ไขข้อข้องใจ : ทำไมนักสเก็ตบอร์ดอายุน้อย จึงกวาดเหรียญโอลิมปิกเป็นว่าเล่น ?

ไขข้อข้องใจ : ทำไมนักสเก็ตบอร์ดอายุน้อย จึงกวาดเหรียญโอลิมปิกเป็นว่าเล่น ?

ไขข้อข้องใจ : ทำไมนักสเก็ตบอร์ดอายุน้อย จึงกวาดเหรียญโอลิมปิกเป็นว่าเล่น ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โคโคนะ ฮิรากิ ก้าวขึ้นแท่นรับเหรียญเงิน ในการแข่งสเก็ตบอร์ดประเภทพาร์ค ด้วยวัยเพียง 12 ปี 11 เดือน กับอีก 9 วันเท่านั้น ทำสถิติเป็นนักกีฬาอายุน้อยที่สุดในรอบ 85 ปี ที่ได้รับเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเลยทีเดียว แต่ ฮิรากิ ไม่ได้เป็นแค่เด็กคนเดียวในการแข่งขันรอบนี้ เพราะกีฬาสเก็ตบอร์ดนั้น แทบจะถูกยึดโดยนักกีฬาอายุน้อยไปโดยปริยาย เมื่อ 10 จาก 20 ผู้เข้าแข่งขันที่ทำคะแนนติด 5 อันดับแรกในแต่ละรายการนั้น ต่างมีอายุไม่ถึง 20 ปี

ทำไมสเก็ตบอร์ดถึงเป็นกีฬาที่เด็กทำผลงานได้ดี ถึงขั้นสามารถเอาชนะผู้ใหญ่หลายคนได้ ? มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กัน

อายุก็แค่ตัวเลข

ผลงานใน โอลิมปิก เกม ที่โตเกียว ได้พิสูจน์แล้วว่า อายุ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการฝันถึงเหรียญรางวัลจากการลงแข่งขันในกีฬาต่าง ๆ เลย และนี่คือบรรดานักกีฬาอายุไม่เกิน 20 ปี ที่ทำผลงานติด 5 อันดับแรกของรอบชิงเหรียญรางวัล จากทั้ง 4 รายการที่มีจัดแข่งขันในโอลิมปิกครั้งนี้

ประเภทพาร์ค บุคคลชาย
อันดับ 1 - คีแกน พัลเมอร์, 18 ปี, ออสเตรเลีย
อันดับ 5 - คีราน วูลเล่ย์, 17 ปี, ออสเตรเลีย

ประเภทพาร์ค บุคคลหญิง
อันดับ 1 - ซากุระ โยโซซูมิ, 19 ปี, ญี่ปุ่น
อันดับ 2 - โคโคนะ ฮิรากิ, 12 ปี, ญี่ปุ่น
อันดับ 3 - สกาย บราวน์, 13 ปี, สหราชอาณาจักร
อันดับ 4 - มิซุกุ โอกาโมโตะ, 15 ปี, ญี่ปุ่น

ประเภทสตรีท บุคคลชาย
อันดับ 3 - แจ็กเกอร์ อีตัน, 20 ปี, สหรัฐอเมริกา

 

ประเภทสตรีท บุคคลหญิง
อันดับ 1 - โมมิจิ นิชิยะ, 13 ปี, ญี่ปุ่น
อันดับ 2 - เรย์ซ่า เลอัล, 13 ปี, บราซิล
อับดับ 3 - ฟูนะ นากายามะ, 16 ปี, ญี่ปุ่น

แต่ก็ไม่ได้แปลว่านี่คือโอลิมปิกเกมสำหรับเยาวชน หรือเป็นรายการที่สงวนไว้ให้เด็กเข้าแข่งขันเพียงอย่างเดียว เพราะอายุของนักกีฬาแต่ละคนนั้น มีตั้งแต่ 12-46 ปีด้วยกัน ดังนั้นแล้ว มันต้องมีเหตุผลซ่อนอยู่ในการที่เด็ก ๆ สามารถยึดครองความเป็นใหญ่ในการแข่งขันรายการดังกล่าวได้เป็นแน่

เพราะเป็นเด็กจึง (กล้า) เจ็บปวด

เพราะวัยเด็กนั้น เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ทดลอง และเก็บประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต และบ่อยครั้ง การเติบโตและบทเรียนทั้งหลายก็เข้ามาในรูปของความเจ็บปวด

 

นักสเก็ตบอร์ดก็เช่นกัน เพราะหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ทักษะที่ดีที่สุดของชนิดกีฬานี้ คือความกล้าที่จะเจ็บตัว มีบาดแผลน้อยใหญ่แตกต่างกันไป เพื่อที่จะสามารถสร้างสกิลใหม่ได้อย่างเชี่ยวชาญ รวมถึงสามารถฟื้นฟูอาการบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจให้หายไปได้อย่างรวดเร็ว

สกาย บราวน์ เจ้าของเหรียญทองแดงประเภทพาร์ควัย 13 ปี ก็เคยได้ประสบอุบัติเหตุตกจากความสูงถึงเกือบ 5 เมตร ระหว่างกำลังฝึกซ้อม จนทำให้ปอดฉีกและกระดูกแขนด้านซ้ายหัก จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะที่มีอายุเพียงแค่ 11 ปีเท่านั้น

การประสบอาการบาดเจ็บในวัยเด็ก ก็เป็นสิ่งที่โหดร้ายเพียงพอแล้ว แต่ก้าวที่สำคัญกว่านั้น คือการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้กลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้ง โดยเฉพาะกับนักสเก็ตบอร์ด ที่ยังคงต้องทำท่าสุดยากทั้งหลาย ซึ่งอาจเป็นท่าที่ทำให้พวกเขาเคยบาดเจ็บมาแล้ว ระหว่างการแข่งขันนักสเก็ตรุ่นเยาว์เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องโฟกัส และมั่นใจว่าพวกเขาสามารถก้าวข้ามช่วงเวลาร้าย ๆ เหล่านั้นไปได้

 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือกีฬาอย่าง สเก็ตบอร์ด ยิมนาสติก และ ปีนเขา สามารถฝึกกันได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 4-6 ปี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กเหล่านี้พัฒนากล้ามเนื้อ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับนักกีฬาอาชีพเหมือนกับกีฬายกน้ำหนัก รักบี้ หรือ พายเรือ 

ดร. ฟิล ไพรซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความแข็งแกร่งและสภาพร่างกายของมหาวิทยาลัย เซนต์ แมรี่ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ลองนึกภาพเด็กคนหนึ่ง ที่ได้เริ่มต้นฝึกตั้งแต่อยู่ในระดับชั้นอนุบาล พวกเขามีเวลาพัฒนาทักษะของตัวเองมากพอที่จะมาทัดเทียมกับผู้เล่นระดับโปร ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 13 ปีเท่านั้น ซึ่งนั่นคือระดับช่วงวัยของ สกาย บราวน์ เลย”

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการที่เริ่มฝึกเล่นสเก็ตตั้งแต่เด็ก จะมีข้อดีแค่เรื่องของอายุเพียงอย่างเดียว เพราะว่าในเรื่องของสรีระร่างกายนั้น ยิ่งเด็กมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น

ตัวเล็กกว่าได้เปรียบ

สเก็ตบอร์ด จะมีการพิจารณาคะแนนจากท่าทางต่าง ๆ ที่แสดง เช่น การกระโดด ยกตัว ตีลังกา หรือหมุนตัว ตามความยากง่ายที่ต่างกันออกไป

 

ทีนี้ การมีขนาดร่างกายที่ค่อนข้างเล็ก โดยเฉพาะกับนักกีฬาเด็ก จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อต้องทำท่าที่เกี่ยวข้องกับการหมุนตัวหรือตีลังกา เนื่องจากร่างกายของพวกเขาจะมีโมเมนตัมความเฉื่อยที่น้อยกว่า หรือสามารถหมุนตัวและตีลังกาได้ง่ายกว่านั่นเอง

และเมื่อมีขนาดร่างกายที่สั้นลง ก็ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของนักสเก็ตเหล่านี้ อยู่ใกล้กับตัวสเก็ตบอร์ดยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยในการทำท่าทางที่ซับซ้อนได้ง่ายดาย และจะใช้พลังงานน้อยกว่าผู้เข้าแข่งขันที่สูงกว่า

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อยังมีอายุน้อย ก็จะมีมวลกล้ามเนื้อไม่มากเท่ากับนักกีฬาที่โตแล้ว ซึ่งก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน

 

ข้อดีคือ เด็กเหล่านี้จะสามารถทำท่าทางได้หลากหลายกว่า เพราะมวลของร่างกายที่น้อย หมายถึงการไม่ต้องใช้กำลังเพื่อท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลกมากนัก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการถูกจำกัดความเร็วและความสูงที่นักสเก็ตวัยเยาว์จะกระโดดไปถึง ซึ่งทำให้เรามักเห็นพวกเขาหมุนตัวได้มากสุดแค่ 360 หรือ 540 องศาเท่านั้น จากความเป็นไปได้ที่จะหมุนตัวได้ถึง 2 ตลบ หรือ 720 องศาด้วยกัน

แต่ที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งคือ ความได้เปรียบของเด็ก ๆ เหล่านี้กำลังหายไปอย่างช้า ๆ

จากกีฬาสู่การแข่งขัน

หนึ่งในภาพประทับใจที่เราเห็นในโอลิมปิกที่โตเกียว คือตอนที่บรรดาผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ เข้ามาสวมกอดกับนักกีฬาที่เพิ่งแข่งเสร็จไป ไม่ว่าจะเพื่อเป็นการให้กำลังใจหรือแสดงความยินดีก็ตาม 

นั่นเพราะด้วยความที่สเก็ตบอร์ดนั้น เพิ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างกันได้ไม่นานนัก ทำให้การแข่งขันโดยส่วนมาก เปรียบเสมือนโอกาสที่จะพบเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์ มากกว่าจะเป็นการชิงชัยสู่เหรียญรางวัลเพียงอย่างเดียว

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ยิ่งความนิยมและแพร่หลายของสเก็ตบอร์ดเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เม็ดเงินและการศึกษาอย่างจริงจังก็จะทยอยตามกันเข้ามา ซึ่งในจุดนี้เอง ที่วิทยาศาสตร์การกีฬากับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของมนุษย์เรา จะแทบตัดความได้เปรียบของเด็กเหล่านี้ออกไปเลย

หากการหมุนตัวและตีลังกาทำได้ยากเพราะมีร่างกายขนาดใหญ่ ก็อาจแก้ได้ด้วยการออกแบบชุดและอุปกรณ์ให้ลู่ลมขึ้น หรือคิดค้นเทคนิคการกระโดดที่ช่วยให้มีโมเมนตัมเพียงพอต่อการทำท่าขึ้นมา หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องการเริ่มเล่นช้า ก็อาจจะมีโค้ชที่สามารถดูแลและปรับหลักสูตรการสอนให้เข้ากับผู้ที่มีอายุมากขึ้นได้อีก

เทนนิส เป็นหนึ่งในตัวอย่างของกีฬาที่เคยประสบปัญหาเหล่านี้ เพราะเมื่อยุค 80s ไมเคิล ชาง และ โบริส เบคเกอร์ สองนักเทนนิสวัย 17 ปี สามารถคว้าแชมป์แกรนด์แสลมได้อย่างไม่ยากเย็น โดยที่ช่วงวัยของการแขวนแร็กเกตนั้น ถูกวางไว้ที่ไม่เกิน 30 ปีด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทนนิสได้รับความนิยมไปทั่วโลก จึงทำให้มีการลงเล่นอย่างจริงจัง และก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในและนอกสนาม จนถึงทุกวันนี้ ยอดนักเทนนิสอย่าง โนวัค ยอโควิช กับ โรเจอร์ เฟเดอร์เรอร์ ต่างมีอายุ 34 และ 40 ปี ตามลำดับ แต่ก็ยังคงโลดแล่นอยู่บนผืนคอร์ท โดยยังไม่มีแผนที่จะรีไทร์ในเร็ว ๆ นี้

ถึงกระนั้น นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าสเก็ตบอร์ดจะประสบชะตากรรมเดียวกันกับเทนนิส เพราะถึงแม้จะมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายกัน แต่นักสเก็ตรุ่นเยาว์เหล่านี้ ได้กลายมาเป็นไอดอลและแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนและน้องในบ้านเกิดของตัวพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา บราซิล และในอีกหลาย ๆ ประเทศ ที่ส่งเด็กเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกครั้งนี้

หากมีการสนับสนุนและผลักดันที่ดีพอจากระบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่แน่ว่าในโอลิมปิกที่ปารีสในอีก 3 ปีต่อจากนี้ เราอาจได้เห็นโฉมหน้าของเด็กรุ่นใหม่ เติบโตขึ้นมาท้าประลองกับบรรดาเจ้าของเหรียญในปีนี้อีกครั้งก็เป็นได้

เพราะไม่มีใครที่เด็กเกินกว่าจะฝัน และลงมือทำตามฝันนั้น ๆ ตราบใดที่ฝันดังกล่าว ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะไปทำร้ายหรือส่งผลไม่ดีต่อใครคนอื่นได้...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook