปเปอร์ แต่เป็นการขอบคุณไปยังเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือท่านผู้หญิง (เดม) ดร. ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นวัคซีน Oxford-AstraZeneca ขึ้นมา

มาทำความรู้จักกับเรื่องราวของนักวัคซีนวิทยารายนี้ กับเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นวัคซีนต้าน COVID-19 ที่ช่วยชีวิตคนนับล้านได้

ปีใหม่ที่แล้ว

ในขณะที่ทั่วทั้งโลกกำลังฉลองเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ด้วยความหวังให้ปี 2020 ใจดีกับเรามากกว่าปีก่อนหน้าหน่อย (ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง) รายงานของอาการปอดบวมที่เกิดจากโคโรน่าไวรัส ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ได้ไปสะดุดตาของ ดร. ซาราห์ กิลเบิร์ต นักวัคซีนวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ผู้กังวลอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่ามันอาจแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้


Photo : northamptonchron.co.uk

"เราวางแผนและรอคอยโรคระบาด X มาสักพักแล้ว และเชื่อว่านี่คือสิ่งนั้นแน่ ๆ"

เหตุที่เธอพูดเช่นนั้น เพราะโคโรน่าไวรัส ได้ถูกแพร่จากสัตว์สู่คนมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ Sars ในปี 2002 และ Mers ในปี 2012

ด้วยความที่ทั้งสองครั้งข้างต้นนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบจนทำให้โลกทั้งใบแทบหยุดหมุน และบทเรียนจากการระบาดก่อนหน้านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบจุดอ่อนของไวรัสดังกล่าวแล้ว จึงทำให้ ดร. กิลเบิร์ต และทีมของเธอ ได้เริ่มโปรเจกต์วัคซีนขึ้นมา

ดร. กิลเบิร์ต เปิดเผยกับทาง BBC ว่า "ฉันคิดว่ามันคงเป็นแค่โปรเจกต์ธรรมดา ที่เราผลิตวัคซีนได้ แล้วไวรัสก็คงค่อย ๆ หายไป"

"แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น"

ความโชคดีในความโชคร้าย

จะเรียกว่าการระบาดของ COVID-19 คือความโชคดีก็คงไม่ถูกต้อง เพราะด้วยยอดผู้เสียชีวิตทั่วทั้งโลกกว่า 4 ล้านคน กับการพังทลายในแทบจะทุกมิติของสังคม มันคงไม่ใช่เรื่องที่ดีอยู่แล้ว

แต่หากมองในมุมที่ว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจาก 0 เพื่อเรียนรู้ว่าไวรัสตัวดังกล่าวมีลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างไร ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลย


Photo : telegraph.co.uk

ดร. กิลเบิร์ต ผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาวัคซีนสำหรับอีโบล่า และ Mers มาแล้ว ได้เริ่มศึกษาโครงสร้างทางพันธุกรรมของ COVID-19 แทบจะในทันทีที่นักวิทยาศาสตร์จีนเปิดเผยข้อมูลออกมา โดยเพื่อนร่วมงานของเธอยังกล่าวเลยว่า "เพียงสุดสัปดาห์เท่านั้น เราก็แทบจะดีไซน์วัคซีนได้เรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก"

ไม่กี่อาทิตย์หลังจากทราบข่าวการระบาด วัคซีนตัวแรกที่สามารถจัดการกับ COVID-19 ในห้องทดลองก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ ก่อนจะถูกนำมาทดสอบกับมนุษย์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2020 หลังผ่านการทดสอบกับสัตว์ และตรวจเช็คคุณภาพเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจนมั่นใจแล้ว

การทำงานของวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แบบคร่าว ๆ คือการนำไวรัสชนิดอื่นมาเป็นพาหะเพื่อนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย โดยใช้เชื้อไวรัสอะดีโน ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ พร้อมกับเพิ่มโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส COVID-19 เข้าไป

เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้ว มันจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย แบบเดียวกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยกระตุ้นให้เซลล์ที่เจริญเติบโตแถวต่อมไธมัสบริเวณลำคอ หรือ T-cell ที่เป็นตัวหลักของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เนื่องจากมันมีอายุอยู่ในร่างกายได้นานถึง 9 ปี จึงสามารถทั้งจดจำ และตอบสนองกับไวรัสตัวดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ทีนี้ การพัฒนาวัคซีนในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ยังคงต้องพึ่งพาปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งสิ่ง นั่นคือเรื่องของ "เงิน"

เราไม่ค้ากำไรจากวัคซีน

"เราเป็นมหาวิทยาลัย และเราไม่ได้มาหากำไรจากการทำสิ่งนี้" คือคำมั่นสัญญาที่ ดร. กิลเบิร์ต ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นของการทำวัคซีนนั้น ทีมของเธอก็แทบจะหมดเงินในบัญชีไปแล้ว

เพราะการผลิตวัคซีนมีต้นทุนที่สูงมาก จนทำให้ ดร. กิลเบิร์ต แทบจะต้องใช้เวลาทั้งหมดหลังจากออกแบบวัคซีนได้แล้ว ไปกับการหาเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ เป็นหลัก

แม้ว่าทางทีมของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จะมีโรงงานผลิตวัคซีนเป็นของตัวเองก็ตาม แต่สำหรับการเดินสายงานผลิตมากกว่า 1,000 โดส เพื่อใช้ในการทดลอง และการผลิตแบบจำนวนมากหลังจากนั้นสำหรับการใช้จริง พวกเขายังจำเป็นต้องการโรงงานที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งเม็ดเงินและการสนับสนุนก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา หลังจากสถานการณ์เริ่มวิกฤติลงในหลายประเทศ เมื่อช่วงเดือนเมษายนของปี 2020

นั่นรวมถึงการเข้ามาร่วมมือกับทีมของ ดร. กิลเบิร์ต โดย AstraZeneca บริษัทยาสัญชาติอังกฤษและสวีเดน ที่เข้ามาช่วยเหลือในด้านการพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายวัคซีนดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2020 เป็นต้นมา

ด้วยเงินทุนสนับสนุน ควบคู่ไปกับการระบาดที่ทั่วทั้งโลกต่างประสบพบเจอ จึงทำให้การทดลองทั้ง 3 ขั้นกับอาสาสมัครนั้น ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ก่อนที่วัคซีน Oxford-AstraZeneca จะได้รับอนุมัติให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบใน บราซิล และ ออสเตรเลีย โดยมีอีก 170 ประเทศทั่วโลก ที่ให้ใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉินอยู่ในขณะนี้ โดยมีสายการผลิตอยู่ตามโรงงานต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก เพื่อเร่งให้ทันกับยอดการส่งมอบวัคซีน 3,000 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2021 นี้

แน่นอนว่า ดร. กิลเบิร์ต เหมาะสมและควรค่าแก่การได้รับเสียงปรบมืออย่างยิ่ง เมื่อความมุ่งมั่นในสายงานของเธอ ได้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้โลกใบนี้ กลับมาใกล้เคียงกับชีวิตอันปกติมากยิ่งขึ้น

ต้องยินดีกับหลายประเทศจริง ๆ ที่พวกเขาเห็นคุณค่าของชีวิตผู้คน และจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้เราก้าวเดินต่อไปได้ ภาพของผู้คนเต็มสนามในวิมเบิลดัน รวมถึงการแข่งขันกีฬาอีกหลายรายการ อาจทำให้เกิดการระบาดใหม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ที่ติดเชื้อในระลอกนี้ จะมีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้มากเท่าแต่ก่อนแล้ว

"ตั้งแต่จุดเริ่มต้น เรามองว่านี่คือการแข่งขันกับไวรัส ไม่ใช่การแข่งกับผู้ผลิตเจ้าอื่น" คือหนึ่งในประโยคที่ ดร. กิลเบิร์ต ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้

แต่กับสถานการณ์ในตอนนี้ เราอาจต้องเพิ่มเข้าไปหน่อยว่า "แม้ไวรัสจะไม่รู้ว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าไปเนี่ย เป็นยี่ห้ออะไร แต่ร่างกายของเรารู้ และการเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเข้ามานั้น ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นได้จริง ในเมื่อมีผู้ผลิตที่หลากหลาย เราก็ควรเลือกของที่มีการรับรองแล้วว่าใช้ได้ดีที่สุดไม่ใช่หรือ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook