ชิโซ คานาคุริ : จากคนวิ่ง "ช้าสุด" ในโอลิมปิก สู่บิดามาราธอนญี่ปุ่น
14 กรกฎาคม 1912 ชิโซ คานาคุริ นักวิ่งมาราธอน สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นนักกีฬาชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรก ที่ได้ร่วมการแข่งขันโอลิมปิก
อย่างไรก็ดี หลังออกสตาร์ตที่จุดเริ่มต้น คานาคุริ ก็ไม่เคยถึงเส้นชัยในการแข่งขันที่สตอกโฮล์ม ... จนกระทั่งเกือบ 60 ปีต่อมา
นี่คือเรื่องราวนักวิ่งชาวญี่ปุ่น ที่กลายเป็นคนวิ่งช้าที่สุดในโอลิมปิก แต่กลับได้รับการยกย่องในฐานะ "บิดาแห่งมาราธอนญี่ปุ่น"
นักวิ่งสถิติโลก
ชีวิตของ ชิโซ คานาคุริ นั้นผูกพันกับการวิ่งมาตั้งแต่เด็ก เขาเกิดและเติบโตที่ ฮารุโดมิ หมู่บ้านเล็ก ๆ ท่ามกลางขุนเขาในจังหวัดคุมาโมโตะ และด้วยความที่หมู่บ้านแห่งนี้มีธรรมเนียมว่า เด็กต้องวิ่งไปโรงเรียนเป็นกลุ่มตอนมัธยม ทำให้ทุกวัน เขาต้องวิ่งไปกลับเป็นระยะทางถึง 12 กิโลเมตร
Photo : kanakurishiso.jp
แม้ว่าในช่วงแรก คานาคุริ ซึ่งเก่งเรื่องเรียนมากกว่า จะวิ่งตามรุ่นพี่ไม่ค่อยทัน แต่หลังจากที่เขาเรียนรู้วิธีการหายใจเป็นสองส่วน จนทำให้รู้สึกว่าวิ่งง่ายขึ้น ทำให้ชายคนนี้เริ่มสนุกกับการวิ่ง
เขาใช้ชีวิตอยู่ที่คุมาโมโตะ จนถึงปี 1910 ก็ถึงคราวต้องจากบ้านเกิด หลังได้รับทุนไปเรียนต่อที่ Tokyo Higher Normal School (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยสึคุบะ) ในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เขาได้พบกับ จิโงโระ คาโนะ (ต่อมาคือบิดาแห่งยูโดญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนในตอนนั้น
และทันทีที่มาถึง คานาคุริ ก็ฉายแววเด่นในด้านกรีฑาของเขาออกมา หลังทำสถิติเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 ในการแข่งขันวิ่งระยะไกล ทั้งที่ตอนนั้นเขาเพิ่งอยู่เพียงแค่ปีหนึ่งเท่านั้น
Photo : kanakurishiso.jp
คาโนะ ก็เป็นคนหนึ่งที่เห็นแววในด้านนี้ของเขา ทำให้แม้ว่า คานาคุริ ไม่ได้มีรูปร่างที่สูงใหญ่ (สูงเพียง 163 เซนติเมตร) และไม่มีพื้นฐานการวิ่ง แต่เขาก็เชื่อว่าเด็กหนุ่มจากคุมาโมโตะคนนี้ น่าจะมีอนาคตไกล จึงให้ไปฝึกซ้อมกับชมรมกรีฑา เพื่อรีดศักยภาพออกมาให้มากที่สุด
หลังจากนั้นไม่นาน โอกาสในการโชว์ฝีมือของ คานาคุริ ก็มาถึง เมื่อในปี 1911 ญี่ปุ่นได้จัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน เพื่อเป็นการคัดเลือกนักวิ่งเป็นตัวแทนทีมชาติ ไปร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในปี 1912
แม้ว่ามันจะเป็นการวิ่งมาราธอนครั้งแรกในชีวิตของคานาคุริ แต่เขาก็ทำผลงานได้เหนือความคาดหมาย หลังพาตัวเองที่ถุงเท้าขาด และต้องวิ่งเท้าเปล่าเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่ง ในเวลา 2 ชั่วโมง 32 นาที เร็วกว่าสถิติโลกถึง 27 นาที
Photo : kanakurishiso.jp
อย่างไรก็ดี สถิติใหม่นี้กลับไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนในการวัดระยะทาง ที่ทำให้เส้นทางรวมนั้นสั้นกว่า 25 ไมล์ (40.225 กิโลเมตร) และทำให้ 3 อันดับแรก ต่างทำลายสถิติโลกเช่นกัน
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ปรากฏการณ์ที่ คานาคุริ สร้างขึ้น จากการเป็นเด็กหนุ่มวัยเพียง 20 ปี ที่คว้าตั๋วไปโอลิมปิก ก็ทำให้เขาโด่งดังในชั่วพริบตา และกลายเป็นกระแสในตอนนั้น
"คนญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงความอดทนที่น่าทึ่งในช่วงสงคราม หลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นสถิติโลกเกิดขึ้นแบบนี้อีก" คาโนะกล่าว
แต่ระดับโลก มันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น
การเดินทางแสนทุลักทุเล
อันที่จริง ในตอนแรก คานาคุริ เกือบไม่ได้ไปโอลิมปิกแล้ว เมื่อเขาปฏิเสธที่จะเป็นตัวแทนญี่ปุ่น เนื่องจากกลัวว่าจะรับแรงกดดันจากคนในชาติไม่ไหว แต่ คาโนะ ก็พยายามเกลี้ยกล่อม จนทำให้เขาตกปากรับคำ และกลายเป็น 1 ใน 2 นักกีฬาญี่ปุ่น ร่วมกับ ยาฮิโกะ มิชิมะ นักวิ่งระยะสั้น ไปสวีเดน
Photo : uk.runningheroes.com
นอกจากนี้ พวกเขายังเผชิญกับปัญหาการเงิน เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิเสธที่จะช่วยค่าเดินทาง (ราว 1,800 เยน หรือเทียบเท่ากับ 8 ล้านเยน หรือ 240,000 บาทในปัจจุบัน) โดยให้เหตุผลว่า "มันไม่เข้าท่าเท่าไรที่นักเรียนของโรงเรียนรัฐบาล จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาของพวกตะวันตก"
ทำให้พวกเขาต้องวิ่งวุ่นเปิดรับบริจาค โดยมีหัวหน้าหอพักของคานาคุริ เป็นโต้โผ และสุดท้ายก็สามารถรวบรวมเงินได้ครบจำนวน และทำให้ คานาคุริ, มิชิมะ, คาโนะ พร้อมด้วย เฮียวโซะ โอโมริ ผู้เชี่ยวชาญด้านพละศึกษา ในตำแหน่งผู้จัดการทีม สามารถออกเดินทางไปยุโรปได้ทันเวลาในปี 1912
Japan Time สื่อชื่อดังของญี่ปุ่นได้เขียนบรรยายการออกเดินทางไปโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในตอนนั้นไว้ว่า
"เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่นักวิ่งญี่ปุ่น (หรือนักกีฬาญี่ปุ่น) จะได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก มันเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จ"
"แต่ทั้งคู่เต็มไปด้วยความทรหดและความกล้าหาญ และอาจจะนับได้ว่า (การไปแข่ง) เป็นเกียรติต่อพวกเขาเองและญี่ปุ่น"
Photo : kanakurishiso.jp
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่สมัยนั้นการเดินทางไปยุโรปค่อนข้างลำบาก (สายการบินพาณิชย์เปิดบริการครั้งแรกในปี 1914 หรือ 2 ปีหลังโอลิมปิกครั้งนั้น) ทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 17 วัน ในการเดินทางจากญี่ปุ่นไปสตอกโฮล์ม เริ่มจากนั่งเรือ แล้วไปต่อรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ คานาคุริ มีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก คาซุโอะ ซายามะ นักประวัติศาสตร์บอกว่า "คานาคุริถึงขั้นต้องไปซ้อมวิ่งรอบสถานีรถไฟ ทุกครั้งที่รถไฟจอดพัก"
แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของเขาก็ยังไม่หมด เมื่อตอนที่ถึงสวีเดน โอโมริ ผู้จัดการทีมดันมาล้มป่วย ทำให้ คานาคุริ ซึ่งอายุน้อยสุดในทีมชุดนั้น ต้องเป็นคนดูแลเขา
แถมตัวเขาเองยังต้องเผชิญกับปัญหาในการปรับตัว ทั้งอาหารที่ไม่คุ้นชิน บวกกับดวงอาทิตย์ช่วงฤดูร้อนในแถบสแกนดิเนเวียนั้นตกช้า ที่เที่ยงคืนแล้วก็ยังไม่ตก ทำให้เขานอนไม่หลับ
แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของฝันร้าย
โอลิมปิกที่น่าเศร้า
14 กรกฎาคม 1912 คือดีเดย์ของการแข่งขันมาราธอน แต่โชคร้ายของ คานาคุริ ยังไม่จบสิ้น เมื่อรถบัสที่ต้องมารับเขาไปที่จุดสตาร์ตดันไม่มา ทำให้เขาต้องหาวิธีไปเอง ซึ่งกว่าจะไปถึงการแข่งขันก็เริ่มไปแล้ว
Photo : kanakurishiso.jp
ถึงแม้ว่าจะออกสตาร์ทช้ากว่าคนอื่น แต่ คานาคุริ ที่มาพร้อมกับรองเท้าที่ดัดแปลงมาจาก "ทาบิ" (รองเท้าที่แยกนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วอื่นออกจากกัน) ก็พยายามเร่งสปีดจนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 17 ของการแข่งขัน
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่สภาพอากาศวันนั้นร้อนมาก มีรายงานว่าอุณหภูมิสูงถึง 32 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในแถบโลกเหนือ บวกกับ คานาคุริ ที่มีความเชื่อว่าเขาจะไม่ดื่มอะไรระหว่างการแข่งขัน ทำให้เขาไปไม่ถึงเส้นชัย
"มันมีความเชื่อในตอนนั้นว่าเหงื่อทำให้นักวิ่งเหนื่อย คานาคุริ จึงพยายามงดเครื่องดื่มทุกอย่าง และมันก็ทำให้เขาล้มป่วย" ซายามะอธิบาย
หลังจากผ่านการแข่งขันไปครึ่งทาง ราวกิโลเมตรที่ 27 คานาคุริ ก็เป็นลมล้มหมดสติอยู่ในป่า โดยคาดกันว่าน่าจะมาจากอาการลมแดด เขาได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านในบริเวณนั้น ซึ่งกว่าที่เขาจะตื่นขึ้นมา การแข่งขันก็เสร็จสิ้นไปแล้ว
อันที่จริง การต้องออกจากการแข่งขันของ คานาคุริ ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อในจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้ง 68 คน มีเพียงแค่ครึ่งเดียวที่วิ่งจนจบ แถมยังมีหนึ่งคนที่ต้องสังเวยชีวิต อันเนื่องมาจากลมแดดในวันรุ่งขึ้น
Photo : city.tamana.lg.jp
อย่างไรก็ดี คานาคุริ เสียใจมาก ที่เขาวิ่งไม่จบ ซายามะ เล่าว่าในไดอารี่ของเขาระบุไว้ว่าเขาได้นำ "ความอับอาย" มาสู่ประเทศ และสาบานว่าจะล้างอายในครั้งนี้ให้ได้
"พ่ายแพ้อย่างยับเยิน เสียใจจนเหมือนชีวิตจบสิ้น" ส่วนหนึ่งจากไดอารี่ของ คานาคุริ ระบุ
ทำให้หลังกลับมาญี่ปุ่น คานาคุริ พยายามแก้มือด้วยการฝึกฝนให้ตัวเองทนทานต่ออากาศที่ร้อนจัด รวมไปถึงฝึกกินขนมปังให้ชิน เพื่อให้พร้อมยามต้องเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ
แต่ดูเหมือนว่าสวรรค์ยังคงกลั่นแกล้งเขาไม่หยุด เมื่อโอลิมปิก ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ปี 1916 ซึ่งน่าจะเป็นปีที่ คานาคุริ พร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่อายุ (ตอนนั้นเขาจะอายุ 25 ปี พอดี) และความสามารถ ดันต้องมายกเลิกอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1
แม้ว่าเขาจะมีโอกาสได้เข้าร่วมโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1920 ที่เมืองอันต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม แต่มันก็สายไปแล้ว เมื่อคานาคุริ ในวัย 29 ปี บาดเจ็บในระหว่างการแข่งขัน และเข้าเส้นเป็นอันดับที่ 16 ในครั้งนั้น
Photo : city.tamana.lg.jp
ในขณะที่การแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1924 ที่ตอนแรกตั้งใจจะหลีกทางให้กับเด็กรุ่นใหม่ เพราะตัวเองก็อายุ 30 กว่าแล้ว แต่ก็ไม่มีใครสามารถทำเวลาได้ดีกว่าเขาในรอบคัดเลือก จนทำให้เขาได้กลับไปแข่งอีกครั้ง ทว่าสุดท้ายก็จบลงอย่างน่าเศร้า เมื่อเป็นอีกครั้งที่เขาต้องออกจากการแข่งขันกลางคัน
ทำให้ตลอดการเข้าร่วมโอลิมปิก ทั้ง 3 ครั้งของ คานาคุริ ล้วนจบลงด้วยความผิดหวัง ด้วยการวิ่งไม่จบ 2 ครั้ง แถมที่วิ่งจบก็ทำได้เพียงแค่อันดับ 16 ซึ่งห่างไกลจากการคว้าเหรียญ
อย่างไรก็ดี มันก็ทำให้เขา "รู้ตัว" ว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่เพียงใด และต้องทำอย่างไรเพื่อไปถึงระดับโลก
รากฐานนักวิ่งญี่ปุ่น
"ความล้มเหลวนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จ" บางตอนจากไดอารี่ของ คานาคุริ ที่เขาบันทึกไว้หลังเข้าร่วมโอลิมปิกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1912
Photo : city.tamana.lg.jp
แม้ว่าการเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จะเต็มไปด้วยความอัดอั้นตันใจของ คานาคุริ ที่แข่งไม่จบ แต่มันก็ทำให้เขาได้รับรู้ความแตกต่างระหว่างญี่ปุ่นและระดับโลก ที่ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะปลุกปั้นนักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมา
เขาพยายามคิดหาวิธี ที่จะสร้างนักวิ่งหนุ่มสาวรุ่นต่อไป ก่อนจะมาปิ๊งไอเดียจากบทสนทนาบนรถไฟ หลังถูกเชิญไปเป็นกรรมการการแข่งขันวิ่งแข่งระดับประถม ที่จังหวัดไซตามะเมื่อปี 1919
"หากสามารถวิ่งผลัดในระดับที่ข้ามทวีปอเมริกาได้ คงจะได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ" บางส่วนของบทสนทนา
"น่าสนใจเหมือนกันนะ ไปเชิญมหาวิทยาลัยทั้งหลายมาแข่งรอบคัดเลือกกันเถอะ"
และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาจัดการแข่งขันวิ่งผลัดระยะไกลแบบทีมที่ชื่อว่า "ฮาโงเนะ เอคิเด็น" (Hagone Ekiden) จากโตเกียวถึงฮาโงเนะ เมืองตากอากาศในจังหวัดคานางาวะ ที่มีระยะทางถึง 217 กิโลเมตร
Photo : hakone-japan.com
อันที่จริงมันไม่ใช่การแข่งขันเอคิเด็น รายการแรกของญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านั้นในปี 1917 ก็มีการแข่งขันวิ่งผลัดระยะไกลฉลองครบรอบ 50 ปี การตั้งโตเกียวเป็นเมืองหลวง จากโตเกียว-เกียวโต เป็นระยะทาง 507 กิโลเมตร
โดยคำว่า Ekiden มาจากตัวคันจิของคำว่า "สถานี" (eki) และ "ส่งต่อ" (den) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากคนขี่ม้าส่งสารในอดีต ที่ต้องใช้เส้นทางนี้ หรือที่เรียกว่าเส้นทางสายโทไคโด ซึ่งมีจุดแวะพักถึง 53 สถานี ในการส่งสารระหว่างเมืองเอโดะ (โตเกียว) และเกียวโต
คานาคุริ มองว่าการแข่งขันวิ่งผลัดลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยฝึกฝนนักวิ่งจำนวนมากในคราวเดียวกัน แต่มันยังทำให้การแข่งขันวิ่งระยะไกลได้รับความนิยมมากขึ้น และเพื่อฝึกความทรหด เขาได้เลือกเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่หนาวที่สุดของญี่ปุ่น เป็นวันจัดการแข่งขัน (ก่อนจะเปลี่ยนมาแข่งในวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากปัญหาการจราจร)
ฮาโงเนะ เอคิเด็นครั้งที่ 1 เปิดฉากขึ้นในเวลา 13:00 น. ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1920 โดยมี 1 โรงเรียน และ 3 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม ได้แก่ Tokyo Higher Normal School ของคานาคุริ มหาวิทยาลัย วาเซดะ, มหาวิทยาลัยเคโอ และมหาวิทยาลัยเมจิ
กฏในสมัยนั้นคือ แต่ละทีมสามารถหาทางลัดได้ แต่เอาเข้าจริงกว่านักวิ่งจะไปถึงฮาโงเนะ พระอาทิตย์ก็ตกดินไปแล้ว ทำให้พวกเขาต้องจุดไฟไปด้วยวิ่งไปด้วย ที่สุดท้าย Tokyo Higher Normal School เป็นฝ่ายเฉือนชนะมหาวิทยาลัยเมจิ ไปได้อย่างหวุดหวิด
Photo : city.tamana.lg.jp
นอกจากนี้ หลังจากนำรองเท้าแบบทาบิไปวิ่งในโอลิมปิก ในเวลาต่อมาเขายังได้ร่วมมือกับ ชินซาคุ คุโรซากะ เจ้าของร้าน ฮาริยามะ ทาบิ ร่วมพัฒนารองเท้าทาบิสำหรับวิ่งมาราธอน ที่ทั้งเสริมยางที่พื้น และเอา Kohaze หรือตัวยึดของทาบิออกไป แล้วใช้การผูกเชือกแทน
รองเท้ารุ่นแรกของเขาถูกตั้งชื่อว่า "Kanakuri Shoes" และถูกนำไปใช้ครั้งแรกในโอลิมปิก 1928 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มันทำผลงานได้ไม่เลว เมื่อ คุเนมัตสึ ยามาดะ และ เซอิจิโร สึดะ สองตัวแทนจากญี่ปุ่น เข้าเส้นชัยในอันดับ 4 และ 6 ตามลำดับ
ก่อนที่ในโอลิมปิก ที่เบอร์ลิน ในปี 1936 รองเท้าของคานาคุริ จะประกาศศักดาให้โลกได้เห็น หลัง ซอน คี ชุง นักวิ่งทีมชาติญี่ปุ่น เชื้อสายเกาหลี (เนื่องจากตอนนั้นคาบสมุทรเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครอง) สวมใส่มันแล้วเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 และกลายเป็นนักวิ่งมาราธอนญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทอง
นักวิ่งมาราธอนที่ช้าที่สุดในโอลิมปิก
"ผมรู้สึกว่าผมกำลังวิ่งอยู่ที่ไหนสักแห่ง และผมอยากจะวิ่งไปให้ถึงเส้นชัย" คานาคุริ กล่าว
คานาคุริ อาจจะเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้ทำให้นักวิ่งญี่ปุ่นสามารถปักธงในแผนที่โลก แต่ตัวเขาเองก็ยังมีสิ่งที่ค้างคาใจมาตลอด กับการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกของเขาที่เขาวิ่งไม่จบ มันเป็นปมในใจที่ไม่อาจลบเลือน
Photo : nowiknow.com
แต่โอกาสของเขาก็มาถึงในปี 1967 เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิก สวีเดน ตัดสินใจเชิญคานาคุริ ที่ตอนนั้นอยู่ในวัย 75 ปี ไปวิ่งมาราธอนต่อให้จบในวาระครบรอบ 55 ปีที่สวีเดนจัดโอลิมปิก เนื่องจากเมื่อปี 1912 เขากลับประเทศโดยที่ไม่ได้แจ้งคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ทำให้เขายังมีสถานะของ "ผู้สูญหาย"
เขาปรากฏตัวด้วยชุดวอร์ม ก่อนจะค่อย ๆ วิ่งผ่านเส้นชัยเข้าไปด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ราวกับว่าสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจได้มลายหายไปหมด ท่ามกลางเสียบปรบมือของคนในสนามที่เข้ามาให้กำลังใจ
"คานาคุริของญี่ปุ่น เข้าเส้นชัยไปแล้วครับ เวลาที่เขาทำได้คือ 54 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง 32 นาที 3 วินาที เขาจบการแข่งขันที่สตอกโฮล์มจนได้" เสียงโฆษกบรรยายในสนาม
สถิติดังกล่าว ยังทำให้ คานาคุริ กลายเป็น "นักวิ่งมาราธอนที่วิ่งช้าที่สุดในโลก" กว่าจะจบการแข่งขัน ด้วยเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งสถิติดังกล่าวยังได้รับการรับรองจาก กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด หนังสือบันทึกสถิติโลกชื่อดังอีกด้วย
Photo : city.tamana.lg.jp
แต่นั่นก็เป็นมุมมองของคนภายนอก เพราะสำหรับญี่ปุ่น นี่คือบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการนักวิ่งของพวกเขา ทั้งวางรากฐาน และมีส่วนในการสร้างนักวิ่งฝีเท้าดีอีกมากมาย จนถูกยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งมาราธอนญี่ปุ่น"
แม้ว่า คานาคุริ จะอำลาโลกไปตั้งแต่ปี 1983 ด้วยวัย 92 ปี แต่เขายังคงได้รับการเชิดชูจากวงการนักวิ่งญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้ ทั้งการมีรูปปั้นตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟชินทามานะ จังหวัดคุมาโมโตะ หรือการถูกนำชื่อไปตั้งเป็นรางวัลนักวิ่งยอดเยี่ยมของ ฮาโงเนะ เอคิเดน มาตั้งแต่ปี 2004 รวมไปถึงการถูกใช้เป็นหนึ่งในต้นแบบของ "กูลิโกะแมน" ที่ตั้งตระหง่านอยู่ที่ย่านโดทมโบริ เมืองโอซากา
นี่คือสิ่งที่ คานาคุริ มอบให้วงการกรีฑาญี่ปุ่น แม้ว่าเขาเองอาจจะไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่นในระดับโลก แต่สิ่งที่เขาได้ทุ่มเท และอุทิศตนนั้น มันส่งผลอย่างมากต่อคนรุ่นหลัง
มันจึงไม่สำคัญหรอกว่า คานาคุริ จะเริ่มต้นอย่างไร หรือย่อยยับแค่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต่อจากนั้นเขาจัดการกับมันอย่างไร
เพราะตราบใดที่ยังไม่ตัดใจยอมแพ้ ความฝันนั้นก็ยังไม่สิ้นสุด
"มันคือเส้นทางที่ยาวนาน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้แต่งงาน มีลูก 6 คน และหลาน 10 คนไปแล้ว" คานาคุริ กล่าวในวันที่เขาจบการวิ่งมาราธอนในวัย 75 ปีได้สำเร็จ