ความจริงหรือภาพลวงตา : ทำไมนักกีฬาเวเนซุเอลายังเก่งระดับโลกทั้งที่รัฐล้มเหลว

ความจริงหรือภาพลวงตา : ทำไมนักกีฬาเวเนซุเอลายังเก่งระดับโลกทั้งที่รัฐล้มเหลว

ความจริงหรือภาพลวงตา : ทำไมนักกีฬาเวเนซุเอลายังเก่งระดับโลกทั้งที่รัฐล้มเหลว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเอ่ยถึงชื่อประเทศที่ต้องเจอกับวิกฤตทางการเมืองช่วง 10 ปีหลัง หากไม่นับบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อของ "เวเนซุเอลา" ย่อมแวบเข้ามาในหัว

ย้อนกลับไปสัก 20 ปีก่อน ประเทศจากทวีปอเมริกาใต้แห่งนี้ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกน้ำมัน และสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ชาติ แต่ด้วยความผิดพลาดของรัฐบาล เวเนซุเอลาต้องพบปัญหาอาหารขาดแคลนและเงินเฟ้ออย่างหนัก จนนำมาสู่ความแตกหักระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

ในวันที่เงินมีค่าไม่ต่างจากกระดาษชำระ และผู้คนต้องเอาตัวรอดด้วยการแลกเปลี่ยนสิ่งของ นักกีฬาจากเวเนซุเอลายังประสบความสำเร็จในเวทีโอลิมปิก ด้วยการกวาด 1 เหรียญทอง 3 เหรีญเงินเป็นอย่างน้อยในโตเกียวเกมส์ ซึ่งการันตีว่าเวเนซุเอลามีผลงานดีกว่าในโอลิมปิก เกมส์ 2016 แน่นอนแล้ว

Main Stand จะมาหาคำตอบว่า ทำไมนักกีฬาเวเนซุเอลายังเก่งระดับโลกทั้งที่รัฐบาลล้ม ? ผ่านการทำความเข้าใจกับการเมืองเวเนซุเอลาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อมองหาภาพที่แท้จริงของวงการกีฬาเวเนซุเอลา ที่มากกว่าผลงานเหรียญรางวัลในโอลิมปิก

ทำความเข้าใจการเมืองเวเนซุเอลา

ก่อนที่จะเจาะลึกถึงความสำเร็จด้านกีฬาของเวเนซุเอลา เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองและความเป็นมาของประเทศแห่งนี้กันก่อน ตั้งแต่วันที่พวกเขารุ่งเรือง จนถึงวันที่ทุกอย่างล่มสลาย

ย้อนกลับไปยังศตวรรษที่ 19 พื้นที่ส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ ยังอยู่ใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย โดยเฉพาะ จักรวรรดิสเปน ที่ครองความยิ่งใหญ่เหนือบริเวณอเมริกากลางและอเมริกาใต้มานานหลายร้อยปี ชาวยุโรปเหล่านี้กดขี่คนพื้นเมือง และกอบโกยผลประโยชน์กลับบ้าน นำมาสู่ความโกรธแค้นของชาวฮิสแปนิก

 

จนกระทั่ง ชายผู้คืนอิสระภาพให้แก่ทวีปอเมริกาใต้ ซิมอน โบลิวาร์ ชายชาวเวเนซุเอลาปรากฏตัวขึ้น เขาเป็นผู้ถูกกล่าวขานในฐานะ "เอล ลิเบอร์ทาดอร์" หรือ "ผู้ปลดปล่อยแห่งอเมริกา" เขาคือผู้นำการปฏิวัติผู้ปลุกระดมให้ชาติต่าง ๆ ในละแวกนั้น ไม่ว่าจะเป็น เวเนซุเอลา, โบลิเวีย, โคลอมเบีย, เปรู และปานามา เคลื่อนไหวเพื่อเอกราช และประกาศตนเป็นอิสระจากจักรวรรดิสเปน

ซิมอน โบลิวาร์ ปลูกฝังแนวคิดที่สำคัญลงไปในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเรียกกันว่า "ลัทธิโบลิวาร์" อุดมการณ์ทางการเมืองที่อ้างอิงจากแนวคิดส่วนตัวของเขา โดยลัทธิโบลิวาร์มีแนวคิดสำคัญสองอย่าง หนึ่งคือ ความรักปิตุภูมิ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนภูมิใจในฐานะฮิสแปนิกอเมริกาและไปต่อต้านจักรวรรดินิยม สองคือ แนวคิดสังคมนิยม เพื่อป้องกันความเลื่อมล้ำในสังคมและทำลายการทุจริตเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ลัทธิโบลิวาร์ ถูกตีความแตกต่างออกไปโดยนักการเมืองฝ่ายซ้ายในอเมริกาใต้ และคนหนึ่งที่นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ จนพัฒนาเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง คือ ฮูโก ชาเวซ อดีตนายทหารที่นับถือนักปฏิวัติสายเลือดฮิสแปนิก ไล่ตั้งแต่ ซิมอน โบลิวาร์ ไปจนถึง เช เกวารา ส่งผลให้แนวคิดทางการเมืองของชาเวซ เป็นสังคมนิยมตั้งแต่เริ่มต้น

ในเวลาต่อมา แนวคิดสังคมนิยมของชาเวซ ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอุดมคติทางการเมืองที่เรียกว่า "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" ที่การเมืองฝ่ายซ้ายในอเมริกาใต้ปฏิเสธลัทธิมาร์กซ์-เลนิน หรือแนวทางปฏิวัติประเทศตามแบบสหภาพโซเวียต และเริ่มสร้างประเทศสังคมนิยมโดยอ้างอิงจากแนวคิดดั้งเดิมของ คาร์ล มาร์กซ์ โดยแนวคิดสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ ให้ความสำคัญกับความเป็นประชาธิปไตยและเปิดทางให้กับลัทธิชาตินิยม

 

ฮูโก ชาเวซ หยิบลัทธิโบลิวาร์ และสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 มาพัฒนาต่อจนเกิดเป็น "ลัทธิชาเวซ" ที่เป็นขบวนการทางการเมืองฝ่ายซ้ายที่มาแรงที่สุดในเวเนซุเอลา ตั้งแต่ช่วงต้นยุค 90s เนื่องจากในเวลานั้น ประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย คนจำนวนมากเดินประท้วงตามท้องถนนเพื่อต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นนายทุน ซึ่งถือเป็น อภิสิทธิ์ชนในประเทศเวเนซุเอลา

ด้วยแรงสนับสนุนจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลาง ทำให้ ฮูโก ชาเวซ ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ในปี 1988 เขาเริ่มดำเนินนโยบายสังคมนิยมตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ด้วยการปฏิรูปกิจการต่าง ๆ ให้เป็นของรัฐ, เพิ่มงบประมาณสวัสดิการด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาล, ช่วยเหลือค่าอาหารคนยากจน พร้อมลงทุนกับโครงการอื่น ๆ ในสังคม เพื่อจะช่วยลดความยากจนและกำจัดความเหลื่อมล้ำ

เวเนซุเอลา ในเวลานั้น จึงไม่ต่างจากประเทศไทยในช่วง 20 ปีหลัง นั่นคือการช่วยเหลือประชาชนผ่านวิธีการ "ประชานิยม" หรือการหว่านเงินของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยปราศจากการพัฒนาสังคมในระดับโครงสร้าง ลัทธิชาเวซ จึงแตกต่างจาก นอร์ดิกโมเดล ที่แม้จะได้อิทธิพลจากแนวคิดสังคมนิยมเช่นกัน แต่การกระทำและผลลัพธ์ที่ออกมาตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

วิธีการประชานิยมของชาเวซได้ผลมาก โดยเฉพาะกับชนชั้นล่าง ประชาชนชาวเวเนซุเอลามีค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น และผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศก็อ่านออกเขียนได้ นั่นจึงทำให้เขาครองตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 4 สมัยซ้อน แม้เมื่อเวลาผ่านไป ความเป็นเผด็จการของเขาจะเห็นเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่คนยากจนในเวเนซุเอลาก็ไม่ได้สนใจ ตราบใดที่ชาเวซยังคงเป็น "ขวัญใจคนจน"

 

แต่ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ได้มาฟรี ๆ โครงการประชานิยมของชาเวซนำมาสู่ค่าใช้จ่ายมหาศาลของรัฐบาล เงินนับไม่ถ้วนที่ได้จากการค้าน้ำมันของประเทศถูกทุ่มไปกับงบประมาณตรงนี้ บวกกับความรู้อันน้อยนิดในเรื่องเศรษฐกิจของเขา (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะชาเวซเป็นทหาร) ภาวะเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาจึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้

เมื่อ ฮูโก ชาเวซ เสียชีวิตกะทันหันในปี 2013 ปัญหาของประเทศที่ถูกซุกซ่อนไว้ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ทั้งการบริหารทรัพยากรที่ผิดพลาด, การคอร์รัปชันของรัฐบาล, ความเป็นประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจที่ถูกทำลาย ปัญหาเหล่านี้กลับมาทิ่มแทงเวเนซุเอลาอย่างรุนแรง

ซ้ำร้าย นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ ไม่มีความสามารถที่จะสานงานต่อจากชาเวซเลยแม้แต่น้อย เมื่อเวเนซุเอลาเจอปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ เขาทำในสิ่งสุดท้ายที่หัวหน้าพรรคสังคมนิยมควรทำ นั่นคือการประกาศใช้นโยบายรัดเข็มขัด และตัดงบโครงการประชานิยมจนเกลี้ยง นำมาสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ จนอำนาจที่อยู่ในมือพรรคสังคมนิยมมานานเริ่มสั่นคลอน

จุดแตกหักของรัฐบาลกับประชาชนเวเนซุเอลาเกิดขึ้น เมื่อศาลฎีกาของเวเนซุเอลาออกคำสั่งยึดอำนาจจากสภานิติบัญญัติ ส่งผลให้ผู้ประท้วงที่ต้องรับมือกับภาวะขาดแคลนในประเทศอยู่แล้ว ทวีความโกรธแค้นขึ้นไปอีก ผลสุดท้าย เกิดเหตุการณ์ยึดเฮลิคอปเตอร์ตำรวจ และขว้างระเบิดใส่ศาลฎีกา นำมาสู่การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทรรา

 

ขณะที่รัฐบาลกับประชาชนกำลังหํ้าหั่นกันอยู่ในประเทศ มือที่สามที่พลิกสถานการณ์ทุกอย่างให้พินาศยิ่งกว่าเดิม คือ สหรัฐอเมริกา ... พวกเขาประกาศคว่ำบาตรเวเนซุเอลา โดยอ้างเหตุผลว่า นิโคลัส มาดูโร เป็นผู้นำเผด็จการที่เพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน ส่งผลให้กิจการทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ยกเลิกการทำธุรกรรมกับมาดูโร ซึ่งหมายถึง รัฐบาลเวเนซุเอลา

เมื่อประเทศขาดรายได้จากการส่งออก เวเนซุเอลาซึ่งแต่เดิมเจอปัญหาสินค้าขาดแคลน, สินค้าราคาแพง และเงินเฟ้ออยู่แล้ว ต้องรับมือกับปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากรัฐบาลเวเนซุเอลา ไม่มีวิธีอื่นที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน นอกจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และอัดเงินเขาระบบไปเรื่อย ๆ

ท้ายที่สุด เวเนซุเอลามีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1,300,000% ในเดือนพฤศจิกายน 2018 โดยราคาสินค้าแพงขึ้นเป็นสองเท่า ในทุก 19 วัน ส่งผลให้ธนบัตรสกุลเงินโบลิวาร์กลายเป็นกระดาษไร้ค่า และรัฐบาลก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไร้ค่าพอกัน คือ ลดจำนวนเลขศูนย์ลง 5 หลัก เพื่อแก้ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ช่วยอะไรเลย ประชาชนในเวเนซุเอลาจึงต้องเอาตัวรอด ด้วยการนำข้าวของมาแลกเปลี่ยนกันเอง

ทางเดียวที่เวเนซุเอลาจะรอดจากวิกฤตนี้ คือการอ้าแขนต้อนรับศัตรูตลอดกาล สหรัฐอเมริกา ให้นำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ามาช่วยหนุนเศรษฐกิจในประเทศ แต่นั่นหมายถึง การยุติบทบาทของลัทธิชาเวซและแนวคิดสังคมนิยม เพื่อเปิดทางให้กับระบบตลาดเสรีและแนวคิดทุนนิยมเข้ามาในประเทศ

 

ถึงขณะนี้ การเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลเวเนซุเอลาแทบเป็นศูนย์ นิโคลัส มาดูโร ยังคงอ้างตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ โดยได้การรับรองจากศาลสูงสุดเวเนซูเอลา ขณะที่ ฮวน กวยโด ผู้นำฝ่ายค้านเวเนซุเอลา อ้างตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งได้การยอมรับจากนานาชาติ โดยเฉพาะพี่เบิ้มอย่าง สหรัฐอเมริกา เนื่องจาก ฮวน กวยโด ยึดมั่นในนโยบายเสรีนิยมใหม่ ไม่ใช่เศรษฐกิจสังคมนิยมอีกต่อไป

ความสำเร็จที่ปลายภูเขา

ท่ามกลางวิกฤตที่รุมเร้าประเทศแทบทุกด้าน สิ่งหนึ่งที่พอจะทำให้ประชาชนยิ้มออกได้บ้าง อาจเป็นผลงานของทัพนักกีฬาเวเนซุเอลาในโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่คว้าไปแล้ว 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน (จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม) ถือเป็นความสำเร็จที่สูงกว่าการแข่งขันครั้งก่อนที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเวเนซุเอลา คว้าไปเพียง 1 เหรียญเงิน กับ 2 เหรียญทองแดง

อย่างไรก็ตาม หากเรามองในภาพกว้างกว่านั้น คงต้องบอกว่า ทัพนักกีฬาเวเนซุเอล่าถอยหลังลงจากการแข่งขันครั้งก่อน เพราะมีนักกีฬาเพียง 44 คน ที่มีโอกาสเข้าแข่งขันในโตเกียวเกมส์ น้อยที่สุดตั้งแต่โอลิมปิก เกมส์ 1996 ที่เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือน้อยที่สุดนับตั้งแต่พรรคสังคมนิยม มีอำนาจเหนือเวเนซุเอลา

เหตุผลแรกที่ทำให้นักกีฬาทีมชาติเวเนซุเอลามีจำนวนน้อยลง คือการอพยพของประชาชนมากกว่า 5 ล้านคนออกนอกประเทศ เพื่อหนีวิกฤตเงินเฟ้อและขาดแคลนอาหารที่ประเทศกำลังเผชิญ นักกีฬาเวเนซุเอลาเหล่านั้น เช่น เอลดริค เซลลา นักมวยสากลสมัครเล่นรุ่นมิดเดิลเวต ที่เดินทางสู่โอลิมปิก เกมส์ 2020 เพื่อลงแข่งขันในนามทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก ไม่ใช่เวเนซุเอลา

นักกีฬาบางคนเดินทางออกไปใช้ชีวิตนอกประเทศนานหลายปี แต่ยังลงแข่งขันให้กับทีมชาติเวเนซุเอลา ยกตัวอย่างเช่น ยูลิมาร์ โรฮาส นักกีฬากรีฑาเขย่งก้าวกระโดด เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกในการแข่งขันปี 2016 และแชมป์โลกสองสมัย ที่ตัดสินใจย้ายไปใช้ชีวิตในสเปน และอยู่ที่นั่นมานานกว่า 5 ปีแล้ว เพื่อช่วยให้การฝึกซ้อมของเธอดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น แทนจะจมปลักกับประเทศบ้านเกิด และเอาชีวิตในฐานะนักกีฬาของตัวเองไปเสี่ยง ซึ่งผลตอบแทนถือว่าคุ้มค่า เมื่อโรฮาสคว้าเหรียญทองในศึก โตเกียว 2020 ได้สำเร็จ

Photo : ​​​​​​openwaterswimming.com

แต่นักกีฬาเวเนซุเอลาบางคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก เช่น เปาลา เปเรซ นักว่ายน้ำมาราธอน แค่ย้ายออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศก็ไม่เพียงพอ เพราะหลังจากที่เธอตั้งหลักใหม่ในประเทศชิลี เปเรซเปิดแคมเปญในเว็บไซต์ Go Fund Me เพื่อหาเงินมาใช้ในการดำรงชีพ ครั้งหนึ่งเธอเคยเกือบเสียชีวิตจากการแข่งขันว่ายน้ำเมื่อปี 2019 เนื่องจากไม่มีเครื่องแต่งกายที่มีคุณภาพมากพอจะรับมือกับความเหน็บหนาว และยังไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้ดูแลตัวเอง

สำหรับนักกีฬาที่ยังอาศัยอยู่ในเวเนซุเอลา คงไม่ต้องบอกว่าพวกเขาเหล่านี้เผชิญกับความยากลำบากมากแค่ไหน พวกเขาต้องฝึกซ้อมด้วยตัวเอง และเดินทางไปแข่งขันด้วยตัวเอง ไม่มีทีมโค้ช ไม่มีคนขับรถ ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีโรงยิมมาตรฐาน และไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

มีรายงานออกมาว่า นักกีฬาเวเนซุเอลาจำนวนมาก ลงชื่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาหารโลก (United Nations World Food Program) เพื่อรับอาหารฟรีจากสหประชาชาติ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เงินเดือนมากพอที่จะยังชีพอย่างสุขสบายในเวเนซุเอลา โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นนักกีฬาที่ไม่มีชื่อเสียงและปราศจากผลงานในระดับโลก

ส่วนนักกีฬาที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ต้องแลกมาด้วยอิสระภาพในการวิจารณ์ภาครัฐ และตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคสังคมนิยม ตัวอย่างล่าสุดในกรณนี้ คือ ฮูลิโอ มาโยรา เจ้าของเหรียญเงินจากกีฬายกน้ำหนักในโตเกียวเกมส์ ซึ่งกล่าวขอบคุณอดีตประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ระหว่างการต่อสายตรงพูดคุยกับผู้นำคนปัจจุบัน นิโคลัส มาดูโร

การเอ่ยปากยกย่องลัทธิชาเวซที่ทำลายชีวิตคนไปหลายสิบล้านในเวเนซุเอลา สร้างความไม่พอใจให้กับคนทั่วไปที่รู้ว่านักกีฬาตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่ถ้ามองกันตามความจริง นักกีฬาที่จะอยู่รอดได้ในประเทศแห่งนี้ ต่างมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้งสิ้น 

ไม่ว่าจะเป็น ยูลิมาร์ โรฮาส, อเลฮานดรา เบนิเตซ นักกีฬาฟันดาบหญิง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ที่เดินทางไปเก็บตัวในรัสเซียเพื่อหวังไปโอลิมปิกสมัยที่ 5 ใน โตเกียว 2020 (แต่สุดท้ายไม่ได้ไป) และ รูเบน ลิมาร์โด เจ้าของเหรียญทองกีฬาฟันดาบจาก ลอนดอน 2012 ซึ่งภายหลังเข้าเป็นสมาชิกของพรรคสังคมนิยม และดำรงชีพอย่างสบายในฐานะคนขับอูเบอร์ ที่ประเทศโปแลนด์

ภาพของนักกีฬาในเวเนซุเอลาตอนนี้จึงค่อนข้างชัดเจน นั่นคือการแบ่งออกเป็น 2 ชนชั้น นักกีฬาชื่อดังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยใช้ชีวิตในต่างประเทศ และตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ส่วนนักกีฬาหน้าใหม่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในประเทศ และต้องเข้าโปรแกรมอาหารฟรีจากนานาชาติ

การวัดความสำเร็จของวงการกีฬาเวเนซุเอลาจากจำนวนเหรียญในโอลิมปิก จึงเป็นเพียงการมองปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะนักกีฬาเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาจากยุคทองของเวเนซุเอลา ที่ยังคงเป็นเศรษฐีน้ำมันในตลาดโลก และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่

แต่นักกีฬาที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักในอนาคตต้องพึ่งพาตัวเอง ต้องอยู่กับอนาคตที่ไม่แน่นอนในประเทศที่ล่มสลาย ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จเหมือนนักกีฬารุ่นพี่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และสามารถออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเพื่อโฟกัสกับการฝึกซ้อมเพียงอย่างเดียว

ความสำเร็จของทัพนักกีฬาเวเนซุเอลาในโอลิมปิก เกมส์ 2020 จึงอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะกวาดหลายเหรียญรางวัลจากมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพราะไม่ว่าอย่างไร พวกเขาก็ไม่สามารถหลีกหนีความพังพินาศของรัฐบาลและระบบการเมืองได้ ซึ่งสิ่งนั้นจะแสดงผลลัพธ์อันเลวร้ายออกมาในอนาคตอย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook