ไขข้อสงสัย "เหรียญรางวัลร่วม" ใน โอลิมปิกเกมส์ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ไขข้อสงสัย "เหรียญรางวัลร่วม" ใน โอลิมปิกเกมส์ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ไขข้อสงสัย "เหรียญรางวัลร่วม" ใน โอลิมปิกเกมส์ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ใคร่จะได้เห็นบ่อยนัก แต่ก็เกิดขึ้นจริงใน โอลิมปิกเกมส์ เมื่อ มูตาซ เอสซา บาร์ชิม จากกาตาร์ และ จิอันมาร์โก ทัมเบรี จากอิตาลี คว้าเหรียญทองในกีฬากระโดดสูง โอลิมปิก โตเกียว 2020 "ร่วมกัน"

ภาพที่ทั้งคู่สวมกอดกัน จากมิตรภาพที่มีต่อกันตั้งแต่ปี 2017 กลายเป็นสิ่งที่แฟนกีฬาพูดถึงอย่างมากมาย

แต่ถึงกระนั้น คุณแอบสงสัยไหมล่ะว่า "เหรียญรางวัลร่วม" ในโอลิมปิกมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ? Main Stand จะอาสาไขข้อสงสัยนี้ให้ได้ทราบกัน

เหตุที่ต้องมีเหรียญรางวัลร่วม

สาเหตุที่เกิดเหตุการณ์คว้าเหรียญรางวัลร่วมในโอลิมปิกเกมส์นั้นเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เพราะ "ผู้เข้าแข่งขันทำสถิติได้เท่ากัน" นั่นเอง

เรามาดูกรณีศึกษาจากการแข่งขันกระโดดสูงชายใน โตเกียว 2020 มูตาซ เอสซา บาร์ชิม กับ จิอันมาร์โก ทัมเบรี ที่คว้าเหรียญทองร่วมกัน ตลอดจน มักซิม เนดาเซคอฟ จากเบลารุส ต่างทำสถิติดีที่สุดไว้ที่ 2.37 เมตรเท่ากัน และกระโดดระยะ 2.39 เมตร ไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้งเช่นกัน ทว่าเนดาเซคอฟหลุดวงโคจร ได้เหรียญทองแดงก่อนใคร เนื่องจากระยะก่อนหน้าเจ้าตัวเคยกระโดดไม่ผ่าน ในขณะที่บาร์ชิมกับทัมเบรีไม่พลาดเลยก่อนหน้านี้

อันที่จริง ในกรณีนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันมีทางเลือกให้ 2 ทาง คือ แข่งต่อแบบ Jump-Off หากมีฝ่ายหนึ่งโดดข้ามได้ แต่อีกฝ่ายข้ามไม่ได้ ฝ่ายพลาดจะได้เหรียญเงินไปครอง หรืออีกทาง คือจบการแข่งขันแค่นี้ แล้วคว้าเหรียญรางวัลร่วมกันไปเลย ซึ่งบาร์ชิมกับทัมเบรีเลือกที่จะไม่แข่งต่อ จากความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่มีต่อกัน เลยได้สิทธิ์คว้าเหรียญทองไปครองร่วมกันด้วยประการฉะนี้

 

ซึ่งกฎในการคว้าเหรียญรางวัลร่วมนี้ ก็ขึ้นกับแต่ละชนิดกีฬาด้วย เพราะบางกีฬา ไม่อนุญาตให้มีการคว้าเหรียญรางวัลร่วม เช่นการแข่งขันกอล์ฟ ที่ใน โตเกียวเกมส์ มีนักกีฬาทำสกอร์ได้เท่ากันในอันดับ 3 ร่วมถึง 7 คน ประกอบด้วย พัน เจิ้งสง จากไต้หวัน (จีนไทเป), คอลลิน โมริคาวะ จากสหรัฐอเมริกา, มิโตะ เปไรร่า จากชิลี, เซบาสเตียน มูนยอซ จากโคลอมเบีย, รอรี่ แม็คอิลรอย โปรไอร์แลนด์เหนือ ที่ในโอลิมปิกลงแข่งให้กับไอร์แลนด์, ฮิเดกิ มัตสึยามะ จากญี่ปุ่น และ พอล เคซี่ย์ จากสหราชอาณาจักร โดยทุกคน ต้องแข่งเพลย์ออฟกันจนเหลือคนสุดท้ายที่ทำผลงานดีสุด ก่อนที่ พัน เจิ้งสง จะคว้าเหรียญทองแดงไปครอง หลังเพลย์ออฟถึง 4 หลุม

หรือแม้แต่ในกีฬาเดียวกัน แต่ต่างประเภท ก็อาจไม่มีการให้เหรียญรางวัลร่วมเช่นกัน เช่นในการแข่งขันกระโดดไกล ที่ มิลเทียดิส เทนโตกลู จากกรีซ กับ ฮวน มิเกล เอเชวาร์เรีย จากคิวบา ทำสถิติดีสุดที่ 8.41 เมตร จนต้องใช้สถิติที่ดีรองลงมาในการตัดสิน และเป็นเทนโตกลูที่กระโดดได้ 8.15 เมตร คว้าเหรียญทองเหนือเอเชวาร์เรียซึ่งทำได้ 8.09 เมตร

นอกจากนี้ การคว้าเหรียญรางวัลร่วมกัน ยังสามารถเกิดได้จากข้อจำกัดทางการตัดสิน เช่นในกีฬาว่ายน้ำ ที่การตัดสินเวลาจะใช้ทศนิยมเพียง 2 หลักเท่านั้น นั่นทำให้ในการแข่งขัน ผีเสื้อ 100 เมตรชาย ศึก ริโอ 2016 ซึ่ง โจเซฟ สคูลลิ่ง จากสิงคโปร์คว้าเหรียญทอง เราได้เห็นเจ้าของเหรียญเงินถึง 3 คน เมื่อ ไมเคิล เฟลป์ส จากสหรัฐอเมริกา, แชด เล คลอส จากแอฟริกาใต้ และ ลาซโล เซห์ จากฮังการี ว่ายแตะขอบสระด้วยเวลา 51.14 วินาที เท่ากัน ซึ่งต่างจากกรีฑาประเภทลู่ ที่นอกจากจะใช้ทศนิยม 3 หลักแล้ว ยังมีการตัดสินด้วยภาพถ่ายอีก

โดยการคว้าเหรียญรางวัลร่วมกัน จะทำให้รางวัลถัดไปว่างลง กล่าวคือ หากมีการคว้าเหรียญทองร่วม 2 คน จะไม่มีเหรียญเงิน หรืออาจไม่มีเหรียญทองแดงเลยก็ได้ หากคว้าเหรียญทองร่วม 3 คน, หากมีการคว้าเหรียญเงินร่วม จะไม่มีเหรียญทองแดง แต่หากมีเหรียญทองแดงร่วม ก็จะมอบเหรียญทองแดงตามจำนวนคนที่ได้

หาเหรียญเพิ่มจากไหน ?

โดยปกติ แฟนกีฬาอาจจะคุ้นเคยกับกีฬาอย่าง มวยสากล หรือ เทควันโด ที่มีการมอบเหรียญทองแดงร่วมตามกฎที่กำหนดไว้อยู่แล้วมากกว่า แต่เมื่อมีการคว้าเหรียญร่วมกันเช่นนี้ คุณคงสงสัยบ้างล่ะว่า "จะหาเหรียญเพิ่มเติมจากไหน ?"

คำตอบก็คือ ฝ่ายจัดการแข่งขัน จะมีการจัดทำเหรียญรางวัลสำรองไว้อยู่แล้ว โดยในแต่ละการแข่งขันจะมีจำนวนเหรียญสำรองไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแผนงานและความยากง่ายในการผลิตเหรียญ แต่มากพอสำหรับการรองรับในเหตุที่มีผู้คว้าเหรียญรางวัลร่วม

โดยเหรียญสำรองที่เหลือ รวมถึงเหรียญที่ไม่มีการมอบให้จากการมีผู้คว้าเหรียญรางวัลร่วม จะถูกนำไปจัดเก็บในคลังที่สำนักงานใหญ่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในโอลิมปิก

ทีนี้ เรามาดูหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของโอลิมปิกกันบ้าง ซึ่งปรากฏว่า การคว้าเหรียญรางวัลร่วม คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาสามัญ ชนิดที่พูดได้เลยว่า "แทบทุกครั้ง"

 

เพราะตั้งแต่ที่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ก็มีการคว้าเหรียญรางวัลร่วมแล้ว และเกิดขึ้นแทบทุกครั้งในโอลิมปิกฤดูร้อน มีเพียงการแข่งขันในปี 1932 ที่นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ที่ไม่มีผู้คว้าเหรียญรางวัลร่วมกัน โดยมีการคว้าเหรียญรางวัลร่วมใน 114 รายการ รวม 118 ครั้ง แยกเป็นเหรียญทอง 29 ครั้ง เหรียญเงิน 35 ครั้ง เหรียญทองแดง 54 ครั้ง (สถิติล่าสุดถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2021)

ส่วนในโอลิมปิกฤดูหนาว เกิดการคว้าเหรียญรางวัลร่วมในโอลิมปิก 16 ครั้ง ใน 29 รายการ รวมมีเหรียญรางวัลร่วม 30 ครั้ง แยกเป็นเหรียญทอง 9 ครั้ง เหรียญเงิน 13 ครั้ง เหรียญทองแดง 8 ครั้ง

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ ของ ไขข้อสงสัย "เหรียญรางวัลร่วม" ใน โอลิมปิกเกมส์ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook