ราเอ็ด อาเหม็ด : นักกีฬาอิรักที่เผลอสบตา บิล คลินตัน จน ซัดดัม ต้องลากคอกลับประเทศ
“ผมรักประเทศของผม แต่ผมแค่เกลียดระบอบการปกครองของประเทศนี้”
เผด็จการโหดร้ายขนาดไหน และการเมืองเกี่ยวกับทุกเรื่องอย่างไร คุณจะได้รับรู้ผ่านเรื่องราวของ ราเอ็ด อาเหม็ด นักยกน้ำหนักชาวอิรัก ที่แม้แต่สบตาเขายังไม่มีสิทธิ์
โอลิมปิก ที่แอตแลนต้า ปี 1996 คือช่วงเวลาที่ ราเอ็ด อยากจะใช้มันเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา และการไปที่สหรัฐอเมริกาคือความหวังเดียวที่เขามี ... แต่คิดจะหนีเหรอ ยากหน่อย
ติดตามเรื่องราวการสบตาในตำนาน ที่เปลี่ยนชีวิตคน 1 คนไปตลอดกาลได้ที่นี่
ทางเดียวของ ราเอ็ด อาเหม็ด
ปี 1991 คือช่วงเวลาที่ยุ่งเเละวุ่นวายที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศ อิรัก ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของ ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน เพราะนี่คือช่วงเวลาที่มีการก่อกบฏโดยชาวอาหรับนิกายชีอะห์ทางตอนใต้ของประเทศ อีกทั้งทางตอนเหนือยังโดนกองกำลังชาวเคิร์ดแข็งข้อ นอกจากนี้พวกเขายังต้องรับมือกับการโจมตีของสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาสกัดกั้นไม่ให้ อิรัก ส่งทหารยึดประเทศคูเวต
Photo : www.wbur.org
หัวก็ร้าย ท้ายก็แย่ ต่างประเทศก็จ้องจะเล่นงาน ดังนั้น ซัดดัม ที่เป็นเผด็จการเต็มขั้น จึงใช้มาตรการรุนแรงในการจัดการ เพื่อให้ความสุขกลับมายังประเทศอีกครั้ง พวกเขาส่งทหารในการดูแลลงปราบปรามและใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็ปลิดชีพกลุ่มกบฏทั้งตอนเหนือและตอนใต้ ทั้ง ชีอะห์ และ เคิร์ด จนเหี้ยนเตียน แบบที่นับนิ้วไปก็เหนื่อยเปล่า
ประเทศเป็นแบบนี้ ใครไม่อยากเกี่ยวก็คงจะเลี่ยงไม่ได้ ดั่งคำที่บอกว่า "การเมืองสัมพันธ์กับทุกเรื่อง" เพราะ ซัดดัม ให้สิทธิพิเศษกับชาวอิรักที่เลือกเข้ามาเป็นทหารในกองทัพ เพื่อเพิ่มกำลังพลของฝั่งตัวเอง และครอบครัวของ ราเอ็ด อาเหม็ด เองก็สัมผัสได้ถึงสิ่งนั้น เพราะมีลูกพี่ลูกน้องของเขาต้องก้มหน้ารับชะตากรรมที่มีทางเดียวให้เลือกคือ ไม่เข้าร่วม = ตาย ... เข้าร่วม = รอด คุณอาจจะบอกว่าพวกเขาไม่มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ แต่ใครเลยจะรู้จนกว่าจะได้สัมผัสประสบการณ์เช่นนั้นด้วยตัวเอง ความตายอยู่ซ้าย ความเป็นอยู่ขวา และบางคนยังไม่พร้อมจะจากโลกใบนี้ไป นั่นคือสาเหตุที่พวกเขาต้องยอมก้มหัวให้เผด็จการอย่างจำใจ
รู้ทั้งรู้ว่าสิ่งไหนจะตามมาเมื่อมีผู้นำที่บ้าอำนาจและใช้ความรุนแรง ... ในกรุงบาสราบ้านเกิดของ ราเอ็ด นั้นทุกคนโดนล็อกดาวน์ห้ามออก ห้ามหนี ใครจะไปนอกเมืองต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ และที่สำคัญบ้านเมืองกำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง ซึ่งมันส่งผลต่อเขาเป็นอย่างมากสำหรับนักกีฬายกน้ำหนักเช่นเขา เพราะมันหมายความว่าเขาจะไม่มีอาหารดี ๆ กิน ไม่ได้รับสุขอนามัยที่ดีต่อสุขภาพ และที่สำคัญเขาไม่สามารถเดินทางไปแข่งที่ไหนได้โดยอิสระ
Photo : www.ft.com
บีบให้ไม่มีทางไป แล้วมาให้ทานพวกเขาทีหลัง คือวิธีที่เผด็จการอิรักทำกับเขา ... ทางเดียวที่ ราเอ็ด จะได้เดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ คือการสวามิภักดิ์กับผู้มีอำนาจ เขาต้องเข้าถึง "ตัวใหญ่" ที่สำคัญต่ออาชีพของเขา ชายคนนั้นมีชื่อว่า อูเดย์ ฮุสเซน ไม่ต้องแปลกใจที่นามสกุลออกจะคุ้นหู เพราะนี่คือลูกชายหัวเเก้วหัวแหวนของ ซัดดัม ฮุสเซน นั่นเอง
ลูกชายใจยักษ์
จริงอยู่ที่เราไม่สามารถตัดสินใครจากภายนอกหากไม่เคยสัมผัสกับคน ๆ นั้นด้วยตัวเอง ดังนั้นการจะบอกว่า ซัดดัม และ อูเดย์ ลูกชาวของเขาเลวบัดซบเหมือนกัน ดูจะเป็นคำกล่าวที่ใส่ไฟเกินไป ดังนั้นเราจึงต้องดูจากมุมมองของ "ผู้เคยสัมผัสเบื้องลึก" ของ 2 พ่อลูกเผด็จการรายนี้ที่เป็นผู้นำของประเทศ
ซัดดัม เป็นเบอร์ 1 ของประเทศ ขณะที่ อูเดย์ เป็นเบอร์ 1 ของวงการกีฬา เพราะเขาได้รับการสถาปนาจากพ่อของตัวเองให้นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกอิรัก ไม่น่าเดายากว่าจะเกิดอะไรขึ้น...
Photo : www.independent.ie
พ่อให้โอกาสลูกชายเเสดงความสามารถ ดังนั้นลูกชายที่ต้องการการยอมรับจากพ่อจึงทำทุกอย่างเพื่อให้สิ่งที่พ่อได้ฝากฝังไว้ประสบผลสำเร็จ และสิ่งที่ชี้วัดง่ายที่สุดในวงการกีฬามีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ไม่ต้องพิสูจน์อะไรมากเลย สิ่งนั้นคือ "เหรียญรางวัล"
อูเดย์ เอาระบบทหารมาใช้ในการบริหารวงการกีฬา เขาสร้างนักกีฬาเก่ง ๆ โดยใช้ความกลัวเป็นตัวขู่ หากนักกีฬาคนไหนที่อยากได้รับสิทธิพิเศษไปแข่งที่ต่างประเทศ ได้เงิน และการดูแลจากรัฐบาลอิรัก พวกเขาจะต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองดีพอที่จะได้สิ่งนั้น
ใครที่จะได้เป็นนักกีฬาทีมชาติจะต้องผ่านการสัญญากับ อูเดย์ ว่าจะทุ่มเทสละตนทุกอย่างเพื่อคว้าชัยชนะ ทุก ๆ การคัดเลือก อูเดย์ จะให้ผู้ช่วยของเขาจ้องเข้าไปที่หน้าของนักกีฬาแล้วย้ำว่า หากไม่สามารถทำตามคำพูดที่กล่าวไว้ได้ รับรองว่าจะต้องโดนจับโกนหัวแล้วโยนยัดใส่คุกอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ ราเอ็ด เองก็ไม่เคยมั่นใจว่าตัวเองจะชนะหรอก เพียงแต่เขาต้องทำให้ตัวเองเป็นนักกีฬาทีมชาติอิรักให้ได้สำหรับโอลิมปิก ปี 1996 ที่เมืองแอตเเลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะนั่นคือ "โอกาสเดียว" ที่เขาจะทำฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้
ไปเอาชนะ
"ฉันถามแกอีกครั้ง แกจะเอาเหรียญทองกลับมาได้ไหม ?" ราเอ็ด อ้างกับ BBC ว่าเขาถูก อูเดย์ ฮุสเซน ถามมาแบบในปี 1995 หรืออีก 1 ปี ก่อนที่โอลิมปิกจะเริ่มขึ้น
เขายอมรับตามตรงว่าถ้าเหรียญทองคงยากเกินไป เพราะการจะเป็นยอดนักยกน้ำหนักได้ ต้องได้รับการฟิตซ้อมมาอย่างสมบูรณ์เป็นระยะเวลา 4 ปีเป็นอย่างน้อย โดยตัวของเขาถึงแม้จะเล่นกล้ามจนใหญ่โตและเเข็งเเรงเป็นเบอร์ต้น ๆ ของประเทศ แต่ ราเอ็ด ก็เข้าใจความต่างดี ว่าระดับประเทศกับระดับโลกมันแตกต่างกันขนาดไหน
ตัวของเขาไม่เคยได้กินอะไรดี ๆ ไม่ค่อยจะได้หลับเต็มตื่น และไม่เคยได้ทุ่มซ้อมเต็ม 100% เพราะต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพไปด้วย ดังนั้นไม่มีทางเลยถ้าจะเอาให้ได้ถึงเหรียญทอง ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับคนที่เก่งที่สุดในโลก ... แต่อย่างน้อย ๆ ราเอ็ด ก็ฉลาดพอที่จะเพิ่มข้อเสนอบางอย่าง ที่ทำให้เขาได้รับการผลักดันจากรัฐบาลอิรักให้ไปแข่งที่แอตแลนตา
Photo : entertainmentnewsgazette.com | ราเอ็ด อาเหม็ด(ซ้าย)
"เขาถามผมว่าแกเอาเหรียญทองกลับมาได้ไหม ? ผมตอบไปตามตรงว่าไม่ เพราะผมไม่ได้ออกกำลังกายเต็มที่เลยตลอด 4 ปีหลัง ที่บาสราผมมีอาหารกินแค่เล็กน้อย มีน้ำสะอาดพอให้แค่ได้จิบ สำหรับกีฬายกน้ำหนัก อาหารจำเป็นมาก รวมถึงการฟิตซ้อมที่จริงจังด้วย" ราเอ็ด กล่าวกับลูกซัดดัมก่อนเขาจะทิ้งท้ายว่า "แต่ถ้าเหรียญอื่น ผมคิดว่าไหว" เท่านั้นเองลูกชายที่รอรับหน้าเมื่อนักกีฬาขึ้นรับเหรียญก็ตกลง
อูเดย์ ให้โอกาส ราเอ็ด เข้าฝึกร่วมกับศูนย์ฝึกของรัฐบาล มีอาหารดี ๆ ให้กิน และตัวของ ราเอ็ด เองก็ใช้โอกาสนี้พยายามซ้อมให้หนักเป็น 2 เท่า โดยใช้การซ้อมเต็มระบบถึง 5 วันต่อสัปดาห์ ราเอ็ด รู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี เขาบอกกับทีมผู้บริหารว่า สำหรับการแข่งขันยกน้ำหนักที่ประเทศจีน ที่เป็นเหมือนรายการอุ่นเครื่องก่อนโอลิมปิกนั้น จะเป็นรายการที่เขาจะออมแรงเอาไว้ เพราะร่างกายยังไม่สมบูรณ์ดี ดังนั้นอย่าตกใจหากเขาไม่ได้สักรางวัลในรายการนี้ เพื่อไปทุ่มเต็มที่กับโอลิมปิก 1996 แทน
เยี่ยมเลย … อเมริกา
2 ปีที่ได้ฝึกฝนมาแบบเต็ม ๆ ราเอ็ด อาเหม็ด คือความภูมิใจของ อูเดย์ ฮุสเซน เขาชื่นชมร่างกายที่เเข็งแกร่งและยืนยันจะให้ ราเอ็ด ทำหน้าที่ที่น่าภาคภูมิใจที่สุด นั่นคือการเป็นผู้ถือธงชาติในการเดินพาเหรดในพิธีเปิด เพียงแต่มีข้อแม้อย่างหนึ่งว่า "อย่าไปมองหน้า บิล คลินตัน เด็ดขาด"
ทำไมถึงมองไม่ได้ ? การเดินพาเหรดในพิธีเปิดโอลิมปิกนั้นเมื่อนักกีฬาเดินผ่านหน้าประธานในพิธี ตามมารยาทเเล้ว พวกเขาจะต้องหันไปยิ้มให้ประธานเป็นอย่างน้อยเพื่อแสดงความเคารพ มันไม่ใช่ข้อบังคับ แต่มันเป็นเหมือนมารยาทเล็ก ๆ ที่นักกีฬาทุกคนพร้อมจะทำ
บังเอิญว่าประธานในวันนั้นเป็น บิล คลินตัน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ชายคนที่สนับสนุนและช่วย คูเวต ต่อต้านกองทัพ อิรัก และเป็นไม้เบื่อไม้เมาเบอร์ 1 ของ ซัดดัม ฮุสเซน ดังนั้นจึงเข้าใจได้ง่าย ๆ เป็นภาษาชาวบ้านเลยว่า "จะไปยิ้มให้มันทำไม เราไม่คิดจะญาติดีกับมันสักหน่อย"
"โอเค ผมจะไม่มอง ไม่มีปัญหา" ราเอ็ด รับคำโดยดีก่อนเดินลงสู่สนาม แน่นอนว่าทุกก้าวของเขาอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ชาวอิรักของ อูเดย์ ฮุสเซน แน่นอน
คนเรานั้นแปลก ... ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ราเอ็ด อยากจะรู้ว่าจะห้ามทำไม ? ดังนั้นเมื่อเขาเชิญธงชาติมาถึงหน้าประธานในพิธี เขาเหลือบขวาและหันไปสบตา บิล คลินตัน และเขาก็บอกว่า "ใช่เลย"
Photo : www.coachcorrigan.com
"ไม่อยากจะเชื่อเลย คลินตัน มองมาที่ผมและยิ้มมา สายตาเขาดูมีความสุขดี เขายืนขึ้นและปรบมือให้กองทัพนักกีฬาอิรัก ... เชื่อผมเถอะถ้าเปลี่ยนเอาซัดดัมไปอยู่ตรงนั้น อย่าว่าแต่ปรบมือเลย หางตาเขาก็ไม่คิดจะมองแน่นอน"
"ไม่เหลืออะไรให้ต้องค้างคา ผมตัดสินใจเเล้วว่าจะทำตามแผนการที่ผมเตรียมไว้" ราเอ็ด กล่าว
ราเอ็ด เริ่มปล่อยแผนการที่เขาเตรียมมาตลอดชีวิตจากการสบตาครั้งนั้น ... เขาไม่ได้ฝันจะคว้าเหรียญทองอะไรเลย ในหัวของเขามีเพียงอย่างเดียวคือ หากมาถึงสหรัฐอเมริกาได้ เขาจะหลบหนีเข้าเมืองและยื่นเรื่องขอเป็นผู้ลี้ภัยจากสงครามที่นี่เสียเลย
นี่คือเหตุผลเดียวกับที่เขาแกล้งทำเป็นเจ็บไหล่มาตั้งแต่การแข่งขันที่จีน เพราะเขาอยากให้ทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริง และความมุ่งมั่นในเหรียญโอลิมปิกของเขาคือของแท้ เรื่องทั้งหมดถูกเตรียมการเอาไว้เเล้ว ที่ จีน ในปี 1995 เขาลังเลว่าจะหนีดีหรือไม่ แต่เขาตัดสินใจรอโอกาสสำคัญรอบต่อไปที่อเมริกาดีกว่า เพราะหากเขาโดนจับที่จีน จีนจะส่งตัวเขากลับ อิรัก แน่ แต่กลับกัน อเมริกา จะไม่ทำ นั่นคือสิ่งที่เขาคิด
การเดิมพันครั้งนี้ของเขาถูกเตือนจากเพื่อนนักกีฬาทีมชาติหลาย ๆ คนว่า "อย่าหนี จับได้... ตายสถานเดียว" แต่ ราเอ็ด ไม่กลัวอีกต่อไป รัฐบาลอิรักเล่นงานชีวิตของเขาจนร่อแร่ แม้จะเป็นนักกีฬาที่เก่งที่สุดในประเทศ แต่คุณภาพชีวิตก็ย่ำแย่ แค่น้ำดื่มสะอาดสักขวดยังต้องกระเสือกกระสนหาเลยด้วยซ้ำ
เมื่อถึงบ้านพักนักกีฬา ราเอ็ด รีบโทรหาเพื่อนที่ชื่อว่า โมเซ็น ฟราดี้ และให้เพื่อนของเขามารับที่หมู่บ้านนักกีฬา และเริ่มวางแผนหนีกันทันที หลังการแข่งขันจบลง ก่อนที่ อูเดย์ จะรู้ตัว
Photo : nytimes.com
ราเอ็ด ขึ้นไปแข่งยกน้ำหนักด้วยสมาธิที่ไม่ดีเท่าไหร่ ทำผลงานรวมทั้งท่าสแนตช์และคลีนแอนด์เจิร์ก ได้แค่ที่ 23 เท่านั้น จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 26 คน
อันที่จริงต่อให้ไม่ได้เหรียญ ราเอ็ด ก็จะต้องได้เงินสนับสนุนอย่างน้อย ๆ ราว 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่แน่นอนว่าทุกสตางค์ที่ได้นักกีฬาได้จะต้องไปเบิกภายใต้ชื่อของ อูเดย์ ฮุสเซน เท่านั้น
เอาเถอะ ไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์อะไร ... หลังจากการแข่งขันจบลง อูเดย์ ที่กินหัวคิวอิ่มอร่อย ก็ได้พานักกีฬา อิรัก จัดทัวร์ไปเที่ยวสวนสัตว์แอตแลนตา
ราเอ็ด ทำฟอร์มแกล้งลืมของเอาไว้บนห้องนอนก่อนช่วงที่รถทัวร์ไปสวนสัตว์จะออกเดินทาง โดยบนรถทัวร์คันนั้นมีกระเป๋าส่วนตัวของเขาอยู่ หลายคนจึงไม่คิดว่าเขาจะหนี แต่นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เพื่อนของเขาเอารถส่วนตัวมารับทางประตูหลัง ก่อนเขาจะกระโดดขึ้นรถคันนั้นแล้วหนีไป ... เขามาแค่ตัวเปล่ากับเสื้อผ้าไม่กี่ชุดเท่านั้น อิสระ สำคัญกว่า รางวัลใด ๆ ทั้งสิ้น
หนังจบ อารมณ์ไม่จบ
กว่าที่ อูเดย์ จะรู้ตัวว่าโดนลูบคม ราเอ็ด ก็หนีไปขอความช่วยเหลือจากทนายมือดีที่นิวยอร์กเรียบร้อยเเล้ว เขาได้รับเอกสารผู้ลี้ภัยสงครามอย่างใจหวัง เพียงแต่สิ่งเดียวที่เขาห่วงก็คือครอบครัวนั่นเอง
การหายไปของ ราเอ็ด อาเหม็ด ทำให้ครอบครัวของเขาโดนจับที่ อิรัก ทุกคนโดนปลุกตอนตี 3 ขณะหลับใหลให้ขึ้นรถไปยังกรุงแบกเเดดเพื่อรายงานตัวกับสำนักงานใหญ่โอลิมปิกแห่ง อิรัก และถูกสอบสวนขนานใหญ่
Photo : www.aparchive.com
"ทุกคนในครอบครัวของผมโดนสอบปากกคำโดยกลุ่มของ อูเดย์ พวกเขาเค้นจะเอาความจริงทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่น้องสาวของผมที่ตอนนั้นอายุแค่ 6 ขวบเท่านั้น" ราเอ็ด กล่าว
อูเดย์ ติดต่อไปยัง CNN เพื่อบอกกับ ราเอ็ด ว่า ครอบครัวของเขาโดนจับเเล้ว นี่คือไพ่ใบสุดท้าย แต่ ราเอ็ด ไม่กลัว เขาปฏิเสธ และยืนยันว่าเขาจะย้ายไปอยู่ที่รัฐมิชิเเกน เพื่อเริ่มชีวิตใหม่โดยจะไม่กลับไปที่ อิรัก อีกเป็นอันขาด
ครอบครัวของ ราเอ็ด รับศึกหนักมาก ๆ แม้จะโดนปล่อยตัวจากการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ก็โดนสังคมประณาม และเป็นที่รังเกียจของเพื่อนบ้าน ไม่มีใครอยากสุงสิงด้วย เพราะกลัวจะต้องรับโทษตาม ๆ กันไปในสักวันหนึ่ง
ราเอ็ด รู้ดีว่ามันเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเขาไม่ทำแบบนั้น เขาจะไม่เห็นประกายแสงแห่งความหวังอะไรเลย เมื่อได้อยู่ในอเมริกา เขาที่กลายเป็นพนักงานรับจ้างตามร้านค้าได้ทำหน้าที่อย่างขันเเข็ง ไม่มีวันหยุดเลยแม้แต่วันเดียว เป้าหมายคือการเก็บเงินทำพาสปอร์ตปลอมให้ภรรยาและครอบครัวของเขาเดินทางมาเริ่มชีวิตใหม่ที่อเมริกาเหมือนกัน
และมีอีกสิ่งหนึ่งที่ ราเอ็ด ทำทุกวัน นั่นคือการภาวนาให้ ซัดดัม ล่มสลาย และระบอบการปกครองของเขาโดนโละทิ้งทั้งหมด เพื่อให้ทุกอย่างในประเทศที่เขารักกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม
การภาวนาของ ราเอ็ด ใช้เวลาทั้งหมดไป 8 ปีเต็ม ๆ สุดท้าย ซัดดัม ก็ถูกปราบปรามโดยกองทัพสหรัฐในยุคของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ... เมื่อซัดดัมพ่ายแพ้ ราเอ็ด เดินทางกลับมายัง อิรัก ทันทีเพื่อพบกับครอบครัวของเขา และมอบเงินที่ทำงานหลังขดหลังเเข็งเพื่อให้มันเป็นทุนพาทุกคนหนีไปอยู่อเมริกาด้วยกัน ... แม้ ซัดดัม จะไปแล้ว ... แต่ความกลัวและความทรงจำฝังหัวยังคงอยู่ "ย้ายประเทศ" คือคำตอบที่ดีที่สุดที่ครอบครัวของ ราเอ็ด จะทำได้
Photo : Raed Ahmed | quickinfo.news
“ผมรักประเทศของผม แต่ผมแค่เกลียดระบอบการปกครองของประเทศนี้ ... เราจะทำอะไรได้ บอกให้ ซัดดัม เลิกเอารถถังออกมาฆ่าผู้คนอย่างนั้นเหรอ ภาพแบบนั้นผมเห็นมามากเกินไปแล้ว พวกเขาใช้กระสุนเจาะหัวคนแบบจัง ๆ ผมทนดูต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว" ราเอ็ด กล่าวกับ ทอม ฟาร์รี่ย์ นักข่าวอาวุโสจาก ESPN
ทุกวันนี้ครอบครัวของ ราเอ็ด ไปตั้งรกรากอยู่ที่ มิชิเเกน กันหมดเเล้ว แม้การอยู่ที่อเมริกาจะไม่ได้ทำให้เขาร่ำรวยและมีชื่อเสียงในฐานะยกน้ำหนัก แต่ที่แห่งนี้มีอะไรให้เขาเป็น มีสิ่งดี ๆ ให้เขาทำ และมีฝันให้เขาเลือก เกินกว่าที่เขาจะเสียดายเงิน 8,000 ดอลลาร์ ที่ อูเดย์ เอาไปจากเขาอย่างแน่นอน