ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ : ความขัดแย้งที่ยากจะคลี่คลาย แม้เวทีโอลิมปิกก็ยังช่วยไม่ได้

ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ : ความขัดแย้งที่ยากจะคลี่คลาย แม้เวทีโอลิมปิกก็ยังช่วยไม่ได้

ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ : ความขัดแย้งที่ยากจะคลี่คลาย แม้เวทีโอลิมปิกก็ยังช่วยไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่ในช่วงตกต่ำที่สุดในรอบหลาย 10 ปี หลังมีประเด็นเกิดขึ้นมากมายระหว่างทั้งสองชาติมาหลายชั่วอายุคน

ทั่วโลกหวังว่าการที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "มหกรรมกีฬาแห่งสันติภาพ" ในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติให้กลับมาดีขึ้น

ทว่ายังไม่ทันได้เปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ก็มีประเด็นเกิดขึ้นมากมายทั้งในและนอกสนาม จนทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติดูเหมือนจะห่างไกลกันมากขึ้นกว่าเดิม

 

เกิดอะไรขึ้นบ้างกับความสัมพันธ์ของทั้งสอง ร่วมหาคำตอบได้กับ Main Stand

ต้นเหตุความขัดแย้ง

ความขัดแย้งของทั้งสองชาติเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ลากยาวจนจบสงคราม หลังจากที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลีเป็นเวลานานถึง 35 ปี (1910-1945) จนนำมาซึ่งการทารุณกรรมต่าง ๆ ที่มีต่อชาวเกาหลีนับแสนคน ไม่ว่าจะเป็น การบังคับใช้แรงงาน ตลอดจนบังคับให้ผู้หญิงและเด็กมาเป็นทาสทางเพศ คอยบำบัดความใคร่ให้แก่เหล่าทหาร หรือที่มีคำเรียกสละสลวยว่า "Comfort women" (สตรีเพื่อการผ่อนคลาย) ซึ่งไม่ต่างจากการเป็นโสเภณี

แม้สงครามจะสิ้นสุดลงไปแล้วกว่า 70 ปี แต่ประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถูกพูดถึงและรื้อฟื้นมากขึ้น จนกลายเป็นข้อพิพาทเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยญี่ปุ่นได้ตั้งกองทุนเพื่อดูแลและชดเชยให้แก่เหยื่อเหล่านี้ตลอดจนทายาทมาตลอด พร้อมทำข้อตกลงระหว่างทั้งสองชาติ ภายใต้ข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1965 รวมถึงจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและดูแลความเป็นอยู่ในปี 2015 ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ตกลงร่วมกัน โดยถือว่าการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้เป็นที่สุด และเกาหลีจะไม่รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาอีก

 

ทว่ายังมีเหยื่อหลายคนที่ยังไม่พอใจและได้ฟ้องร้องต่อศาลเรื่อยมา กระทั่งเมื่อเดือนมกราคม 2021 ได้มีสตรีที่ตกเป็นเหยื่อ 12 คนยื่นฟ้องต่อศาล ก่อนที่ศาลกรุงโซลจะมีคำสั่งให้ญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยคนละ 100 ล้านวอน (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) โดยอ้างว่าข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ฉบับ ไม่สามารถปิดกั้นสิทธิ์ของพวกเธอในการเรียกร้องเงินชดเชย ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่พอใจ และส่อแววว่าประเด็นข้อพิพาทจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง 

นอกจากนี้ทั้งสองชาติยังมีความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การออกมาตรการสกัดกั้นทางการค้าระหว่างกัน ญี่ปุ่นประกาศถอนชื่อเกาหลีใต้ออกจากการเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า อีกทั้งยังควบคุมการส่งออกสารเคมี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางตัวของเกาหลีใต้

ขณะที่เกาหลีใต้ก็ตอบโต้ด้วยการฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) เช่นเดียวกับคนในประเทศที่ตอบโต้ด้วยการงดซื้อสินค้าญี่ปุ่น รวมถึงยังมีคำสั่งศาลให้หลายบริษัทของญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานอย่างหนักในสมัยที่ถูกยึดครองใต้อาณานิคม ตลอดจนความเคลื่อนไหวเมื่อเดือนเมษายน 2021 ที่เกาหลีใต้เตรียมฟ้องศาลโลก ประเด็นที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงในมหาสมุทรแปซิฟิก อันเป็นผลพวงจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 และข้อพิพาทอื่น ๆ อีกมากมายหลายประเด็น

ลุกลามสู่ในสนาม

เหตุการณ์ความขัดแย้งของทั้งสองชาติได้ลุกลามมาถึงในเวทีโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่นักกีฬาแต่ละชาติเริ่มทยอยเดินทางมาถึงสมรภูมิแข่งขัน ซึ่งตามธรรมเนียมเมื่อนักกีฬามาถึงก็จะแขวนธงชาติไว้ที่หน้าระเบียงห้องพักของตัวเองภายในหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อเป็นการปลุกใจและบ่งบอกว่าโซนนี้เป็นที่พักของนักกีฬาชาติใด

ทีมนักกีฬาของเกาหลีใต้ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ทว่าพวกเขาได้เพิ่มป้ายข้อความที่ระบุว่า "ข้ามีชาวเกาหลีอีก 50 ล้านคนหนุนหลัง" ไว้ที่หน้าระเบียงเพิ่มขึ้นมา

ข้อความนี้ไม่ใช่ข้อความปลุกใจธรรมดาทั่วไป แต่คำพูดดังกล่าวเป็นวาทะของ นายพลอีซุนซิน แม่ทัพเรือเกาหลีในศตวรรษที่ 16 ที่ถูกเล่าขานว่าใช้คำพูดดังกล่าวปลุกใจไพร่พล จนสามารถขับไล่กองทัพเรือญี่ปุ่นที่มารุกรานพร้อมด้วยกำลังรบที่มากกว่าได้ จนเป็นที่ยกย่องของคนในประเทศ 

เปรียบเสมือนพวกเขาได้มาทำสงครามกีฬาในถิ่นของคู่แข่งที่ขัดแย้งกันมานาน

 

แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเกิดความไม่พอใจ จึงได้ออกมารวมตัวกันหน้าหมู่บ้านนักกีฬาพร้อมชูธงชาติญี่ปุ่น เวอร์ชั่นสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ "ธงอาทิตย์อุทัย" (Rising Sun Flag) เพื่อตอบโต้

ธงดังกล่าวเป็นธงที่ญี่ปุ่นเริ่มใช้ในช่วงศตวรรษที่ 19 และได้กลายเป็นธงประจำกองทัพ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ญี่ปุ่นรุกรานและเข้ายึดครองเกาหลีเมื่อ 1910 จนเป็นที่มาของการทารุณกรรมของประชาชนเกาหลีหลายแสนคนที่ถูกบังคับให้ใช้แรงงาน รวมถึงผู้หญิงและเด็กที่ถูกบังคับให้เป็นนางบำเรอให้กับทหาร จนชาวเกาหลีใต้หลายคนเชื่อมโยงธงอาทิตย์อุทัยนี้เข้ากับการทำอาชญากรรมสงครามและการกดขี่มากมาย

"มันคล้ายกับเป็นสัญลักษณ์ของมารสำหรับชาวเอเชียและชาวเกาหลี เช่นเดียวกับเครื่องหมายสวัสดิกะที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกนาซีซึ่งยํ้าเตือนให้ชาวยุโรปนึกถึงการรุกรานของความสยดสยอง" คณะกรรมการกีฬาและโอลิมปิกเกาหลีใต้ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายไปมากกว่านี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้มีคำสั่งให้ทีมเกาหลีใต้ปลดป้ายดังกล่าวออกจากระเบียง เพื่อป้องกันความขัดแย้งและให้เป็นไปตามกฎที่ห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติในพื้นที่การแข่งขัน พร้อมเน้นย้ำกับญี่ปุ่นว่าห้ามใช้ธงชาติเก่าในสนามแข่งขันเด็ดขาด เรื่องทั้งหมดจึงคลี่คลายลง

นอกสนามยังคุกรุ่น

แม้เรื่องราวระหว่างนักกีฬาจะยุติลงแล้ว แต่นอกสนามโดยเฉพาะเวทีการเมืองยังมีแรงกระเพื่อมต่อเนื่อง อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกว่า โอลิมปิก เกมส์ ครั้งนี้ได้รับการจับตาจากทั่วโลกว่าจะเป็นเวทีให้ทั้งสองชาติได้เชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น 

อย่างไรก็ตามก่อนถึงวันนัดหมายเพียง 1 สัปดาห์ สถานีโทรทัศน์เจทีบีซีของเกาหลีใต้ ได้รายงานบทสัมภาษณ์ที่ไม่เหมาะสมของนักการทูตชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มีต่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก่อนจะทราบในภายหลังว่าเขาคือ ฮิโรฮิสะ โซมะ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต ของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซล เกาหลีใต้ 

โดยโซมะกล่าวว่า ผู้นำเกาหลีใต้กำลัง "ชักเย่อกับตัวเอง" (tug-of-war only with himself) เพราะญี่ปุ่นกำลังให้ความสำคัญกับโตเกียว เกมส์ ดังนั้นความปรารถนาของผู้นำเกาหลีใต้ในการพบกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนั้นจึงเป็นแค่การ "ช่วยตัวเอง" (masturbating with himself)

 

เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นข้อพิพาททางการทูตระหว่างสองประเทศ สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าโซลกำลังเรียกร้องให้ส่งโซมะกลับไปยังญี่ปุ่น ขณะเดียวกันสื่อญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะถอดนักการทูตคนดังกล่าวเช่นกัน 

ขณะที่ นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ได้ออกมากล่าวแสดงความเสียใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วว่า "มันเป็นถ้อยแถลงที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับนักการทูต และผมเสียใจที่คำพูดนั้นเกิดขึ้น" แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่ชัดเจนออกมา

โอลิมปิกแห่งสันติภาพที่ไม่เกิดขึ้น

เดิมทีประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจ-อิน ได้วางแผนที่จะเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เกมส์ ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ และเข้าพบ โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เพื่อร่วมประชุมสุดยอดระหว่างทั้งสองประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งทั่วโลกเชื่อว่าการพบกันครั้งนี้จะช่วยทุเลาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดให้ดีขึ้นได้ ภายใต้ร่มทัวร์นาเมนต์ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "มหกรรมแห่งสันติภาพ" 

หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ของญี่ปุ่น เชื่อว่าทั้งคู่จะหารือกันในประเด็นที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติมีความตึงเครียดมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานในบริษัทญี่ปุ่น และเรื่องการบังคับให้สตรีเป็นโสเภณีในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลีในฐานะอาณานิคม

อย่างไรก็ตามทุกอย่างดูเหมือนจะตึงเครียดมากกว่าเดิมหลังจากมีเรื่องข้อความเสียดสีที่เกิดขึ้น โดย พัค ซู ฮยอน โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2021 ว่า มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยกเลิกการเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นแล้ว แม้จะไม่พูดถึงประเด็นการเสียดสีที่เกิดขึ้น แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจครั้งนี้

"การหารือดำเนินไปอย่างเป็นกันเองและมีความคืบหน้าอย่างมาก แต่ยังไม่เพียงพอที่จะได้รับการพิจารณาให้เป็นการประชุมสุดยอด การตัดสินใจนี้ถูกพิจารณาโดยคำนึงถึงสถานการณ์อื่น ๆ ด้วย" โฆษกพัค ระบุ

ด้าน ดร.อี ซอง ฮยอน ที่ทำงานใน The Institute for Corean-American Studies องค์กรการศึกษาและวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแสวงหาสันติภาพระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งเพิ่มความห่างเหินกับทั้งสองประเทศมากขึ้น

"ในประเด็นประวัติศาสตร์ที่ยุ่งยากเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและเรื่องทาสทางเพศนี่ ถ้ามุนชนะ ซูงะจะแพ้ แต่ถ้าซูงะชนะ มุนก็จะแพ้ ดังนั้นซูงะจึงไม่อาจยอมรับข้อเรียกร้องของเกาหลีใต้ในเรื่องการหารือประเด็นประวัติศาสตร์ช่วงสงครามได้ เมื่อรู้อย่างนั้น ดูเหมือนว่ามุนจะตัดสินใจละทิ้งแผนการเข้าร่วมโอลิมปิก เกมส์ ที่จะทำให้ไม่เสียผลประโยชน์ทางการทูตแก่เขา"

"โชคร้ายที่ทั้งโซลและโตเกียวไม่สามารถใช้โอกาสในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ เป็นการสร้างการปรองดองได้ ในทางกลับกัน มันยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาห่างไกลกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นหมัน" ดร.อี กล่าวกับ The Straits Times

ดังนั้น จึงต้องจับตาดูว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ เพราะขนาดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นเวทีเชื่อมมิตรภาพของทั้งคู่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook